29 พฤศจิกายน 2550 13:41 น.

ทำไมต้องมีศีล......ไม่มีศีลแล้วเป็นยังไง

ซาวแดนดุด



ศีล สมาธิ ปัญญา....ได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน.....มานานแล้ว
การกระทำสิ่งใด ต้องเริ่มจากเหตุ อาศัยปัจจัยแวดล้อม ลงมือทำ แล้วจึงจะเกิดดอกออกผล เป็นขั้นตอนตามลำดับ....

ศีล แปลว่า ปกติ 
ดังนั้นย่อมหมายถึง คนปกติทั่วไปที่มีศีลเป็นเรื่องปกติ...
ไม่มีศีลก็จะผิดปกติ...คุณเชื่ออย่างไร

ศีลสำหรับคนทั่วไปมี ๕ ข้อคือ

๑.ไม่ฆ่าสัตว์ ทำร้ายสัตว์ ด้วยเจตนามุ่งร้าย เอาชีวิต
๒.ไม่เอาของคนอื่นมาเป็นของตนโดยเขาไม่อนุญาติ
๓.ไม่เอาคนรักของคนอื่นมาเป็นของตนโดยเขาไม่อนุญาติ
๔.ไม่พูดโกหก ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดคำหยาบ
๕.ไม่ดื่มเครื่องดองของเมาจนขาดสติ

รักษาศีลข้อ๑ คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ทำร้ายสัตว์ ด้วยเจตนามุ่งร้าย เอาชีวิต
อานิสงค์ที่จะได้รับ คือ มีสุขภาพแข็งแรง จิตใจผ่องใส ไม่มีอุบัติเหตุให้ร่างกายได้รับบาดเจ็บ(ยกเว้นมีวิบากเก่าในอดีตชาติ) สุคติภูมิรออยู่

ผิดศีลข้อ๑ สุขภาพจะอ่อนแอ เจ็บป่วยง่าย อาจมีอุบัติเหตุให้บาดเจ็บ พิการ ตายด้วยความทุรนทุราย ทุคคิภูมิ ย่อมรออยู่
ข้อคิด,,,ผิดศีลข้อ๑...สำคัญเป็นอันดับแรก เพราะเมื่อเกิดมาแล้ว จะไม่มีใครช่วยได้ ใครจะอุทิศบุญกุศล ช่วยเหลือด้วยเงินทองทรัพย์สิน ไม่อาจทำให้สุขภาพของเราแข็งแรงได้ เวลาเจ็บป่วย ก็ต้องรับด้วยตัวของเราเอง ถึงแม้จะบรรลุอารหันต์แล้ว ก็ต้องเสวยวิบากจนสิ้นลม 


รักษาศีลข้อ๒ คือ ไม่เอาของคนอื่นมาเป็นของตนโดยเขาไม่อนุญาติ
อานิสงค์ที่จะได้รับ คือ ทำการสิ่งใดด้วยความตั้งใจย่อมสำเร็จรุ่งเรืองไม่ติดขัด ทำมาค้าขึ้น ร่ำรวยไม่ติดขัด สุคติภูมิรออยู่

ผิดศีลข้อ๒ ทำให้ทรัพย์ที่ได้อยู่ไม่นานต้องมีเหตุให้เสียทรัพย์ ทำการสิ่งใดสำเร็จยาก มีอุปสรรค เหนื่อยยากลำบากกว่าจะได้มา เสียไปโดยง่าย ถูกโกง ทรัพย์เป็นวินาศ ทุคติภูมิรออยู่


รักษาศีลข้อ๓ ย่อมมีครอบครัวที่อบอุ่น มีความสุข เพราะครอบครัวเป็น๘๐เปอร์เซ็นต์ของชีวิตที่ต้องเห็นกันทุกวัน ลูกหลานมีครอบครัวที่ดีเพราะมีเราเป็นแบบอย่าง สุคติภูมิรออยู่

ผิดศีลข้อ๓ จิตใจร้อนรุ่ม กลัวคนอื่นจะมาแย่งคนรักของเรา มีปากมีเสียง ทะเลาะเบาะแว้ง อาจทำร้ายกันถึงชีวิต ทุคติภูมิ อาจต้องไปเกิดเป็นโสเภณี กระเทย หญิงที่มีสามีเจ้าชู้ อกหักซ้ำซาก ทุคติภูมิรออยู่ 
ต้องสร้างบารมีกับบิดา มารดา ภรรยา สามี ลูก และคนรอบข้างด้วยความอดทน มีศีลบริสุทธิ์ อธิษฐานจิตกลับมาเกิดเป็นชายใหม่


รักษาซีลข้อ๔ ไม่พูดโกหก ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดคำหยาบ
อานิสงค์ ย่อมมีเพื่อนดี ได้ยินเสียงดีๆ จิตใจผ่องใสคำพูดเป็นสัจจะได้รับความเชื่อถือ ทำการสิ่งใดย่อมได้รับความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่

ผิดศีลข้อ๔ หาเพื่อนได้ยาก จิตใจร้อนรุ่ม พูดไม่มีใครเชื่อ ทำการสิ่งใดย่อมติดขัด มีศัตรูรอบข้าง ทุคติภูมิรออยู่


รักษาศีลข้อ๕ไม่ดื่มเครื่องดองของเมาจนขาดสติ
อานิสงค์ย่อมเกิดมามีสติปัญญา จิตใจผ่องใส ได้รับความเชื่อถือ ชีวิตมีความปกติสุข จะเรียนสิ่งใดย่อมรู้โดยง่ายไม่ติดขัด สุคติภูมิรออยู่

ผิดศีลข้อ๕ ขาดสติ ไม่ได้รับความเชื่อถือ ทำร้ายคนรอบข้างเช่น บุตร ภรรยา พ่อแม่ เกิดวิบากกรรมหนัก ทำอะไรไม่สำเร็จโดยง่ายเพราะปัญญาบกพร่อง อาจเกิดอุบัติเหตุถึงแก่ชีวิตได้โดยง่าย ทุคติภูมิรออยู่

รักษาศีลข้อ๕ ย่อมมีบุคคลิกภาพที่ดูสง่างาม คิดการสิ่งใดย่อมทำได้สำเร็จ เพราะเจริญสติปัญญาได้ง่าย ได้รับความเชื่อถือ สุคติภูมิรออยู่


สรุปโดยรวมแล้ว ท่านผู้อ่านพิจารณาด้วยตนเอง ว่าการมีศีล กับผิดศีล อะไรจะดีกว่ากัน
การมีศีลด้วยความเข้าใจกระจ่างแจ้ง จะได้ไม่เดินผิดทาง หลงเชื่อลัทธิที่อาจชักพาเราไปสู่ความเลวความชั่ว 
การมีศีลจึงเปรียบเสมือน เกราะป้องกันภัยอันตรายทั้งหลาย มิให้แผ้วพาน ชีวิตเป็นสุข กระทำการสิ่งใดก็เจริญรุ่งเรือง มีเพื่อนดีเป็นกัลยาณมิตร สวรรค์สมบัติ หรือ สุคติภูมิ เป็นที่หวังได้
ทำด้วยความเข้าใจย่อมมีความสุข ไม่กดดัน เพราะฟังคำเขาว่าดี ก็ทำตามๆกันไป เรียกว่า สีลัพพตปรามาส เช่น เชื่อมงคลตื่นข่าว เชื่อถือฤกษ์ยาม เชื่อทิศ เชื่ออาจารย์ เชื่อผู้นำ คือการเชื่ออย่างงมงายไม่มีเหตุผล จะนำความเดือดร้อนมาสู่ตนได้ 

พระพุทธองค์ ประกาศ พุทธศาสนา เสมือนหงายชามที่คว่ำอยู่ให้เราได้เห็น สิ่งที่พระพุทธองค์ค้นพบ เป็นกฏของธรรมชาติ มีมาแล้วนานแสนนาน เป็นสัจจะธรรม และจะเป็นเช่นนั้นในอนาคต  สัจจะธรรมหมายถึงสิ่งที่เป็นจริง ไม่ว่าชาติ ศาสนาใดก็มีความจริงนี้ปรากฏอยู่ อย่าเชื่อ แต่อย่าหันหลัง ลองศึกษาด้วยคนเอง ลงมือปฏิบัติ เรียนรู้ธรรมด้วยตนเอง ย่อมบรรลุธรรมด้วยตนเอง
( ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นเราตถาคต)

เมื่อมีศีลแล้ว ย่อมได้รากฐานที่มั่นคง เป็นเสาเข็มที่แข็งแรง พร้อมสำหรับการเจริญธรรมะต่อไป
				
26 พฤศจิกายน 2550 23:41 น.

ทำไมต้องสนใจปฏิบัติธรรม... ยังอยากเรียนรู้...อยากสนุกกับชีวิต

ซาวแดนดุด


คนส่วนมาก เมื่อมองเห็นเรื่องเข้าวัดปฏิบัติธรรม เป็นเรื่องไม่สนุก ยังไม่ใช่เวลา
รอให้แก่ก่อน มีเงินมีทอง พ้นจากภารกิจของชีวิต ในบั้นปลาย ค่อยมาปฏิบัติ

ความรัก น่าสนใจ เพศตรงข้าม น่าตื่นเต้น มีแฟน มีเซ็กส์ มีการงาน มีบ้าน มีรถ แต่งงาน ท่องเที่ยว มีครอบครัว มีลูก ทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จ แล้วค่อยทำบุญ ปฏิบัติธรรม นั่นแหละ สมบูรณ์แบบ....

แต่ในชีวิตจริง สำเร็จในความรัก อาจไม่สำเร็จในการงาน ชีวิตอาจก้าวพลาดเรื่องกิเลส การพนัน หรือ ผู้หญิง กินเหล้าจนติด สุขภาพไม่แข็งแรง เป้าหมายชีวิตก็เดินไม่ถึงเสียที

แต่ความผิดพลาดทั้งหลาย จริงๆแล้ว เมื่อหันกลับมาดู อาจพบว่า ถ้ารู้อย่างนี้ ไม่ทำอย่างนั้น ชีวิต คงไม่เป็นอย่างนี้

ถ้าไม่เจ้าชู้....ครอบครัวคงดีกว่านี้
ถ้าไม่ฟุ่มเฟือย....คงมีเงินเก็บมีความมั่นคงกว่านี้
ถ้าไม่ดื่มเหล้า....ครอบครัว สุขภาพคงดีกว่านี้
ถ้าไม่เที่ยวเตร่...คงไม่ติดโรค
ถ้าดูแลคุณพ่อคุณแม่...คงไม่มาเสียใจภายหลัง
ถ้าไม่นินทาว่าร้าย...คงมีเพื่อนดีๆกับเขาบ้าง
ถ้าไม่ดื่มเหล้า...คงไม่ทำร้ายคนที่รัก เกิดอุบัติเหตุจนพิการ
ถ้าไม่ทำร้ายสัตว์...คงมีสุขภาพที่แข็งแรงกว่านี้
ถ้าไม่โกงเขา...ป่านนี้คงรวยกว่านี้
(นรกในปัจจุบัน)

อื่นๆอีกมากมายๆๆๆ

หันกลับมาพิจารณาด้วยความรอบคอบ พบว่า

ถ้ามีธรรมะ ตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตแล้ว... เราคงมีความสุขกว่าที่เป็นอยู่แน่นอน

มีแฟนดี
มีงานดี
มีเงินดี
มีเพื่อนดี
มีตำแหน่งหน้าที่การงานดี
มีสังคมดี
มีครอบครัวดี
และ มีความสุขสงบดี
มีอนาคตในโลกหน้าที่ดี
(สวรรค์ในปัจจุบัน และ โลกหน้าที่เป็นสุคติภูมิที่หวังได้)

 
ทำไมต้องสนใจปฏิบัติธรรม 

คุณมีความเห็นอย่างไร
ชีวิตคุณเป็นแบบไหน


				
26 พฤศจิกายน 2550 00:50 น.

บุญมิใช่เพียงบริจาคเงินเท่านั้น....แต่มีถึง ๑๐ วิธี

ซาวแดนดุด


คราวที่แล้วเราได้รู้จักคำว่า บุญ และ กุศล ไปแล้ว
คราวนี้มาเพิ่มเติมความเข้าใจเรื่องการทำบุญ ทำกุศลให้มากขึ้น ตามหลักพุทธศาสนา จะได้รู้ว่า เราสามารถทำได้มากมายหลายวิธี โดยไม่ต้องใช้เงิน


บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ คือ สิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ หรือกล่าวอย่างง่ายๆว่า การกระทำที่เกิดเป็นบุญ เป็นกุศล แก่ผู้กระทำดังต่อไปนี้
๑.บุญสำเร็จได้ด้วยการบริจาคทาน (ทานมัย) คือการเสียสละนับแต่ทรัพย์ สิ่งของ เงินทอง ตลอดจนกำลังกาย สติปัญญา ความรู้ความสามารถ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยส่วนรวม รวมถึงการละกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ ออกจากจิตใจ จนถึงการสละชีวิตอันเป็นสิ่งมีค่าที่สุดเพื่อการปฏิบัติธรรม 
๒.บุญสำเร็จได้ด้วยการรักษาศีล (สีลมัย) คือการตั้งใจรักษาศีล และการปฏิบัติตนไม่ให้ละเมิดศีล ไม่ว่าจะเป็นศีล ๕ หรือศีล ๘ ของอุบาสกอุบาสิกา ศีล ๑๐ ของสามเณร หรือ ๒๒๗ ข้อของพระภิกษุ เพื่อรักษากาย วาจา และใจ ให้บริสุทธิ์สะอาด พ้นจากกายทุจริต ๔ ประการ คือ ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ ละเว้นจากการลักทรัพย์ ละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม และเสพสิ่งเสพติดมึนเมา อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท วจีทุจริต ๔ ประการ คือไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดปด ไม่พูดเพ้อเจ้อ และไม่พูดคำหยาบ มโนทุจริต ๓ ประการ คือ ไม่หลงงมงาย ไม่พยาบาท ไม่หลงผิดจากทำนองคลองธรรม 
๓.บุญสำเร็จได้ด้วยการภาวนา (ภาวนามัย ) คือการอบรมจิตใจในการละกิเลส ตั้งแต่ขั้นหยาบไป จนถึงกิเลสอย่างละเอียด ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นโดยใช้สมาธิปัญญา รู้ทางเจริญและทางเสื่อม จนเข้าใจอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เป็นทางไปสู่ความพ้นทุกข์ บรรลุมรรค ผล นิพพานได้ในที่สุด 
๔.บุญสำเร็จได้ด้วยการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ (อปจายนมัย) คือการให้ความเคารพ ผู้ใหญ่และผู้มีพระคุณ ๓ ประเภท คือ ผู้มี วัยวุฒิ ได้แก่พ่อแม่ ญาติพี่น้องและผู้สูงอายุ ผู้มี คุณวุฒิ หรือคุณสมบัติ ได้แก่ ครูบาอาจารย์ พระภิกษุสงฆ์ และผู้มี ชาติวุฒิ ได้แก่พระมหากษัตริย์ และเชื้อพระวงศ์ 
๕.บุญสำเร็จได้ด้วยการขวนขวายในกิจการที่ชอบ (เวยยาวัจจมัย) คือ การกระทำสิ่งที่เป็นคุณงามความดี ที่เกิดประโยชน์ต่อคนส่วนรวม โดยเฉพาะทางพระพุทธศาสนา เช่น การชักนำบุคคลให้มาประพฤติปฏิบัติธรรม มีทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น ในฝ่ายสัมมาทิฎฐิ 
๖.บุญสำเร็จได้ด้วยการให้ส่วนบุญ (ปัตติทานมัย) คือ การอุทิศส่วนบุญกุศลที่ได้กระทำไว้ ให้แก่สรรพสัตว์ทั้งปวง การบอกให้ผู้อื่นได้ร่วมอนุโมทนาด้วย ทั้งมนุษย์และอมนุษย์ ได้ทราบข่าวการบุญการกุศลที่เราได้กระทำไป 
๗.บุญสำเร็จได้ด้วยการอนุโมทนา (ปัตตานุโมทนามัย) คือ การได้ร่วมอนุโมทนา เช่น กล่าวว่า สาธุ เพื่อเป็นการยินดี ยอมรับความดี และขอมีส่วนร่วมในความดีของบุคคลอื่น ถึงแม้ว่าเราไม่มีโอกาสได้กระทำ ก็ขอให้ได้มีโอกาสได้แสดงการรับรู้ด้วยใจปีติยินดีในบุญกุศลนั้น ผลบุญก็จะเกิดแก่บุคคลที่ได้อนุโมทนาบุญนั้นเองด้วย 
๘.บุญสำเร็จได้ด้วยการฟังธรรม (ธัมมัสสวนมัย) คือ การตั้งใจฟังธรรมที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อน หรือที่เคยฟังแล้วก็รับฟังเพื่อได้รับความกระจ่างมากขึ้น บรรเทาความสงสัยและทำความเห็นให้ถูกต้องยิ่งขึ้น จนเกิดปัญญาหรือความรู้ก็พยายามนำเอาความรู้และธรรมะนั้นนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ สู่หนทางเจริญต่อไป 
๙.บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม (ธัมมเทสนามัย) คือ การแสดงธรรมไม่ว่าจะเป็นรูปของการกระทำ หรือการประพฤติปฏิบัติด้วยกาย วาจา ใจ ในทางที่ชอบ ตามรอยบาทองค์พระศาสดา ให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่บุคคลอื่น หรือการนำธรรมไปขัดเกลากิเลสอุปนิสัยเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น ให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธา มาประพฤติปฏิบัติธรรมต่อไป 
๑๐.บุญสำเร็จได้ด้วยการทำความเห็นให้ตรง (ทิฏฐชุกัมม์) คือ ความเข้าใจในเรื่อง บาป บุญ คุณ โทษ สิ่งที่เป็นแก่นสารสาระหรือที่ไม่ใช่แก่นสารสาระ ทางเจริญทางเสื่อม สิ่งอันควรประพฤติสิ่งอันควรละเว้น ตลอดจนการกระทำความคิดความเห็นให้เป็นสัมมาทิฏฐิอยู่เสมอ 
บุญกิริยาวัตถุทั้ง ๑๐ ประการนี้ ผู้ใดได้ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งหรือยิ่งมากจนครบ ๑๐ ประการแล้ว ผลบุญย่อมเกิดแก่ผู้ได้กระทำมากตามบุญที่ได้กระทำ ยิ่งได้มีการเตรียมกาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์ ตั้งใจจรดเข้าสู่ศูนย์กลางกาย หยุดในหยุด เข้าไปแล้วก็ยิ่งได้รับบุญมหาศาลตามความละเอียดประณีตที่เข้าถึงยิ่งๆ ขึ้นไป

				
23 พฤศจิกายน 2550 23:43 น.

บุญ และ กุศล ต่างกันอย่างไร.....ใครอยากรู้

ซาวแดนดุด


บุญ กับ กุศล 

เมื่อใดมีการพิจารณากันให้ละเอียดถี่ถ้วน 
เมื่อนั้น...
จะพบความแตกต่างระหว่าง 
สิ่งที่เรียกกันว่า... 
"บุญ" กับ สิ่งที่เรียกว่า "กุศล" บ้างไม่มากก็น้อย 
แล้วแต่ความสามารถ ในการพินิจพิจารณา 

แต่ว่า โดยเนื้อแท้แล้ว 
บุญ กับ กุศล ควรจะเป็น คนละอย่าง 
หรือ เรียกได้ว่า ตรงกันข้าม 
ตามความหมาย ของรูปศัพท์ แห่งคำสองคำ นี้ทีเดียว

คำว่า บุญ 
มีความหมายว่า ทำให้ฟู หรือ พองขึ้น บวมขึ้น นูนขึ้น, 

ส่วนคำว่า กุศล นั้น แปลว่า แผ้วถาง 
ให้ราบเตียนไป โดยความหมาย
เช่นนี้ เราย่อมเห็นได้ว่า เป็นของคนละอย่างหรือเดินคนละทาง

บุญ เป็นสิ่งที่ทำให้ฟูใจพอใจชอบใจ 
เช่น..
 ทำบุญให้ทานหรือรักษาศีลก็ตาม 
แล้วก็ฟูใจ อิ่มเอิบ 
หรือ ...
แม้ที่สุดแต่รู้สึกว่า ตัวได้ทำสิ่งที่ทำยาก 

ในกรณีที่ 
ทำบุญเอาหน้า เอาเกียรติ อย่างนี้ 
ก็ได้ชื่อว่า ได้บุญ เหมือนกัน 
แม้จะเป็น บุญชนิดที่ไม่สู้จะแท้
 
หรือแม้ในกรณีที่ทำบุญด้วยความบริสุทธิ์ใจ 
เพื่อเอาบุญกันจริงๆ 
ก็ยังอดฟูใจไม่ได้ว่า ตนจะได้เกิดในสุคติโลกสวรรค์ 
มีความปรารถนาอย่างนั้น อย่างนี้ ในภพนั้น ภพนี้ 
อันเป็น ภวตัณหา 
นำไปสู่....
การเกิดในภพใหม่ เพื่อเป็น อย่างนั้น อย่างนี้ 
ตามแต่ ตนจะปรารถนา ไม่ออก
ไปจาก การเวียนว่ายตายเกิด ในวัฎสงสาร ได้ 
แม้จะไปเกิดในโลกที่เป็นสุคติ

อย่างไรก็ตาม 
ฉะนั้น ความหมายของคำว่า บุญ 
จึงหมายถึง สิ่งที่ทำให้ฟูใจ 
และ 
เวียนไปเพื่อความเกิดอีก ไม่มีวันที่สิ้นสุดลงได้

ส่วน...กุศลนั้น เป็นสิ่งที่ ทำหน้าที่ แผ้วถาง 
สิ่งกีดขวาง ผูกรัด หรือ รกรุงรัง 
ไม่ข้องแวะ กับความฟูใจ หรือ พอใจ เช่นนั้น 
แต่..
มีความมุ่งหมายจะกำจัดเสียซึ่ง
สิ่งต่างๆ อันเป็นเหตุ ให้พัวพัน อยู่ใน กิเลสตัณหา 
อันเป็น เครื่องนำให้ เกิดแล้วเกิดอีก 
และ..
จุดมุ่งหมาย กวาดล้างสิ่งเหล่านั้นออกไปจากตัว 

ในเมื่อ..
บุญต้องการโอบรัด เข้ามาหาตัว 
ให้มีเป็น ของของตัว มากขึ้น 
ในเมื่อฝ่ายที่ถือข้างบุญยึดถืออะไรเอาไว้มากๆ 
และพอใจ ดีใจนั้น  

ฝ่ายที่ถือข้างกุศล ก็เห็นว่า การทำอย่างนั้น 
เป็นความโง่เขลา ขนาดเข้าไป กอดรัดงูเห่า ทีเดียว 

ฝ่ายข้างกุศล หรือ ที่เรียกว่า ....ฉลาด นั้น 
ต้องการจะ ปล่อยวาง หรือ ผ่านพ้นไป 
ทั้งช่วยผู้อื่น ให้ปล่อยวาง 
หรือ ....
ผ่านพ้นไปด้วยกัน 
ฝ่ายข้างกุศล จึงถือว่า 
ฝ่ายข้างบุญนั้น ยังเป็นความมืดบอดอยู่

แต่ว่า...
 บุญ กับ กุศล สองอย่างนี้ 
ทั้งที่มี เจตนารมณ์ แตกต่างกัน 
ก็ยังมี การกระทำทางภายนอกอย่างเดียวกัน 
ซึ่งทำให้เราหลงใหลในคำสองนี้อย่างฟั่นเฝือ 

เพื่อจะให้
เข้าใจกันง่ายๆ เราต้องพิจารณา 
ดูที่ตัวอย่างต่างๆ ที่เรา กระทำกัน อยู่จริงๆ
 คือ....
ในการให้ทาน 
ถ้าให้เพราะจะเอาหน้าเอาเกียรติ 
หรือ เอาของตอบแทน เป็นกำไร 
หรือ ...
เพื่อผูกมิตร หาพวกพ้อง 
หรือ 
แม้ที่สุดแต่ เพื่อให้บังเกิดในสวรรค์ อย่างนี้ 
เรียกว่า....
 ให้ทานเอาบุญหรือได้บุญ 

แต่ถ้าให้ทาน อย่างเดียวกันนั่นเอง แต่ต้องการ
เพื่อขูดความขี้เหนียว ของตัว 
ขูดความเห็นแก่ตัว 
หรือ...
ให้เพื่อค้ำจุนศาสนา เอาไว้ 
เพราะเห็นว่า 
ศาสนาเป็น เครื่องขูดทุกข์ ของโลก 
หรือ...
 ให้เพราะ เมตตาล้วนๆ 
โดยบริสุทธิ์ใจ หรืออำนาจเหตุผล อย่างใดอย่างหนึ่ง 
ซึ่ง...
 ปัญญาเป็นผู้ชี้ขาดว่า 
ให้ไปเสีย มีประโยชน์มากกว่าเอาไว้อย่างนี้
เรียกว่า...
 ให้ทานเอากุศล หรือได้กุศล
ซึ่งมันแตกต่างๆ ไปคนละทิศ ละทาง
กับการให้ทานเอาบุญ เราจะเห็นได้กันสืบไปอีกว่า 
การให้ทานเอาบุญนั่นเอง 
ที่ทำให้เกิดการฟุ่มเฟือยขึ้นในสังคม 

ฝ่ายผู้รับทาน
จนกลายเป็นผลร้ายขึ้น ในวงพระศาสนาเอง 
หรือในวงสังคมรูปอื่นๆ 
เช่น...
 มีคนขอทานในประเทศมากเกินไป เป็นต้น 

การให้ทาน ถูกนักคิดพากันวิพากษ์วิจารณ์
ในแง่เสื่อมเสีย 
ก็ได้แก่ การให้ทานเอาบุญนี้เอง 

ส่วนการให้ทานเอากุศลนั้นอยู่สูง
พ้นการที่ถูกเหยียดอย่างนี้ 
เพราะว่า..
มีปัญญาหรือเหตุผลเข้าควบคุม 
แม้ว่า..
อยากจะให้ทาน เพื่อขูดเกลา 
ความขี้เหนียว ในจิตใจ ของเขา 
ก็ยังมีปัญญา รู้จักเหตุผลว่า
ควรให้ ไปในรูปไหน 

มิใช่เป็นการให้ไปในรูปละโมบบุญหรือเมาบุญ 
เพราะว่า..
กุศล...ไม่ได้เป็นสิ่งที่หวานเหมือนกับบุญ 
จึงไม่มีใครเมา และไม่ทำให้เกิดการเหลือเฟือ
ผิดความสมดุลขึ้นในวงสังคมได้เลย 

นี่เราพอจะเห็นได้ว่า ให้ทานเอาบุญ กับ 
ให้ทานเอากุศลนั่น ผิดกันเป็นคนละอันอย่างไร

ในการรักษาศีล 
ก็เป็นทำนองเดียวกันอีก 

รักษาศีลเอาบุญ คือรักษาไปทั้งที่ไม่รู้จัก
ความมุ่งหมายของศีล 
เป็นแต่ยึดถือในรูปร่างของการรักษาศีล 
แล้ว...
รักษาเพื่ออวดเพื่อนฝูง หรือ เพื่อแลกเอาสวรรค์ 
ตามที่ ..
นักพรรณนาอานิสงส์ เขาพรรณนากันไว้
หรือ ..
ทำอย่างละเมอไปตามความนิยม
ของคนที่มีอายุล่วงมาถึงวัยนั้นวัยนี้ เป็นต้น


ยิ่งเคร่งเท่าใด ยิ่งส่อความเห็นแก่ตัว 
และ..
ความยกตัว มากขึ้น เท่านั้น ยิ่งมีความ
ยุ่งยากในครอบครัว หรือวงสังคม เกิดขึ้นใหม่ๆ แปลกๆ 
เพราะ ...
ความเคร่งครัดในศีลของบุคคลประเภทนี้อย่างนี้ 
เรียกว่ารักษาศีลเอาบุญ 

ส่วนบุคคลอีกประเภทหนึ่ง 
รักษาศีลเพียงเพื่อให้เกิดการบังคับตัวเอง 
สำหรับ..
จะเป็นทางให้เกิดความบริสุทธิ์ 
และความสงบสุขแก่ตัวเองและเพื่อนมนุษย์
เพื่อใจสงบ สำหรับเกิดปัญญาชั้นสูง นี้...
เรียกว่า...
 รักษาศีลเอากุศล 
รักษามีจำนวน เท่ากัน ลักษณะเดียวกัน 
ในวัดเดียวกัน 
แต่...
กลับเดินไป คนละทิศละทาง 
อย่างนี้เป็นเครื่องชี้ ให้เห็นภาวะ 
แห่งความแตกต่าง ระหว่างคำว่า บุญ กับคำว่า กุศล 

คำว่า กุศลนั้น ทำอย่างไรเสีย 
ก็....
ไม่มีทางตกหล่ม จมปลักได้เลย 
ไม่เหมือนกับคำว่า บุญ 
และ..
กินเข้าไป มากเท่าไร 
ก็ไม่มีเมา ไม่เกิดโทษ ไม่เป็นพิษ 

ในขณะที่...
 คำว่า บุญ แปลว่า เครื่องฟูใจนั้น 

คำว่า....
กุศล แปลว่า ความฉลาด
หรือ เครื่องทำให้ฉลาด และ ปลอดภัย ร้อยเปอร์เซ็นต์

ในการเจริญสมาธิ ก็เป็นอย่างเดียวกันอีก 
คือ สมาธิเอาบุญ ก็ได้ เอากุศลก็ได้ 
สมาธิเพื่อดูนั่นดูนี่ ติดต่อกับ คนโน้นคนนี้ 
ที่โลกอื่น ตามที่ ตนกระหาย จะทำให้เก่งกว่าคนอื่น 
หรือ ...
สมาธิ เพื่อการไปเกิด ในภพนั้น ภพนี้ อย่างนี้
เรียกว่า ....
สมาธิเอาบุญ หรือ ได้บุญ 
เพราะ..
ทำใจให้ฟู ให้พอง ตามความหมายของมันนั่นเอง 

ซึ่งเป็นของที่ปรากฏว่า 
ทำอันตราย แก่เจ้าของ 
ถึงกับต้อง รับการรักษาเป็นพิเศษ 
หรือ ..
รักษาไม่หาย จนตลอดชีวิต ก็มีอยู่ไม่น้อย 

เพราะว่า ...สมาธิเช่นนี้
มีตัณหาและทิฎฐิเป็นสมุฎฐาน 
แม้..
จะได้ผลอย่างดีที่สุดก็เพียงได้เกิดในวัฏสงสาร
ตามที่ตนปรารถนาเท่านั้น 
ไม่เป็นไป เพื่อนิพพาน 

ส่วนสมาธิ ที่มีความมุ่งหมาย
เพื่อการบังคับใจตัวเอง ให้อยู่ในอำนาจ 
เพื่อกวาดล้าง กิเลส อันกลุ้มรุมจิต
ให้ราบเตียน ข่มขี่มิจฉาทิฎฐิ อันจรมา 
ในปริมณฑลของจิต ทำจิตให้ผ่องใส 
เป็น...
ทางเกิดของวิปัสสนาปัญญา
 อันดิ่งไปยังนิพพาน เช่นนี้
เรียกว่า...
 สมาธิได้กุศล

ไม่ทำอันตรายใคร ไม่ต้องหาหมอรักษา 
ไม่หลงวนเวียน ในวัฎสงสาร จึง
ตรงกันข้าม....
 จากสมาธิเอาบุญ

ครั้นมาถึงปัญญา นี้
ไม่มีแยกเป็นสองฝ่าย 
คือ...
ไม่มีปัญญาเอาบุญ เพราะตัว

ปัญญานั้น เป็นตัวกุศล เสียเองแล้ว 
เป็นกุศลฝ่ายเดียว นำออกจากทุกข์ อย่างเดียว 

แม้..
ยังจะต้อง เกิดในโลกอีก 
เพราะ..
ยังไม่แก่ถึงขนาด 
ก็มีความรู้สึกตัว เดินออกนอกวัฎสงสาร 
มีทิศทางดิ่งไปยังนิพพานเสมอ 

ไม่วนเวียน
จนติดหล่ม จมเลน โดยความไม่รู้สึกตัว 
ถ้ายังไม่ถึงขนาดนี้ 
ก็ยัง...
ไม่เรียกว่าปัญญาในกองธรรม หรือ ธรรมขันธ์ 
ของพุทธศาสนา 
ดังเช่น ปัญญาในทาง
อาชีพหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เป็นต้น 

ตามตัวอย่าง 
ที่เป็นอยู่ในเรื่องจริง 
ที่เกี่ยวกับ การกระทำ ของพวกเราเอง 
ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ 

ทำให้เราเห็นได้ว่า การที่เราเผลอ หรือ ถึงกับหลงเอา
บุญ กับ กุศล มาปนเป เป็นอันเดียวกันนั้น 
ได้ทำให้เกิด ความสับสนอลเวงเพียงไร 

และ...
ทำให้คว้าไม่ถูกตัวสิ่งที่เราต้องการ 
จนเกิดความยุ่งยากสับสนอลหม่าน 
ในวงพวกพุทธบริษัทเองเพียงไร 

ถ้าเรายังขืนทำสุ่มสี่สุ่มห้า เอา
ของสองอย่างนี้ เป็นของอันเดียวกัน 

อย่างที่ เรียกกัน พล่อยๆ ติดปากชาวบ้านว่า 
"บุญกุศลๆ" เช่นนี้อยู่สืบไปแล้ว 

เราก็จะไม่สามารถ แก้ปัญหา ต่างๆ อันเกี่ยวกับ
การทำบุญกุศล นี้  
ให้ลุล่วงไป ด้วยความดี จนตลอดกัลปาวสาน ก็ได้

ถ้ากล่าวให้ชัดๆ สั้นๆ 
บุญ..
เป็นเครื่องหุ้มห่อ กีดกั้นบาป ไม่ให้งอกงาม 
หรือ...
ปรากฏ หมดอำนาจบุญเมื่อใด 
บาปก็จะโผล่ออกมา และงอกงามสืบไปอีก 

ส่วนกุศลนั้น ...
เป็นเครื่องตัด รากเหง้าของบาป อยู่เรื่อยไป 
จนมันเหี่ยวแห้ง สูญสิ้นไม่มีเหลือ 
ความต่างกัน อย่างยิ่ง ย่อมมีอยู่ ดังกล่าวนี้

คนปรารถนาบุญ จงได้บุญ 
คนปรารถนากุศล ก็จงได้กุศล 
และ..
ปลอดภัย ตามความปรารถนา 

แล้วแต่ใคร จะมองเห็น 
และจะสมัครใจ จะปรารถนาอย่างไร ได้เช่นนี้ 

เมื่อใดจึงจะชื่อว่า 
พวกเรารู้จัก บุญกุศล กันจริงๆ 
รู้ทิศทางแห่งการก้าวหน้า
 และ
ทิศทางที่วกเวียน ว่า..
เป็นของที่ไม่อาจจะเอามาเป็นอันเดียวกัน 
ได้เลย แม้จะเรียกว่า "ทางๆ" เหมือนกัน ทั้งสองฝ่าย

วัดธารน้ำไหล

๒๕ มิ.ย. ๒๔๙๓

     
คัดจาก หนังสือ 
ชุมนุมข้อคิดอิสระ พุทธทาสภิกขุ  
พิมพ์ ครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๓๘
 โดย สำนักพิมพ์สุขภาพใจ 

คงจะได้รับความกระจ่าง 
เรื่อง 
บุญกุศลมากขึ้น 

จะได้เลือกปฏิบัติได้เหมาะแก่จริตของแต่ละท่าน


คราวหน้า จะว่าด้วยเรื่องของบุญ 
ว่ามีกี่อย่าง ทำอย่างไร จึงจะได้ บุญ 
 

				
22 พฤศจิกายน 2550 23:53 น.

ก้าวสู่กระแส..?.ก้าวสู่การเจริญ...?

ซาวแดนดุด


การก้าวสู่กระแสธรรม(เมื่อเริ่มทนทุกข์ไม่ไหว) เป็นเรื่องที่ต้องมีพื้นฐานที่ถูกต้อง จะได้ไม่เสียเวลา(เพราะเสียเวลามาหลายๆภพชาติแล้ว) เริ่มกันเลย

สติเป็นผลของการสร้างหรือเจริญ เรียก เจริญสติ  ดังนั้น เมื่อถึงเวลาที่อยากให้เกิด ก็ไม่เกิด หรือมาไม่ทันการทุกทีไป(ทำผิดไปแล้ว)
ความเข้าใจหรือความเชื่อพื้นฐานที่สำคัญมาก คือ 

สัมมาทิฏฐิ หรือ ความเห็นที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง มีความว่า
ทานที่ให้แล้ว มีผล 
ยัญที่บูชาแล้ว มีผล 
สังเวยที่บวงสรวงแล้วมีผล 
ผลวิบากของกรรมที่ทำดี ทำชั่วแล้วมีอยู่
 โลกนี้มี โลกหน้ามี 
มารดามี บิดามี 
สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะมี 
สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้า
ให้แจ่มแจ้งเพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลก มีอยู่ (พระพุทธเจ้า)

ดังนั้น ความเห็นที่ตรงกันข้ามกับสัมมาทิฏฐิ เรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ อาจเป็นสาเหตุของการก่อกรรม จากกรรมเบาบางจนถึงกรรมหนัก ที่อาจนำไปสู่ทุติยภูมิชั้นต่ำสุด(นรก) ไม่เชื่อไม่เป็นไร แต่ควรรู้ไว้ก่อน ไม่รู้ แต่อย่าทำผิด ก็จะไม่พลาด

ธรรมที่จะนำไปสู่การเจริญสติ เรียกว่า 

"อนุสติ" หมายถึง ความระลึกถึง หรืออารมณ์ที่ควรระลึกถึงเนืองๆ ซึ่ง
อนุสติ 10 ประการคือ
พุทธานุสติ - ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า
ธัมมานุสติ - ระลึกถึงคุณของพระธรรม
สังฆานุสติ - ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์
ลีลานุสติ - ระลึกถึงศีลที่ตนรักษา
จาคานุสติ - ระลึกถึงทานที่ตนบริจาค
เทวตานุสติ - ระลึกถึงคุณที่ทำให้คนเป็นเทวดา
มรณัสสติ - ระลึกถึงความตายที่จะต้องมีเป็นธรรมดา
กายคตาสติ - ระลึกทั่วไปในกายให้เห็นว่าไม่งาม
อาณาปานสติ - ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก
อุปสมานุสติ - ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบระงับกิเลสและความทุกข์ คือนิพาน

เปรียบเสมือนการเตรียมเมล็ดพืชและเตรียมดินและหมั่นรดน้ำพรวนดิน
ต้นสติจะค่อยๆงอกงาม จนเติบโตผลิดอกออกผล 
เรียกใช้ สติ ทันการ เพื่อการละกิเลส และ หยุดการก่อกรรมให้น้อยลง

ตอนต่อไป รู้จัก คำว่า บุญ แปลว่า อะไร ทำบุญอย่างไรถึงจะได้บุญ

				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟซาวแดนดุด
Lovings  ซาวแดนดุด เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟซาวแดนดุด
Lovings  ซาวแดนดุด เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟซาวแดนดุด
Lovings  ซาวแดนดุด เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงซาวแดนดุด