18 เมษายน 2549 00:33 น.

ปาฐกถา

จิตรนัย

ขออนุญาต คัด(สรุป)  ปาฐกถาพิเศษ "ตัวตนกวีกับจิตสำนึกการมีส่วนร่วมทางสังคม"
จากหนังสือ "อาวุธกวี ตัดตอนอัตตา พัฒนาสำนึก" โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
ซึ่งพิมพ์ลงใน "ภาคผนวก" หนังสือ "นิราศจักรวาล" ของ ชัยพร ศรีโบราณ หน้า ๖๓-๘๔
ซึ่งเป็นหนังสือ "กวีนิพนธ์ยอดเยี่ยมรางวัลนายอินทร์อวอร์ด ประจำปี ๒๕๔๘
๑)
...........
ในเวลาอันจำกัดนี้  ผมจะพูดเฉพาะเอาประเด็นหลัก  คือว่าคำว่า "ตัวตนของกวี" นั้น
เป็นหนึ่งประเด็น-ประเด็นที่สองคือ "จิต" ความมีจิตสำนึกร่วมทางสังคม
............
บทกวีกับบทกลอนต่างกันอย่างไร
............
ทีนี้กลับมาดูที่คำว่า  กลอนกับกวี  ที่จริงมันคือความหมายเนื้อหาเดียวกัน
เพราะกวีนั้นมันมาจากคำว่า  กาวายะหรือเกวะยะ  
ซึ่งในวิธีการเผยแพร่ธรรมของพระพุทธองค์มีอยู่เก้าอย่าง  เรียกว่า นวางคสัตถุศาสตร์
คือ "นว" บวก "องคะ"   คือ  ๙   ประการ  เรียกว่า   นวางคสัตถุศาสตร์ 
คือจะสอนวิธีที่จะเผยแพร่ธรรมะแก่ผู้อื่น  เก้าวิธี

และในนั้นมีเกวะยะ  กาวายะ  คือ  กาพย์  กลอน  ด้วย
ฉะนั้นกาพย์  กลอน  นี้เป็นวิธีการอันหนึ่ง  นำสิ่งที่มีประโยชน์สู่ผู้รู้  
ผู้ที่ต้องการจะรู้  ดังคำสุภาษิตที่ว่า  "กวิ  คาถานมาเสยฺโย"  
แปลว่า   กวีเป็นที่อาศัยแห่งคาถาทั้งหลาย   
คาถาในที่นี้หมายถึง  สิ่งที่มีประโยชน์  สิ่งที่เป็นสาระประโยชน์ ใช้เป็นที่อยู่กับกวีได้ด้วย

ผมเคยพูดว่า  "บทกวีนี้ก็คือบทเพลงที่ไม่มีทำนอง  หรือบทเพลงก็คือบทกวีที่มีทำนอง"
บทเพลงหรือบทกวีนั้น  เนื้อหัวใจของมันก็เป็นสิ่งเดียวกัน เพราะว่ามันเป็นงานศิลปะ
-ศิลปะของการใช้ภาษา  ทำไมเราถึงต้องใช้ศิลปะของการใช้ภาษา  
เพราะว่าสื่อของภาษานั้นมันไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมกระบวนการทางจิตใจของคน 

(๒)
สามกระบวนการทางจิตใจ
กระบวนทางจิตใจของคนนั้นมีอยู่แค่สามอย่างเท่านั้น  
พูดเป็นภาษาง่าย ๆ ก็คือ  รู้สึก  นึก  แล้วก็คิด  ถ้าพูดให้ป็นภาษายากขึ้นมานิด
เป็นภาษาบาลี-สันสกฤตก็คือ  รู้สึกก็คือเวทนา  นึกก็คือสัญญา  คิดก็คือสังขาร
.....................
ทีนี้ความคิดมันต้องใช้ภาษา  เพราะเราคิดด้วยภาษา  ถ้าเป็นคนไทยก็คิดด้วยภาษาไทย 
ไม่มีใครคิดเป็นภาษาฝรั่ง-ฝรั่งเขาก็ไม่ได้คิดเป็นภาษาอื่น  เขาก็คิดเป็นภาษาของเขา
ฉะนั้นภาษากับความคิดมันก็อันเดียวกัน  ดังนั้น  ถ้าเรารู้ภาษามาก  เราก็คิดได้มาก 
จริงไหมครับ  รู้คำน้อย  เราก็คิดได้น้อย

อันนี้คือภาษาเป็นเครื่องมือของความคิด
ส่วนการนึกบางเรื่องอาจไม่ต้องอาศัยภาษา  เช่น  พอนึกก็ได้ภาพเลย  เช่นเรานึกถึง
ภาพความหลัง  ซึ่งปรากฏเป็นมุมมองที่เรียกมโนภาพ  นึกออก   นึกได้  
อันนี้ไม่ต้องใช้ภาษา
ทีนี้เรื่องความรู้สึก-ควาามรู้สึกก็ยิ่งไม่ต้องใช้ภาษา  รู้สึกหิว  รู้สึกรัก  รู้สึกเกลียด  รู้สึกเหงา
เหล่านี้มันพ้นไปจากภาษา  พ้นไปจากเชื้อชาติ  และก็พ้นไปจากกาลเวลาด้วย  
มนุษย์ถึงจะอยู่ถ้ำ  หรือจะไปอยู่บนดาวอังคาร  ก็จะต้องมีความรู้สึกหิว  รัก  เกลียด 
เหมือนกัน

ฉะนั้น  องค์รวมของจิตคือรู้สึกนึกคิด  เมื่อต้องใช้ภาษามาถ่ายทอด ต้องใช้ภาษาอะไร
มันต้องใช้ศิลปะในการใช้ภาษา  เพราะนักเขียน  นักกวี  นักเพลง  นักดนตรี อะไรก็ตาม
ล้วนแต่ต้องแต่งขึ้นด้วยการใช้ภาษา  ซึ่งเป็นการถ่ายทอดกระบวนการเคลื่อนไหวของจิต
ได้อย่างครบถ้วน

คือ  รู้สึก  นึก  แล้วก็คิด 

(๓)
กาพย์  กลอนของเราก็คือกวี-กวีมีคำเรียกอีกอย่างว่าวรรณศิลป์ -วรรณศิลป์
ก็คือศิลปะของการใช้ภาษา  ศิลปะของการใช้ถ้อยคำ
บทกวี  จึงเป็นงานของศิลปะ  เรื่องสั้น  นวนิยายก็เป็นงานศิลปะ  
ซึ่งจะต้องถ่ายทอดความรู้สึก  นึกคิดออกมาให้ครบถ้วน  
มันไม่เหมือนงานวิชาการที่มุ่งให้แต่ความคิดเท่านั้น  หรือข่าว  หรืออะไรต่าง ๆ 
ที่มุ่งเฉพาะในการรับรู้  ต้องการสื่อภาษาตรง ๆ แต่มักจะละเลยในความรู้สึกกับความนึก 
ซึ่งมีแต่คนเขียนหนังสือวรรณศิลป์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้น  นวนิยาย  และบทกวีเท่านั้น
ที่จะทำงานตรงนี้ให้ครบกระบวนการของจิตใจ  คือ  รู้สึก  นึก  แล้วก็คิด

โดยเฉพาะภาษากวีให้ความรู้สึกมาก ๆ ให้ความรู้สึกแล้วนำไปสู่ความนึก  
ก่อเกิดจินตนาการ  แล้วก็นำไปสู่ความคิด
นี่คือตัวตนที่แท้จริงของบทกวี  ว่ามันต้องสอดคล้องกัน
โดยให้ภาพทั้งสามอย่างนี้สอดคล้อง  คือ  ความรู้สึก  นึก  แล้วก็คิด
อย่างบทกลอนใน  "ขุนช้างขุนแผน"  สองวรรคที่ว่า

"เงยหน้าขึ้นเถิดเจ้าพิมเพื่อน
แก้มเปื้อนมาจะเช็ดน้ำตาให้"

เห็นไหมครับว่าสัมผัสคำน้อยมาก  แต่สัมผัสใจเต็มที่เลย
"เงยหน้าขึ้นเถิดเจ้าพิมเพื่อน  แก้มเปื้อนมาจะเช็ดน้ำตาให้"

อ่านแล้วก็อยากให้ใครมาเช็ดน้ำตาให้เหมือนกันนะครับ  นี่ ๆ ต้องหลั่งน้ำตา
นี่แค่สองวรรคก็ให้ความรู้สึก  นึกเห็นภาพ  และได้ความคิด
-ความคิดที่จะเอื้ออาทรต่อกันและกัน  มีใจให้แก่กัน  ซึ่งมีในบทกวี  
และนี่คือตัวตนของบทกวี  ตัวตนที่ต้องให้เกิดกระบวนการทางจิต  
รู้สึก  นึก  คิด  ทั้งสามนี้ครบ 

(๔)
ผมเคยยกตัวอย่างไว้เสมอ  ยกตัวอย่างประสบการณ์ของตัวเอง  
คือผมเคยเห็นหยดน้ำที่มันหยดลงมาจากหลังคาแฝก  มันก็หยดลงไปที่พื้นทราย  
แล้วทรายมันแตกรับขึ้นมา  มันสวยงามมาก  มันเหมือนช่อดอกไม้
 
ผมก็คิดคำว่า  "ช่อน้ำฝน"  เออ  มันเพราะดีนะ  ช่อน้ำฝน  พอดูอีกทีมันตกพราวมาเลย  
ผมก็คิดขึ้นมาว่า  "ดอกน้ำฝน"  มันพราวดีจัง  "ดอกน้ำฝน"
 
เอ๊ะ  มันมีอาการเคลื่อนไหวด้วย  เลยลองใช้คำว่า  "ดอกระบำน้ำฝน" 
แน่ะ  มันชักจะเป็นกลอนขึ้นมาแล้ว
แล้วก็คิดต่อไปอีก  ทีนี้ดอกระบำน้ำฝนนี่มันบานเต็มลานทรายไปหมด  
ก็คิดขึ้นมาได้วรรคหนึ่ง  "ดอกระบำน้ำฝนบนฟลอร์ดิน"  มีฟลอร์ด้วยนะครับ  
แต่ทีนี้  เอ๊ะ  เราเขียนกลอนไทย  ก็ไม่ควรจะใช้ภาษาต่างประเทศเข้ามา  
เลยเปลี่ยนเป็น  "ดอกระบำน้ำฝนบนลานดิน"  นี่วรรคนี้  ผมยกตัวอย่างว่า  
ถ้าผมเป็นคนทำงานศิลปะ  เป็นคนเขียนรูป   ผมก็อยากจะเขียนรูปนี้  ภาพนี้  
ถ้าผมถ่ายรูป  ผมก็อยากจะถ่ายภาพตรงนี้  แต่นี่ผมเขียนกลอน  ผมก็เอาคำมาเก็บภาพ
ตรงที่ผมเห็น  คือ  "ดอกระบำน้ำฝนบนลานดิน"  แล้วผมเก็บไว้นานหลายปี

วรรคนี้เก็บไว้ในความจำจนกระทั่งผมมีโอกาสได้เขียนบทกวีบรรยายบรรยากาศ
หลังฝนตก  ผมก็จะเอาวรรคนี้ไปเป็นวรรคเด็ดวรรคท้าย  ผมจึงขึ้นว่า

"ลมฝนโชยชื่นกลิ่นไอดินหอม  สะแกค้อมกิ่งก้มร่มฝนฉ่ำ
เราเป่าใบไม้ขับรับลำนำ           ดอกระบำน้ำฝนบนลานดิน"


มาลงตรงท้าย
ทีนี้มาดูว่าผมนึกอย่างไรจึงเอาวรรคนี้มาลงตรงวรรคสุดท้าย  
ผมดูว่าวรรคแรก  "ลมฝนโชยชื่นกลิ่นไอดินหอม"  ผมเขียนถึงกลิ่น  
"สะแกค้อมกิ่งก้มร่มฝนฉ่ำ"  ผมก็เอาความร่มเย็น  อากาศก็ทำให้ผมเย็นสบายเนื้อตัว  
นั้นคือความสัมผัสทางกาย  เมื่อกี้สัมผัสทางกลิ่น  "เราเป่าใบไม้ขับรับลำนำ"  นี้คือทางหู  
แล้วก็  "ดอกระบำน้ำฝนบนลานดิน"  คือตา


แล้วเราลองสังเกตว่า  การที่เราจะเข้าถึงความรู้สึกของคน  เราก็จะต้องรู้ว่า
ความรู้สึกของคนนั้นมันอยู่ตรงไหน  มันก็ต้องเป็น  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  เขาเรานี่เอง

ทีนี้การเขียนให้ถึงความรู้สึกของคนต้องคิดถึงเรื่องเหล่านี้  
คิดถึงเรื่องประสาทสัมผัสของมนุษย์  เขาอ่านแล้วเขารู้สึก  นึกคิด  ด้วยเหรือเปล่า

เขารู้สึกได้ยินเหมือนเราได้ยินหรือเปล่า  ฉะนั้นคนที่จะเขียนกาพย์  กลอน  
เข้าถึงตัวตนของบทกวีนั้นต้องเป็นคนละเอียด  เป็นคนที่ประณีต  
เป็นคนที่ฟังเสียงของความเงียบเป็น

แค่เราไปฟังเสียงของความเงียบตอนกลางคืน  ดึก ๆ ไม่มีเสียงอะไรรบกวน  
เราจะได้ยินเสียงเป็นร้อยเป็นพันเสียง  ขณะที่ไม่มีเสียงอะไรจะมีเสียงของแมลงเล็ก ๆ 
ที่เราไม่เคยได้ยิน  เราก็จะได้ยิน
คือเราจะต้องละเอียดในสัมผัสของเรา  หมั่นสังเกต  หมั่นใช้มัน  หมั่นฝึกมัน
เราก็จะมีความละเอียด  มีความประณีต  ในการที่จะใช้มัน  มองในมุมมองของเรา  
นำเอามาเขียน  นี่คืองานเขียนของเรา  นี่คือตัวตนของ

(๕)
ผมจะไม่พูดถึงตัวตนของคนเขียนบทกวี  เพราะว่าตัวตนของคนเขียนบทกวีนี้
น่ากลัวมากเลย  เพราะว่ามันไม่เฉพาะคนเขียนบทกวีเท่านั้น  

คนทำงานศิลปะทั้งปวงมีตัวตนที่น่ากลัวมาก  นั้นคือตัวตนที่เขามีความเป็นมนุษย์พิเศษ
เพื่อนผมเขาเป็นคนเขียนรูป  ไว้หนวดเครารุงรัง  ไปที่อีสานด้วยกัน  เขาก็เดินลุยเข้าไป
ในหมู่บ้าน  เด็ก ๆ วิ่งหนีกันหมดบอกว่าผีบ้ามาแล้ว ๆ เขาไม่รู้ว่าศิลปินใหญ่นี่
จะมาเขียนรูปอะไร  ตัวตนมันเรื่องแปลกประหลาดของคนทำงานศิลปะ
ซึ่งผมเข้าใจ  เพราะว่าคนที่ทำงานศิลปะนี้  ถ้าถึงระดับหนึ่ง  มันเหมือนอิ่มทิพย์
 
ผมเคยเล่นดนตรีไทย  ลองไปสังเกตดู  เล่นดนตรีไทยเขาเล่นอย่างสนุก  
จะไม่สนใจคนดู  ไม่ใช่บนเวทีนะครับ  ตามงานวัดงานอะไรที่นักดนตรีเขาต้องเล่นกัน 
สนุกมากเลย  ผมเคยไปเล่น  ถึงตีสองตีสามไม่ยอมนอน  ไม่มีคนดูคนฟังเราก็สนุกกันเอง  
แล้วเมื่อถึงระดับหนึ่ง  มันเหมือนได้สัมผัสทิพย์  คือตรงนี้มันอิ่ม  มันไพราะ  
มันรู้สึกที่สุดจะบรรยาย 

(๖)

คนเขียนหนังสือ  คนเขียนกาพย์กลอน  เขียนบทกวีก็ตาม
มันจะมีสักขณะหนึ่ง  มันจะมีช่วงหนึ่งที่ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของเราออกมาได้
ตรงนี้มันรู้ภาคภูมิปีติ  มันอิ่ม  เคยอิ่มจากการเขียนไหม  มันก็รู้สึกอย่างนั้น  
อิ่มทิพย์  ผมใช้คำว่าอิ่มทิพย์  หรือสัมผัสทิพย์

แล้วตรงนี้แหละที่ศิลปินทุกแขนงเลยเขียนรูปได้อย่างใจ  ไม่ยอมไปไหนเลย  
พออิ่มทิพย์แล้วมันมองโลกต่ำกว่าเราทั้งนั้นเลย  มันไม่ถึงเรา

ความรู้สึกที่นึกว่าเราเหนือกว่า  มันก่อให้เกิดอหังการ์  หรืออหังการ  
การมีตัวกู  อหังคือตัวกู  มิใช่อัตตาอย่างเดียว  เหนือไปกว่าอัตตาเฉย ๆ  
อหังการ  การะคือการ  การมีตัวกู
และศิลปินทุกแขนงก็จะมีลักษณะนั้น  ที่ว่ามันสัมผัสทิพย์นี้  ศิลปินจะมีสมาธิสูง
-สมาธิจิตนี้สูงมากเลย  จนจะไม่สนใจอะไรอีก  จะรู้สึกดื่มด่ำไปเลย  

คนเขียนเกี่ยวความงดความงามมันก็ยิ่งจะหลงง่ายขึ้น  มันจะเพลี่ยงพล้ำไปกับความงามได้
ง่าย  ตกเป็นเหยื่อของความสวยความงาม  เรื่องอะไรก็ไม่รู้  เราก็จะต้องตก
เป็นเหยื่อของมัน  หลงใหลไปกับมัน  ที่เพริดตกไปตรงนั้น  
จะกลายเป็นตกไปตามอำนาจของกิเลส กิเลสตรงนี้น่ากลัว  
ศิลปินต้องไปพ้นจากอำนาจของกิเลสให้ได้

เหมือนกับภาพเขียนเซน  เส้นทุกเส้นเป็นเส้นสุดท้าย  ถ้าใครไปดูศึกษาภาพเขียนเซน  
จะมีภาพหนึ่งเป็นส้มหกลูก  เส้นที่เขียนนั้นทุกเส้นเป็นเส้นสุดท้าย  เขียนเส้นง่าย ๆ 
ทุกเส้นเป็นเส้นเดียว  ไม่เขียนซ้ำ  เขียนปราด ๆ ไปเลยอย่างว่องไว

นั่นคือสภาวะจิตที่มีสมาธิ  แล้วก็ทีเดียวได้  คือจังหวะของชีวิตของวิญญาณว่างั้น  
จังหวะของความรู้สึกเขียนทีเดียวได้เลย  ไม่ต้องมาเขียนเติมอีก

ภาพเขียนจีนจะมีลักษณะพิเศษอยู่อย่างนี้  เพราะจะเขียนด้วยหมึก  
พู่กันจีนมันจะต้องชุ่มหมึก  กระดาษจะคล้ายกระดาษสา  ถ้าไปแช่พู่กันไว้นาน  
กระดาษมันก็จะยุ่ย  คือถ้าเขียนเร็วเกินไป  มันก็เลอะเทอะ  ฉะนั้นเส้นทุกเส้น
ที่เขาเขียนภาพเขียนจีนนั้น  จึงเต็มไปด้วยพลังและสมาธิ

ถ้าไปดูภาพเขียนจีนที่ดี ๆ  มันจะสื่อสะท้อนให้เห็นว่าเขาเขียนด้วยจังหวะของจิตวิญญาณ
จริง ๆ  เพราะงานศิลปะมันจะยกระดับจิตให้สูงก็ได้  สามารถจะดึงจิตให้ลงต่ำก็ได้ 
ฉะนั้นตัวตนของกวีตรงนี้   อย่างที่ผมว่าน่ากลัว  อันนี้เรื่องของตัวตนของกวีนะครับ 

(๗)
ตัวตนของกวีควรจะเป็นอย่างไร
ประเด็นแรกก็มีสองตัว  คือ
หนึ่ง  ตัวตนของบทกวี  มันจะต้องถึงพร้อมด้วยความรู้สึก  นึก  คิด  ความรู้สึกเป็นองค์รวมอันนำไปสู่ปัญญา  
ผมคิดว่าองค์รวมของความรู้สึก  นึก  คิด  นี่แหละไปสู่ปัญญา  เพราะตัวปัญญามันมาจากความรู้สึก  นึก  คิด  นั่นเอง

แล้วก็ที่สองคือ  ตัวตนของคนเขียนบทกวี  
สองสามปีมานี้  มีการอภิปรายกันมากเรื่องบทกวีตายแล้ว  
ผมก็ยืนยันว่าบทกวีที่ไม่ดีมันตายแน่  แต่บทกวีที่ดีไม่เคยตาย  แต่ตัวตนของกวีก็ตายเหมือนกัน  
กวีตายกันตั้งหลายคนแล้ว  แม้แต่ท่านสุนทรภู่ก็ตายไปแล้ว แต่บทกวีท่านยังไม่ตาย 

(๘)
ทีนี้ก็ประเด็นที่สอง  ความมีจิตสำนึกร่วมทางสังคม  อันนี้สำคัญมาก
เพราะว่าจิตสำนึกของคนเรานี้มันมีสามระดับ
จิตสำนึกระดับหนึ่งคือ  จิตสำนึกเพื่อตัวเอง  เพื่อสนองตัวเอง

จิตสำนึกระดับที่สองคือ  จิตสำนึกเพื่ออุดมคติ อุดมการณ์  เพื่อมนุษยชาติ  เพื่อมนุษยธรรม  
เหนือไปจากตัวเอง  พ้นไปจากตัวเอง

จิตสำนึกระดับที่สาม  ผมคิดว่าคัญมาก คือ  จิตสำนึกทางการเมือง

ผมขอขยายความตรงนี้  โดยเฉพาะคำว่าการเมืองอาจจะทำให้เราสับสน  
เพราะว่าการเมืองถูกนำมาใช้ในด้านลบเสียจนเรามีอคติต่อคำว่าการเมือง  
พอพูดถึงจิตสำนึกทางการเมือง  เราจะมีความรู้สึกเป็นภาพลบในหัวของเราทันที  

จิตสำนึกทางการเมือง  ความหมายแท้จริงก็คือ  จิตสำนึกร่วมต่อสังคมนั่นเอง  
ซึ่งก็คือ  จิตสำนึกทางการเมือง

เพราะจิตสำนึกทางสังคม  นี้แหละเป็นจิตสำนึกระดับสามที่สูงที่สุด
ทำไมถึงว่าอย่างนั้น  จิตสำนึกประการแรกเป็นจิตสำนึกเพื่อตัวเอง  
เป็นจิตสำนึกที่ตัวตนเองเป็นหลัก  เอาตัวเองเป็นหลัก  

ลองสังเกตคนส่วนหนึ่ง  เวลาพูดอะไรมักพูดยกกล่าวถึงตนเอง  
เอาตนเองเป็นหลักก่อนเสมอ

จิตสำนึกประการที่สองก็คือ  เอาผู้อื่น  เอาสิ่งอื่น  เอานามธรรมเป็นหลัก  
เป็นอุดมการณ์  เป็นอุดมคติ  แล้วจะพูดกันอย่างเลื่อนลอยเพ้อเจ้อ  
เป็นเป้าหมายที่ดีอย่างนั้นอย่างนี้  เป็นนามธรรมหมดเลย  อันนี้เป็นจิตสำนึกระดับที่สอง

ประการที่สาม  จิตสำนึกทางการเมือง  หรือจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมนี้  
มันจะย้อนกลับมาเพื่อตัวเองด้วย  จิตสำนึกระดับที่สองเพื่อมนุษยชาติ  เพื่อมนุษยธรรม  
เพื่ออุดมการณ์นั้น  เป็นจิตสำนึกที่พุ่งสู่เป้าโดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับเหตุเท่าที่ควร

มีแต่สำนึกระดับที่สามเพื่อส่วนรวม  คือจิตสำนึกทางการเมืองนี้เท่านั้น
ที่จะมุ่งให้เห็นทั้งเป้าหมายและเหตุที่มาว่าคืออะไร  และจะทำอย่างไรให้ถึงเป้าหมายนั้น  

อันนี้เป็นสิ่งสิ่งสำคัญที่สุด  แล้วก็สูงสุด
ผู้รู้หลายคนพูดอย่างนี้  ผมไม่ได้พูดเองนะครับ  แล้วผมก็มาคิด  มาสำรวจ  มาวิเคราะห็  
แล้วก็เห็นความจริงตามนั้นว่า  จิตสำนึกที่สูงที่สุดคือจิตสำนึกทางการเมืองนี่เอง  ผมขอยืนยัน
พวกเราเป็นนักเขียนหนังสือ  เป็นนักทำงานศิลปะทางด้านภาษา  ผมอยากจะฝากเรื่องจิตสำนึกเหล่านี้ว่า
พวกเรามีครบถ้วนหรือไม่  ผมเคยพูดไว้ว่าคนเขียนหนังสือหรือคนทำงานทางด้านศิลปะนี้
เป็นผู้ดูแลความรู้สึกของสังคม  เป็นผู้ดูแลความรู้สึกของผู้คนในสังคม

(๙)
สี่อย่า-ห้าต้อง
ผมเคยบอกว่าคนทำงานหนังสือ  คนทำงานศิลปะจะต้องมี...ผมใช้คำว่า "สี่อย่า ห้าต้อง"  
มีข้ออย่าอยู่สี่ข้อ มีข้อต้องอยู่ห้าข้อ
มีข้ออย่าอยู่สี่ข้อ
คือ  หนึ่ง  อย่าเป็นคนตกยุค-อย่าตกยุค-ตกยุคก็คงรู้นะครับ  ยุคสมัยนี้เขาไปถึงไหนแล้ว  ยังงุ่มง่ามอยู่กับอะไร
แล้วก็ยึดติด  มีเป็นอันมาก  หลงใหลอยู่แต่ของเก่า  หรือบางพวกก็เมาแต่ของใหม่  

อย่าหลงใหลของเก่า  อย่าเมาของใหม่
สองคือ  อย่าหลงยุค  คือ  อย่าหลงของเก่า  อย่าเมาของใหม่  เมาของใหม่คือพวกหลงยุค  
ยุคนี้เขาเป็นไงก็ตาม  บางทีไม่รู้ว่ายุคเขาเป็นไง  ก็หลงไปกับมัน  นี้ก็หลงยุคเหมือนกัน
อย่าที่สามก็คือ  อย่าล้ำยุค  แต่คนทำงานเขียนหนังสือ  คนทำงานสร้างสรรค์มักจะล้ำยุค   
คือคิดล่วงหน้าไปแยะ  แล้วก็ไม่สามารถปรับใช้กับปัจจุบันได้  มันก็เลยกลายเป็นคนล้ำยุคไป
โดยดีแต่คนเดียว  ก็คือล้ำยุค
อย่าที่สี่คือ  อย่าประจบยุค  เขาอย่างงั้นก็ต้องอย่างงั้นกับเขา  เขาอะไรก็ไปกับเขา  
เขาแฟชั่นยังไงก็ต้องตามกับเขา   ในที่สุดกลายเป็นตามคติที่ว่า  ตามเขาแล้วเก่ง  คิดเองแล้วโง่  
คือเป็นลักษณะของเด็กรุ่นใหม่ของเราที่น่ากลัวมาก

"ตามเขาแล้วเก่ง  คิดเองแล้วโง่"  ดูถูกตัวเอง 

คือสี่อย่า  หนึ่ง  อย่าตก  สอง  อย่าหลง   สาม อย่าล้ำ  แล้วก็สี่  อย่าประจบยุค 

(๑๐)
มีข้อต้องอยู่ห้าข้อ

ทีนี้ห้าต้องก็คือ  หนึ่ง ต้องทันยุค  ต้องรู้เท่าทันกับมัน  รู้ว่าตอนไหนเป็นยังไง  แล้วก็ควรจะเกี่ยวข้องกับมันยังไง  ก็คือทันยุค
ต้องประการที่สองนั้น  ผู้ทำงานศิลปะทำงานสร้างสรรค์ก็คือ   ต้องเป็นปากเสียงของผู้เสียเปรียบ   
เพราะว่าถ้าไม่เป็นปากเสียงของพวกเสียเปรียบแล้ว  ในที่สุดเราก็เป็นปากเสียงของผู้ได้เปรียบ   
หรือเป็นปากเสียงของความเห็นแก่ตัว  เราต้องการอะไร  เรามีอหังการสุงสุดก็เป็นอันตราย  
เราก็เลยลืมนึกไปถึงคนที่เสียเปรียบที่มีอยู่ในสังคมนี้

สังคมนี้มันไม่ได้มีหลายชนชั้น  มันมีอยู่แค่สองชั้นเท่านั้น  คือ  ชนชั้นที่ได้เปรียบกับชนชั้นที่เสียเปรียบ  
เมื่อเราทำงานศิลปะเราจะเลือกอยู่กับฝ่ายได้เปรียบหรือฝ่ายที่เสียเปรียบ   อันนี้ผมก็ฝากไปคิดดู  

ต้องประการที่สอง  ต้องเป็นปากเสียงของผู้เสียเปรียบ
ต้องประการที่สามก็คือ   ต้องตัดทัศนะปัจเจก  ตัดทัศนะของการเอาตัวเป็นหลักออก
ตัดทัศนะปัจเจกเอาส่วนรวมเป็นหลัก  ส่วนตัวต้องขึ้นกับส่วนรวม  อย่าเอาส่วนรวมมาขึ้นกับส่วนตัว  
ซึ่งอย่างนั้นมันเป็นยาก  แต่มันเหมือนอุดมคติ อย่างหนึ่งว่า 
ถ้าคุณจะเขียนบทกวีที่ดี  เขียนหนังสือที่ดี  ทำงานศิลปะที่ดี  ต้องมีอย่างนี้  คุณจะใกล้เคียงแนวที่ดีงามแล้ว
หนึ่ง  ต้องทันยุค  สอง  ต้องเป็นปากเสียงของผู้เสียเปรียบ   สาม ต้องตัดทัศนะปัจเจก  เอาส่วนรวมเป็นหลัก  
ส่วนตัวเป็นรอง

ต้อง  อีกประการที่สี่คือ  ต้องมีจิตสำนึกทางการเมือง   อันนี้สำคัญมาก  เพราะถ้าเรามีจิตสำนึกทางการเมือง  
อะไรจะเกิดก็ตาม   ข่าวสารมันจะเป็นอย่างไรก็ตาม  เราจะเข้าใจทันที  ถ้าเรามีจิตสำนึกทางการเมือง

ผมจะยกตัวอย่างว่าเราจะดูสังคมด้วยองค์รวมทั้งหมด  มันเหมือนต้นไม้ต้นหนึ่ง  
คือประเทศหรือสังคม  ส่วนรากของต้นไม้คือเศรษฐกิจ  ลำต้นนี้คือสังคมหรือประเทศชาติ  
กิ่งก้านสาขานั้นคือการเมือง

ผมเคยคุยกับนักเลี้ยงต้นไม้ดัด   ไม้เลี้ยง  เขาบอกว่า  เขาอยากให้กิ่งไปทางไหน  เขาดัดให้รากไปอีกทาง  
เขาเลี้ยงราก  เอารากไปทำความสะอาดแล้วจัดรากใหม่  ต้องการให้กิ่งไปทางไหน  
เขาก็ดัดรากไปทางตรงกันข้าม  เป็นอย่างนั้นเขาก็จะได้กิ่งตามที่ต้องการ

เศรษฐกิจ  การเมือง  มันเป็นอันเดียวกัน  การเมืองเป็นตัวกำหนดเศรษฐกิจ-เศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดการเมือง  
เราสังเกตเห็นว่า  แต่ก่อนพรรคการเมืองของเราเป็นตัวแทนของกลุ่มทุน  กลุ่มธุรกิจ  
ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจไม่อยากให้นักการเมืองแล้ว  ขึ้นมาเป็นนักการเมืองเองเลย  อย่างปัจจุบันนี้
ถ้าเราดูลึกอีกนิด  ดูการเมืองก็จะมองเห็นเศรษฐกิจ  ความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายมันอยู่แค่กลุ่มเศรษฐกิจกับการเมืองเท่านั้น
คือสังคมของเรานั้นมันเป็นลำต้น  เป็นต้นไม้  มันจะถูกกำหนดด้วยรากคือเศรษฐกิจกับการเมืองเท่านั้น  
แล้วก็ดอกผลนั้นก็คือเป็นผลผลิตของต้นไม้ต้นนั้น  เป็นดอกผล  ถ้าเศรษฐกิจดี  ดอกผลมันก็ดี  

เศรษฐกิจดี  การเมืองไม่ดี  การเมืองดี  เศรษฐกิจไม่ดี  ดอกผลมันก็จะไม่สมบูรณ์

ดอกผลนี้  ถ้าจะพูดในภาษาของนักวัฒนธรรมก็คืออารยธรรมกับหายนธรรม  
วัฒนธรรมเป็นผลผลิตของสังคมเช่นนั้น  วัฒนธรรมคือดอกผลของต้นไม้  ถ้ามันงดงาม  มันก็เป็นอารยธรรม  
ถ้ามันไม่งดงาม  มันก็เป็นหายนธรรม  อันนี้สิ่งที่จะทำให้เรามองเห็นว่าความสำคัญของเศรษฐกิจของการเมืองเป็นอย่างไร

นั่นคือทัศนะของการที่เรามีจิตสำนึกทางการเมืองว่าเราจะมองถึงสิ่งเหล่านี้ได้ชัดแจ้งถูกต้อง  
ไม่มองเพียงผลสะท้อนแค่การเมืองว่าเป็นเรื่องของอำนาจ  กลายเป็นมีอคติต่อนักการเมืองว่า
เป็นผู้แสวงแต่อำนาจอันเป็นทางมาของผลประโยชน์  ซึ่งมักเป็นจริงเสียด้วย   

มีคำกล่าวว่า  'ความรู้คืออำนาจ'  แต่สิ่งที่น่ากลัวคือคนมีอำนาจที่ไม่มีความรู้  อันนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัว
ต้องประการที่ห้า  สุดท้ายคือ  
ต้องทำงานอย่างราชสีห์  คือนอกจากไม่ไยดีต่อมงกุฏที่สวมครอบแล้ว
ก็ไม่ยินดีเอาคราบสัตว์อื่นมาสรวมครอบ  อีกด้วย  
ข้อนี้คงไม่ต้องบรรยายนะ  "สวม"  นี้เป็นด้ายกายภาพ  "สรวม"  เป็นเรื่องของจิตวิญญาณ 
เกี่ยวกับปาฐกถาพิเศษ ของ ครูเนาว์ นะครับ

-------------------------
บทกวีที่ดี-สามารถน้อมนำให้รู้สึก นึกเห็นภาพ แล้วแตกแขนงทางความคิด

ตัวตนของกวีที่ดี-เมื่อมีความรู้สึกอิ่มทิพย์ ต้องพยายามข้ามพ้นให้ได้

ต้องเว้นข้อห้าม-ตก หลง ล้ำ ประจบยุค

ต้องตามข้อต้อง -

ทันยุค 
เป็นปากเสียงของผู้เสียเปรียบ 
ตัดความเห็นส่วนตัว
มีจิตสำนึกทางการเมือง(สังคมส่วนรวม) 
องอาจอย่างราชสีห์				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟจิตรนัย
Lovings  จิตรนัย เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟจิตรนัย
Lovings  จิตรนัย เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟจิตรนัย
Lovings  จิตรนัย เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงจิตรนัย