24 พฤษภาคม 2547 15:23 น.
จันทร์เพ็ญ จันทนา
เมื่อหลายปีก่อน สุวรรณี สุคนธา เขียนถึงลูกชายที่ชื่อ "น้ำพุ" เพื่อเป็นหนังสือแจกงานศพของเขา ลึกซึ้งด้วยความรู้สึกของแม่ และเป็นอุทาหรณ์ที่ดีของสังคม ต่อมาน้ำพุ ก็กลายเป็นหนังสือนอกเวลา เป็นหนังสร้างชื่อ และเป็นละครโทรทัศน์ที่หลายๆ คนยังประทับใจ
วันนี้ ฉันมีหนังสือในมือเล่มหนึ่ง เป็นงานกวีนิพนธ์ ความยาวร้อยกว่าหน้า "พอวา ชีวิตเธอเป็นบทกวีนิรันดร์" คือชื่อหนังสือ งานเขียนของ "คำ พอวา" เขาอาจจะเป็นนักเขียนที่ไม่ได้โด่งดังนัก แต่งานชิ้นนี้ ละเอียด ละเมียด มีชีวิต และ ความรู้สึกเต็มเปี่ยม ฉันเชื่อว่า คำ พอวา ไม่ได้เรียงร้อยเรื่องราวทั้งหมดในเล่มมาจากความเป็นกวี แต่น้ำหนักอยู่ที่ความเป็นพ่อ ที่สูญเสียลูกสาวอันเป็นที่รักไปอย่างไม่มีวันกลับต่างหาก
จริงอยู่ เรื่องราวเล็กๆ ของเด็กผู้หญิงวัยหกขวบ อาจไม่ถูกถ่ายทอดสู่สื่อหลายสื่อ สู่คนหลายคนอย่างเรื่องราวของน้ำพุ แต่ความลึกซึ้งดื่มด่ำ ที่แม่เขียนถึงลูกชายในน้ำพุ และ พ่อเขียนถึงลูกสาวในพอวา หนังสือสองเล่มนี้ ทำหน้าที่ได้ใกล้เคียงกันที่สุด
อ่านหนังสือเล่มนี้จบ เชื่อได้ว่า เราจะรู้จักเด็กหญิงผู้มีชื่อที่แปลว่า "ดอกไม้สีขาวบนภูเขา" เป็นอย่างดี และบางที อาจจะไม่ใช่แค่รู้จัก แต่อาจพ่วงความรู้สึก รัก เสียดาย อาลัย เข้ามาด้วย ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นนางงาม หรือ รักเด็กหรือไม่ก็ตาม เพราะชีวิตดอกไม้ขาวเล็กๆ ของเธอ คือภาพผสมของความบริสุทธิ์ อ่อนโยน สดใส มีชีวิตชีวา เป็นความรัก เป็นของขวัญที่มีความหมายของหลายๆ คนในแบบที่เราสัมผัสได้
กวีนิพนธ์เล่มนี้ เหมือนเป็นสายใยเชื่อมภาพของครอบครัวที่อบอุ่นและคนเคยคุ้นในวงการน้ำหมึกเป็นอย่างดี คำ พอวา ผู้เป็นพ่อเขียนเรื่องราวแห่งความรักอาลัย, เด็กหญิงพอวา เป็นเจ้าของภาพประกอบทั้งหมดในเล่ม,'รงค์ วงษ์สวรรค์ เขียนคำนำ และ ตบท้ายด้วย บทกวีร้อยตามดวงดอกไม้ ของนักเขียนอีกหลายต่อหลายคน อย่างเทพศิริ สุขโสภา, กานติ ณ ศรัทธา, พจนาถ พจนาพิทักษ์, ศักดิ์สิริ มีสมสืบ, ประกาย ปรัชญา และ ไม้หนึ่ง ก. กุนที เป็นต้น
เขียนจากใจ ไม่ใช่เขียนจากสมอง เขียนจากความรู้สึก ไม่ใช่เขียนจากเหตุผล น่าจะเป็นคำอธิบายส่วนหนึ่งของงานกวีนิพนธ์ชุดนี้ได้ ข้อเขียนของสุรสม กฤษณะจูฑะ ในช่วงหนึ่งของตอนต้นหนังสือ กระทบใจฉันจังเบ้อเร่อ "การรับรู้ชะตากรรมของชีวิตเล็กๆ มีส่วนสำคัญไม่น้อยกว่าการหยัดยืนเพื่อต่อสู้ชะตากรรมของโลก" สังคมกว้างใหญ่ คือแผ่นน้ำผืนกว้างที่เกิดจากการรวมตัวของธารชีวิตเล็กๆ และหลายๆ ครั้ง การเข้าใจปรัชญาคุณค่าของชีวิตอย่างลึกซึ้ง ก็มีรากฐานมาจากการความรู้สึกร่วมพื้นๆ ของคนธรรมดาๆ นี่เอง
"พ่อนั่งเขียนบทกวีด้วยความรู้สึกใหม่ทุกวัน
โอสถชั้นเยี่ยมละลายความโศกเศร้า
แต่อีกกี่ชิ้นถั่งโถมออกมาเล่า จึงจะพอเพียง
เยียวยาเนื้อเยื่อภายในที่แตกสลาย และหายใจได้ไม่ลำบาก"
เพลงปลอบ: คำ พอวา
"ถ้าเธอรู้ล่วงหน้า โลกปิดฉากลงง่าย ๆ
เธอคงไม่ตั้งความหวังไว้กับรอยเท้าวันพรุ่ง
ละวางก้าวย่างที่ผ่านเลยลงเสียบ้าง
แล้วเพ่งมองความจริงจากลมหายใจ
เธอจะได้มีชีวิตอยู่ เพียงวันนี้จริงจริง"
แดดยามบ่าย (2): คำ พอวา
หนังสือเล่มนี้ เหมือนหนังดราม่า ที่ผูกเรื่อง
สร้างตัวละครเอกไว้มีเสน่ห์เหลือเกิน
ภาษาละเมียดเรียบสะอาดอย่างกวีนิพนธ์
แต่เรื่องราวลึกซึ้งสะท้านใจอย่างนิยายชีวิต
ที่สำคัญ การมองและรู้สึกจากคนเขียนคำหลายๆ คน
ทำให้เราได้ถอยห่างและมองภาพรวมจากจุดเล็กๆ
ที่ต่าง ภายใต้ภาพใหญ่ภาพเดียวกัน
"เจ้าหญิงองค์น้อย ไปร้อยเรียวเดือน
มาเย้ามาเยือน เหมือนยังมีอยู่
เป็นลมเริงริน ยินดีเอ็นดู
ห้อมพรม หอมพรู ผู้คนหายใจ"
ประกาย ปรัชญา:
"พอแล้ว พอวา พอเถิด
พราวพรู ประตูเปิด บรรเจิดจ้า
เกิดดับ เกิดดับ ธรรมดา
พอเถิด พอวา พอแล้ว
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
พอเถิด พอวาพอแล้ว"
- ศักดิ์สิริ มีสมสืบ-
โดยธรรมดาแล้ว ความสูญเสีย ความปวดร้าว และความเหงา น่าจะนำไปสู่ความเหน็บหนาวในหัวใจ แต่อ่านหนังสือเล่มนี้จบ ในรอบแรก และรอบซ้ำๆ กลับนำมาซึ่งความรู้สึกอบอุ่น เพราะแท้จริงแล้ว ความรักเป็นนามธรรมที่จะยังอยู่เสมอ แม้ในวันที่ความรักรูปธรรมได้จบลง บริสุทธิ์ งดงาม อ่อนโยน และแว้บนึงของความรู้สึก "ฉันคิดถึงพ่อ"