8 ธันวาคม 2547 01:05 น.
คุณภูมิ
วิถี แห่ง ใจ
ภุชงประยาตรฉันท์ ๑๒
ระลึกถึง ณ หนึ่งสาว
เพราะเคยก้าวตระกองยาม
วิโยคร่ำและคำถาม
ก็ไหลหลั่งประดังล้อม
ระลึกที่วิถีทัศน์
จะยืนหยัดมิจำยอม
มิย่อท้อจะหล่อหลอม
เพราะเธอรู้และอยู่เคียง
ประโลมปลอบเพราะมอบมือ
กระชับถือและทอดเรียง
จะฝ่าฟ้าจะฝ่าเสียง
อุโฆษครึ้มกระหึ่มคราง
เสมือนใจจะให้จิต
เสมือนทิศจะบอกทาง
อะไรไขว่อะไรขวาง
ก็กุมมั่นมิหวั่นมวล
ระลึกคราอุษาคลี่
ณ ชีวีสว่างนวล
ลดาห้อมแหละหอมหวน
จรุงร่ายสยายริน
แมลงว่อนฉะอ้อนเวียน
เฉวียรเดียรดาษบิน
ตะวันแซมแตะแต้มศิลป์
มิรู้สร่าง ณ ทางเดิน
อิทิสังฉันท์ ๒๐
ถึงจะฝ่ามหาสมุทร,เผชิญ-
มหานรก,ระหกระเหิน ณ หุบเหว
พายุร้ายระร่ายกระหน่ำกเฬว-
-ะรากจะมากปละแปลบปละเปลว ประลัยสรร
โพ้นนภาผิว์ดาริกาจะอัน-
-ตระธานเพราะเมฆอเนกอนันต์ และทึบหนา
เธอเสมอตะวันก็ผันทิวา
จะส่องสว่างมิสร่างมิซา ณ แสงปราย
เธอสิหลอมพลังและหวังก็พราย
และเพราพิลาศมิขาดมิหาย ประจักษ์เห็น
เห็นประจักษ์ ณ รักมิเคยจะเย็น
ระย่อหรือท้อเพราะรักน่ะเป็น วิถีปอง
ปองวิถีจะมีสหายประคอง
อุดม(ะ)การณ์จะผลาญ ณ ผอง ทุพันธุ์พงศ์
ปัจจุบันก็ฝันแหละฝันก็คง
ทว่าสหายมลายเพราะหลง สบายแล้ว
เธอเสมอ ณ มิตรมิคิดละแนว
จะนานจะเนิ่นก็เดิน ณ แถว วิถี เรา
เธอเสมอ ณ มิตรมิคิดจะเอา
สรีระซบสยบ ณ เท้า อธรรมทูน ฯ
คุณภูมิ
ศาลาพระเกี้ยว,๒๕๔๖
7 ธันวาคม 2547 17:19 น.
คุณภูมิ
กลอนหก
ไตรรงค์ธงพลิ้วปลิวไหว
เหนือถิ่นแดนไทยใช่หมอง
โลกเพรียกเรียกขานขวานทอง
กึกก้องกลบกรรณก่อนกาล
ทรัพย์สินถิ่นฐานบ้านช่อง
ชนครองไร้ทุกข์สุขศานติ์
ทวยราษฎร์กาจกล้ามานาน
ฮึกหาญผลาญพล่าไพรี
ยึดมั่นในชาติศาสน์กษัตริย์
ป้องปัดจรัดเมืองเรืองศรี
ล้านศพทบทับทวี
ชาติมี เสรี ชี้ดู
ใครมาพร่าผลาญขวานบิ่น
จะรินเลือดไทยไหลสู้
พิทักษ์แผ่นดินถิ่นกู
ให้รู้ว่าเรา เผ่าไทย
แผ่นดินมีชาติศาสน์กษัตริย์
เป็นฉัตรร่มหล้าฟ้าใส
สุขครองผ่องล้ำอำไพ
ร่วมใจใฝ่รักสมัคคี
วันใดไตรรงค์ธงหมอง
ศัตรูจู่จองครองที่
ขวานทองของไทยถ้ามี
พร้อมพลีชีพป้องผองไทย ฯ
คุณภูมิ
ยอดเขาหลวง สุโขทัย,๒๕๔๗
7 ธันวาคม 2547 17:12 น.
คุณภูมิ
กาพย์ฉบัง ๑๖ ห่อ โคลงโบราณวิชชุมาลี
ใจกู ใจมึง ใจธรรม ใจกระจ่าง ใจกวี : หนึ่ง
ใจสุมาลย์นั้นกรุ่นด้วย เรณู
ฉมแห่งใจกวี กว่านั้น
โดยดาวแต่งฟ้าดู จึงเด่น
ฤเทียบพากย์กวิคั้น แต่งคำ ฯ
เรณูขับ-สุมาลย์กรุ่น ฟ้าค่ำดาวดุน
จึ่งพรายจึ่งเพริศเฉิดฉันท์
งามฉมพากย์ที่กวีปัน ถักถ้อยร้อยวรรณ
งามฉมกว่านั้น-บันลือ ฯ
ใจกู ใจมึง ใจธรรม ใจกระจ่าง ใจกวี : สอง
คือใจแห่งเด็กจ้อย ไป่ลวง
ไป่ราดกิเลสดำ แต่งแต้ม
คือใจกู่ขานทวง อิสระ
อิสระดั่งหญ้าแย้ม ดอกใบ ฯ
คือใจเยี่ยงใจเด็กจ้อย มืดมากดำน้อย
ไป่ทาบไป่ทามลามลง
ใจกวีคือใจเจาะจง สร้างเจตจำนง
ให้อิสระได้โรจน์เรืองรอง ฯ
ใจกู ใจมึง ใจธรรม ใจกระจ่าง ใจกวี : สาม
คือใจแน่นหนักได้ ดั่งดิน
แลเคลื่อนอยู่ดุษณี ดั่งน้ำ
ดั่งลมวูบว่องยิน สรรพสิ่ง
แลไล่ปฏิกูลให้คร้าม ดั่งไฟ ฯ
คือดินคือน้ำลมไฟ ควั่นเกลียวอยู่ใน
จิตแจ้งจิตหนึ่งนิ่งนาน
คือจิตมุ่งม้างปฏิการ ต่ำช้าสาธารณ์
ให้ร่อยให้ปลาตลงลาญ ฯ
ใจกู ใจมึง ใจธรรม ใจกระจ่าง ใจกวี : สี่
คือใจดาวแห่งฟ้า ปักษ์แรม
เพียงส่องประกายใส แก่พื้น
คือใจแห่งสุมาลย์แซม สีสด
เพียงแต่งโลกให้ชื้น แก่ตา ฯ
คือใจแห่งดวงดารา อุทิศแต้มทา
แก่ทุ่งฟ้าค่ำคืนแรม
คือใจดั่งกลีบสุมาลย์แซม-สีสดปนแปม
แก่พื้น, แก่ค่า ตาคน ฯ
ใจกู ใจมึง ใจธรรม ใจกระจ่าง ใจกวี : ห้า
คือใจอยู่เพื่อสร้าง สุนทรีย์
เบอกอักขรทิพย์เยียวยา โลกแล้ง
คือใจเปี่ยมปรีตี ในศักดิ์
คือศักดิ์อันรู้แจ้ง แก่นธรรม ฯ
คือใจอิ่มคุณสุนทรีย์ เบอกอักขระปรีตี
เพื่อกล่อมโลกแล้งให้ละมุน
คือใจเปี่ยมเต็มธรรมคุณ เมตตาการุณย์
แก่ผองสัตว์โลกร่วมเวร ฯ
ใจกู ใจมึง ใจธรรม ใจกระจ่าง ใจกวี : หก
คือใจดั่งนกฟ้า เริงตะวัน
หลุดล่วงจากกฎกรรม บ่วงแร้ว
เสพย์ภพทิพยญาณอัน อิสระ
ถ้วนสรรพสิ่งล้วนแล้ว ไป่ครอง ฯ
คือใจดั่งนกฟ้า หลุดพ้นขื่อคา
เสพย์ในทิพยรูปเสรี
คือใจหลุดว่างวิธี ไป่ติด ชั่ว-ดี
จึงไป่แย่งยื้อถือครอง ฯ
ใจกู ใจมึง ใจธรรม ใจกระจ่าง ใจกวี : เจ็ด
คือใจพรหมวิหารสี่ตั้ง เต็มธรรม
แลแจ่มใจครรลอง หลุดพ้น
ว่างสงบอยู่ในธรรม อันก่อ
อันก่อเพียงเพื่อค้น ก่นทาง ฯ
คือใจแต่งใจในพรหม- วิหารสี่ประนม
ประนังไว้แจ้งแห่งใจ
คือใจว่างนิ่งอยู่ใน กรรมใกล้กรรมไกล
อันก่อเพื่อค้นก่นทาง ฯ
ใจกู ใจมึง ใจธรรม ใจกระจ่าง ใจกวี : จบ
ใจ-จักรวาลวาดไว้ ดั่งใด
กวี-ก็วาดใจวาง ดั่งนั้น
คือ-ใจว่างใจใส ใจสด
ธรรม-จึ่งแต่งเค้นคั้น ก่องใจ ฯ
คือใจผนึกภาพจักรพาล มาก่อในกานท์
อันก่อมุ่งเกื้อเอื้อคน
คือใจใสผ่องส่องผล ไร้ห่วงทำงน
จึงไป่สูง-ต่ำ, ลำเอียง ฯ
คุณภูมิ
เขตรอยต่อชายแดนไทย-ลาว ด่านภูดู่,๒๕๔๗