30 กรกฎาคม 2554 15:45 น.
คนกุลา
กลอนกลบท
กลอนกลบท ก็คือกลอนสุภาพ ซึ่งมักจะเห็นการเล่นกลอนกลบท ในกลอนแปด หรือกลอนเก้า โดยมีการบังคับฉันทลักษณ์พื้นฐานของกลอนสุภาพทั่วไป แต่มีการบังคับเพิ่มเติม ตามที่แต่ละกลบทนั้นๆจะกำหนดไว้ ผมขอเขียนเรื่องกลอนกลบท ไปเรื่อยๆตามแต่เวลาจะอำนวย และความสนใจ ที่ยังมีนะครับ
กลอนกลบทกลบกลืนกลอน
กลบทกลบกลืนกลอนนั้น มีอยู่ หลาย แบบ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
๑) กลอน กลบทกลบกลืนกลอน ตามแบบฉบับ ของ หลวงนายชาญภูเบศร์:ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน) ซึ่งเขียน โดยวางหลัก แบบเดียวกับของหลวงหลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) โดยมีบังคับดังนี้
บังคับกระทู้ ๒คำ ต้นวรรคทุกบาท
โดยเปลี่ยนกระทู้ทุกบท(๔วรรค)
และซ้ำคำถอยหลังตรงคำที่ ๔-๕
กับ๒คำท้ายวรรคทุกวรรค
สุดที่รัก
.......................
สุดที่ รัก(ฝันหลับ) ยัง (หลับฝัน)
สุดที่ จันทร์(เสมอหนึ่ง)มา(หนึ่งเสมอ)
สุดที่ ใจ(เจอหวาน)เท่า(หวานเจอ)
สุดที่ เผลอ(ไปห่าง)คิด(ห่างไป)
คล้ายว่ารักแล้วลายากลาแล้ว
คล้ายว่าแก้วได้วางคิดวางได้
คล้ายว่าห่วงไว้เก็บเหลือเก็บไว้
คล้ายว่าใจกำหวังอยากหวังกำ
งดงามรักจิตนำชักนำจิต
งดงามพิศร่ำหวานตามหวานร่ำ
งดงามกวีคลำเฝ้าคิดเฝ้าคลำ
งดงามจำคืนฝันคิดฝันคืน
ดั่งคีตรักกล่อม,เห่หวังเห่กล่อม
ดั่งคีตล้อมชื่นล้ำใจล้ำชื่น
ดั่งคีตพรมยืน,นั่งยามนั่งยืน
ดั่งคีตรื่นมองชะแง้แล้วชะแง้มอง
สั่งสมลมรักพร่างพลิ้วพร่างรัก
สั่งสมชักห้องเต็มรักเต็มห้อง
สั่งสมหวามจองจำล้นจำจอง
สั่งสมคะนองบังปิดช่วยปิดบัง
ในม่านหนาวห้วงก่อเย็นก่อห้วง
ในม่านหลวงหลั่งช่วยรักช่วยหลั่ง
ในม่านใจฟัง,เฝ้าคิดเฝ้าฟัง
ในม่านหลังชวนชมดุจชมชวน
ห่มความรักอุ่นใจให้ใจอุ่น
ห่มความละมุนหวนสุขเกิดสุขหวน
ห่มความหวังมวลหมื่นในหมื่นมวล
ห่มความถ้วนรอยรักสู่รักรอย
ส่วนอีกแบบฉบับหนึ่ง ไม่ทราบว่าใครเขียน แต่นำมาเผยแพร่ โดย “ญามี่”
โดยมีการบังคับใช้แค่คำซ้ำในคำที่ ๕ มาใช้ที่คำที่ ๗
นอกนั้นเหมือนกันหมดกับของหลวงหลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก)”
..................................................
สุดที่รัก (ด้วยกลบทกลบกลืนกลอน แบบฉบับ ญามี่ )
สุดที่ รักใจ(คิด)ยัง(คิด)เสมอ
สุดที่ เจอแล้ว(เลย)หัน(เลย)ผ่าน
สุดที่ ห่วงเหมือน(รั้ง)อย่า(รั้ง)นาน
สุดที่ ธารสรรค์(ฝัน)ยอม(ฝัน)คืน
ฉันยังอยู่คอยมองเยี่ยงมองฟ้า
ฉันยังมาคอยยิ้มส่งยิ้มชื่น
ฉันยังเขียนกวีหวานย้ำหวานยืน
ฉันยังกลืนมนต์มั่นอย่างมั่นทรวง
วันต่อวันโอนอ่อนใช่อ่อนไหว
วันต่อไปยังเฝ้าขอเฝ้าหวง
วันต่อความรักทั้งใจทั้งปวง
วันต่อช่วงจิตจองสมัครจองรอ
คำว่ารักจากฉันหวานฉันนี้
คำว่าลี้ยากเกิดให้เกิดก่อ
คำว่ามั่นมีอยู่เหมือนอยู่คลอ
คำว่าท้อไม่เคยคุ้นเคยรู้
ตราบหล้าสิ้นสมุทรหายฟ้าหายด้วย
ตราบหล้าม้วยจิตเคียงยังเคียงคู่
ตราบหล้าลืมเปิดทางปิดทางดู
ตราบหล้าอู้ใจชี้ยังชี้รัก
รักด้วยรักเพราะถวิลเสกถวิลหวาม
รักด้วยความหมายเพียงรู้เพียงจัก
รักด้วยเธอคือใจพาใจภักดิ์
รักด้วยดักดื่มด่ำดุจด่ำนำ
ยังตราไว้เช่นฝันเคยฝันวาด
ยังตราหาดอุ่นชื่นเคยชื่นร่ำ
ยังตรากานท์สองเราพาเราจำ
ยังตราคำหวานเขียนต่างเขียนเคียง
หยาดทิพย์ฉ่ำน้ำค้างยังค้างอยู่
หยาดทิพย์ชูรุ้งงามดูงามเยี่ยง
หยาดทิพย์ทอแดดสีเป็นสีเรียง
หยาดทิพย์เมียงหมอกม่านเหมือนม่านลม
อีกบางตัวอย่าง
ขอเพียงหวัง...โดย คน กุลา
๐ ขอเพียงรอหนอหวังยังหวังหนอ
ขอเพียงก่อรักร้อยสานร้อยรัก
ขอเพียงใจจักรู้ให้รู้จัก
ขอเพียงภักดิ์ใจหมายดั่งหมายใจ
๐ ไม่อยากเฝ้าหลงจิตจนจิตหลง
ไม่อยากพะวงไหวหวามจนหวามไหว
ไม่อยากฝืนใจจำเพราะจำใจ
ไม่อยากให้นางคอยจึงคอยนาง
๐ เพราะหวังไว้แสนสูงสุดสูงแสน
เพราะหวังแดนพร่างพริบพรายพริบพร่าง
เพราะหวังวางลางเลือนอาจเลือนลาง
เพราะหวังอย่างจริงจังและจังจริง
๐ จึงมาตอบปลอบคำด้วยคำปลอบ
จึงมาชอบหญิงน้องนะน้องหญิง
จึงมาหวังอิงแอบอุ่นแอบอิง
จึงมาติงคำตอบเธอตอบคำ
๐ รู้ว่าคงฝันไกลสุดไกลฝัน
รู้ว่าพลันถลำลึกลึกถลำ
รู้ว่าหากจำใจฝืนใจจำ
รู้ว่าพร่ำรอหวังเกินหวังรอ
๐ แม้นว่าเธอร่วมฝันและฝันร่วม
แม้นว่ารวมขอรักมั่นรักขอ
แม้นว่าสู้พนอใฝ่ฝันใฝ่พนอ
แม้นว่าท้อก็ทนสู้หยัดสู้ทน
.............
ผมค้นพบว่า กลกบทกลบกลืนกลอน ฉบับ ที่ใช้กลอนเก้า
จะจัดเรียงคำได้ไพเราะขึ้น ลองดูนะครับ
ผมเรียก ว่าเป็น กลบท กลบกลืนกลอน แบบฉบับ จันทบูรณ์
เพราะไปคิดได้ ที่จันทบุรี คราวไปทำธุระที่นั่นนะครับ
๐ กวีฝึกฝันกลอนกานท์สานกลอนฝัน
กวีฝึกร้อยเรียงวรรณมั่นเรียงร้อย
กวีฝึกคอยสื่อสารผ่านสื่อคอย
กวีฝึกความเรียงร้อยถ้อยเรียงความ
๐ นำกลอนเก้าสานประสงค์คงประสาน
นำกลอนกานท์หวามไหววาดอาจไหวหวาม
นำกลอนเก้าตามติดนัยใฝ่ติดตาม
นำกลอนยามเยีอนเนาคอยค่อยเนาเยือน
๐ จึงให้กฎบทกวีคลายคลี่กวีบท
จึงให้จรดเหมือนคราวสุขทุกคราวเหมือน
จึงให้เพื่อนเตือนใจหมายใช้ใจเตือน
จึงให้เยือนกันลืมให้ไม่ลืมกัน .๚ะ๛
.............................คน กุลา ๙ กค. ๕๔
:สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากๆ ในการเขียนกลบทที่มีการซ้ำและสลับคำ คือต้องหาคำที่สามารถให้ความหมายทั้งคำแรก และคำที่สลับกัน มิฉะนั้น เนื้อหาสาระของกลบทก็จะไม่ได้ใจความ... ทำให้กลอนกลบทนั้นๆขาดคุณค่าไปเลย
หากสนใจ ก็ลองไปพิจารณาแต่งกันดูนะครับ
20 กรกฎาคม 2554 01:10 น.
คนกุลา
กลอนกลบทเบญจวรรณห้าสี
กลอนกลบท
กลอนกลบท ก็คือกลอนสุภาพ ซึ่งมักจะเห็นการเล่นกลอนกลบท ในกลอนแปด โดยมีการบังคับฉันทลักษณ์พื้นฐานของกลอนสุภาพทั่วไป แต่มีการบังคับเพิ่มเติม ตามที่แต่ละกลบทนั้นๆจะกำหนดไว้ ผมขอเขียนเรื่องกลอนกลบท ไปเรื่อยๆตามแต่เวลาจะอำนวย และความสนใจ ที่ยังมีนะครับ
กลอนกลบท เบญจวรรณห้าสี
กลอนกลบทเบญจวรรณห้าสี เป็นอีกกลบทหนึ่งซึ่งแต่งไม่ยาก และมีความไพเ...ราะ เพราะ
มีการเล่นคำมีข้อบังคับให้วรรคหนึ่งๆ ต้องมีพยัญชนะต้นเสียงเดียวกัน
ตั้งแต่คำที่ ๑ ถึงคำที่ ๕ ซึ่งสอดคล้องกับคำว่า “เบญจ” แปลว่า “ห้า”
ดังแผน
(๐) (๐) (๐) (๐) (๐) ๐ ๐ ๐......................(๐) (๐) (๐) (๐) (๐) ๐ ๐ ๐
คำในวงเล็บคือ พยัญชนะต้นเสียงเดียวกัน
ตัวอย่างกลอน กลบท เบญจวรรณห้าสี
**กอ เอ๋ย กอ ไก่** คนกุลา
๐ การก่อเกิดกิจการ.....ให้สานต่อ
ขาดเขินขอขีดเขียน.....พากเพียรหมาย
คือคนคาดเคียงคำ.....ลำนำราย
โง่งมงายเงอะงะ.......อย่าละเรียน
๐ จึงจดจารจากใจ......เรียงใส่สิ้น
เฉิดโฉมฉินฉาวโฉ่.....โธ่ยังเขียน
ชิงชังชอบชมเชย......เคยแวะเวียน
ซึมซับเซียนซอกซอน.....ที่ซ่อนนัย
๐ ญาติหญิงใหญ่ญญ่าย...กระจายหมู่
ดุจได้ดูดวงแด......หวังแก้ไข
ตอนตกต่ำตรอมตรม....ยากข่มใจ
ถกเถียงไถถากถู.....เขาดูแคลน
๐ ท่องเที่ยวทางทุกที่.....มีค่าล้ำ
ธาตุเธียรธรรมธารธม.....ภิรมย์แสน
เนิ่นนานนับแนบเนา......กลับเศร้าแทน
บดบี้แบนเบียดบัง......ก็ยังทน
๐ เปิดปมปิดป้องปาน.....กลัวพาลหมอง
ผลิตผลิผองผลีผลาม.....หางามผล
เฝ้าฝึกฝืนแฝงฝัง......ตั้งผจญ
พฤกษ์พงพนพากเพียร......แม้นเจียนตาย
๐ เฟื่องฟากฟ้าฟูฟ่อง.....อย่าพองขน
ภัทร์ภาคย์ภณเภทภัย.....ให้ห่างหาย
มวลมิ่งมิตรมุ่งมั่น......มีมากมาย
ยินย่ายายเยินยอ.......หมายคลอเคียง
๐ รับรสรักรื่นเริง.....บันเทิงสินธุ์
ฤฤๅฤณฤกษ์ฤติยา.....มาส่งเสียง
ลมลับเลยแล้งลา......คราเคยเคียง
วาดวังเวียงวัดวา.......บอกว่างาม
๐ ศัสตร์ศรศิลป์ศักดิ์ศรี.....ฤทธีแกร่ง
สาดสีแสงใสส่อง.....ผ่องไหวหวาม
หากหุนหันหกเหิน.....เกินใครตาม
โอ้อ้ายอามอิงไอ.....อุ่นในทรวง
๐ การก่อเกิดกิจการ.....ให้สานต่อ
ขาดเขินขอขีดเขียน......เพียรใหญ่หลวง
อกอิ่มอาบเอิบอวล........ล้วนใช่ลวง
เฮาเฮ็ดเฮือนฮามฮวง........จุ้ยห่วงจำ
....................คน กุลา ๑๖ กค. ๕๔
อีกตัวอย่างหนึ่ง ของกลอนกลบทเบญจวรรณห้าสี
รักแรมร้าง เรียมรู้ เป็นชู้รัก
เสียเสื่อมศักดิ์ เศร้าโศก โลกสลาย
จากจิตใจ จนจาง แทบวางวาย
ให้โหยหาย หดหู่ เพราะรู้ใจ
ไม่มีมิตร มองมา พามืดมัว
นั่งเนียนัว แน่นหนัก ถูกผลักใส
หาแห่งหน ห้วงเหว เดินเร็วไว
แจ้งจนใจ จำจาก พลัดพรากกัน.
...หยาดกวี...
อีกตัวอย่างหนึ่ง ของกลอนกลบทเบญจวรรณห้าสี*รักร้าว*
kata1991
-------------------------
๐ เคยคลอเคล้าเคียงคู่.....ร่วมชู้ชื่น
กลับกลายกลืนโกรธเกลียด.....ทำเหยียดหยัน
เพียงเพราะพวกพ้องเพื่อน......ก็เลือนกัน
เสแสร้งสร้างสุขสันต์......ให้ฉันชม
๐ อบไออุ่นอิงแอบ......เคยแนบชิด
ต้องตามติดเตือนตัก.....จนรักขม
ไหววิเวกเหว่ว้า......เหงาอารมณ์
ชิดเชยชมแชเชือน......ต้องเลือนลา
๐ ทั้งที่แท้ท้อทด.....จนหมดหวัง
ยอมยับยั้งหยัดยืน......ทำชื่นหน้า
เฝ้าใฝ่ฝันฝึกฝืน......เธอคืนมา
ให้โหยหาแหนหวง......ร้าวดวงจินต์
๐ เย็นยะเยียบเยื้องย่าง.....บนทางฝัน
เศร้าโศกศัลย์ศักดิ์ศรี......เคยมีสิ้น
หม่นหมองมัวเหมือนมา......ให้ราคิน
หลงเล่ห์ลิ้นลวงหลอก......จนชอกช้ำ
๐ หนึ่งนัยนี้แน่นหนัก......ด้วยรักแน่
ไปเปลี่ยนแปรปล่อยปละ......จนถลำ
ร้างแรมรารักร้าว.....ถูกเขาทำ
ได้ดื่มด่ำดวงแด.......เพียงแค่มอง
๐ วิเวกไหวเวียนวน.....อยู่บนทาง-
ยะเยียบย่างยื้อยุด.....ประทุษผอง
แห่งห้วงห่มหักหาญ.....ใครผ่านมอง
เมื่อหม่นหมองมีไหม.....ผู้ใกล้ชิด
๐ นัยหนึ่งนี้แน่นหนัก.....เกินจักค้น
โดยดั้นด้นโดดเดี่ยว.....ทุกเทียวจิต
ฝ่าฝืนเฝ้าฝันใฝ่.....ด้วยใจมิตร
ฤๅรู้ฤทธิ์รอยร้าง.....ยามห่างไกล
๐ เอย..อกเอ๋ยออดอ้อน.....ก็รอนลา
หอมห่วงหาเหือดแห้ง.....อยู่แห่งไหน
ไร้เรี่ยวแรงรับรู้.....เถิดผู้ใด
อวลอุ่นไอโอบอ้อม.....ช่วยล้อมที
๐ ไยหยอกเย้าเยี่ยงเย้ย.....แล้วเลยหลบ
คนเคยคบเคยเคียง.....ก็เลี่ยงหนี
เปลี่ยนไปเป็นปล่อยปละ.....สิ้นวจี
ไม่หมายมีเหมือนแม้น.....เคยแสนรัก
๐ สู้สั่งสมสีสัน.....เมื่อวันสุข
ทัดทานทุกข์ทดท้อ......ที่รอปัก
จวบจนใจจดจ่อ.....แต่รอทัก
ก็กลับกักกีดกัน.....ไม่หันมา
๐ ร่องรอยรักเริ่มร้าง......เพราะต่างฝัน
เกี่ยวก้อยกันก่อนเก่า......เคยเฝ้าหา
จรจากเจ้าจำใจ......ไปไกลตา
รักแรมรารอยร้าว......ช่างหนาวใจ
๐ เพราะพันพัวเพ่งพิศ......ในจิตที่
หม่อนหมองมีมากมาย......เกินหมายไว้
ทุกข์ท่วมท้นทนทาน.......จนนานไป
หวาดหวิวไหววูบวาบ.....เกินทาบทา
๐ ชาติชายชาญชอกช้ำ......เกินคำไข
จนจิตใจจ่อมจม.....ก็สมสา
อกเอ๋ยอกอั้นอัด......จำตัดลา
ให้โหยหาไห้หวน......จนซวนเซ
๐ ป่วนปั่นแปรเปลี่ยนไป......มันไม่เหมาะ
ยังยิ้มเยาะเย้ยหยัน......ก่อนหันเห
แรงรักเรารุมรุม.......เคยทุ่มเท
ล้างโลเลเล่ห์ลวง.......ติดบ่วงกรรม.
โดยส่วนตัวผมเห็นว่าเป็นกลบทที่น่าสนใจ เพราะแต่งง่าย และมีความไพเราะจากการเล่นคำ ใครสนใจลองฝึกแต่งกันดูนะครับ
คนกุลา
เรียบเรียง
๑๙ กรกฎ ๕๔
16 กรกฎาคม 2554 13:30 น.
คนกุลา
ประวัติของนายนรินทร์ธิเบศร์นั้น เท่าที่ค้นได้ ทราบว่า แต่เดิมทีนายนรินทร์มีชื่อว่า "นายทองอินทร์" หรือ อิน
เป็นโอรสใน กรมขุนอินทรพิทักษ์ (พระราชโอรสพระเจ้ากรุงธนบุรี) กับ หม่อมเจ้าหญิงโสภา (ธิดากรมหมื่นสุนทรเทพ) เมื่อหม่อมเจ้าหญิงโสภาทรงครรภ์นั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้กรมขุนอินทรพิทักษ์ยกทัพ
ไปตีเมืองเชียงใหม่ แต่ตีไม่สำเร็จ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกริ้ว จึงให้หม่อมเจ้าหญิงโสภาไปเป็นภรรยาเจ้าพระยาสวรรคโลก ผู้ซึ่งตีเมืองเชียงใหม่ ได้สำเร็จ เมื่อทารกเกิดได้ชื่อทองอินทร์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเมตตาทองอินทร์เสมอ เมื่อทองอินทร์โตขึ้น ทรงให้ไปอยู่ด้วยเจ้าพระยาสุรสิห์ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ จึงได้รับราชการเป็นมหาดเล็ก ฝ่ายพระราชวังบวร (วังหน้า)
ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้รับพระราชทานยศเป็นหุ้มแพร และมีบรรดาศักดิ์ที่ นายนรินทรธิเบศร์ จึงมักเรียกกันว่า นายนรินทรธิเบศร์ (อิน) คือใส่ชื่อเดิมเข้าไปด้วย
นายนรินทรธิเบศร์ (อิน) ไม่ใคร่จะได้แต่งหนังสือไว้มากนัก และแต่งไว้บ้างก็ล้วน แต่เป็นโคลง ที่ปรากฏว่าเป็นกลอนนั้นมีน้อยเต็มที เช่น โคลงยอพระเกียรติตอนท้ายหนังสือปฐมมาลา ก็เป็นฝีปากของนายนรินทร์ (อิน) จึงสันนิษฐานได้ว่า นายนรินทรธิเบศร์ (อิน) ชอบโคลงมากกว่าคำประพันธ์อื่นๆ
ผลงานการประพันธ์ของนายนรินทรธิเบศร์ อื่นๆนอกจากนิราศนรินทร์ นั้นไม่ปรากฏแพร่หลาย และที่มีอยู่บ้าง ก็ ไม่มีที่ใดจะเปรียบกับโคลงนิราศนรินทร์ นี้ได้
อย่างไรก็ตาม ยังมีเพลงยาวอีกเรื่องหนึ่ง ที่กล่าวว่าเป็นของนายนรินทรธิเบศร์ นั่นคือ เพลงยาวของนายนรินทร์ ซึ่งมีเนื้อความดังนี้
โฉมสุคนธารทิพย์ประทิ่นหอม
หรือสาวสุรางค์นางฟ้ามาแปลงปลอม
หรือนางจอมไกรลาศจำแลงลง
มาโลมโลกให้พี่หลงลานสวาสดิ์
ประหลาดบาดตาแลตะลึงหลง
ควรแผ่แผ่นสุวรรณวาดให้สมทรง
เกลือกจะคงจรจากพิมานจันทร์
พี่หมายน้องดุจปองปาริกชาติ
มณโฑไทเทวราชบนสวรรค์
หากนิเวศน์นี้ศิวิไลสิไกลกัน
จะใฝ่ฝันดอกฟ้าสุมามาลย์ฯ
นิราศนรินทร์
นิราศนรินทร์ เป็นวรรณคดีในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่งในสมัยรัชกาล ที่ ๒ ประเภทนิราศ ที่จัดว่าแต่งได้ดี ถึงขนาดที่กระทรวงศึกษาธิการคัดมาให้นักเรียนได้ศึกษากันในชั้นเรียน และมีบทโคลงที่ใช้เป็นแบบแผนของโคลงสี่สุภาพด้วย
นิราศนรินทร์ เป็นบทประพันธ์ประเภทนิราศคำโคลงที่โด่งดังที่สุดในยุครัตนโกสินทร์ ทัดเทียมได้กับ”กำสรวญศรีปราชญ์”และ”ทวาทศมาศ”ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้แต่งคือ นายนรินทร์ธิเบศร์(อิน) แต่งขึ้นเมื่อคราวตามเสด็จ กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ไปทัพพม่า ซึ่งยกลงมาตีเมืองถลางและชุมพร ในสมัยรัชกาลที่ ๒ เมื่อปีมะเส็ง (พ.ศ. ๒๓๕๒) นิราศเรื่องผู้แต่งไม่ได้ระบุชื่อเอาไว้ แต่เรียกกันโดยทั่วไปตามชื่อผู้แต่ง ว่า “นิราศนรินทร์”
เนื้อหาของนิราศนรินทร์ก็ดำเนินตามแบบฉบับนิราศทั่วไป คือ การคร่ำครวญและพรรณนาความรู้สึกอาลัยอาวรณ์ที่มีต่อหญิงคนรัก และเล่าถึงการเดินทาง เมื่อผ่านภูมิประเทศต่างๆ เริ่มจากคลองขุด ถึงวัดแจ้ง (วัดอรุณ) เข้าคลองบางกอกน้อย และล่องเรือไปจนถึงอ่าวไทย แล้วขึ้นบกที่เพชรบุรี
โดยการแต่งนิราศเรื่องนี้ได้รับอิทธิพลอย่างสูงจาก โคลงกำสรวล ซึ่งมีมาแต่โบราณ จนกระทั่งมีผู้สันนิษฐานว่านายนรินทรธิเบศร์ (อิน) แต่งเอาอย่าง หรือเลียนแบบโคลงนิราศกำสรวลศรีปราชญ์ ซึ่งแต่งในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อเทียบเคียงกันแล้ว พบว่านิราศนรินทร์มีจุดเด่นที่การใช้คำที่ไพเราะ รื่นหู ข้อความกระชับ ลึกซึ้งและกินใจ จนบางท่านมีความเห็นว่าแต่งได้ดีกว่าเรื่องกำสรวลศรีปราชญ์ จนสามารถถือว่าเป็นนิราศคำโคลงที่ไพเราะที่สุดก็ย่อมได้
นิราศนรินทร์แต่งด้วยโคลงสี่สุภาพ ๑๔๓ บท โดยมีร่ายสุภาพขึ้น ต้น ๑ บท ผู้แต่งประณีตในการคัดสรรคำและความหมาย ร้อยกรองเป็นบทโคลงที่ไพเราะ ทั้งยังมีสัมผัสอักษรแพรวพราวตามขนบของคำโคลง อาจกล่าวได้ว่า แทบไม่มีโคลงบทไหนเลย ที่อ่านแล้วไม่รู้สึกถึงความไพเราะงดงาม อย่างไรก็ตาม ด้วยสำนวนภาษาที่เก่าถึงยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น จึงมีคำศัพท์จำนวนไม่น้อยที่เข้าใจยาก หรือเป็นที่ถกเถียงกันโดยยังไม่มีข้อยุติ
ร่ายสุภาพ :
ศรีสิทธิ์พิศาลภพ เลอหล้าลบล่มสวรรค์ จรรโลงโลกกว่ากว้าง
แผนแผ่นผ้างเมืองเมรุ ศรีอยุธเยนทร์แย้มฟ้า แจกแสงจ้าเจิดจันทร์
เพียงรพิพรรณผ่องด้าว ขุนหาญห้าวแหนบาท สระทุกข์ราษฎร์รอนเสี้ยน
ส่ายเศิกเหลี้ยนล่งหล้า ราญราบหน้าเภริน เข็ญข่าวยินยอบตัว
ควบค้อมหัวไหว้ละล้าว ทุกไทน้าวมาลย์น้อม ขอออกอ้อมมาอ่อน
ผ่อนแผ่นดินให้ผาย ขยายแผ่นฟ้าให้แผ้ว เลี้ยงทแกล้วให้กล้า
พระยศไท้เทิดฟ้า เฟื่องฟุ้งทศธรรม ท่านแฮ
โคลงสี่ สุภาพ
อยุธยายศล่มแล้ว............ลอยสวรรค์ ลงฤา
สิงหาสน์ปรางค์รัตน์บรร......... เจิดหล้า
บุญเพรงพระหากสรรค์............ ศาสน์รุ่ง เรืองแฮ
บังอบายเบิกฟ้า...................... ฝึกฟื้นใจเมือง
เรืองเรืองไตรรัตน์พ้น................ พันแสง
รินรสพระธรรมแสดง................. ค่ำเช้า
เจดีย์ระดะแซง......................... เสียดยอด
ยลยิ่งแสงแก้วเก้า..................... แก่นหล้าหลากสวรรค์
โบสถ์ระเบียงมรฑปพื้น................ ไพหาร
ธรรมาสน์ศาลาลาน..................... พระแผ้ว
หอไตรระฆังขาน.......................... ภายค่ำ
ไขประทีปโคมแก้ว......................... ก่ำฟ้าเฟือนจันทร์
เสร็จสารพระยศซ้อง................... สรรเสริญ
ไป่แจ่มใจจำเริญ........................ ร่ำอ้าง
ตราตรอมตระโมจเหิน................ หวนสวาท
อกวะหวิวหวั่นร้าง..................... รีบร้อนการณรงค์
แถลงปางบำราศห้อง.................. โหยครวญ
เสนาะเสน่ห์กำสรวล..................... สั่งแก้ว
โอบองค์ผอูนอวล.......................... ออกโอษฐ์ อรเอย
ยามหนึ่งฤาแคล้วแคล้ว................. คลาดคล้ายขวบปี
รอยบุญเราร่วมพ้อง...................... พบกัน
บาปแบ่งสองทำทัน........................ เท่าสร้าง
เพรงพรากสัตว์จำผัน...................... พลัดคู่ เขาฤา
บุญร่วมบาปจำร้าง........................ นุชร้างเรียมไกล
จำใจจากแม่เปลื้อง........................ ปลิดอก อรเอย
เยียวว่าแดเดียวยก......................... แยกได้
สองซีกแล่งทรวงตก........................ แตกภาค ออกแม่
ภาคพี่ไปหนึ่งไว้.............................. แนบเนื้อนวลถนอม
โอ้ศรีเสาวลักษณ์ล้ำ........................ แลโลม โลกเอย
แม้ว่ามีกิ่งโพยม............................ ยื่นหล้า
แขวนขวัญนุชชูโฉม....................... แมกเมฆ ไว้แม่
กีดบ่มีกิ่งฟ้า................................ ฝากน้องนางเดียว
โฉมควรจักฝากฟ้า....................... ฤาดิน ดีฤา
เกรงเทพไท้ธรณินทร์.................... ลอบกล้ำ
ฝากลมเลื่อนโฉมบิน...................... บนเล่า นะแม่
ลมจะชายชักช้ำ............................. ชอกเนื้อเรียมสงวน
ฝากอุมาสมรแม่แล้........................ ลักษมี เล่านา
ทราบสวยมภูวจักรี ........................เกลือกใกล้
เรียมคิดจบจนตรี.......................... โลกล่วง แล้วแม่
โฉมฝากใจแม่ได้............................ ยิ่งด้วยใครครอง
บรรจถรณ์หมอนม่านมุ้ง.................... เตียงสมร
เตียงช่วยเตือนนุชนอน....................... แท่นน้อง
ฉุกโฉมแม่จักจร................................ จากม่าน มาแฮ
ม่านอย่าเบิกบังห้อง........................... หับให้คอยหน
สงสารเป็นห่วงให้................................ แหนขวัญ แม่ฮา
ขวัญแม่สมบูรณ์จันทร์......................... แจ่มหน้า
เกศีนี่นิลพรร....................................... โณภาส
งามเงื่อนหางยูงฟ้า............................. ฝากเจ้าจงดี
เรียมจากจักเนิ่นน้อง........................... จงเนา นะแม่
ศรีสวัสดิ์เทอญเยาว์............................ อย่าอ้อน
อำนาจสัตย์สองเรา............................. คืนร่วม กันแม่
การณรงค์ราชการร้อน......................... เร่งแล้วเรียมลา
ลงเรือเรือเคลื่อนคว้าง.......................... ขวัญลิ่ว แลแม่
ทรุดนั่งถอนใจปลิว................................อกว้า
เหลียวหลังพี่หวาดหวิว.........................ใจวาก
แลสั่งสบหน้าหน้า.................................แม่หน้าเอ็นดู
ออกจากคลองขุดข้าม.......................... ครรไล
เรือวิ่งอกว้าใจ.................................... หวาดขว้ำ
เด็ดแดดั่งเด็ดใย................................ บัวแบ่ง มาแม่
จากแต่อกใจปล้ำ.............................. เปลี่ยนไว้ในนาง
บรรลุอาวาสแจ้ง.............................. เจ็บกาม
แจ้งจากจงอาราม............................. พระรู้
เวรานุเวรตาม................................... ตัดสวาท แลฤา
วานวัดแจ้งใจชู้.................................. จากช้าสงวนโฉม
มาคลองบางกอกกลุ้ม........................ กลางใจ
ฤาบ่กอกหนองใน............................... อกช้ำ
แสนโรคเท่าไรไร................................. กอกรั่ว ราแม่
เจ็บรักแรมรสกล้ำ.............................. กอกร้อยฤาคลาย
ชาวแพแผ่แง่ค้า................................. ขายของ
แพรพัสตราตาดทอง........................... เทศย้อม
ระลึกสีสไบกรอง................................. เครือมาศ แม่เฮย
ซัดสอดสองสีห้อม.............................. ห่อหุ้มบัวบัง
วัดหงส์เหมราชร้าง..............................รังถวาย นามแฮ
เรียมนิราเรือนสาย.............................. สวาทสร้อย
หงส์ทรงสี่พักตร์ผาย............................ พรหมโลก แลฤา
จะสั่งสารนุชคล้อย.............................. คลาดท้าวไป่ทัน
สังข์กระจายพี่จากเจ้า.......................... จอมอนงค์
สังข์พระสี่กรทรง................................. จักรแก้ว
สรวมทิพย์สุธาสรง...............................สายสวาท พี่เอย
สังข์สระสมรจงแผ้ว.............................. ผ่อนถ้าเรียมถึง
จากมามาลิ่วล้ำ................................. ลำบาง
บางยี่เรือราพลาง...............................พี่พร้อง
เรือแผงช่วยพานาง............................ เมียงม่าน มานา
บางบ่รับคำคล้อง............................. คล่าวน้ำตาคลอ
มาด่านด่านบ่ร้อง............................. เรียกพัก พลเลย
ตาหลิ่งตาเหลวปัก........................... ปิดไว้
ตาเรียมหลั่งชลตัก.......................... ตวงย่าน
ไฟด่านดับแดไหม้............................มอดม้วยฤามี
นางนองชลน่านไล้.......................... ลบบาง
ไหลเล่ห์ชลลบปราง.........................แม่คล้ำ
แสนโศกสั่งสารปาง......................... จากพี่ ปลอบแม่
นาสิกเรียมซับน้ำ............................. เนตรหน้านางนอง
บางขุนเทียนถิ่นบ้าน........................ นามมี
เทียนว่าเทียนแสงสี.......................... สว่างเหย้า
เย็นยามพระสุริยลี........................... ลาโลก ลงแม่
เทียนแม่จุดจักเข้า............................สู่ห้องหาใคร
ปานนี้มาโนชญ์น้อย............................. นงพาล พี่เอย
เก็บเกศฤากรองมาลย์........................... มาศห้อย
ปรุงจันทน์จอกทองธาร.......................... ประทิน ทาฤา
นอนนั่งถามแถลงถ้อย.......................... ทุกข์พร้องความใคร
คุณค่าของโคลงนิราศนรินทร์
นักวรรณคดีมักเปรียบเทียบโคลงบทนี้ กับโคลงดั้นจากโคลงกำสรวล ซึ่งขึ้นบาทแรกด้วยสำนวนคล้ายกัน ดังต่อไปนี้ ซึ่งเป็นบทชมพระนครเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ผู้แต่งอาจชื่นชมโคลงจากโคลงกำสรวล ซึ่งชื่นชมพระนครเมื่อครั้งยังรุ่งเรือง ดังบท
อยุธยายศล่มแล้ว..................ลอยสวรรค์ ลงฤๅ
สิงหาสน์ปรางค์รัตน์บรร-.......เจิดหล้า
บุญเพรงพระหากสรรค์..........ศาสน์รุ่ง เรืองแฮ
บังอบายเบิกฟ้า................... ฝึกฟื้นใจเมือง
(กรุงศรีอยุธยาแตกไปแล้ว แต่กลับลอยลงมาจากสวรรค์อีกหรืออย่างไร มีปราสาทพระราชวังอันงดงามตระการตา
ด้วยบุญบารมีของพระมหากษัตริย์ช่วยทนุบำรุงพระศาสนาให้รุ่งเรือง ปัดเป่าทุกข์ให้แก่ไพร่ฟ้าชาวประชา)
กับบทที่ว่า
๑.อยุธยายศยิ่งฟ้า.....................ลงดิน แลฤๅ
อำนาจบุญเพรงพระ..................ก่อเกื้อ
เจดียลอออินทร........................ปราสาท
ในทาบทองแล้วเนื้อ...................นอกโสรมฯ
และ
๗.อยุธยายศโยกฟ้า...................ฟากดิน
ผาดดินพิภพดยว.......................ดอกฟ้า
แสนโกฏบยลยิน.......................หยากเยื่อ
ไตรรัตนเรืองรุ่งหล้า..................หลากสรรคฯ
(โคลงกำสรวล)
นอกจากนี้ในโคลงหมายเลข ๒๒. ยังถือเป็นแม่แบบของโคลงสี่สุภาพบทหนึ่งด้วย
๒๒. จากมามาลิ่วล้ำ.................ลำบาง
บางยี่เรือราพลาง.....................พี่พร้อง
เรือแผงช่วยพานาง..................เมียงม่าน มานา
บางบ่รับคำคล้อง...................คล่าวน้ำตาคลอฯ
ด้วยโคลงบทนี้ใช้คำเอก ๗ โท ๔ และที่เหลือเป็นคำสุภาพทั้งหมด จึงใช้เป็นแม่แบบสำหรับการแต่งโคลงสี่สุภาพ
ได้เป็นอย่างดี (โคลงแม่แบบนอกจากนี้ได้แก่ “เสียงลือเสียงเล่าอ้าง” จากลิลิตพระลอ),
ในตอนท้ายๆ ผู้แต่งยังได้เอ่ยถึงวรรณคดีรุ่นเก่าอีกสองเรื่องในลักษณะยกย่อง คือ กำสรวลศรีปราชญ์
และทวาทศมาส คงด้วยว่าเป็นนิราศคำโคลงเช่นที่ผู้แต่งยึดเป็นแนวการแต่งโคลงของตน คือ
๑๒๔.กำสรวลศรีปราชญ์พร้อง.................เพรงกาล
จากจุฬาลักษณ์ลาญ..............................สวาทแล้ว
ทวาทศมาสสาร.....................................สามเทวษ ถวิลแฮ
ยกทัดกลางเกศแก้ว...............................กึ่งร้อนทรวงเรียมฯ
ส่วนในโคลงบทสุดท้าย (๑๔๔) ผู้แต่งได้ระบุชื่อตนเอาไว้ด้วย ดังนี้
๑๔๔.โคลงเรื่องนิราศนี้...................... นรินทร์อิน
รองบาทบวรวังถวิล............................ ว่าไว้
บทใดปราชญ์ปวงฉิน......................... เชิญเปลี่ยน แปลงพ่อ
ปรุงเปรียบเสาวคนธ์ไล้........................เลือกลิ้มดมดูฯ
ผมเรียบเรียงประวัติ ของนายนรินทร์ธิเบศร์ (อิน) นอกจากเป็นความสนใจใคร่รู้ของตนเองแล้ว อาจจะมีประโยชน์
สำหรับ ท่านอื่นที่สนใจ ด้วยครับ สำหรับผมเองแล้วการได้เรียบเรียงเรื่องนี้ ทำให้ผมเห็นถึงคุณลักษณะของท่านนรินทร์
อันพร้อมไปด้วยฝีมือในทางโคลง และความอ่อนน้อมถ่อม ตน ยกย่องเชิดชู บทกวีโบราณ ก่อนท่านคือ โคลงกำสรวล
รวมทั้งอ่อนน้อมต่อผู้อ่าน ที่เป็นผู้รู้ ซึ่งนักโคลงกลอนรุ่นหลัง ควรเอาเยี่ยงอย่างที่ดี เหล่านี้อย่างยิ่ง
ด้วยจิตแห่งกตเวทิตาคุณ
คน กุลา
เรียบเรียง
แหล่งอ้างอิง
http://th.wikipedia.org/wiki
http://www.kaweeclub.com/b28/
http://nirard-narind.exteen.com/20071218/entry-1
http://khunnokyoong.blog.com/2009/04/11
3 กรกฎาคม 2554 15:41 น.
คนกุลา
ประวัติ “ศรีปราชญ์”
ตามหลักฐานทางประวัตศาสตร์พบว่า ศรีปราชญ์ นี้เป็นเรื่องจริง โดยเป็นกวีเอกคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ( พ.ศ.๒๑๙๙-๒๒๓๑) โดยท่านเ ป็นบุตรของพระโหราธิบดี ผู้ซึ่งแต่งหนังสือเล่มแรกที่ชื่อว่า “ จินดามณี ” หนังสือเล่มนี้สมเด็จพระนารายณ์ทรงรับส่งให้แต่งขึ้นเพื่อถ่วงดุลอิทธิพลของวัฒนธรรมฝรั่งเศส ศรีปราชญ์ได้รับอิทธิพลทางด้านกวีจากบิดา ดังนั้นจึงส่อแววว่ามีปฏิภาณด้านกวีตั้งแต่ยังเด็ก และเข้ารับราชการตั้งแต่อายุ ๑๕ ขวบ หลังแต่นั้นมาจึงกลายเป็นกวีเอกของพระนารายณ์มหาราช แต่สุดท้ายด้วยความสามารถของตน ทำให้ผู้คิดปองร้าย ใส่ร้ายศรีปราชญ์ จนถูกสั่งประหารชีวิตในที่สุด
ประวัติ
สมัยเด็ก
สันนิษฐานว่า ศรีปราชญ์ คงจะเกิดในปี พ.ศ. ๒๑๙๖ หรือ ๓ ปี ก่อนที่สมเด็จพระนารายณ์เสด็จขึ้นครองราชย์แทนสมเด็จศรีสุธรรมราชา พระโหราธิบดี บิดาของศรีปราชญ์เข้ารับราชการในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา อันถือได้ว่าเป็นยุคสมัยที่บ้านเมืองมีแต่ความสงบสุขร่มเย็น ปราศจากการรุกรานจากศัตรูภายนอก ไม่มีศึกสงครามกับพม่า ประชาชนอยู่
ดีกินดี มีการติดต่อทำการค้ากับชาวต่างประเทศ แม้แต่ชาวตะวันตกเช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลันดาฯลฯ ก็เข้ามาทำการค้า ถึงกับมีขุนนางเป็นชาวต่างประเทศในสมัยนั้นหลายท่าน เมื่อบ้านเมืองสงบสุขร่มเย็นก็ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เกิดอารมณ์สุนทรีย์ ด้วยนิสัยดั้งเดิมของคนไทยเรานั้นมักจะเป็นประเภท "เจ้าบทเจ้ากลอน" คือชอบร้องรำทำเพลงพูดจาคล้องจองกัน ในสมัยนี้คนส่วนใหญ่สนใจในวรรณคดี มีบทโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เกิดขึ้นมากมาย ถือได้ว่า "เป็นยุคทองของวรรณคดี" เลยทีเดียว
องค์สมเด็จพระนารายณ์เองก็โปรดปรานการแต่งโคลงกลอนมาก วันหนึ่งทรงแต่งโคลงสี่สุภาพขึ้นบทหนึ่ง ว่า
อันใดย้ำแก้มแม่..............หมองหมาย
ยุงเหลือบฤๅริ้นพราย.......ลอบกล้ำ
แต่แต่งได้เพียง ๒ บาท หรือสองบรรทัดเท่านั้น ก็ทรงติดขัด แต่งต่ออย่างไรก็ไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัยจึงทรงพระราชทานแผ่นกระดานชนวนที่ทรงแต่งบทโคลงนั้น แก่พระยาโหราธิบดี ซึ่งนอกจากจะมีความสามารถในด้านการพยากรณ์แล้ว ยังมีความรู้ความสามารถอื่น ๆ อีกรอบด้าน โดยเฉพาะในด้านการแต่งโคลงกลอน ถือเป็นมือหนึ่งในสมัยนั้นเลยทีเดียว
เมื่อพระยาโหราธิบดีรับแผ่นกระดานชนวน ที่มีบทโคลงที่พระองค์ทรงแต่งค้างเอาไว้แล้ว ก็พิจารณาจะแต่งต่อให้เดี๋ยวนั้น แต่ก็ไม่สามารถจะแต่งต่อได้ จึงขอพระราชทานเอาไว้แต่งต่อที่บ้าน ซึ่งพระองค์ก็ไม่ทรงขัดข้อง พอท่านพระยาโหราธิบดีกลับไปถึงบ้าน ก็นำแผ่นกระดานชนวนนั้นไปไว้ในห้องพระด้วยเป็นของสูง แล้วก็ไปอาบน้ำชำระร่างกายให้สดชื่นเสียก่อน จะเป็นด้วยโชคชะตาชักนำ หรืออย่างไรก็ไม่ทราบแน่ ในขณะที่ท่านกำลังทำภาระกิจส่วนตัวอยู่นั้น เจ้า "ศรี" บุตรชายหัวแก้วหัวแหวนของท่าน ซึ่งในขณะนั้นมีอายุเพียง
๗ ขวบ ได้เข้ามาในห้องพระ เพื่อจะเข้ามาหาผู้เป็นบิดา เมื่อหลือบไปเห็นแผ่นกระดานชนวนที่มีโคลงกลอนแต่งเอาไว้ ๒ บาท เข้า คงเป็นด้วยความซุกซนบวกกับความเฉลียวฉลาดของเจ้าศรี ก็เลยเอาดินสอพองเขียนโคลงอีก ๒ บาท ต่อจากองค์สมเด็จพระนารายณ์ ดังนี้
อันใดย้ำแก้มแม่.............หมองหมาย
ยุงเหลือบฤๅริ้นพราย.......ลอบกล้ำ
ผิวชนแต่จักกราย............ยังยาก
ใครจักอาจให้ช้ำ............... ชอกเนื้อเรียมสงวน
ความหมายในบทโคลงมีดังนี้
คือ สมเด็จพระนารายณ์ทรงแต่งไว้ในสองบาทแรก มีความหมายว่า "มีสิ่งอันใดหนอที่ทำให้แก้มของน้องนางอันเป็นที่รักต้องหมองลงไป หรือว่าจะเป็นยุง เหลือบริ้น ผีพราย เข้ามาทำให้เป็นเช่นนี้" ดูความหมายของบทกลอนของพระองค์แล้ว
ท่านกล่าวขึ้นมาลอย ๆ เหมือนจะรำพึงรำพันทำนองนั้น
ที่นี้มาดูเจ้าศรีแต่งต่อบ้างมีความหมายดังนี้ " คงไม่มี ใครคนใดในแผ่นดินนี้ที่จะเข้าไปย่างกรายเข้าไปถึงตัวนางได้ง่าย ๆ หรอก ดังนั้น คงไม่มีใครหรอกนะที่จะบังอาจไปทำให้แก้มของนวลนาง อันเป็นที่รักและหวงแหนต้องชอกช้ำไปได้"
เมื่อพระยาโหราธิบดีอาบน้ำเสร็จ ก็เข้ามาที่ห้องพระแล้วสังเกตว่ากระดานวางอยู่ต่างจากเดิม ก็เกิดอาการ "ลมแทบจับ" เพราะรู้แน่ว่าต้องเป็นฝีมือเจ้าศรีไม่ใช่ใครอื่นหนอยแน่ไอ้หมอนี่ ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง ต้องจับมาฟาดให้ก้นลายเสียให้เข็ด แต่พออ่านบทกลอนที่เจ้าศรีมันแต่งต่ออารมณ์โกรธก็พลันระงับโดยสิ้นเชิง และคิดในใจว่า ลูกเรามันแต่งดีนี่หว่า เราเองถ้าจะให้แต่งต่อและดีกว่ามันคงทำไม่ได้ เอาวะ เป็นไงก็เป็นกัน ต้องนำทูลเกล้า ฯ ถวายในวันพรุ่งนี้
พอวันรุ่งขึ้นหลังจากเข้าเฝ้าถวายแผ่นกระดานชนวนแด่องค์สมเด็จพระนารายณ์ แล้ว พระองค์ ทรงทอดพระเนตรเห็นบทโคลงที่แต่งต่อ ก็ทรงพอพระราชหฤทัย ตรัสชมเชยพระยาโหราธิบดีเป็นการใหญ่ พร้อมกับจะปูนบำเหน็จรางวัลให้ แต่ทว่า หากท่านพระยาโหราธิบดีแกรับพระราชทานบำเหน็จโดยไม่กราบทูลความจริงให้ทรงทราบ หากวันใดทรงทราบความจริงเข้า โทษสถานเดียวคือ "หัวขาด" ด้วย "เพ็ดทูล" พระเจ้าอยู่หัว ดังนั้น ท่านจึงกราบบังคมทูลให้ทรงทราบว่าแท้ที่จริงแล้ว
“ผู้ที่แต่งโคลงต่อจากพระองค์ มิใช่ข้าพระพุทธเจ้า แต่เป็นเจ้าศรีบุตรชายของข้าพระพุทธเจ้า ซึ่งทำไปด้วยความซุกซน ต้องขอพระราชทานอภัยโทษแก่มันด้วย ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณา”
เมื่อองค์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ทรงสดับความจริงจากพระยาโหราธิบดี แทนที่จะทรงกริ้ว กลับทรงพอพระราชหฤทัยยิ่งขึ้น ถึงกับทรงพระสรวลลั่นท้องพระโรง และตรัสกับท่านพระยาโหรา ฯว่า
“เออ ว่ะ ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น พ่อเก่งอย่างไร ดูรึ ลูกชายก็เก่งปานกัน หากเราจะขอให้เจ้านำบุตรของท่านเข้าถวายตัวเพื่อรับราชการแต่บัดนี้ เจ้าจะว่ากระไร ?”
พระยาโหรา ฯ ได้ยินเช่นนั้น ก็ถวายบังคมยกมือขึ้นเหนือเศียร รับใส่เกล้า ฯ ใส่กระหม่อม แล้วจึงกราบบังคมทูลว่า
“ขอเดชะ พระอาญาไม่พ้นเกล้า ฯ การที่พระองค์ทรงโปรดที่จะให้เจ้าศรีบุตรชายของข้าพระพุทธเจ้า เข้าถวายตัวเพื่อรับราชการนั้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น แต่เนื่องจากบุตรของข้า ฯ ยังเยาว์วัยเพียง ๗ ชันษา ยังซุกซนและไม่ประสาในการที่จะรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท เอาไว้ให้เขาเจริญวัยกว่านี้สักหน่อย ค่อยว่ากันอีกที ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณา"
จะว่าไปแล้ว ท่านพระยาโหราธิบดีนั้น ท่านรู้อยู่แก่ใจของท่านดีว่า หากให้เจ้าศรีเข้ารับราชการเมื่อไร ก็เร่งเวลาให้เจ้าศรีอายุสั้นมากเท่านั้น ด้วยทราบอุปนิสัยใจคอลูกชายของท่านดีประกอบกับพื้นดวงชะตาที่ได้คำนวณเอาไว้ บ่งบอกชัดเจนว่า เจ้าศรีอายุจะสั้นด้วยต้องอาญา ดังนั้น เมื่อองค์สมเด็จพระนารายณ์ทวงถามเรื่องเจ้าศรีทีไรท่านพระยาโหรก็ต้องหา เรื่องกราบทูลผลัดผ่อนเรื่อยไป
จนกระทั่งเจ้าศรีอายุได้ ๑๕ ปี ได้ศึกษาสรรพวิทยาการต่าง ๆ จากท่านพระยาโหร ฯ ผู้เป็นพ่อจนหมดสิ้นแล้ว ท่านพระยาโหร ฯ จึงได้ถามความสมัครใจว่า อยากจะเข้าไปรับราชการในวังหรือไม่ ซึ่งเจ้าศรีนั้นก็ดีใจ และเต็มใจที่จะเข้าไปรับราชการสนองพระเดชพระคุณ ดังนั้น เมื่อพระนารายณ์ทรงทวงถามอีกครั้งหนึ่ง ท่านพระยาโหรฯ จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือผลัดผ่อนได้อีกแต่ก่อนที่จะนำเจ้าศรีเข้าถวายตัว นั้น ได้ทรงขอพระราชทานคำสัญญาจากสมเด็จพระนารายณ์ ๑ ข้อ คือ
“เมื่อเจ้าศรีเข้ารับราชการแล้ว หากกาลต่อไปภายหน้า ถ้ามันกระทำความผิดใด ๆ ที่ไม่ใช่ความผิดต่อราชบัลลังก์ และมีโทษถึงตาย ก็ขอได้โปรดงดโทษตายนั้นเสียหากจะลงโทษจริง ๆ ก็ขอเพียงให้เนรเทศให้พ้นไปจากเมือง อย่าให้ต้องถึงกับประหารชีวิต”
ซึ่งพระองค์ก็ทรงพระราชทานสัญญานั้นโดยดี ทำให้ท่านพระยาโหร ฯ บรรเทาความวิตกกังวลไปได้มากทีเดียว
เมื่อเจ้าศรีเข้าถวายตัวรับราชการแล้ว พระนารายณ์ทรงให้เจ้าศรีอยู่ในตำแหน่งมหาดเล็กรับใช้ใกล้ชิด เมื่อเสด็จไปไหน ก็ทรงให้เจ้าศรีติดตามไปด้วยทุกหนแห่ง ทรงโปรดปรานเจ้าศรีเป็นอย่างมากด้วยทุกครั้งที่ทรงติดขัดเรื่องโคลงกลอน ก็ได้เจ้าศรีนี่แหละช่วยถวายคำแนะนำ จนสามารถแต่งต่อได้มีอยู่ครั้งหนึ่ง พระนารายณ์นึกสนุก และอยากจะให้ความสามารถของเจ้าศรีเป็นที่ปรากฎ จึงได้แต่งโคลงกลอนขึ้นบทหนึ่ง แล้วให้ข้าราชบริพาร ตลอดจนนักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลายที่เข้าเฝ้า ณ ที่นั้น ช่วยกันแต่งต่อ ทำนองประกวดประชันกันปรากฎว่า ไม่มีผู้ใดแต่งโคลงกลอนได้ดีและถูกพระทัยเท่ากับของเจ้าศรี ถึงกับทรงพระราชทานพระธำมะรงค์ (แหวน) ให้และตรัสว่า "เจ้าศรี เจ้าจงเป็นศรีปราชญ์ ณ บัดนี้ เถิด" นับแต่นั้นมา คนทั่วไปจึงเรียก "ศรีปราชญ์" สืบต่อกันมาจนทุกวันนี้
ในสมัยนั้น เป็นสมัยที่ทุกคนนิยมพูดจากันด้วยโคลงกลอน ว่ากันสด ๆ แม้กระทั่งยามเฝ้าประตูพระราชวัง ก็ยังสามารถแต่งโคลงกลอนโต้ตอบกับศรีปราชญ์ได้ดังมีบันทึกเอาไว้ เมื่อศรีปราชญ์ได้รับพระราชทานพระธำมะรงค์แล้ว ก็สวมไว้ที่นิ้ว พอผ่านประตูวัง
ทหารยามเห็นเข้า ก็ถามว่า " แหวนนี้ท่านได้....... แต่ใดมา "
ศรีปราชญ์ ตอบว่า "เจ้าพิภพโลกา....................... ท่านให้ "
ยามถามต่อว่า "ทำชอบสิ่งใดนา.......................... วานบอก"
ศรีปราชญ์ตอบอีกว่า " เราแต่งโคลงถวายไท้........ท่านให้ รางวัล"
ดังนี้ เป็นต้น
ชื่อเสียงของ ศรีปราชญ์ ในช่วงนั้นก็โด่งดังไปทั่วราชอาณาจักร
สาเหตุของการเนรเทศ
ตอนที่สมเด็จพระนารายณ์เดินทางไปประพาสยังป่าแก้ว มีพระยารามเดโช โดยเสด็จ โดนลิง อุจจาระลงศีรษะพระยารามฯ บรรดาทหารต่างๆก็พากันหัวเราะ สมเด็จพระนารายณ์ ์ที่ทรงบรรทมอยู่จึงตื่นขึ้นแล้วตรัสถามอำมาตย์แต่ไม่มีใครกล้ากราบบังคมทูล เพราะกลัวจะไม่สบพระราชหฤทัยสมเด็จพระนารายณ์จึงเรียกมหาดเล็กศรีฯ มาถาม ฝ่ายเจ้าศรีรับใช้มานานจนทราบพระราชอัธยาศัยจึงกราบบังคมทูลด้วยคำคล้องจอง ว่า “พยัคฆะ ขอเดชะ วานระ ถ่ายอุจจาระ รดศีรษะ พระยารามเดโช” สมเด็จพระนารายณ์พอพระทัยเป็นอย่างมาก แต่นั่นก็เป็นการสร้างความขุ่นเคือง ให้พระยารามเดโชเป็นอย่างมาก
ศรีปราชญ์รับราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทอยู่หลายปี จนเป็นหนุ่มฉกรรจ์ และตามวิสัยของคนหนุ่มย่อมหนีความรักไปไม่พ้น และในฝ่ายในเองก็มีหญิงสาวเป็นจำนวนมากที่รับใช้ พระบรมวงศ์ศานุวงศ์ และบางคนก็เป็นที่ต้องตาต้องใจของศรีปราชญ์ เมื่อเป็นที่ไว้วางพระทัยของสมเด็จพระนารายณ์ ศรีปราชญ์สามารถข้านอกออกในได้โดยสะดวก ด้วยนิสัยเจ้าชู้ตามอารมณ์ของกวี บวกกับความคึกคะนอง และถือตัวว่าเป็นคนโปรดของพระนารายณ์ จึงทำให้ศรีปราชญ์ต้องโทษถึงกับติดคุกหลายครั้ง ด้วยมักไปทำรุ่มร่าม แต่งโคลงเกี้ยวพาราสีบรรดาสาวใช้ในวัง แต่พอพ้นโทษมาก็ไม่เข็ดหลาบ มีอยู่ครั้งหนึ่งในคืนวันลอยกระทงศรีปราชญ์ได้ดื่มสุราแล้วเมา จากนั้นก็เดินไปข้าง ๆ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ "พระสนมเอก"เพราะฤทธิ์สุรา ท้าวศรีฯ เห็นศรีปราชญ์มายืนข้างๆก็ไม่พอพระทัยจึงว่าศรีปราชญ์เป็นโคลงว่า
หะหายกระต่ายเต้น...........ชมจันทร์
มันบ่เจียมตัวมัน...............ต่ำต้อย
นกยูงหากกระสัน............. ถึงเมฆ
มันบ่เจียมตัวน้อย.............ต่ำเตี้ยเดียรฉาน ฯ
ศรีปราชญ์ได้ยินดังนั้นก็รู้ว่าพระสนมเอกได้หาว่าตนเป็นเดียรฉานจึงย้อนไปเป็นโคลงว่า
หะหายกระต่ายเต้น..........ชมแข
สูงส่งสุดตาแล...................สู่ฟ้า
ระดูฤดีแด.......................สัตว์สู่ กันนา
อย่าว่าเราเจ้าข้า............... อยู่พื้นดินเดียว ฯ
สนมเอกได้ฟังก็ไม่พอพระทัยจึงไปทูลฟ้องสมเด็จพระนารายณ์ฯ พระองค์จึงให้จำขังศรีปราชญ์ในคุกหลวงแต่ไม่ต้องไปทำงานเหมือนนักโทษคน อื่นๆ พระยารามเดโช ซึ่งเคยแค้นเคืองศรีปราชญ์ มาก่อน เห็นดังนั้นจึงให้ศรีปราชญ์มาทำงานเหมือนนักโทษคนอื่นๆ โดยใช้ให้ไปทำงานขุดคลอง ทางสนมเอกฯ ได้ข่าวก็เสด็จไปที่ที่ศรีปราชญ์ขุดคลองอยู่ เมื่อพระสนมเอกได้ตรัสว่าศรีปราชญ์สมพระทัยแล้วจึงเสด็จกลับ แต่ต้องเดินสวนกลับทางที่ศรีปราชญ์กำลังขนโคลนอยู่นั้น พวกนางรับใช้ของพระสนมเอกหมั่นไส้ จึงแกล้งขัดขาศรีปราชญ์ จนเสียหลักโคลนในมือศรีปราชญ์ จึงหกใส่พระสนมเอก ซึ่งความผิดนี้มีโทษถึงประหาร แต่เนื่องจากพระโหราธิบดีได้เคยทูลขอกับสมเด็จพระนารายณ์ฯ ว่า หากเจ้าศรีฯทำผิดแล้วมีโทษถึงประหาร ขอพระราชทานให้ลดโทษเหลือเพียงเนรเทศ ดังนั้นสมเด็จพระนารายณ์ฯ จึงเนรเทศศรีปราชญ์ไปเมืองนครศรีธรรมราช
ในระหว่างการเดินทางนั้น เชื่อกันว่า ศรีปราชญ์ได้แต่งโคลงกลอน ที่เรียกว่า "กำสรวลศรีปราชญ์" บรรยายถึงความรู้สึก ที่ต้องพลัดพรากจากบิดามารดา บ้านเรือนที่สุขสบาย องค์พระนารายณ์เจ้าชีวิต ตลอดจน นางอันเป็นที่รัก เอาไว้น่าฟังมาก ถือเป็นเพชรเม็ดงามของวรรณคดีไทยชิ้นหนึ่งในยุคปัจจุบัน (แต่ ได้มีผู้โต้แย้ง เช่น พ. ณ ประมวลมารค หรือ หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี ว่า”กำสรวลศรีปราชญ์”ผู้แต่งไม่น่าจะใช่ศรีปราชญ์ เพราะดูบริบทแล้วผู้แต่งน่าจะเป็น สมเด็จพระบรมราชาธิราช พระราชโอรส ในสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ มากกว่า – ซึ่งผมจะหาเวลา เรียบเรียงมาอีกครั้ง หากเวลาเอื้ออำนวย)
เมื่อศรีปราชญ์ได้เดินทางไปถึงเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว ก็ได้รับการต้อนรับขับสู้อย่างดีจากเจ้าพระยานครฯ ให้อยู่รับราชการด้วยกัน เพราะถึงอย่างไร ศรีปราชญ์นั้น แม้จะถูกเนรเทศ แต่ก็ไม่ได้ถูกปลดจากตำแหน่งหรือลดศักดินาให้ลงไปเป็นไพร่เหมือนอย่างนักโทษทั่วไป
การเสียชีวิต
ที่เมืองนครศรีธรรมราชนี้เองที่ศรีปราชญ์สามารถแสดงทักษะด้านกวีได้อีก เช่นกัน เพราะว่าท่านเจ้าเมืองเองก็มีใจชอบด้านกวีอยู่แล้ว และด้วยความเป็นอัจฉริยะของศรีปราชญ์นี้เองที่ทำให้ท่านเจ้าเมืองโปรดปราน เขา แต่แล้วศรีปราชญ์ไปมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับภรรยาน้อยของท่านเจ้าเมือง เข้า ท่านเจ้าเมืองโกรธมากและหึงหวงภรรยาน้อย จึงสั่งให้นำตัวศรีปราชญ์ไปประหารชีวิต ศรีปราชญ์ประท้วงโทษประหารชีวิตแต่ท่านเจ้าเมืองไม่ฟัง ซึ่งปัจจุบันเชื่อกันว่าสถานที่ใช้ล้างดาบที่ใช้ประหารชีวิตศรีปราชญ์นั้น ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรรมราช เรียกว่า "สระล้างดาบศรีปราชญ์และก่อนที่เพชฌฆาตจะลงดาบประหารศรีปราชญ์ ในลานประหารที่เป็นเนินดินปนทราย ศรีปราชญ์ได้ใช้หัวแม่เท้าเขียนบทโคลงสี่สุภาพเป็นบทสุดท้ายไว้กับพื้นธรณี ใจความว่า
ธรณีนี่นี้................เป็นพยาน
เราก็ศิษย์มีอาจารย์...........หนึ่งบ้าง
เราผิดท่านประหาร............เราชอบ
เราบ่ผิดท่านมล้าง..............ดาบนี้คืนสนอง ฯ
ในขณะที่ถูกประหารชีวิตนั้นศรีปราชญ์มีอายุประมาณ 30 หรือ 35 ปี หลังจากศรีปราชญ์เสียชีวิตลง อยู่มา วันหนึ่ง เมื่อพระนารายณ์ทรงแต่งโคลงกลอนติดขัดหาคนแต่งต่อให้ถูกพระทัยไม่ได้ ก็ทรงระลึกถึงศรีปราชญ์ จึงตรัสให้มีหนังสือ เรียกตัวกลับกรุงศรีอยุธยา และเมื่อพระองค์ทรงทราบข่าวว่า ตอนนี้ศรีปราชญ์ได้เสียชีวิตไปแล้วด้วยต้องโทษประหารจากเจ้าพระยานครศรีธรรมราช พระองค์ทรงพระพิโรธเจ้าเมืองนคร ฯ ผู้ซึ่งกระทำการโดยปราศจากการขอพระราชทานความเห็นชอบของพระองค์ ทรง ตรัสว่า "อ้ายพระยานครศรีฯ มันถือดีอย่างไร? ที่บังอาจสั่งประหารคนในปกครองของกูโดยไม่ได้รับอนุญาต ความผิดของอ้ายศรีฯ นั้น ขนาดมันล่วงเกินกูในทำนองเดียวกัน กูยังไว้ชีวิตมันเลย ไม่ได้การไอ้คนพรรค์นี้เอาไว้ไม่ได้ " และยิ่งพระองค์ได้ทรงทราบถึงโคลงบทสุดท้ายของศรีปราชญ์จึงมีพระบรมราชโองการ ให้นำเอาดาบที่เจ้าพระยานคร ฯ ใช้ประหารศรีปราชญ์แล้วนั้น นำมาประหารชีวิตเจ้าพระยานคร ฯ ให้ตายตกไปตามกัน สมดังคำที่ศรีปราชญ์เขียนไว้เป็นโคลงบทสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิตว่า “ ดาบนี้คืนสนอง ”
หลังจากที่ผมได้มีการ เรียบเรียงประวัติ สุนทร “ภู่” ในโอกาส วันสุนทร “ภู่” เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ที่ผ่านมา คุณ ราชิการได้แนะนำให้ผมเรียบเรียง ประวิติ กวีสำคัญๆ ท่านอื่นๆอีก ผมเห็นว่าเป็นข้อแนะนำ ที่ดี จึงได้ พยายามรวบรวมและเรียบเรียง ประวัติ ของ ศรีปราชญ์ ในครั้งนี้ ขอขอบคุณ คุณราชิกา ที่ได้ให้คำแนะนำในครั้ง นี้ ด้วย ครับ
คน กุลา
เรียบเรียง
อ้างอิง
• http://www.lokwannakadi.com/neo/shlumnum.php?ID=23
• http://th.wikipedia.org/wiki
• http://www.skn.ac.th/skl/project/nitan482/nu18.htm