11 กรกฎาคม 2553 13:45 น.

**กานท์พุดลาภา**

คนกุลา

กานท์พุดลาภา เป็นคำประพันธ์ประเภทหนึ่ง   ใช้แต่งสำหรับบรรยาย

เหตุการณ์ ตลอดจนบรรยายธรรมชาติ มีที่มาจากการสังเกตของผู้คิดขึ้น

สองประการ คือ ประการแรกมาจากการที่มักจะเห็นนักกลอนหลายท่าน

มักจะลงบทจบด้วย การย้ำบาทสุดท้ายอีกครั้ง  เพื่อเป็นการเน้นย้ำความ

รู้สึกของผู้อ่าน  ประการที่สอง ผู้คิดค้นมักจะพบว่านักอ่านรุ่นหลังๆมามักจะ

ชอบอ่านและเขียนกลอนเปล่า จึงเกิดแรงบันดาลใจ ที่อยากจะคิดค้นบท

ประพันธ์ที่ผสมผสานและบูรณาการฉันทลักษณ์ขึ้น จนกระทั่งได้ค้นคิดเป็น

ร้อยกรองชนิดใหม่ขึ้น และทดลองเขียนตามแนวการประพันธ์แบบนี้เผย

แพร่ในเว็ปบ้านกลอนไทย เว็ปโอเคเนชั่น ก็มีผู้อ่านจำนวนหนึ่งที่สนใจ

ได้ถามถึงที่ไปที่มา  และฉันทลักษณ์ผมก็ได้ตอบไปตามคำถามเหล่านั้น 

และเพื่อเป็นการสะดวกในการค้นคว้าแก่ผู้สนใจ ผมจึงได้รวบรวมมา


เขียนไว้ในกระทู้นี้อีกครั้ง ครับ

เนื่องจากเป็นคำประพันธ์  ที่เพิ่งคิดค้นขึ้นมาเขียนเผยแพร่ในระยะ 

1 ปี มานี่ จึงคงยังมีข้อที่จะพัฒนา ได้อีกมาก ผมยินดีจะรับฟังคำติชม  

วิพากษ์วิจารณ์ เพื่อนำมาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น ครับ 


    หลักเกณฑ์ทั่วไป-ฉันทลักษณ์ ในการเขียนกานท์พุดลาภานั้นมีดังนี้

๑ . ในหนึ่งบทนั้นจะมี  4 วรรค

วรรคแรกเรียกว่า วรรคสดับ
วรรคที่สองเรียกว่า วรรครับ
วรรคที่สามเรียกว่า วรรครอง
วรรคที่สี่ เรียกว่า วรรคลง
วรรคที่ห้า เรียกวรรคส่ง


คำสุดท้ายของวรรคแรก ควร เป็นเสียงสูง กลางหรือต่ำ 
คำสุดท้ายของวรรคที่สอง ควร เป็นเสียง สูง เสียงเดียว 
คำสุดท้ายของวรรคที่สาม ควร เป็นเสียงกลางหรือต่ำ
คำสุดท้ายของวรรคที่สี่ ควรเป็นเสียงสูง เสียงกลางหรือต่ำ
เสียงคำสุดท้ายของวรรคที่ห้า ควรเป็นเสียงสูง เสียงกลางหรือต่ำเท่านั้น(ห้ามเป็นเป็นเสียงต่ำคำตาย)
การหาเสียงว่าคำใดเป็นเสียง สูง กลาง หรือ ต่ำ สามารถเอาคำนั้นๆเข้าไปเทียบเสียงกับการผันพยัญชนะเสียงกลาง ดังนี้ กา ก่า ก้า ก๊า ก๋า เช่นคำว่า ค้า.......เทียบดังนี้ คา ค่า ค้า ค๊า........คำว่า “ค้า”รูปเป็นเสียงโทแต่เสียงนั้นเป็น “เสียงตรี” ตรงเสียงสระ ถ้าเป็น กา ก่า จัดเป็นเสียงต่ำส่วนเสียงสูงคือ ก๋า นอกนั้นจัดได้เป็นเสียงกลาง

๒. ในแต่วรรค จะมีคำไม่เท่ากัน คือ

วรรคแรกเรียกว่า วรรคสดับ  มี  ๕  คำ
วรรคที่สองเรียกว่า วรรครับ   มี  ๖  คำ
วรรคที่สามเรียกว่า วรรครอง  มี  ๗  คำ
วรรคที่สี่ เรียกว่า วรรคลง    มี  ๘  คำ
วรรคที่ห้า เรียกวรรคส่ง  มี   ๙   คำ


จะใช้คำเกินกว่ากำหนดได้บ้าง แต่ต้องเป็นคำที่ประกอบด้วยเสียงสั้น

๓.    สัมผัสนอก เป็น สัมผัสบังคับ  คือ สัมผัสระหว่างวรรค ระหว่างบท เป็นสัมผัสบังคับ ในตำแหน่งที่กำหนดของบทร้อยกรองแต่ละชนิด ซึ่งกำหนดไว้เป็นการเฉพาะตามแผนผังบังคับ สัมผัสนอกใช้เฉพาะสัมผัสสระเท่านั้น 

" สัมผัสนอก " ของกานท์พุดลาภา มีลักษณะดังนี้
การส่งสัมผัส คำที่ ๕  ของวรรคแรก สัมผัสกับคำที่ ๓ ของวรรคที่สอง คำที่ ๖ ของวรรคที่ ๒ และสัมผัสต่อกับคำที่ ๗ ของวรรคที่ ๓
คำ ที่ ๗ ของวรรคที่ ๓ สัมผัสกับคำที่ ๓ ของวรรคที่ ๔ และคำสุดท้ายของวรรคที่ ๔ สัมผัสกับคำที่สามของวรรคที่ห้า  
ส่วนคำสุดท้ายของวรรคที่ห้าจะส่งสัมผัสไปยังคำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ ของบทต่อไป


1   2    3      4   (5)   
1   2   (3)    4     5   ((6))   
1   2   3       4   5   6   ((7))   
1  2   ((3))   4   5   6   7   (((8)))
1  2   (((3)))   4   5   6   7   8  ((((9))))


1   2   3   4   5   
1   2   3   4   5   ((((6))))   
1   2   3   4   5   6   7   
1  2   3   4   5   6   7   8
1  2   3   4   5   6   7   8  9


๔. นิยมสัมผัสใน สัมผัสใน คือ สัมผัสที่ส่งและรับสัมผัสกันภายในวรรคเดียวกัน เป็นสัมผัสที่ไม่บังคับ สัมผัสในเป็นสัมผัสที่จะทำให้บทร้อยกรองนั้นไพเราะยิ่งขึ้น คำที่ใช้เป็นสัมผัสใน จะเป็นคำที่สัมผัสสระหรือสัมผัสอักษร ก็ได้  สัมผัสใน โดยทั่วไปไม่ได้บังคับว่าจะต้องมีหรือไม่ แต่ถ้าหากมีจะทำให้กลอนไพเราะมากยิ่งขึ้นแต่ถ้าไม่มีก็สามารถทำให้กลอนไพเราะได้เช่นกัน ถ้าแต่งให้สละสลวย ซึ่งสามารถใช้ได้ ดังนี้

วรรคแรกเรียกว่า คำที่ ๒ กับคำที่ ๔
1	(2) 3 (4)  5

วรรคที่สอง คำที่ ๓ กับคำที่ ๕
      1 2 (3) 4 (5) 6 

วรรคที่สาม คำที่ ๒ กับคำที่ ๓ และ คำที่ ๔ กับคำที่ ๕
1  (2)   (3)   ((4))  ((5))   6   7   

วรรคที่สี่ เรียกว่า คำที่ ๕ กับคำที่ ๗
1  2   3   4   (5)   6   (7)   8

วรรคที่ห้า คำที่ ๓ กับคำที่ ๔ กับคำที่ ๖ กับคำที่ ๘
1  2   (3)  (4)   5   ((6))   7   ((8))  9


 
แม้ไม่สัมผัสตามนี้ หากเน้นจังหวะคำก็ทำให้ไพเราะได้ 


ตัวอย่างกานท์พุดลาภา

**กล่อมทะเล** โดยคนกุลา
 

.

ปลายฟ้า ณ ปลายฟ้า
ยามว้าเหว่ทะเลฝัน
เหมือนดั่งวิหารแห่ง พรานจันทร์
ที่ล่าฝันฝูงดาวเหินหาวลอย
ดุจเรือน้อยลอยเคว้งคว้างกลาง คลื่นพราย

ทะเล ณ ทะเล
บทเห่ห้วงน้ำยามสาย
ภาพวาดพิมพ์ฝัน พรรณราย
ระยิบร่ายทิพย์ภาพอาบแผ่นดิน
สายฝนรินรดทะเลเห่กล่อมนาง

แดน ฝัน ณ แดนฝัน
ตะวันจรมาฟ้ากว้าง
ม่านฝนหม่นฟ้าพร่าพร่างพราง
เหมือน ม่านบางแต่งห้องท้องวิมาน
ทิพย์สถานเรือนรับรองของใครนา

อัสดง ณ อัสดง
แดดยอลงดังเริงร่า
เมฆปอยลอยล่องผ่านคลองตา
ประดับฟ้าแต่ง น้ำในความจริง
ว่าทุกสิ่งล้วนงดงามตามครรลอง

ปลายฟ้า ณ ราตรี
ยาม นี้ทะเลงามผ่อง
จันทร์นวลกระทบคลื่นพรายฟอง
ปานเกร็ดทองกระพริบรับกับ จันทร์
ค่ำคืนอันห้วงน้ำล้อมกล่อมทะเล


...............



**กล่อมจันทร์** โดย คนกุลา 


 

.   .
ในมัวเมฆ หม่นฟ้า
ข้ามเวลา ทะเลฝัน
อาศัย ขี่ข้าม สำเภาจันทร์
โล้คลื่นอัน ปรุงแต่ง ด้วยแรงใจ
ยามอยู่ใน ห้วงสมุทร สุดคะนา

ในวันเลือน เดือนลับ
ล่วงดับไป ในเวหา
ท้องฟ้า มืดมิด ดุจปิดตา
เหมือนดั่งว่า ฟ้าตรอม ย้อมสีดำ
ดุจจะย้ำ คำหมองหม่น บนคัคนางค์

คืนเดือนพร่าง เวหาส
ฉายแสงพาด เพ็ญเย็นสว่าง
ห้วง น้ำ เขาฟ้า ทาบทาจาง
กลางเดือนพร่าง งามเห็น ด้วยเพ็ญจันทร์
ในคืนวัน ที่โสมงาม ยามผ่องพราว

เปรียบจันทร์ดั่ง หน้าน้อง
นวลละออง พักตร์ใสวาว
งามขนง-วงตา หน้ายั่วเย้า
งามแท้เจ้า พิศมัย แบบไทยเดิม
เพื่อ ช่วยเติม เสริมสานก่อ ต่อเผ่าพงศ์

ใบหน้าอิ่ม พริ้มพร่าง
น้องงาม ดุจอย่าง นางหงส์
งามดุจ กินรี คลี่ทรวดทรง
ยามลงสรง สระสนาน ตำนานมี
ในวันที่ มโนราห์ มาอวดนวล

เปรียบจันทร์เพ็ญ เช่นสาว
พักตร์ พราว ผ่องมล ยลใจหวล
ประดับ ห้วงให้ ใจรัญจวน
กระบิดกระ บวนคล้าย ละม้ายจันทร์
เหมือนเสกสรรค์ ร่ายมนตรา มากล่อมใจ

โอ ละ เห่ จันทร์ เอย
ทรามเชย โฉมตรู อยู่ไหน
ฝ่าฉ่ำ น้ำฝน สู่หนใด
แลไปก็ ไม่เห็น เจ้าเพ็ญจันทร์
แต่ใจมั่น รอจันทร์เฝ้า กล่อมเจ้านอน

.


..............



**ห้วงคำนึง**  โดย คนกุลา 

 


สายนที  ยังรี่ไหล
จึงดวงใจ  ยังใคร่หวัง
บรรเลง  เพลงไพร  ให้พลัง
จากหว่างหวัง  ฟ่อนดาว พร่างพราวตา
ร้อยดารา  มามอบให้  ยามไกลกัน

รู้ว่า มายาภาพ
หาก เอิบอาบ  ฤทัยหวั่น
ดั่งฟ้า  คราคราว  พร่างพราวจันทร์
รู้เพียงขวัญ  คงไกล  ในเพลา
ใคร่ถามว่า  นะนวลน้อง  ไยต้องไป

รู้ ว่า  ขวัญหวั่นหวาม
ก็จะตาม  นิยามไหน
หากขวัญ  อยากถาม  นิยามใจ
หนทางไกล  ห่วงน้อง  ใครครองเคียง
พี่นี้เพียง  อยากกล่อมบ้าง  ในบางคราว

รู้ นะ  ว่าเข้มแข็ง
ใจแกร่ง  เกินใคร  ใจสาว
เพียงว่า  ในรวง  แห่งห้วง ดาว
เมื่ออะคร้าว  คราวไหน  ได้คร่ำครวญ
ได้กอดนวล  ซับน้ำตา  ที่บ่าริน

นิยาม  ในงามนึก
ยิ่งตรึก  กริ่งใจ  ไห้ถวิล
กระซิบ  สั่ง คำ  ย้ำยุพิน
แม้นหากสิ้น  ใครพนอ  ปลอบหนอนาง
พี่ละวาง  ห่วงใจหวัง  ยังเฝ้าดู

คอยดู  น้องห่างห่าง
มิอยาก  ให้นาง  อดสู
ยก ให้  น้องน้อย  เพียงพธู
จักเชิดชู  ขวัญนาง  อย่างที่ควร
นวลเอ๋ย นวล  อย่ากังวล  จนหวั่นใจ

.........
*********


ที่คิดค้นมา ก็จากการไปศึกษาค้นคว้ามาจากท่านผู้รู้ และนำมาพัฒนาต่อนะครับหากท่านใดรู้ในบางแง่มุมจากนี้ ช่วยเพิ่มเติม วิพากษ์ วิจารณ์ ด้วยนะครับ เพราะฉันทลักษณ์ เหล่านี้ก็นำมาจากพื้นฐานของบทกวีแต่ละประเภทเป็นพื้นฐานเดิม นะครับ


คุณกุลา

ในวสันต์

       ...........				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟคนกุลา
Lovings  คนกุลา เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟคนกุลา
Lovings  คนกุลา เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟคนกุลา
Lovings  คนกุลา เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงคนกุลา