1 มกราคม 2553 22:42 น.
คนกุลา
ภุชงคประยาต แปลว่า งูเลื้อย หมายความว่า ฉันท์นี้มีความ
หมายว่ามีลีลางดงามดุจการเลื้อยของพญานาคใช้บรรยายความ ใน
เรื่องที่ต้องให้เห็นความรวดเร็ว กระฉับกระเฉง หรือรำพันภาพที่
สนุกสนานรื่นเริง
คณะและพยางค์
ฉันท์บทหนึ่งมี ๒ บาท บาทละ ๒ วรรค วรรคต้นและวรรคท้าย
มีวรรคละ ๖ คำเท่ากัน รวม ๒ วรรคเป็น ๑๒ คำ จึงเขียน ๑๒ ไว้ท้าย
ชื่อฉันท์
สัมผัส สัมผัสบังคับดูได้จากแผนตามผังสัมผัส และจากตัวอย่าง
ดังรายละเอียด ต่อไปนี้
สัมผัสภายในบท
คู่ที่ ๑. คำสุดท้าย ของวรรคที่ หนึ่ง สัมผัสกับคำที่ สาม ของ
วรรคที่ สอง แทน ด้วย (ค)-(ค)
คู่ที่ ๒. คำสุดท้าย ของวรรคที่ สอง สัมผัสกับคำที่ สุดท้าย ของวรรคที่
สาม แทนด้วย ((ค))-((ค))
สัมผัสระหว่างบท
มีการบังคับ ระหว่าง คำสุดท้ายของบท (วรรคที่ ๔) จะไปสัมผัส
กับ คำสุดท้าย ของวรรคที่ สอง ของฉันท์ ในบทถัดไป แทนด้วย
(((ค)))-(((ค)))
คำครุ คำลหุ บังคับครุ ลหุ ตามที่เขียนไว้ในแผนผังและตาม
ตัวอย่าง
ล ค ค ล ค (ค) ล ค(ค)ล ค ((ค))
ล ค ค ล ค ((ค)) ล ค ค ล ค (((ค)))
ล ค ค ล ค ค ล ค ค ล ค (((ค)))
คำครุ แทนด้วย ค
คำลหุ แทนด้วย ล
ตัวอย่างฉันทลักษณ์ของภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒
สะอาดเอี่ยมประเปี่ยมน้ำ สลอนส่ำสโรชมี
พบูบานผสานสี สล้างกลีบกุสุมสรรพ์
สำแดงดวงดำรูเด่น ประดับเบจพิธพรรณ
พิโดรฉมระงมคัน - ธรสรื่นบำเรอฆาน
ภมรมั่วประทุมมาศ มิรู้ขาดสถานธาร
ชะลอเอาละลองมาล - ยเมื้อมุ่งอำรุ่งรวง
สลาบโรยก็หล่นลอย กระแสสร้อยสลายพวง
สะพราดพันธุปลาปวง ประเนืองน่านเฉนียนนอง
ฉวัดว่ายเฉวียนวน กระโดดพ่นละอองฟอง
ระเมียรมัจฉะคลอครอง บ คลาดคู่คระไลลอย
ชะโดดุกกระดี่โดด สลาดโลดยะหยอยหยอย
กระเพื่อมน้ำพะพร่ำพรอย กระฉอกฉานกระฉ่อนชล
กระสร้อยซ่าสวายซิว ระรี่ริ่วละวาดวน
ประมวลมัจฉะแปมปน ประหลาดเหลือจะรำพัน
(อิลราชคำฉันท์)
ทิชงค์ชาติฉลาดยล คะเนกลคะนึงการ
กษัตริย์ลิจฉวีวาร ระวังเหือดระแวงหาย
เหมาะแก่การจะเสกสรร ปวัตน์วัญจโนบาย
มล้างเหตุพิเฉทสาย สมัครสนธิ์สโมสร
ณวันหนึ่งลุถึงกา ลศึกษาพิชากร
กุมารลิจฉวีวร เสด็จพร้อมประชุมกัน
(สามัคคีเภทคำฉันท์ )
การอ่านภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒
การอ่านภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒ ทำนองเสนาะนั้น อ่าน แบ่งออก
ตามเสียงครุ ลหุ เป็น จังหวะ ในหนึ่งวรรค แบ่งการอ่านออกเป็น จังหวะ
๓/๓ ดังตัวอย่างด้านบน จะอ่านเป็นจังหวะ ดังนี้
ทิชงค์ชาติ/ฉลาดยล คะเนกล/คะนึงการ
กษัตริย์ลิจ/ฉวีวาร ระวังเหือด/ระแวงหาย
เหมาะแก่การ/จะเสกสรร ปวัตน์วัญ/จโนบาย
มล้างเหตุ/พิเฉทสาย สมัครสนธิ์/สโมสร
ณวันหนึ่ง/ลุถึงกา ลศึกษา/พิชากร
กุมารลิจ/ฉวีวร เสด็จพร้อม/ประชุมกัน
............
แหล่งอ้างอิง
http://guru.sanook.com/enc_photo.php?pic
http://www.kruwallapa.com/unit4/unit40104.html
www.prakan.ac.th/Link-Data/e-learning-51/orapin-3.ppt
http://www.st.ac.th/bhatips/chan_poem.html
...........
คนกุลา (เรียบเรียง)
ในเหมันต์
1 มกราคม 2553 19:20 น.
คนกุลา
ราชิกาฉันท์ เป็นฉันท์ ที่ผมและคุณราชิกาพยายาม พัฒนาขึ้น โดยนำ
เอา กาพย์ราชิกา ๗ มาประพันธ์ โดยใช้การ บังคับ ครุ ลหุ เข้าไป โดย
ศึกษารายละเอียดและวิเคราะห์ ฉันท์ หลายๆประเภท ประกอบ
วัตถุประสงค์ในการพัฒนา ราชิกาฉันท์ขึ้น เพราะในความรู้สึกของเรา
ฉันท์นั้นเป็น บทกวีที่ประพันธ์ยาก เพราะมีทั้งสัมผัส ทั้งมีการบังคับ
คำ ครุ ลหุ
เนื่องจากราชิกาฉันท์ มีคำน้อยคำ ทำให้การประพันธ์ ฉันท์ ทำได้ง่าย
ขึ้น อันจะสามารถทำให้ผู้สนใจ ค่อยๆพัฒนาไปประพันธ์ ฉันท์ที่ยากๆ
ขึ้นต่อๆไป
การประพันธ์ ฉันท์ นั้น จากประสบการของผม พบว่าทำให้ผู้ประพันธ์
เรียนรู้ภาษาไทยเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องคำ ครุ เรื่อง สระเสียงยาว
(ทีฆสระ)เรื่องสระเกินทั้ง ๔ คือ สระ อำ ใอ ไอ เอา เรื่องพยางค์ที่มีตัว
สะกดทั้งสิ้น และคำลหุ ได้เข้าใจคำ หรือพยางค์ที่มีเสียงเบา เข้าใจ
พยางค์ที่ประกอบด้วย สระเสียงสั้น (รัสสระ) เสียงของพยางค์ที่
ไม่มีตัวสะกด
ราชิกาฉันท์ มีลักษณะและจำนวนคำเหมือนกับกาพย์ราชิกา ๗ แต่ต่าง
กันเพียงที่ว่าราชิกาฉันท์นี้มีข้อบังคับ ครุและลหุ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
๑. คณะและพยางค์
ฉันท์บทหนึ่งมี ๒ บาท บาทละ ๒ วรรควรรคต้นมี ๓ คำ วรรค
ท้ายมี ๔ คำ รวมบาทละ ๗ คำ จึงเขียน ๗ ไว้ท้ายชื่อฉันท์
๒. สัมผัส
สัมผัสระหว่างวรรค มีสัมผัส ๒ คู่ คือ
คำสุดท้ายของวรรคหน้า สัมผัสกับ คำที่สองของวรรคหลัง แทน
ด้วย (ค)-(ค) ในแผนภาพโครงสร้างด้านล่าง
คำสุดท้ายของวรรคที่สอง สัมผัสกับ คำสุดท้ายของวรรคที่สาม
แทนด้วย((ค)) - ((ค)) ในแผนภาพโครงสร้างด้านล่าง
สัมผัสระหว่างบท มี ๑ คู่ คือ
คำสุดท้ายของแต่ละบท สัมผัสกับ คำสุดท้ายของวรรคที่สองของ
บทที่ตามมา แทนด้วย (((ค)))-(((ค)))ในแผนภาพ
โครงสร้างด้านล่าง
สรุปว่าสัมผัสใน ๑ บท มีสัมผัส ๒ คู่ สังเกตจากแผนผังและตัวอย่าง
(คำสัมผัสในที่นี้คือสัมผัสสระ ) สัมผัสบังคับดูได้จากแผนตาม
เครื่องหมาย() หรือ(()) บอกสัมผัส
ส่วน คำครุ คำลหุ บังคับครุ ลหุ ตามที่เขียนไว้ในแผน และตาม
ตัวอย่าง
แผนผังโครงสร้าง ราชิกาฉันท์ ๗
ค ล (ค) ล ค ล ((ค))
ค ล ((ค)) ล ค ล (((ค)))
ค ล ค ล ค ล (((ค)))
ค เท่ากับ คำครุ
ล เท่ากับ คำลหุ
ตัวอย่างบทประพันธ์ ราชิกาฉันท์ ๗
**คราคิดถึง**
๐ โรยละออง
มิหมองเสมือน
ราวจะเตือน
ลุเดือนผ่านกาล
๐ ลอยละลิ่ว
ผิปลิวประสาน
ล่วงพิมาน
สิผ่านดวงใจ
๐ ครวญตลอด
จะกอดไฉน
หวานละไมย
ฤทัยสองเรา
๐ คิดคนึง
ประหนึ่งเพราะเหงา
ดุจจะเนาว์
สิเฝ้าครวญคำ
๐ หวังเฉลย
บเอ่ยถลำ
จริงนะคำ
ยะย้ำใจปอง
๐ ยามปะหน้า
ฤ คราสนอง
คอยประคอง
ตระกองเคียงเชย
......
การอ่านราชิกาฉันท์ สามารถอ่านในทำนอง
เสนาะได้ดังนี้
๐ โรย/ละออง
มิหมอง/เสมือน
ราว/จะเตือน
ลุเดือน/ผ่านกาล
๐ ลอย/ละลิ่ว
ผิปลิว/ประสาน
พัด/มิพาน
สิผ่าน/ดวงใจ
หมายเหตุ:
ครุ คือพยางค์ที่มีเสียงหนัก
ได้แก่ พยางค์ที่ประกอบด้วย สระเสียงยาว (ทีฆสระ)
และสระเกินทั้ง ๔ คือ สระ อำ ใอ ไอ เอา
และพยางค์ที่มีตัวสะกดทั้งสิ้น
ลหุ คือพยางค์ที่มีเสียงเบา
ได้แก่ พยางค์ที่ประกอบด้วย สระเสียงสั้น (รัสสระ) ที่
ไม่มีตัวสะกด
............
แหล่งอ้างอิง
http://guru.sanook.com/enc_photo.php?pic
http://www.kruwallapa.com/unit4/unit40104.html
www.prakan.ac.th/Link-Data/e-learning-51/orapin-3.ppt
http://www.st.ac.th/bhatips/chan_poem.html
...........
คนกุลา (เรียบเรียง)
ในเหมันต์