3 กรกฎาคม 2554 15:41 น.
คนกุลา
ประวัติ “ศรีปราชญ์”
ตามหลักฐานทางประวัตศาสตร์พบว่า ศรีปราชญ์ นี้เป็นเรื่องจริง โดยเป็นกวีเอกคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ( พ.ศ.๒๑๙๙-๒๒๓๑) โดยท่านเ ป็นบุตรของพระโหราธิบดี ผู้ซึ่งแต่งหนังสือเล่มแรกที่ชื่อว่า “ จินดามณี ” หนังสือเล่มนี้สมเด็จพระนารายณ์ทรงรับส่งให้แต่งขึ้นเพื่อถ่วงดุลอิทธิพลของวัฒนธรรมฝรั่งเศส ศรีปราชญ์ได้รับอิทธิพลทางด้านกวีจากบิดา ดังนั้นจึงส่อแววว่ามีปฏิภาณด้านกวีตั้งแต่ยังเด็ก และเข้ารับราชการตั้งแต่อายุ ๑๕ ขวบ หลังแต่นั้นมาจึงกลายเป็นกวีเอกของพระนารายณ์มหาราช แต่สุดท้ายด้วยความสามารถของตน ทำให้ผู้คิดปองร้าย ใส่ร้ายศรีปราชญ์ จนถูกสั่งประหารชีวิตในที่สุด
ประวัติ
สมัยเด็ก
สันนิษฐานว่า ศรีปราชญ์ คงจะเกิดในปี พ.ศ. ๒๑๙๖ หรือ ๓ ปี ก่อนที่สมเด็จพระนารายณ์เสด็จขึ้นครองราชย์แทนสมเด็จศรีสุธรรมราชา พระโหราธิบดี บิดาของศรีปราชญ์เข้ารับราชการในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา อันถือได้ว่าเป็นยุคสมัยที่บ้านเมืองมีแต่ความสงบสุขร่มเย็น ปราศจากการรุกรานจากศัตรูภายนอก ไม่มีศึกสงครามกับพม่า ประชาชนอยู่
ดีกินดี มีการติดต่อทำการค้ากับชาวต่างประเทศ แม้แต่ชาวตะวันตกเช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลันดาฯลฯ ก็เข้ามาทำการค้า ถึงกับมีขุนนางเป็นชาวต่างประเทศในสมัยนั้นหลายท่าน เมื่อบ้านเมืองสงบสุขร่มเย็นก็ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เกิดอารมณ์สุนทรีย์ ด้วยนิสัยดั้งเดิมของคนไทยเรานั้นมักจะเป็นประเภท "เจ้าบทเจ้ากลอน" คือชอบร้องรำทำเพลงพูดจาคล้องจองกัน ในสมัยนี้คนส่วนใหญ่สนใจในวรรณคดี มีบทโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เกิดขึ้นมากมาย ถือได้ว่า "เป็นยุคทองของวรรณคดี" เลยทีเดียว
องค์สมเด็จพระนารายณ์เองก็โปรดปรานการแต่งโคลงกลอนมาก วันหนึ่งทรงแต่งโคลงสี่สุภาพขึ้นบทหนึ่ง ว่า
อันใดย้ำแก้มแม่..............หมองหมาย
ยุงเหลือบฤๅริ้นพราย.......ลอบกล้ำ
แต่แต่งได้เพียง ๒ บาท หรือสองบรรทัดเท่านั้น ก็ทรงติดขัด แต่งต่ออย่างไรก็ไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัยจึงทรงพระราชทานแผ่นกระดานชนวนที่ทรงแต่งบทโคลงนั้น แก่พระยาโหราธิบดี ซึ่งนอกจากจะมีความสามารถในด้านการพยากรณ์แล้ว ยังมีความรู้ความสามารถอื่น ๆ อีกรอบด้าน โดยเฉพาะในด้านการแต่งโคลงกลอน ถือเป็นมือหนึ่งในสมัยนั้นเลยทีเดียว
เมื่อพระยาโหราธิบดีรับแผ่นกระดานชนวน ที่มีบทโคลงที่พระองค์ทรงแต่งค้างเอาไว้แล้ว ก็พิจารณาจะแต่งต่อให้เดี๋ยวนั้น แต่ก็ไม่สามารถจะแต่งต่อได้ จึงขอพระราชทานเอาไว้แต่งต่อที่บ้าน ซึ่งพระองค์ก็ไม่ทรงขัดข้อง พอท่านพระยาโหราธิบดีกลับไปถึงบ้าน ก็นำแผ่นกระดานชนวนนั้นไปไว้ในห้องพระด้วยเป็นของสูง แล้วก็ไปอาบน้ำชำระร่างกายให้สดชื่นเสียก่อน จะเป็นด้วยโชคชะตาชักนำ หรืออย่างไรก็ไม่ทราบแน่ ในขณะที่ท่านกำลังทำภาระกิจส่วนตัวอยู่นั้น เจ้า "ศรี" บุตรชายหัวแก้วหัวแหวนของท่าน ซึ่งในขณะนั้นมีอายุเพียง
๗ ขวบ ได้เข้ามาในห้องพระ เพื่อจะเข้ามาหาผู้เป็นบิดา เมื่อหลือบไปเห็นแผ่นกระดานชนวนที่มีโคลงกลอนแต่งเอาไว้ ๒ บาท เข้า คงเป็นด้วยความซุกซนบวกกับความเฉลียวฉลาดของเจ้าศรี ก็เลยเอาดินสอพองเขียนโคลงอีก ๒ บาท ต่อจากองค์สมเด็จพระนารายณ์ ดังนี้
อันใดย้ำแก้มแม่.............หมองหมาย
ยุงเหลือบฤๅริ้นพราย.......ลอบกล้ำ
ผิวชนแต่จักกราย............ยังยาก
ใครจักอาจให้ช้ำ............... ชอกเนื้อเรียมสงวน
ความหมายในบทโคลงมีดังนี้
คือ สมเด็จพระนารายณ์ทรงแต่งไว้ในสองบาทแรก มีความหมายว่า "มีสิ่งอันใดหนอที่ทำให้แก้มของน้องนางอันเป็นที่รักต้องหมองลงไป หรือว่าจะเป็นยุง เหลือบริ้น ผีพราย เข้ามาทำให้เป็นเช่นนี้" ดูความหมายของบทกลอนของพระองค์แล้ว
ท่านกล่าวขึ้นมาลอย ๆ เหมือนจะรำพึงรำพันทำนองนั้น
ที่นี้มาดูเจ้าศรีแต่งต่อบ้างมีความหมายดังนี้ " คงไม่มี ใครคนใดในแผ่นดินนี้ที่จะเข้าไปย่างกรายเข้าไปถึงตัวนางได้ง่าย ๆ หรอก ดังนั้น คงไม่มีใครหรอกนะที่จะบังอาจไปทำให้แก้มของนวลนาง อันเป็นที่รักและหวงแหนต้องชอกช้ำไปได้"
เมื่อพระยาโหราธิบดีอาบน้ำเสร็จ ก็เข้ามาที่ห้องพระแล้วสังเกตว่ากระดานวางอยู่ต่างจากเดิม ก็เกิดอาการ "ลมแทบจับ" เพราะรู้แน่ว่าต้องเป็นฝีมือเจ้าศรีไม่ใช่ใครอื่นหนอยแน่ไอ้หมอนี่ ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง ต้องจับมาฟาดให้ก้นลายเสียให้เข็ด แต่พออ่านบทกลอนที่เจ้าศรีมันแต่งต่ออารมณ์โกรธก็พลันระงับโดยสิ้นเชิง และคิดในใจว่า ลูกเรามันแต่งดีนี่หว่า เราเองถ้าจะให้แต่งต่อและดีกว่ามันคงทำไม่ได้ เอาวะ เป็นไงก็เป็นกัน ต้องนำทูลเกล้า ฯ ถวายในวันพรุ่งนี้
พอวันรุ่งขึ้นหลังจากเข้าเฝ้าถวายแผ่นกระดานชนวนแด่องค์สมเด็จพระนารายณ์ แล้ว พระองค์ ทรงทอดพระเนตรเห็นบทโคลงที่แต่งต่อ ก็ทรงพอพระราชหฤทัย ตรัสชมเชยพระยาโหราธิบดีเป็นการใหญ่ พร้อมกับจะปูนบำเหน็จรางวัลให้ แต่ทว่า หากท่านพระยาโหราธิบดีแกรับพระราชทานบำเหน็จโดยไม่กราบทูลความจริงให้ทรงทราบ หากวันใดทรงทราบความจริงเข้า โทษสถานเดียวคือ "หัวขาด" ด้วย "เพ็ดทูล" พระเจ้าอยู่หัว ดังนั้น ท่านจึงกราบบังคมทูลให้ทรงทราบว่าแท้ที่จริงแล้ว
“ผู้ที่แต่งโคลงต่อจากพระองค์ มิใช่ข้าพระพุทธเจ้า แต่เป็นเจ้าศรีบุตรชายของข้าพระพุทธเจ้า ซึ่งทำไปด้วยความซุกซน ต้องขอพระราชทานอภัยโทษแก่มันด้วย ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณา”
เมื่อองค์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ทรงสดับความจริงจากพระยาโหราธิบดี แทนที่จะทรงกริ้ว กลับทรงพอพระราชหฤทัยยิ่งขึ้น ถึงกับทรงพระสรวลลั่นท้องพระโรง และตรัสกับท่านพระยาโหรา ฯว่า
“เออ ว่ะ ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น พ่อเก่งอย่างไร ดูรึ ลูกชายก็เก่งปานกัน หากเราจะขอให้เจ้านำบุตรของท่านเข้าถวายตัวเพื่อรับราชการแต่บัดนี้ เจ้าจะว่ากระไร ?”
พระยาโหรา ฯ ได้ยินเช่นนั้น ก็ถวายบังคมยกมือขึ้นเหนือเศียร รับใส่เกล้า ฯ ใส่กระหม่อม แล้วจึงกราบบังคมทูลว่า
“ขอเดชะ พระอาญาไม่พ้นเกล้า ฯ การที่พระองค์ทรงโปรดที่จะให้เจ้าศรีบุตรชายของข้าพระพุทธเจ้า เข้าถวายตัวเพื่อรับราชการนั้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น แต่เนื่องจากบุตรของข้า ฯ ยังเยาว์วัยเพียง ๗ ชันษา ยังซุกซนและไม่ประสาในการที่จะรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท เอาไว้ให้เขาเจริญวัยกว่านี้สักหน่อย ค่อยว่ากันอีกที ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณา"
จะว่าไปแล้ว ท่านพระยาโหราธิบดีนั้น ท่านรู้อยู่แก่ใจของท่านดีว่า หากให้เจ้าศรีเข้ารับราชการเมื่อไร ก็เร่งเวลาให้เจ้าศรีอายุสั้นมากเท่านั้น ด้วยทราบอุปนิสัยใจคอลูกชายของท่านดีประกอบกับพื้นดวงชะตาที่ได้คำนวณเอาไว้ บ่งบอกชัดเจนว่า เจ้าศรีอายุจะสั้นด้วยต้องอาญา ดังนั้น เมื่อองค์สมเด็จพระนารายณ์ทวงถามเรื่องเจ้าศรีทีไรท่านพระยาโหรก็ต้องหา เรื่องกราบทูลผลัดผ่อนเรื่อยไป
จนกระทั่งเจ้าศรีอายุได้ ๑๕ ปี ได้ศึกษาสรรพวิทยาการต่าง ๆ จากท่านพระยาโหร ฯ ผู้เป็นพ่อจนหมดสิ้นแล้ว ท่านพระยาโหร ฯ จึงได้ถามความสมัครใจว่า อยากจะเข้าไปรับราชการในวังหรือไม่ ซึ่งเจ้าศรีนั้นก็ดีใจ และเต็มใจที่จะเข้าไปรับราชการสนองพระเดชพระคุณ ดังนั้น เมื่อพระนารายณ์ทรงทวงถามอีกครั้งหนึ่ง ท่านพระยาโหรฯ จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือผลัดผ่อนได้อีกแต่ก่อนที่จะนำเจ้าศรีเข้าถวายตัว นั้น ได้ทรงขอพระราชทานคำสัญญาจากสมเด็จพระนารายณ์ ๑ ข้อ คือ
“เมื่อเจ้าศรีเข้ารับราชการแล้ว หากกาลต่อไปภายหน้า ถ้ามันกระทำความผิดใด ๆ ที่ไม่ใช่ความผิดต่อราชบัลลังก์ และมีโทษถึงตาย ก็ขอได้โปรดงดโทษตายนั้นเสียหากจะลงโทษจริง ๆ ก็ขอเพียงให้เนรเทศให้พ้นไปจากเมือง อย่าให้ต้องถึงกับประหารชีวิต”
ซึ่งพระองค์ก็ทรงพระราชทานสัญญานั้นโดยดี ทำให้ท่านพระยาโหร ฯ บรรเทาความวิตกกังวลไปได้มากทีเดียว
เมื่อเจ้าศรีเข้าถวายตัวรับราชการแล้ว พระนารายณ์ทรงให้เจ้าศรีอยู่ในตำแหน่งมหาดเล็กรับใช้ใกล้ชิด เมื่อเสด็จไปไหน ก็ทรงให้เจ้าศรีติดตามไปด้วยทุกหนแห่ง ทรงโปรดปรานเจ้าศรีเป็นอย่างมากด้วยทุกครั้งที่ทรงติดขัดเรื่องโคลงกลอน ก็ได้เจ้าศรีนี่แหละช่วยถวายคำแนะนำ จนสามารถแต่งต่อได้มีอยู่ครั้งหนึ่ง พระนารายณ์นึกสนุก และอยากจะให้ความสามารถของเจ้าศรีเป็นที่ปรากฎ จึงได้แต่งโคลงกลอนขึ้นบทหนึ่ง แล้วให้ข้าราชบริพาร ตลอดจนนักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลายที่เข้าเฝ้า ณ ที่นั้น ช่วยกันแต่งต่อ ทำนองประกวดประชันกันปรากฎว่า ไม่มีผู้ใดแต่งโคลงกลอนได้ดีและถูกพระทัยเท่ากับของเจ้าศรี ถึงกับทรงพระราชทานพระธำมะรงค์ (แหวน) ให้และตรัสว่า "เจ้าศรี เจ้าจงเป็นศรีปราชญ์ ณ บัดนี้ เถิด" นับแต่นั้นมา คนทั่วไปจึงเรียก "ศรีปราชญ์" สืบต่อกันมาจนทุกวันนี้
ในสมัยนั้น เป็นสมัยที่ทุกคนนิยมพูดจากันด้วยโคลงกลอน ว่ากันสด ๆ แม้กระทั่งยามเฝ้าประตูพระราชวัง ก็ยังสามารถแต่งโคลงกลอนโต้ตอบกับศรีปราชญ์ได้ดังมีบันทึกเอาไว้ เมื่อศรีปราชญ์ได้รับพระราชทานพระธำมะรงค์แล้ว ก็สวมไว้ที่นิ้ว พอผ่านประตูวัง
ทหารยามเห็นเข้า ก็ถามว่า " แหวนนี้ท่านได้....... แต่ใดมา "
ศรีปราชญ์ ตอบว่า "เจ้าพิภพโลกา....................... ท่านให้ "
ยามถามต่อว่า "ทำชอบสิ่งใดนา.......................... วานบอก"
ศรีปราชญ์ตอบอีกว่า " เราแต่งโคลงถวายไท้........ท่านให้ รางวัล"
ดังนี้ เป็นต้น
ชื่อเสียงของ ศรีปราชญ์ ในช่วงนั้นก็โด่งดังไปทั่วราชอาณาจักร
สาเหตุของการเนรเทศ
ตอนที่สมเด็จพระนารายณ์เดินทางไปประพาสยังป่าแก้ว มีพระยารามเดโช โดยเสด็จ โดนลิง อุจจาระลงศีรษะพระยารามฯ บรรดาทหารต่างๆก็พากันหัวเราะ สมเด็จพระนารายณ์ ์ที่ทรงบรรทมอยู่จึงตื่นขึ้นแล้วตรัสถามอำมาตย์แต่ไม่มีใครกล้ากราบบังคมทูล เพราะกลัวจะไม่สบพระราชหฤทัยสมเด็จพระนารายณ์จึงเรียกมหาดเล็กศรีฯ มาถาม ฝ่ายเจ้าศรีรับใช้มานานจนทราบพระราชอัธยาศัยจึงกราบบังคมทูลด้วยคำคล้องจอง ว่า “พยัคฆะ ขอเดชะ วานระ ถ่ายอุจจาระ รดศีรษะ พระยารามเดโช” สมเด็จพระนารายณ์พอพระทัยเป็นอย่างมาก แต่นั่นก็เป็นการสร้างความขุ่นเคือง ให้พระยารามเดโชเป็นอย่างมาก
ศรีปราชญ์รับราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทอยู่หลายปี จนเป็นหนุ่มฉกรรจ์ และตามวิสัยของคนหนุ่มย่อมหนีความรักไปไม่พ้น และในฝ่ายในเองก็มีหญิงสาวเป็นจำนวนมากที่รับใช้ พระบรมวงศ์ศานุวงศ์ และบางคนก็เป็นที่ต้องตาต้องใจของศรีปราชญ์ เมื่อเป็นที่ไว้วางพระทัยของสมเด็จพระนารายณ์ ศรีปราชญ์สามารถข้านอกออกในได้โดยสะดวก ด้วยนิสัยเจ้าชู้ตามอารมณ์ของกวี บวกกับความคึกคะนอง และถือตัวว่าเป็นคนโปรดของพระนารายณ์ จึงทำให้ศรีปราชญ์ต้องโทษถึงกับติดคุกหลายครั้ง ด้วยมักไปทำรุ่มร่าม แต่งโคลงเกี้ยวพาราสีบรรดาสาวใช้ในวัง แต่พอพ้นโทษมาก็ไม่เข็ดหลาบ มีอยู่ครั้งหนึ่งในคืนวันลอยกระทงศรีปราชญ์ได้ดื่มสุราแล้วเมา จากนั้นก็เดินไปข้าง ๆ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ "พระสนมเอก"เพราะฤทธิ์สุรา ท้าวศรีฯ เห็นศรีปราชญ์มายืนข้างๆก็ไม่พอพระทัยจึงว่าศรีปราชญ์เป็นโคลงว่า
หะหายกระต่ายเต้น...........ชมจันทร์
มันบ่เจียมตัวมัน...............ต่ำต้อย
นกยูงหากกระสัน............. ถึงเมฆ
มันบ่เจียมตัวน้อย.............ต่ำเตี้ยเดียรฉาน ฯ
ศรีปราชญ์ได้ยินดังนั้นก็รู้ว่าพระสนมเอกได้หาว่าตนเป็นเดียรฉานจึงย้อนไปเป็นโคลงว่า
หะหายกระต่ายเต้น..........ชมแข
สูงส่งสุดตาแล...................สู่ฟ้า
ระดูฤดีแด.......................สัตว์สู่ กันนา
อย่าว่าเราเจ้าข้า............... อยู่พื้นดินเดียว ฯ
สนมเอกได้ฟังก็ไม่พอพระทัยจึงไปทูลฟ้องสมเด็จพระนารายณ์ฯ พระองค์จึงให้จำขังศรีปราชญ์ในคุกหลวงแต่ไม่ต้องไปทำงานเหมือนนักโทษคน อื่นๆ พระยารามเดโช ซึ่งเคยแค้นเคืองศรีปราชญ์ มาก่อน เห็นดังนั้นจึงให้ศรีปราชญ์มาทำงานเหมือนนักโทษคนอื่นๆ โดยใช้ให้ไปทำงานขุดคลอง ทางสนมเอกฯ ได้ข่าวก็เสด็จไปที่ที่ศรีปราชญ์ขุดคลองอยู่ เมื่อพระสนมเอกได้ตรัสว่าศรีปราชญ์สมพระทัยแล้วจึงเสด็จกลับ แต่ต้องเดินสวนกลับทางที่ศรีปราชญ์กำลังขนโคลนอยู่นั้น พวกนางรับใช้ของพระสนมเอกหมั่นไส้ จึงแกล้งขัดขาศรีปราชญ์ จนเสียหลักโคลนในมือศรีปราชญ์ จึงหกใส่พระสนมเอก ซึ่งความผิดนี้มีโทษถึงประหาร แต่เนื่องจากพระโหราธิบดีได้เคยทูลขอกับสมเด็จพระนารายณ์ฯ ว่า หากเจ้าศรีฯทำผิดแล้วมีโทษถึงประหาร ขอพระราชทานให้ลดโทษเหลือเพียงเนรเทศ ดังนั้นสมเด็จพระนารายณ์ฯ จึงเนรเทศศรีปราชญ์ไปเมืองนครศรีธรรมราช
ในระหว่างการเดินทางนั้น เชื่อกันว่า ศรีปราชญ์ได้แต่งโคลงกลอน ที่เรียกว่า "กำสรวลศรีปราชญ์" บรรยายถึงความรู้สึก ที่ต้องพลัดพรากจากบิดามารดา บ้านเรือนที่สุขสบาย องค์พระนารายณ์เจ้าชีวิต ตลอดจน นางอันเป็นที่รัก เอาไว้น่าฟังมาก ถือเป็นเพชรเม็ดงามของวรรณคดีไทยชิ้นหนึ่งในยุคปัจจุบัน (แต่ ได้มีผู้โต้แย้ง เช่น พ. ณ ประมวลมารค หรือ หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี ว่า”กำสรวลศรีปราชญ์”ผู้แต่งไม่น่าจะใช่ศรีปราชญ์ เพราะดูบริบทแล้วผู้แต่งน่าจะเป็น สมเด็จพระบรมราชาธิราช พระราชโอรส ในสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ มากกว่า – ซึ่งผมจะหาเวลา เรียบเรียงมาอีกครั้ง หากเวลาเอื้ออำนวย)
เมื่อศรีปราชญ์ได้เดินทางไปถึงเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว ก็ได้รับการต้อนรับขับสู้อย่างดีจากเจ้าพระยานครฯ ให้อยู่รับราชการด้วยกัน เพราะถึงอย่างไร ศรีปราชญ์นั้น แม้จะถูกเนรเทศ แต่ก็ไม่ได้ถูกปลดจากตำแหน่งหรือลดศักดินาให้ลงไปเป็นไพร่เหมือนอย่างนักโทษทั่วไป
การเสียชีวิต
ที่เมืองนครศรีธรรมราชนี้เองที่ศรีปราชญ์สามารถแสดงทักษะด้านกวีได้อีก เช่นกัน เพราะว่าท่านเจ้าเมืองเองก็มีใจชอบด้านกวีอยู่แล้ว และด้วยความเป็นอัจฉริยะของศรีปราชญ์นี้เองที่ทำให้ท่านเจ้าเมืองโปรดปราน เขา แต่แล้วศรีปราชญ์ไปมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับภรรยาน้อยของท่านเจ้าเมือง เข้า ท่านเจ้าเมืองโกรธมากและหึงหวงภรรยาน้อย จึงสั่งให้นำตัวศรีปราชญ์ไปประหารชีวิต ศรีปราชญ์ประท้วงโทษประหารชีวิตแต่ท่านเจ้าเมืองไม่ฟัง ซึ่งปัจจุบันเชื่อกันว่าสถานที่ใช้ล้างดาบที่ใช้ประหารชีวิตศรีปราชญ์นั้น ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรรมราช เรียกว่า "สระล้างดาบศรีปราชญ์และก่อนที่เพชฌฆาตจะลงดาบประหารศรีปราชญ์ ในลานประหารที่เป็นเนินดินปนทราย ศรีปราชญ์ได้ใช้หัวแม่เท้าเขียนบทโคลงสี่สุภาพเป็นบทสุดท้ายไว้กับพื้นธรณี ใจความว่า
ธรณีนี่นี้................เป็นพยาน
เราก็ศิษย์มีอาจารย์...........หนึ่งบ้าง
เราผิดท่านประหาร............เราชอบ
เราบ่ผิดท่านมล้าง..............ดาบนี้คืนสนอง ฯ
ในขณะที่ถูกประหารชีวิตนั้นศรีปราชญ์มีอายุประมาณ 30 หรือ 35 ปี หลังจากศรีปราชญ์เสียชีวิตลง อยู่มา วันหนึ่ง เมื่อพระนารายณ์ทรงแต่งโคลงกลอนติดขัดหาคนแต่งต่อให้ถูกพระทัยไม่ได้ ก็ทรงระลึกถึงศรีปราชญ์ จึงตรัสให้มีหนังสือ เรียกตัวกลับกรุงศรีอยุธยา และเมื่อพระองค์ทรงทราบข่าวว่า ตอนนี้ศรีปราชญ์ได้เสียชีวิตไปแล้วด้วยต้องโทษประหารจากเจ้าพระยานครศรีธรรมราช พระองค์ทรงพระพิโรธเจ้าเมืองนคร ฯ ผู้ซึ่งกระทำการโดยปราศจากการขอพระราชทานความเห็นชอบของพระองค์ ทรง ตรัสว่า "อ้ายพระยานครศรีฯ มันถือดีอย่างไร? ที่บังอาจสั่งประหารคนในปกครองของกูโดยไม่ได้รับอนุญาต ความผิดของอ้ายศรีฯ นั้น ขนาดมันล่วงเกินกูในทำนองเดียวกัน กูยังไว้ชีวิตมันเลย ไม่ได้การไอ้คนพรรค์นี้เอาไว้ไม่ได้ " และยิ่งพระองค์ได้ทรงทราบถึงโคลงบทสุดท้ายของศรีปราชญ์จึงมีพระบรมราชโองการ ให้นำเอาดาบที่เจ้าพระยานคร ฯ ใช้ประหารศรีปราชญ์แล้วนั้น นำมาประหารชีวิตเจ้าพระยานคร ฯ ให้ตายตกไปตามกัน สมดังคำที่ศรีปราชญ์เขียนไว้เป็นโคลงบทสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิตว่า “ ดาบนี้คืนสนอง ”
หลังจากที่ผมได้มีการ เรียบเรียงประวัติ สุนทร “ภู่” ในโอกาส วันสุนทร “ภู่” เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ที่ผ่านมา คุณ ราชิการได้แนะนำให้ผมเรียบเรียง ประวิติ กวีสำคัญๆ ท่านอื่นๆอีก ผมเห็นว่าเป็นข้อแนะนำ ที่ดี จึงได้ พยายามรวบรวมและเรียบเรียง ประวัติ ของ ศรีปราชญ์ ในครั้งนี้ ขอขอบคุณ คุณราชิกา ที่ได้ให้คำแนะนำในครั้ง นี้ ด้วย ครับ
คน กุลา
เรียบเรียง
อ้างอิง
• http://www.lokwannakadi.com/neo/shlumnum.php?ID=23
• http://th.wikipedia.org/wiki
• http://www.skn.ac.th/skl/project/nitan482/nu18.htm
27 มิถุนายน 2554 13:11 น.
คนกุลา
วันสุนทรภู่
ที่มาของวันสุนทรภู่
องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(UNESCO) ซึ่งเป็นผู้ที่มีหน้าที่ส่งเสริมและเผยแพร่ผลงาน ด้านวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกต่างๆ ทั่วโลก ด้วยการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก ในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีขึ้นไป ประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์คือ เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณและผลงานของผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก ให้ปรากฎแก่มวลสมาชิกทั่วโลก และเพื่อเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองร่วมกับ ประเทศที่มีผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ
ในการนี้ รัฐบาลไทยโดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่ง สหประชาชาติ กระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นผู้สืบค้นบรรพบุรุษไทยผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม เพื่อให้ยูเนสโกประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติและได้ประกาศยกย่อง "สุนทรภู่" ให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก โดยในวาระครบรอบ ๒๐๐ ปีเกิด เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๙ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการจัดตั้งสถาบันสุนทรภู่ขึ้น เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับชีวิตและงานของสุนทรภู่ ให้แพร่หลายในหมู่เยาวชนและประชาชนชาวไทยมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ทางรัฐบาลจึงได้กำหนดให้ วันที่ ๒๖ มิถุนายน ของทุกปีเป็น "วันสุนทรภู่" ซึ่งนับแต่นั้น เมื่อถึงวันสุนทรภู่ จะมีการจัดงานรำลึกถึงสุนทรภู่ตามสถานที่ต่างๆ เช่น ที่พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ "วัดเทพธิดาราม" และ ที่จังหวัดระยอง และมีการจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติคุณและส่งเสริมศิลปะการประพันธ์บทกวีจากองค์กรต่างๆ โดยทั่วไป
กิจกรรมที่ควรปฏิบัติ ในวันสุนทรภู่
1. มีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติชีวิตและผลงาน
2. มีการแสดงผลงานประเภทนิทานฯ ของสุนทรภู่
3. มีการประกวด แข่งขัน ประชันสักวา ตอบคำถามเกี่ยวกับประวัติชีวิต และผลงานของสุนทรภู่
ผมค้นคว้าประวัติ ท่านสุนทรภู่ บรมครูกลอน และนำมาเรียบเรียงสำหรับผู้สนใจ เพื่อแสดงกตเวทิตาคุณ ที่ท่านได้วางแนวการเขียนบทกลอนไว้แก่ลูกหลาน อันนับเป็นคุณูปการอันอเนกอนันต์
ด้วยจิตคารวะ
คน กุลา
เรียบเรียง
แหล่งอ้างอิง
http://www.thaigoodview.com/node/5416
http://hilight.kapook.com/view/24209
http://www.thai-tour.com/thai-tour/east/rayong/data/soontornphu.htm
http://www.siamfreestyle.com/forum/index.php?showtopic=161
27 มิถุนายน 2554 13:10 น.
คนกุลา
วรรคทองที่มีชื่อเสียงของสุนทรภู่
ตัวอย่างวรรคทองที่มีชื่อเสียงของสุนทรภู่
ด้วยความที่สุนทรภู่เป็นศิลปินเอกที่มีผลงานทางวรรณกรรม วรรณคดีมากมาย ทำให้ผลงานหลาย ๆ เรื่องของ สุนทรภู่ ถูกนำไปเป็นบทเรียนให้เด็กไทยได้ศึกษา จึงทำให้มีหลาย ๆ บทประพันธ์ที่คุ้นหู หรือ "วรรคทอง" ยกตัวอย่างเช่น
จาก นิราศภูเขาทอง
ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง
มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา
ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย
ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ
สรรเพชญโพธิญาณประมาณหมาย
ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย
ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป
ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก
สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป
แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืนฯ
ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์
มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร
จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา
จาก นิราศอิเหนา
จะหักอื่นขืนหักก็จักได้
หักอาลัยนี้ไม่หลุดสุดจะหัก
สารพัดตัดขาดประหลาดนัก
แต่ตัดรักนี้ไม่ขาดประหลาดใจ
จาก พระอภัยมณี
บัดเดี๋ยวดังหงั่งเหง่งวังเวงแว่ว
สะดุ้งแล้วเหลียวแลชะแง้หา
เห็นโยคีขี่รุ้งพุ่งออกมา
ประคองพาขึ้นไปจนบนบรรพต
แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์
มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด
ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
(พระฤาษีสอนสุดสาคร)
แม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ
ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา
รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา
รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี
(พระฤาษีสอนสุดสาคร)
อันนินทากาเลเหมือนเทน้ำ
ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน
แค่องค์พระปฎิมายังราคิน
คนเดินดินหรือจะสิ้นคนนินทา
เขาย่อมเปรียบเทียบความว่ายามรัก
แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน
ครั้นรักจางห่างเหินไปเนิ่นนาน
แต่น้ำตาลว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล
ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร
ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
แม้เกิดในใต้ฟ้าสุธาธาร
ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา
แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ
พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา
แม้เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา
เชยผกาโกสุมประทุมทอง
แม้เป็นถ้ำอำไพใคร่เป็นหงส์
จะร่อนลงสิงสู่เป็นคู่สอง
ขอติดตามทรามสงวนนวลละออง
เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป
(ตอน พระอภัยมณีเกี้ยวนางละเวง ได้ถูกนำไปดัดแปลงเล็กน้อยกลายเป็นเพลง "คำมั่นสัญญา")
จาก เพลงยาวถวายโอวาท
อันความคิดวิทยาเหมือนอาวุธ
ประเสริฐสุดซ่อนใส่เสียในฝัก
สงวนคมสมนึกใครฮึกฮัก
จึงค่อยชักเชือดฟันให้บรรลัย
อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก
แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย
แม้นเจ็บอื่นหมื่นแสนจะแคลนคลาย
เจ็บจนตายเพราะเหน็บให้เจ็บใจ
จาก สุภาษิตสอนหญิง
มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท
อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์
จงมักน้อยกินน้อยค่อยบรรจง
อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน
จะพูดจาปราศรัยกับใครนั้น
อย่าตะคั้นตะคอกให้เคืองหู
ไม่ควรพูดอื้ออึ้งขึ้นมึงกู
คนจะหลู่ล่วงลามไม่ขามใจ
เป็นมนุษย์สุดนิยมเพียงลมปาก
จะได้ยากโหยหิวเพราะชิวหา
แม้นพูดดีมีคนเขาเมตตา
จะพูดจาพิเคราะห์ให้เหมาะความ
รู้วิชาก็ให้รู้เป็นครูเขา
จึงจะเบาแรงตนช่วยขนขวาย
มีข้าไทใช้สอย ค่อยสบาย
ตัวเป็นนายโง่เง่าบ่าวไม่เกรง
จาก ขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม
แม่รักลูก ลูกก็รู้ อยู่ว่ารัก
ใครอื่นสัก หมื่นแสน ไม่แม้นเหมือน
จะกินนอนวอนว่า เมตตาเตือน
จะจากเรือน ร้างแม่ ก็แต่กาย
ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ
เจ้าจงอตส่าห์ทำสม่ำเสมียน
(ขุนแผนสอนพลายงาม)
จาก นิราศภูเขาทอง
ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์
มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้พูดชั่วตัวตายทำลายมิตร
จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจาฯ
จาก นิราศพระบาท
เจ้าของตาลรักหวานขึ้นปีนต้น
เพราะดั้นด้นอยากลิ้มชิมรสหวาน
ครั้นได้รสสดสาวจากจาวตาล
ย่อมซาบซ่านหวานซึ้งตรึงถึงทรวง
ไหนจะยอมให้เจ้าหล่นลงเจ็บอก
เพราะอยากวกขึ้นลิ้นชิมของหวง
อันรสตาลหวานละม้ายคล้ายพุ่มพวง
พี่เจ็บทรวงช้ำอกเหมือนตกตาล...
ด้วยจิตคารวะ
คน กุลา
เรียบเรียง
27 มิถุนายน 2554 13:04 น.
คนกุลา
ผลงานของสุนทรภู่
ผลงาน หนังสือบทกลอนที่สุนทรภู่ เเต่งไว้มีมากมาย ที่ได้ยินเเต่ชื่อเรื่องยังหาฉบับไม่พบก็มี ที่หายสาบสูญไปเเล้วไม่ได้ยินชื่อเรื่องก็มี เเต่เรื่องหนังสือบทกลอนของสุนทรภู่ เท่าที่ปรากฏเรื่องที่ยังมีฉบับอยู่ในปัจจุบันนี้คือที่ยังมีต้นฉบับอยู่ในปัจจุบันมี ๒๔ เรื่อง แบ่งเป็นประเภทได้ดังนี้
ประเภทนิราศ
- นิราศเมืองแกลง (พ.ศ. 2349) - แต่งเมื่อหลังพ้นโทษจากคุก และเดินทางไปหาพ่อที่เมืองแกลง
- นิราศพระบาท (พ.ศ. 2350) - แต่งหลังจากกลับจากเมืองแกลง และต้องตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรีในวันมาฆบูชา
- นิราศภูเขาทอง (ประมาณ พ.ศ. 2371) - แต่งโดยสมมุติว่า เณรหนูพัด เป็นผู้แต่งไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทองที่จังหวัดอยุธยา
- นิราศสุพรรณ (ประมาณ พ.ศ. 2374) - แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นผลงานเรื่องเดียวของสุนทรภู่ที่แต่งเป็นโคลง
- นิราศวัดเจ้าฟ้า (ประมาณ พ.ศ. 2375) - แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะตามลายแทงที่วัดเจ้าฟ้าอากาศ (ไม่ปรากฏว่าที่จริงคือวัดใด) ที่จังหวัดอยุธยา
- นิราศอิเหนา (ไม่ปรากฏ, คาดว่าเป็นสมัยรัชกาลที่ 3) แต่งเป็นเนื้อเรื่องอิเหนารำพันถึงนางบุษบา
- รำพันพิลาป (พ.ศ. 2385) - แต่งเมื่อครั้งจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม แล้วเกิดฝันร้ายว่าชะตาขาด จึงบันทึกความฝันพร้อมรำพันความอาภัพของตัวไว้เป็น "รำพันพิลาป" จากนั้นจึงลาสิกขาบท
- นิราศพระประธม (พ.ศ. 2385) –เชื่อว่าแต่งเมื่อหลังจากลาสิกขาบทและเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่น เกล้าเจ้าอยู่หัว ไปนมัสการพระประธมเจดีย์ (หรือพระปฐมเจดีย์) ที่เมืองนครชัยศรี
- นิราศเมืองเพชร (พ.ศ. 2388) - แต่งเมื่อเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เชื่อว่าไปธุระราชการอย่างใดอย่างหนึ่ง นิราศเรื่องนี้มีฉบับค้นพบเนื้อหาเพิ่มเติมซึ่ง อ.ล้อม เพ็งแก้ว เชื่อว่า บรรพบุรุษฝ่ายมารดาของสุนทรภู่เป็นชาวเมืองเพชร
ประเภทนิทาน
เรื่องโคบุตร, เรื่องพระอภัยมณี, เรื่องพระไชยสุริยา, เรื่องลักษณวงศ์, เรื่องสิงหไกรภพ
ประเภทสุภาษิต
- สวัสดิรักษา- คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้าอาภรณ์
- สุภาษิตสอนหญิง - เป็นหนึ่งในผลงานซึ่งยังเป็นที่เคลือบแคลงว่า สุนทรภู่เป็นผู้ประพันธ์จริงหรือไม่
- เพลงยาวถวายโอวาท - คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว
ประเภทบทละคร
- เรื่องอภัยณุรา ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อถวายพระองค์เจ้าดวงประภา พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประเภทบทเสภา
- เรื่องขุนช้างขุนแผน (ตอนกำเนิดพลายงาม)
- เรื่องพระราชพงศาวดาร
ประเภทบทเห่กล่อม
แต่งขึ้นสำหรับใช้ขับกล่อมหม่อมเจ้าในพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ กับพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เท่าที่พบมี 4 เรื่องคือ เห่จับระบำ, เห่เรื่องพระอภัยมณี, เห่เรื่องโคบุตร เห่เรื่องพระอภัยมณี, เห่เรื่องกากี
ผลงานของสุนทรภู่เป็นที่นิยมในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องตลอดมาไม่ขาดสาย และมีการนำไปดัดแปลงเป็นสื่อต่างๆ เช่น หนังสือการ์ตูน ภาพยนตร์ เพลง รวมถึงละคร มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ ไว้ที่ ตำบลบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นบ้านเกิดของบิดาของสุนทรภู่ และเป็นกำเนิดผลงานนิราศเรื่องแรกของท่านคือ นิราศเมืองแกลง ทั้งหมดคือเรื่องราว และประวัติสุนทรภู่ ซึ่งรวมถึงผลงานวรรรณกรรมของสุนทรภู่ ให้ทุกท่านที่ผ่านเข้ามาได้ศึกษากัน
ด้วยจิต คารวะ
คน กุลา
เรียบเรียง
27 มิถุนายน 2554 13:03 น.
คนกุลา
ประวัติ “สุนทรภู่”
เรียบเรียงใน วันสุนทรภู่
วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๔
ถ้าเอ่ยชื่อ "สุนทรภู่" เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักกวีชาวไทยที่มีชื่อเสียงก้องโลก โดยเฉพาะกลอนนิทานเรื่อง "พระอภัยมณี" จนได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านงานวรรณกรรม หรือ “มหากวีแห่งรัตนโกสินทร์" หรือบางท่านก็ว่าเป็น “เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย" และคงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า "วันที่ 26 มิถุนายน" ของทุกปีคือ "วันสุนทรภู่" ซึ่งมักจะมีการจัดนิทรรศการ ประกวดแต่งคำกลอน เพื่อแสดงถึงการรำลึกถึง เพราะฉะนั้น วันนี้จึงขอถือโอกาส ขอพาไปเปิดประวัติ "วันสุนทรภู่" ให้มากขึ้น
วัยเด็ก (พ.ศ.๒๓๒๙ - ๒๓๔๙) แรกเกิด - อายุ ๒๐ ปี
พระสุนทรโวหาร (ภู่) มีนามเดิมว่า ภู่ เป็นบุตรขุนศรีสังหาร (พลับ) บิดาของท่านเป็นชาวบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ส่วนมารดาเป็นชาวเมืองฉะเชิงเทรา ชื่อแม่ช้อย สันนิษฐานว่ามารดาเป็นข้าหลวงอยู่ในพระราชวังหลัง เกิดในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร ์ เมื่อวันจันทร์ เดือนแปด ขึ้นหนึ่งค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช ๑๑๔๘ เวลาสองโมงเช้า ตรงกับวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๒๙ ณ บริเวณด้านเหนือของพระราชวังหลัง (บริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยปัจจุบัน) เชื่อว่า สุนทรภู่เกิดได้ไม่นาน บิดามารดาก็หย่าจากกัน ฝ่ายบิดากลับไปบวชที่บ้านกร่ำ เมืองแกลง ส่วนมารดา ถวายตัวเป็นนางนมของพระองค์เจ้าหญิงจงกล(เจ้าครอกทองอยู่) พระธิดาในเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ดังนั้น สุนทรภู่จึงได้อยู่ในพระราชวังหลังกับมารดา มารดาท่านได้แต่งงานมีสามีใหม่ และมีบุตรกับสามีใหม่ ๒ คน เป็นหญิง ชื่อฉิมและนิ่ม ตัวสุนทรภู่เองเมื่อสุนทรภู่โตพอสมควร มารดาได้นำไปฝากให้เรียนหนังสือที่วัดชีปะขาว หรือวัดศรีสุดารามในปัจจุบัน ครั้นมีความรู้ดีเเล้ว มารดานำไปฝากถวายตัว เป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง ตั้งแต่ยังเด็ก
"สุนทรภู่" ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวน ในกรมพระคลังสวน สุนทรภู่รับราชการไม่ก้าวหน้านัก เพราะติดนิสัยรักกาพย์กลอน ไม่ชอบทำงานอื่นนอกจากแต่งบทกลอน ซึ่งสามารถแต่งได้ดีตั้งแต่ยังรุ่นหนุ่ม เพราะตั้งแต่เยาว์วัยสุนทรภู่มีนิสัยรักแต่งกลอนยิ่งกว่างานอื่น ครั้งรุ่นหนุ่มก็ไปเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่วัดศรีสุดารามในคลองบางกอกน้อย ได้แต่งกลอนสุภาษิตและกลอนนิทานขึ้นไว้ เมื่ออายุราว 20 ปี
สุนทร ภู่เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน สันทัดทั้งสักวาและเพลงยาว เมื่อรุ่นหนุ่ม เกิดรักใคร่ชอบพอ กับนางข้าหลวง ในวังหลัง ชื่อแม่จัน ครั้นความทราบถึง กรมพระราชวังหลัง พระองค์ก็กริ้ว รับสั่งให้นำสุนทรภู่ และจันไปจองจำทันที แต่ทั้งสองถูกจองจำได้ไม่นาน
เมื่อกรมพระราชวังหลังเสด็จทิวงคตในปี พ.ศ. ๒๓๔๙ ทั้งสองก็พ้นโทษออกมา เพราะเป็นประเพณีแต่โบราณ ที่จะมีการ ปล่อยนักโทษ เพื่ออุทิศส่วนพระราชกุศลแด่ พระมหากษัตริย์หรือพระราชวงศ์ ชั้นสูงเมื่อเสด็จสวรรคต หรือทิวงคตแล้ว แม้จะพ้นโทษ สุนทรภู่และจันก็ยังมิอาจสมหวังในรัก สุนทรภู่ถูกใช้ไปชลบุรี ดังความตอนหนึ่งในนิราศเมืองแกลงว่า
"จะกรวดน้ำคว่ำขันจนวันตาย แม้เจ้านายท่านไม่ใช้แล้วไม่มา"
แต่ เจ้านายท่านใด้ใช้ไป และไปธุระเรื่องใดไม่ปรากฎ อย่างไรก็ดี สุนทรภู่ได้เดินทางเลยไปถึงบ้านกร่ำ เมืองแกลง จังหวัดระยอง เพื่อไปพบบิดาที่จากกันกว่า ๒๐ ปี ช่วงนั้นสุนทรภู่เกิดล้มเจ็บหนักเกือบถึงชีวิต กว่าจะกลับมากรุงเทพฯ ก็ล่วงถึงเดือน ๙ ปี พ.ศ.๒๓๔๙
วัยฉกรรจ์ (พ.ศ.๒๓๕๐ - ๒๓๕๙) อายุ ๒๑ - ๓๐ ปี
หลังจากกลับจากเมืองแกลง สุนทรภู่ได้เป็นมหาดเล็กของพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ พระโอรสองค์เล็ก ของกรมพระราชวังหลัง ซึ่งทรงผนวชอยู่ที่วัดระฆัง ในช่วงนี้ สุนทรภู่ก็สมหวังในรัก ได้แม่จันเป็นภรรยา สุนทรภู่คงเป็นคนเจ้าชู้ แต่งงานได้ไม่นาน ก็เกิดระหองระแหงกับแม่จัน ยังไม่ทันคืนดี สุนทรภู่ก็ต้อง ตามเสด็จพระองค์เจ้า ปฐมวงศ์ ในฐานะมหาดเล็ก ตามเสด็จไปในงานพิธีมาฆบูชา ที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ในการเดินทางคราวนี้ สุนทรภู่ได้แต่งนิราศ เรื่องที่สองขึ้น คือ นิราศพระบาท สุนทรภู่ตามเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ ในเดือน ๓ ปี พ.ศ.๒๓๕๐
สุนทรภู่มี บุตรกับแม่จัน ๑ คน ชื่อหนูพัด แต่ชีวิตครอบครัวก็ยังไม่ราบรื่นนัก ในที่สุดแม่จันก็ร้างลาไป พระองค์เจ้าจงกล (เจ้าครอก ทองอยู่) ได้รับอุปการะหนูพัดไว้ ชีวิตของท่านสุนทรภู่ช่วงนี้คงโศกเศร้ามิใช่น้อย
ประวัติ ชีวิตของสุนทรภู่สุนทรภู่ก่อนรับราชการ ไม่ชัดแจ้ง แต่เชื่อว่าท่าน หนีความเศร้าออกไป เพชรบุรี ทำไร่ทำนาอยู่กับหม่อมบุญนาคในพระราชวังหลัง ดังความตอนหนึ่งในนิราศ เมืองเพชร ที่ท่านย้อนรำลึกความหลัง สมัยหนุ่ม ว่า
"ถึงต้นตาลบ้านคุณหม่อมบุญนาค เมื่อยามยากจนมาได้อาศัย
มารดาเจ้าคราวพระวังหลังครรไล มาทำไร่ทำนา ท่านการุญ"
นักเลงกลอนอย่างท่านสุนทรภู่ ทำไร่ทำนาอยู่นานก็ชักเบื่อ ด้วยเลือดนัก กลอนทำให้ท่านกลับเข้ามากรุงเทพฯ หากินทางรับจ้างแต่งเพลงยาว บอกบทสักวา จนถึงบอก บทละคร นอก บางทีนิทานเรื่องแรกของ ท่านคงจะแต่งขึ้นในช่วงนี้ การที่เกิดมีนิทานเรื่องใหม่ๆ ทำให้เป็นที่สนใจมาก เพราะ สมัยนั้นมีแต่กลอนนิทานจักรๆ วงศ์ๆ ไม่กี่เรื่อง แสดง ซ้ำไปซ้ำมาจนคนอ่าน คนดูรู้เรื่องตลอดหมดแล้ว นิทานของ ท่านทำให้นายบุญยัง เจ้าของคณะละครนอกชื่อดัง ในสมัยนั้นมาติดต่อว่าจ้างสุนทรภู่ ท่านจึงได้ร่วมคณะละคร เป็นทั้งคนแต่งบทและบอกบทเดินทางเร่ร่อนไปกับคณะละครไปทั่ว จนกระทั่งได้เข้ามา รับราชการครั้งแรก
รับราชการครั้งที่ ๑ (พ.ศ.๒๓๕๙ - ๒๓๖๗) อายุ ๓๐ - ๓๘ ปี
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระ พุทธเลิศ หล้านภาลัย สุนทรภู่ได้เข้ามารับราชการ ในกรมพระอาลักษณ์ และเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อาจจะมาจากมูลเหตูที่ รัชกาลที่ ๒ ทรงเป็นมหากวีและทรงสนพระทัยเรื่องการละครเป็นอย่างยิ่ง ในรัชสมัยของ พระองค์ ได้กวดขันการฝึกหัดวิธีรำจนได้ที่ เป็นแบบอย่างของละครรำมาตราบทุกวันนี้ พระองค์ยังทรงพระราชนิพนธ์บทละคร ขึ้นใหม่อีกถึง ๗ เรื่อง มีเรื่องอิเหนาและเรื่องรามเกียรติ์ คราวหนึ่งเมื่อทรงพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ตอนศึกสิบขุนสิบรถ ทรงพระราชนิพนธ์บทชมรถทศกัณฐ์ว่า
"๏ รถที่นั่ง บุษบกบัลลังก์ตั้งตระหง่าน
กว้างยาวใหญ่เท่าเขาจักรวาล ยอดเยี่ยมเทียมวิมานเมืองแมน
ดุมวงกงหันเป็นควันคว้าง เทียมสิงห์วิ่งวางข้างละแสน
สารถีขี่ขับเข้าดงแดน พื้นแผ่นดินกระเด็นไปเป็นจุณ"
ทรงพระราชนิพนธ์มาได้เพียงนี้ ทรงนึกความที่จะต่อไปอย่างไรให้สมกับที่รถใหญ่โตปานนั้นก็นึกไม่ออก จึงมีรับสั่งให้สุนทรภู่แต่งต่อ สุนทรภู่แต่งต่อว่า
"นทีตีฟองนองระลอก กระฉอกกระฉ่อนชลข้นขุ่น
เขาพระเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน อนนต์หนุนดินดานสะท้านสะเทือน
ทวยหาญโห่ร้องก้องกัมปนาท สุธาวาสไหวหวั่นลั่นเลื่อน
บดบังสุริยันตะวันเดือน คลาดเคลื่อนจัตุรงค์ตรงมา"
กลอนบทนี้เป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยิ่งนัก นับแต่นั้นก็นับสุนทรภู่เป็นกวีที่ปรึกษาด้วยอีกคนหนึ่ง ทรงตั้งเป็นที่ “ขุนสุนทรโวหาร” พระราชทานที่ให้ปลูกเรือนที่ท่าช้าง และให้มีตำแหน่งเฝ้าฯ เป็นนิจ
แม้เวลาเสด็จประพาสก็โปรดฯ ให้สุนทรภู่ลงเรือพระที่นั่งไปด้วย เป็นพนักงานอ่านเขียนในเวลาทรงพระราชนิพนธ์บทกลอนเรื่องรามเกียรติ์ เป็นต้น
ต่อมาในราว พ.ศ. ๒๓๖๔ สุนทรภู่ต้องติดคุกเพราะเมาสุราอาละวาดและทำร้ายท่านผู้ใหญ่ แต่ติดอยู่ไมนานก็พ้นโทษ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงติดขัดบทพระราชนิพนธ์เรื่อง "สังข์ทอง" ไม่มีใครแต่งได้ต้องพระทัย ทรงให้สุนทรภู่ทดลองแต่งก็เป็นที่พอพระราชหฤทัยภายหลังพ้นโทษ สุนทรภู่ได้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 และ เชื่อกันว่าสุนทรภู่แต่งเรื่อง "สวัสดิรักษา" ในระหว่างเวลานี้ ซึ่งในระหว่างรับราชการอยู่นี้ สุนทรภู่แต่งงานใหม่กับแม่นิ่ม มีบุตรด้วยกันหนึ่งคน ชื่อ "พ่อตาบ”
ออกบวช (พ.ศ.๒๓๖๗ - ๒๓๘๕) อายุ ๓๘ - ๕๖ ปี
วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๖๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต นอกจากแผ่นดินและผืนฟ้าจะร่ำไห้ ไพร่ธรรมดาคนหนึ่งที่มีโอกาสสูงสุดในชีวิต ได้เป็นถึงกวีที่ปรึกษา ในราชสำนักก็หมดวาสนาไปด้วย
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ถึง เหตุที่สุนทรภู่ ไม่กล้า รับราชการต่อใน แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ดังนี้ "เล่ากันว่า เมื่อทรงพระราชนิพนธ์ บทละคร เรื่องอิเหนา ทรงแต่งตอนนางบุษบาเล่นธาร เมื่อท้าว ดาหาไปใช้บน พระราชทานให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงแต่ง "เมื่อทรงแต่งแล้ว ถึงวันจะอ่านถวายตัว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งวานสุนทรภู่ ตรวจดูเสียก่อน สุนทรภู่อ่านแล้วกราบทูลว่า เห็นดีอยู่แล้ว ครั้นเสด็จออก เมื่อโปรดให้อ่านต่อหน้ากวีที่ทรง ปรึกษาพร้อมกัน ถึงบทแห่งหนึ่งว่า " 'น้ำใสไหลเย็นแลเห็นตัว ปลาแหวกกอบัวอยู่ไหวไหว' "สุนทรภู่ติว่ายังไม่ดี ขอแก้เป็น " 'น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา ว่ายแหวกปทุมาอยู่ไหวไหว' "โปรดตามที่สุนทรภู่แก้ พอเสด็จขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็กริ้ว ดำรัสว่า เมื่อ ขอให้ตรวจทำไมจึงไม่แก้ไข แกล้งนิ่งเอาไปไว้ติหักหน้ากลางคัน เป็นเรื่องที่ทรงขัดเคืองสุนทรภู่ครั้ง หนึ่ง "อีกครั้งหนึ่ง รับสั่งให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแต่งบทละครเรื่องสังข์ทอง ตอน ท้าว สามลจะให้ลูกสาวเลือกคู่ ทรงแต่งคำปรารภของท้าวสามลว่า " 'จำจะปลูกฝังเสียยังแล้ว ให้ลูกแก้ว สมมาด ปรารถนา' " ครั้นถึงเวลาอ่านถวาย สุนทรภู่ถามขึ้นว่า 'ลูกปรารถนาอะไร' พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องแก้ว่า " 'จำจะปลูกฝังเสียยังแล้ว ให้ลูกแก้วมีคู่เสน่หา' "ทรงขัดเคืองสุนทรภู่ว่าแกล้งประมาทอีกครั้งหนึ่ง แต่นั้นก็ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมึนตึงต่อสุนทรภู่มาจนตลอดรัชกาลที่ ๒ ... " จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ เพียงคิดได้ด้วยเฉพาะหน้าตรงนั้นก็ตาม สุนทรภู่ก็ได้ทำการไม่เป็นที่พอ พระราชหฤทัย ประกอบกับความอาลัยเสียใจหนักหนา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สุนทรภู่ จึงลาออกจากราชการ และตั้งใจบวชเพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณ
สุนทรภู่ได้เผยความในใจนี้ ในตอนหนึ่ง ของนิราศภูเขาทอง ว่า
"จะสร้างพรตอตส่าห์ส่งบุญถวาย ประพฤติฝ่ายสมถะทั้งวสา เป็นสิ่งของฉลองคุณมุลิกา ขอเป็นข้าเคียงพระบาททุกชาติไป"
เมื่อ บวชแล้ว ท่านได้ออกจาริกแสวงบุญไปยังที่ต่างๆ เล่ากันว่า ท่านได้เดินทางไปยังหัวเมืองต่างๆ หลายแห่ง เช่นเมืองพิษณุโลก เมืองประจวบคีรีขันธ์ จนถึงเมืองถลางหรือภูเก็ต และเชื่อกันว่า ท่านคงจะเขียนนิราศเมืองต่างๆ นี้ไว้อย่างแน่นอน เพียงแต่ ยังค้นหาต้นฉบับไม่พบ
ในชั้นต้น พระสุนทรภู่ได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดอรุณ ราชวรารามหรือวัดแจ้ง ปี พ.ศ.๒๓๗๒เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงฝากเจ้าฟ้ากลาง และเจ้าฟ้า ปิ๋ว พระโอรสองค์กลางและองค์น้อยให้เป็นศิษย์สุนทรภู่ การมีศิษย์ชั้นเจ้าฟ้าเช่นนี้จึงทำให้พระสุนทรภ ู่สุข สบาย ขึ้นพระสุนทรภู่อยู่วัดอรุณฯ ราว ๒ ปี จึงข้ามฟากมาจำพรรษาอยู่ท ี่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ เล่ากันถึงสาเหตุที่พระสุนทรภู่ย้ายวัดมา ก็เพราะสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงชัก ชวนให้มาอยู่ด้วยกัน สมเด็จฯ ทรงเป็นกวีองค์สำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์หนึ่ง เชื่อว่าคงจะทรงคุ้นเคย กับสุนทรภู่ในฐานะที่เป็นกวีด้วยกัน โดยเฉพาะสมัยที่สุนทรภู่เป็นขุนสุนทรโวหารในรัชกาลที่ ๒ ชีพจรลงเท้า สุนทรภู่อีกครั้งเมื่อท่านเกิดไปสนใจเรื่องเล่นแร่แปรธาตุและยาอายุวัฒนะ ถึงแก่อุตสาหะไปค้นหา ทำให้เกิดนิราศ วัดเจ้าฟ้า และนิราศสุพรรณปี พ.ศ.๒๓๘๓ สุนทรภู่มาจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม ท่านอยู่ที่นี่ได้ ๓ พรรษา คืนหนึ่งเกิดฝันร้าย ว่าชะตาขาด จะถึงแก่ชีวิต จึงได้แต่งเรื่องรำพันพิลาป ซึ่งทำให้ทราบเรื่องราว ในชีวิตของท่านอีก เป็นอันมาก จากนั้นจึงลาสิกขาบทเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๕ เพื่อเตรียมตัวจะตาย
รับราชการครั้งที่ ๒ (พ.ศ.๒๓๘๕ - ๒๓๙๘) อายุ ๕๖ - ๖๙ ปี
เมื่อสึกออกมา สุนทรภู่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งทรง พระยศเป็นสมเด็จพระเจ้า น้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ โปรดอุปถัมภ์ให้สุนทรภู่ ไปอยู่พระราชวังเดิมด้วย ต่อมา กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ทรงพระเมตตา อุปการะสุนทรภู่ด้วย กล่าวกันว่า ชอบพระราชหฤทัย ในเรื่องพระอภัยมณี จึงมีรับสั่งให้สุนทรภู่แต่งต่อ นอกจากนี้ สุนทรภู่ยังแต่งเรื่อง สิงหไตรภพถวายกรมหมื่น อัปสรฯ อีกเรื่องหนึ่ง
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ครองราชย์ ทรงสถาปนาเจ้าฟ้า กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่วังหน้า (พระบวรราชวัง) สุนทรภู่จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระสุนทรโวหาร" ตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายบวรราชวังในปี พ.ศ.๒๓๙๔
แม้สุนทรภู่จะอายุมากแล้ว แต่ท่านก็ยังรักการเดินทางและรักกลอนเป็นที่สุด ท่านได้แต่งนิราศไว้อีก ๒ เรื่องคือนิราศพระประธม และนิราศเมืองเพชร สุนทรภู่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระสุนทรโวหาร" ในปี พ.ศ.๒๓๙๔ ขณะที่ท่านมีอายุ ได้ ๖๕ ปีแล้ว สุนทรภู่รับราชการต่อมาได้ ๔ ปีท่านถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี ปีเถาะ พ.ศ.๒๓๙๘ รวมอายุได้ ๖๙ ปี ในเขตพระราชวังเดิม ใกล้หอนั่งของพระยามนเทียรบาล (บัว) ที่เรียกชื่อกันว่า "ห้องสุนทรภู่"
สำหรับทายาทของสุนทรภู่นั้น เชื่อกันว่าสุนทรภู่มีบุตรชาย 3 คน คือ"พ่อพัด" เกิดจากภรรยาคนแรกคือแม่จัน "พ่อตาบ" เกิดจากภรรยาคนที่สองคือแม่นิ่ม และ "พ่อนิล" เกิดจากภรรยาที่ชื่อแม่ม่วง นอกจากนี้ ปรากฏชื่อบุตรบุญธรรมอีกสองคน ชื่อ "พ่อกลั่น" และ "พ่อชุบ" อย่าง ไรก็ตาม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้น และตระกูลของสุนทรภู่ได้ใช้นามสกุลต่อมาว่า "ภู่เรือหงส์"
ด้วยจิตคารวะ
คน กุลา
เรียบเรียง