9 ธันวาคม 2552 20:42 น.

" แต่ง โคลง ไม่ยากอย่างที่คิด...!!!"

คนกุลา

๓.การสัมผัส

สัมผัสในบท
สัมผัสประเภทแรก คือคำคล้องจอง ที่เป็นสัมผัสบังคับภายในบท  เรียกอีก
อย่างว่า "สัมผัสนอก" หมายถึงสัมผัสที่กำหนดเป็นแบบแผนในการประพันธ์
โคลง เป็นสัมผัสสระ คือมีเสียงสระและตัวสะกดมาตราเดียวกัน ดังนี้ อีกทั้ง
รูปวรรณยุกต์ ก็ต้องเป็นรูปเดียวกัน 

บาทแรก คำสุดท้ายของวรรคที่ 2 สัมผัสกับ คำสุดท้ายของวรรคแรก ในบาท
ที่ 2 และ 3 ซึ่งต้องเป็นคำสุภาพ คือคำที่มิได้กำหนดรูปวรรณยุกต์ ทั้ง เอก 
โท ตรีและจัตวา

บาทที่ 2 คำสุดท้ายของวรรคที่ 2 สัมผัสกับ คำสุดท้ายของวรรคแรก ในบาท
ที่ 4 ซึ่งต้อง

เป็นรูปวรรณยุกต์ โท จึงมักเรียกว่า เป็นคู่ โท ขนาดที่ นักแต่งโคลงบางท่าน 
บอกว่า ก่อนแต่งโคลง ต้องหาคำมาจับคู่ โท นี้ให้ได้ ก่อน จึงเขียน ถึงขนาด
นั้น ก็มี

ในจินดามณี ฉบับพระโหราธิบดี อธิบายสัมผัสบังคับของโคลงสี่สุภาพไว้ว่า

  ๐  ให้ปลายบาทเอกนั้น      มาฟัด 
ห้าที่บทสองวัจน์                 ชอบพร้อง 
บทสามดุจเดียวทัด             ในที่ เบญจนา 
ปลายแห่งบทสองต้อง         ที่ห้าบทหลัง 

การประพันธ์ โคลงไม่บังคับ เรื่องสัมผัสใน หรือสัมผัสระหว่างคำที่อยู่ในวรรค
เดียวกัน

การสัมผัสระหว่างบท 
สำหรับสัมผัสระหว่างบทนั้นการแต่งโคลงสี่สุภาพต่อกันหลายๆ บท เป็นเรื่อง
ราวอย่างโคลงนิราศ 

โคลงเฉลิมพระเกียรติ โคลงสุภาษิต หรือโคลงอธิบายเหตุการณ์ต่างๆ อาจทำ
ได้ 2 ลักษณะ คือ 

โคลงสุภาพชาตรี และ โคลงสุภาพลิลิต

โคลงสุภาพชาตรี ไม่มีสัมผัสระหว่างบท ส่วนใหญ่กวีนิพนธ์แบบเก่าจะนิยม
แบบนี้เป็นส่วนมาก
โคลงสุภาพลิลิต มีการร้อยสัมผัสระหว่างบท โดยคำสุดท้ายของบทต้นต้องส่ง
สัมผัสสระ ไปยังคำที่ 1 หรือ 2 หรือ 3 ในบทต่อไป
เช่น

1. บุเรงนองนามราชเจ้า  จอมรา มัญเฮย 
อกพยุหแสนยา  ยิ่งแก้ว 
มอญผ่านประมวลมา  สามสิบ หมื่นแฮ 
ถึงอยุธเยศแล้ว  หยุดใกล้นครา 
2. พระมหาจักรพรรดิเผ้า  ภูวดล สยามเฮย 
วางค่ายรายรี้พล  เพียบหล้า 
ดำริจักใคร่ยล  แรงศึก 
ยกนิกรทัพกล้า  ออกตั้งกลางสมร 
3. บังอรอัคเรศผู้  พิศมัย ท่านนา 
นามพระสุริโยทัย  ออกอ้าง 
ทรงเครื่องยุทธพิไชย  เช่นอุปราชแฮ 
เถลิงคชาธารคว้าง  ควบเข้าขบวนไคล 

 โคลงภาพเรื่องพระราชพงศาวดาร 

            ๔ .คำเป็น คำตาย
                  คำเป็น ได้แก่ 
                          ๑. คำที่ประสมด้วยทีฆสระ ในแม่ ก กา (สระเสียงยาวไม่มี
ตัวสะกด) เช่น ว่า เรือ โต้ ชี้ รื้อ คู่ แล รวมถึงคำที่ประสมด้วย
สระ อำ ไอ ใอ เอา  เช่น ดำ ไป ใคร ใช้ เรา   
                          ๒. คำที่มีตัวสะกดในมาตรา แม่ กง กน กม เกย เกอว    เช่น ดง คง มุง ราญ ชาญ กัน เชื่อม ลุย  ชาว ร้าว    
        
                   คำตาย ได้แก่ 
                          ๑. คำที่ประสมด้วยรัสสระ ในแม่ ก กา (สระเสียงสั้น ไม่มี
ตัวสะกด)  ยกเว้น อำ ไอ ใอ เอา เช่น จะ ริ ครึ ลุ เกะกะ ทะลุ โต๊ะ เผียะ กะ ทิ สิ  ขรุ ขระ เละ เปรี๊ยะ เลอะ โป๊ะ ฯลฯ   
                         ๒. คำที่มีตัวสะกดในมาตรา แม่ กก กด กบ เช่น มุข ลาภ 
เชือด รบ เลข  วัด สารท โจทย์ วิทย์ ศิษย์ มาก โชค ลาภ ฯลฯ  
                          ในการแต่งโคลงทุกชนิด ใช้คำตาย แทน เอก ได้ 

              ๕. คำเอก  คำโท

	คำเอก คำโท หมายถึงพยางค์ที่บังคับด้วยรูปวรรณยุกต์เอก 
และรูปวรรณยุต์โท กำกับอยู่ในคำนั้น โดยมีลักษณะบังคับไว้ดังนี้ 
 
	คำเอก ได้แก่ พยางค์ที่มีรูปวรรณยุกต์เอกบังคับ เช่น ล่า เก่า ก่อน น่า ว่าย ไม่ ฯลฯ และให้รวมถึงคำตายทั้งหมดไม่ว่าจะมีเสียง
วรรณยุกต์ใดก็ตาม เช่น ปะ พบ รึ ขัด ชิด 
(ในโคลงใช้ คำตาย แทนคำเอกได้ ดังได้กล่าวไปแล้ว) 

                     คำโท ได้แก่ พยางค์ที่มีรูปวรรณยุกต์โทบังคับ ไม่ว่าจะเป็น
เสียงวรรณยุกต์ใด ก็ตามเช่น ข้า ล้ม เศร้า ค้าน  

	การใช้ คำเอก คำโท ในการแต่ง "โคลง" ถือว่าเป็นข้อ 
บังคับของฉันทลักษณ์ที่สำคัญมาก ดังนั้นในกรณีที่ไม่สามารถหาพยางค์ที่มี
รูปวรรณยุกต์ตามต้องการได้ ให้ใช้ เอกโทษ และโทโทษ คือการยอมให้เอา
คำที่ไม่เคยใช้รูปเอก รูปโท แปลงมาใช้ เอก และ โท ได้ เช่น เล่น นำมา
เขียนใช้เป็น เหล้น ได้ เรียกว่า "โทโทษ" และ ห้าม ข้อน นำมาเขียนเป็น 
ฮ่าม ค่อน เรียกว่า "เอกโทษ" 

เอกโทษและโทโทษ นำมาใช้แก้ปัญหาได้ ในการแต่งโคลงมาแต่สมัยก่อน 
แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยจะนิยมใช้เอกโทษและโทโทษ  กัน

คนกุลา  (เรียบเรียง)

ในเหมันต์ 


........................

ขอบคุณที่มา : 

http://www.st.ac.th/thaidepart/poemt2.php#chan6 
http://www.st.ac.th/bhatips/klong.htm
http://th.wikipedia.org/wiki				
9 ธันวาคม 2552 17:14 น.

"เมื่อผมอยากเรียนแต่งโคลง....ครับ"

คนกุลา

การประพันธ์โคลงสี่สุภาพ
	การประพันธ์โคลงสี่สุภาพเป็นประณีตศิลป์ 
ที่ใช้ถ้อยคำตัวอักษรเป็นสื่อแสดงความคิดของผู้สรรค์สร้าง 
ซึ่งต้องการสะท้อนอารมณ์สะเทือนใจและก่อให้ผู้อ่านคล้อย
ตามไปด้วย ผู้อ่านต้องรับรู้ความงามด้วยใจโดยตรง ดังนั้น
ผู้สร้างสรรค์งานวรรณศิลป์จึงต้องช่างสังเกต รู้จักพินิจพิจารณา
มองเห็นจุดที่คนอื่นมองข้ามหรือคาดไม่ถึง และใช้ถ้อยคำที่
ละเมียดละไม ผลงานนั้นจึงจะทรงคุณค่า
	โคลงสี่สุภาพเป็นคำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง
ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีปรากฏในวรรณคดีไทยมานานแล้ว วรรณคดีไทย
ฉบับที่เก่าและมีชื่อเสียงมากฉบับหนึ่งคือ "ลิลิตพระลอ" มีโคลง
สี่สุภาพบทหนึ่งถูกยกมาเป็นบทต้นแบบที่แต่งได้ถูกต้องตามลักษณะ
บังคับของโคลงสี่สุภาพ คือนอกจากจะมีบังคับสัมผัสตามที่ต่าง ๆ
แล้ว ยังบังคับให้มีวรรณยุกต์เอกโทในบางตำแหน่งด้วย กล่าวคือ 
มีเอก 7 แห่ง และโท 4 แห่ง เรียกว่า เอกเจ็ดโทสี่

     ตัวอย่างคำประพันธ์ที่นิยมท่องเป็นต้นแบบเพื่อง่ายต่อการจดจำแผนผัง

    ๐ เสียงลือเสียงเล่าอ้าง        อันใด พี่เอย  
เสียงย่อมยอยศใคร                ทั่วหล้า 
สองเขือพี่หลับใหล                 ลืมตื่น ฤๅพี่  
สองพี่คิดเองอ้า                      อย่าได้ถามเผือ 
                          
                             จาก ลิลิตพระลอ 

ฉันทลักษณ์ 
             ซึ่งเป็นลักษณะบังคับสำหรับการแต่งโคลงสี่สุภาพมี ดังนี้    
        
             ๑. คณะ    
        
               คือข้อบังคับเกี่ยวกับจำนวนบท จำนวนบาทจำนวนวรรค 
และ จำนวนคำ ของ โคลงสี่สุภาพ คณะของโคลงสี่สุภาพ คือ บทหนึ่ง 
มี 4 บาท (เขียนเป็น 4 บรรทัด) 1 บาทแบ่งออกเป็น  2 วรรค 
โดยวรรคแรกกำหนดจำนวนคำไว้ 5 คำ ส่วนวรรคหลัง ในบาทที่ 1,2
และ 3 จะมี 2 คำ (ในบาทที่ 1 และ 3 อาจเพิ่มสร้อยได้อีกแห่งละ
2 คำ) ส่วนบาทที่ 4 วรรคที่ 2 จะมี 4 คำ รวมทั้งบท มี 30 คำ 
และเมื่อรวมสร้อยทั้งหมดอาจเพิ่มเป็น 34 คำ 

               ส่วนที่บังคับ เอก โท (เอก 7 โท 4) ดังนี้

บาทที่ 1 (บาทเอก) วรรคแรก คำที่ 4 เอก และคำที่ 5 โท
บาทที่ 2 (บาทโท) วรรคแรก คำที่ 2 เอก วรรคหลัง 
              คำแรก เอก คำที่ 2 โท
บาทที่ 3 (บาทตรี) วรรคแรก คำที่ 3 เอก วรรคหลัง 
               คำที่ 2 เอก
บาทที่ 4 (บาทจัตวา) วรรคแรก คำที่ 2 เอก คำที่ 5 โท วรรคหลัง 
               คำแรก เอก คำที่ 2 โท
  
            ๒.คำ หรือ พยางค์    
       
                หมายถึงพยางค์คือเสียงที่เปล่งออกมาครั้งหนึ่งคือจำนวนคำของ
โคลงในแต่ละวรรค ที่มีข้อกำหนดไว้แล้วว่า ในแต่ละวรรคนั้นนั้น กำหนด
ให้แต่ละวรรคมีกี่คำ  ในด้านฉันทลักษณ์แท้จริงแล้วหมายถึงคำหรือพยางค์  
แต่ในบางกรณีอาจเป็นเพียงเสียงของคำ  เพียงหนึ่งเสียงก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ
การออกเสียงและจังหวะของเสียงในคำประพันธ์นั้น ๆ 
    เช่น 

	วัดหงส์เหมราชร้าง......รังถวาย    
        
                  คำว่า "เหมราช" ในโคลงจากข้อความข้างต้น ให้นับว่าเป็น
"สองพยางค์" แทนที่จะเป็น "สามพยางค์"ก็จะทำให้วรรคหน้าใน
โคลงสี่สุภาพ มีจำนวน พยางค์เป็น ๕ เท่ากับข้อบังคับ การนับพยางค์ในการ
แต่งโคงจึงต้องดู คณะ และเสียงจังหวะของคำว่าควรจะลงตัวอย่างไรจึงจะได้ความไพเราะ   ซึ่ง

ต่างกับการแต่ง "ฉันท์" ที่พยางค์ในฉันท์จะหมายถึงหนึ่งเสียงที่
เปล่งออกมาเนื่องจาก  "ฉันท์" มีข้อกำหนดที่เคร่งครัดในเรื่อง ครุ-ลหุ 
ของเสียงแต่ละเสียง   
      
หนังสือจินดามณี ของ พระโหราธิบดี อธิบายการประพันธ์โคลงสี่สุภาพไว้ว่า

     ๐ สิบเก้าเสาวภาพแก้ว      กรองสนธิ์ 
จันทรมณฑล                        สี่ถ้วน 
พระสุริยะเสด็จดล                  เจ็ดแห่ง 
แสดงว่าพระโคลงล้วน            เศษสร้อยมีสอง 

เสาวภาพ หรือ สุภาพ หมายถึงคำที่มิได้กำหนดรูปวรรณยุกต์ ทั้ง เอก โท ตรี 
และจัตวา (ส่วนคำที่มีรูปวรรณยุกต์กำกับเรียกว่า พิภาษ)

จันทรมณฑล หมายถึง คำที่กำหนดรูปวรรณยุกต์โท 4 แห่ง

พระสุริยะ หมายถึง คำที่กำหนดรูปวรรณยุกต์เอก 7 แห่ง
รวมคำที่กำหนดรูปวรรณยุกต์เอกและโท 11 คำ หรือ อักษร
โคลงสุภาพบทหนึ่งมี 30 คำ (ไม่รวมสร้อย)

คำที่กำหนดรูปวรรณยุกต์เอก อาจใช้คำตายแทนได้

คำที่กำหนดรูปวรรณยุกต์โท แทนด้วยคำอื่นไม่ได้ ต้องใช้รูปโทเท่านั้น

คำที่ไม่กำหนดรูปวรรณยุกต์ หรือคำสุภาพมี 19 คำ มีหรือไม่มี
รูปวรรณยุกต์ก็ไม่ถือว่าผิดในชุด 19 คำแม้ไม่กำหนดรูปวรรณยุกต์ 
ในท้ายวรรคทุกวรรคต้องไม่มีรูปวรรณยุกต์ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะจะทำให้
น้ำหนักของโคลงเสียไป ได้แก่คำที่กากบาทในแผนผังข้างล่าง

           ๓. แผนผังของโคลง สามารถเขียนได้หลายรูปแบบ ซึ่งผมขอนำมา
เขียนไว้สองแบบ ดังนี้

แบบที่  ๑ ซึ่งอาจเขียนออกมาได้ดังนี้

๐ ๐ ๐ เอก โท  ๐ X (๐ ๐) 
๐ เอก ๐ ๐ X  เอก โท 
๐ ๐ เอก ๐ X  ๐ เอก (๐ ๐) 
๐ เอก ๐ ๐ โท  เอก โท ๐ X

หรืออาจเขียนได้อีกแบบผังนี้ ครับ

๏ กากากาก่าก้า         กากา(ส) กากา 
กาก่ากากากา(ส)  ก่าก้า(ท)
กากาก่ากากา(ส)  กาก่า กากา
กาก่ากากาก้า(ท)  ก่าก้ากากาฯ

๏ กากากาก่าก้า          กากา(ส) กากา 
กาก่ากากากา(ส)  ก่าก้า(ท)
กากาก่ากากา(ส)  กาก่า กากา
กาก่ากากาก้า(ท)  ก่าก้ากากาฯ
 
( ส) คือ  คำสัมผัส ซึ่งเป็นเสียงสามัญ
ส่วน (ท) คือ คำสัมผัส คู่โท

ซึ่งทั้งสองแผนผัง นี้ก็คือ อย่างเดียว กัน แล้วแต่ใครจะดูแบบไหนถนัด 
และเข้าใจได้ง่ายกว่า ก็เชิญ นะครับ 

โคลงสี่สุภาพที่มีรูปวรรณยุกต์ตรงตามบังคับนั้นมีตัวอย่างอยู่หลายเรื่อง 
เช่น ลิลิตพระลอ โคลงนิราศนรินทร์ โคลงนิราศพระประธม เป็นต้น 
ตัวอย่างจากหนังสือจินดามณี พระนิพนธ์ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ว่าดังนี้

  ๐ นิพนธ์กลกล่าวไว้      เป็นฉบับ 
พึงเพ่งตามบังคับ            ถี่ถ้วน 
เอกโทท่านลำดับ             โดยที่ สถิตนา 
ทุกทั่วลักษณะล้วน           เล่ห์นี้คือโคลง

คราวนี้ขอแค่นี้ ก่อน นะครับ คราวต่อไป จะมาต่อเรื่องการสัมผัส และสร้อย โคลงต่อไป 


คนกุลา  (เรียบเรียง)

ในเหมันต์ 

ขอบคุณที่มา : 

http://www.st.ac.th/thaidepart/poemt2.php#chan6 
http://www.st.ac.th/bhatips/klong.htm
http://th.wikipedia.org/wiki				
9 ธันวาคม 2552 13:11 น.

**การฝึกเขียนโคลงสี่สุภาพ**

คนกุลา

เขียนในฐานะนักเรียน ที่กำลังสนใจเขียน "โคลง"นะครับ		
	ผมเองนั้นฝึกเขียนโคลงมาสักระยะหนึ่งเห็นจะได้
ก็โดยการนำเอาความรู้ที่เคยเรียนมาสมัยมัธยม มาผสมผสานกับ
ความรู้ที่ไปหาอ่านเอาตามเว็ปต่างๆที่มีให้ค้นคว้าอยู่ทั่วไป เขียนไป 
เขียน ก็เห็นว่า บทกวีประเภท โคลง ประเภทต่างๆนั้นมีอะไรน่าสนใจ
อยู่ไม่น้อย ก็เลยไปพยายามค้นคว้าเพิ่มเติม เพื่อให้ทราบหลักการพื้น
ฐานในการพัฒนาการเขียน โคลงของตนเอง 

	ดังนั้นการเขียนกระทู้ครั้งนี้ ผมต้องขอออกตัวก่อน
นะครับ ผมเขียนในฐานะผู้สนใจเรียน และเขียน โคลง โดยเฉพาะ
โคลงสี่สุภาพ เป็นเบื้องต้น สำหรับท่านผู้รู้ หากเห็นว่าเนื้อหาบทกระทู้
นี้ส่วนใด เนื้อหาไหน ผิดพลาด หรืดขาดตกบกพร่อง กรุณาติติง และ
ต่อเติม ด้วยจะเป็นพระคุณยิ่ง ทั้งกับผม และผู้ที่สนใจการเขียนโคลง
ท่านอื่นๆ

	กำเนิดและวิวัฒนาการ
 	การแต่งโคลงนั้น จะมีการคิดแต่งเมื่อครั้งไรไม่ปรากฏ 
มีเค้าเงื่อนแต่ว่าโคลงนั้นดูเหมือนจะเป็นของพวกไทยข้างฝ่ายเหนือคิดขึ้น
มีกำหนดอักษรนับเป็นบาทสองบาท สามบาท สี่บาท เป็นบทเรียกว่าโคลงสอง
โคลงสาม โคลงสี่ โคลงเก่า ๆ มีที่รับสัมผัสและที่กำหนดใช้อักษรสูงต่ำน้อย
แห่ง แต่มามีบังคับมากขึ้นภายหลัง เห็นจะเป็นเมื่อพวกไทยข้างฝ่ายใต้ได้รับอย่างมาแต่ง

ประดิษฐ์แต่งต่อเติมเพิ่มขึ้น
  
	สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ 
ท่านทรงสันนิษฐานว่าชาวไทยล้านนาเป็นผู้ประดิษฐ์โคลงขึ้น และชาวไทย
ทางใต้คือชาวกรุงศรีอยุธยารับไปดัดแปลงจนพิสดารขึ้นหลักฐานที่แสดงว่า
ชาวล้านนาสนใจและนิยมแต่งโคลงมาแต่โบราณแล้วคือ จินดามณีซึ่งกล่าวถึงโคลงลาว

ประเภทต่าง ๆ อันได้แก่ 
1) พระยาลืมงายโคลงลาว 
2) อินทร์เกี้ยวกลอนโคลงลาว 
3) พวนสามชั้นโคลงลาว 
4) ไหมยุ่งพันน้ำโคลงลาว และ 5) อินทร์หลงห้อง
	ในส่วนที่การกล่าวถึง โคลงลาว นั้น ต้องเข้าใจว่า คำว่า ลาว 
ข้างต้น หมายถึง ชาวล้านนา ชาวอยุธยาแต่ก่อนเรียกรวมทั้งชาวล้านนาและ
ชาวล้านช้างว่าลาว โดยมักเรียกชาวล้านนาว่า"ลาวยวน" ซึ่งหมายถึงชาว
เมืองโยนกนคร

	วรรณคดีของชาวไทยฝ่ายใต้เรื่องแรกที่ปรากฏโคลงคือ 
ลิลิตโองการแช่งน้ำอันแต่งด้วยโคลงห้าและร่ายดั้นสลับกัน กับทั้งยังเป็น
วรรณคดีเรื่องเดียวที่ปรากฏโคลงห้าอีกด้วย ในสมัยต่อมาโคลงก็ได้ปรากฏ
อยู่ในวรรณกรรมไทยมากหลายเรื่อง ตราบจนถึงปัจจุบัน อนึ่ง มีข้อสังเกต
ว่าชาวไทยนิยมโคลงอย่างยิ่ง เนื่องจากโคลงปรากฏในวรรณกรรมไทยส่วน
ใหญ่ อันนี้ว่าด้วยสมัยที่ผ่านๆมา นะครับ หากในปัจจุบัน ผมสังเกตุเห็นว่า
ผู้รักการประพันธ์โคลง ค่อนข้างจะกังวลใจ ว่าในอนาคต โคลงอาจไม่เป็น
ที่สนใจ ของคนรุ่นใหม่ จนกระทั่งอาจจะค่อยๆสูญหายไป ซึ่งก็จะน่าเสียดาย
อย่างภมิปัญญา ในส่วนนี้เป็นอย่างยิ่ง

	ประเภทของโคลง
โคลงแบ่งเป็นสามประเภทใหญ่และแต่ละประเภทใหญ่ยังแบ่งย่อยลงไปอีกดังต่อไปนี้

1. โคลงโบราณ ซึ่งมีการแบ่งย่อยลงไปเป็นโคลงประเภทต่างๆดังนี้

1.1 โคลงวิชชุมาลี
1.2 โคลงมหาวิชชุมาลี
1.3 โคลงจิตรลดา
1.4 โคลงมหาจิตรลดา
1.5 โคลงสินธุมาลี
1.6 โคลงมหาสินธุมาลี
1.7 โคลงนันททายี
1.8 โคลงมหานันททายี
1.9 โคลงห้า โคลงมณฑกคติ หรือโคลงกบเต้น 

2. โคลงดั้น ซึ่งมีการแยกย่อยออกไปได้เป็น

2.1 โคลงสองดั้น
2.2 โคลงสามดั้น
2.3 โคลงสี่ดั้นวิวิธมาลี
2.4 โคลงสี่ดั้นบาทกุญชร
2.5 โคลงสี่ดั้นตรีพิธพรรณ
2.6 โคลงสี่ดั้นจัตวาทัณฑี 

3. โคลงสุภาพ ส่วนนี้ผมจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะ โคลงสี่สุภาพที่ผมสนใจ
ค้นคว้าได้ถูกจัดกลุ่มอยู่ในประเภทนี้ โคลงสุภาพ แบ่งย่อยออกไป เป็น

3.1 โคลงสองสุภาพ
3.2 โคลงสามสุภาพ
3.3 โคลงสี่สุภาพ
3.4 โคลงตรีพิพิธพรรณ
3.5 โคลงจัตวาทัณฑี
3.6 โคลงกระทู้ หรือโคลงสี่กระทู้ 

	เขียนมาเสียยาวก็เพิ่งจะถึง ชื่อหัวเรื่อง เดี๋ยว คราวหลังผมจะมาเขียนต่อนะครับ
ซึ่งคงจะได้เข้าเรื่อง โคลงสี่สุภาพ ละครับคราวนี้

คนกุลา

คราเหมันต์

ขอบคุณที่มา : 

http://www.st.ac.th/thaidepart/poemt2.php#chan6 

http://www.st.ac.th/bhatips/klong.htm
http://th.wikipedia.org/wiki				
25 พฤศจิกายน 2552 22:35 น.

"สัมผัสเผลอ" และ "สัมผัสเพี้ยน"

คนกุลา

สัมผัสเผลอ หรือ สัมผัสเสียง คือ สัมผัสระหว่างคำที่ผสมสระเสียงสั้น (รัสสระ) กับสระเสียงยาว (ฑีฆสระ) เช่น น้ำ กับ ความ, จ้าว กับ เจ้า, กาย กับ ใต้, ย้ำ กับ ยาม เป็นต้น อันนี้เป็นปัญหาของผมในระยะแรกๆอยู่บ่อยเหมือนกัน เช่น 

แสงจันทร์เพ็ญเย็นนวลพาหวนย้ำ    คิดถึงยามเคยได้ชิดใกล้ขวัญ 

คำว่า ย้ำ ไม่สามารถ สัมผัส กับ ยาม ได้ เพราะสระ คนละเสียงกัน สระ อำ เป็นสระเสียงสั้น ส่วนยาม เป็นคำผสมกับสระ อา ที่เป็นสระเสียง ยาว การสัมผัสเผลอแบบนี้ เกิดขึ้น เพราะความเข้าใจผิด ว่า สระอำ ไอ ใอ เอา เป็นสระเสียงยาว ทั้งที่จริงแล้ว อำ ไอ ใอ เอา เป็น สระเกิน เสียงสั้น ดังนั้น การไปเผลอนำไป สัมผัส กับคำที่ผสมกับสระเสียงยาว จึง ผิด หลักของกลอนแปด  มีบางท่านก็อนุโลมคำว่าย้ำ กับ ยาม ว่าสามารถสัมผัสกันได้ เพราะ ว่าเป็นสระเสียงยาวเหมือนกัน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด นะครับ ไม่ว่าจะพิจารณาโดยยึดหลัก หรือ ยึดเสียง

สัมผัสเพี้ยน คือสัมผัสคำที่ไม่มีเสียงสระใกล้เคียงกัน แต่ความจริงเป็นสระคนละรูป เช่น กำ กับ กัน เวง กับ เดน หรือ เลง กับ เร้น เป็นต้น อันนี้ผู้ที่สันทัดแต่งกลอนหน่อยไม่มีปัญหา เพราะสัมผัสแบบนี้เรียกว่าไม่สัมผัสเลยก็ว่าได้  แต่สำหรับคนแต่งกลอนใหม่ อาจผิดตรงนี้ เพราะอาจจะไม่เข้าใจ ความหมาย และตำแหน่งของสัมผัส เช่นตัวอย่างต่อไปนี้ เป็นสัมผัสเพี้ยน หรือ ไม่มีสัมผัสนะครับ
 
ในไพรทึบแห่งแดนพราย                นางเร้นกายอย่างเงียบ(งัน)
เบเรนหมองเศร้าเหลือ(ล้ำ )             ฟังเสียงไพร(วัล)อันวัง(เวง)
บ่อยคราเบ(เรน)ได้ยินเสียงแว่ว        เสียงฝีเท้าแผ่วดั่งใบลิน(เดน)
แต่เสียงครืนครางใต้หล้าบรร(เลง)    กลับกระหึ่มในโพรง(เร้น)รับตา 


คนกุลา

ในเหมันต์				
25 พฤศจิกายน 2552 11:19 น.

วิพากษ์ "คนกุลา" ว่าด้วย"สัมผัสเกิน"

คนกุลา

สัมผัสเกิน  เป็นคำสัมผัสที่เกินมาใน วรรค รับ และวรรค ส่ง เป็นคำสัมผัส
ที่อยู่คำที่ สี่ ของวรรค ซึ่งเป็นสัมผัส ในที่ไป สัมผัสกับคำที่สาม ของวรรค
ดังกล่าว ที่ต้องรับกับวรรค สดับ หรือ วรรค รอง อยู่แล้ว ท่านเรียก สัมผัส 
ชนิด นี้ ว่า "สัมผัสเกิน"

     วาสนา ดาวเรือง บอกว่า สัมผัสเกิน หมายถึง คำสัมผัสที่อยู่ติดกัน

    ไม่เคยคิดบิดเบือนว่าเพื่อนเบ่ง         ถึงเพื่อนเบ่งเคร่ง(๑)ครัดไม่ขัดขวาง
      จะคิดแปลกแหกออกไปนอกทาง       ใจก็วางอย่าง (๒)นั้นไม่ผันแปร

คำว่า"เบ่ง"จะสัมผัสกับคำว่า "เก่ง" แต่มีคำว่า"เคร่ง" อยู่ติดกัน ซึ่งเกินเข้า
มา คำ เคร่ง นี้ เป็นสัมผัสเกิน

          ส่วน Anna_Hawkins ที่อ้างถึง งานของ ช่อประยง บอกว่า สัมผัส
เกิน หมายถึงการใช้คำที่มีเสียงสระหรืออักษรอยู่ชิดกันในวรรค มีทั้งสัมผัส
เกินสระ และสัมผัสเกินอักษร แต่เกินอักษรไม่ถือว่าเป็นข้อห้าม และใช้กันทั่ว
ไป สัมผัสเกินสระนั้นก็ไม่ผิดแต่นักกลอนรุ่นหลังไม่ค่อยนิยมกันเพราะไม่
เพราะ 

ไม่เคยคิดบิดเบือนว่าเพื่อนเบ่ง ถึงเพื่อนเก่งเคร่งครัดไม่ขัดขวาง
จะคิดแปลกแหวกออกไปนอกทาง ใจก็วางอย่างนั้นไม่ผันแปร 

           อันนี้ท่านสุนทรภู่ใช้บ่อย ในหนังสือบอกถึงเหตุผลต่างๆนานาที่อ้างว่า
ใช้ได้ และเขาเองนั้นอ่านยังไงก็ไม่เห็นว่าสัมผัสเกินนี้มีปัญหาแต่ประการใด 
ซึ่งความเห็นนี้ ก็ตรง กับ ร้อยคำหอม และร้อยคำหอม ถือว่าสัมผัสชนิดนี้ยัง
พอให้อภัยได้เพราะอาจไม่เจตนาหรืออาจมีเจตนาเพื่อ ย้ำคำหน้าให้เด่น , 
ขยายความให้ชัด , เป็นกลุ่มคำคล้องจอง , เป็นคำสัมผัสที่แยกไม่ออก
 
           เท่าที่ผม ไปศึกษา ดูและ ทบทวนประสบการณ์ของตนเองแล้ว สัมผัส
เกิน นี้ มาจาก หลักการในการเขียนสัมผัสใน มักจะให้ คำที่ สาม สัมผัสกับ
คำที่ สี่    และ คำที่ ห้า สัมผัส กับ คำที่ เจ็ด โดยที่เป็นที่นิยมกัน หาก สัมผัส
ดังกล่าวนี้ อยู่ในวรรค สดับ (วรรค ที่ ๑ )และวรรค รอง (วรรค ที่ ๓ ) ก็จะถือ
ว่า เป็นสัมผัสตามแนวนิยม

            แต่หากไปใช้ หลัก สัมผัสนี้ ใน วรรค รับ (วรรค ที่ ๒ )และวรรค ส่ง 
(วรรค ที่ ๔ ) ก็จะกลายเป็น สัมผัสเกิน ไป ทั้งนี้เพราะ คำที่ สาม ของ วรรค 
รับและ วรรค ส่ง ต้องรับ สัมผัส กับวรรค สดับ และ วรรค รอง อยู่แล้ว 

            โดย ส่วนตัวผมเอง เขียน กลอน ที่ผ่านมาก็มีสัมผัสเกิน ทั้ง 
สัมผัสเกินอักษร และสัมผัสเกินสระ ค่อนข้างมาก จึงขอ ศึกษางานของคน
กุลา ว่าด้วยสัมผัส เกิน เพื่อการเรียนรู้  กันนะครับ หวังว่าคงไม่ว่ากัน ผมยก
กลอนเริงสายธาร ของคนกุลา มาเป็นกรณี ศึกษา เฉพาะสัมผัสสระ ที่เป็น
สัมผัสเกินนะครับ

            
                     เริงสายธาร

๐ แว่วคำวอนอ่อนหวานสายธารรัก
ใครนะถักทอร้อยสร้อยสายขวัญ
ปานรินธารน้ำใจส่งให้กัน
หวังคำมั่นควั่น (๑)เกลียวเกี่ยวเคียงปอง

๐  กล่าวเป็นนัยใบไม้กับสายน้ำ
ที่เน้นย้ำความหมายคลายหมางหมอง
โลมสายธารม่านรักถักไยทอง
หวังเพียงครองคู่ข้างไม่ห่างไกล

  ๐ ใบไม้ปลิวลิ่วคว้างลาร้างต้น
ร่อนล่วงหล่นลงผ่านธารน้ำไหล
สืบเรื่องราวเล่าขานตำนานไพร
สบัดใบลอยลมพรมนที

  ๐ ลำนำใจในธารรินสาส์นรัก
ชั้นเพิงพักผุดพรายร่ายวิถี
สายธารใดใครเอ่ยเผยวจี
ร้อยวลีกวี (๒)จารธารเว้าวอน

  ๐ กรองคำกล่าวเล่าเรื่องเมืองใบไม้
จากแดนไกลใน(๓)เขาเนาว์สิงขร
โรยลาร่างพร่างใบในวันจร
ลงออดอ้อนแอบว่ายสายน้ำวน

  ๐ ระเริงรำฉ่ำใบในสายน้ำ 
ล่องผุดดำร่ำ(๔)ระบายอาบสายฝน
ควะคว้างควงร่วงพริ้วปลิวเพียงยล
เหมือนต้องมนต์ใบไม้ร่ายระบำ

  ๐ ใบไม้เรียมเทียมหมายคล้ายคู่ชื่น
มิเป็นอื่นแอบหวามรักงามขำ
จะถนอมนวลนางอย่างเคยทำ
ด้วยภักดิ์ย้ำเยี่ยงใบไม้เริงสายธาร..ฯ

  ๐ แว่วคำวอนร่อนร่ายสายธารรัก
ใครนะถักทอย้ำคำแสนหวาน
พากษ์ไพเราะเสนาะเสียงสำเนียงกานท์
เห่ขับขานกล่อมหทัยให้อุ่นอิง..ฯ

...... 

คนกุลา
ในวสันต์

            วิพากษ์ คนกุลา ในบท เริงสายธาร  ว่าด้วยสัมผัสเกิน ก็จะพบ สัมผัส
เกินสระถึง ๔ ที่ 

              ส่วนตัวผมมองว่าการเขียน สัมผัสเกิน นั้นทำให้ กลอน พลิ้วไหว 
สวยงามมากขึ้น แต่มีข้อเสีย อยู่ สองสามอย่าง คือ

               ๑.	เกิดอาการ ที่ กวี ต้องเร่ไปหาสัมผัส แทนที่ สัมผัส จะมา
หากวี ซึ่งเป็นข้อแนะนำของครูบาอาจารย์ ท่านว่าไว้ เพราะว่าหลายครั้งสัมผัส
เกินเหล่านี้ มาในตอนเกลากลอน ที่พยายามหาคำสัมผัสสระมาเปลี่ยนจากคำ
ในร่าง ซึ่งคำเดิมในร่างบทกลอนตอนแรก อาจจะตรงใจผู้เขียนมากกว่าคำ
สัมผัสเกิน ที่ปรับตอนหลังเสียอีก คือ คำ ในร่างแรก เป็นการที่ สัมผัส เดินมา
หาผมโดยตรง
                ๒.	 หลายครั้งที่ การคำนึงถึงสัมผัสเกินเหล่านี้มากไป อาจทำให้
กลอนถูกจำกัด พลังแห่งจินตนาการของผู้ประพันธ์มากจนเกินไป เป็นเหตุให้
กลอนขาดพลังในการถ่ายทอดเนื้อหาความคิดที่ต้องการออกไป แต่หากกวี
ท่านใดสามารถทำได้และรักษาพลังจินตนาการไว้ได้ ก็น่าจะใช้สัมผัสเกินได้
                 ๓.	ประเด็นนี้ไม่สำคัญนัก แต่เป็นปัญหาของคนกุลาเอง คือ เสีย
เวลามากขึ้นในการขัดเกลากลอน หากทำไปแล้วเกิดผลดี ก็ควรทำ แต่หาก
ทำแล้วทำให้พลังจินตนาการกลับลดลง ก็เห็นว่าคงต้องกลับไปทบทวนตนเอง
ให้มากขึ้น 

                 ที่วิพากษ์ นี้เป็นประสบการณ์ของคนกุลาเองนะครับ ท่านอื่นอาจ
จะไม่ได้มีปัญหาดังกล่าวนี้ และหากท่านใด มีความเห็น อย่างไร ผมก็ยินดี 
รับฟัง นะครับ

             ปล. ที่ ท่านพี่ แก้วประเสริฐ ติงผมเรื่อง สัมผัสซ้อน นั้น อันที่จริง
แล้ว น่าจะเป็นสัมผัสเกิน นี้ นะครับ ก็ต้องขอขอบคุณ ท่านพี่แก้วฯไว้อีกครั้งนะครับ           


คนกุลา

ในเหมันต์				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟคนกุลา
Lovings  คนกุลา เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟคนกุลา
Lovings  คนกุลา เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟคนกุลา
Lovings  คนกุลา เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงคนกุลา