28 สิงหาคม 2553 22:12 น.

**ร่าย**

คนกุลา

ร่ายเป็นร้อยกรองแบบหนึ่ง มีสี่ประเภทได้แก่ ร่ายยาว ร่ายสุภาพ ร่ายดั้น และร่ายโบราณ 
ความหมายและลักษณะ
คำร่าย "ร่าย" แปลว่า อ่าน เสก หรือ เดิน 
ร่าย คือ คำประพันธ์ประเภทร้อยกรองแบบหนึ่งที่แต่งง่ายที่สุด และมีฉันทลักษณ์น้อยกว่าร้อยกรองประเภทอื่น ถ้าพิจารณาให้ดีจะพบว่าร่ายมีลักษณะใกล้เคียงกับคำประพันธ์ประเภทร้อยแก้วมาก เพียงแต่กำหนดคำที่คล้องจองและบังคับวรรณยุกต์ในบางแห่ง  เป็นคำประพันธ์ที่มิได้กำหนดจำนวนบาท หรือจำนวนวรรค ในแต่ละบทจะแต่งให้ยาว เท่าไรก็ได้ เป็นแต่ต้อง เรียงคำ ให้คล้องจองกัน ตามข้อบังคับ เท่านั้น ร่ายบางชนิดกำหนดคำเอกคำโทในตอนจบเหมือนโคลงสอง หรือโคลงสาม  อาจมีร่ายบางชนิดกำหนดจำนวนคำและสัมผัสให้คล้องจองกัน ดังจะได้กล่าวต่อไป 

กำเนิดและวิวิฒนาการ
รูปแแบบของร่ายปรากฏครั้งแรกในคัมภีร์กาพยสารวิลาสินี ชื่อวชิรปันตี และปรากฏในวรรณคดีไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) สันนิษฐานว่าร่ายเป็นของไทยแท้ มีมาแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง ด้วยปรากฏหลักฐานครั้งแรกในวรรณคดีสุโขทัยคือสุภาษิตพระร่วง และต่อมาจึงปรากฏเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในวรรณคดีอยุธยาเรื่องโองการแช่งน้ำในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑
พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) สันนิษฐานว่าร่ายเป็นของไทยแท้ เพราะคนไทยนิยมพูดเป็นสัมผัสคล้องจอง ดังปรากฏประโยคคล้องจองในสำนวนศิลาจารึกพ่อ ขุนรามคำแหง กาพย์พระมุนีเดินดงของภาคเหนือ และคำแอ่วของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ยังสันนิษฐานว่า คำว่า "ร่าย" ตัดมาจาก "ร่ายมนต์" สังเกตจากโองการแช่งน้ำที่มีร่ายดั้นปรากฏเป็นเรื่องแรกและมีเนื้อหาเป็นคำประกาศในการดื่มน้ำสาบาน
วิวัฒนาการของร่ายน่าจะเริ่มจากสำนวนคล้องจองในศิลาจารึกและ ความนิยมพูดคล้องจองของคนไทยแต่โบราณ ในบทที่พระภิกษุใช้เทศนาก็ปรากฏลักษณะการคล้องจองอยู่ เป็นการรับส่งสัมผัสจากวรรคหน้าไปยังวรรคถัดไป โดยไม่ได้กำหนดความสั้นยาวของพยางค์อย่างตายตัว ซึ่งลักษณะนี้ใกล้เคียงกับร่ายประเภท "ร่ายยาว" มากที่สุด จึงมีการสันนิษฐานว่า ร่ายยาวเป็นร่ายที่เกิดขึ้นในอันดับแรกสุด ต่อมาจึงเกิด "ร่ายโบราณ" ซึ่งกำหนดจำนวนพยางค์และจุดสัมผัสคล้องจองตายตัว และตามมาด้วย "ร่ายดั้น" ซึ่งมีการประยุกต์กฎเกณฑ์ของโคลงดั้นเข้ามา สุดท้ายจึงเกิด "ร่ายสุภาพ" ซึ่งมีการประยุกต์กฎเกณฑ์ของโคลงสุภาพเข้ามา
ประเภท
ร่าย แบ่งออกเป็น ๔ ชนิด คือ  
๑. ร่ายยาว  
๒. ร่ายโบราณ  
๓. ร่ายดั้น  
๔. ร่ายสุภาพ 

ฉันทลักษณ์
1. ร่ายยาว
 
ร่ายยาว คือ ร่ายที่ไม่กำหนดจำนวนคำในวรรคหนึ่ง ๆ แต่ละวรรคจึงอาจมีคำน้อยมากแตกต่างกันไป การสัมผัส คำสุดท้ายของวรรคหน้าสัมผัสกับคำหนึ่งคำใดในวรรคถัดไป   การแต่งร่ายยาว ต้องรู้จัก เลือกใช้ ถอยคำ และสัมผัสใน ให้มีจังหวะ รับกันสละสลวย เมื่ออ่านแล้ว ให้เกิด ความรู้สึก มีคลื่นเสียง เป็นจังหวะๆ อย่างที่เรียกว่า "เสียงดิ้น" หรือ "เสียงมีชีวิต" และจำนวนคำ ที่ใช้ ในวรรคหนึ่ง ก็ไม่ควรให้ยาว เกินกว่าช่วง ระยะหายใจ ครั้งหนึ่งๆ คือ ควรให้อ่าน ได้ตลอดวรรค แล้วหยุดหายใจได้ โดยไม่ขาดจังหวะ ดูตัวอย่างได้ ในหนังสือ เวสสันดรชาดก   ร่ายยาวนี้ ใช้แต่งเทศน์ หรือบทสวด ที่ต้องว่า เป็นทำนอง เช่น เทศน์มหาชาติ และเทศน์ธรรมวัตร เป็นต้น เมื่อจบความ ตอนหนึ่งๆ มักลงท้ายด้วย คำว่า นั้นแล นั้นเถิด นี้แล ฉะนี้แล ด้วยประการฉะนี้ คำนั้นแล นิยมใช้เมื่อ สุดกระแสความตอนหนึ่งๆ หรือจบเรื่อง เมื่อลง นั้นแล ครั้งหนึ่ง เรียกว่า "แหล่" หนึ่ง ซึ่งเรียกย่อ มาจากคำ นั้นแล นั่นเอง เพราะเวลาทำนอง จะได้ยินเสียง นั้นแล เป็น นั้นแหล่ 
รูปแบบผังทางฉันทลักษณ์ของร่ายยาว
 
ตัวอย่าง โพธิสตฺโต สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ อันสร้างสมดึงส์ปรมัตถบารมี เมื่อจะรับวโรรัตนเรืองศรีแปดประการ แด่สำนักนิท้าวมัฆวานเทเวศร์ ก็ทูลแก่ท้าวสหัสเนตรฉะนี้ กาพย์มหาชาติ สักรบรรพ

2. ร่ายโบราณ
 
ร่ายโบราณ คือ ร่ายที่กำหนดให้วรรคหนึ่งมีคำห้าคำเป็นหลัก บทหนึ่งต้องแต่งให้มากกว่าห้าวรรคขึ้นไป การสัมผัส คำสุดท้ายของวรรคหน้าสัมผัสกัลคำที่หนึ่ง สอง หรือสาม คำใดคำหนึ่งของวรรคถัดไป และยังกำหนดอีกว่า หากส่งด้วยคำเอก ต้องสัมผัสด้วยคำเอก คำโทก็ด้วยคำโท คำตายก็ด้วยคำตาย ในการจบบทนั้น ห้ามไม่ให้ใช้คำที่มีรูปวรรณยุกต์ประสมอยู่เป็นคำจบบท อาจจบด้วยถ้อยคำ และอาจแต่งให้มีสร้อยสลับวรรคก็ได้
รูปแบบผังทางฉันทลักษณ์ของร่ายโบราณ
 

ตัวอย่าง: 
 
________________________________________



ตัวอย่าง ...พระบาทเสด็จ บ มิช้า พลหัวหน้าพะกัน แกว่งตาวฟันฉฉาด แกว่งดาบฟาดฉฉัด ซ้องหอกซัดยยุ่ง ซ้องหอกพุ่งยย้าย ข้างซ้ายรบ บ มิคลา ข้างขวารบ บ มิแคล้ว แกล้วแลแกล้วชิงข้า กล้าแลกกล้าชิงขัน รุมกันพุ่งกันแทง เข้าต่อแย้งต่อยุทธ์ โห่อึงอุดเอาชัย เสียงปืนไฟกึกก้อง สะเทือนท้องพสุธา หน้าไม้ดาปืนดาษ ธนูสาดศรแผลง แข็งต่อแข็งง่าง้าง ช้างพะช้างชนกัน ม้าผกผันคลุกเคล้า เข้ารุกรวนทวนแทง รแรงเร่งมาหนา ถึงพิมพิสารครราช พระบาทขาดคอช้าง ขุนพลคว้างขวางรบ กันพระศพกษัตริย์ หนีเมื้อเมืองท่านไท้ ครั้นพระศพเข้าได้ ลั่นเขื่อนให้หับทวาร ท่านนา
ตัวอย่างแบบมีสร้อยสลับวรรค เจ้าเผือเหลือแผ่นดิน นะพี่ หลากระบิลในแหล่งหล้า นะพี่ บอกแล้วจะไว้หน้าแห่งใด นะพี่ ความอายใครช่วยได้ นะพี่ อายแก่คนไสร้ท่านหัว นะพี่ แหนงตัวตายดีกว่า นะพี่ สองพี่อย่าถามเผือ นะพี่ เจ็บเผื่อเหลือแห่งพร้อง โอเอ็นดูรักน้อง อย่าซ้ำจำตาย หนึ่งรา.
— ลิลิตพระลอ
3. ร่ายดั้น
 
          ร่ายดั้น คือ ร่ายที่กำหนดคำในวรรคและการสัมผัสเหมือนร่ายโบราณ แต่ไม่เคร่งเรื่องการรับสัมผัสระหว่างชนิดคำ คือ คำเอกไม่จำเป็นต้องรับด้วยคำเอก เป็นต้น ส่วนการจบบท ใช้บาทที่สามและสี่ของโคลงดั้นมาปิดท้ายบท และอาจแต่งให้มีคำสร้อยสลับวรรคก็ได้
ร่ายดั้น ปรากฏครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ในวรรณคดีเรื่องลิลิตยวนพ่าย ทวาทศมาส กำสรวลโคลงดั้น แล้วต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีในนิราศตามเสด็จลำน้ำน้อย และลิลิตนารายณ์สิบปาง 
           ๑. คณะ ร่ายดั้น ๑ บทมี ตั้งแต่ ๕ วรรค ขึ้นไป ( ๔ วรรคสุดท้ายคือสองบาทท้ายของโคลงดั้น) วรรคหนึ่งมีตั้งแต่ ๓ คำ ถึง ๘ คำ ลงท้ายด้วยบาทที่ ๓ และบาทที่ ๔ ของโคลงสี่ดั้น
           ๒. สัมผัส มีสัมผัสส่งและสัมผัสรับเช่นเดียวกับร่ายสุภาพ แต่เนื่องจากจำนวนคำในแต่ละวรรคไม่แน่นอน สัมผัสจึงต้องเลื่อนตามจำนวนคำด้วย กล่าวคือ
                    ถ้ามีวรรคละ ๓-๔ คำ ควรรับสัมผัสที่คำที่ ๑-๒
                    ถ้ามีวรรคละ ๕ คำ ควรรับสัมผัสที่คำที่ ๑-๒  
                    ถ้ามีวรรคละ ๖ คำ ควรรับสัมผัสที่คำที่ ๑-๔
                    ถ้ามีวรรคละ ๗-๘ คำ ควรรับสัมผัสที่คำที่ ๑-๕
          ๓ คำสร้อย เช่นเดียวกับร่ายสุภาพ คือเติมได้ ๒ คำท้ายบท หรือเติมสร้อยระหว่างวรรคก็ได้        
รูปแบบผังทางฉันทลักษณ์ของร่ายดั้น

 
         
ตัวอย่าง: 
 

         ตัวอย่าง
                    ...เปรมใจราษฎร       กำจรยศโยค        ดิลกโลอาศรย
          ชยชยนฤเบนทรา                ทรงเดช                     (บาท ๓ โคลงสี่ดั้น)
          ฦๅส่งดินฟ้าฟุ้ง                     ข่าวขจร                    (บาท๔ โคลงสี่ดั้น)
                                                           (ลิลิตยวนพ่าย)


               ตัวอย่าง 
ศรีสุนทรประฌาม งามด้วยเบญจพิธ องค์ประดิษฐ์อุตดม อัญขยมประจงถวาย พร้อมด้วยกายวาจาจิต...มวลมารพ่ายแพ้สูญ สิ้นเสร็จ ทรงพระคุณล้ำล้น เลิศครู
— ลิลิตดั้นมาตาปิตุคุณคาถาบรรยาย - พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ)
 4. ร่ายสุภาพ
 	ร่ายสุภาพ ปรากฏครั้งแรกในวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอ สันนิษฐานว่าแต่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น
ร่ายสุภาพ คือ ร่ายที่กำหนดคำในวรรคและการสัมผัสเหมือนร่ายดั้นทุกประการ คือบทหนึ่งมี ๕ วรรคขึ้นไป วรรคหนึ่งมี ๕ คำ และลงท้ายแต่ละบทด้วยโคลงสองสุภาพและนิยมมีคำสร้อยปิดท้ายด้วย และอาจแต่งให้มีคำสร้อยสลับวรรคก็ได้
ลักษณะบังคับของร่ายสุภาพ
          ๑. คณะ ร่ายสุภาพ ๑ บท มี ตั้งแต่ ๕ วรรคขึ้นไป วรรคหนึ่งมี ๕ คำ บทหนึ่งจะมีกี่วรรคก็ได้ 
แต่เมื่อลงท้ายต้องจบด้วยโคลงสองสุภาพ
          ๒.สัมผัส มีสัมผัสจากวรรคหน้าไปยังสัมผัสรับในคำที่ ๑ ,๒,หรือ ๓ ของวรรคต่อไป วรรคที่อยู่
ข้างหน้าของ ๓ วรรคสุดท้าย จะส่งสัมผัสไปยังคำที่ ๑,๒ หรือ๓ ของบาทต้นในโคลงสองสุภาพ
          ๓. คำสร้อย เติมได้ ๒ คำ ท้ายบท เช่นเดียวกับโคลงสองสุภาพ 
       รูปแบบผังทางฉันทลักษณ์ของร่ายสุภาพ

 
ตัวอย่างร่ายสุภาพ
                    ข้าเก่าร้ายอย่าเอา      อย่ารักเหากว่าผม     อย่ารักลมกว่าน้ำ
          อย่ารักถ้ำกว่าเรือน      อย่ารักเดือนกว่าตะวัน      สบสิ่งสรรพโอวาท     
          ผู้เป็นปราชญ์พึงสดับ     ตรับตริตรองปฏิบัติ      โดยอรรถอันถ่องถ้วน    (โคลงสอง) 
          แถลงเลศเหตุเลือกล้วน     เลิศอ้างทางธรรม     แลนา ฯะ 
                                                            (สุภาษิตพระร่วง)
         ตัวอย่าง 
สรวมสวัสดิวิชัย เกริกกรุงไกรเกรียงยศ เกียรติปรากฏขจรขจาย สบายทั่วแหล่งหล้า ฝนฟ้าฉ่ำชุ่มชล ไพศรพณ์ผลพูนเพิ่ม เหิมใจราษฎร์บำเทิง...ประเทศสยามชื่นช้อย ทุกข์ขุกเข็ญใหญ่น้อย นาศไร้แรงเกษม โสตเทอญ
                      ลิลิตนิทราชาคริต - พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์
ตัวอย่าง: 
 


ผมเรียบเรียงขึ้นเพราะด้วยความสนใจใคร่รู้  โดยการไปค้นคว้าหาอ่านแล้วนำมาเรียบเรียงไว้ เผื่อใครสนใจจะได้อ่านและนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อๆไป นะครับ


คนกุลา

ในวสันต์




http://th.wikipedia.org/wiki
http://www.st.ac.th/bhatips/rai_poem.html
http://thaiarc.tu.ac.th/poetry/raay/index.html				
21 สิงหาคม 2553 13:52 น.

**กาพย์ห่อโคลง**

คนกุลา

กาพย์ห่อโคลง เป็นเป็นชื่อของบทประพันธ์  ที่มีลักษณะของคำประพันธ์ ที่แต่งกาพย์สลับกับโคลงสี่สุภาพ โดยที่นิยมมากคือ กาพย์ยานี ๑๑ กับ โคลงสี่สุภาพ ทั้งกาพย์และโคลงต้องมีเนื้อความอย่างเดียวกัน มี ๔ ลักษณะคือ 
หรือบางที ก็ให้คำต้นวรรค ของกาพย์ กับคำต้นบท ของโคลง เป็นคำเหมือนกัน ส่วนบัญญัติ หรือกฏข้อบังคับต่างๆ เหมือนกับ กฎของกาพย์ยานี และโคลงสี่สุภาพ ทั้งสิ้น
ตัวอย่างกาพย์ห่อโคลง
กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง
เที่ยวเล่นเป็นสุขเกษม....................แสนสิ่งสนุกปลุกใจหวัง
เร่ร่ายผายผาดผัง..........................หัวริกรื่นชื่นชมไพร

             สนุกเกษมเปรมหน้าเหลือบ..........ลืมหลัง
แสนสนุกปลุกใจหวัง.......................วิ่งหรี้
เดินร่ายผายผันยัง...........................ชายป่า
หัวร่อรื่นชื้นชี้..................................ส่องนิ้วชวนแล

๑. แต่งกาพย์ยานี ๑๑ บทนึง กับ โคลงสี่สุภาพ บทนึง สลับกันไป 

๑.แต่งกาพย์ยานีหนึ่งบท แล้วแต่งโคลงสี่สุภาพ ซึ่งมีเนื้อความเช่นเดียว กับกาพย์ยานี หนึ่งบท สลับกันไป ชนิดนี้ มักแต่งเป็นเรื่องสั้นๆ เป็นเชิงประกวดฝีปาก หรือสำนวน อย่างแต่งโคลงกระทู้ หรือกลอนกลบท ดังตัวอย่าง เช่น 
  
 


๒. แต่งโคลงสี่สุภาพ บทหนึ่ง กับ กาพย์ยานี ๑๑ บทหนึ่ง สลับกันไป (คล้ายกับประเภทที่หนึ่ง เพียงแต่นำเอาโคลงมาขึ้นก่อน)

 ผีเสื้อชมดอกไม้  โดย ณธีร์
(กาพย์ห่อโคลง)

                      ผีเสื้อชมดอกไม้             สวยใส 
                   สมดั่งหวังหฤทัย                ติดต้อง 
                   แดดแรงแผดแสงให้           ไหวหวั่น 
                   โอบปีกกำบังป้อง               ดอกไม้ได้เงา ฯ

                  ผีเสื้อ ชมดอกไม้             สดสวยใส ทั้งเธอสอง 
                  ผีเสื้อ สมใจปอง              ดอกไม้ ต้องตรึงตราใจ 
                  แดดแรง แผดแสงกล้า      ดอกไม้จ๋า อย่าหวั่นไหว 
                  ผีเสื้อ กำบังไว้                ให้ดอกไม้ ได้ร่มเอย ฯ

๓. แต่งโคลงสี่สุภาพ บทหนึ่ง กับ กาพย์ยานี ๑๑ หลายบท พรรณาข้อความยาวยืดไปเรื่อยจนกว่าจะพอใจ 
แบบที่ ๓ นี้ นิยมแต่งเป็นบทเห่เรือในพิธีกระบวนแห่ทางน้ำ เลยมีอีกชื่อว่า กาพย์ห่อโคลงเห่เรือ หรือ กาพย์เห่เรือ ผู้ประดิษฐ์ กาพย์เห่เรือ คือ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ หรือ เจ้าฟ้ากุ้ง กวีอีกท่านที่ตายเพราะรัก 

กาพย์เห่เรือนี้ เป็นที่นิยมต่อมาแพร่หลาย มีสารพัดจะเห่ชม เช่น เห่ชมกระบวนเรือ เห่ชมปลา เห่ชมไม้ เห่ชมนก เห่เรื่องกากี เห่บทสังวาส เห่ครวญ เห่เฉลิมพระเกียรติ เห่สรรเสริญคุณพระรัตนตรัย เห่ชมเครื่องคาว เห่ชมเครื่องหวาน เห่ชมเครื่องว่าง เห่ชมผลไม้ เห่ชมสวน เห่ชมโฉม เห่ชมพระนคร เห่ชมชายทะเล เห่ชมดอกไม้ ฯลฯ ตามแต่ความสนใจของผู้แต่ง 

หรือบางที ก็ให้คำต้นวรรค ของกาพย์ กับคำต้นบท ของโคลง เป็นคำเหมือนกัน ส่วนบัญญัติ หรือกฏข้อบังคับต่างๆ เหมือนกับ กฏของกาพย์ยานี และโคลงสี่สุภาพ ทั้งสิ้น 


ตัวอย่างเช่น 

กาพย์เห่เรือ พระนิพนธ์ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร

เห่ชมเรือกระบวน

โคลง
๏ ปางเสด็จประเวศด้าว          ชลาลัย 
ทรงรัตนพิมานชัย                 กิ่งแก้ว 
พรั่งพร้อมพวกพลไกร            แหนแห่ 
เรือกระบวนต้นแพร้ว             เพริศพริ้งพายทอง 


กาพย์

        พระเสด็จโดยแดนชล      ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย 
กิ่งแก้วแพร้วพรรณราย          พายอ่อนหยับจับงามงอน 
        นาวาแน่นเป็นขนัด        ล้วนรูปสัตว์แสนยากร 
เรือริ้วทิวธงสลอน                  สาครลั่นครั่นครื้นฟอง 
        เรือครุฑยุดนาคหิ้ว        ลิ่วลอยมาพาผันผยอง 
พลพายกรายพายทอง             ร้องโห่เห่โอ้เห่มา 
        สรมุขมุขสี่ด้าน             เพียงพิมานผ่านเมฆา 
ม่านกรองทองรจนา               หลังคาแดงแย่งมังกร 
        สมรรถชัยไกรกาบแก้ว   แสงแวววับจับสาคร 
เรียบเรียงเคียงคู่จร                 ดั่งร่อนฟ้ามาแดนดิน 
        สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย    งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์ 
เพียงหงส์ทรงพรหมินทร์          ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม 
        เรือชัยไวว่องวิ่ง              รวดเร็วจริงยิ่งอย่างลม 
เสียงเส้าเร้าระดม                    ห่มท้ายเยิ่นเดินคู่กัน 
        คชสีห์ทีผาดเผ่น             ดูดังเป็นเห็นขบขัน 
ราชสีห์ที่ยืนยัน                      คั่นสองคู่ดูยิ่งยง 
        เรือม้าหน้ามุ่งน้ำ            แล่นเฉื่อยฉ่ำลำระหง 
เพียงม้าอาชาทรง                   องค์พระพายผายผันผยอง 
        เรือสิงห์วิ่งเผ่นโผน         โจนตามคลื่นฝืนฝ่าฟอง 
ดูยิ่งสิงห์ลำพอง                      เป็นแถวท่องล่องตามกัน 
        นาคาหน้าดังเป็น            ดูเขม้นเห็นขบขัน 
มังกรถอนพายพัน                  ทันแข่งหน้าวาสุกรี 
        เลียงผาง่าเท้าโผน            เพียงโจนไปในวารี 
นาวาหน้าอินทรี                      มีปีกเหมือนเลื่อนลอยโพยม 
        ดนตรีมี่อึงอล                 ก้องกาหลพลแห่โหม 
โห่ฮึกครึกครื้นโครม                โสมนัสชื่นรื่นเริงพล 
        กรีธาหมู่นาเวศ               จากนคเรศโดยสาชล 
เหิมหื่นชื่นกระมล                    ยลมัจฉาสารพันมี 


เห่ชมปลา

โคลง

        พิศพรรณปลาว่ายเคล้า  คลึงกัน 
ถวิลสุดาดวงจันทร์                แจ่มหน้า 
มัตสยาย่อมพัวพัน                พิศวาส 
ควรฤพรากน้องช้า               ชวดเคล้าคลึงชม 


กาพย์

        พิศพรรณปลาว่ายเคล้า คิดถึงเจ้าเศร้าอารมณ์ 
มัตสยายังรู้ชม                    สาสมใจไม่พามา 
        นวลจันทร์เป็นนวลจริง เจ้างามพริ้งยิ่งนวลปลา 
คางเบือนเบือนหน้ามา         ไม่งามเท่าเจ้าเบือนชาย 
        เพียนทองงามดั่งทอง  ไม่เหมือนน้องห่มตาดพราย 
กระแหแหห่างชาย             ดั่งสายสวาทคลาดจากสม 
        แก้มช้ำช้ำใครต้อง      อันแก้มน้องช้ำเพราะชม 
ปลาทุกทุกข์อกกรม             เหมือนทุกข์พี่ที่จากนาง 
        น้ำเงินคือเงินยวง        ขาวพรายช่วงสีสำอาง 
ไม่เทียบเปรียบโฉมนาง       งามเรืองเรื่อเนื้อสองสี** 
        ปลากรายว่ายเคียงคู่     เคล้ากันอยู่ดูงามดี 
แต่นางห่างเหินพี่                เห็นปลาเคล้าเศร้าใจจร 
        หางไก่ว่ายแหวกว่าย   หางไก่คล้ายไม่มีหงอน 
คิดอนงค์องค์เอวอร             ผมประบ่าอ่าเอี่ยมไร 
        ปลาสร้อยลอยล่องชล   ว่ายเวียนวนปนกันไป 
เหมือนสร้อยทรงทรามวัย     ไม่เห็นเจ้าเศร้าบ่วาย 
        เนื้ออ่อนอ่อนแต่ชื่อ      เนื้อน้องฤๅอ่อนทั้งกาย 
ใครต้องข้องจิตชาย             ไม่วายนึกตรึกตรึงทรวง 
        ปลาเสือเหลือที่ตา        เลื่อนแหลมกว่าปลาทั้งปวง 
เหมือนตาสุดาดวง               ดูแหลมล้ำขำเพราคม 
        แมลงภู่คู่เคียงว่าย       เห็นคล้ายคล้ายน่าเชยชม 
คิดความยามเมื่อสม             สนิทเคล้าเจ้าเอวบาง 
        หวีเกศเพศชื่อปลา       คิดสุดาอ่าองค์นาง 
หวีเกล้าเจ้าสระสาง              เส้นเกศสลวยรวยกลิ่นหอม 
        ชะแวงแฝงฝั่งแนบ      ชะวาดแอบแปบปนปลอม 
เหมือนพี่แอบแนบถนอม       จอมสวาทนาฏบังอร 
        พิศดูหมู่มัจฉา             ว่ายแหวกมาในสาคร 
คะนึงนุชสุดสายสมร             มาด้วยพี่จะดีใจ 


เห่ชมไม้
โคลง

        เรือชายชมมิ่งไม้          มีพรรณ 
ริมท่าสาครคันธ์                   กลิ่นเกลี้ยง 
เพล็ดดอกออกแกมกัน          ชูช่อ 
หอมหื่นรื่นรสเพี้ยง              กลิ่นเนื้อนวลนาง 


กาพย์

        เรือชายชมมิ่งไม้         ริมท่าไสวหลากหลายพรรณ 
เพล็ดดอกออกแกมกัน          ส่งกลิ่นเกลี้ยงเพียงกลิ่นสมร 
        ชมดวงพวงนางแย้ม     บานแสล้มแย้มเกสร 
คิดความยามบังอร               แย้มโอษฐ์ยิ้มพริ้มพรายงาม 
        จำปาหนาแน่นเนื่อง     คลี่กลีบเหลืองเรืองอร่าม 
คิดคะนึงถึงนงราม               ผิวเหลืองกว่าจำปาทอง 
        ประยงค์ทรงพวงร้อย   ระย้าย้อยห้อยพวงกรอง 
เหมือนอุบะนวลละออง         เจ้าแขวนไว้ให้เรียมชม 
        พุดจีบกลีบแสล้ม         พิกุลแกมแซมสุกรม 
หอมชวยรวยตามลม            เหมือนกลิ่นน้องต้องติดใจ 
        สาวหยุดพุทธชาด        บานเกลื่อนกลาดดาษดาไป 
นึกน้องกรองมาลัย               วางให้พี่ข้างที่นอน 
        พิกุลบุนนาคบาน          กลิ่นหอมหวานซ่านขจร 
แม้นนุชสุดสายสมร               เห็นจะวอนอ้อนพี่ชาย 
        เต็งแต้วแก้วกาหลง       บานบุษบงส่งกลิ่นอาย 
หอมอยู่ไม่รู้หาย                   คล้ายกลิ่นผ้าเจ้าตาตรู 
        มะลิวัลย์พันจิกจวง         ดอกเป็นพวงร่วงเรณู 
หอมมาน่าเอ็นดู                    ชูชื่นจิตคิดวนิดา 
        ลำดวนหวนหอมตรลบ    กลิ่นอายอบสบนาสา 
นึกถวิลกลิ่นบุหงา                  รำไปเจ้าเศร้าถึงนาง 
        รวยรินกลิ่นรำเพย          คิดพี่เคยเชยกลิ่นปราง 
นั่งแนบแอบเอวบาง                ห่อนแหห่างว่างเว้นวัน 
        ชมดวงพวงมาลี              ศรีเสาวภาคย์หลากหลายพรรณ 
วนิดามาด้วยกัน                      จะอ้อนพี่ชี้ชมเชย
  
________________________________________
๔. กาพย์ขับไม้ห่อโคลง กาพย์ 

กาพย์ขับไม้ห่อโคลงแตกต่างจาก กาพย์ห่อโคลงอื่นๆที่ใช้แต่งโดยแทนที่จะใช้กาพย์ยานี  โดยแต่งด้วยกาพย์สุรางคนางค์๓๖ แล้วสลับโดยโคลงสี่สุภาพ สองบทซึ่งมีเนื้อความเช่นเดียว กับกาพย์สุรางคนางค์ สลับกันไป กาพย์ห่อโคลงชนิดนี้ เดิมทีจะใช้ร้องประกอบการขับไม้ ในงานสมโภช พิธี หลวง  แล้ววันหลังผมจะเขียนถึง กาพย์ห่อโคลงขับไม้นี้ โดยละเอียดอีก ครั้ง ครับ  (เพราะผมเองก็อยากรู้เหมือนกัน) กาพย์ขับไม้ห่อโคลงขับไม้ ขอยกตัวอย่าง เช่น
 
ตัวอย่าง:   
 


คิดถึงนวล(กาพย์ขับไม้ห่อโคลง)  โดย ดวงสมร

(กาพย์สุรางคนางค์๓๖)

จันทร์เอยฉันเศร้า.....ท่ามทะเลเหงา.....เข้าแดนความกล้า
เมฆเบียดบังเงา.....กลับคืนเหน็บหนาว.....หัวใจอ่อนล้า
ลมเจ้าเฉยชา.....ใยไม่พัดพา.....เห็นแก่ดาวจันทร์


จะโกรธเคืองขึ้ง.....น้อยใจใยจึง.....ถึงบดบังสวรรค์
สิ้นรักแล้วหรือ.....ดวงใจแสนซื่อ....อยู่ไปวันวัน
หัวใจร้าวราน.....หกล้มซมซาน.....นานคงเคียงนวล...


(โคลงสี่สุภาพ (เน้นโท๔))

จันทร์สกาวยามฟ้า.........เปิดใจ
โอบกอดเธอแนบไว้.......ตรงหน้า
นวลขาวแลเห็นไกล.......ฤดีกอด
ทอดแสงรักเครือฟ้า.......อวดแย้มยลยวน


เมฆายามตามถ้วน..........วิถี
มิบดบังฤดี....................นานได้
หากลมนำทำที..............อิดออด
คงมิกอดใครใกล้............หนาวร้ายจำทน

เป็นต้น

แหล่งอ้างอิง 
http://th.wikipedia.org/wiki 
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=natshen&month=04-2008&date=14&group=15&gblog=4
http://www.oknation.net/blog/ThaiTeacher/2009/11/06/entry-1
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=537735
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=duangsamone&date=15-01-2006&group=6&gblog=3
http://www.thaigoodview.com/node/49696				
11 กรกฎาคม 2553 13:45 น.

**กานท์พุดลาภา**

คนกุลา

กานท์พุดลาภา เป็นคำประพันธ์ประเภทหนึ่ง   ใช้แต่งสำหรับบรรยาย

เหตุการณ์ ตลอดจนบรรยายธรรมชาติ มีที่มาจากการสังเกตของผู้คิดขึ้น

สองประการ คือ ประการแรกมาจากการที่มักจะเห็นนักกลอนหลายท่าน

มักจะลงบทจบด้วย การย้ำบาทสุดท้ายอีกครั้ง  เพื่อเป็นการเน้นย้ำความ

รู้สึกของผู้อ่าน  ประการที่สอง ผู้คิดค้นมักจะพบว่านักอ่านรุ่นหลังๆมามักจะ

ชอบอ่านและเขียนกลอนเปล่า จึงเกิดแรงบันดาลใจ ที่อยากจะคิดค้นบท

ประพันธ์ที่ผสมผสานและบูรณาการฉันทลักษณ์ขึ้น จนกระทั่งได้ค้นคิดเป็น

ร้อยกรองชนิดใหม่ขึ้น และทดลองเขียนตามแนวการประพันธ์แบบนี้เผย

แพร่ในเว็ปบ้านกลอนไทย เว็ปโอเคเนชั่น ก็มีผู้อ่านจำนวนหนึ่งที่สนใจ

ได้ถามถึงที่ไปที่มา  และฉันทลักษณ์ผมก็ได้ตอบไปตามคำถามเหล่านั้น 

และเพื่อเป็นการสะดวกในการค้นคว้าแก่ผู้สนใจ ผมจึงได้รวบรวมมา


เขียนไว้ในกระทู้นี้อีกครั้ง ครับ

เนื่องจากเป็นคำประพันธ์  ที่เพิ่งคิดค้นขึ้นมาเขียนเผยแพร่ในระยะ 

1 ปี มานี่ จึงคงยังมีข้อที่จะพัฒนา ได้อีกมาก ผมยินดีจะรับฟังคำติชม  

วิพากษ์วิจารณ์ เพื่อนำมาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น ครับ 


    หลักเกณฑ์ทั่วไป-ฉันทลักษณ์ ในการเขียนกานท์พุดลาภานั้นมีดังนี้

๑ . ในหนึ่งบทนั้นจะมี  4 วรรค

วรรคแรกเรียกว่า วรรคสดับ
วรรคที่สองเรียกว่า วรรครับ
วรรคที่สามเรียกว่า วรรครอง
วรรคที่สี่ เรียกว่า วรรคลง
วรรคที่ห้า เรียกวรรคส่ง


คำสุดท้ายของวรรคแรก ควร เป็นเสียงสูง กลางหรือต่ำ 
คำสุดท้ายของวรรคที่สอง ควร เป็นเสียง สูง เสียงเดียว 
คำสุดท้ายของวรรคที่สาม ควร เป็นเสียงกลางหรือต่ำ
คำสุดท้ายของวรรคที่สี่ ควรเป็นเสียงสูง เสียงกลางหรือต่ำ
เสียงคำสุดท้ายของวรรคที่ห้า ควรเป็นเสียงสูง เสียงกลางหรือต่ำเท่านั้น(ห้ามเป็นเป็นเสียงต่ำคำตาย)
การหาเสียงว่าคำใดเป็นเสียง สูง กลาง หรือ ต่ำ สามารถเอาคำนั้นๆเข้าไปเทียบเสียงกับการผันพยัญชนะเสียงกลาง ดังนี้ กา ก่า ก้า ก๊า ก๋า เช่นคำว่า ค้า.......เทียบดังนี้ คา ค่า ค้า ค๊า........คำว่า “ค้า”รูปเป็นเสียงโทแต่เสียงนั้นเป็น “เสียงตรี” ตรงเสียงสระ ถ้าเป็น กา ก่า จัดเป็นเสียงต่ำส่วนเสียงสูงคือ ก๋า นอกนั้นจัดได้เป็นเสียงกลาง

๒. ในแต่วรรค จะมีคำไม่เท่ากัน คือ

วรรคแรกเรียกว่า วรรคสดับ  มี  ๕  คำ
วรรคที่สองเรียกว่า วรรครับ   มี  ๖  คำ
วรรคที่สามเรียกว่า วรรครอง  มี  ๗  คำ
วรรคที่สี่ เรียกว่า วรรคลง    มี  ๘  คำ
วรรคที่ห้า เรียกวรรคส่ง  มี   ๙   คำ


จะใช้คำเกินกว่ากำหนดได้บ้าง แต่ต้องเป็นคำที่ประกอบด้วยเสียงสั้น

๓.    สัมผัสนอก เป็น สัมผัสบังคับ  คือ สัมผัสระหว่างวรรค ระหว่างบท เป็นสัมผัสบังคับ ในตำแหน่งที่กำหนดของบทร้อยกรองแต่ละชนิด ซึ่งกำหนดไว้เป็นการเฉพาะตามแผนผังบังคับ สัมผัสนอกใช้เฉพาะสัมผัสสระเท่านั้น 

" สัมผัสนอก " ของกานท์พุดลาภา มีลักษณะดังนี้
การส่งสัมผัส คำที่ ๕  ของวรรคแรก สัมผัสกับคำที่ ๓ ของวรรคที่สอง คำที่ ๖ ของวรรคที่ ๒ และสัมผัสต่อกับคำที่ ๗ ของวรรคที่ ๓
คำ ที่ ๗ ของวรรคที่ ๓ สัมผัสกับคำที่ ๓ ของวรรคที่ ๔ และคำสุดท้ายของวรรคที่ ๔ สัมผัสกับคำที่สามของวรรคที่ห้า  
ส่วนคำสุดท้ายของวรรคที่ห้าจะส่งสัมผัสไปยังคำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ ของบทต่อไป


1   2    3      4   (5)   
1   2   (3)    4     5   ((6))   
1   2   3       4   5   6   ((7))   
1  2   ((3))   4   5   6   7   (((8)))
1  2   (((3)))   4   5   6   7   8  ((((9))))


1   2   3   4   5   
1   2   3   4   5   ((((6))))   
1   2   3   4   5   6   7   
1  2   3   4   5   6   7   8
1  2   3   4   5   6   7   8  9


๔. นิยมสัมผัสใน สัมผัสใน คือ สัมผัสที่ส่งและรับสัมผัสกันภายในวรรคเดียวกัน เป็นสัมผัสที่ไม่บังคับ สัมผัสในเป็นสัมผัสที่จะทำให้บทร้อยกรองนั้นไพเราะยิ่งขึ้น คำที่ใช้เป็นสัมผัสใน จะเป็นคำที่สัมผัสสระหรือสัมผัสอักษร ก็ได้  สัมผัสใน โดยทั่วไปไม่ได้บังคับว่าจะต้องมีหรือไม่ แต่ถ้าหากมีจะทำให้กลอนไพเราะมากยิ่งขึ้นแต่ถ้าไม่มีก็สามารถทำให้กลอนไพเราะได้เช่นกัน ถ้าแต่งให้สละสลวย ซึ่งสามารถใช้ได้ ดังนี้

วรรคแรกเรียกว่า คำที่ ๒ กับคำที่ ๔
1	(2) 3 (4)  5

วรรคที่สอง คำที่ ๓ กับคำที่ ๕
      1 2 (3) 4 (5) 6 

วรรคที่สาม คำที่ ๒ กับคำที่ ๓ และ คำที่ ๔ กับคำที่ ๕
1  (2)   (3)   ((4))  ((5))   6   7   

วรรคที่สี่ เรียกว่า คำที่ ๕ กับคำที่ ๗
1  2   3   4   (5)   6   (7)   8

วรรคที่ห้า คำที่ ๓ กับคำที่ ๔ กับคำที่ ๖ กับคำที่ ๘
1  2   (3)  (4)   5   ((6))   7   ((8))  9


 
แม้ไม่สัมผัสตามนี้ หากเน้นจังหวะคำก็ทำให้ไพเราะได้ 


ตัวอย่างกานท์พุดลาภา

**กล่อมทะเล** โดยคนกุลา
 

.

ปลายฟ้า ณ ปลายฟ้า
ยามว้าเหว่ทะเลฝัน
เหมือนดั่งวิหารแห่ง พรานจันทร์
ที่ล่าฝันฝูงดาวเหินหาวลอย
ดุจเรือน้อยลอยเคว้งคว้างกลาง คลื่นพราย

ทะเล ณ ทะเล
บทเห่ห้วงน้ำยามสาย
ภาพวาดพิมพ์ฝัน พรรณราย
ระยิบร่ายทิพย์ภาพอาบแผ่นดิน
สายฝนรินรดทะเลเห่กล่อมนาง

แดน ฝัน ณ แดนฝัน
ตะวันจรมาฟ้ากว้าง
ม่านฝนหม่นฟ้าพร่าพร่างพราง
เหมือน ม่านบางแต่งห้องท้องวิมาน
ทิพย์สถานเรือนรับรองของใครนา

อัสดง ณ อัสดง
แดดยอลงดังเริงร่า
เมฆปอยลอยล่องผ่านคลองตา
ประดับฟ้าแต่ง น้ำในความจริง
ว่าทุกสิ่งล้วนงดงามตามครรลอง

ปลายฟ้า ณ ราตรี
ยาม นี้ทะเลงามผ่อง
จันทร์นวลกระทบคลื่นพรายฟอง
ปานเกร็ดทองกระพริบรับกับ จันทร์
ค่ำคืนอันห้วงน้ำล้อมกล่อมทะเล


...............



**กล่อมจันทร์** โดย คนกุลา 


 

.   .
ในมัวเมฆ หม่นฟ้า
ข้ามเวลา ทะเลฝัน
อาศัย ขี่ข้าม สำเภาจันทร์
โล้คลื่นอัน ปรุงแต่ง ด้วยแรงใจ
ยามอยู่ใน ห้วงสมุทร สุดคะนา

ในวันเลือน เดือนลับ
ล่วงดับไป ในเวหา
ท้องฟ้า มืดมิด ดุจปิดตา
เหมือนดั่งว่า ฟ้าตรอม ย้อมสีดำ
ดุจจะย้ำ คำหมองหม่น บนคัคนางค์

คืนเดือนพร่าง เวหาส
ฉายแสงพาด เพ็ญเย็นสว่าง
ห้วง น้ำ เขาฟ้า ทาบทาจาง
กลางเดือนพร่าง งามเห็น ด้วยเพ็ญจันทร์
ในคืนวัน ที่โสมงาม ยามผ่องพราว

เปรียบจันทร์ดั่ง หน้าน้อง
นวลละออง พักตร์ใสวาว
งามขนง-วงตา หน้ายั่วเย้า
งามแท้เจ้า พิศมัย แบบไทยเดิม
เพื่อ ช่วยเติม เสริมสานก่อ ต่อเผ่าพงศ์

ใบหน้าอิ่ม พริ้มพร่าง
น้องงาม ดุจอย่าง นางหงส์
งามดุจ กินรี คลี่ทรวดทรง
ยามลงสรง สระสนาน ตำนานมี
ในวันที่ มโนราห์ มาอวดนวล

เปรียบจันทร์เพ็ญ เช่นสาว
พักตร์ พราว ผ่องมล ยลใจหวล
ประดับ ห้วงให้ ใจรัญจวน
กระบิดกระ บวนคล้าย ละม้ายจันทร์
เหมือนเสกสรรค์ ร่ายมนตรา มากล่อมใจ

โอ ละ เห่ จันทร์ เอย
ทรามเชย โฉมตรู อยู่ไหน
ฝ่าฉ่ำ น้ำฝน สู่หนใด
แลไปก็ ไม่เห็น เจ้าเพ็ญจันทร์
แต่ใจมั่น รอจันทร์เฝ้า กล่อมเจ้านอน

.


..............



**ห้วงคำนึง**  โดย คนกุลา 

 


สายนที  ยังรี่ไหล
จึงดวงใจ  ยังใคร่หวัง
บรรเลง  เพลงไพร  ให้พลัง
จากหว่างหวัง  ฟ่อนดาว พร่างพราวตา
ร้อยดารา  มามอบให้  ยามไกลกัน

รู้ว่า มายาภาพ
หาก เอิบอาบ  ฤทัยหวั่น
ดั่งฟ้า  คราคราว  พร่างพราวจันทร์
รู้เพียงขวัญ  คงไกล  ในเพลา
ใคร่ถามว่า  นะนวลน้อง  ไยต้องไป

รู้ ว่า  ขวัญหวั่นหวาม
ก็จะตาม  นิยามไหน
หากขวัญ  อยากถาม  นิยามใจ
หนทางไกล  ห่วงน้อง  ใครครองเคียง
พี่นี้เพียง  อยากกล่อมบ้าง  ในบางคราว

รู้ นะ  ว่าเข้มแข็ง
ใจแกร่ง  เกินใคร  ใจสาว
เพียงว่า  ในรวง  แห่งห้วง ดาว
เมื่ออะคร้าว  คราวไหน  ได้คร่ำครวญ
ได้กอดนวล  ซับน้ำตา  ที่บ่าริน

นิยาม  ในงามนึก
ยิ่งตรึก  กริ่งใจ  ไห้ถวิล
กระซิบ  สั่ง คำ  ย้ำยุพิน
แม้นหากสิ้น  ใครพนอ  ปลอบหนอนาง
พี่ละวาง  ห่วงใจหวัง  ยังเฝ้าดู

คอยดู  น้องห่างห่าง
มิอยาก  ให้นาง  อดสู
ยก ให้  น้องน้อย  เพียงพธู
จักเชิดชู  ขวัญนาง  อย่างที่ควร
นวลเอ๋ย นวล  อย่ากังวล  จนหวั่นใจ

.........
*********


ที่คิดค้นมา ก็จากการไปศึกษาค้นคว้ามาจากท่านผู้รู้ และนำมาพัฒนาต่อนะครับหากท่านใดรู้ในบางแง่มุมจากนี้ ช่วยเพิ่มเติม วิพากษ์ วิจารณ์ ด้วยนะครับ เพราะฉันทลักษณ์ เหล่านี้ก็นำมาจากพื้นฐานของบทกวีแต่ละประเภทเป็นพื้นฐานเดิม นะครับ


คุณกุลา

ในวสันต์

       ...........				
19 มกราคม 2553 21:05 น.

**วรรณกรรม...สนทนา..!!**

คนกุลา

ผมเคยแลกเปลี่ยน กับบรรดาท่านนักกลอนในบ้านกลอนไทย ว่า ผู้ที่
สนใจกลอนในบ้านกลอน และเว็บอื่นๆ จากที่ผมสังเกตุอาจจะจำแนก 
ออกได้เป็น สี่กลุ่มตามบทกลอนที่ผมเขียนไว้ หลายเดือนก่อน ดังนี้

๐ คนรักกลอนตอนนี้มีหลายแบบ
บ้างมาแอบตามอ่านงานสร้างสรรค์
อ่านทุกบทพจนาสารพัน
เพื่อปลอบฝันวันเหงาใต้เงาใจ

  ๐ บ้างก็มีที่เม้นท์เห็นอยู่บ้าง
มิอำพรางตอบถ้อยคอยอาศัย
อ่านจบบทรจน์ชอบก็ตอบไป
ไม่คิดไกลเขียนเฟื่องเป็นเรื่องราว

  ๐ มีบางพวกเฝ้าเขียนวนเวียนหวัง
เพื่อประทังใจตนวันหม่นหนาว
หรืออยากร่ายหมายบ่งบอกเรื่องราว
ระยะยาวมิไช่หวังได้ดี

  ๐ มีเพียงน้อยคอยหวังตั้งใจหมาย
หวังผลร่ายกลอนกลบนวิถ๊
เฝ้าฝึกเพียรเรียนหวังดังกวี
มุ่งชีวีตั้งใจในกาพย์กลอน

  ๐ คนสี่กลุ่มทุ่มใจในโคลงฉันท์
สารพันกวีท่านมีสอน
และน้ำใจใสเรื่อเอื้ออาทร
ใช้บทกลอนกล่อมใจไม่เท่ากัน

ซึ่งพอสรุปเป็นกลุ่มๆได้ดังนี้
1.ผู้อ่านกลอน อย่างเดียว
2.ผู้อ่านและวิจารณ์กลอนออกมาเป็นบทร้อยกรอง ตามอารมณ์
     ที่ตนสนใจ หลังจากที่อ่านบทกลอนจบลง
3.นักกลอนที่แต่งกลอนเพื่อตอบสนองต่อ อารมณ์และความสนใจของ   
   ตน
4.ผู้ที่สนใจจะเอาดีทางกลอน หมายถึงผู้ที่พยายามพัฒนาตนเองไปสู่     
    การเป็นกวี

ภายหลังผมได้ไปลองค้นคว้า ในเรื่องนี้ว่าผู้รู้ท่านอื่นๆ ว่าไว้อย่างไรบ้าง

มีบางท่านบอกว่า นักกลอนและกวี นั้นมีอยู่ 3 ระดับ 
1.นักกลอนมือใหม่ คือ ผู้ที่แต่งได้ หมายถึงแต่งได้นะ ไม่ใช่แต่งเป็น    

  เขียนกลอนเพื่อรับใช้ตัวเอง สนองอารมณ์ของตัวเองเท่านั้น 
2.นักกลอน สูงขึ้นมาอีกหน่อย คือพวกที่เขียนกลอนเป็น มองโลก     
    กว้างขึ้นนิดหนึ่ง แต่ก็ยังคงเขียนกลอนรับใช้ตัวเองอยู่ รับใช้มุมมอง     
    ที่ตนเองสนใจ ตนเองคิด 
3.กวี เขียนกลอนเป็น เขียนด้วยความเข้าใจความเป็นไปของโลก         
   รับใช้ความจริง สะท้อนชีวิต กวีนี่คงจะเป็นขั้นสุดยอดของนักกลอน      
    อีกทีหนึ่ง มั๊งครับ

ขณะที่บางท่านบอกว่า  

นักกลอน หมายถึง ผู้ที่อยากเขียน ผู้อยากแต่ง  ผู้อยากบอก เรื่องโน่น
เรื่องนี้ ตามที่ตนเองได้เห็น ได้พบ เกิดความประทับใจและอยากเขียน
บอกผู้อ่าน ดังนั้นในความหมายนี้ นักกลอนคือ คนที่แต่งกลอนออกมา
ให้มันดูเป็นกลอน ได้ถูกฉันทลักษณ์และสละสลวย ลีลาภาษาไพเราะ
เสนาะหู  แต่ไม่เข้าถึงอารมณ์และความรู้สึกเมื่อยามอ่าน  คือยังขาดจิต
วิญญาน ขาดความเข้าใจในเรื่องนั้นโดยถ่องแท้ เมื่อคิดว่าเราแต่งกลอน
ได้ แต่งกลอนเป็น แต่งกลอนได้เพราะ แล้วก็เลยขยันแต่งบทกลอนออก
มาเสียมากมาย คนที่เป็นนักกลอน มักจะไม่ได้คำนึงถึงอารมณ์ ภาพ 
และความรู้สึกที่แท้จริงของบทกลอนนั้นเท่าที่ควร  ทำให้การสื่ออารมณ์
และความรู้สึกถึงผู้รับสารขาดความสมบูรณ์ไปอย่างน่าเสียดาย   
ส่วน นักกวี นั้นท่านนี้ว่า หมายถึง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน และสามารถสื่อ
สารสิ่งเหล่านั้นออกมาให้ผู้อ่าน สัมผัสได้ ดังนั้นคนที่จะเป็นกวีได้  ต้อง
เป็นผู้ที่สามารถสื่ออารมณ์จากบทกลอนให้เร้าความรู้สึกของผู้อ่านจน
คล้อยตาม  และมองเห็นภาพ ได้อารมณ์ความรู้สึก ให้มากที่สุด   จนผู้
อ่านสามารถร้องไห้ เมื่ออ่านกลอนเศร้าๆ  หัวเราะ หรือ ยิ้ม ไปกับบท
กลอนสนุกๆ ตลกขบขัน, เคลิบเคลิ้ม จนกระทั่งแอบ ฝันหวาน เมื่อได้
อ่านกลอนรักและโรแมนติค เป็นต้น
   
ท่านยังยกตัวอย่าง เช่นหากใครเคยอ่านงานกวีจีนที่เป็นงานแปล เช่น
งานกวีจีนของหลี่ไป๋ งานท่านฮั่นซาน งานเหล่านี้พอถูกถ่ายทอดเป็น
ต่างภาษาหรือแม้แต่ในภาษาจีนที่ต่างสำเนียง ก็จะเสียรูปแบบของ
สัมผัสและฉันทลักษณ์บางส่วนหรือทั้งหมด แต่งานเหล่านี้เราก็สัมผัสได้
ถึงภาพ ความรู้สึก และตัวตนของกวีในงานก็ยังชัดมากๆ(ซึ่งอันนี้ก็ขึ้น
กับประสบการณ์ผู้อ่านงานและผู้แปลด้วย)

งานบางอย่างไม่ได้เขียนเป็นกลอนฉันทลักษณ์ หากเขียนเป็นร้อยแก้ว
แต่ก็เรียกว่าบทกวี เช่นงานของ คาริล ยิบราน เป็นงานกวีร้อยแก้วที่
ไพเราะมากๆ 

คาริล ยิบรานเอง ท่านเคยกล่าวว่า กวีคือผู้ย่างก้าวระหว่างโลกแห่งจิต
วิญญาณและโลกความจริง  ซึ่งโลกแห่งจิตวิญญาณของท่านอาจหมายถึง 
นามธรรมความรู้สึกอันละเอียดอ่อน ซึ่งกวีมีความสามารถที่จะถ่ายทอด
ออกมา

ส่วนบางท่านก็ว่า

"นักกลอน" เป็นคำเรียกหนุ่มสาวนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ที่มี
ใจรักและมีฝีมือในการแต่งบทร้อยกรอง  ถอยหลังกลับไปในอดีต พศ. 
2500 มาจนถึงช่วง พศ.2516 มหาวิทยาลัยที่มีนักกลอนชุมนุม
กันมากที่สุดคือ ธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ถ้าเป็นสมัยนี้  "นักกลอน" ก็คือคำที่เราเรียกกันทั่วไปสำหรับคน
เขียนกลอนว่า "กวี" แต่ในสมัยโน้น  กวีหมายถึงสุนทรภู่  ศรีปราชญ์ 
นายนรินทร์ธิเบศร์   หรืออย่างใหม่ที่สุดคือนายชิต บุรทัต
หนุ่มสาวที่เดินถือตำราเข้าประตูมหาวิทยาลัย  ยังไม่อหังการ์ถึงกับเรียก
ตัวเองว่า  "กวี"ทั้งๆฝีมือหลายคนในที่นั้น  ถ้าอยู่ในสมัยนี้  ก็เรียก
อย่างอื่นไม่ได้นอกจาก"กวี"

เช่นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ซึ่งเป็น"นักกลอน"ที่รู้จักเลื่องลือ ใน
นาม "สี่มือทอง"คือ  เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์  ทวีสุข ทองถาวร  นิภา 
บางยี่ขัน และดวงใจ รวิปรีชา 

 ในวันนี้ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ที่มีสมญาว่า "กวีรัตนโกสินทร์" 
เป็นกวีซีไรต์  เป็นศิลปินแห่งชาติ แต่ย้อนหลังไปสี่สิบกว่าปี   เขาเป็น 
"นักกลอนมือทอง" ของธรรมศาสตร์  ที่ขึ้นชื่อลื่อเลื่องในแวดวงคน
รักวรรณศิลป์ในยุคนั้น  วรรณกรรมเพื่อชีวิตยังไม่เกิด    กลอนเป็นที่
นิยมกันยิ่งกว่าคำประพันธ์แบบอื่น    หัวข้อที่นิยมที่สุดคือการแสดง
อารมณ์ส่วนตัว เน้นความอ่อนไหว  พริ้งพรายในลีลาภาษา และสะท้อน
อารมณ์รักของวัยหนุ่มสาว

อย่างบทกลอนที่ชื่อ "บนลานอโศก"  ที่มีภาษาสวยงามเหมือนแก้ว

เจียระไน ที่ว่า

หยาดน้ำแก้วเกาะกลิ้งกิ่งอโศก
โลกทั้งโลกลอยระหว่างความว่างเปล่า
มีความรื่นร่มเย็นแผ่เป็นเงา
ลมแผ่วเบาบอกลำนำคำกวี

เราพบกันฝันไกลในความรัก
เริ่มรู้จักซึ้งใจในทุกที่
มีแต่เรามิมีใครในที่นี้
ใบไม้สีสดสวยโบกอวยชัย

อยากให้รู้ว่ารักสักเท่าฟ้า
หมดภาษาจะพิสูจน์พูดรักได้
เต็มอยู่ในความว่างกว้างและไกล
คือหัวใจสองดวงห่วงหากัน

หลับตาเถิดที่รักเพื่อพักผ่อน
ฟังเพลงกลอนพี่กล่อมถนอมขวัญ
ใจระงับรับใจในจำนรรจ์
ต่างแพรพันผูกใจห่มให้นอน

โอ้ดอกเอ๋ยดอกโศกตกจากต้น
เปียกน้ำฝนปนทรายปลายเกษร
โศกสำนึกหนาวกมลคนสัญจร
นกขมิ้นเหลืองอ่อนจะร่อนลง

เมตตาแล้วแก้วตาอย่าทิ้งทอด
ช่วยให้รอดอย่าปล่อยบินลอยหลง
จะหุบปีกหุบปากฝากใจปลง
จะเกาะกรงแก้วกมลไปจนตาย

งามเอยงามนัก
แฉล้มพักตร์ผ่องเหมือนเมื่อเดือนฉาย
งามตาค้อนคมเยื้องชำเลืองชาย
ลักยิ้มอายแอบยิ้มงามนิ่มนวล

จะห่างไกลไปนิดก็คิดถึง
ครั้นดื้อดึงโดยใจก็ไห้หวน
ถนอมงามห้ามใจควรไม่ควร
ให้ปั่นป่วนไปทุกยามนะความรัก

ผีเสื้อทิพย์พริบพร้อยลอยแตะแต้ม
เผยอแย้มยิ้มละไมใจประจักษ์
ทุกกิ่งก้านมิ่งไม้เหมือนทายทัก
ร้อยสลักใจเราให้เฝ้ารอ

ฝันถึงดอกบัวแดงแฝงผึ้งภู่
คล้ายพี่อยู่เป็นเพื่อนในเรือนหอ
ชื่นเสน่ห์เกษรอ่อนละออ
โอ้ละหนอหนาวนักเอารักอิง

ในห้วงความคิดถึงซึ่งเงียบเหงา
ใจสองเราเลื่อนลอยอย่างอ้อยอิ่ง
คอยคืนวันฝันเห็นจะเป็นจริง
โลกหยุดนิ่งแนบสนิทในนิทรา

ร่มอโศกสดใสในความฝัน
ร่มนิรันดร์ลานสวาทปรารถนา
ร่มลำธารสีเทาเจ้าพระยา
และร่มอาณาจักร.....ความรักเรา

        ส่วนบางท่านก็แสดงทัศนว่า โดยยกเอาคำของ กรมหมื่นนราธิป
พงศ์ประพันธ์ ที่ท่านว่า มีการสำคัญผิดอยู่บ้างว่า กวีนิพนธ์ได้แก่การ
เรียงร้อยถ้อยคำให้ถูกฉันทลักษณ์ แต่การเรียงร้อยถ้อยคำให้ถูก
ฉันทลักษณ์เป็นแต่เพียงการร้อยกรอง ยังไม่ใช่กวีนิพนธ์ ถ้าจะให้ถึง
ขีดกวีนิพนธ์ ผู้ประพันธ์ต้องแสดงความรู้สึกอย่างลึกซึ้ง และยิ่งกว่านั้น
ทำให้ผู้อ่านรู้สึกตามไปด้วย

                คนเขียนกลอนได้ถูกต้องและไพเราะ ถ้าผลงานชิ้นนั้นยัง
ไม่สามารถสื่อความลึกซึ้งให้ผู้อื่นรู้สึกตามได้ ก็เป็นเพียงนักกลอน แม้จะ
เขียนถูกฉันทลักษณ์ ตามรูปแบบและเสียงที่นิยมกันว่าไพเราะสุด ๆ 
แล้วก็ตาม ในทางกลับกันผลงานบางชิ้นอาจจะดูขัด ๆ ตาในทางรูปแบบ
ในบางจุด แต่สื่ออารมณ์ความรู้สึกได้ลึกซึ้งจับใจก็ถือว่าเป็นบทกวี (
กลอนเปล่าหลายชิ้นจึงเป็นบทกวี แม้จะไม่มีรูปแบบฉันทลักษณ์
มาตรฐาน) อย่างที่ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เคยกล่าวไว้ว่า ถ้าสัมผัสใจ
ได้แล้วละก็ สัมผัสคำถือเป็นเรื่องรอง

                อย่างไรก็ตามถ้าเขียนแล้วสัมผัสใจก็ได้ และยังสัมผัสคำได้
ดีอีกด้วยก็น่าจะถือว่าเป็นบทกวีที่สมบูรณ์ยิ่งอีกระดับหนึ่ง เหมือนภา
พขียนอันวิจิตรบรรจงถึงระดับงาน ศิลปะแม้จะอยู่ในกรอบที่แสน
จะธรรมดา แต่ก็ยังเปล่งประกายศิลป์ออกมาจนสัมผัสได้ด้วยใจและจิต
วิญญาณ ยิ่งถ้าได้กรอบทองอย่างดีก็ยิ่งขับเน้นความเด่นของภาพขึ้นไป
อีก ผิดกับภาพเขียนดาด ๆ ในกรอบทองหรูหรา ทำอย่างไรภาพนั้นก็
ไม่สามารถเป็นงาน ศิลปะได้อย่างที่ควรจะเป็น 

	อีกประการหนึ่งน่าจะเป็นนิยามของกวีที่ยังคลุมเคลืออยู่
ผู้ใด คือ ผู้เหมาะสมที่จะให้นิยามของการเป็นกวี นั้นใครจะเป็นผู้เรียก
ขาน  ถ้าให้ผู้อ่านเป็นผู้กำหนด หากผู้อ่านท่านนั้นมีความรู้สึกด้าน
อารมณ์ และ ประสบการณ์ที่ยังด้อยอยู่ เมื่อได้อ่านบทกวีชิ้นหนึ่งแต่ก็มิ
ได้มีความเข้าใจกับมันและไม่สามารถซึมซับคุณค่าของมันได้ ท่านผู้
อ่านท่านนั้นยังจะเรียกงานชิ้นนั้นว่าเป็นบทกวีอยู่อีกหรือ  
  
  	และถ้าหากเป็นผู้อ่านที่ได้ผ่านประสบการณ์ทางด้าน
อารมณ์ และ ความรู้สึกมามากมาย  เมื่อเขาอ่านได้บทกวีชิ้นหนึ่งแล้ว
รู้สึกว่ามันไม่ได้เพิ่มเติมอะไรใหม่ๆให้กับชีวิตของเขาผู้นั้น เขาจะยัง
เรียกงานเขียนชิ้นนั้นว่าเป็นบทกวีอยู่อีกหรือไม่

    	หรือ ถ้าให้ ผู้เขียนเป็นผู้นิยาม เขาผู้นั้นจะทราบได้เมื่อ
ไรว่างานของเขาเข้าขั้นบทกวีแล้ว   วันหนึ่งเมื่อเขาตื่นขึ้นมา เขาพร้อม
จะพูดกับตัวเองเลยไหมว่า  "บัดนี้ เราคือกวีแล้ว"

	หรือจะให้มีสถาบันใด สถาบันหนึ่งที่ประกอบด้วยท่านผู้รู้
ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจเรื่องกวีนิพนธ์ มีอารมณ์ซึมซับ 
บทกวีได้เป็นอย่างดี เป็นผู้ตัดสิน กำหนดให้ว่าใครควรเป็นกวี และใคร

ไม่ใช่ แล้วเราจะหาจุดลงตัวของนักกลอนบางท่านที่เป็นที่นิยมของผู้อ่าน
แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากผู้ทรงคุณวุฒิ หรืองานบางชิ้นที่เป็นที่ยอมรับ
ของผู้ทรงคุวุฒิ แต่ผู้อ่านทั่วไปไม่สามารถเข้าถึง ไว้ที่จุดตรงไหน

	ผมเองคงไม่มีคำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้หรอกครับ 
เพียงแต่สนใจใคร่รู้ เลยไปอ่าน ค้นคว้า มาเรียบเรียง ให้อ่านกัน เพลินๆ 
หากใครจะนำไปพิจารณาตนเอง ว่าตน หรือใครเป็นกวี เป็นนักกลอน
หรือไม่ อย่างไร ก็เชิญตามอัธยาศัย ของแต่ละท่าน นะครับ.... ส่วนผมเองนั้น คงเป็นได้แค่ผู้สนใจเขียนกลอน..เท่านั้นเอง มั๊ง ครับ 

 
.............

                    

http://wannasilp.bravehost.com/link1/history.htm

http://www.trytodream.com/topic/2038
 
http://dek-d.com/board/view.php?id=565418


........................


คนกุลา(เรียบเรียง)

ในเหมันต์				
12 มกราคม 2553 13:41 น.

**วรรณกรรม..สนทนา.."เรื่องนามปากกา"(๒)**

คนกุลา

จากการไปอ่านค้นคว้าเรื่องนามปากกา ก็ได้แง่คิดหลายอย่าง 

เช่น นักเขียนนั้นอยากมีนามปากกาที่จะอยู่กับตัวไปตลอดมานานแล้ว 

แต่ไม่ทราบว่าจะทำยังไงดี เพราะรู้สึกไม่มั่นใจว่านามปากกา ที่ตนชอบ 

นั้นจะพอใช้ได้ไหม หรือ นามปากกา ควรสื่อถึงอะไรบ้าง? 

           บ้างก็ไม่แน่ใจว่าชื่อแบบไหน ควรจะสื่อถึงบทกลอนหรือข้อ

เขียนแนวไหน เพราะคนรุ่นใหม่ๆ มักจะไม่ค่อยใส่ใจเรื่องนามปากกา

ของคนเขียนเลย  ว่าให้ความรู้สึกเกี่ยวกับข้อเขียนเรื่องนั้นๆยังไง ส่วน

ใหญ่ก็จะดูที่ชื่อเรื่องก่อน ตามด้วยการอ่านเนื้องาน ส่วนนามปากกา

หรือชื่อคนแต่งจะดูก็ต่อเมื่อเนื้อความ หรือบทกลอนที่อ่านถูกใจ

มากๆ...

           มีผู้อ่านบางรายบอกว่าอ่านบทกลอนหรือเนื้อเรื่องแล้วพอใจ

มากๆ แต่พอไปดูนามปากกา แล้วรู้สึกว่าขัดทำให้หมดอารมณ์ที่กำลัง

ประทับใจเลยก็มี ดังนั้น นามปากกาควรจะไปในโทนเดียวกันกับเนื้อ

เรื่อง หรือแนวกลอน สังเกตจากนักเขียนดังๆหลายท่านยังนิยมมี

หลายๆนามปากกาเพื่อให้ตรงกับแนวเรื่องที่ตนเองเขียน

          แต่บางท่านบอก บางนามปากกา ดูแล้วไม่เหมาะสม(ในความ

เห็นของผู้อ่านบางคน) ก็มีความเห็นว่าอาจจะมาจากว่าคนแต่งอาจ

จะลืมคิดมาแต่ต้นก็เป็นได้ แล้วพอเหตุการณ์ผ่านไป เวลาล่วงไป ข้อ

เขียนมีคนนิยมขึ้นมา ผู้อ่านส่วนหนึ่งจดจำ  นักแต่งในนามปากกานั้นได้ 

ก็เลยต้องใช้ชื่อที่ติดมีคนรู้จักแล้ว แบบต้องเลยตามเลยไปเลย

          บางความเห็นที่น่าสนใจจากนักอ่านเกี่ยวกับ-นามปากกา-
โดยเป็นมุมมองจาก กรรมวิธีการอ่านงานเขียน
1.เดินเข้ามา กวาดตาดูทั่วๆ ไปที่หน้าตา ชื่อเรื่องก่อน
2.เริ่มเปิดดูเนื้อหาด้านใน ชิมๆสำนวนซักพัก..
3.หาก..สำนวนงามพอไปได้  ก็ดูว่านักเขียนนาม

ปากกาอะไรนะ..
4. หากนามปากกาไม่น่าประทับใจ ก็อาจจะไม่สนใจอ่านอีก
 
         ประสบการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยมากกับนักอ่านจำนวนมาก จน

บอกว่าบางผลงานเนื้อหาดี แต่ไม่ชอบนามปากกาก็เลยไม่ประทับใจไป

เลย ก็มี            
            บางคน มีนามปากกาหลากหลายมาก โดยใช้เป็นนามแฝง 

เพราะปลอมตัวอยู่ในหลายๆ เว็บบอร์ด ชื่อแรกที่ใช้ บางทีก็เป็นชื่อเล่น

จริงๆ นี่แหละ ไม่ได้คิดอะไรมาก เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้น จึงคิด

เรื่องนามปากกาจริงๆจังๆ

           ฉะนั้นถ้าจะว่าไป นามปากกา ก็สำคัญมากๆ เพราะนาม

ปากกามันก็เหมือนกับชื่อตัวของเรานั่นแหละค่ะ นักเขียนดังๆถึงขนาด

เปิดตำรา คิดหากันหลายตลบ เพื่อให้ได้ชื่อที่ดี อ่านง่าย จำติดหูความ

หมายงาม จนกระทั่งบางท่านมองไปถึงว่า การตั้งนามปากกานั้นควร

ต้องใส่ใจ เพราะแสดงถึงการให้เกียรติทั้งงานของเราเอง และการให้

เกียรติผู้อ่านด้วย

            สำหรับเรื่องการตั้งนามปากกา จากการอ่านๆมานั้นพอจะสรุป

ได้ ดังนี้

    1."นามปากกา" ในการเขียนงาน ใช้เป็นชื่อเรียกขาน 

เสมือนกับเป็นชื่อเล่นอีกชื่อหนึ่ง ซึ่งอาจจะกลายเป็นชื่อเรียกติดปาก

ของคนที่เข้ามาอ่านผลงานของเรา จนแทบอยากจะเปลี่ยนชื่อจริงให้

เป็นชื่อเดียวกับนามปากกาเลยก็ได้  ดังนั้น ก่อนที่จะใช้นามปากกา 

ควรวางแผนให้รอบคอบว่า นามปากกาที่เหมาะกับตัวเองควรจะเป็น

อะไร หลักการง่ายๆฝากไว้เป็นข้อคิด ดังนี้ 

            ก่อนตั้งนามปากกาต้องคิดว่า "ฉันคือใคร"สอดคล้องกับ

แนวของเราหรือไม่  แล้วตั้งนามปากกา ให้ตรงตามต้องการ เพราะ

หากตั้งชื่อแทนตัวเรา ที่ให้เขาไว้เรียกขานต้องเปลี่ยนใหม่อาจเสียกาล

คนเขาจำเป็นคนละคน
     2. เป็นชื่อที่อ่านออกเสียงง่าย ไพเราะ ไม่เพี้ยนเสียงจน

ความหมายอาจจะเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นที่มันไม่เป็นมงคล
 
     3. ตัวอักษรที่เขียน สวย เก๋  เพื่อความสะดุดตา และเป็น

คำที่มีความหมาย (คือแปลได้ความ)จำติดหู ติดตา ความหมายงาม
     4.นามปากกาน่าจะเป็นชื่อที่ตนเองชอบ  หรืออาจจะเป็น

ชื่อของแรงบันดาลใจอะไรที่ทำให้อยากเป็นนักเขียนชอบชื่อแบบไหน 

ก็เอาแบบนั้น เพราะนามปากกาเป็นชื่อที่เราเลือกเอง เพื่อใช้สำหรับงาน

เขียนที่เราชอบ เป็นตัวของเราเอง แต่ต้องอย่าให้มันน่าเกลียดจนเกินไป 

ไม่งั้นคนอ่านก็อาจจะเปลี่ยนใจเพราะนามปากกานี่แหละ
     5.เป็นกลางๆ สามารถใช้กับนิยายได้หลายประเภท  ทั้งนี้

เพราะสำหรับนักเขียนใหม่นั้น ไม่ควรจะใช้นามปากกาหลากหลายนัก  

อย่างน้อยเพื่อให้คนอ่านได้จำได้ และหากติดใจก็จะติดตามผลงานเล่ม

ต่อไปได้ ยกเว้นมันไม่เข้ากับประเภทผลงานที่แต่งอีกเรื่องหนึ่งจริงๆ 

หรือเจตนาจะให้คนอ่านลืมนามปากกาเก่า เพื่อเปิดตัวกับนิยายแนวใหม่ 

จะได้ไม่ฝังใจกับสไตล์เดิมที่เคยเขียน
     6.นามปากกา เหมือนด่านแรก เหมือนกับการพบกันครั้ง

แรก สำหรับ คนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน หน้าตาและบุคลิกภายนอก 

ย่อมมีผลต่อการเข้ามาติดต่อปฏิสัมพันธ์  เหมือนกับเวลาไปสมัครงาน 

เขาก็จะดูที่บุคลิกท่าทาง นิสัย การพูดจา ตัดสินกันเป็นด่านแรก  ก่อน

จะเปิดการสัมภาษณ์ซักถาม ดูประวัติ คุณสมบัติ และความสามารถ ถ้า

หน้าตาดูดี บุคลิกการแต่งตัวดูดี  เหมาะสมกับงาน แรกเห็น คนเขาอาจ

จะเลือกเลย  นามปากกาก็เป็นแบบนั้น
     7.นอกจากนี้ บางท่านก็บอกว่า  มันเป็นความเชื่อ คือ    

ชื่อคนมันควรจะดวงสมพงษ์กับเจ้าตัว  จะขับหรือจะส่ง จะมากจะน้อย

ก็ย่อมมีผลต่อชะตาชีวิต  เหมือน นามปากกาซึ่งจะส่งผลกับงานเขียน

ของเขา ซึ่งอันนี้ อาจเป็นของนักเขียนบางกลุ่ม ที่เชื่อเรื่องนี้จะไป

พิจารณาดูนะครับ 

            ปัญหาของนักเขียนใหม่ในเว็ปมักประสบก็คือขณะที่สมัคร

เป็นสมาชิก วันแรกผู้สมัครต้องใส่ นามปากกา ทันที จึงไม่มีเวลาคิด

มากนัก

            วิธีแก้แก้คือ ท่านที่ต้องการสมัครสมาชิก เว็ปใดๆ ควรเตรียม

ตัวล่วงหน้าใช้เวลาคิดหานามปากกาที่เหมาะกับตัวเอง เหมาะกับแนว

การเขียนหรือ เหมาะกับบุคคลิก ตัวตนของตัวเอง (ที่ท่านแสดงออก

ในการเขียน ) หาชื่อให้เหมาะสมกับสถานะการณ์ของท่าน ให้

เหมาะกับความสนใจ หรือเป็นสิ่งที่ท่านชอบ ที่ท่านต้องการ ให้เหมาะ

กับเนื้อหาที่ท่านต้องการเขียน หรือแสดงในความคิดเห็น 

            แต่โดยส่วนตัวแล้ว ถ้าจะอ่านงานของนักกลอน ก็จะดูที่หัวข้อ 

ว่าตรงตามความสนใจ ความพอใจของตัวเองมากกว่า ส่วนนามปากกา

นั้นจะดูก็เพื่อให้รู้ว่าใครแต่ง และจะจำก็ต่อเมื่อรู้สึกชอบงานของนัก

กลอนคนนั้นๆ เป็น พิเศษนะครับ

         อยากจะบอกว่า นามปากกาแม้เป็นสิ่งสำคัญ แต่นั่นเป็นตอน

เปิดตัวผลงานครั้งแรกกับผู้อ่าน  หากเมื่อผลงานได้รับการยอมรับแล้ว 

ชื่อไหนอย่างไร ก็ไม่สำคัญ(สักเท่าไหร่) อีกแล้วละครับ
         
          ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเขียนงานและนามปากกาของ

ท่านนะครับ
 
ปล: ขอแถม 96 นามปากกานักเขียน (นักประพันธ์) ไทยและ    

    ชื่อจริง  
1. ก. ศยามานนท์ เป็นนามปากกาของ... กาญจนา ศยามา     

    นนท์ 

2. ก. สุรางคนางค์ , รสมาลิน เป็นนามปากกาของ... กัณ    

     หา เคียงศิริ

3. กฤษณา อโศกสิน เป็นนามปากกาของ... สุกัญญา ญา        

ณารนพ

4. กระแซ่ , สีสด , สีเสียด เป็นนามปากกาของ... ประสาน  

       มีเฟื่องศาสตร์

5. กาญจนา นาคนันท์ เป็นนามปากกาของ... นงไฉน ปริญญา   

     ธวัช

6. กุลทรัพย์ รุ่งฤดี เป็นนามปากกาของ... กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ

7. แก้วเก้า เป็นนามปากกาของ... คุณหญิง รศ.ดร.วินิตา       

   ดิถียนต์ (วินิจฉัยกุล)

8. แก้วฟ้า เป็นนามปากกาของ... แก้ว อัจฉริยกุล

9. ไก่อ่อน เป็นนามปากกาของ... บรรเจิด ทวี

10. ไก่เขียว เป็นนามปากกาของ... พระบาทสมเด็จพระมงกุฎ   

        เกล้าเจ้าอยู่หัว

11. กิ่งฉัตร เป็นนามปากกาของ... ปาริฉัตร ศาลิคุปต (ปุ้ย)

12. ครูเทพ , เขียวหวาน เป็นนามปากกาของ... เจ้าพระยา    

       ธรรมศักดิ์มนตรี หรือ สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา

13. คิดลึก เป็นนามปากกาของ... ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช 

14. งาแซง , แมวคราว เป็นนามปากกาของ... อุทธรณ์ พล

กุล

15. เจ้าเงาะ เป็นนามปากกาของ... ชิต บุรทัต

16. แจ๋ว วรจักร เป็นนามปากกาของ... สง่า อารัมภีร์

17. จิ๋ว บางซื่อ เป็นนามปากกาของ... พ.ญ.โชติศรี ท่าราบ 

18. ชัยคุปต์ เป็นนามปากกาของ... ชัยวัฒน์ คุประตกุล

19. ช่อลัดดา เป็นนามปากกาของ... กาญจนา เพชรมณี

20. ชอุ่ม ปัญจพรรค์ เป็นนามปากกาของ... ชอุ่ม แย้มงาม

21. ชาตรี , ธม ธาตรี เป็นนามปากกาของ... เชิด ทรงศรี

22. ดอกไม้สด เป็นนามปากกาของ... ม.ล. บุปผา นิมมาน  

       เหมินทร์

23. ท. เลียงพิบูลย์ เป็นนามปากกาของ... ทองหยก เลียง      

   พิบูลย์

24. ทมยันตี , โรสลาเรน , ลักษณวดี , กนกเรขา ,     

      มายาวดี เป็นนามปากกาของ... วิมล ศิริไพบูรณ์

25. ทีปกร เป็นนามปากกาของ... จิตร ภูมิศักดิ์

26. ทวีปวร เป็นนามปากกาของ... ทวีป วรดิลก

27. น. ณ ปากน้ำ เป็นนามปากกาของ... ประยูร อุลุชาฎะ

28. น้อย อินทนนท์ , ผสุดี , มณโฑ , แม่อนงค์ , เรียมเอง 

          เป็นนามปากกาของ... มาลัย ชูพินิจ

29. นาคะประทีป เป็นนามปากกาของ... พระสารประเสริฐ

30. นายผี เป็นนามปากกาของ... อัศนี พลจันทร

31. น.ม.ส. เป็นนามปากกาของ... กรมหมื่นพิทยาลง       

   กรณ์หรือหม่อเจ้ารัชนี แจ่มจรัส

32. นายรำคาญ เป็นนามปากกาของ... ประหยัด ศ. นาคะ     

      นาค

33. บุษยมาศ เป็นนามปากกาของ... สมนึก สูตะบุตร

34. โบตั๋น เป็นนามปากกาของ... สุภา ลือศิริ

35. ป. ชื่นประโยชน์ เป็นนามปากกาของ... เปรื่อง ชื่น        

  ประโยชน์

36. ป. ณ นคร , นายตำรา ณ เมืองใต้ เป็นนามปากกา          

ของ... เปลื้อง ณ นคร

37. ปณิธาน เป็นนามปากกาของ... ฐะปะนีย์ นาครทรรพ

38. ป. อินทรปาลิต เป็นนามปากกาของ... ปรีชา อินทรปา    

       ลิต     

39. ปิยะพร ศักดิ์เกษม เป็นนามปากกาของ... นันทพร ศานติ   

       เกษม

40. ประสก เป็นนามปากกาของ... จำรัส ดวงธิสาร

41. ประเสริฐ อักษร เป็นนามปากกาของ... กรมพระนราธิป     

      ประพันธ์พงศ์

42. ปรู๊บ บางกอก เป็นนามปากกาของ... ณรงค์ วงษ์สวรรค์

43. เปี๊ยกโปสเตอร์ เป็นนามปากกาของ... สมบูรณ์สุข นิยมศิริ

44. พ.ษ. , พ. เนตรรังสี เป็นนามปากกาของ... พัฒน์  

         เนตรรังสี

45. พ.ณ. ประมวลมารค เป็นนามปากกาของ... ม.จ.   

        จันทร์จิรายุ รัชนี

46. พงษ์เพชร เป็นนามปากกาของ... ยศ วัชรเสถียร

47. พนมเทียน เป็นนามปากกาของ... ฉัตรชัย วิเศษ          

สุวรรณภูมิ

48. พร น้ำเพชร เป็นนามปากกาของ... ไพจิตร ศุภวารี

49. พรพิรุณ เป็นนามปากกาของ... สุคนธ์ โกสุมภ์

50. พราวพัชระ เป็นนามปากกาของ... พราวพัชระ ศักดา        

  ณรงค์

51. พราน ชมพู เป็นนามปากกาของ... สุเทพ เหมือนประสิทธิ  

        เวช

52. พรานบูรพ์ เป็นนามปากกาของ... จวงจันทร์ จันทร์คณา

53. พันธุ์ บางกอก เป็นนามปากกาของ... สมพันธุ์ ปานะถึก

54. แพร่ เป็นนามปากกาของ... อาจินต์ ปัญจพรรค์

55. แพร ชมพู เป็นนามปากกาของ... รัชนี บุษปะเกศ 
    (จันทร์รังษี)

56. มลฤดี เป็นนามปากกาของ... กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ และ    

          กัณหา เคียงศิริ

57. มอญฟรี เป็นนามปากกาของ... เรวัต สนธิขันธ์

58. ไม้เมืองเดิม เป็นนามปากกาของ... ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา

59. มัลลิกา เป็นนามปากกาของ... กุหลาบ มัลลิกะมาส

60. แมน สุปิติ เป็นนามปากกาของ... นพคุณ จิตตยะโสธร

61. แม้นมาส สีละหุต , โรจนากร เป็นนามปากกาของ...   

          แม้นมาส ชวลิต

62. แม่วัน เป็นนามปากกาของ... พระยาสุรินทราชา นามเดิม   

          นกยูง วิเศษกุล

63. แม่สาย เป็นนามปากกาของ... จอมพลแปลก พิบูลสงคราม

64. ม. ชูพินิจ , เรไร, , อาตมา , ลดารักษ์, นาย        

          ดอกไม้, อุมา , นายฉันทนา เป็นนามปากกาของ...   

             มาลัย ชูพินิจ

65. แมลงหวี่ เป็นนามปากกาของ... ม.ร.ว. เสนีย์            

         ปราโมช

66. รพีพร , สันติ ชูธรรม เป็นนามปากกาของ... สุวัฒน์       

           วรดิลก

67. เรือใบ , สนทะเล เป็นนามปากกาของ... สนิท เอกชัย

68. ยาขอบ เป็นนามปากกาของ... โชติ แพร่พันธุ์

69. ว. ณ ประมวลมารค เป็นนามปากกาของ... ม.จ.   

          วิภาวดี รังสิต

70. ว. ณ เมืองลุง เป็นนามปากกาของ... ชินบำรุงพงศ์

71. ว. วินิจฉัยกุล , รักร้อย, ปารมิตา, วัสสิกา, 
          อักษรานีย เป็นนามปากกาของ... คุณหญิง รศ.ดร.วินิตา 

          ดิถียนต์(วินิจฉัยกุล)

72. ไววรรณ เป็นนามปากกาของ... พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรม     

          หมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์

73. ศรีบูรพา เป็นนามปากกาของ... กุหลาบ สายประดิษฐ์

74. ศรีอยุธยา เป็นนามปากกาของ... พระบาทสมเด็จพระ        

           มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

75. ศุขเล็ก เป็นนามปากกาของ... ประยูร จรรยาวงษ์

76. ส. พลายน้อย , โสมทัต เทเวศณ์ เป็นนามปากกาของ... 

           สมบัติ พลายน้อย

77. ส. ศิวรักษ์ เป็นนามปากกาของ... สุลักษณ์ ศิวรักษ์

78. ส. อาสนจินดา เป็นนามปากกาของ... สมชาย อาสน       

           จินดา

79. สันต์ เทวรักษ์ เป็นนามปากกาของ... สันต์ ท. โกมลบุตร

80. สันตสิริ เป็นนามปากกาของ... สงบ สวนสิริ

81. สีน้ำ เป็นนามปากกาของ... มานิต ศรีสาคร

82. สีฟ้า เป็นนามปากกาของ... ม.ล. ศรีฟ้า มหาวรรณ

83. สุนทราภรณ์ เป็นนามปากกาของ... เอื้อ สุนทรสนาน

84. สุวรรณี , สุวรรณี สุคนธ์ทา เป็นนามปากกาของ... 
           สุวรรณี สุคนเที่ยง

85. โสภาค สุวรรณ เป็นนามปากกาของ... รำไพพรรณ 
           ศรีโสภาค

86. อรวรรณ เป็นนามปากกาของ... เลียว ศรีเสวก

87. อ. สนิทวงศ์ เป็นนามปากกาของ... อุไร สนิทวงศ์

88. อ.น.ก. , อนึก คำชูชีพ , อุนิกา เป็นนามปากกา          

ของ... พระยาอุปกิตศิลปะสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ)

89. อมราวดี เป็นนามปากกาของ... ลัดดา ถนัดหัตถกรรม

90. อสิ รุ่งชล เป็นนามปากกาของ... ถาวร สุวรรณ

91. อ้อย อัจฉริยากร เป็นนามปากกาของ... ฉัตร บุณยศิริชัย

92. อาษา เป็นนามปากกาของ... อาษา ขอจิตต์เมตต์ 

93. อิงอร เป็นนามปากกาของ... ศักดิ์เกษม หุตาคม

94. อุษณา เพลิงธรรม เป็นนามปากกาของ... ประมูล อุณหธูป

95. แอลกอฮอล์ , ฮิวเมอริสต์ เป็นนามปากกาของ... อบ       

         ไชยวสุ

96. อัศวพาหุ , น้อยลา , นายแก้ว-นายขวัญ , พันแหลม     

          เป็นนามปากกาของ... พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้า    

              อยู่หัว 



...........

แหล่งอ้างอิง:


www.jj-book.com/jjtalk1/view.php?qs_qno=379
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=242977
www.atriumtech.com/cgi-bin/hilightcgi?Home=/home/... 
http://www.abhakara.com/webboard/index.php?topic=885.0

...........


คนกุลา (เรียบเรียง) 

ในเหมันต์				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟคนกุลา
Lovings  คนกุลา เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟคนกุลา
Lovings  คนกุลา เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟคนกุลา
Lovings  คนกุลา เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงคนกุลา