17 สิงหาคม 2554 01:56 น.

กลอนกลบทรุ้งพาดนภา

คนกุลา

กลอนกลบท
กลอนกลบท ก็คือกลอนสุภาพ ซึ่งมักจะเห็นการเล่นกลอนกลบท ในกลอนแปด  โดยมีการบังคับฉันทลักษณ์พื้นฐานของกลอนสุภาพทั่วไป  แต่มีการ บังคับเพิ่มเติม ตามที่แต่ละกลบทนั้นๆจะกำหนดไว้  ผมขอเขียนเรื่องกลอนกลบท  ไปเรื่อยๆตามแต่ เวลาจะอำนวย  และความสนใจ ที่ยังมีนะครับ

กลอนกลบท รุ้งพาดนภา
กลอนกลบทรุ้งพาดนภา เป็นการนำเอากลอนกลบทเบญจวรรณห้าสี มาผสมผสานกับกลอนกลบทครอบจักรวาล  โดยผมเห็นคุณ din ได้ลองแต่งผสมผสานขึ้น  หลังจากได้อ่านและลองแต่งดูก็เห็นว่าไพเราะดี  ผมจึงได้ขออนุญาตคุณดินในการนำมาเผแพร่ และตั้งชื่อว่ากลบทรุ้งพาดนภา

โดยในเบื้องต้นก็บังคับตามแบบกลบทเบญจวรรณห้าสี มีการเล่นคำมีข้อบังคับให้วรรคหนึ่งๆ ต้องมีพยัญชนะต้นเสียงเดียวกัน  ตั้งแต่คำที่ ๑ ถึงคำที่ ๕ เสียงเดียวกันในที่นี้ รวมทั้งพยัญชนะคู่ระหว่างอักษร สูงและอักษรต่ำด้วย เช่น  ข กับ ค หรือ  ถ กับ ท และ ธ เป็นต้น
ส่วนการบังคับอีกโสตหนึ่ง ก็มีบังคับเพิ่มเติมตามแบบกลอนกลบท ครอบจักรวาล  โดยกำหนดเพียงให้คำแรกและคำสุดท้ายในแต่ละวรรคเป็นเสียงเดียวกัน(ซ้ำ เสียงกัน) โดยแต่ละวรรคขึ้นต้นด้วยคำใดก็ต้องลงท้ายด้วยคำที่มีเสียงซ้ำกัน(หรือคำ เดียวกัน)
ดังนั้นตอนเขียน ผู้เขียนต้องวางแผนในใจก่อนว่าวรรคนั้นจะลงท้ายวรรคด้วย คำอะไร แล้วจึงขึ้นต้นวรรคด้วยคำเสียงเดียวกัน โดยให้มีความหมายที่ต้องการ ที่เป็นอย่างนี้เพราะในการเขียนกลอน คำท้ายวรรค จะมีการบังคับคำสัมผัส และ เสียงสูงต่ำ ท้ายวรรคแต่ละวรรค

ดังแผน
(ซ) (๐) (๐) (๐) (๐) ๐ ๐ (ซ)......................(ซ๑) (๐) (๐) (๐) (๐) ๐ ๐ ซ๑

คำในวงเล็บคือ พยัญชนะต้นเสียงเดียวกัน ส่วน  ซ คือคำที่ใช้ซ้ำเสียงในพยางค์ต้นวรรค และพยางค์ท้ายวรรค

ตัวอย่างกลอนกลบทรุ้งพาดนภา

**รุ้งพาดนภา..ในสายัณห์**

๐ รุ้งเรื่อเรืองร่ำระบาย เป็นสายรุ้ง
โค้งขอบคุ้งข้ามเขา  สาดเงาโค้ง
โยงยองใยเยี่ยมยอด  เชื่อมสอดโยง
แลลิบโล่งเลิศล้ำ  ฉ่ำตาแล

๐ ฝอยฝนฟุ้งฟากฟ้า  พร่าเป็นฝอย
แขไขค่อยคืบคลาน   คลี่ม่านแข
แปรเปลี่ยนปานเป็นไป  ใจปรวนแปร
ชวนเชือนแชช่างชอบ   อยากตอบชวน

๐ กับกลกลอนก่อนเก่า  เอาบวกกับ
สรวลสร้อยสรรพเสียงใส  ไยกำสรวล
นวลน้องนางนุชแนบ  แอบเนื้อนวล
ใจเจ็บจวนจำจน   หมองหม่นใจ

๐ พร่างพรมพรูพรายพราว   ราวลมพร่าง
ไหลเลือนรางลูกลอน   ทวนย้อนไหล
ไกลใกล้กลายกลืนกลับ  ลับเลือนไกล
นานเนิ่นในนับเนื่อง  เรื่องยาวนาน

๐ รุ้งเรื่อเรืองร่ำระบาย เป็นสายรุ้ง
ผ่านพวยพุ่งเพียงพาด  คราวาดผ่าน
การกะเกณฑ์กิจกรรม    หมายทำการ
วามแววหวานหวามไหว  ในรุ้งวาม

อีก ตัวอย่างหนึ่ง ครับ

**สูญสิ้น**

หยาดหยดย้ำยลยิน  ที่รินหยาด
เหมือนหมายมาดหม่นไหม้  หาใดเหมือน
เลือนลบลาลอยลับ  กลับลางเลือน
คำคล้อยเคลื่อนเคืองคิด  ผิดถ้อยคำ

ฟ้าฟูฟ่องฟองเฟือน  มิเลือนฟ้า
ต่ำติดตาไตร่ตรอง  มองต้อยต่ำ
จำจดจารเจียนเจ็บ  เหน็บให้จำ
รอยรินร่ำเรียงรจ  จดร่องรอย

ฝนฝอยฝอยฝันฝาก  จากหยาดฝน
ถอยถดถลถ้อยถ่วง  ดวงจิตถอย
คอยคิดค้นครวญคลั่ง  ตั้งตาคอย
จนจิตจ๋อยเจียนจาก  หากอับจน

อยู่อย่างยังยืนยง  ดำรงอยู่
หนหดหู่โหยแห้ง  ทุกแห่งหน
ทนทุกข์ท้นทานเทียม  เปี่ยมทุกข์ทน
ดินดาลดลดังดับ  ลงกับดิน

.........................Din


โดยส่วนตัวผมเห็นว่าการผสมผสานนี้ เป็นการต่อยอดงานได้อย่างงดงาม เกิดเป็นกลอนกลบทใหม่ที่น่าสนใจ เพราะแต่งง่าย และมีความไพเราะจากการเล่นคำ สองชนิดมารวมกันใครสนใจลองฝึกแต่งกันดูนะครับ

คนกุลา
เรียบเรียง				
10 สิงหาคม 2554 19:55 น.

กลอนกลบทครอบจักรวาล

คนกุลา

กลอนกลบทครอบจักรวาล

กลอนกลบทครอบจักรวาลนี้ พื้นฐานก็เป็นกลอนแปดตามปกติ แต่มีบังคับเพิ่มเติมตามแบบกลอนกลบท  และเป็นกลบทหนึ่งที่มีการคิดและเขียนขึ้นมาแต่ครั้งโบราณ และสามารถแต่งได้ง่าย เพราะท่านกำหนดเพียงให้คำแรกและคำสุดท้ายในแต่ละวรรคเป็นเสียงเดียวกัน(ซ้ำเสียงกัน) โดยแต่ละวรรคขึ้นต้นด้วยคำใดก็ต้องลงท้ายด้วยคำที่มีเสียงซ้ำกัน(หรือคำเดียวกัน)

ดังนั้นตอนเขียน ผู้เขียนต้องวางแผนในใจก่อนว่าวรรคนั้นจะลงท้ายวรรค
ด้วยคำอะไร แล้วจึงขึ้นต้นวรรคด้วยคำเสียงเดียวกัน โดยให้มีความหมายที่ต้องการ ที่เป็นอย่างนี้เพราะในการเขียนกลอน คำท้ายวรรค จะมีการบังคับคำสัมผัส และ เสียงสูงต่ำ ท้ายวรรคแต่ละวรรค

ตัวอย่างกลอนกลบทครอบจักรวาล

**เสียงวอน**
คนกุลา


๐ ร่ำรอยจูบรูปรอยมาร้อยร่ำ
สอนจนจำจิตหวังเคยสั่งสอน
นอนกอดกกอกอุ่นยามหนุนนอน
เยาว์ยามตอนตั้งไข่เมื่อวัยเยาว​์

๐ หวานน้ำนมอมอุ่นละมุนหวาน
เศร้าซาบซ่านซึมเซายิ่งเหงาเศร้​า
เงาเพราะในวันนี้มีเพียงเงา
วันบางเบากลับไกลหลายวัยวัน

๐ ฟ้าที่ท่านผ่านจากสู่ฟากฟ้า
สวรรค์คราคราวรับกลับสวรรค์
พลันน้ำตาปร่าพร่างเลาะปรางพลัน
ฟังจวงจันทร์แจ่มงามฝากถามฟัง

๐ เห็นเธอคนบนนั้นหากจันทร์เห็น
หวังว่าเช่นอยากหลับลงกับหวัง
ดังเคยปลอบตอบตามย้ำประดัง
ยินเสียงสั่งสอนให้ยังได้ยิน

๐ ร่ำน้ำตาปร่าแก้มแต้มรอยร่ำ
สิ้นน้ำคำคอยปลอบก่อนตอบสิ้น
รินหลั่งน้ำพร่ำไหลนัยตาริน
วอนแม่ยินเสียงย้ำลูกพร่ำวอน๚ะ๛

...........................

ผู้สนใจก็ลองแต่ง ดูนะครับ


คน กุลา

เรียบเรียง				
30 กรกฎาคม 2554 15:45 น.

**กลอนกลบทกลบกลืนกลอน**

คนกุลา

กลอนกลบท

กลอนกลบท ก็คือกลอนสุภาพ ซึ่งมักจะเห็นการเล่นกลอนกลบท ในกลอนแปด หรือกลอนเก้า  โดยมีการบังคับฉันทลักษณ์พื้นฐานของกลอนสุภาพทั่วไป  แต่มีการบังคับเพิ่มเติม ตามที่แต่ละกลบทนั้นๆจะกำหนดไว้  ผมขอเขียนเรื่องกลอนกลบท  ไปเรื่อยๆตามแต่เวลาจะอำนวย  และความสนใจ ที่ยังมีนะครับ

กลอนกลบทกลบกลืนกลอน

กลบทกลบกลืนกลอนนั้น มีอยู่ หลาย แบบ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

๑) กลอน กลบทกลบกลืนกลอน ตามแบบฉบับ ของ หลวงนายชาญภูเบศร์:ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน) ซึ่งเขียน โดยวางหลัก แบบเดียวกับของหลวงหลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) โดยมีบังคับดังนี้

บังคับกระทู้ ๒คำ ต้นวรรคทุกบาท

โดยเปลี่ยนกระทู้ทุกบท(๔วรรค)

และซ้ำคำถอยหลังตรงคำที่ ๔-๕

กับ๒คำท้ายวรรคทุกวรรค



 สุดที่รัก

.......................

สุดที่  รัก(ฝันหลับ) ยัง (หลับฝัน)

สุดที่  จันทร์(เสมอหนึ่ง)มา(หนึ่งเสมอ)

สุดที่  ใจ(เจอหวาน)เท่า(หวานเจอ)

สุดที่  เผลอ(ไปห่าง)คิด(ห่างไป)

 

คล้ายว่ารักแล้วลายากลาแล้ว

คล้ายว่าแก้วได้วางคิดวางได้

คล้ายว่าห่วงไว้เก็บเหลือเก็บไว้

คล้ายว่าใจกำหวังอยากหวังกำ

 

งดงามรักจิตนำชักนำจิต

งดงามพิศร่ำหวานตามหวานร่ำ

งดงามกวีคลำเฝ้าคิดเฝ้าคลำ

งดงามจำคืนฝันคิดฝันคืน

 

 

ดั่งคีตรักกล่อม,เห่หวังเห่กล่อม

ดั่งคีตล้อมชื่นล้ำใจล้ำชื่น

ดั่งคีตพรมยืน,นั่งยามนั่งยืน

ดั่งคีตรื่นมองชะแง้แล้วชะแง้มอง

 

 

สั่งสมลมรักพร่างพลิ้วพร่างรัก

สั่งสมชักห้องเต็มรักเต็มห้อง

สั่งสมหวามจองจำล้นจำจอง

สั่งสมคะนองบังปิดช่วยปิดบัง

 

 

ในม่านหนาวห้วงก่อเย็นก่อห้วง

ในม่านหลวงหลั่งช่วยรักช่วยหลั่ง

ในม่านใจฟัง,เฝ้าคิดเฝ้าฟัง

ในม่านหลังชวนชมดุจชมชวน

 

 

ห่มความรักอุ่นใจให้ใจอุ่น

ห่มความละมุนหวนสุขเกิดสุขหวน

ห่มความหวังมวลหมื่นในหมื่นมวล

ห่มความถ้วนรอยรักสู่รักรอย

 

 

ส่วนอีกแบบฉบับหนึ่ง ไม่ทราบว่าใครเขียน แต่นำมาเผยแพร่ โดย “ญามี่”

โดยมีการบังคับใช้แค่คำซ้ำในคำที่ ๕ มาใช้ที่คำที่ ๗

นอกนั้นเหมือนกันหมดกับของหลวงหลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก)”

..................................................

สุดที่รัก (ด้วยกลบทกลบกลืนกลอน แบบฉบับ ญามี่ )   

 

สุดที่  รักใจ(คิด)ยัง(คิด)เสมอ

สุดที่  เจอแล้ว(เลย)หัน(เลย)ผ่าน

สุดที่  ห่วงเหมือน(รั้ง)อย่า(รั้ง)นาน

สุดที่  ธารสรรค์(ฝัน)ยอม(ฝัน)คืน

 

 

ฉันยังอยู่คอยมองเยี่ยงมองฟ้า

ฉันยังมาคอยยิ้มส่งยิ้มชื่น

ฉันยังเขียนกวีหวานย้ำหวานยืน

ฉันยังกลืนมนต์มั่นอย่างมั่นทรวง

 

 

วันต่อวันโอนอ่อนใช่อ่อนไหว

วันต่อไปยังเฝ้าขอเฝ้าหวง

วันต่อความรักทั้งใจทั้งปวง

วันต่อช่วงจิตจองสมัครจองรอ

 

 

คำว่ารักจากฉันหวานฉันนี้

คำว่าลี้ยากเกิดให้เกิดก่อ

คำว่ามั่นมีอยู่เหมือนอยู่คลอ

คำว่าท้อไม่เคยคุ้นเคยรู้

 

 

ตราบหล้าสิ้นสมุทรหายฟ้าหายด้วย

ตราบหล้าม้วยจิตเคียงยังเคียงคู่

ตราบหล้าลืมเปิดทางปิดทางดู

ตราบหล้าอู้ใจชี้ยังชี้รัก

 

 

รักด้วยรักเพราะถวิลเสกถวิลหวาม

รักด้วยความหมายเพียงรู้เพียงจัก

รักด้วยเธอคือใจพาใจภักดิ์

รักด้วยดักดื่มด่ำดุจด่ำนำ

 

 

ยังตราไว้เช่นฝันเคยฝันวาด

ยังตราหาดอุ่นชื่นเคยชื่นร่ำ

ยังตรากานท์สองเราพาเราจำ

ยังตราคำหวานเขียนต่างเขียนเคียง

 

 หยาดทิพย์ฉ่ำน้ำค้างยังค้างอยู่

หยาดทิพย์ชูรุ้งงามดูงามเยี่ยง

หยาดทิพย์ทอแดดสีเป็นสีเรียง

หยาดทิพย์เมียงหมอกม่านเหมือนม่านลม

 

 

อีกบางตัวอย่าง

 

ขอเพียงหวัง...โดย  คน   กุลา 

 

๐ ขอเพียงรอหนอหวังยังหวังหนอ

ขอเพียงก่อรักร้อยสานร้อยรัก

ขอเพียงใจจักรู้ให้รู้จัก

ขอเพียงภักดิ์ใจหมายดั่งหมายใจ

 

๐ ไม่อยากเฝ้าหลงจิตจนจิตหลง

ไม่อยากพะวงไหวหวามจนหวามไหว

ไม่อยากฝืนใจจำเพราะจำใจ

ไม่อยากให้นางคอยจึงคอยนาง

 

๐ เพราะหวังไว้แสนสูงสุดสูงแสน

เพราะหวังแดนพร่างพริบพรายพริบพร่าง

เพราะหวังวางลางเลือนอาจเลือนลาง

เพราะหวังอย่างจริงจังและจังจริง

 

๐ จึงมาตอบปลอบคำด้วยคำปลอบ

จึงมาชอบหญิงน้องนะน้องหญิง

จึงมาหวังอิงแอบอุ่นแอบอิง

จึงมาติงคำตอบเธอตอบคำ

 

๐ รู้ว่าคงฝันไกลสุดไกลฝัน

รู้ว่าพลันถลำลึกลึกถลำ

รู้ว่าหากจำใจฝืนใจจำ

รู้ว่าพร่ำรอหวังเกินหวังรอ

 

๐ แม้นว่าเธอร่วมฝันและฝันร่วม

แม้นว่ารวมขอรักมั่นรักขอ

แม้นว่าสู้พนอใฝ่ฝันใฝ่พนอ

แม้นว่าท้อก็ทนสู้หยัดสู้ทน

 

.............


 

ผมค้นพบว่า กลกบทกลบกลืนกลอน ฉบับ ที่ใช้กลอนเก้า

จะจัดเรียงคำได้ไพเราะขึ้น ลองดูนะครับ

ผมเรียก ว่าเป็น กลบท กลบกลืนกลอน แบบฉบับ จันทบูรณ์

เพราะไปคิดได้ ที่จันทบุรี คราวไปทำธุระที่นั่นนะครับ

 

๐  กวีฝึกฝันกลอนกานท์สานกลอนฝัน
กวีฝึกร้อยเรียงวรรณมั่นเรียงร้อย
กวีฝึกคอยสื่อสารผ่านสื่อคอย
กวีฝึกความเรียงร้อยถ้อยเรียงความ

 

๐ นำกลอนเก้าสานประสงค์คงประสาน
นำกลอนกานท์หวามไหววาดอาจไหวหวาม
นำกลอนเก้าตามติดนัยใฝ่ติดตาม
นำกลอนยามเยีอนเนาคอยค่อยเนาเยือน

 

๐ จึงให้กฎบทกวีคลายคลี่กวีบท
จึงให้จรดเหมือนคราวสุขทุกคราวเหมือน 
จึงให้เพื่อนเตือนใจหมายใช้ใจเตือน
จึงให้เยือนกันลืมให้ไม่ลืมกัน .๚ะ๛

 
.............................คน กุลา ๙ กค. ๕๔


 

:สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากๆ ในการเขียนกลบทที่มีการซ้ำและสลับคำ คือต้องหาคำที่สามารถให้ความหมายทั้งคำแรก และคำที่สลับกัน มิฉะนั้น เนื้อหาสาระของกลบทก็จะไม่ได้ใจความ... ทำให้กลอนกลบทนั้นๆขาดคุณค่าไปเลย

หากสนใจ ก็ลองไปพิจารณาแต่งกันดูนะครับ				
20 กรกฎาคม 2554 01:10 น.

กลอนกลบทเบญจวรรณห้าสี

คนกุลา

กลอนกลบทเบญจวรรณห้าสี

กลอนกลบท

กลอนกลบท ก็คือกลอนสุภาพ ซึ่งมักจะเห็นการเล่นกลอนกลบท ในกลอนแปด  โดยมีการบังคับฉันทลักษณ์พื้นฐานของกลอนสุภาพทั่วไป  แต่มีการบังคับเพิ่มเติม ตามที่แต่ละกลบทนั้นๆจะกำหนดไว้  ผมขอเขียนเรื่องกลอนกลบท  ไปเรื่อยๆตามแต่เวลาจะอำนวย  และความสนใจ ที่ยังมีนะครับ

กลอนกลบท เบญจวรรณห้าสี

กลอนกลบทเบญจวรรณห้าสี เป็นอีกกลบทหนึ่งซึ่งแต่งไม่ยาก และมีความไพเ...ราะ เพราะ

มีการเล่นคำมีข้อบังคับให้วรรคหนึ่งๆ ต้องมีพยัญชนะต้นเสียงเดียวกัน

ตั้งแต่คำที่ ๑ ถึงคำที่ ๕ ซึ่งสอดคล้องกับคำว่า “เบญจ” แปลว่า “ห้า”

ดังแผน

 

(๐) (๐) (๐) (๐) (๐) ๐ ๐ ๐......................(๐) (๐) (๐) (๐) (๐) ๐ ๐ ๐

 

คำในวงเล็บคือ พยัญชนะต้นเสียงเดียวกัน

 

 ตัวอย่างกลอน กลบท  เบญจวรรณห้าสี

**กอ เอ๋ย กอ ไก่** คนกุลา 

 

๐ การก่อเกิดกิจการ.....ให้สานต่อ

ขาดเขินขอขีดเขียน.....พากเพียรหมาย

คือคนคาดเคียงคำ.....ลำนำราย

โง่งมงายเงอะงะ.......อย่าละเรียน

 

๐ จึงจดจารจากใจ......เรียงใส่สิ้น

เฉิดโฉมฉินฉาวโฉ่.....โธ่ยังเขียน

ชิงชังชอบชมเชย......เคยแวะเวียน

ซึมซับเซียนซอกซอน.....ที่ซ่อนนัย

 

๐ ญาติหญิงใหญ่ญญ่าย...กระจายหมู่

ดุจได้ดูดวงแด......หวังแก้ไข

ตอนตกต่ำตรอมตรม....ยากข่มใจ

ถกเถียงไถถากถู.....เขาดูแคลน

 

๐ ท่องเที่ยวทางทุกที่.....มีค่าล้ำ

ธาตุเธียรธรรมธารธม.....ภิรมย์แสน

เนิ่นนานนับแนบเนา......กลับเศร้าแทน

บดบี้แบนเบียดบัง......ก็ยังทน

 

๐ เปิดปมปิดป้องปาน.....กลัวพาลหมอง

ผลิตผลิผองผลีผลาม.....หางามผล

เฝ้าฝึกฝืนแฝงฝัง......ตั้งผจญ

พฤกษ์พงพนพากเพียร......แม้นเจียนตาย

 

๐ เฟื่องฟากฟ้าฟูฟ่อง.....อย่าพองขน

ภัทร์ภาคย์ภณเภทภัย.....ให้ห่างหาย

มวลมิ่งมิตรมุ่งมั่น......มีมากมาย

ยินย่ายายเยินยอ.......หมายคลอเคียง

 

๐ รับรสรักรื่นเริง.....บันเทิงสินธุ์

ฤฤๅฤณฤกษ์ฤติยา.....มาส่งเสียง

ลมลับเลยแล้งลา......คราเคยเคียง

วาดวังเวียงวัดวา.......บอกว่างาม

 

๐ ศัสตร์ศรศิลป์ศักดิ์ศรี.....ฤทธีแกร่ง

สาดสีแสงใสส่อง.....ผ่องไหวหวาม

หากหุนหันหกเหิน.....เกินใครตาม

โอ้อ้ายอามอิงไอ.....อุ่นในทรวง

 

๐ การก่อเกิดกิจการ.....ให้สานต่อ

ขาดเขินขอขีดเขียน......เพียรใหญ่หลวง

อกอิ่มอาบเอิบอวล........ล้วนใช่ลวง

เฮาเฮ็ดเฮือนฮามฮวง........จุ้ยห่วงจำ

 

 

....................คน กุลา ๑๖ กค. ๕๔

 

อีกตัวอย่างหนึ่ง ของกลอนกลบทเบญจวรรณห้าสี

 

  รักแรมร้าง เรียมรู้ เป็นชู้รัก

  เสียเสื่อมศักดิ์ เศร้าโศก โลกสลาย

  จากจิตใจ จนจาง แทบวางวาย

  ให้โหยหาย หดหู่ เพราะรู้ใจ

 

  ไม่มีมิตร มองมา พามืดมัว

   นั่งเนียนัว แน่นหนัก ถูกผลักใส

  หาแห่งหน ห้วงเหว เดินเร็วไว

  แจ้งจนใจ จำจาก พลัดพรากกัน.

 

                ...หยาดกวี...

อีกตัวอย่างหนึ่ง ของกลอนกลบทเบญจวรรณห้าสี*รักร้าว*

kata1991

-------------------------

๐ เคยคลอเคล้าเคียงคู่.....ร่วมชู้ชื่น

กลับกลายกลืนโกรธเกลียด.....ทำเหยียดหยัน

เพียงเพราะพวกพ้องเพื่อน......ก็เลือนกัน

เสแสร้งสร้างสุขสันต์......ให้ฉันชม

 

๐ อบไออุ่นอิงแอบ......เคยแนบชิด

ต้องตามติดเตือนตัก.....จนรักขม

ไหววิเวกเหว่ว้า......เหงาอารมณ์

ชิดเชยชมแชเชือน......ต้องเลือนลา

 

๐ ทั้งที่แท้ท้อทด.....จนหมดหวัง

ยอมยับยั้งหยัดยืน......ทำชื่นหน้า

เฝ้าใฝ่ฝันฝึกฝืน......เธอคืนมา

ให้โหยหาแหนหวง......ร้าวดวงจินต์

 

๐ เย็นยะเยียบเยื้องย่าง.....บนทางฝัน

เศร้าโศกศัลย์ศักดิ์ศรี......เคยมีสิ้น

หม่นหมองมัวเหมือนมา......ให้ราคิน

หลงเล่ห์ลิ้นลวงหลอก......จนชอกช้ำ

 

๐ หนึ่งนัยนี้แน่นหนัก......ด้วยรักแน่

ไปเปลี่ยนแปรปล่อยปละ......จนถลำ

ร้างแรมรารักร้าว.....ถูกเขาทำ

ได้ดื่มด่ำดวงแด.......เพียงแค่มอง

 

๐ วิเวกไหวเวียนวน.....อยู่บนทาง-

ยะเยียบย่างยื้อยุด.....ประทุษผอง

แห่งห้วงห่มหักหาญ.....ใครผ่านมอง

เมื่อหม่นหมองมีไหม.....ผู้ใกล้ชิด

 

๐ นัยหนึ่งนี้แน่นหนัก.....เกินจักค้น

โดยดั้นด้นโดดเดี่ยว.....ทุกเทียวจิต

ฝ่าฝืนเฝ้าฝันใฝ่.....ด้วยใจมิตร

ฤๅรู้ฤทธิ์รอยร้าง.....ยามห่างไกล

 

๐ เอย..อกเอ๋ยออดอ้อน.....ก็รอนลา

หอมห่วงหาเหือดแห้ง.....อยู่แห่งไหน

ไร้เรี่ยวแรงรับรู้.....เถิดผู้ใด

อวลอุ่นไอโอบอ้อม.....ช่วยล้อมที

 

๐ ไยหยอกเย้าเยี่ยงเย้ย.....แล้วเลยหลบ

คนเคยคบเคยเคียง.....ก็เลี่ยงหนี

เปลี่ยนไปเป็นปล่อยปละ.....สิ้นวจี

ไม่หมายมีเหมือนแม้น.....เคยแสนรัก

 

๐ สู้สั่งสมสีสัน.....เมื่อวันสุข

ทัดทานทุกข์ทดท้อ......ที่รอปัก

จวบจนใจจดจ่อ.....แต่รอทัก

ก็กลับกักกีดกัน.....ไม่หันมา

 

๐ ร่องรอยรักเริ่มร้าง......เพราะต่างฝัน

เกี่ยวก้อยกันก่อนเก่า......เคยเฝ้าหา

จรจากเจ้าจำใจ......ไปไกลตา

รักแรมรารอยร้าว......ช่างหนาวใจ

 

๐ เพราะพันพัวเพ่งพิศ......ในจิตที่

หม่อนหมองมีมากมาย......เกินหมายไว้

ทุกข์ท่วมท้นทนทาน.......จนนานไป

หวาดหวิวไหววูบวาบ.....เกินทาบทา

 

๐ ชาติชายชาญชอกช้ำ......เกินคำไข

จนจิตใจจ่อมจม.....ก็สมสา

อกเอ๋ยอกอั้นอัด......จำตัดลา

ให้โหยหาไห้หวน......จนซวนเซ

 

๐ ป่วนปั่นแปรเปลี่ยนไป......มันไม่เหมาะ

ยังยิ้มเยาะเย้ยหยัน......ก่อนหันเห

แรงรักเรารุมรุม.......เคยทุ่มเท

ล้างโลเลเล่ห์ลวง.......ติดบ่วงกรรม.

 

 

โดยส่วนตัวผมเห็นว่าเป็นกลบทที่น่าสนใจ เพราะแต่งง่าย และมีความไพเราะจากการเล่นคำ ใครสนใจลองฝึกแต่งกันดูนะครับ

 

คนกุลา

เรียบเรียง

๑๙  กรกฎ  ๕๔				
16 กรกฎาคม 2554 13:30 น.

ประวัตินายนรินทรธิเบศร์ (อิน หรือ ทองอินทร์)

คนกุลา

ประวัติของนายนรินทร์ธิเบศร์นั้น เท่าที่ค้นได้ ทราบว่า แต่เดิมทีนายนรินทร์มีชื่อว่า "นายทองอินทร์" หรือ อิน
 เป็นโอรสใน กรมขุนอินทรพิทักษ์ (พระราชโอรสพระเจ้ากรุงธนบุรี) กับ หม่อมเจ้าหญิงโสภา (ธิดากรมหมื่นสุนทรเทพ) เมื่อหม่อมเจ้าหญิงโสภาทรงครรภ์นั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้กรมขุนอินทรพิทักษ์ยกทัพ
ไปตีเมืองเชียงใหม่ แต่ตีไม่สำเร็จ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกริ้ว จึงให้หม่อมเจ้าหญิงโสภาไปเป็นภรรยาเจ้าพระยาสวรรคโลก ผู้ซึ่งตีเมืองเชียงใหม่ ได้สำเร็จ  เมื่อทารกเกิดได้ชื่อทองอินทร์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเมตตาทองอินทร์เสมอ เมื่อทองอินทร์โตขึ้น ทรงให้ไปอยู่ด้วยเจ้าพระยาสุรสิห์  ในสมัยรัชกาลที่ ๑ จึงได้รับราชการเป็นมหาดเล็ก ฝ่ายพระราชวังบวร (วังหน้า) 
ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้รับพระราชทานยศเป็นหุ้มแพร และมีบรรดาศักดิ์ที่ นายนรินทรธิเบศร์ จึงมักเรียกกันว่า นายนรินทรธิเบศร์ (อิน) คือใส่ชื่อเดิมเข้าไปด้วย

นายนรินทรธิเบศร์ (อิน) ไม่ใคร่จะได้แต่งหนังสือไว้มากนัก และแต่งไว้บ้างก็ล้วน    แต่เป็นโคลง ที่ปรากฏว่าเป็นกลอนนั้นมีน้อยเต็มที เช่น  โคลงยอพระเกียรติตอนท้ายหนังสือปฐมมาลา ก็เป็นฝีปากของนายนรินทร์ (อิน) จึงสันนิษฐานได้ว่า นายนรินทรธิเบศร์ (อิน) ชอบโคลงมากกว่าคำประพันธ์อื่นๆ

ผลงานการประพันธ์ของนายนรินทรธิเบศร์ อื่นๆนอกจากนิราศนรินทร์ นั้นไม่ปรากฏแพร่หลาย และที่มีอยู่บ้าง ก็ ไม่มีที่ใดจะเปรียบกับโคลงนิราศนรินทร์ นี้ได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีเพลงยาวอีกเรื่องหนึ่ง ที่กล่าวว่าเป็นของนายนรินทรธิเบศร์ นั่นคือ เพลงยาวของนายนรินทร์ ซึ่งมีเนื้อความดังนี้


    โฉมสุคนธารทิพย์ประทิ่นหอม
    หรือสาวสุรางค์นางฟ้ามาแปลงปลอม
    หรือนางจอมไกรลาศจำแลงลง

        มาโลมโลกให้พี่หลงลานสวาสดิ์
        ประหลาดบาดตาแลตะลึงหลง
        ควรแผ่แผ่นสุวรรณวาดให้สมทรง
        เกลือกจะคงจรจากพิมานจันทร์

    พี่หมายน้องดุจปองปาริกชาติ
    มณโฑไทเทวราชบนสวรรค์
    หากนิเวศน์นี้ศิวิไลสิไกลกัน
    จะใฝ่ฝันดอกฟ้าสุมามาลย์ฯ

นิราศนรินทร์
นิราศนรินทร์ เป็นวรรณคดีในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่งในสมัยรัชกาล ที่ ๒ ประเภทนิราศ ที่จัดว่าแต่งได้ดี ถึงขนาดที่กระทรวงศึกษาธิการคัดมาให้นักเรียนได้ศึกษากันในชั้นเรียน และมีบทโคลงที่ใช้เป็นแบบแผนของโคลงสี่สุภาพด้วย
นิราศนรินทร์ เป็นบทประพันธ์ประเภทนิราศคำโคลงที่โด่งดังที่สุดในยุครัตนโกสินทร์ ทัดเทียมได้กับ”กำสรวญศรีปราชญ์”และ”ทวาทศมาศ”ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้แต่งคือ นายนรินทร์ธิเบศร์(อิน) แต่งขึ้นเมื่อคราวตามเสด็จ กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ไปทัพพม่า ซึ่งยกลงมาตีเมืองถลางและชุมพร  ในสมัยรัชกาลที่ ๒  เมื่อปีมะเส็ง (พ.ศ. ๒๓๕๒) นิราศเรื่องผู้แต่งไม่ได้ระบุชื่อเอาไว้ แต่เรียกกันโดยทั่วไปตามชื่อผู้แต่ง ว่า “นิราศนรินทร์”
เนื้อหาของนิราศนรินทร์ก็ดำเนินตามแบบฉบับนิราศทั่วไป คือ การคร่ำครวญและพรรณนาความรู้สึกอาลัยอาวรณ์ที่มีต่อหญิงคนรัก และเล่าถึงการเดินทาง เมื่อผ่านภูมิประเทศต่างๆ เริ่มจากคลองขุด ถึงวัดแจ้ง (วัดอรุณ) เข้าคลองบางกอกน้อย และล่องเรือไปจนถึงอ่าวไทย แล้วขึ้นบกที่เพชรบุรี
โดยการแต่งนิราศเรื่องนี้ได้รับอิทธิพลอย่างสูงจาก โคลงกำสรวล  ซึ่งมีมาแต่โบราณ จนกระทั่งมีผู้สันนิษฐานว่านายนรินทรธิเบศร์ (อิน) แต่งเอาอย่าง หรือเลียนแบบโคลงนิราศกำสรวลศรีปราชญ์ ซึ่งแต่งในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อเทียบเคียงกันแล้ว พบว่านิราศนรินทร์มีจุดเด่นที่การใช้คำที่ไพเราะ รื่นหู ข้อความกระชับ ลึกซึ้งและกินใจ จนบางท่านมีความเห็นว่าแต่งได้ดีกว่าเรื่องกำสรวลศรีปราชญ์ จนสามารถถือว่าเป็นนิราศคำโคลงที่ไพเราะที่สุดก็ย่อมได้
นิราศนรินทร์แต่งด้วยโคลงสี่สุภาพ ๑๔๓ บท โดยมีร่ายสุภาพขึ้น ต้น ๑ บท ผู้แต่งประณีตในการคัดสรรคำและความหมาย ร้อยกรองเป็นบทโคลงที่ไพเราะ ทั้งยังมีสัมผัสอักษรแพรวพราวตามขนบของคำโคลง อาจกล่าวได้ว่า แทบไม่มีโคลงบทไหนเลย ที่อ่านแล้วไม่รู้สึกถึงความไพเราะงดงาม อย่างไรก็ตาม ด้วยสำนวนภาษาที่เก่าถึงยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น จึงมีคำศัพท์จำนวนไม่น้อยที่เข้าใจยาก หรือเป็นที่ถกเถียงกันโดยยังไม่มีข้อยุติ
ร่ายสุภาพ :
ศรีสิทธิ์พิศาลภพ เลอหล้าลบล่มสวรรค์ จรรโลงโลกกว่ากว้าง
แผนแผ่นผ้างเมืองเมรุ ศรีอยุธเยนทร์แย้มฟ้า แจกแสงจ้าเจิดจันทร์
เพียงรพิพรรณผ่องด้าว ขุนหาญห้าวแหนบาท สระทุกข์ราษฎร์รอนเสี้ยน
ส่ายเศิกเหลี้ยนล่งหล้า ราญราบหน้าเภริน เข็ญข่าวยินยอบตัว
ควบค้อมหัวไหว้ละล้าว ทุกไทน้าวมาลย์น้อม ขอออกอ้อมมาอ่อน
ผ่อนแผ่นดินให้ผาย ขยายแผ่นฟ้าให้แผ้ว เลี้ยงทแกล้วให้กล้า
พระยศไท้เทิดฟ้า เฟื่องฟุ้งทศธรรม ท่านแฮ

โคลงสี่ สุภาพ

อยุธยายศล่มแล้ว............ลอยสวรรค์ ลงฤา
สิงหาสน์ปรางค์รัตน์บรร......... เจิดหล้า
บุญเพรงพระหากสรรค์............ ศาสน์รุ่ง เรืองแฮ
บังอบายเบิกฟ้า...................... ฝึกฟื้นใจเมือง

เรืองเรืองไตรรัตน์พ้น................ พันแสง
รินรสพระธรรมแสดง................. ค่ำเช้า
เจดีย์ระดะแซง......................... เสียดยอด
ยลยิ่งแสงแก้วเก้า..................... แก่นหล้าหลากสวรรค์

โบสถ์ระเบียงมรฑปพื้น................ ไพหาร
ธรรมาสน์ศาลาลาน..................... พระแผ้ว
หอไตรระฆังขาน.......................... ภายค่ำ
ไขประทีปโคมแก้ว......................... ก่ำฟ้าเฟือนจันทร์

เสร็จสารพระยศซ้อง................... สรรเสริญ
ไป่แจ่มใจจำเริญ........................ ร่ำอ้าง
ตราตรอมตระโมจเหิน................ หวนสวาท
อกวะหวิวหวั่นร้าง..................... รีบร้อนการณรงค์

แถลงปางบำราศห้อง.................. โหยครวญ
เสนาะเสน่ห์กำสรวล..................... สั่งแก้ว
โอบองค์ผอูนอวล.......................... ออกโอษฐ์ อรเอย
ยามหนึ่งฤาแคล้วแคล้ว................. คลาดคล้ายขวบปี

รอยบุญเราร่วมพ้อง...................... พบกัน
บาปแบ่งสองทำทัน........................ เท่าสร้าง
เพรงพรากสัตว์จำผัน...................... พลัดคู่ เขาฤา
บุญร่วมบาปจำร้าง........................ นุชร้างเรียมไกล

จำใจจากแม่เปลื้อง........................ ปลิดอก อรเอย
เยียวว่าแดเดียวยก......................... แยกได้
สองซีกแล่งทรวงตก........................ แตกภาค ออกแม่
ภาคพี่ไปหนึ่งไว้.............................. แนบเนื้อนวลถนอม

โอ้ศรีเสาวลักษณ์ล้ำ........................ แลโลม โลกเอย
แม้ว่ามีกิ่งโพยม............................ ยื่นหล้า
แขวนขวัญนุชชูโฉม....................... แมกเมฆ ไว้แม่
กีดบ่มีกิ่งฟ้า................................ ฝากน้องนางเดียว

โฉมควรจักฝากฟ้า....................... ฤาดิน ดีฤา
เกรงเทพไท้ธรณินทร์.................... ลอบกล้ำ
ฝากลมเลื่อนโฉมบิน...................... บนเล่า นะแม่
ลมจะชายชักช้ำ............................. ชอกเนื้อเรียมสงวน

ฝากอุมาสมรแม่แล้........................ ลักษมี เล่านา
ทราบสวยมภูวจักรี ........................เกลือกใกล้
เรียมคิดจบจนตรี.......................... โลกล่วง แล้วแม่
โฉมฝากใจแม่ได้............................ ยิ่งด้วยใครครอง

บรรจถรณ์หมอนม่านมุ้ง.................... เตียงสมร
เตียงช่วยเตือนนุชนอน....................... แท่นน้อง
ฉุกโฉมแม่จักจร................................ จากม่าน มาแฮ
ม่านอย่าเบิกบังห้อง........................... หับให้คอยหน

สงสารเป็นห่วงให้................................ แหนขวัญ แม่ฮา
ขวัญแม่สมบูรณ์จันทร์......................... แจ่มหน้า
เกศีนี่นิลพรร....................................... โณภาส
งามเงื่อนหางยูงฟ้า............................. ฝากเจ้าจงดี

เรียมจากจักเนิ่นน้อง........................... จงเนา นะแม่
ศรีสวัสดิ์เทอญเยาว์............................ อย่าอ้อน
อำนาจสัตย์สองเรา............................. คืนร่วม กันแม่
การณรงค์ราชการร้อน......................... เร่งแล้วเรียมลา

ลงเรือเรือเคลื่อนคว้าง.......................... ขวัญลิ่ว แลแม่
ทรุดนั่งถอนใจปลิว................................อกว้า
เหลียวหลังพี่หวาดหวิว.........................ใจวาก
แลสั่งสบหน้าหน้า.................................แม่หน้าเอ็นดู

ออกจากคลองขุดข้าม.......................... ครรไล
เรือวิ่งอกว้าใจ.................................... หวาดขว้ำ
เด็ดแดดั่งเด็ดใย................................ บัวแบ่ง มาแม่
จากแต่อกใจปล้ำ.............................. เปลี่ยนไว้ในนาง

บรรลุอาวาสแจ้ง.............................. เจ็บกาม
แจ้งจากจงอาราม............................. พระรู้
เวรานุเวรตาม................................... ตัดสวาท แลฤา
วานวัดแจ้งใจชู้.................................. จากช้าสงวนโฉม

มาคลองบางกอกกลุ้ม........................ กลางใจ
ฤาบ่กอกหนองใน............................... อกช้ำ
แสนโรคเท่าไรไร................................. กอกรั่ว ราแม่
เจ็บรักแรมรสกล้ำ.............................. กอกร้อยฤาคลาย

ชาวแพแผ่แง่ค้า................................. ขายของ
แพรพัสตราตาดทอง........................... เทศย้อม
ระลึกสีสไบกรอง................................. เครือมาศ แม่เฮย
ซัดสอดสองสีห้อม.............................. ห่อหุ้มบัวบัง

วัดหงส์เหมราชร้าง..............................รังถวาย นามแฮ
เรียมนิราเรือนสาย.............................. สวาทสร้อย
หงส์ทรงสี่พักตร์ผาย............................ พรหมโลก แลฤา
จะสั่งสารนุชคล้อย.............................. คลาดท้าวไป่ทัน

สังข์กระจายพี่จากเจ้า.......................... จอมอนงค์
สังข์พระสี่กรทรง................................. จักรแก้ว
สรวมทิพย์สุธาสรง...............................สายสวาท พี่เอย
สังข์สระสมรจงแผ้ว.............................. ผ่อนถ้าเรียมถึง

จากมามาลิ่วล้ำ................................. ลำบาง
บางยี่เรือราพลาง...............................พี่พร้อง
เรือแผงช่วยพานาง............................ เมียงม่าน มานา
บางบ่รับคำคล้อง............................. คล่าวน้ำตาคลอ

มาด่านด่านบ่ร้อง............................. เรียกพัก พลเลย
ตาหลิ่งตาเหลวปัก........................... ปิดไว้
ตาเรียมหลั่งชลตัก.......................... ตวงย่าน
ไฟด่านดับแดไหม้............................มอดม้วยฤามี

นางนองชลน่านไล้.......................... ลบบาง
ไหลเล่ห์ชลลบปราง.........................แม่คล้ำ
แสนโศกสั่งสารปาง......................... จากพี่ ปลอบแม่
นาสิกเรียมซับน้ำ............................. เนตรหน้านางนอง

บางขุนเทียนถิ่นบ้าน........................ นามมี
เทียนว่าเทียนแสงสี.......................... สว่างเหย้า
เย็นยามพระสุริยลี........................... ลาโลก ลงแม่
เทียนแม่จุดจักเข้า............................สู่ห้องหาใคร

ปานนี้มาโนชญ์น้อย............................. นงพาล พี่เอย
เก็บเกศฤากรองมาลย์........................... มาศห้อย
ปรุงจันทน์จอกทองธาร.......................... ประทิน ทาฤา
นอนนั่งถามแถลงถ้อย.......................... ทุกข์พร้องความใคร

คุณค่าของโคลงนิราศนรินทร์ 
นักวรรณคดีมักเปรียบเทียบโคลงบทนี้ กับโคลงดั้นจากโคลงกำสรวล ซึ่งขึ้นบาทแรกด้วยสำนวนคล้ายกัน ดังต่อไปนี้ ซึ่งเป็นบทชมพระนครเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ผู้แต่งอาจชื่นชมโคลงจากโคลงกำสรวล ซึ่งชื่นชมพระนครเมื่อครั้งยังรุ่งเรือง ดังบท

อยุธยายศล่มแล้ว..................ลอยสวรรค์ ลงฤๅ
สิงหาสน์ปรางค์รัตน์บรร-.......เจิดหล้า
บุญเพรงพระหากสรรค์..........ศาสน์รุ่ง เรืองแฮ
บังอบายเบิกฟ้า...................	ฝึกฟื้นใจเมือง

(กรุงศรีอยุธยาแตกไปแล้ว แต่กลับลอยลงมาจากสวรรค์อีกหรืออย่างไร มีปราสาทพระราชวังอันงดงามตระการตา
ด้วยบุญบารมีของพระมหากษัตริย์ช่วยทนุบำรุงพระศาสนาให้รุ่งเรือง ปัดเป่าทุกข์ให้แก่ไพร่ฟ้าชาวประชา)

กับบทที่ว่า 
๑.อยุธยายศยิ่งฟ้า.....................ลงดิน แลฤๅ
อำนาจบุญเพรงพระ..................ก่อเกื้อ
เจดียลอออินทร........................ปราสาท
ในทาบทองแล้วเนื้อ...................นอกโสรมฯ
และ
๗.อยุธยายศโยกฟ้า...................ฟากดิน
ผาดดินพิภพดยว.......................ดอกฟ้า
แสนโกฏบยลยิน.......................หยากเยื่อ
ไตรรัตนเรืองรุ่งหล้า..................หลากสรรคฯ
(โคลงกำสรวล)
 

นอกจากนี้ในโคลงหมายเลข ๒๒. ยังถือเป็นแม่แบบของโคลงสี่สุภาพบทหนึ่งด้วย
๒๒. จากมามาลิ่วล้ำ.................ลำบาง
บางยี่เรือราพลาง.....................พี่พร้อง
เรือแผงช่วยพานาง..................เมียงม่าน มานา
บางบ่รับคำคล้อง...................คล่าวน้ำตาคลอฯ
 

ด้วยโคลงบทนี้ใช้คำเอก ๗ โท ๔ และที่เหลือเป็นคำสุภาพทั้งหมด จึงใช้เป็นแม่แบบสำหรับการแต่งโคลงสี่สุภาพ
ได้เป็นอย่างดี (โคลงแม่แบบนอกจากนี้ได้แก่ “เสียงลือเสียงเล่าอ้าง” จากลิลิตพระลอ),

ในตอนท้ายๆ ผู้แต่งยังได้เอ่ยถึงวรรณคดีรุ่นเก่าอีกสองเรื่องในลักษณะยกย่อง คือ กำสรวลศรีปราชญ์ 
และทวาทศมาส คงด้วยว่าเป็นนิราศคำโคลงเช่นที่ผู้แต่งยึดเป็นแนวการแต่งโคลงของตน คือ
๑๒๔.กำสรวลศรีปราชญ์พร้อง.................เพรงกาล
จากจุฬาลักษณ์ลาญ..............................สวาทแล้ว
ทวาทศมาสสาร.....................................สามเทวษ ถวิลแฮ
ยกทัดกลางเกศแก้ว...............................กึ่งร้อนทรวงเรียมฯ
 

ส่วนในโคลงบทสุดท้าย (๑๔๔) ผู้แต่งได้ระบุชื่อตนเอาไว้ด้วย ดังนี้
๑๔๔.โคลงเรื่องนิราศนี้......................	นรินทร์อิน
รองบาทบวรวังถวิล............................	ว่าไว้
บทใดปราชญ์ปวงฉิน.........................	เชิญเปลี่ยน แปลงพ่อ
ปรุงเปรียบเสาวคนธ์ไล้........................เลือกลิ้มดมดูฯ

ผมเรียบเรียงประวัติ ของนายนรินทร์ธิเบศร์ (อิน) นอกจากเป็นความสนใจใคร่รู้ของตนเองแล้ว อาจจะมีประโยชน์
สำหรับ ท่านอื่นที่สนใจ ด้วยครับ  สำหรับผมเองแล้วการได้เรียบเรียงเรื่องนี้ ทำให้ผมเห็นถึงคุณลักษณะของท่านนรินทร์ 
อันพร้อมไปด้วยฝีมือในทางโคลง  และความอ่อนน้อมถ่อม ตน ยกย่องเชิดชู บทกวีโบราณ ก่อนท่านคือ โคลงกำสรวล
รวมทั้งอ่อนน้อมต่อผู้อ่าน ที่เป็นผู้รู้  ซึ่งนักโคลงกลอนรุ่นหลัง ควรเอาเยี่ยงอย่างที่ดี เหล่านี้อย่างยิ่ง

ด้วยจิตแห่งกตเวทิตาคุณ
คน  กุลา
เรียบเรียง

แหล่งอ้างอิง
http://th.wikipedia.org/wiki
http://www.kaweeclub.com/b28/
http://nirard-narind.exteen.com/20071218/entry-1
http://khunnokyoong.blog.com/2009/04/11				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟคนกุลา
Lovings  คนกุลา เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟคนกุลา
Lovings  คนกุลา เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟคนกุลา
Lovings  คนกุลา เลิฟ 0 คน
ไม่มีข้อความส่งถึงคนกุลา