..ต้องขอประนมมือกล่าว่า...ลืมผม หรือยังครับแฟน เมื่อก่อนเคยฟังกันแน่น ..แฟนจ๋าแฟน ลืมผม ..กิ่งโศก ..หรือยัง อิอิ หายหน้า เหลือแต่ตา คอยแวบมาดู หุหุ ..ก็พอหายใจหายคอจากงานได้บ้าง เลยต้องมาเป็นดีเจ อีกสักรอบ.. และใกล้เทศกาล วันแม่ วันนี้ทีแรกว่า จะลงเพลงแม่ แต่ ว่าเคยลงไปแย้ววว อะ เลยต้องหา มุกใหม่ เอ๊ย เพลงใหม่..ที่เกี่ยวกับแม่...นึกก่อน..น๊า.ระหว่างนึกคาดว่าเสียงเพลงคงเริ่มดังแล้วละครับ หุหุ แม่... แม่ คำคำนี้ ยิ่งใหญ่เสมอ ในความรู้สึกของคนที่เอ่ย เราลองมาดูความหมาย ตามพจนานุกรม นะครับ ... แม่ น. หญิงผู้ให้กําเนิดหรือเลี้ยงดูลูก, คําที่ลูกเรียกหญิงผู้ให้กําเนิดหรือเลี้ยงดูตน; คําที่ผู้ใหญ่เรียกผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่าด้วยความสนิทสนมหรือรักใคร่เป็นต้นว่า แม่นั่น แม่นี่; คําใช้นําหน้านามเพศหญิง แปลว่า ผู้เป็นหัวหน้า เช่น แม่บ้าน; ผู้หญิงที่กระทํากิจการหรืองานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ค้าขาย เรียกว่า แม่ค้า ทําครัว เรียกว่า แม่ครัว; เรียกสัตว์ตัวเมียที่มีลูก เช่น แม่ม้า แม่วัว; เรียกคน ผู้เป็นหัวหน้าหรือเป็นนายโดยไม่จํากัดว่าเป็นชายหรือหญิง เช่น แม่ทัพ แม่กอง; คํายกย่องเทวดาผู้หญิงบางพวก เช่น แม่คงคา แม่ธรณี แม่โพสพ, บางทีก็ใช้ว่า เจ้าแม่ เช่น เจ้าแม่กาลี; เรียกสิ่งที่เป็นประธานของสิ่งต่าง ๆ ในพวกเดียวกัน เช่น แม่กระได แม่แคร่ แม่แบบ; เรียกชิ้นใหญ่กว่าในจําพวกสิ่งที่สําหรับกัน เช่น แม่กุญแจ คู่กับ ลูกกุญแจ; แม่นํ้า เช่น แม่ปิง แม่วัง ฯลฯ จะพบว่า คำว่าแม่ นั้น ใช้เปรียบเทียบถึงความยิ่งใหญ่เป็นหลัก แลใกล้วันแม่มาทุกขณะ เราคงได้อ่าน ได้สัมผัส บทกวี ต่างๆ ในบ้านไทยโพเอม นี้กันหลากหลายที่เดียว ที่จะกล่าวถึงพระคุณ ของ แม่ หรือ มารดา.. กิ่งโศก อยาก ลำนำ บทเพลง ที่เกี่ยวข้อง อันที่กล่าวถึงแม่ ประกอบ ด้วย แต่จักขอกล่าวถึง แม่น้ำ ครับ วันนี้อยากขับขาน บทเพลงแห่งเบื้องลุ่มลำน้ำ ฝั่งฝากตะวันตก จรดตะวันตกเฉียงใต้ หรือ ทิศหรดี กัน นั่นคือ ลำน้ำ แม่กลอง..นั่นเอง ในความรู้สึกของคนทั่วไป เมื่อกล่าวถึง แม่กลอง มักนึกถึง สมุทรสงคราม อัมพวา หลวงพ่อวัดบ้านแหลม อุทยาน ร.๒ บางคนที ฯลฯ ด้วยเหตุว่ามีการสรรสร้าง ศิลป บทความ บทเพลงเกี่ยว กับ แม่กลองเฉพาะย่านนี้กันเป็นส่วนมาก ลาสาวแม่กลอง หรือ มนต์รักแม่กลอง ก็กำเนิด คีตทำนองเพลง แนวพื้นบ้าน ระบัดขึ้นเขตคามย่านนี้ ย่านอัมพวา .. แต่หากดูกันจริงๆ แล้ว สายน้ำ แม่กลอง ที่ ทอดโค้ง ไหลหลั่ง ร่วม 130 กว่ากิโลเมตร นี้ ต้นสายกลับ อยู่แถบตะวันตกโน่น คือ แถวจังหวัดกาญจนบุรี แล้วไหลผ่าน จังหวัดราชบุรี ลงสู่อ่าวไทย ที่สมุทรสงคราม.. โดยเริ่มที่ลำน้ำแควน้อย ที่ผสานรวมกับ ลำแควใหญ่ อันกำเนิดมาจาก ดินแดน หุบเขา และที่สูงในเทือกเขาถนนธงชัย ตะนาวศรีที่กั้นเขตแดนประเทศไทย มาบรรจบกัน ที่เมืองกาญจนบุรี จึงก่อให้กำเนิด ลำน้ำสายนี้ แม่น้ำแม่กลอง แม่กลอง เป็นแหล่งกำเนิดอารยะธรรม ขนบธรรมเนียมมากหลาย ที่ลำน้ำสายนี้ได้ ทอดผ่านไป สร้างความเจริญ ก่อเกิด วัฒนามาอย่างยาวนานเกือบ 3000 ปี แล้ว จะพบวัตถุ ซากสิ่งแต่ก่อน เมืองโบราณมากมาย เช่นชุมชุนบ้านเก่า ปราสาทเมืองสิงห์ เมืองครุฑ เมืองคูบัว อารยธรรมงอกงามขึ้นริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง สายนี้. น่าแปลก ที่ความมีชื่อเสียงของลำน้ำแม่กลอง กลับสะพรั่ง ณ..ปลายสายของแม่น้ำ ฤาเพราะ ถิ่นลุ่มปากน้ำแม่กลอง ในส่วนปลายมัก อุดมไปด้วย นักดนตรี นักประพันธ์ นักร้อง ซึ่งแสดงให้เห็นมากมาย ครูเอื้อ สุนทรสนาน ทูล ทองใจ และหลากหลาย วงการศิลป ที่มีคนดังๆ กำเนิดที่นี่ แล้ว ต้นสายน้ำ กลางสายน้ำเล่า ? แม่กลองสายนี้ ได้ก่อเกิดอะไรบ้างหนอ ในการหล่อเลี้ยง ผู้คน และพืชพรรณ ที่การเดินทางของลำน้ำ กิ่งโศก เมื่อหลายปี เดินทางไปแถวกาญจนบุรี บ่อย และแวะไปชม เขื่อนแม่กลอง เดิมชื่อเขื่อนวชิรลงกรณ์ (ถ้าจำไม่ผิด) ตอนนั้นก็เพียงแปลกใจว่า แม่น้ำแม่กลอง ไหลมาแต่นี่เลยหรือ ? บทเพลงที่อยากนำเสนอ ณ ห้วงนี้ เป็นเพลงเก่า ประพันธ์โดย ครูไพบูลย์ บุตรขัน ต้นฉบับ ขับร้องโดย ศรคิรี ศรีประจวบ แต่วันนี้ นำฉบับหวาน ของ อ๊อด โอภาส มาขับขานกัน ความไพเราะนอกจากที่เนื้อหา และ น้ำเสียงผู้ร้องแล้ว คือ ท่วงทำนองดนตรี เป็นดนตรีไทย ฟังแล้ว ชวนเคลิ้มนักละครับ เชิญ รับชมและรับฟังได้ ขอรับ. มนต์รักแม่กลอง อ๊อด โอภาส ทศพร เจื้อยแจ้วแว่วเสียงสำเนียงขับร้อง ดังเพลงมนต์รักแม่กลอง ล่องลอยพริ้วหวานซ่านมา กล่อม สาวงามบ้านอัมพวา มนต์รักแม่กลองแว่วมา เหมือนสายธาราแม่กลองรำพัน พี่ต้องจากลาขวัญตานิ่มน้อง ไม่ลืมลาสาวแม่กลอง ต้องครวญหวนมาสักวัน กลิ่น เนื้อนางไม่จางสัมพันธ์ เราสองล่องเรือร่วมกัน.. ร้องเพลงชมจันทร์ลุ่มน้ำแม่กลอง ไม่ลืม น้ำใจไมตรี สาวงามบ้านบางคณฑี เอื้ออารีเรียกร้อง ให้ดื่มน้ำตาลพร้อมกับยิ้มหวาน ของนวลละออง ก่อนลาจากสาวแม่กลอง เรา ร่วมปิดทองงานวัดบ้านแหลม เจื้อยแจ้วแว่วเสียงสำเนียงขับร้อง คร่ำครวญลาสาวแม่กลอง ล่องลอยเมื่อคืนข้างแรม กรุ่น หอมไอทะเลเคล้าแซม มนต์รักแม่กลองแทรกแซม คิดถึงพวงแก้มนวลสาวแม่กลอง ยิ่งฟังยิ่งน้าวใจให้คิดถึง มนต์แม่กลองนัก แม้ว่า คำรบหนึ่งดูฉ่ำหวาน แต่อีกคำรบหนึ่ง กับปวดร้าวนัก แต่อย่างน้อย เราเองยังได้สัมผัส เบื้องลุ่มน้ำแห้งนี้ ภาพที่ผ่านไป ยังคงตรึงตรามิรู้ลืม..แม่กลอง.. ๏ แม่กลองแม่เกี่ยวเส้น...... สายธาร เถื่อนเฮย ล่วงสืบหลืบสรวงสาน ....... ประสิทธิ์ร้อย ไหลเอื่อยเรื่อยไอลาน ...... โอบร่ำ พลบค่ำพร่ำครบคล้อย ....... เรื่อเคล้าเร้าเครือ ๚ะ ๏ แม่กลองแม่เกี่ยวม่านเส้นธารเถื่อน อุทกเคลื่อนโค้งอิงโอบสิงขร สีเงินยวงแย้มจรดเบื้องบทจร แลชะง่อนชะโงกง้ำบ่งำเงา ล่วงบุรีเลยบ้านเบื้องลานล่าง โชติสว่างพร่างศิลป์ยั้งถิ่นเหย้า กำเนิดปูมเปรยขานตำนานเนา ริมฝั่งเก่ากกแก่ลำแม่กลอง ตำนานรักสลักโฉลกวิโยคย้อย ปีกหิ่งห้อยพริบพรูลำพูผ่อง เกิดคู่กรรมสะเทือนลั่นสนั่นคลอง สงครามโลกครั้งสองแม่กลองซม จักกี่ล่วงกี่ลับกี่เลือนหาย ช่วงน้ำสายชุ่มชื่นยังตื่นสม ผ่ายล้างผ่าวร้าวพร่อยมิลอยพรม ชอุ่มชุ่มแลสมโน้มฤดี บทเพลงขานร่ายขับลำดับคร่าว หนุ่มครวญสาวหน่ายถิ่นถวิลหนี ลาสายน้ำเบื้องทิศหรดี แม้นบุญมีคงบ่ายแลหมายคืน ๚ะ ๏ เพลงร่ำพร่ำเร่งร้อย ........ แผ่วโลม โหยร่วงห่วงโรยโหม ......... เรี่ยห้อม บ่ารุกบุกละโบม .............. ระบัดบ่ง รานหักรักหั่นล้อม ........... ฤทธิ์ห้วงหฤหรรษ์ ๚ะ + กิ่งโศก+
ด้วย ทราบว่าหลายคนหลายท่านอาจจะยัง งง กับการ ใส่เพลง ในบทกลอน หรืองานเขียน ในไทยโพเอม นี้ เพราะมีการถาม มาหลายครั้ง นะครับ ซึ่งผู้รู้หลายท่านได้อธิบาย ไว้หลายคนแล้ว บางครั้งกระทู้ก็หาไม่เจอแล้ว อีกอย่างการอธิบายเขียนลงไปใน นี้ .ส่วนที่เป็นโค๊ด มักไม่แสดงภาพให้เห็น..ผมเลยขอพิมพ์ เซฟไว้ในไฟล์รูปภาพ แล้วนำมาแปะอีกทีครับ ขั้นต้อนการใส่เพลง มีดังนี้ครับ ติดวิธีการแปลงเพลงไว้ก่อนนะครับ
ช่วงนี้เป็นช่วงหลงเสน่ห์เมืองเหนือ ของกิ่งโศก คนยาก หุหุ แลคาบนี้เรามาสัมผัส แคว้นในอดีต ที่เกือบจะเป็นแค่ตำนาน.. เวียงกุมกาม..ตำนานเมืองล่ม เบื้องลุ่มน้ำแม่ปิง เมืองที่ประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ แลก่อนกาลนั้น ยังก่อกำเนิด ศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์มากมาย เช่นวัด และกู่ ( กู่ หมายถึงเจดีย์) เวียงกุมกาม ที่ถูกขนานนามว่า เป็นเมืองหลวง เมืองแรกของอาณาจักรล้านนาไทย หากไม่ล่มแล้วคงรุ่งเรืองยิ่งนักแล้ว เวียงกุมกามแม้นจำเริญรุ่งไม่นาน และเกือบหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ จนผู้คนเกือบจะจดจำกันไม่ได้แล้วว่ามีอยู่จริงหรือเป็นเพียงตำนานเท่านั้น จวบประมาณปี 2527 กรมศิลปกรได้ไปขุดเจอ เมืองล่มเมืองนี้ เรื่องราวจึงบ่งบอกเหตุ อุบัติขึ้น ทำให้ เราๆ ได้รู้จัก มิใช่แค่เป็นเป็นเรื่องเล่าขาน เรื่องราวความรัก สัจจะ แลการสร้างบ้านแปลงเมือง ของเจ้าชีวิตล้านนา.เท่านั้น แต่ ทุกสิ่งทั้งหลายคือ ประวัติศาสตร์ชาติไทย.. ปัจจุบัน .เวียงกุมกาม อยู่ในท้องที่หมู่ 11 ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ ประมาณ 5 กิโลเมตร ติดกับ ลำพูน เกร็ดประวัติคงมีการกล่าวไว้ให้ศึกษา เกี่ยวกับเวียงกุมกามเหล่านี้มากมายแล้ว กิ่งโศก เพียงสะกิด อนุสติตัวเองให้หวนนึกถึง นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ เรื่อง เวียงกุมกาม ที่ได้เคยอ่านมาก่อนหน้านี้ ... ความรัก เรียกว่า 5 เส้า ก็ได้...ถูกดำเนินเรื่องแบบอิงประวัติศาสตร์ ได้ชวนติดตามยิ่ง แม้จะติดขัดกับการ อ่านภาษาทางเหนือ.. เจ้าพระยามังราย มหาเทวี นางอั๊ว ราชเทวี พายโค อ้ายฟ้า และ กานโถม นวนิยายเรื่องนี้ มีนักอ่านชาวลำพูนเพื่อนของกิ่งโศกเอง เคยต่อต้านและวิพากษ์ ในแง่ผู้เขียนที่อ้างอิงประวัติศาสตร์เวียงกุมกามกับผู้ค้นคว้า อีกท่านหนึ่ง ที่แย้งกับอีกท่านหนึ่ง..ณ. ที่นี้กิ่งโศก ไม่ขอก้าวล่วงวิพากษ์ในหัวข้อขัดแย้งดังกล่าวแต่อย่างใดแต่เพียงใด เพียงมีความชื่นชอบ นวนิยายแนวอิงประศาสตร์ หลายๆเรื่อง และเวียงกุมกามก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หากจะถือว่า อิงประวัติศาตร์ นั้นครึ่งหนึ่งทีเดียว ส่วนอีกครึ่งเป็นการจินตนาการของผู้แต่ง ( ทมยันตี) อยาก สปอย เรื่องราวให้ฟังจัง..แต่จำได้ไม่หมด เอาแบบย่อ แล้ว ก็ย่อ ก็แล้วกัน 55 พระยามังราย ปฐมกษัตริย์ ล้านนา รักใคร่นางอั๊ว แล ให้สัจจะแก่นางว่า จะรักนางคนเดียว ในโลก โดยมิปันใจให้นางอื่น นางอั๊ว เวียงชัย ผู้งดงาม แลมีฝีมือฟันดาบ และ นางคือ ฟ้ามุ่ย แห่งม่อนผาสูง ของอ้ายฟ้าผู้เฝ้าปองด้วยใจภักดิ์ อ้ายฟ้า ชายหนุ่มรูปงาม สุภาพบุรุษ เป็นนักรบ และศิษย์ร่วมสำนักดาบกับนางอั๊ว และหลงรักนางอั๊ว ด้วยภักดิ์ยิ่ง แบบไม่มองสาวอื่น พายโค ราชธิดาเมืองหงสา ผู้งดงามยิ่งแลถูกถวายให้พญามังราย ..หรือนี่คือเหตุให้นางอั๊วไปบวชชี และปรกอบเหตุบุตรนางอั๊วเสียชีวิตด้วย จึงตัดสินใจบวช...และอาจเป็นสาเหตุให้พญา มังรายโดนสายอัสนีบาตจนสิ้นชีพ.... นางพายโคหลงรักอ้ายฟ้า เป็นอย่างยิ่ง เนื่องด้วยพญามังรายรับนางมาแต่ในนามหายุ่งเกี่ยวด้วย ถือสัจจะต่อนางอั๊ว ..นางน้อยใจมาปรึกษาแม่ชีที่วัดบ่อย ..จวบแม่ชีนางอั๊วตาย ..อ้ายฟ้าแค้นพายโค นึกว่าเป็นต้นเหตุ พายโคจึงย้ายมาอยู่เวียงกุมกาม.. กานโถม นายช่าง ผู้แอบรักนางพายโค เยี่ยงทาส โศกนาฏกรรม เมื่อ ภัยจากลำน้ำปิง ท่วมบ่าเวียงกุมกาม ผู้คนล้มตาย..แล นางพายโคด้วย นางตายอยู่ในอ้อมกอดของ กานโถมทาสผู้ซื่อสัตย์ที่พยายามช่วยนาง.. พญามังราย โศกสลด ณ..วันหนึ่งเดินอยู่ในตลาด สายฟ้าได้ผ่ามาที่พญา จนต้องมาตายไปด้วย.. คำสาบาน..กำลังลงทัณฑ์พญาแล้วหรือไร ?..... สักขีแม่ปิง.. อยากนำเสนอ บทเพลง อมตะ สักเพลงเถิด..เพลงนี้โด่งดังครั้งอดีต และสักช่วงหนึ่ง กลุ่มรวมดาว นำมาร้องใหม่ ก็ดังระเบิดเทิดเทิง เลยเชียว 55 เชิญชวน พี่ป้า น้าอา มารำลึกความหลังกันเถิด.... เพลง : สักขีแม่ปิง ศิลปิน : รวมดาว ( ประวิตร ทวินันท์) เนื้อเพลง : ช. โอ้กุศลดลพี่มาพบเจ้า ใจพี่ยังร้อนผ่าว ความรักรุมเร้าคลั่งไคล้ ญ. น้ำคำรักของคนเมืองใต้ จะจริงแท้แค่ไหน สาวเชียงใหม่ครวญใคร่ถวิล ช. ชีพสลายยังไม่คลายรักเจ้า ญ. จริงดั่งใจหรือเปล่า หวั่นเกรงเคลือบเอาที่ลิ้น ช. รักจริงเพียหัวใจแดดิ้น ไม่วายเว้นถวิล มิสิ้นความรักได้เลย ญ. น้ำปิงล้นฝั่ง ช. ดังรักพี่ เปี่ยมฤดีแล้วเจ้าเอย ญ. แล้วคงละเลย ไม่เหมือนเอ่ย ช. โอ้ทรามเชยมิเคยแหนงหน่าย ญ. หน่อยเถิดนะ คงจะไม่เห็นหน้า ช. ถ้าพี่เป็นเหมือนว่า วานน้องฆ่าเสียให้ตาย ญ. สาบาน ช. จ๊ะสาบานก็ได้ หากความรักสลายขอตายในสายแม่ปิง ช. รักกันหวานชื่น ญ. เกรงขมขื่น ขื่นกลับชังช้ำอกหญิง ช. น้องควรรู้ใจ พี่ทุกสิ่งเช่นแม่ปิงรู้จริงใจพี่ ญ. หน่อยจะคร้าน นานกลับกลายหายชื่น ช. พี่ไม่ไปไหนอื่น จะขอชื่นรักอย่างนี้ ญ. อุ๊ยตาย อายเขาบ้างซิพี่ ช. จูบฝากรักสักที ช.ญ. ไว้เป็นสักขีแม่ปิง ๏ ฟ้ามุ่ย..พิมานแถน ๏ งามแม้นยิ่งฟ้ามุ่ย...............ม่อนสูง สรวงเนอ เลอข่มพิลาสยูง..............เยี่ยมฟ้า ตรึงจิตติดจองจูง............แจ้งเติ่ง ตามเฮย แลทอดลอดทั่วหล้า........เลิศถ้วนเรืองแถน ๚ะ ๏ งามแม้นยิ่งฟ้ามุ่ยเยี่ยงปุยฝ้าย เฉกละม้ายศักดิ์แถนยั้งแดนสรวง นายิกามาลัยไผทยวง ผกาพวงกลีบพร้อยดอกสร้อยพราว ๏ นรหาญปีนป่ายหวังได้ปลด ปลายบรรพรตจรดสูงจรุงหาว ร่วงแลหล่นลงเหวแหลกเหลวราว- ฝุ่นทะท่าวยอบพื้นระดื่นดิน ๏ มนต์ฟ้ามุ่ยร่ำหมายกำจายม่อน ภมรว่อนโฉบว่ายไหวถวิล ดอกฟ้าสรวงปวงคู่หมู่เทวิน เหล่าชาวดินเคียงค่าดอกพะยอม ๏ แหงนคอตั้งต่างตาหวังฟ้าเห็น เพียงเศษเส้นกลีบเฉาสิ้นเงาหอม ปลิวจากขั้วหลุดโคมกระโจมจอม ดินเจ้าดอมจึงดมให้สมปอง ๏ มิกลัวพิษซ่อนซ้อนเกสรชู้ หวำวาบสู่วธูชิดสนิทสอง แม้นชั่วเสี้ยวเพลาสั้นเชิงครรลอง ยังตราต้องติดตรึงตราบนิรันดร์ ๚ะ + กิ่งโศก + ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๓
ป่าซาง .. ชื่อนี้ กิ่งโศก ได้ยิน บ่อยครั้ง ในบทเพลง ..ทั้งลูกทุ่ง และลูกกรุง เช่น ชรินทร์ , หยาดนภาลัย .นำมาขานขับบทเพลง แสนไพเราะจับใจยิ่งนัก แม้แต่ราชาเพลงลูกทุ่ง อย่างสุรพล ไม่เว้น ยังขับร้อง ถึงสองเพลงเกี่ยวกับเมืองป่าซาง ระบุบ่งถึง สาวงามเมือง ป่าซาง ไฉน เมืองเหนือจึงตราตรึง ให้ผู้คนหลั่งไหลไปเยือนกันนักหนอ โดยเฉพาะ บุรุษชาติที่ ทิ้งความอาลัยอาวรณ์ ยามจรจากนักแล้ว เสียงเพลงครวญหาสาวงาม ป่าซาง และธรรมชาติ เสน่ห์มนต์เมืองเหนือนั้นช่างเป็นดินแดนแสนงาม ที่ถูกบันทึกลงห้วงความใฝ่ฝันของนักเดินทาง เมื่อมาเยือนก็ยากที่จะลืมเลือน ป่าซาง..ดึงใจให้คนลุ่มหลงด้วย ธรรมชาติอันงดงาม บวกด้วยขนบธรรมเนียม แห่งเมืองล้านนา ในอดีต ไม่เว้นความงามของสตรี แห่งเมืองนี้ ก่อน ที่จะสดับกับบทเพลง เรามารำลึกย้อน แล เยี่ยมยล สภาพ ภูมิศาสตร์ และอดีตเมืองป่าซางกันสักนิดเถอะ ป่าซาง ..เป็นเมืองเก่าชุมชนเก่าแก่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ส่วนที่ตั้งของอำเภอป่าซางนั้น ตั้งอยู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำทากับแม่น้ำปิง ก่อนที่จะตั้งเป็นอำเภอป่าซางนั้น บ้านป่าซางเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอปากบ่อง จังหวัดลำพูน เมื่อครั้งสมัยพระยากาวิละจะกอบกู้เมืองเชียงใหม่ ได้ส่องซุมกำลังพลที่เวียงเวฬุคาม ลักษณะเวียงเวฬุคามตั้งอยู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำกวงด้านทิศตะวันตก มีแนวกำแพงเมืองลักษณะในรูปเกือกม้าหรือรูปครึ่งวงเดือน คูน้ำที่ล้อมรอบเวียงเวฬุคามนั้นใช้น้ำไหลเข้าจากน้ำแม่ทา โดยมีฝายกั้นที่หน้าธนาคารออมสินปัจจุบัน น้ำไหลรอบคูเมืองไปออกที่ข้างป่าช้าป่าซางปัจจุบัน ลักษณะกำแพงเมืองเวฬุคามกว้างประมาณ 1 เมตร และมีป้อมยามรักษาการณ์ตลอดแนวกำแพงเมืองระยะห่างประมาณ 100 เมตร ปัจุบันซากกำแพงเมืองเวฬุคามยังมองซากอยู่เป็นช่วง ๆ ยาวกว่า 1.5 กิโลเมตร แลผู้คน ที่พำนักอาศัย อยู่ มีเชื้อสาย เป็นคน ไทยอง ที่อพยพมาอยู่เมืองลำพูนมาครั้งอดีตแล้ว ซึ่งได้ ดำรงค์วัฒธรรม การทอผ้าฝ้ายอันลือชื่อ สืบมาจนทุกวันนี้ ไทยอง คือ ใครอีกเล่า? ประวัติของชาวยอง ยอง หรือไทยอง ชาวล้านนาจะออกเสียงเป็น "ญอง" แต่กลุ่มชาวไทยองมักออกเสียงเป็น "ยอง" ชื่อ ยอง หรือ ไทยองนี้ ใช้เรียกกลุ่มคนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองยอง และกระจายอยู่ทั่วไปในแถบเมืองต่างๆ ในรัฐฉานด้านตะวันออกของพม่า เขตสิบสองพันนา ในมณฑลยูนนานของจีน เมื่อ พ.ศ.๒๓๔๘ กลุ่มชาวเมืองยองได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูนเป็นส่วนใหญ่ ด้วยสาเหตุของสงครามการรวบรวมกำลังคน ต่อมาก็ได้กระจายไปอยู่ในหัวเมืองต่าง ๆ ในล้านนา คำว่ายองหรือ "ญอง"อันเป็นชื่อเมืองนั้น ตำนานเมืองยองอธิบายว่าเป็นชื่อหญ้าชนิดหนึ่งที่เคยขึ้นในบริเวณเมืองยอง ครั้งหนึ่งมีนายพรานมาจากอาฬวีนคร ได้จุดไฟเผาป่าทำให้หญ้ายองปลิวไปทั่ว เมืองยองมีชื่อเป็นภาษาบาลีว่า "มหิยังคนคร"(ตำนานเมืองยอง) ตัวเมืองตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเชียงตุง ห่างกันประมาณ ๘๐ กม. ห่างจากแม่สายประมาณ ๑๕๗ กม. บริเวณเมืองยองเป็นแอ่งที่ราบกลางหุบเขา มีภูเขาล้อมรอบ ภูมิประเทศด้านตะวันตกสูงกว่าด้านตะวันออก แม่น้ำสายสำคัญคือน้ำลาบ น้ำวัง และน้ำยอง จึงไหลไปทางทิศตะวันออก เมืองยองมีประตูเวียง ๗ ประตูคือประตูเสื้อเมือง ประตูน้อย ประตูดินแดง ประตูม่อนแสน ประตูปางหิ้ง ประตูหูหูด และประตูผาบ่อง บริเวณใจกลางเมืองมีต้นสรี หรือต้นโพธิมีไม้ค้ำโดยรอบซึ่งแสดงถึงความเชื่อเรื่องไม้ค้ำสรีเช่นเดียวกับคนเมืองในล้านนา ............. ขอนำเสนอเพียงคร่าวๆ คือ เมืองลำปูน และโดยเฉพาะป่าซาง นั้นมีคนยอง อาศัยตั้งรกราก พร้อมการนำขนบธรรมเนียม วิชาชีพติดตัวมาด้วย..เช่นการทอผ้าฝ้าย มาฟังบทเพลงที่ชมเมืองชมแม่หญิง ป่าซางกันเถิด สาวป่าซางนั้น งามแต้ๆ เน้อ ขนาดได้เป็นนางสาวไทย เลย ละครับ นางสาวสุธีรา ศรีสมบูรณ์ สาวป่าซางที่ได้รับเลือกเป็นนางสาวไทยเมื่อปี ๒๔๙๗ เป็นหนึ่งในสาวงามป่าซาง ที่สร้างชื่อเสียงในกับป่าซาง และได้รับคำนิยามตามมาว่า สาวงามป่าซาง เพลงมนต์รักป่าซาง ขับร้อง โดย สุรพล สมบัติเจริญ ครวญ คิดถึงถิ่นป่าซาง สวยเกิน คำคนเขาอ้าง ป่าซาง แดนนี้มีมนต์ ใคร แม้นเคยไปมาสักหน แล้วต้อง พร่ำเพ้อกังวล ถึงสาวหน้ามนโฉมเจ้าสะคราญ .....โอษฐ์ พริ้มดังหนึ่งคันศร สรรพางค์ สะอางพลิ้วอ่อน ดั่งนาง อัปสรลาวัลย์ ลอย โฉมมาในลำห้วยนั้น พลิกร่าง บังผาเงิบพลัน แลเห็นทรวงนั้น อั๋นอวบขาวนวล .....โอ ป่าซางเจ้าเอ๋ย เพิ่งเคยได้ไปครั้งเดียว หัวใจโน้มเหนี่ยวรัญจวน เพียงได้เห็น เสมือนเป็นบุญชักชวน ใจฉันป่วน เมื่อหวนคิดถึงป่าซาง .....ลา แล้วเมืองแก้วในฝัน พบกันชั่วพลันแล้วจาก ไม่ทัน ฝากรักนวลนาง คง เหลือเพียงแต่ความอ้างว้าง เพ้อครุ่น คิดถึงนวลนาง มนต์รักป่าซาง ฝังจิตมิคลาย .....โอ ป่าซางเจ้าเอ๋ย เพิ่งเคยได้ไปครั้งเดียว หัวใจโน้มเหนี่ยวรัญจวน เพียงได้เห็น เสมือนเป็นบุญชักชวน ใจฉันป่วน เมื่อหวนคิดถึงป่าซาง .....ลา แล้วเมืองแก้วในฝัน พบกันชั่วพลันแล้วจาก ไม่ทันฝากรักนวลนาง คง เหลือเพียงแต่ความอ้างว้าง เพ้อครุ่น คิดถึงนวลนาง มนต์รักป่าซาง ฝังจิตมิคลาย .ป่าเขา ลำเนาพงพฤกษ์ นั้นได้ซ่อนความวิจิตรงามตะการไว้มากมาย หากตัดแห่งภัยธรรมชาติออกแล้ว..นี่แหละ สรวงสวรรค์ อันแท้จริง ปราสาท หรือจักเทียม เท่า เพียงกระท่อมไพร ที่ห้อมล้อมด้วย มวลบุปผา ไอหมอก ดุจก้อนปุยฝ้าย ที่ขาวพราวสะอาด แลค่อยละลายหายไปเมื่อต้องแสง อาทิตย์อุทัย หลอมจิต หลอมกายให้เข้ากับ กลิ่นอายธรรมชาติ กันเถิด... ๏ เส้นแสงระยับย้อง...........ยั่วยล สูรย์เฮย ห่มหว่างห้วงเวหน................ห่อห้อม สุกสะกาวสกล.......................กวมสู่ กาลนา พร่างจิตพิศจ่างพร้อม...........จึ่งพร้อยน้ำพรม ๚ะ ๏ แสงสูรย์จับระยับย้องยั่วยล น้ำค้างบนสนใบไศลสูง เกร็ดมณีน้ำหนึ่งพึงจรุง ผกายฟุ้งยั่วฟ้าอาภาโพยม ๏ หยาดเพชรก้อนเริงรู้แสงอุษา บุหลันลาจึ่งร่ำลำนำโสม ค่อยค่อยจ่างจืดหายละลายโลม หรี่แสงโคมคลายขับค่อยลับลง ๏ เบื้องบุรีมหิยังคนคร ม่อนสิงขรม่านแคว้นดินแดนหงส์ อรุณโรจน์คีรีบุษบง- ชูอวดองค์ห่มหล้าให้ฟ้าชม ๏ ดรุณีศรีพนัสกำดัดน้อย ประหนึ่งสร้อยซ่อนกลิ่นประทินฉม ซ่อนซ้อนไพรพฤกษ์เถื่อนมิเปื้อนตม พิสุทธิ์สมเทพสร้างสะอางอร ๏ ใจพี่จอดประจงค่อยปลงปลด จิตจรดสเน่ห์สิงมิ่งสมร สวาทแล้วใจร่ำเจียนรอนรอน ทั่วนาครหาใครเทียบได้นาง ๏ เทวีภูเยี่ยมฟ้ารัมภาคล้าย เทพยังพ่ายสยบคราพบร่าง เราเพียงชนหรือทานต้านมนต์นาง คงต้องถอดใจวางบนกลางภู ๚ะ
สาวตาหวานกว๊านพะเยา บทเพลงนี้ สมัยยังเด็กๆ จะนึกถึง ภาพ ป่าเขา น้ำตก ถิ่นแถบทางเหนือ เป็นภาพในจินตนาการของกิ่งโศก นึกถึงครั้งใด ดู เป็นภาพที่ดูร่มเย็น แม้ว่าในชีวิตจริง ของกิ่งโศก ยังไม่เคยไปเยือนแม้แต่ครั้งเดียว กว๊าน เมือหาความหมายแล้วจะ รวมอยู่ในกลุ่ม ห้วย หนอง คลอง บึง ลำคลอง แม่น้ำ ทะเลสาบ เรียกว่าเป็น สปีซี่เดียวกัน นะแหละครับ กว๊าน เป็นคำทางเหนือเรียก บึงที่มีขนาดใหญ่ และกว๊านพะเยา ถือว่าเป็นบึงใหญ่ แถบถิ่นล้านนา หรือทางเหนือของไทยนั้น ได้สร้างมนต์เสน่ห์ ให้กลับคนภาคอื่นยิ่งนัก โดยเฉพาะคนภาคกลางเสน่ห์ความงามอันอ่อนช้อย ของสาวทางเหนือ เสน่ห์ความอ่อนช้อยทางวัฒนธรรม รวมไปถึง มนต์เสน่ห์ทางธรรมชาติ กิ่งโศก เคยคิดไว้ว่าสักไม่นาน อยากไปเห็น สักที แม้นว่าจะช่วงนี้มีภาพ ตามสื่อว่า กว๊านพะเยา ก็ น้ำแห้ง.. แต่ความอยากไป เพื่อ อย่างน้อย ก็จะได้ มีอดีตได้เล่าขานบ้าง.. ครั้งนี้ ที่จริงจะนำเสนอ บทเพลงเกี่ยวกับทางเหนือ เจอ มนต์รักป่าซาง ก็แสนประทับ ใจ และพอมาฟัง กว๊านพะเยา..ยิ่งประทับใจ เลยขอเขียนเรื่องราว ของ กว๊านพะเยาก่อน ก่อนฟังเพลง เรามาดู ภูมิหลัง ของเมืองนี้กันก่อน พอสังเขปนะครับ อดีตของเมืองพะเยา " พะเยา " เป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งในแถบลานนาไทย เดิมมีชื่อว่า " ภูกามยาว " หรือ " พยาว " มีอายุกว่า 900 ปี ตั้งขึ้นราวปี พ.ศ. 1639 โดยพ่อขุนศรีจอมธรรม กษัตริย์แห่งราชวงศ์ลัวะจังคราชหิรัญนครเงินยางเชียงแสน และเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในสมัยพ่อขุนงำเมือง ซึ่งเป็นพระสหายร่วมน้ำสาบานกับ พ่อขุนเม็งรายแห่งเมืองเชียงราย และพ่อขุนรามคำแหงกษัตริย์กรุงสุโขทัย ทั้งสามได้กระทำสัตย์ปฏิญาณต่อกันที่ริมแม่น้ำบริเวณวัดสบร่องขุย โดยหันหลังพิงกัน แม่น้ำนี้จึงได้ชื่อว่าแม่น้ำอิง พระราชาธิราชทั้งสามพระองค์ ได้ทรงกระทำสัตย์ปฏิญาณผูกมิตรทรงดื่มน้ำสัตยาผสมโลหิตจากนิ้วพระหัตถ์ เพื่อเป็นมิตร น้ำร่วมสาบานไม่เป็นศัตรูต่อกัน ณ ฝั่งแม่น้ำอิง เขตเมืองพะเยา ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงการปกครองตามอิทธิพลของอาณาจักรต่างๆ ที่ผลัดกันมีอำนาจในแถบนี้ จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พยาวเปลี่ยนชื่อเป็นพะเยา และรวมอยู่กับจังหวัดเชียงราย กระทั่งในปี พ.ศ. 2520 จึงได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็น " จังหวัดพะเยา " นับเป็นจังหวัดที่ 72 ของประเทศไทย พระราชาธิราชทั้งสามพระองค์ ได้ทรงกระทำสัตย์ปฏิญาณผูกมิตรทรงดื่มน้ำสัตยาผสมโลหิตจากนิ้วพระหัตถ์ เพื่อเป็นมิตร น้ำร่วมสาบานไม่เป็นศัตรูต่อกัน ณ ฝั่งแม่น้ำอิง เขตเมืองพะเยา นี้ ลองมาฟังเพลง แม้จะออกแนวลูกทุ่ง แต่เป็นลูกทุ่งสมัยก่อน เรียกว่า เก่าแล้ว คนร้อง คนแต่ง น่าจะไม่อยู่ในโลกแล้วนะครับ ชื่อเพลงกว๊านพะเยา ตามชื่อบึงใหญ่เลย เนื้อหา ผมว่า เป็นความจำเริญในทางภาษา ที่ ยืมคำคุณ สดายุมาใช้ได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ คือ นารีปราโมทย์ สิ่งที่สดับได้ นั่นคือ ธรรมชาติยุคนั้น เป็นแบบบริสุทธิ์ อย่างแท้จริง ซึ่งคงหาไม่ได้แล้วในปัจจุบัน เชิญร่วม ฟัง..เพลงนี้กันครับ.. เพลง : กว๊านพะเยา ศิลปิน : สุรพล สมบัติเจริญ เนื้อเพลง : .....โอ โอ่โอโอ่โอ้ละเน้อ ทำบุญจั่งใดเล่าเออ ถึงได้มาเจอสาวเจ้า น้องอยู่ดงดอย ดินแดนห้วยป่าและเขา ถิ่นพงไพรในป่าลำเนา กว๊านแห่งพะเยายังงามละเน้อ .....โอ โอ่โอโอ่โอ้นวลน้อง เจ้าคงสร้างบุญด้วยทอง ไผมองเห็นจึงหลงเพ้อ ถึงอยู่พะเยา น้องยังสวยแจ่มเลิศเลอ สาวเมืองกรุงยังบ่เทียมเธอ ใช่ยอนะเออพี่พูดด้วยใจ .....เจ้าแต่งตัว ยามเล่นน้ำ เจ้านุ่งกระโจม เก็บกล้วยไม้มาแซมเสียบผม แลสลวยสวยงามวิไล เห็นดอกบัวตูม เด่นงามท่ามกลางน้ำใส เจ้าผุดดำโผแหวกเวียนว่าย ร้องกรีดหวีดไปในเพื่อนหมู่สาว .....โอ โอ่โอโอ่โอ้ละหนอ ทำบุญจั่งใดพี่ขอ ยกผลกุศลให้เจ้า ขอตักบาตรพระ ร่วมเรียงเคียงคู่กับสาว แม่ตาหวานกว๊านแห่งพะเยา ขอปองฮักเจ้าจนวันชีพวาย .....เจ้าแต่งตัวยามเล่นน้ำ เจ้านุ่งกระโจม เก็บกล้วยไม้มาแซมเสียบผม แลสลวยสวยงามวิไล เห็นดอกบัวตูม เด่นงามท่ามกลางน้ำใส เจ้าผุดดำโผแหวกเวียนว่าย ร้องกรีดหวีดไปในเพี่อนหมู่สาว .....โอ โอ่โอโอ่โอ้ละหนอ ทำบุญจั่งใดพี่ขอ ยกผลกุศลให้เจ้า ขอตักบาตรพระ ร่วมเรียงเคียงคู่กับสาว แม่ตาหวานกว๊านแห่งพะเยา ขอปองฮักเจ้าจนวันชีพวาย เจ้าแต่งตัว ยามเล่นน้ำ เจ้านุ่งกระโจม เก็บกล้วยไม้มาแซมเสียบผม แลสลวยสวยงามวิไล เห็นดอกบัวตูม เด่นงามท่ามกลางน้ำใส เจ้าผุดดำโผแหวกเวียนว่าย ร้องกรีดหวีดไปในเพื่อนหมู่สาว เป็นภาพที่ชมสาว แล้วมีความรู้สึกว่าไม่อุจาดแต่อย่างใด แต่ชวนเคลิบเคลิ้มตามยิ่ง นะขอรับ..งดงามภายใต้จินตนาการ อย่างยิ่ง... ๏ ขุนสามกษัตริย์สร้าง.......สัตยา ริมแม่อิงแอ่งผา...............หลั่งล้อม โลหิตร่วมมิตรา.....................ดื่มต่าง ถ้อยเนอ สายผูกสัจจะห้อม.................ห่มเคล้าสักขี ๚ะ ๏ สามขุนกษัตริย์สร้างสัตยา ผูกสัจจาถ้อยจริงหันพิงหลัง โลหิตนิ้วพระหัตถ์รวมร่วมพลัง ณ.เบื้องฝั่งดื่มสานสาบานใจ ๏ ระหานห้วยมิแห้งสำแดงบอก เริงระลอกน้ำหลั่งสะพรั่งไหล ชโลมชุ่มร่ำเชื้อถึงเนื้อใน ศกสมัยล่วงผ่านผสานจินต์ ๚ะ ๏ สายน้ำโอบอุ้มเถื่อนที่เคลื่อนคล้อย ประหนึ่งพร้อยแต่งพรายเบื้องปลายสินธ์ โตรกลึกตื้นเลอแต้มแย้มรอยอินทร์ ผู้ประทิ่นทอเส้นทอดเด่นพราว ๏ ครั้งได้เยือนพยาวยิ่งน้าวย้อน ห้วงจิตซ้อนภาพซึ้งคะนึงสาว พิศุทธิ์ยิ่งงามแย้มยลแต้มพราว ภูกามยาวสาวอัปสรซ่อนจำแลง ๚ะ ๏ ระริกเย้าเสียงย้ำถ้อยคำย้อง สรวลเริงก้องกุมชิดสนิทแฝง- อกพี่หวั่นใจหวามภาพย้ำแทง ผกาแจรงทัดหูพธูธาร ๚ะ ๏ สาวเริงน้ำกลางธารพึงจารจับ แม่อิงเอยเผยขับกำซับซ่าน หรือนี่ถิ่นไกรลาศพิมาศมาน โฉมสะคราญว่ายเคล้าช่างเย้ายวน ๚ะ ๏ กว๊านพะเยาบึงใหญ่พี่ได้อิ่ม- เอมภาพลิ้มห่มล้ำเมื่อย้ำหวน จักขอเก็บภาพหวานสุดรัญจวน รำลึกครวญทุกครั้งเมื่อยั้งเยือน ๚ะ + กิ่งโศก +