โลกของไพร...!

พุด

img1169yv4.jpg2-1032-carole65.jpgpic11478.jpg59625.jpglg_wild_flowers_10677.jpgcollage15.jpg
ฤดูดวงดอกไม้มาแย้มเยือนริมทาง
และริมรั้วหัวใจอีกคราแล้ว
วันนี้..
ดวงดอกแก้วพร่างดอกหอมแผก
เกลื่อนพื้น คงเพราะได้ฝนปรอย
เลยปลิดกลีบกระจาย

วิมานร่มไม้กลายเป็นวิมานทะเลทราย
ชั่วพริบตา เมื่อสาวบ้านป่าสาวบ้านไพร
ต้องยอมตัดใจ ริดกิ่งใบราวพงไพรพฤกษ์
ให้กลายไปเหลือเพียงตอ รอวันผลิใหม่
เพื่อเอาใจเพื่อนบ้านผู้ชอบความรานแล้ง
แห้งระแหงร้อนระอุ เพียงให้ทุกบ้านดูดีสะอาด
ปราศจากเพื่อนสีเขียวระย้า 


พุดไพร นั่งอยู่ตรงนี้ ณ ที่เก่า
ที่เคยให้งามเหงาใจ
ด้วยเรียวใบไม้ ระยิบยามแดดพร่าง
ในท่ามโลกแห่งความสุขใบเล็กๆ
โลกใบที่เรียบง่าย คลับคล้ายวิมานลำเนาวนา
วิมานที่พุดไพรคิดเสมอมาว่า
อาจมีรุกขเทวาเมตตามาอาศัยพักพิง
มาอิงโอบให้บ้านภายใน ให้ดวงใจ
ไหวละออของพุดไพรแสนสงบร่มเย็นสุข
ในทุกทิวาวัน....

ไม่กี่วัน..ที่ผ่านมาพุดไพรได้ฟังข่าว
เกี่ยวกับภาวะวิกฤติโลกร้อน
ว่าหากโลกเรานี้ร้อนขึ้นทีละองศา
จะเกิดปัญหาเช่นไรบ้าง
และ..
เพียงแค่ หกองศาเท่านั้น
เผ่าพันธุ์มนุษยชาติอาจสิ้นสุดลง
ด้วยมิอาจดำรงอยู่ได้ด้วยพลังลงโทษพิโรธทำลาย
อย่างสาสมจากธรรมชาติ จนอย่าหวังเลยว่าเราจะมีโอกาสแก้ตัว
หากมัวละเลยต่อทุกสรรพสิ่ง นิ่งดูดาย รอวันตาย..
อย่างไร้จิตสำนึก...

นาทีนี้พุดไพร ต้องเรียนรู้ที่จักทำใจหากยังต้องอาศัย
ในเมือง ที่จำต้องแวดล้อมด้วยผู้คน
ที่ทุรนจิตยังเข้าไม่ถึงธรรมอย่างแท้จริง
ว่า...ธรรมดาทุกสรรพสิ่งนั้นต้องพึ่งพาพึ่งพิงกัน
ต้องโอบเอื้อ แบ่งปัน
ประดุจดั่งทั้งจิตวิญญาณแลร่างเรานั้นมีกำเนิดมา
จากครรถ์มารดาเดียวกันที่ชื่อว่า*ธรรมชาติ*...


วิกฤติโลกร้อน ความจริงว่าด้วยสิ่งแวดล้อมโลก 
 มนุษย์กำลังเผชิญวิกฤติและพิบัติภัยธรรมชาติ ทั้งแผ่นดินไหว ภาวะน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ภัยแล้ง ไฟป่า น้ำท่วมฉับพลัน พายุถล่มเมืองรุนแรง ควันพิษ หรือแม้กระทั่งการแพร่กระจายของเชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่ เหล่านี้คือผลพวงจากปัญหา ภาวะโลกร้อน (Global Warming) ที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวและให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง An Inconvenient Truth ของ อัลกอร์ (Al Gore) อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ถือเป็นตัวจุดชนวนให้คนหันมาสนใจศึกษาปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังโดยเฉพาะปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิบนผิวโลกที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และประเด็นเรื่อง 'ปัญหาโลกร้อน' นี่เองที่ได้ถูกหยิบไปเป็นประเด็นหลักของเวทีการหารือระดับโลกหลายเวที
'An Inconvenient Truth' คือบทเรียนที่ว่าด้วยหายนะของโลกและสิ่งแวดล้อม เพราะมันคือหลักฐานจริงและข้อมูลความจริงทั้งหมด เนื้อเรื่องเป็นการติดตามการเดินทางทั่วโลกของ 'อัล กอร์' เพื่อทำหน้าที่เสมือนตัวแทนของการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของโลก นำเสนอความจริงที่โลกกำลังถูกทำร้ายโดยคนที่อาศัยอยู่บนโลกนั่นเอง 
ล่าสุดสำนักพิมพ์มติชนได้นำหนังสือจากภาพยนตร์สารคดีดังกล่าวมาจัดพิมพ์ โดยได้จัดงานเปิดตัวหนังสือในชื่อภาษาไทยว่า โลกร้อน ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง แปลโดย คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ เมื่อวันศุกร์ที่ 6 เมษายน 2550 ณ เวทีฮอลล์ A ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พร้อมทั้งมีการเสวนาเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับโลกใบนี้ โดยมี ภัทราพร สังข์พวงทอง ดำเนินรายการ 
ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์ วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญเรื่องผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต มองอย่างเป็นห่วงว่า 
"ในอนาคต..คนที่จะได้รับผลกระทบคือคนที่เป็นเยาวชนหรือคนที่อายุ 10-20 ปี อยู่ในขณะนี้ จึงต้องให้เขาเข้าใจตั้งแต่ตอนนี้ การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ และต้องตระหนักถึงเรื่องการดำรงชีวิต สิ่งแวดล้อม ฉะนั้นทำอย่างไรให้คนวัยนี้เข้าใจถึงปัญหา นั่นเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุด และเรื่องของการพอเพียง เป็นประเด็นหนึ่งที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้มาก สิ่งที่เราดำรงชีวิตอยู่มีอะไรบ้างที่ไม่จำเป็น สิ่งไหนที่ลดแล้วรู้สึกว่าไม่เดือดร้อนอะไรในชีวิตประจำวัน คงไม่ถึงกับต้องถอยไปอยู่ในยุคหิน หรือไปเปลี่ยนการดำรงชีวิตจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ทุกอย่างรอบตัวเราถ้าลองมองดูจะรู้ว่าบางอย่างไม่จำเป็นเลย
พยายามทำตัวให้เป็นคนที่มีความรับผิดชอบกับสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า 'Carbon Neutral' นี่เป็นตารางที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริง แต่ไม่แน่ใจว่าตอนนี้มีคนทำอันนี้เป็นภาษาไทยแล้วหรือยัง อาจนำเอาตารางมาดูว่าวันนี้จะเดินทางไปตรงนี้ ต้องปล่อยคาร์บอนเท่าไร จะได้รู้ตัวเองว่าจริงๆ เราทำลายโลกนี้มากแค่ไหน จะได้เห็นว่าตัวเลขตรงนี้ปล่อยไปตั้งเยอะทั้งๆ ไม่จำเป็นเลย"
ด้าน คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ เสริมว่า "เมื่อสิบปีก่อนใครที่ลุกขึ้นมาทำอะไรแบบนี้ กลายเป็น 'แปลก' กลายเป็นจุดสนใจ เป็นเรื่องที่ผิดปกติ แต่ว่า ณ ตอนนี้ ทุกคนรู้แล้วว่าสภาวะโลกร้อนเป็นความจริง ซึ่งเราจะต้องอยู่กับมัน ต้องหาทางปรับตัวให้เข้ากับมัน หาทางเยียวยา เรื่องที่ว่าเราปล่อยคาร์บอนไปเท่าไร เราบริโภคอะไรที่ไม่จำเป็นไปบ้างไหม มันควรเป็นบรรทัดฐานในการคิดอยู่ตลอด ไม่ใช่ข้อยกเว้น ไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่ว่ามีคนอยู่ 100 คน แล้วคนนี้ลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนชีวิต 
ผมว่าในอนาคต หนังสือเล่มนี้จะเป็นกรณีศึกษาที่ดีว่าในด้านหนึ่งมันอาจจะไม่ใช่ผลงานทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย แต่เป็นการย่อยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่รู้กันอยู่แล้วมาให้เราได้รู้กันในกลุ่มสาธารณชน แต่นั่นแหละคือจุดที่ทำให้หนังสือเล่มนี้สำคัญ ทำให้มันแตกต่าง สุดท้ายในอนาคตหนังสือเล่มนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนที่จะทำให้สภาวะโลกร้อน เป็นประเด็นทั้งในส่วนของการดำรงชีวิตคนทั่วไป และการออกนโยบายในระดับรัฐและระดับโลก ผมว่าหนังสือเล่มนี้มีคุณค่ามาก ณ จุดนั้น"
นอกจากหนังสือเล่มนี้จะมีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์แล้ว ยังมีชีวิตของผู้เขียนเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ด้วย ดร.อานนท์ บอกว่า "การที่ 'อัล กอร์' เอาเรื่องของประสบการณ์ตัวเองมาเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งของเรื่องนี้ ทำให้หนังสือมีบุคลิกที่พิเศษกว่าหนังสือโลกร้อนทั่วๆ ไป หรือหนังสือที่เกี่ยวกับสภาวะโลกร้อนที่มักจะกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งข้อมูล ตัวเลข ซึ่งบางคนคิดว่าหนัก ไม่เกี่ยวกับเราเลย แต่ว่าการที่เขาเอาชีวิตมาผูก ด้านหนึ่งผมมองจากมุมมองของหนังสือ ทำให้เป็นหนังสือที่ 'ดรามาติก' คือเป็นเรื่องที่เหมือนกับมีชีวิตคนเป็นแกนกลางในการเล่าเรื่อง โดยที่ตัวชีวิตของเขาเองก็มีการผ่านประสบการณ์ต่างๆ
ความเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์มีเต็มที่ อันนี้ผมขอย้ำว่าไม่ได้มีการยกเมฆหรือว่าแต่งเติมขึ้นมา แต่ว่าบางส่วนเขาก็แสดงความคิดเห็นทางการเมืองลงไป แต่ผมยังตีไม่ออกว่าจะใช้อันนี้เป็นฐานในการที่จะกลับมาสู่การเมืองหรือไม่ แต่จะกลับหรือไม่ก็ไม่ใช่ประเด็น หนังสือเล่มนี้มันมีความสมบูรณ์ในตัวเอง ว่าเป็นการชี้ประเด็นให้เห็น ไม่ได้อยู่ที่ว่าหลังจากนี้แล้ว 'อัล กอร์' จะไปทำอะไร ตัวมันสามารถสื่อในสิ่งที่มันควรจะสื่อได้ครบถ้วนแล้ว ฉะนั้นอย่าไปกังวลว่าเขาเขียนเรื่องนี้มาเพื่อหาเสียง ผมว่าเราควรจะแยกประเด็นออกจากกัน"
ขณะที่ คุณากรกล่าวด้วยว่า "ผมคิดว่าคนอ่านจำนวนมากคงไม่รู้จัก 'อัล กอร์' มาก่อน แต่ว่าอย่างน้อยก็รู้ว่าเขาเคยเป็นรองประธานาธิบดี เคยลงสมัครเป็นประธานาธิบดี แต่ว่าเรื่องราวของชีวิตเขาที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ ผมไม่ได้มองว่ามีเรื่องราวที่พิเศษหรือแตกต่างจากมนุษย์ทั่วไป และนั่นคือเสน่ห์ เพราะชีวิตของเขาแตกต่างจากชีวิตคนอื่นมากๆ ผู้อ่านทั่วไปอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ด้วยความที่เขาเล่าเรื่องชีวิตของเขาว่าเกี่ยวข้องกับลูกชาย เกี่ยวข้องกับพี่สาว เพราะฉะนั้นความรู้สึกอย่างนี้มันเป็นเหมือนกับประสบการณ์สากลของมนุษย์ทุกคนอยู่แล้ว
เมื่อเรารู้สึกสูญเสียบุคคลผู้เกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา มันรู้สึกสะเทือนจิตใจมนุษย์ทุกคน นี่คือสิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้มีพลัง และคำๆ หนึ่งที่ถูกอ้างถึงเสมอในหนังสือเล่มนี้ คือ ประเด็นโลกร้อนเป็นประเด็นทางจริยธรรม นี่เป็นประเด็นที่สรุปง่ายๆ สั้นๆ ที่ผมรู้สึกว่าทรงพลังและสื่อให้ทุกคนเข้าใจ ทั้งหมดทั้งสิ้นที่คุณอ่านมานี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง แต่คุณจะแก้ คุณจะทำเป็นไม่อยากฟัง คุณจะทำเป็นละเลย หรือคุณจะลองแก้มัน ก็อยู่ที่จริยธรรมของคุณว่าคุณจะมีความรับผิดชอบต่อทั้งโลกและลูกหลานในรุ่นหน้าต่อไปขนาดไหน"
เขาบอกอีกว่า "ด้วยคุณลักษณะอย่างที่กล่าวมานี้ ก็สามารถทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มหนึ่งที่น่าลองอ่านดู และด้วยความที่จะเป็นหนังสือที่สะท้อนยุคสมัย มันไม่ใช่แค่หนังสือที่มีความสมบูรณ์ในส่วนของเนื้อหา แต่มันจะเป็นหนังสือที่จดจำในฐานะจุดเปลี่ยน และในเรื่องของความรับรู้ในเรื่องสภาวะแวดล้อมโลกในอนาคต หรืออีก 10 ปีข้างหน้า เราไม่รู้ว่าเรื่องสภาวะแวดล้อมของโลกจะเป็นประเด็นใหญ่โตขนาดไหน แต่ที่แน่ๆ ต้องเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าที่เป็น ผมมองว่านี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ประเด็นภาวะโลกร้อนหลุดออกมาจากโลกวิทยาศาสตร์ ห้องทดลอง สู่เวทีสาธารณะมากขึ้น และจะกลายเป็นเรื่องที่ต้องตระหนัก"
อีกเวทีหนึ่งเป็นการเสวนาเปิดตัวหนังสือ มหันตภัยโลกร้อน Global Warming...เรื่องจริงที่คุณต้องรู้ เรียบเรียงโดย สุพัตรา แซ่ลิ่ม จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 7 เมษายน 2550 โดยมี ภัทร จึงกานต์กุล ผู้ดำเนินรายการข่าวเช้า TITV ดำเนินรายการ 
ผศ.พงษ์ ทรงพงษ์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองสถานการณ์ปัญหา 'โลกร้อน' ว่า 
"มันเกิดขึ้นเยอะแยะไปหมด เพราะคำว่าโลกร้อนเกิดขึ้นได้เพราะอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งโลกสูงขึ้น หลายคนคิดว่าอุณหภูมิขยับขึ้นแค่ 2-3 องศาไม่เป็นไร ไม่ค่อยเดือดร้อน ตอนนี้ค่าเฉลี่ยโดยประมาณอยู่ที่ 0.8 ตัวเลขนี้อาจจะดูน้อย ไม่น่าจะหนักหนาเท่าไร แต่ถ้าไปเกิดขึ้นที่บริเวณน้ำแข็งที่มีอุณหภูมิ 0 องศา น้ำแข็งก็จะละลาย เพราะน้ำแข็งจะละลายตัวที่ 0 องศา ผลจากการที่น้ำแข็งละลายอาจทำให้เกิดน้ำท่วมก็ได้ ฝนแล้งก็ได้ น้ำแล้งก็ได้ เป็นไปได้หมด ผลกระทบที่แต่ละตำแหน่งแต่ละพื้นที่จะได้รับก็ไม่เหมือนกันด้วย 
อย่างถ้าเราอยู่ในพื้นที่ภูเขาหิมาลัยก็จะรู้สึกว่าน้ำเยอะมาก เพราะน้ำแข็งจากภูเขาละลายลงมา แต่ถ้าอยู่แถวแอฟริกาก็จะรู้สึกว่าแห้งแล้งขึ้นไปเรื่อยๆ โชคดีที่เราอยู่เมืองไทย เพราะอุณหภูมิสูงขึ้นก็จริง แต่ขยับขึ้นไม่มากนัก อุณหภูมิแบบนี้ทำให้ผลกระทบจากโลกร้อนในแต่ละพื้นที่ไม่เท่าเทียมกัน ที่รุนแรงที่สุดเลยคงเป็นที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ เพราะมีน้ำแข็งเยอะ ถ้าอุณหภูมิขยับขึ้นนิดนึง น้ำแข็งก็พากันละลาย สัตว์ขั้วโลกอยู่กันไม่ได้ ตอนนี้ปริมาณหมีขาวก็ลดลง น้ำหนักในตัวก็ลดลง เพราะไม่มีพื้นที่จับอาหารกิน พอไปยืนที่น้ำแข็งเปราะบาง เขาก็จะตกน้ำ ในปี 2548 เป็นปีที่มีรายงานว่าหมีขาวจมน้ำตาย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ส่วนเหตุการณ์อื่นๆ ก็อย่างเช่นในป่าอะเมซอนที่เป็นป่าดงดิบและเป็นสถานที่ชุ่มชื้นแห่งหนึ่งของโลก ปรากฏว่าตอนนี้ในป่าฝนไม่ตกมาเกือบ 5 ปีแล้ว ต้นไม้จะเหลืออะไร รากไม่มีน้ำให้ดูด ถ้าเป็นสหรัฐที่ประเทศค่อนข้างใหญ่ ตรงกลางๆ ของประเทศก็จะมีพวกภูเขา ตรงนี้จะมีน้ำแข็งสะสมอยู่ในช่วงหน้าหนาวพอหน้าร้อนก็จะละลายลงมาเป็นน้ำให้ได้ใช้กัน และพายุถล่มบ่อยๆ ก็จัดเป็นสภาพโดยรวมของโลกที่เกิดจากภาวะโลกร้อน" 
ด้าน ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าถึงสภาวการณ์ทางทะเลที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลกว่า
"อย่างแรกอยากให้ลองคิดเหมือนที่โบราณว่า ดิน น้ำ ลม ไฟ จะไปแยกมันออกจากกันไม่ได้ ว่าโลกร้อนเกี่ยวกับอากาศ ทะเลไม่น่าจะไปเกี่ยวอะไรด้วย แต่จริงๆ ขอให้คิดว่ากระบวนการทั้งหมดของโลกมีชีวิต และมีชีวิตเดียว ทุกสิ่งทุกอย่างวนเวียนกันอยู่ในหนึ่งชีวิตนี้ เมื่อโลกร้อนอาจจะเกิดจากกระบวนการทางอากาศที่มีสาเหตุจากหลายๆ สิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลง ทะเลเองก็เป็นตัวกำหนดภูมิอากาศของโลกได้เช่นเดียวกัน เช่น 'เอลนีโญ' นับเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางกระแสน้ำในมหาสมุทร 
หลายคนสงสัยว่าแล้วมันมาเกี่ยวข้องอะไรกับประเทศไทยที่มีเพียงแค่อ่าวไทยและทะเลอันดามัน คงจะลืมคิดไปว่าอ่าวไทยเป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรแปซิฟิก ดังนั้นหากเกิดอะไรขึ้นในแปซิฟิก อ่าวไทยย่อมได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ในขณะที่อันดามันอยู่ฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งนับว่าเป็นคนละฝั่งกัน ฉะนั้นถ้าอุณหภูมิในแปซิฟิกร้อนขึ้น ฝั่งอุณหภูมิในอันดามันก็จะเย็นลง สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย หากใครได้ไปเที่ยวอันดามันในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา คงจะสงสัยว่าทำไมน้ำมันเย็นจัง ซึ่งที่ผ่านมาเคยอยู่แค่ที่ 26 องศา ตอนนี้ลดลงเหลือ 22-21-20 องศา นับว่าลดเยอะ
อย่างที่สองคือน้ำเริ่มขุ่นมัวทั้งๆ ที่ปีที่แล้วน้ำค่อนข้างใส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเกิดเอลนีโญ อย่างที่สามคือแพลงตอนเยอะมาก ว่ายๆ ไปไหนก็เจอ เวลาดำน้ำไปก็จะรู้สึกยิบๆ ยับๆ หรือที่นักท่องเที่ยวเข้าใจกันทั่วไปว่าแตนทะเล พวกนี้ก็เป็นรายละเอียดยิบย่อยที่ไม่ได้ลงลึก ในเรื่องที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันอย่างการทำประมง การจับปลาทะเล ที่มีปลาตายที่หมู่เกาะตะรุเตา มันมีส่วนเกี่ยวข้องกันหมด จากการที่เอลนีโญเกิดบ่อยขึ้น รุนแรงมากขึ้น เป็นภาวะที่เกี่ยวเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน" 
ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา นักวิทยาศาสตร์และผู้อำนวยการโรงเรียนสัตยาไส เล่าถึงจุดเปลี่ยนแปลงอันตรายที่เกิดขึ้นช่วงไม่กี่สิบปีว่า
"เมื่อตอนที่ผมเกิดมาในประเทศนี้ พื้นที่ป่ามี 70-80 เปอร์เซ็นต์ แต่ตอนนี้เหลือประมาณแค่ 18 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหายไปเยอะเลย แค่นี้ก็น่าตกใจแล้วว่าทำไมป่าไม้ถึงได้หายไปเยอะแยะขนาดนี้ ซึ่งมันเป็นความผิดของคนรุ่นผมนั่นแหละ เพราะเป็นรุ่นที่ทำลายป่าไม้ ลักลอบตัดไม้ โดยที่ไม่เคยคิดถึงส่วนรวมเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับโลกของเรา แต่ไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศของเราประเทศเดียว ทั่วโลกมีการตัดไม้ทำลายป่ากันเต็มไปหมด 
สมัยผมเป็นเด็กยังไม่ค่อยมีมลพิษมากเท่าใด เพราะเราขี่จักรยานไปทำงาน รถรายังไม่ค่อยมี ผิดกับสมัยนี้ที่มีแต่การใช้เชื้อเพลิงที่ต้องเผาไหม้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้โลกร้อนขึ้นไปเรื่อยๆ ปัจจุบันทั่วโลกมีแต่การใช้น้ำมัน ใช้พลังงาน และที่มองไม่เห็นคือระดับน้ำทะเลมันสูงขึ้นทีละนิดๆ 2 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นจำนวนน้อยที่เราไม่รู้สึก แต่ถ้าไปตรงชายทะเลจะสังเกตเห็นได้ว่าน้ำเข้ามามากขึ้นกว่าแต่ก่อน น้ำเริ่มท่วมเข้ามา ป่าชายเลนค่อยๆ เริ่มหมดสภาพไป เหล่านี้เป็นสิ่งที่เห็นอยู่ตลอดเวลาในประเทศไทย 
ที่เคยมีคนพูดถึงว่าน้ำท่วมกรุงเทพฯ อาจเป็นเรื่องจริงได้ เพราะทุกวันนี้น้ำเริ่มเซาะฝั่งเข้ามามากขึ้น ยกตัวอย่างทะเลแถวบางขุนเทียน แต่เดิมจะมีหลักปักแดนว่าเป็นดินแดนของประเทศไทยปักไว้อยู่จุดหนึ่ง เมื่อหลายสิบปีก่อนชาวบ้านแถบนั้นเล่าว่าหลักอันนี้ปักอยู่บริเวณผืนดิน แต่ทุกวันนี้น้ำทะเลเริ่มท่วมเข้ามา กลายเป็นหลักถูกปักไว้อยู่กลางทะเล สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดว่าน้ำทะเลเริ่มกัดเซาะกินผืนดินของประเทศเข้ามาเรื่อยๆ อย่างไม่รู้ตัว" 
ดร.อาจอง กล่าวอีกว่า "โลกจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด อย่างในประเทศไทย การที่เกิดศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวที่แม่ริม แม้ว่าจะไม่มากนัก แต่การที่เกิดศูนย์กลางได้แสดงว่าเปลือกโลกใต้ประเทศไทยเริ่มแตกแยกมากขึ้น เริ่มมีรอยร้าวเกิดขึ้นซึ่งแต่ก่อนไม่มี อย่างในกาญจนบุรีมีรอยร้าวอยู่ใต้เขื่อนค่อนข้างใหญ่ มีคนออกมาบอกว่าไม่เป็นไร เพราะเขื่อนสร้างไว้แข็งแรงมาก แต่ถ้าหากรอยร้าวนั้นต่างฝ่ายต่างเลื่อนออก แน่นอนว่าเขื่อนย่อมพัง แล้วทีนี้ทั้งคนและสัตว์ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงก็ต้องตายลงไปด้วย 
ภาวะนี้เกี่ยวข้องกับโลกร้อนอย่างไร เป็นสิ่งสำคัญที่ผมพยายามเตือนนักวิทยาศาสตร์มาตลอด เมื่อโลกร้อนขึ้นและระดับน้ำทะเลสูงขึ้น น้ำทะเลไปถ่วงโลกไว้ข้างหนึ่งมากกว่าอีกข้างหนึ่ง อย่างที่ทราบกันว่าโลกข้างหนึ่งมีมหาสมุทรแปซิฟิกที่กว้างใหญ่มาก ในขณะที่อีกข้างหนึ่งมีมหาสมุทรเล็กๆ นอกนั้นก็เป็นทวีปต่างๆ เป็นแผ่นดิน ทีนี้พอระดับน้ำทะเลสูงขึ้นมันก็จะไม่มีผลต่อพื้นที่ที่เป็นแผ่นดิน แต่น้ำหนักจะไปเพิ่มที่อีกฟากหนึ่ง ทีนี้จะทำให้โลกเริ่มแกว่ง คล้ายกับลูกข่าง โลกก็จะเริ่มปรับตัวเอง เปลือกโลกก็จะเริ่มขยับ แผ่นดินบางพื้นที่อาจจะทรุด แล้วอาจจะมีบางพื้นที่ที่มีแผ่นดินเกิดขึ้นมาใหม่ บางพื้นที่ที่เป็นหมู่เกาะก็อาจจะหายไปเลย 
ที่น่าสงสารคงจะเป็นญี่ปุ่น เพราะพื้นที่ประเทศค่อยๆ เอียงลงไป สำหรับประเทศไทยแผ่นดินเริ่มจม อาจจะทำให้น้ำท่วมได้ในที่สุด ภาคกลางของประเทศไทยถือได้ว่าอยู่ในเขตอันตรายเช่นเดียวกัน เพราะหากว่าน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือ-ขั้วโลกใต้ หรือบนภูเขาละลายหมด แน่นอนว่าระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นประมาณ 8 เมตร ซึ่งภาคกลางคงอยู่ไม่ได้ เพราะว่าอยู่เหนือกว่าระดับน้ำทะเลเพียงแค่หนึ่งเมตรกว่าๆ ฉะนั้นน้ำทะเลจะทะลักเข้ามา แต่ผมคิดว่าคงไม่ถึงขั้นนั้นหรอก 
ตอนนี้ที่เป็นอยู่คือเปลือกโลกเริ่มเคลื่อนไหว รอยร้าวใต้เปลือกโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดแผ่นดินไหวเพิ่มมากขึ้น อย่างแถบอินโดนีเซียที่เกิดเพิ่มขึ้นเยอะมาก เกิดสึนามิบ่อยครั้ง และจะมีแต่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลายๆ จุดด้วยกัน ฉะนั้นภาวะโลกร้อนเกี่ยวข้องกับเปลือกโลกที่ต้องปรับตัวของมันเองให้เข้ากับสภาพที่เปลี่ยนไป เพื่อให้ตัวมันเองเกิดสภาวะที่สมดุลขึ้นมาใหม่"
หายนภัยที่เกิดจาก 'วิกฤติโลกร้อน' ถือเป็นบทเรียนที่ทุกคนต้องมีส่วนสำคัญในการลดภาวะความรุนแรงดังกล่าวลง และหนังสือเหล่านี้น่าจะเป็นข้อมูลต่อการสร้างจริยธรรมเพื่อปกป้องโลกได้เป็นอย่างดี 
....................................................
ทีมข่าวจุดประกายวรรณกรรม : รายงาน 
ที่มา:กรุงเทพธุรกิจ จุดประกาย

20060313_globalwarming.jpgglobwarm_ttl.jpg17cec82ac8b8061c87f40d04ea1a17d1.jpgglobal_warning.jpgnamsouy.jpg2-1032-carole%201.jpg2-1032-lombard%20a.jpg2-1032-carole%20f(2).jpg				
comments powered by Disqus
  • อรวี

    23 มีนาคม 2551 16:41 น. - comment id 834199

    ภาพสวยจังเรย
    36.gif36.gif36.gif
  • ผู้หญิงไร้เงา

    23 มีนาคม 2551 21:44 น. - comment id 834328

    ภาวะโลกร้อน  เป็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น และทุกคนกำลังร่วมด้วยช่วยกันเพื่อแก้ไข  แต่ผลจะเป็นอย่างไร  คงต้องติดตามดูกันต่อไป
    
    แต่ที่แน่ ๆ เดี๋ยวนี้คนใจร้อน  มีมากขึ้นเยอะเลย  สงสัยติดเชื้อภาวะโลกร้อนมาแน่ อิอิ
    
    คิดถึงพี่พุดนะค่ะ

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน