หว่านแม่ไว้กลางดินถิ่นต่ำต้อย ตั้งตาคอยด้วยแล้งแสลงหนาว ซบอยู่ในคืนค่ำอันย่ำยาว หลายวันเช้าแว่วเสียงกู่ดุเหว่าชรา รอร้อยหน่อต้นข้าวคืนดาวดับ มาบอกเล่าความลับกับอุษา ถึงราวเรื่องเทพเทพีที่บูชา นายเหนือหัวชาวนามารดาเรา ถ้าเสี่ยงดวงลงดินแล้วสิ้นพันธุ์ กลัวมิ่งขวัญแม่ข้าวจะร้าวเหงา หวังพิรุณโรยสายคลายบรรเทา สู่รากดินถิ่นเก่าเหง้าภราดา เพียงวิมานสักหลังในวังรวง กลางเนินทรวงเรือนข้าวราวภูผา จะไกวยอดลิบลิบทิพย์ท้องนา เป็นวิมานเหล่าเทวาแลเทพี คราวบวงสรวงยากเข็ญลำเค็ญยุค แม่โพสพปลอบปลุกอย่าลุกหนี นิศากาลห่มฟ้าดาราวดี แค่มุ้งม่านราตรีที่ขึงตึง ตื่นเถิดหนอภราดาวิภาวัน สายวสันต์เจิมหล้าฟ้าเอื้อมถึง ได้ปลดม่านแห่งเราเงาตราตรึง เพื่อดื่มด่ำลึกซึ้งทิวากาล อดีตวันเลื่อนลอยคล้อยไปแล้ว ปวงข้าวแก้วแตกหน่อคลอข้าวสาร แตกออกจากกรุถิ่นของดินดาน เพื่อเจิมแต่งตำนานธรณี เทวีข้าวดรุณวัยดวงใจข้า ไร้เดียงสาเขียวอ่อนในซ้อนสี ริ้วใบเรียวห่มคลุมพสุมดี ในงามเงาประเพณีพสุนธรา ดื่มเถิดดื่มน้ำใสจากใจดิน น้ำนมรินมวยผมปมเกศา อันเอ่อท้นธรณีวารีเมตตา เพื่อกำเนิดลูกยาในกายครรภ์ ในวิมานแห่งแม่พระโพสพ ฤดูกาลคำรบราวภาพฝัน จากหน่อข้าวขาวใสก่อนวัยวัน สู่รวงพันธุ์ต้นไร่เพชรปลายนา เคยนิ่มเขียวน้ำนมบ่มในท้อง มาแตกช่อเรืองรองคล้องวรรษา งามไหมรวงเส้นผมองค์มารดา บนเรือนกายแม่กล้าของแผ่นดิน เนรมิตความหวังในวังรวง ทุกโน้มหน่วงยอดข้าวราวทิพย์ศิลป์ แท้น้ำงามมรกตหยดแต้มดิน เมื่อวิมานเทวินทร์รินล่องมา พลโลกพันเผ่าทุกเหง้าราก จรดหน้าผากทาบผืนดินถวิลหา พระโพสพธัญชาติธาตุมารดา แม่ผู้สืบชะตากล้าแผ่นดิน ----------------------------- คนไทยเชื่อว่าในต้นข้าวมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เรียกว่า ขวัญข้าว หรือ แม่โพสพหรือ นางโคสบ สถิตอยู่ ความเชื่อเช่นนี้ปรากฏในคนไทกลุ่มอื่นๆ ที่ทำนาเป็นอาชีพหลักด้วย มีภารกิจคือทำนุบำรุงรักษาต้นข้าวให้ออกรวง ได้เมล็ดข้าวมากๆ เพื่อเป็นอาหารเลี้ยงพลโลก ขวัญข้าวหรือแม่โพสพจึงมีบุญคุณต่อมนุษย์ ตำนานกล่าวถึงขวัญข้าวน้อยใจพระพุทธเจ้า พบในกลุ่มไทลื้อ ไทใต้คง ภาคกลางและภาคใต้ เล่ากันว่า แม่โพสพไม่ยอมไหว้พระพุทธเจ้า เพราะถือตัวว่าเกิดก่อน และมีบุญคุณ เลี้ยงพระพุทธเจ้ามาทุกพระองค์ จึงหนีไปซ่อนเสียในถ้ำ โลกมนุษย์อดอยาก พระพุทธเจ้าให้คนไปตามและสอนมนุษย์ ให้ไหว้แม่โพสพด้วยทุกครั้งเพื่อระลึกบุญคุณ เกิดเป็นประเพณีทำขวัญข้าว และธรรมเนียมไหว้ขอบคุณแม่โพสพ ทุกครั้งหลังอิ่มข้าว ภาคกลางแถบสิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง อยุธยา พอตกเดือนสิบหลังออกพรรษา มีเทศน์มหาชาติแล้ว น้ำเจิ่งท้องทุ่งข้าวออกรวงอ่อน ลำต้นป่องกลาง เรียกว่า ข้าวกลัดหางปลาทู อุปมาเหมือนผู้หญิงตั้งท้องอ่อนๆ อยู่ในช่วงแพ้ท้อง ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นหญิง จะพายเรือไปรับขวัญข้าว หรือไปเยี่ยมแม่โพสพ มองผ่านตำนาน จะเห็นความอ่อนโยน ของคนในสังคมเกษตรกรรม ที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติ เพราะรู้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ จึงอ่อนน้อม ให้ธรรมชาติและเอาใจใส่กับทุกส่วน ที่อยู่รอบข้าง ด้วยรู้ว่าทุกสิ่งต้องพึ่งพิงอาศัย ซึ่งกันและกัน จึงไม่แข็งกร้าว และนึกว่าตนเก่งแต่เดียว ลำน้ำน่าน บุรุษแห่งสายน้ำนิรันดร์ อุทิศแด่พระแม่โพสพเทพีข้าว และรวงข้าวทุกๆ รวง
2 กุมภาพันธ์ 2548 08:21 น. - comment id 418730
ชาวบ้านส่วนมากผูกันกับข้าว ที่บ้านผมเขามักจะทำบุญเกี่ยวกับข้าว เช่น บุญข้าวเม่า(ไม่ทราบว่าเคยได้ยินหรือเปล่า) บุญข้าวเปลือก ก็มีการนำข้าวเปลือกไปกองรวมกันไว้ บุญข้าวจี่ พูดถึงข้าวจี่ ต้องขอตัวไปทานก่อนนะครับ
2 กุมภาพันธ์ 2548 10:29 น. - comment id 418777
ลึกซึ้งเสมอ สำหรับบทกลอนของคุณลำน้ำน่าน............ขอชื่นชมค่ะ
2 กุมภาพันธ์ 2548 10:30 น. - comment id 418779
เราเป็นชาวนา..
2 กุมภาพันธ์ 2548 11:04 น. - comment id 418796
แวะมาเยี่ยมครับ ขอบคุณนะครับที่เข้าไปอ่านมโนราห์ ผมชอบวัฒนธรรม ผมไม่ใช่คนใต้อ่ะครับ แต่พ่อผมเป็นคนใต้
2 กุมภาพันธ์ 2548 12:07 น. - comment id 418850
-*บุญคุณข้าวกล่าวเปรียบเทียบสิ่งใด หล่อเลี้ยงให้หันสำนึกระลึกเถิด บุณคุณคนคร่ำทำนายิ่งว่าเลิศ สำนึกเถิดผองคนผู้รู้ความ-* เข้าไปอ่านงานของพี่ชัยเพลินครับ งานงามๆธรรมชาติงามๆต้องยกให้พี่ล่ะครับ ภาษาผมค่อนข้างกระด้างครับ สงสัยต้องอ่านหนังสือธรรมะตามที่พี่แนะนำ
2 กุมภาพันธ์ 2548 13:02 น. - comment id 418878
ไม่ทราบว่า ในช่วงข้าวออกรวงอ่อน ลำต้นป่องกลาง ที่เรียกว่า ข้าวกลัดหางปลาทู นั้น จะเป็นช่วงที่นำไปทำ *ข้าวยาคู* หรือเปล่าคะ แต่ทราบมาว่า ข้าวยาคู ทำจากข้าวเมล็ดอ่อนเหมือนกัน แต่ยังไม่ถึงเวลาจะเก็บเกี่ยวได้ ช่วงหลังเห็นมีผลิตภัณฑ์ *น้ำนมข้าวยาคู* ออกมา ชอบทานมากค่ะ...แต่หายากสักหน่อย ต้องไปเดินตามงานแสดงสินค้า บทนี้คุณลำน้ำน่าน...เขียนได้งามเหลือเกินค่ะ ...................................................................................................... ลี่...ผู้มาเยือน .
2 กุมภาพันธ์ 2548 14:30 น. - comment id 418955
หากคนยอมอ่อนน้อมถ่อมตน รับรู้และเรียนรู้รวมทั้งดัดแปลงตนให้สอดคล้องกับธรรมชาติเยี่ยงวิถีธรรมดั้งเดิม...รวมถึงสิ่งที่คุณลำน้ำน่านกล่าวมาอย่างงดงามแล้ว ไม่อยาก/โลภมากเกินไป..รู้จักให้ แบ่งปันและมีความพอดีชั่งใจ....สิ่งแวดล้อมรอบข้างและวิถีดำเนินในสังคมจะงดงามเพียงใด........เราคงไม่มีและหรือกลัวคลื่นสึนามิหรอก...คงไม่มีสิ่งที่เรียกว่าความขัดแย้ง...ถึงมีก็คงไม่หนักหนากับภูมิปัญญาคน...เพราะเป็นเพียงความขัดแย้งในมวลมิตรในเครือญาติ....น่าเสียดาย......สิ่งที่กล่าวมาไม่เคยมี ประวัติศาสตร์สอนมาให้คิดอย่างนั้น...คำว่าทรัพย์สินส่วนตัว ความเป็นเจ้าของส่วนตัว..กรรมสิทธิ์ส่วนตัว...สร้างกิเลศตัณหา อย่างพุทธท่านว่าไว้นานเทียว.... แวะมาชมงานและทักทายครับ....
2 กุมภาพันธ์ 2548 14:43 น. - comment id 418966
แม่เคยเล่าให้ฟัง ว่าเวลาเกี่ยวข้าวได้ ตาจะเอามากองรวมกันไว้ก่อน แล้วทำพิธีกราบไหว้ มีของเซ่น ก่อนที่จะนวด ไม่ทราบว่าเป็นพิธีอะไร เดี๋ยวนี้รถเกี่ยวนวดออกมาเสร็จ อิอิ
2 กุมภาพันธ์ 2548 15:36 น. - comment id 418996
ประเพณีที่สืบทอดจากโบราณ หลายอย่างแสดงให้เห็นถึงจิตใจดที่งดงามของผู้ประกอบพิธีกรรมอย่างชัดเจน บางอย่างซ่อนไว้ให้เฉพาะผู้ที่มีดวงตาปัญญาจึงแลเห็น ผสมผสานเรื่องราวมาเล่าขานได้ไพเราะและงดงามมากค่ะ..บุรุษแห่งสายน้ำ
2 กุมภาพันธ์ 2548 17:45 น. - comment id 419051
ชื่นชมผลงานเสมอค่ะ นึกถึงเวลากินข้าวหกเลอะเทอะ หรือกินข้าวเหลือจะถูกว่าเสมอ ว่าเดี๋ยวแม่โพสพจะเสียใจ ทุกวันนี้จำขึ้นใจเลยค่ะ
2 กุมภาพันธ์ 2548 19:22 น. - comment id 419101
ประทับใจอีกครั้ง..กับงานที่งามมากของ.. ...ลำน้ำน่าน...อ่านแล้วทำให้เห็นภาพที่งดงามของธรรมชาติ...สื่อด้วยใจ....ส่งถึงใจ..ให้ผู้อ่านได้รับ....ชื่นชมมากค่ะ... ..ลำน้ำน่าน...เคยถามราชิกาว่า..เป็นนางรำมั้ย..ได้นำรูปราชิกา..มาลงให้ดูแล้วนะคะ..ลองแวะไปดูนะ....อาจจะต้องทนดูนิดหนึ่ง..คงไม่ว่ากันนะคะ...(..ลงรูปให้ดู..ในฐานะที่เป็นคนถามคนแรกนะคะ )... .
2 กุมภาพันธ์ 2548 21:08 น. - comment id 419197
ที่บ้านก็ทำนาเหมือนกัน แต่เดี๋ยวนี้เลิกแล้ว เพาะว่าเข้ามาอยู่ในตัวเมือง
2 กุมภาพันธ์ 2548 22:12 น. - comment id 419226
ต่อจากนี้ไปคงจะต้องทานข้าวให้หมดทุกเม็ดในทุกมื้อค่ะ ไพเราะและสวยงามมาก ชื่นชมในผลงานเสมอนะค่ะ
5 กุมภาพันธ์ 2548 17:55 น. - comment id 420818
วิมานนาวิมานสรวงพราวรวงทิพย์ ทองลิบลิบพริบพริบไหวไกวเปลขวัญ เทพีไพรหลงแสนไกลเอื้อมตะวัน ราวหลงฝันลืมผืนนาเคยท่ารอ ขวัญข้าวเคยคล้องขวัญสวรรค์หล้า ไยพรากลาทิ้งทุ่งลืมใครหนอ ราวขวัญนาลืมเรียวรวงเฝ้ารอรอ ตะแบกพ้อรอเทพีข้าวพราวคืนรวง