ลิลิตสุวรรณสาม : กถามุข

ราม ลิขิต

๐ปางองค์พระสัมมา                 ไตรคุณาส่ำสัตว์           ผู้ปริวรรตกิเลส
ครั้งประเวศเชตวัน                อันสงบสงัดระงับ           เมื่อประทับสำราญหฤทัย
ในเพลาขณะนั้น                     ก็พลันทิพยโสต            สดับปราโมทย์กถาสงฆ์
ผจงสรรเสริญพระศาสดา        เทิดมหาภิเนษกรมณ์    น้อมนิยมซึ่งการสละ
อันมละแล้วราชสมบัติ             วิรัชแห่งพระคุณเจ้า      เมตตาเต้าไตรภพ
มารสยบแสยงเดช                  มิข้องเขตนาบุญ            สุนทรธรรมถ่องแท้
ทรงยาตรพระบาทแล้              สู่ส้องสภาเกษม
 
๐โอษฐ์เอมพระออกเอื้อน       อาทร
ถามท่านวาทีวร                    วากย์ว่า
รูปเลาเรื่องสุสร                    นุศาสน์
ขอบ่งระบุท่า                       ที่ร้อยแถลง
 
๐สงฆ์แจงประจุแจ้ว              จรรจา
กระหม่อมโมทนา                 น่านเจ้า
อันเมตต์ซึ่งตถา-                 คตท่าน
มีมอบมนุษย์เหน้า                นี่นี้หนักหนา
 
๐ศาสดาสดับด้วย               ดุษฎี
สัมพุทธพาที                     ผ่องถ้อย
ชาติหนอใช่จักมี                 มาหนึ่ง
กรรมก่อนนุสรณ์สร้อย          ซาบซึ้งสั่งสม
 
๐บังคมคณะน้อม                อาราธนา
เชิญเสด็จสดมภ์พา             พาทเรื่อง
สันนิบาตปราชญา               ญัตติ
สรรเพชญดำรัสเรื้อง            เรื่อยล้ำเรียงเฉลย/.				
comments powered by Disqus
  • ผีเสื้อปีกบางฯ

    4 พฤษภาคม 2546 06:46 น. - comment id 135043

    @^_^@
    
    ชอบอ่านค่ะ
    
  • เชษฐภัทร วิสัยจร

    4 พฤษภาคม 2546 12:28 น. - comment id 135109

    oh นับถือจริง ๆ
    
    อยากขอคำชี้แนะ บ่อย ๆ ครับ
    จะเป็นเกียรติมาก 
    
    ถ้าคุณลุงรามไม่รังเกียจ
  • ตะเอ๋า

    4 พฤษภาคม 2546 14:59 น. - comment id 135129

    คุณรามขึ้นต้นลิลิตด้วยร่ายสุภาพนำบท แล้วตือด้วยโคลงสี่สุภาพ 
    
    ๐โอษฐ์เอมพระออกเอื้อน       อาทร
    ถามท่านวาทีวร                    วากย์ว่า
    รูปเลาเรื่องสุสร                    นุศาสน์
    ขอบ่งระบุท่า                       ที่ร้อยแถลง
    
     ว่า ถึงมีเสียง โท แต่ คงรูปวรรณยุกต์เอก 
    เช่นเดียวกับคำว่า ท่า เสียงโท มีรูปวรณณยุกต์เอก 
    
     คำโคลงไพเราะที่เสียงสูงต่ำ แต่ผมก็ไม่เคยเห็นโบราณ ท่านใช้ฉันทลักษณ์แบบนี้ เกรงว่าเด็กรุ่นใหม่จะเอาเป็นเยี่ยงอย่างนะครับ
    ดังนั้นก็ควรจะมีหมายเหตุไว้สักหน่อยฉันทลักษณ์แบบนี้ควรถือเป็น กวีตานุมัติ (เฉพาะปัจเจกชน) แต่อาจเป็นดาบ 2 คมของผ฿ไม่รู้ฉันทลักษณ์ อาจนำไปใช้ผิดๆ 
    ด้วยความเคารพ
    :-)
    
    
    
    
  • ฟองอากาศ

    4 พฤษภาคม 2546 16:39 น. - comment id 135181

    ชื่มชม.... นับถือ...
    
    ......................................................... :)
  • ราม ลิขิต

    4 พฤษภาคม 2546 17:56 น. - comment id 135210

    สวัสดีครับคุณผีเสื้อปีกบาง, คุณเชษฐภัทร วิสัยจร, คุณตะเอ๋า, คุณฟองอากาศ
    
    ตั้งใจจะเขียนทศชาติ แต่จนแล้วจนรอดพระเตมีย์เพิ่งได้ครึ่งเรื่อง เลยคิดว่าเขียนหลายๆเรื่องพร้อมกันดีกว่าครับ
    
    คุณตะเอ๋าครับ เหตุที่ใช้ดังนี้เป็นเจตนาจริงๆของผม ที่จะไม่ใช้เอกโทษ โทโทษให้รุงรัง เพราะมันอ่านไม่รู้เรื่อง อ่านแล้วต้องแปลกลับอีก ทั้งนี้ตามวินิจฉัยของคุณคมทวน คันธนู ในเรื่องวรรณวิเคาระห์ ตำนานฉันทลักษณ์กับหลักการใหม่ 
    
    นอกจากนั้นแล้วการที่เราเน้นรูปวรรณยุกต์มากกว่าเสียง บางครั้งทำให้โคลงเพี้ยน เท่าที่ศึกษามาบ้าง โคลงน่าจะเน้นเสียงมากกว่ารูปวรรณยุกต์  ซึ่งลองสังเกตดูจะเห็นว่าส่วนใหญ่รูปโทเสียงตรีแทบทั้งนั้น อย่างไรก็ตาม ผมจะหมายเหตุตามคุณตะเอ๋าว่าทุกครั้งในครั้งต่อไปขอบคุณด้วยใจจริงครับ
    
    และขอบคุณเพื่อนๆทุกท่านอีกครั้งครับ

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน