๐เยื้องยาตรบาทดุ่มดั้น กุญชร เท้าสี่จตุลังค์ ปกป้อง บนหลังหนึ่งควาญคอน คอยขับ ประภาสนัยน์ผู้จ้อง แจ่มชัด ๐ยาบเยิบขยับย่ำ ยนต์แซง คืนค่ำคนขนัด แน่นหล้า ร้านรวงช่วงสีแสง สุกส่อง ดูปล่งปล่อยเท้าหน้า แน่วถึง ๐มือถือปากท่องอ้อย เอาเงิน ออกโอษฐ์เลี้ยงช้างอึง บ่นอู้ กล้วยหวียี่สิบเกิน การหน่อย ขานต่อรองร้องสู้ ซุ่มเสียง ๐ช้างใหญ่น้ำย่อยย่อม ใหญ่ตาม ห้าท่อนสองหวีเพียง แผ่วอ้ำ สองหูโบกเบียนขาม ขออีก หิวยิ่งโหยท้องช้ำ ชอกเหลือ ๐สูญศักดิ์หนักฉีกหน้า แหลกนาม พงศ์เผ่าคเชนทร์เครือ เอกข้าง เคยยงยิ่งยุทธขาม คราวศึก กลับภิกขาคร้ามอ้าง อดสู ๐พงไพรเพียงตึกตั้ง ตระการ คอนกรีตป่าใดดู ดกด้วน เติบต้นเต่งสูงตาล ตึงบ่า ใบบ่บงแท้ถ้วน โท่หาย ๐คนควาญคุณค่าแค่ รังควาน ไส้ขดคดคนควาย แค่นค่า อ้างคชอดขอทาน ถูเหงือก ยังยื่นยอแย้มหน้า อีกหนอ ๐คนซื้อบุญเกลือกแล่น บาปลอย ดีจิตแต่พิษพอ นาคเพี้ยง โมหันธ์หั่นคอหอย คอยห่า เรียกสุขสุกไหม้เกลี้ยง กลบแถม ๐ขวัญเอยขออย่าเศร้า โศกทรวง จงเภทพิบัติแรม ห่างหล้า สรรพางค์แง่งางวง งามยิ่ง ศรีสู่ทแกล้วกล้า เกียรติสาง ๐เยื้องยาตรบาทดิ่งดั้น กุญชร เท้าสี่ลับเลือนลาง จากแล้ว เป็นเบี้ยหนึ่งนาคร โขกสับ คืนค่ำเก็บรุ้งแก้ว กักขัง/.
27 มีนาคม 2546 11:18 น. - comment id 119240
คุณราม ขอท้วงโคลงดั้นบาทกุญชร นี้หน่อยนะครับ ตรง ยาบเยิบขยับโยก ยนต์แซง บกพร่องทางเสียงโท และ คนควาญคุณค่าแค่ รังควาน บกพร่องทางเสียงโท ถ้าใช้โทโทษอาจเป็น แข้ ก็ได้ และ คนซื้อบุญเกลือกแล่น บาปลอย โทโทษ อาจใช้เป็น แหล้น และ คืนค่ำอันรุ้งแพร้ว พ่ายแพ้ แพ้เป็นเสียงโทไม่นิยมนำมาไว้ในที่สุดของ คำโคลงเพราะถ้าใช้เสียงเอกโทเสียงมันจะห้วนๆ นิยมใช้เสียงสมาญ ตรี หรือจัตวา ิ_ิ !
27 มีนาคม 2546 11:57 น. - comment id 119258
คือว่า...นี่เป็นโคลงสี่ดั้นบาทกุชร หรือว่า โคลงสี่สุภาพบาทกุญชร อ่ะคะ?? ดูยังไงหรอคะ?? ช่วยบอกหนูทีนะคะ แล้วก็โคลงบาทกุญชร กะ วิวิธมาลี มันต่างกันตรงไหนอ่ะคะ ?? ช่วยไขข้อข้องใจให้หนู่หน่อยนะคะ ขอบพระคุณค่ะ
27 มีนาคม 2546 12:11 น. - comment id 119268
สวัสดีครับคุณตะเอ๋า ขอบคุณครับที่ช่วยทักท้วง ผมยังอยู่ในช่วงทดสอบครับ การผันวรรณยุกต์มันเลือนไปหมด กำลังศึกษามูลบทบรรพกิจอยู่ แต่มีอยู่อย่างหนึ่งที่ผมคงไม่เปลี่ยน คือจะไม่ใช้เอก-โทโทษครับ (เนื่องจากอ่านแล้วหาความหมายไม่ได้-ดูแล้วเลอะเลือนชอบกล แต่กรณีนี้ต้องแม่นผันเสียงวรรณยุกต์จริงๆ ซึ่งกำลังเป็นปัญหากับผม) โยค กับ แพ้ เดี๋ยวจะแก้ครับ (โยคนี่คงเสียงเอก ผิดแบบแผนไป ส่วนแพ้เสียงตรี คมทวน คันธนูก็กล่าวไว้เช่นกันว่าคำท้ายดีที่สุดควรเป็นจัตวา จะไพเราะกว่า) ขอบคุณอีกครั้งครับ ยังไงช่วยผมเคาะสนิมในครั้งต่อๆไปด้วยนะ
27 มีนาคม 2546 12:57 น. - comment id 119295
สวัสดีครับคุณตู่นู๋ดี ผมคงต้องกางตำราเล่าให้ฟังแล้วครับ โคลงแบ่งเป็น ๓ ชนิด โคลงสุภาพ, โคลงดั้น, โคลงโบราณ โคลงสุภาพ แบ่งออกเป็น ๗ ชนิด สอง, สาม, สี่, ห้า (มณฑกคติ), ตรีพิธพรรณ, จัตวาทัณฑี, กระทู้ (โดยคำว่าสุภาพหมายถึง คำที่ไม่มีเครื่องหมายวรรณยุกต์เอกโท (คำนอกเหนือกำหนดเอกโท) และมีการบังคับคณะและสัมผัสอย่างเรียบๆไม่โลดโผน-อ.กำชัย ทองหล่อ) โคลงดั้น แบ่งออกเป็น ๖ ชนิด สอง, สาม, วิวิธมาลี, บาทกุญชร, ตรีพิธพรรณ, จัตวาทัณฑี (โดยความหมายคำว่าดั้นหมายถึงการแต่งดั้นไป ไม่สู้เคร่งครัดตามแบบแผนนัก มีจำนวนคำน้อยกว่าโคลงสุภาพ เอกโทและสัมผัสต่างไปบ้าง อ่านออกเสียงจะห้วน ไม่นุ่มนวลเหมือนโคลงสุภาพ-รศ.วิเชียร เกษประทุม) โคลงโบราณ แบ่งออกเป็น ๘ ชนิด วิชชุมาลี, มหาวิชชุมาลี, จิตรลดา, มหาจิตรลด, สินธุมาลี, มหาสินธุมาลี, นันททายี, มหานันททายี เป็นโคลงที่ไม่บังคับเอกโท บังคับแต่สัมผัส ไทยเราแปลงมาจากกาพย์ภาษาบาลีชื่อ คัมภีร์กาพย์สารวิลาสินี คมทวน คันธนู กวีซไรท์ ให้ความเห็นไว้ใน วรรณวิเคราะห์ ตำนานฉันทลักษณ์กับหลักการใหม่ ว่าพ้นสมัย ไม่มีความอลังการ ไม่น่าสนใจ สำหรับผังบังคับหรือรายละเอียดพิสดาร น่าจะไปดูที่สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทยนะครับ ทั้งหมดลอกจากตำรา เพื่อนๆท่านใดจะท้วง, เสริมเชิญได้เลยนะครับ เพื่อให้คุณตู่นู๋ดีแจ่มชัดมากขึ้น
27 มีนาคม 2546 13:24 น. - comment id 119308
โตเล่นหาง ยินกุญชรช่างช้อย . . . ช่างกราย กวีเร้นเล่นลาย . . .หลากรื่น สิงหนาทจึงย้าย . . . ย่างเท้า อวดด้วย อวดเล่นหวดหางฟื้น . . .ฟ้อท่า พญาสิงห์ อันนี้ โตเล่นหางครับ เผอิญ ไม่ค่อยชอบโคลงเท่าไหร่ เพราะ ดิ้นไม่ได้ บทบังคับ เยอะไป เลยขอแจมด้วยเท่านี้ พอ ไม่คิดจะแต่งลงกระทู้ใหญ่
27 มีนาคม 2546 13:24 น. - comment id 119309
แจม..ขอเป็นผู้ชมที่ดีค่ะ สงบเสงี่ยม..และแวะเยี่ยมชมตามปกติ
27 มีนาคม 2546 13:54 น. - comment id 119327
สวัสดีครับคุณม้าก้านกล้วย, คุณสีน้ำฟ้า เห็นด้วยกับคุณม้าก้านกล้วย ว่าดิ้นลำบาก แต่อยากลองมั่งน่ะ โตเล่นหาง นี่ ถ้าอยู่ใกล้ๆนะ ผมจะกระซิบว่า เล็กเล่นขำ..ฮา ผมไม่ค่อยถนัดเรื่องโคลงหรอกครับคุณแจม แต่ไม่ลองไม่รู้ สมัยก่อนก็เขียนอยู่บ้าง แต่เหตุผลที่หยุดก็อย่างที่คุณม้าก้านกล้วยว่านั่นแหละ ก็จะขอลองใหม่อีกทีสัก ๑๐๐ บทพอ (ได้สิบแล้ว เหลืออีกหน่อยเดียวเอง เฮ้อ!ลมจะใส่)
27 มีนาคม 2546 16:39 น. - comment id 119354
มาชื่นชมพี่รามค่ะ พี่รามเก่งจัง ฟ้าสวยก็ได้แต่แต่งกลอนสี่ ไม่ก็กลอนแปด เพราะความขี้เกียจและความไม่เป็นนี่แหละค่ะ อิอิอิ เรียนแล้วลืมหมด....
28 มีนาคม 2546 02:16 น. - comment id 119526
สวัสดีครับคุณฟ้าสวย นานๆมีคนเรียกพี่ซักที กระชุ่มกระชวยพิลึก ม่ายงั้นมีแต่อา ลุง ปู่ไปโน่น ความจริงผมก็ไม่ค่อยคล่องโคลงหรอกครับ แต่ก็จะกัดฟันสู้ดูสักตั้ง เป็นไงเป็นกัน ขอบคุณอีกครั้งนะครับที่แวะเข้ามา
26 กรกฎาคม 2550 17:30 น. - comment id 145503
ดี ชอบ เพราะมากค่ะ
19 สิงหาคม 2549 21:57 น. - comment id 146032
แนะนำหนังสือครับ ลักษณะคำประพันธ์ไทย (ฉันทลักษณ์) รหัสสินค้า: 000031 ราคา 60.00 บาท รายละเอียด: ลักษณะคำประพันธ์ไทย (ฉันทลักษณ์) โดย รศ. วิเชียร เกษประทุม คำประพันธ์ไทย กลอน โคลง ร่าย กาพย์ ฉันท์ จำนวนหน้า 200 หน้า ขนาด 5 5/8 x 8 1/4 นิ้ว กระดาษ ปอนด์ แบบปก ปกอ่อน สำนักพิมพ์พัฒนาศึกษา [img]http://www.tarad.com/thaibook/img-lib/spd_2006080274640_b.jpg [/img] http://www.tarad.com/thaibook/