๏ พุทธกาลขานกล่าวเล่ากำหนด
บันทึกผ่านจารจดธรรมบทคาถา
คุณลักษณ์สตรีพึงตีตรา
ตามความงามมีห้า(เบญจ)กัลยาณี ๚ะ๛
๏ พุทธกาลขานเล่าอ้าง ... ถึงอิตถี
เบญจกัลยาณี .... กำหนดให้
ศุภลักษณ์พึงมี ..... ห้าอย่าง
อิริยาพร้อมไซร้ ...ชอบด้วยสำแดง
๏ เกสีคลี่คล้ายอย่าง..... หางมยุเรศ
คลุมพาดพัสตร์เคียงเขต ....ขอบผ้า
ปลายงอก่อตามเจตน์ ....บัญญัติ จารนอ
คือหนึ่งซึ่งในห้า .... นุชเจ้าพึงมี
๏ ริมฝีปาก-เหงือกนั้น .... งามถึง
แดงดั่งผลตำลึง ... สุกแต้ม
เรียบชิดสนิทตึง ... ชวนทัศ-นาเนอ
งามโอษฐ์ยามแม่แย้ม .... โลกย้อมหฤหรรษ์
๏ สามงามประดับด้วย .... ไรทนต์
ขาวเยี่ยงสังข์ปลั่งปน....มุกต้อง
เสมอเรียบยามยล...คล้ายเพชร เรียงแล
วาววับระยับย้อง....ดั่งย้อมด้วยมณี
๏ สี่สีผิวเนื้อนุช .... กำหนด วางเฮย
ดำเช่นดอกบงกช....บอกคล้าย
แม้นขาวผ่องพราวยศ.....เยี่ยงกลีบ- กรรณืการ์นา
เนียนนุ่มนิ่มละม้าย....นุ่นเนื้อทิพย์พิมาน
๏ งามสุดท้ายให้ว่า .....งามวัย
ทุกช่วงชีพโชติไสว ....สะพรั่งแพร้ว
มากบุตรยังละไม.... ไม่สร่าง สวยเฮย
ดรุณีจวบชราแล้ว .... มิร้างชนชม ๚ะ๛
+ กิ่งโศก+
๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๖
ไม่แน่ใจว่าจะมีคำว่า..เบญจชายชาติอาชาไนยหรือไม่ อิอิ
เบญจกัลยาณี (แปลว่า ผู้มีความงาม 5 ประการ) หมายถึงสตรีผู้มีศุภลักษณ์หรือลักษณะที่งาม 5 ประการ คือ
ผมงาม คือมีผมเหมือนหางนกยูง เมื่อสยายออกทิ้งตัวลงมาถึงชายผ้า
เนื้องาม คือมีริมฝีปากแลเหงือกแดงเหมือนลูกตำลึงสุก เรียบสนิทมิดชิดดี
ฟันงาม คือขาวเหมือนสังข์และเรียบเสมอเหมือนเพชรเรียง
ผิวงาม คือถ้าผิวดำก็ดำสม่ำเสมอเหมือนดอกอุบล ถ้าขาวก็ขาวเหมือนกลีบดอกกรรณิการ์
วัยงาม คืองามทุกวัย แม้คลอดบุตรมาแล้ว 10 ครั้งก็ยังดูสาวพริ้งอยู่
ตำนานว่า นางวิสาขามหาอุบาสิกาเป็นเบญจกัลยาณีคนหนึ่งในสมัยพุทธกาล