ณ ระเบียงที่เงียบยามคืนค่ำ เสียงลมพลิ้วเย้ยย้ำถามความฝัน เจ้ายังรอคลอใครคนสำคัญ อยู่ที่นี่ไม่แปรผันหรืออย่างไร จำตอบคำลมพลิ้วผู้ถามไถ่ ยังอาลัยอุ่นไอคนเคยใคร่ ความสุขหวามมากมายซุกซ่อนไว้ พาเคลิ้มใจใฝ่เติมต้องนั่งรอ ลมเยาะเย้ยถามต่อรอหรือฝัน ในเมื่อวันพบเจอใช่เหลือหลอ เจ้าละเมอหรือลืมหรือเพ้อพ้อ ยอมเจอเก้อนั่งรอปนปวดล้า สายลมย้ำตำจิตให้จับขม ดังคมมีดกรีดแกล้งข่มทุกท่า ฉันยังทนปนรั้นกับเหนื่อยล้า ตอบเหมือนปลอบตนว่าคงไม่ช้า ลมสะบัดพูดหยันระรานก้อง จมเจ็บกองจองทุกข์คลุกถลา น่าสงสารคนเศร้าเคล้าน้ำตา ต้องแอบมานั่งเหม่อ ณ ระเบียง เสียงแว่วแผ่วพลิ้วผ่านไปไกลแสน ฉันเจ็บแน่นจับจิตคิดแผดเสียง หลังระบายลมหายใจผ่อนรอนเรียง เมฆปุยขาวลอยเอนเอียงเคียงมามอง เจ้ารอเขามานานผ่านตรมติด จงหยุดคิดปล่อยจิตปิดหม่นหมอง แล้วตามเราข้ามฟ้าเที่ยวทดลอง ดูผู้คนทั้งผองจะสุขใจ ดีกว่ารอ ณ ระเบียง บนท้อแท้ ให้ใจแพร่แผลเพ้อลามรุกไหม้ เจ้าเห็นดีเห็นงามประการใด ตอบเร็วไวจะได้พาไปพร้อมกัน ฉันยังใฝ่คลอเคล้าใคร่เคียงฝัน อยากผูกพันวันวานที่เขาสรรค์ หากจากไกลเขามาไม่พบกัน ฉันคงร้าวรำพันพล่ามร่ำไป เมฆตำหนิติเตียนว่าโง่เขลา อยากเฝ้าเศร้าเคล้าขมจ่อมจมไข้ เชิญร่ำไห้ใกล้กร่อนรับหลอนใจ เราจะไปเล็มรื่นชื่นสำราญ เมฆห่างไปฝนใสโปรยปลิวรด ฉันลุกยืนระทดทุกข์พลุกพล่าน ค่ำคืนนี้ ณ ระเบียงเหมือนวันวาน มีแค่ฉันผ่านกาลคู่ระทม เมื่อฝนซาไม่นานจันทร์มาหา แสงนวลตาสาดทอเหมือนห่อห่ม เสียงเดือนเด่นเปล่งทักผลักตรอมตรม ไล่ปัดขมปลดขื่นพาชื่นมา เราจะรอคลอเคียงไม่มีสิ้น แม้จินต์จับภินท์พังละห้อยหา จะเป็นเพื่อนผ่านกาลที่ช้ำชา ทุกเวลาเรามีกันเหมือนเงากาย เมื่อเจ้าเจ็บเราพร้อมจะเจ็บร่วม เมื่อทุกข์ท่วมเราจะปันยันจนหาย เจ้าจะไม่เปล่าเปลี่ยวเที่ยวเดียวดาย เราจะเป็นสหายร่วมร้อนเย็น นิทานเล่าถึงปลายกรายใกล้จบ สิ่งที่พบทบคิดยามแสนเข็ญ คือกำลังของน้ำใจร่วมลำเค็ญ ใช่เย้ยย่ำประเด็นเค้นภวังค์ เพื่อนทุกคนมีเศร้าใช่เท่าทั่ว อย่าเพียงพร่ำรัวคำทำสอนสั่ง การจะผ่านรอยร้าวแต่ละครั้ง ต่างต้องนั่งชั่งทุกข์หลายเพลา แค่เพียงเคียงคลอข้างนั่งนิ่งเงียบ ก็พร้อมเพียบเทียบฟ้ากับคุณค่า แม้ไม่มีมธุรสที่โสภา ยังพาเพื่อนหมดปร่าได้เหมือนกัน ดีกว่าแนะกระแซะเย้ยรุกแผล หาใช่ทางแก้ไขหายโศกศัลย์ ดังฝุ่นเข้าตาเราพาเคืองคัน คนเจ็บนั้นคือใครใจเรารู้ จะรู้เจ็บเหน็บร้าวมีรสชาด ต่อเมื่อตนคาดติดทาบชิดอยู่ ต้องเรียนช้ำย่ำด้วยตัวใช่แค่ดู ต้องลุกสู้โศกสร้อยจึงรู้จริง เพราะความทุกข์ของใครใครมักเรื่องเล็ก แต่ใช่คนจิตเหล็กนั่งทนนิ่ง เมื่อเจอทุกข์เกาะกวนอวลอาบอิง ต่างละหยิ่งทิ้งท่าร้องเท่ากัน
10 กรกฎาคม 2551 23:40 น. - comment id 871631
กลบทเทพชุมนุมและกลบทมธุรสวาที เป็นกลบทที่บังคับเหมือนกันทุกอย่าง เป็นกลบทชนิดง่ายอีกบทหนึ่ง เหมือนกลอนแปดกลอนเก้าทุกอย่างต่างแค่ บังคับให้ทุกวรรคต้องมีสัมผัสในทั้งสัมผัสเสียงพยัญชนะและสัมผัสเสียงสระ อย่างน้อยวรรคละ๒คู่(คือ๑เสียงพยัญชนะ ๑เสียงสระ) กลบทเทพชุมนุมโดยบรมครู หลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) หวานเพลิน เดินการ จนหวานสิ้น ฉุนชื่นลิ้น กลิ่นกลั่น ล้วนสรรค์ผล เพียงปั้นป้อน ข้อนคั้น ขึ้นปันปน จวนเจียนจน ยลยวน เช่นชวนพะวง พึงกริ่งตรอง จองแจ้ง แสร้งสิ่งยั้ง เฟื่องฟุ้งฟัง พลั้งแพลง คลังแคลงหลง ปางปอง จองแจ้ง แห่งจริงจง ง่วงโงงงง ปลงเปลื้อง เครื่องลังเล ปะทะที่ ทีน่า ระอาท้อ มิใช่ข้อ ส่อแต่ จะแส่เส ไฉนหนอ ต่อจะรู้ สิปรูเปร ถ้าคะเน ดูในที น่ามีภัย กลบทเทพชุมนุมโดยบรมครู ขุนธนศิษย์:ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ .................................. นิราไกลไร้หน้าพงาเหงา มาว้าเหว่เอกาอุราเรา มีแต่เศร้าเปล่าใจให้รัญจวน แสนร้อนนอนเถื่อนเป็นเรือนถิ่น รื่นรื่นกลิ่นคันธมาลย์ร่านรนหวน ฉุนฉุนชื่นคืนถวิลเหมือนกลิ่นนวล กลครั่นครวญป่วนปั่นกระสันพักตร์ กลบทมธุรสวาทีโดยบรมครู หลวงศรีปรีชา (เซ่ง)(ศิริวิบุลกิตติ์) อตีเตแต่นานนิทานหลัง มีนครังหนึ่งกว้างสำอางศรี ชื่อจำบากหลากเลิศประเสริฐดี เจ้าธานียศกิตติ์มหิศรา ดำรงภพลบเลิศประเสริฐโลกย์ เป็นจอมโจกจุลจักรอัครมหา อานุภาพปราบเปรื่องกระเดื่องปรา กฏเดชาเป็นเกษนิเวศเวียง http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=jiujik
11 กรกฎาคม 2551 07:35 น. - comment id 871720
กาแฟเช้าๆๆคะคุณโอเลี้ยง กลบทนี้มีมากจริงๆๆนะคะ กลบทเทพชุมนุม.. ขอศึกษานะคะ
11 กรกฎาคม 2551 08:04 น. - comment id 871730
เก่งจริงๆ โอเลี้ยง มีความรู้เชิงกลอนเยอะแต๊ๆเลย เพลงก้อม่วนๆเพราะๆ อิอิ
11 กรกฎาคม 2551 09:12 น. - comment id 871777
เพื่อนจริงแท้แน่ใจว่าไม่หลอก จะคอยบอกตอกเตือนเหมือนตัวเจ้า จะเจ็บร้อนผ่อนปรนพ้นเรื่องราว จะยอมก้าวพร้อมกันวันทุกข์ใจ อิอิ..พอได้มั๊ยเจ้าแม่
11 กรกฎาคม 2551 10:13 น. - comment id 871804
หวัดดีค่ะคุณโอเลี้ยง การที่มีใครสักคนเข้าใจเรามันเป็นความรู้ที่ยากจะบรรยายนะคะ จริงดังว่าค่ะถ้าไม่โดนกับตัวเอง จะไม่ซึ้งหรอกค่ะ เพราะจังเลยนะคะคุณเก่งจังแต่งได้ตั้งหลายอย่างค่ะ อยากหัดมั่งจังเลย
11 กรกฎาคม 2551 12:56 น. - comment id 871894
วันนี้มาเป็นกลบทเสียยาว พี่ยังแฮ้งค์อยู่เลย เด่วขอพักเอาแรงก่อง..
11 กรกฎาคม 2551 13:58 น. - comment id 871917
ขอบคุณพี่ๆทุกคนที่แวะมาอ่านกลบทอีกนะค่ะ กลบทมีเยอะจริงๆค่ะดังคำที่บันทึกไว้ดังนี้ค่ะ มีหลักฐาน เป็นที่เชื่อถือได้ว่า กวีไทยได้แบบอย่าง การแต่งกลบท มาจากอินเดีย ในคัมภีร์ สุโพธาลังการ อันเป็นตำรา อลังการศาสตร์ ฉบับบาลี ที่รวบรวมขึ้น โดยพระสังฆรักขิต ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ และตำรา อลังการศาสตร์ ฉบับสันสกฤต ของวาคภัฏ ที่รวบรวมขึ้น ประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๘ ล้วนปรากฏ กลวิธีการประพันธ์ ที่มีลักษณะ เหมือนกับกลบท ของไทย ตำรากลบทของไทย มีอยู่ด้วยกัน ๓ เรื่องคือ ๑. จินดามณี แต่งขึ้นใน สมัยอยุธยา ตอนกลาง ในรัชสมัย สมเด็จพระนารายณ์ มหาราช ผู้แต่งคือ พระโหราธิบดี มีลักษณะ เป็นแบบเรียน ภาษาไทย เนื้อหาประกอบด้วย การใช้สระ พยัญชนะ วรรณยุกต์ การแจกลูก การผันอักษร อักษรศัพท์ อักษรเลข การสะกดการันต์ การแต่งคำประพันธ์ ชนิดต่างๆ และกลบท ปรากฏกลบท อยู่ ๖๐ ชนิด มีทั้ง กลอักษร และกลแบบ ๒. ศิริวิบุลกิตติ์ แต่งในสมัย อยุธยา ตอนปลาย ผู้แต่งคือ หลวงศรีปรีชา (เซ่ง) เนื้อเรื่องนำมาจาก ศิริวิบุลกิตติ์ชาดก แต่งด้วย คำประพันธ์ ประเภทกลอน โดยใช้กลบท ชนิดต่างๆ สลับกันตลอดเรื่อง รวมกลบท ทั้งสิ้น ๘๕ ชนิด มีทั้งที่ซ้ำ และต่างจาก กลบทใน จินดามณี เนื่องจากแต่งโดย ผูกเป็นเรื่องราว กลบทใน ศิริวิบุลกิตติ์ จึงเป็นแบบกลอักษร ทั้งหมด ๓. ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน ฯ เกิดขึ้นในสมัย พระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุง รัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๗๕ ทรงปฏิสังขรณ์ วัดพระเชตุพน ฯ และทรงมี พระราชประสงค์ จะให้เป็น แหล่งเล่าเรียน วิชาความรู้ ของมหาชน ไม่เลือกชั้นบรรดาศักดิ์ จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้า ให้รวบรวม เลือกสรร ตำรับตำราต่างๆ โดยตรวจแก้ จากของเดิมบ้าง และประชุม ผู้รู้ให้แต่งขึ้นใหม่บ้าง ทั้งด้าน วรรณคดี โบราณคดี และวิชาอื่นๆ และโปรด ฯ ให้จารึก แผ่นศิลาไว้ ในบริเวณ วัดพระเชตุพน ฯ เมื่อผู้ใดสนใจ วิชาใด ก็สามารถ เล่าเรียนได้จากศิลาจารึกนั้น จารึกวัดพระเชตุพนฯ ได้รับการรวบรวมพิมพ์ เป็นหนังสือขึ้น ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ เนื้อหาแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ ประเภทร้อยแก้ว และประเภทร้อยกรอง ในแต่ละประเภท ยังแบ่งออกเป็น ๕ หมวด มี หมวดประวัติวัด หมวดวรรณคดี หมวดสุภาษิต หมวดทำเนียบ และหมวดอนามัย ตำรากลบท อยู่ในหมวดวรรณคดี มีทั้งหมด ๙๗ ชนิด มีทั้งกล อักษร และกลแบบ ส่วนใหญ่ ซ้ำกับกลบทใน ศิริวิบุลกิตติ์ .................................... ตอบคุณฝากฝัน ถูกต้องแล้วค่ะ
11 กรกฎาคม 2551 14:46 น. - comment id 871933
ติดรายการทางออนเอม ไม่อาจอ่านกลอนพี่ๆอีกแล้ว คืนนี้โอเลี้ยงย่องมาใหม่ค่ะ
11 กรกฎาคม 2551 16:35 น. - comment id 872010
เขียนได้งดงามครับ สมัยก่อนผมเองก็ทึ่งใน กลบทนี้เหมือนกัน แต่ไม่กล้ายิ่งกลบทเทพชุมนุม หากผมเขียนกลัวว่าจะเป็น กลบทมารมั่วสุม ไป ครับ รักเสมอ แก้วประเสริฐ.
11 กรกฎาคม 2551 17:56 น. - comment id 872062
คล้ายๆกลอนแปดค่ะ วันหลังจะลองแต่งมั่ง ภาพงามอีกแล้ว เพลงเพราะ กลบทเยี่ยม
12 กรกฎาคม 2551 18:27 น. - comment id 872338
ความจริงอยากถามเรื่อง กลบทมานาน แต่ก็อายนักแต่ง... กลัวเขาจะว่าตาก่องไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย วันนี้ยอม.... ขอถามว่า.........ชื่อกลบทที่จะอยู่บนกลอนน้องโอเลี้ยงทุกกลอน เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นเองหรือมีมาจากตำราครับ.... ตอบ.....
12 กรกฎาคม 2551 18:49 น. - comment id 872354
ความทุกข์ไม่ว่าจริงแล้วจะเล็กน้อยหรือใหญ่สักเพียงใด คนส่วนใหญ่ก็จะเจ็บเหมือนกัน ชื่นชมในผลงานค่ะ เก่งจัง
12 กรกฎาคม 2551 19:28 น. - comment id 872374
ขอยืนยันว่า ทุกชื่อเป็นของเก่าของบรมครูไทยทั้งหมดค่ะพี่กิก โอเลี้ยงไม่มีปัญญาตั้งชื่อได้แม้จะเขียนได้ แต่ก็ยังไม่รู้สมัยโบราณครูกลอนทุกท่านเหตุใดจึงตั้งชื่อแบบนั้นๆเช่น "เสือซ่อนเล็บ สิงห์โตเล่นหาง ฯลฯ" โอเลี้ยงไม่มีต้นฉบับที่เป็นหนังสือเรียนกลอนหัด เร้ยนเองเมื่อ8เดือนก่อนจากการเปิดคอมฯอ่านกลบทสารพัด จนบัดนี้ก็ยังไม่มีหนังสือกลอนแปด หรือกลอนกลบทสักเล่มอยู่ใกล้ตัว แต่กลบทเหล่านี้มีชื่อจริงๆตามที่โอเลี้ยงเอามาหัด อาจมีหนังสือที่เขาพิมพ์ขายใหม่จากการลอกจากของโบราณ ลองถามตามร้านหนังสือใหญ่ๆดูนะคะ เวบกลบทที่มีตัวอย่างครบชุดคือ http://www.geocities.com/bot_kawee/kolbot.htm ส่วนบรมครูอีกคนหลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก)ที่นี่ค่ะ โอเลี้ยงไปอ่านและทำความเข้าใจวันละแบบ แล้วก็เขียนตามเลยค่ะพี่กิก http://www.baanjomyut.com/library/thai_literature/kollabot/index.html
12 กรกฎาคม 2551 19:33 น. - comment id 872376
ขอบคุณพี่ๆทุกคนอีกครั้งที่แวะมาอ่านนะคะ
13 กรกฎาคม 2551 17:48 น. - comment id 872906
พี่มาดูแล้วตามเวบที่ให้... แต่หาชื่อกลบทไม่พบ...