ประวัติวันสงกรานต์ ๑. ..๏ เพรงกาลอันล่วงแล้ว............คณาวิสัย นานเนิ่นเกินกัปป์ขัย.................ผ่านพ้น เศรษฐีหนึ่งมากใน.....................สมบัติ เคหะสถานล้น............................เลิศล้ำศฤงคาร ๚ ๒. ..๏ ทรัพย์มากหากปราศผู้..........สืบสกุล เมียหนึ่งพอเจือจุน.....................เจตน์อ้าง ครองเรือนต่างสนับสนุน.............เป็นสุข- ยิ่งนา ตราบเฒ่าเนาแนบข้าง................คู่คล้องครองเกษม ๚ ๓. ..๏ เรือนชานตระหง่านใกล้........โรงสุ- ราแฮ หากนักเลงเหล้าอุ*.....................หนึ่งนั้น มีบุตรสุดสวาทสุ-.......................วรรณเทียบ ผุดผ่องงดงามครั้น.....................เพ่งแล้วเพลินเหลือ ๚ ๔. ..๏ ณ อรุณรุ่งหนึ่งเจ้า.............คนเมา เดินง่วนชวนหยักเหยา.............เพื่อนบ้าน ผรุสวาททักทายเขา.................สุดหยาบ- คายนา ดูหมิ่นดุจจิตด้าน......................ห่างด้วยคุณธรรม ๚ ๕. ..๏ เศรษฐีมิขุ่นข้อง.................เคืองใจ หากแต่คิดฉงนใน...................เรื่องย้ำ เพียงเหตุเนื่องความใด...........จึงด่า เรานอ ขอท่านอย่าเกินก้ำ..................เหตุแท้พึงขยาย ๚ ๖. ..๏ คนเมาคราวกล่าวด้วย........ขำขัน อันท่านสินทรัพย์อนันต์...........พรั่งพร้อม เรือกสวนไร่นาครัน..................เรือนใหญ่- โตพ่อ ปราศบุตรธิดาล้อม..................จักสิ้นวงศ์สกุล ๚ ๗. ..๏ กงการงานด้วยท่าน-...........เชียวฤๅ ไร้ลูกสุขนั้นคือ.........................มากพ้น มากบุตรสุดชำงือ*....................จิตขุ่น- เคืองนา โภคทรัพย์ดุจโจรปล้น.............เปรียบได้ดังกัน๚ ๘. ..๏ ทุกข์มากหากไร้ลูก.............หลานเหลน คราวเฒ่าจักชัดเจน...................ส่อเค้า กายปวดเมื่อยอีกเคน*...............โรคเบียด- เบียนแฮ ใครเล่าจักหยอกเย้า..................นวดเฟ้นเยียวยา ๚ ๙. ..๏ คราชีพดับด่าวสิ้น.................ลมปราณ สินทรัพยลับอันตรธาน...............เสื่อมด้วย นาสวนไร่เรือนชาน....................ตกแก่- ใครฤๅ ทนทุกข์ตราบมอดม้วย...............แม่นแท้คำเรา ๚ ๑๐. ..๏ กุฏุมพีนิ่งด้วย......................จำนน ครุ่นคิดจิตสับสน........................รุ่มร้อน ปรารถน์บุตรสุดสวาทจน............ผอมซีด- เชียวนอ ตรองตรึกนึกยอกย้อน................สิ่งเร้นเป็นจริง ๚ ๑๑. ..๏ คำนึงคำถ้อยแห่ง.................คนหยาม พินิจพิเคราะห์ความ...................ขุ่นคล้อง ฤๅกรรมเก่าทัณฑ์ตาม................สาปส่ง จริงเฮย สังเวชสังวาสย้อง.......................หากไร้บุตรเคียง ๚ ๑๒. ..๏ เหตุไฉนจึ่งไร้ลูก..................หนอแม่- เรือนเอย เหตุก่อนดุจร่างแห.....................ห่อหุ้ม เหตุการณ์ผ่านผันแปร...............เปรียบวิ- บากฤา เหตุสุดวิสัยคลุ้ม.........................ครั่นคร้ามตามหลอน ๚ ๑๓. ..๏ ควรเราควรใฝ่เฝ้า.................บวงสรวง นาแม่ อุทิศอุทัยดวง.............................แจ่มฟ้า สำรับสำหรับปวง-.......................ทวยเทพ ประสิทธิ์ประสาทร้า*..................รื่นให้สมประสงค์ ๚ ๑๔. ..๏ ผันศกศักราชพ้น.................สามวสันต์ ปราศเดชเหตุอัศจรรย์...............เสกให้ มิอาจสมปราถนาอัน..................จรุงเจต- นาเฮย อธิษฐานเทพไท้.......................ไป่ได้ดังหวัง ๚ ๑๕. ..๏ ณ กาลวันหนึ่งนั้น.................รวิวาร นักขัตฤกษ์พิธาน........................เก่าย้อน ราศีเมษแห่งกาล-.......................จิตตมาส ทวยราษฏร์ต่างรำฟ้อน...............รื่นร้องสนุกสนาน ๚ ๑๖. ..๏ เศรษฐีมีจิตพ้อง......................ภรรยา คราวเมื่อมหาชนพา......................ลูกน้อย เที่ยวชมมหรสพหนา....................หมองหม่น ยิ่งเฮย สังเวชพลันเศร้าสร้อย..................เนื่องด้วยหน่อสกุล ๚ ๑๗. ..๏ จึ่งคิดอุทิศไท้..........................เทพสวรรค์ เครื่องเซ่นบูชายัญ........................หลากล้น บวงสรวงเทพยดาอัน....................มเหสักข์ สถิตย์โคนไทรต้น..........................ฝั่งน้ำภิรมย์สถาน ๚ ๑๘. ..๏ มวลหมู่วิหคร้อง.......................เริงระงม แผกเผ่าแปลกพันธ์ขรม.................กร่นก้อง ยักย้ายขวักไขว่ชม........................แฉลบผ่าน เห็นซึ่งพลีกรรมข้อง-......................มุ่งด้วยบุตรธิดา ๚ ๑๙. ..๏ เครื่องเซ่นสรรพสิ่งล้วน...........มากมี ข้าวสุกบริสุทธิ์ดี............................ยิ่งแท้ ข้าวสารคัดพรรณฉวี......................ผุดผ่อง หุงจากน้ำนมแล้.............................เลิศล้ำหอมหวน ๚ ๒๐. ..๏ บรรจงตกแต่งต้น.....................ไทรงาม- งดเฮย พิณพาทย์ประโคมความ...............เพราะพริ้ง แตรสังข์ดั่งประณาม*....................ทวยเทพ หวังซึ่งบุตรสิงคลิ้ง*......................หล่อเลี้ยงสืบสกุล ๚ ๒๑. ..๏ รุกขเทพสถิตย์ต้น....................ไทรตรอง เห็นซึ่งพลีกรรมของ.......................คู่นี้ บังเกิดกรุณาระลอง*......................ดลจิต จึงเหาะสู่สวรรค์รี้...........................เร่งเฝ้ามัฆวาน ๚ ๒๒. ..๏ หากแต่องค์เทพไท้..................สรวงสวรรค์ ทิพยอาสน์เป็นอัศจรรย์..................ยิ่งแล้ว คราวก่อนอ่อนนุ่มพลัน....................เปรียบแผ่น- ศิลาเฮย ร้อนรุ่มหฤทัยแพ้ว*.........................ขุ่นข้องกังขา ๚ ๒๓. ..๏ พระอินทร์ทรงเพ่งด้วย-............ทิพยญาณ ทรงแจ่มแจ้งดังการณ์....................เช่นนั้น หากเฉยจักมรณานต์......................เคลื่อนจาก- สวรรค์นอ อายุเศรษฐีสั้น...............................จักม้วยเสมอตน ๚ ๒๔. ..๏ ทรงมีดำรัสด้วย......................เทวบัญ- ชาแฮ จึงส่งเทพยบุตรอัน......................เลิศหล้า บุญญฤทธิ์สิทธิ์อนันต์..................เดชเดื่อง คือเทพธรรมบาลกล้า..................สู่ท้องเศรษฐินี ๚ ๒๕. ..๏ นับแต่เสร็จกิจนั้น.....................เมียผัว สพสุขปราศหมองมัว.....................หม่นไข้ มินานฝ่ายเมียตัว...........................เกิดคลื่น- ไส้นา อยากรสเปรี้ยวเปรียบได้...............ดั่งแจ้งแสดงครรภ์ ๚ ๒๖. ..๏ เศรษฐีมิจิตพร้อม.....................โสมนัส- ยิ่งเอย สั่งปลูกปราสาทจัด.........................เจ็ดชั้น บริเวณแห่งไทรอุบัติ-.....................เลอเทียบ- สวรรค์นา เป็นเคหสถานหั้น*..........................แห่งผู้สืบวงษ์ ๚ ๒๗. ..๏ ทศมาสคลาดเคลื่อนคล้อย.......กาลสมัย คลอดบุตรสุดพิไล..........................สง่าล้ำ ขนานชื่อธรรมบาลไข....................ดังเก่า อาพาธมิอาจกล้ำ...........................สุขด้วยบุญญา- บารมี ๚ ๒๘. ..๏ วสันต์กาลผ่านพ้น...................เจ็ดหน เพียรหมั่นศึกษาจน.......................เก่งกล้า ศิลปวิทยามนต์.............................สรรพศาสตร์ ไตรเพทวิชาค้า-...........................รอบรู้สรรพเสียง ๚ ๒๙. ..๏ คราวเมื่อกาลเก่านั้น................มหาชน นบนอบพรหมเบื้องบน..................เทพไท้ เพราะท่านบ่งมงคล.......................แสดงแก่- ชนนา เพียงเหตุฉะนี้ไซร์..........................ต่างน้อมบูชา ๚ ๓๐. ..๏ กิตติศัพท์แห่งท้าว-..................ธรรมบาล ชนต่างระบือขนาน.........................แซ่ซ้อง ดุจศาสตราจารย์............................แห่งศิษย์ แสดงเหตุมงคลพ้อง......................ประจักษ์ผู้สรรเสริญ ๚ ๓๑. ..๏ กบิลพรหมท่านท้าว...................มหิทธิคุณ ทราบเรื่องพลันเคืองขุ่น..................จิตร้อน อิจฉาอีกเอื้อหนุน............................ประทุษฐจิต จึงผูกปัญหาซ้อน............................เล่ห์ร้ายมล้างชนม์ ๚ ๓๒. ..๏ ปัญหาดุจหอกง้าว.......................ดาบคม หวังบั่นคอนอนจม-...........................เลือดคลุ้ง เพียงจิตคิดโสมม.............................หมกมุ่น- บาปนา แก่งแย่งสำแดงฟุ้ง...........................ชั่วช้าสามานต์ ๚ ๓๓. ..๏ นี่แนะพ่อหนุ่มน้อย......................สุธี อันท่านปัญญาดี................................แน่แท้ สรรพวิทยาการมี..............................ปรากฏ- ตนเฮย อัจฉริยภาพแล้.................................ล่วงล้ำเทพสวรรค์ ๚ ๓๔. ..๏ หากเรามีสิ่งเร้น........................ปัญหา ยังปราศผู้วิสัชนา...........................เนื่องด้วย ควรนักหากท่านมา.........................คลายโจทย์ ฉงนนอ ฤาท่านจักมอดม้วย........................เหตุด้อยจนเชาน์ ๚ ๓๕. ..๏ ธรรมบาลนั้นใคร่-.......................ครวญเห็น- จริงนา พรหมอาจเจือจิตเป็น.......................มุ่งร้าย จึงถามไถ่ประเด็น............................ความเงื่อน- งำเฮย ขอท่านจงผะผ้าย*...........................กล่าวข้อปัญหา ๚ ๓๖. ..๏ กบิลพรหมเจ้าเล่ห์......................แห่งไตร- ภูมิเฮย กระหยิ่มยิ้มทันใด.............................แยกเขี้ยว อันท่านหากจนใน............................มวลปริศ- นานอ ขออย่าทำบิดเบี้ยว..........................จักต้องตัดหัว ๚ ๓๗. ..๏ นี่แน่ะพ่อหนุ่มน้อย.....................หน้ามน หากท่านคลายความฉงน.................ขุ่นข้อง เปิดเผยเอ่ยยุบล*............................ตรงเหตุ เราจักตัดเศียรพ้อง...........................เพื่อให้ยุติธรรม ๚ ๓๘. ..๏ หลากเรื่องหลากเล่ห์ร้าย.............หลอกลวง- ไรฤๅ พรหมเพ่งเพียงผลพวง.....................ภัคน์พร้อม ซอกซัง*สิ่งสิงทรวง..........................ทรามซ่อน เหี้ยมโหดห่อหุ้มห้อม........................หัชให้โหยหวน ๚ ๓๙. ..๏ ธรรมบาลคิดปลิดเปลื้อง.............ปัญหา พลันเอ่ยปิยวาจา.............................ตอบด้วย เราขอผ่อนเพลา..............................ตรองตรึก จักบั่นคอมอดม้วย...........................หากไร้คำเฉลย ๚ ๔๐. ..๏ ดีละถ้าเช่นนั้น............................พึงฟัง อรุณรุ่งสุริเยศยัง..............................เยี่ยมฟ้า ราศีที่ชนหวัง....................................สถิตอยู่ ใดฤา ขอท่านอย่าชักช้า............................ตอบให้คลายใจ ๚ ๔๑. ..๏ สุริยเทพเที่ยงตั้ง-........................ตรงหัว สิริที่ชมชัว*........................................เนื่องนั้น สถิตอยู่พอรู้ตัว..................................หรือไม่ นาพ่อ เปรื่องปราดอาจปิดกั้น.......................มอดม้วยมรณา ๚ ๔๒. ..๏ สายัณห์หลังเคลื่อนคล้อย............อัสดง วิหคผกผินตรง...................................เยี่ยมเหย้า ราศรีที่จำนง.......................................สถิตที่- ใดนา ขอท่านพ่อหนุ่มเหน้า..........................อย่าให้คอยนาน ๚ ๔๓. ..๏ เราขอเจ็ดชั่วคล้อย.......................สุรีย์ฉาย จักคิดปริศนาคลาย.............................ขุ่นข้อง หากพลาดจักขอตาย.........................ทูนมอบ - เศียรนา คำสัตย์เสียงกู่ก้อง..............................เทพฟ้าเป็นพยาน ๚ ๔๔. ..๏ จนจิตจนจับไข้...............................คร่ำเคร่ง- เฉลยแฮ กาลล่วงกาลเลยเกรง..........................กลัดกลุ้ม ย่ำค่ำย่ำคืนเหง*..................................ห่อนสุข ปราศพิชญ์ปราดเปรื่องคุ้ม...................คลาดแคล้วยมบาล ๚ ๔๕. ..๏ ห้าวันกาลเปลี่ยนแล้ว.....................ยังฉงน สิริที่ขวายขวน.....................................หลบเร้น ธรรมบาลหลีกสับสน............................มุ่งทุ่ง- นาเฮย มือก่ายหน้าผากเขม้น-.........................จากผู้ปราศรัย ๚ ๔๖. ..๏ เอนหลังใต้ต้นเดี่ยว.......................ตาลนา สองเหยี่ยวเมียผัวครา........................หยอกเย้า เมียนกกล่าววาจา..............................ถามต่อ- ผัวเฮย วันพรุ่งยามรุ่งเช้า..............................จักได้ภักษา ๚ ๔๗. ..๏ มิต้องลอยล่องฟ้า........................ปีกสยาย เนื่องจากธรรมบาลตาย......................แน่แท้ พรหมฯเฒ่าจักมุ่งหมาย.....................เข่นฆ่า พ่อเฮย เพราะมิอาจคิดแก้.............................กล่าวข้อปัญหา ๚ ๔๘. ..๏ เหตุไฉนมล้างซึ่ง.........................เยาวพาน ปราศจิตเมตตาผสาน........................โหดร้าย ฤาเป็นเช่นมรณกาล..........................ของพ่อ- หนุ่มนา พี่ท่านขอจงส้าย*...............................ตอบถ้อยคำเฉลย ๚ ๔๙. ..๏ กุมารจักสิ้นชื่อ.............................เกียรติขจาย คอขาดชีวาวาย..................................ดับดิ้น ล่วงกาลเจ็ดวันปลาย.........................กำหนด ครุ่นคิดปริศนาสิ้น...............................มืดคล้ายหมอกบัง ๚ ๕๐. ..๏ ปัญหาข้อหนึ่งนั้น.......................จักเฉลย ยามรุ่งราศีเผย.................................ที่หน้า ตื่นเช้าอย่าละเลย............................ก่อนมุ่ง- การนา ชำระมลทิลถ้า..................................ผ่องแล้วจักงาม ๚ ๕๑. ..๏ ปริศนาลำดับข้อ......................ความสอง นาแม่ ยามเที่ยงสุรีย์รอง.........................เพริศแพร้ว ราศีที่ชนปอง................................อยู่ที่- อกเฮย ร้อนรุ่มสุมทรวงแล้ว.......................ลูบน้ำฉ่ำเย็น ๚ ๕๒. ..๏ ตะวันชิงพลบร้าง...................เลือนมหรรณพ์ ชนมุ่งความสุขสันต์.......................หลับคล้อย ราศีที่สมกัน.................................คือคู่- บาทนา ก่อนมุ่งสู่ห้องน้อย.........................จักล้างก่อนเสมอ ๚ ๕๓. ..๏ ธรรมบาลกรรณเงี่ยต้อง.............สุรเสียง นกคู่ต่างจำเรียง.............................พจน์แก้ บังเกิดดุจเผลียง*..........................เย็นชุ่ม- ดินเฮย โสมนัสปราโมทย์แล้......................ดั่งได้มไหศวรรย์ ๚ ๕๔. ..๏ ครบวันกำหนดต้อง...................เฉลยความ พรหมเฒ่านึกเหยียดหยาม.............ยักคิ้ว หัวเราะเยาะคุกคาม........................ข่มพ่อ หากตอบผิดบิดพลิ้ว.......................จักต้องตัดเศียร ๚ ๕๕. ..๏ ธรรมบาลหนุ่มน้อย..................เมธี ยามเอ่ยเผยปรัศนีย์......................เล่ห์ร้าย สมคำดั่งพาที................................วิหค คู่นา พรหมเฒ่าร้อนเร่าคล้าย.................มอดไหม้ในเพลิง ๚ ๕๖. ..๏ ฟังความตามปราชญ์น้อย.........ธรรมบาล พรหมเฒ่าราวทรมาน.....................มีดย้ำ เสียชีพหากสมุฏฐาน.....................สัตย์ยั่ง- ยืนนา ไตรโลกสรรเสริญซ้ำ.....................แซ่ซ้องนิรันดร ๚ ๕๗. ..๏ กบิลพรหมข่มจิตด้วย..............ขันติ- ธรรมนา เรียกลูกสาวสิริ..............................แน่งน้อย สั่งเสียตามนิติ..............................สุดร่ำ- ไรเฮย พ่อสุดแสนเศร้าสร้อย....................จากเจ้าเจ็ดนาง ๚ ๕๘. ..๏ หากเศียรพ่อพลาดพลั้ง............ตกดิน หรือเลือดหยดหลั่งริน....................อาบพื้น โลกจักมอดไหม้ภินท์.....................สลายธาตุ บังเกิดเอิกเกริกครื้น......................ล่มหล้าลบสวรรค์ ๚ ๕๙. ..๏ จงรับเศียรพ่อด้วย..................พานทอง ประทักษิณาผอง.........................เขตด้าว กาลผันล่วงผ่านตรอง...................เมรุราช เวียรรอบจนตราบท้าว*.................ศกสิ้นกาลสมัย ๚ ๖o. ..๏ จงตกแต่งด้วยทิพย์..................สังเวย เครื่องเซ่นเนรมิตเคย.....................หยิบใช้ วิษณุเทพบุตรเชย-........................ชมเสก- ...สรรค์นา ดังเช่นมณเฑียรไท้........................เทพฟ้ามัฆวาน ๚ ๖๑. ..๏ สั่งเสียเศียรขาดด้วย...............พระขรรค์ นางแม่พรหมกัญญ์......................แน่งน้อย นามทุงษะเทวีพรรณ....................ผุดผ่อง พานรับจับเศียรคล้อย...................นอบน้อมถนอมเศียร ๚ ๖๒. ..๏ พรหมกัญญาแน่งน้อย............โฉมเฉลา ทัดดอกทับทิมเนา........................หนึ่งแย้ม อาภรณ์แต่งพริ้มเพรา..................ปัทมราช มะเดื่อเป็นภักษ์แกล้ม..................หัตถ์ซ้ายทรงสังข์ ๚ ๖๓. ..๏ หัตถ์ขวาทรงจักรเพี้ยง..............นารายณ์ ทรงครุฑยุดนาคสยาย....................ปีกกว้าง รับเศียรซึ่งปิตุหมาย-.....................วนเทือก- สุเมรุนา ลุศกศักราชอ้าง.............................เปลี่ยนน้องอัญเชิญ ๚ ๖๔. ..๏ วันสงกรานต์เกิดด้วย................ดังความ- โคลงเฮย วัฒนธรรมงดงาม...........................สืบไว้ ทำบุญตักบาตรยาม.......................เปลี่ยนศัก- ราชนา ก่อพระเจดีย์ทรายให้.....................เหลื่อมฟ้าจิตรการ ๚ ๖๕. ..๏ รดน้ำท่านผู้เฒ่า.......................ปูชนีย์ จักเช่นเป็นราศรี............................เกียรติสร้าง มาลัยกระแจะมี.............................รดท่าน- เถิดนา จักวัฒนานิจอ้าง............................ส่งให้เกษมศานต์ ๚ ๖๖. ..๏ บรรเทิงเริงเล่นน้ำ.....................ยามสง- กรานต์นา จิตใฝ่หมายจำนง...........................เก่ายั้ง คงคู่ชาติดำรง................................ตราบลูก- หลายเฮย เอกลักษณ์ไทยจักตั้ง.....................คู่ฟ้าเคียงสยาม ๚ะ๛ สรงน้ำพระ ..๏ น้อมจิตบูชา องค์พระปฏิมา................ศรัทธาตั้งมั่น จุดธูปเทียนถวาย...........มั่นหมายสารพัน ปรีดิ์เปรมเกษมสันต์.......ชีวันจึ่งเจริญ ปิดทองอร่ามเรือง พระพุทธนามเลื่อง..........ทรงเครื่องงามเกิน ดอกไม้มาลา...................นำมาสรรเสริญ เปรยคำกล่าวเกริ่น..........สรรเสริญพุทธคุณ บุญญาบารมี แห่งพุทธชินสีห์................จักมีเกื้อหนุน พระธรรมล้ำเลิศ.............ประเสริฐสรรพบุณย์ จักเอื้อเจือจุน..................วิรุฬห์วัฒนา มาลัยมาลัย น้ำปรุงจรุงใจ....................น้ำใสน้ำท่า น้อมเข้านมัสการ.............สงฆ์ท่านศีลา- จารวัตรสุทธา...................ขอขมาขอพร ฯ ..๏ สรงน้ำพระสงฆ์ ด้วยจิตจำนง..................บุญจงสถาวร บังเกิดผลดี....................อย่ามีทุกข์ร้อน ตราบนิรันดร..................จตุรพรพร้อมมี หอมเอยหอมกรุ่น ขอให้กิตติคุณ.................หอมกรุ่นทุกที่ เสมือนน้ำใสเย็น.............จงเป็นผลดี ยศศักดิ์มากมี.................ลาภทวีมากมาย ผลบุญรักษา มวลเทพยดา...................รักษาใจกาย จักอยู่จตุรทิศ...................ฤๅคิดค้าขาย ด้วยกุศโลบาย................สมหมายทุกประการ กิจการงานเมือง ขึ้นชื่อลือเลื่อง.................รุ่งเรืองเนื่องนาน ไร้โรคาพาธ....................สามารถเชียวชาญ วิวัฒนาการ....................ด้วยทานการกุศล ฯ ..๏ มากมิตรไมตรี พร้อมชนคนดี................น้องพี่เหลือล้น ร่วมทุกข์ร่วมสุข............ทั่วทุกผู้คน ต่างมีอภินนท์.................บันดลสุขเกษม สุขเอยสุขใจ เกินกว่าหาไหน............จิตใจอิ่มเอม เย็นใจไร้ทุกข์................แสนสุขปรีดิ์เปรม ดั่งพบแดนเกษม..........อิ่มเอมยิ่งแล้ ร่มเย็นยั่งยืน ประสบสุขสดชื่น..........ทุกคืนวันแท้ ด้วยบารมีพระ-............รัตนตรัยแล ชีวิตแน่วแน่...................ถึงแก่รุ่งเจริญ ไหว้พระสงกรานต์ ประเพณีสืบสาน...........นมัสการสรรเสริญ- พระรัตนตรัย..................ดลให้จำเริญ ทั้งได้เพลิดเพลิน...........นานเนิ่นตลอดวัน ๚ะ๛ บ้าบอขอสนุก ..๏ อ้อระเหยลอยนวล........กลิ่นพยอมหอมหวลลอยมาแต่ไกล มาเที่ยวเทศกาลสรงกรานต์....สดชื่นรื่นสราญเบิกบานหัวใจ ผู้คนมากหน้าหลายตา........ขวักไขว่ไปมาเอาละหวาผู้ใด ตัวเราเปล่าเปลี่ยวยิ่งแท้......เข้าวัดหมายแค่เหลียวแลคู่ใจ เห็นคนรุ่นราวสาวหนุ่ม.....โอ้เดินเกาะกลุ่มกระชุ่มกระชวยทันใด สาวแก่แม่เฒ่าพ่อเฒ่า........มองหารุ่นเราผู้เยาว์ลงไป เอ๊ะ ! นั่นสีสันบาดตา............เดินเลาะเข้ามาหน้าตาไฉไล ขอสาดน้ำใสไหลเย็น...........ให้ซ่านกระเซ็นเป็นฟองเย็นใส รดน้ำสาดน้ำมั่วแล้ว..............แต่ยังไม่แคล้วต้องระวังเข้าไว้ โทรศัพท์มือถือนั่นหนา..........อุ๊ย ! ที่โทรมางงหว่าเป็นไผ ที่แท้พ่อแม่ของเรา.................สงสัยใคร่เฝ้าด้วยรักยิ่งใหญ่ ผู้คนสับสนอลหม่าน..............ขอร่ายลมปราณพลุ่งซ่านฉับไว แล้วเต้นแร๊พร๊อครำเซิ้ง..........ด้วยใจบรรเทิงรื่นเริงหฤทัย ศิลปินหมอรำบ่ฮู่.....................แต่ที่ข้อยรู้สบายอกสบายใจ เอ๊ย ! นั่นพยาบาลแลหมอ.....วิ่งมาไล่ล่อเรานี่เหตุไร เสียงร้องก้องถ้อยสำเนียง....จงอย่าหลีกเลี่ยงลี้หลบไปไหน จับส่งโรงพยาบาลทันที.........พากลับส่งศรีธัญญาโดยไว หลบละหนอนั่นใคร..............เป็นฟืนเป็นไฟวิ่งไล่เราเอย ๚ะ๛
14 เมษายน 2549 00:14 น. - comment id 571533
สงสารคนอ่านด้วยล่ะ สวัสดีวันสงกรานต์ครับ
14 เมษายน 2549 01:11 น. - comment id 571536
ประวัติประเพณีสงกรานต์ ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย ซึ่งยึดถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาแต่โบราณ และเป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่งดงามฝังลึกอยู่ในชีวิตของคนคำว่า สงกรานต์ มาจากภาษาสันสฤต แปลว่า ผ่านหรือเคลื่อนย้าย หมายถึง การเคลื่อนไทยมาช้านาน การย้ายของพระอาทิตย์เข้าไปจักรราศีใดราศีหนึ่ง จะเป็นราศีใดก็ได้ แต่ความหมายที่คนไทยทั่วไปใช้ หมายเฉพาะวันและเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษในเดือนเมษายนเท่านั้น ตำนานเกี่ยวกับกำเนิดวันสงกรานต์ กล่าวไว้ว่า ก่อนพุทธกาลมีเศรษฐีครอบครัวหนึ่ง อายุเลยวัยกลางคนก็ยังไร้ทายาทสืบสกุล ซึ่งทำให้ท่านเศรษฐีทุกข์ใจเป็นอันมาก ข้างรั้วบ้านเศรษฐีมีครอบครัวหนึ่ง หัวหน้าครอบครัวเป็นนักเลงสุรา ถ้าวันไหนร่ำสุราสุดขีด ก็จะพูดเสียงดังแสดงวาจาเยาะเย้ยเศรษฐีสบประมาทในความมีทรัพย์มาก แต่ไร้ทายาทสืบสมบัติเสมอ วันหนึ่งเศรษฐีจึงถามว่ามีความขุ่นเคืองอะไรจึงแสดงอาการเยาะเย้ยและสบประมาท เฒ่านักดื่มจึงตอบ ถึงท่านมั่งมีสมบัติมากก็จริง แต่เป็นคนมีบาปกรรมท่านจึงไม่มีบุตร ตายไปแล้วสมบัติก็ตกเป็นของผู้อื่นหมด สู้เราไม่ได้ถึงแม้จะยากจนแต่ก็มีบุตรคอยดูแลรักษายามเจ็บไข้ และรักษาทรัพย์สมบัติเมื่อเราสิ้นใจ นับแต่นั้นมา เศรษฐียิ่งมีความเสียใจ จึงพยายามไปบวงสรวงพระอาทิตย์และพระจันทร์ เพียรพยายามตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร ทำเช่นนี้เป็นเวลาติดต่อกันถึงสามปี ก็ไม่ได้บุตรดังที่ตนปรารถนาจนวันหนึ่งเป็นวันนักขัตฤกษ์สงกรานต์ ท่านเศรษฐีก็พาข้าทาสบริวารของตนมาที่โคนต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง ที่อยู่บนฝั่งแม่น้ำที่อาศัยของนกทั้งหลาย ท่านเศรษฐีให้บริวารล้างข้าวสารด้วยน้ำสะอาดถึง 7 ครั้ง แล้วจึงหุงข้าวสารนั้น เมื่อสุกแล้วยกขึ้นบูชาพระไทร เทพเหล่านั้นเกิดความสงสาร จึงขึ้นไปเฝ้าพระอินทร์ ทูลขอบุตรแก่เศรษฐี พระอินทร์จึงบัญชาให้เทพบุตรองค์หนึ่งชื่อ ธรรมบาล ลงมาเกิดในครรภ์ของภรรยาเศรษฐี เมื่อครบกำหนดภรรยาเศรษฐีก็คลอดบุตรเป็นชาย เศรษฐีจึงตั้งชื่อว่า ธรรมบาลกุมาร เพื่อตอบสนองพระคุณเทพเทวา เศรษฐีจึงสร้างปราสาทสูง 7 ชั้น ถวายเทพต้นไทร เมื่อธรรมบาลกุมารเจริญวัยขึ้น เป็นเด็กที่มีปัญญาเฉียบแหลม รอบรู้ และวัยเพียง 7 ขวบก็เรียนจบไตรเพท ยังมีเทพองค์หนึ่งชื่อ ท้าวกบิลพรหม ได้ยินกิตติศัพท์ทางสติปัญญาอันยอดเยี่ยมของเด็กน้อย จึงคิดทดลองภูมิปัญญาโดยการเอาชีวิตเป็นเดิมพันจึงถามปัญหา 3 ข้อ ถ้ากุมารน้อยแก้ปัญหาทั้ง 3 ข้อได้ กบิลพรหมจะตัดศีรษะของตนบูชา ถ้าธรรมบาลแก้ไม่ได้ ก็จะต้องเสียหัวเพื่อยอมรับความพ่ายแพ้ ปัญหานั้นมีว่า 1. ตอนเช้าราศีคนอยู่แห่งใด 2. ตอนเที่ยงราศีของคนอยู่แห่งใด 3. ตอนค่ำราศีของคนอยู่แห่งใด เมื่อได้ฟังปัญหาแล้ว ธรรมบาลไม่อาจทราบคำตอบในทันทีได้ จึงผลัดวันตอบปัญหาไปอีก 7 วัน ครั้นเวลาล่วงจากนั้นไป 6 วัน ธรรมบาลกุมารก็ยังคิดหาคำตอบปัญหานั้นไม่ได้ จึงหลบออกจากปราสาทหนีเข้าป่า และไปนอนพักเอาแรงใต้ต้นตาล ขณะนั้นบนต้นตาลมีนกอินทรีคู่หนึ่งอาศัยอยู่ นางนกถามสามีว่า พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารที่ไหน นกสามีก็ตอบว่า พรุ่งนี้เราไม่ต้องบินไปไกล เพราะจะได้กินเนื้อธรรมบาลกุมาร ซึ่งจะถูกท้าวกบิลพรหมตัดหัว เนื่องจากแก้ปัญหาไม่ได้ นางนกถามว่า ปัญหานั้นว่าอย่างไร นกสามีตอบว่า ปัญหามีอยู่ 3 ข้อ และหมายถึง ข้อหนึ่ง ตอนเช้าราศีของมนุษย์อยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุกๆ เช้า ข้อสอง ตอนเที่ยงราศีคนอยู่ที่อก มนุษย์จึงต้องเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ข้อสาม ตอนค่ำราศีคนอยู่ที่เท้า มนุษย์จึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน ธรรมบาลกุมาร ได้ยินการไขปัญหาของนกอินทรี และจำจนขึ้นใจ ทั้งนี้เพราะธรรมบาลรู้ภาษานก จึงกลับสู่ปราสาทอันเป็นที่อยู่แห่งตน รุ่งขึ้นเป็นวันครบกำหนดแก้ปัญหา ท้าวกบิลพรหมมาฟังคำตอบ ธรรมบาลกุมารกล่าวแก้ปัญหาตามที่นกอินทรีคุยกันทุกประการ ท้าวกบิลพรหมจึงเรียก ธิดาทั้ง 7 ของตนอันเป็นบริจาริกาคือหญิงรับใช้ของพระอินทร์มาพร้อมกัน แล้วบอกว่าตนจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร แต่ถ้าเอาศีรษะพ่อวางไว้บนแผ่นดินก็จะลุกไหม้ไปทั้งโลก ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ อากาศจะแห้งแล้งฟ้าฝนจะหายไปสิ้น ถ้าทิ้งลงไปในมหาสมุทร น้ำในมหาสมุทรจะแห้งแล้งไปเช่นกัน จึงสั่งให้ นางทั้ง 7 คน เอาพานมารองรับศีรษะ แล้วจึงตัดศรีษะส่งให้นางทุงษธิดาคนโต นางทุงษจึงเอาพานรับเศียรบิดาไว้แล้วแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วอัญเชิญไปไว้ในมณฑปถ้ำคันธุรลี เขาไกรลาส บูชาด้วยเครื่องทิพย์ พระเวสสุกรรมก็เนรมิตโรงประดับด้วยแก้ว 7 ประการ ชื่อภควดี ให้เป็นที่ประชุมเทวดา เทวดาทั้งปวงก็เอาเถาฉมูนวดลงมาล้างในสระอโนดาต 7 ครั้ง แล้วก็แจกกันเสวยทุกๆ องค์ ครั้นครบ 365 วัน โลกสมมุติว่าเป็นหนึ่งปีเป็นสงกรานต์ ธิดา 7 องค์ ของเท้ากบิลพรหมก็ผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรของพระบิดาออกแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุทุกปี แล้วจึงกลับไปเทวโลก ประกาศสงกรานต์ ปี ๒๕๔๙ ปีนี้ วันมหาสงกรานต์ตรงกับ วันศุกร์ที่ ๑๔เมษายน ๒๕๔๙ ปีจอ ผีเสื้อผู้หญิง ธาตุดิน อัฐศก จุลศักราช ๑๓๖๘ ทางจันทรคติ เป็นปกติมาสวาร ทางสุริยคติ เป็นปกติสุรทิน นางสงกรานต์นามว่า กิมิทา ทรงพาหุรัด ทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จยืนมาเหนือหลังมหิงสา (ควาย) มหาสงกรานต์ วันศุกร์ที่ ๑๔เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙เวลา ๐๖ นาฬิกา ๓๐นาที ๓๖ วินาที ตรงกับจันทรคติกาล วันศุกร์ แรม ๑ค่ำ เดือน ๕ ปีจอ สัปตศก จุลศักราช ๑๓๖๗ (เปลี่ยนจุลศักราช ๑๓๖๘ ในวันที่ ๑๖เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙ เวลา ๑๐ นาฬิกา ๒๘ นาที ๑๒ วินาที ไปเรียกว่า ปีจอ อัฏฐศก จุลศักราช ๑๓๖๘) พระอาทิตย์โคจรรอบจักราศี ๓๖๐ องศา สุริยาตร์ขึ้นสู่ราศีเมษ ๐ องศา ๐ ลิปดา ๐ ฟิลิปดา ปีนี้ วันศุกร์เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก ๖๐๐ ห่า ตกในเขาจักรวาล ๒๔๐ ห่าตกในป่าหิมพานต์ ๑๘๐ ห่า ตกในมหาสมุทร ๑๒๐ ห่า ตกในโลกมนุษย์ ๖๐ ห่า นาคให้น้ำ ๑ ตัว เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ ๗ ชื่อปาปะ ข้าวกล้าในภูมินา จะได้ผล ๑ ส่วน เสีย ๙ ส่วน เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีเตโช (ไฟ) น้ำน้อย นอกจากนี้ ยังมีสาระเกี่ยวกับการพยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆ ทั้งดีและร้ายซึ่งจะเกิดขึ้นในระหว่างปี ซึ่งตามตำรามหาสงกรานต์ได้อธิบายไว้ ดังนี้ สงกรานต์วันอาทิตย์ ผลผลิตทุกอย่าง ได้แสนโสภางค์ ออกผลมากมาย ของมิสูงแพง มิแล้งรู้หมาย ตามคำทำนาย บ่งไว้เช่นนี้ หมายถึง ผลผลิตต่างๆ ดี ข้าวของไม่แพง สงกรานต์วันจันทร์ รู้มั่นเชิงมี ข้าลากมากชี้ ช่องแพ้ ท้าวพระยา อีกเสนาบดี เด่นดีนักหนา จงทราบกิจจา ข้อเค้ากล่าวไว้ หมายถึง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ตลอดจนคุณหญิงคุณนายจะเรืองอำนาจ สงกรานต์วันอังคาร และ วันเสาร์ ผ่านเข้าเสาร์นัย ระวังเจ็บไข้ ขโมยมากมี แถมพระเพลิงร้อน ห่อนได้หลีกหนี เข้าบุกคลุกคลีแก่เหล่าอาณา หมายถึง โจรผู้ร้ายจะชุกชุม เกิดการเจ็บไข้ร้ายแรง สงกรานต์วันพุธ สุดแสนเปรมปรา ลาภยุคท้าวพระยา มาจากต่างเมือง ลูกอ่อนก่อเหตุ อาเพศขุ่นเคือง มักจะเกิดเรื่อง ให้เร่งระวัง หมายถึง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะได้รับการยกย่องจากต่างประเทศ สงกรานต์วันพฤหัสบดี เรื่องขัดข้องตั้ง แพ้ท้าวพระยา หวังล้วนไม่สู้ดี พระสงฆ์ทรงศีล ถูกปีนป่ายชี้ เดือดร้อนเหลือที่ ให้ตั้งทางธรรม หมายถึง ผู้น้อยจะแพ้ผู้เป็นใหญ่และเจ้านาย สงกรานต์วันศุกร์ ทุกข์หมดปลดช้ำ ข้าวปลาเหลือล้ำ อุดมสมบูรณ์ ระวังเจ็บตา ฝนพายุพูน เด็กล้วนประมูล มากโทษให้แล หมายถึง พืชพันธ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์ แต่ฝนชุกพายุพัดแรง ผู้คนจะเป็นโรคตาและเจ็บไข้กันมาก นอกเหนือไปจากคำทำนายข้างต้น อันเน้นเรื่อง วันที่ ที่พระอาทิตย์ยกสู่ราศีเมษที่เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ ว่าตรงกับวันใด มีคำนายว่าอย่างไรแล้ว ช่วง เวลา ที่พระอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษ ก็มีคำนายไว้ด้วยเช่นกัน โดยกำหนดเป็นอิริยาบถที่นางสงกรานต์ขี่พาหนะมา มีอยู่ ๔ ท่า ซึ่งตามความเชื่อโบราณบอกไว้ว่า ดังนี้ ๑. ถ้าพระอาทิตย์ยกสู่ราศีเมษ ในระหว่างเวลา รุ่งเช้าจนถึงเที่ยง นางสงกรานต์จะยืน บนพาหนะ และถ้ายืนมา มีความเชื่อว่า ปีนั้น คนจะเกิดความเดือดร้อนเจ็บไข้ ๒. ถ้าพระอาทิตย์ยกสู่ราศีเมษ ในระหว่าง เที่ยงจนถึงค่ำ นางสงกรานต์จะนั่งบนพาหนะ ถ้านั่งมา มีความเชื่อว่า ปีนั้น จะเกิดความเจ็บไข้ ผู้คนล้มตายและเกิดเหตุเภทภัยต่างๆ ๓. ถ้าพระอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษ ระหว่างค่ำไปจนถึงเที่ยงคืน นางสงกรานต์จะนอนลืมตา บนพาหนะ ถ้านอนลืมตา มีความเชื่อว่า ประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุข ๔. ถ้าพระอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษ ระหว่างเที่ยงคืนไปจนถึงรุ่งเช้า นางสงกรานต์จะนอนหลับตา บนพาหนะ ถ้านอนหลับตา มีความเชื่อว่า พระมหากษัตริย์จะเจริญรุ่งเรืองดี คำทำนายสงกรานต์ปี ๒๕๔๙ วันมหาสงกรานต์ ปีนี้ ตรงกับวันศุกร์ มีคำทำนายว่า พืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์ ฝนจะชุก พายุพัดแรง ผู้คนจะเป็นโรคตาและเจ็บไข้กันมา (ธัญญาหารคือ อาหารที่ได้จากเมล็ดพืช) ส่วน วันเนาตรงกับวันเสาร์ ข้าวปลาจะแพง ข้าวจะได้น้อย ผลไม้จะแพง น้ำน้อย จะเกิดเพลิงกลางเมือง ขุนนางจะต้องโทษ และ วันเถลิงศกตรงกับวันอาทิตย์ พระมหากษัตริย์จะมีพระบรมเดชานุภาพ ปราบศัตรูได้ทั่วทิศ และการที่นางสงกรานต์ เสด็จยืน มาเหนือหลังมหิสา (ควาย) จะเกิดความเดือดร้อนเจ็บไข้ ส่วน ตำราทางล้านนาทำนายว่าวันสังกรานต์ล่อง(อ่านว่า สัง-ขาน-ล่อง)ตรงกับวันศุกร์ ฝนตกหัวปีดี กลางปีบ่มีหลาย เพลี้ย บุ้งจักกัดกินทำร้ายข้าวนาพืชไร่ อันตรายจักเกิดมีแก่สมณพราหมณ์ ปีนี้ผู้หญิงจักมีเคราะห์ สัตว์น้ำจักแพง พืชผักจะถูก คำทำนายโบราณข้างต้น เป็นเรื่องความเชื่อในสมัยก่อนซึ่งก็คงสอดคล้องกับสภาพสังคมสมัยนั้น แต่สำหรับปัจจุบันคนสมัยนี้จะเห็นด้วยหรือไม่ ก็คงขึ้นกับความคิด ความเชื่อของแต่ละบุคคล แต่ไม่ว่าจะเป็นคำทำนายในอดีตที่เกี่ยวเนื่องกับสงกรานต์หรือคำทำนายดวงในปัจจุบัน ก็ล้วนเป็นการเตือนให้คนเราดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท และให้รู้จักเตรียมรับสถานการณ์ล่วงหน้าทั้งสิ้น อย่างไรก็ดี สำหรับปีนี้ มหาสงกรานต์ตรงกับวันศุกร์ นางสงกรานต์นาม กิมิทาเทวี ทัดดอกจงกลนี คือ ดอกบัว เครื่องประดับบุษราคัม อาหารคือกล้วยน้ำ มือขวาถือพระขรรค์ (ดาบ) มือซ้ายถือพิณ ยืนมาบนหลังมหิงสา (ควาย) หากเราจะคิดตามหลักธรรมอิงความเป็นจริงของชีวิต เราอาจจะพอจะอนุมานได้ว่า การเริ่มต้นปีใหม่(วันมหาสงกรานต์)ด้วยวันศุกร์ ซึ่งมีเสียงพ้องกับความสุข ถือเป็นสิ่งที่ดี ส่วนอาวุธของนางสงกรานต์ที่เป็นดาบและพิณ ก็เสมือนบอกเป็นนัยว่า การดำเนินชีวิตของคนเราจะต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ กล่าวคือ ต้องเดินไปในทางสายกลาง เหมือนพิณที่สายต้องไม่ตึงหรือหย่อนไป จึงจะดีดได้ไพเราะ ขณะเดียวกันดาบก็คือความแน่วแน่เด็ดขาดที่จะกล้าฟาดฟันความชั่วร้ายให้หมดไป ส่วนพาหนะคือควาย ที่แม้จะถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของความโง่ แต่จริงๆแล้วควายเป็นสัตว์ที่ซื่อ และมีบุญคุณต่อคนไม่น้อย เพราะช่วยทำไร่ไถนาทำให้เรามีข้าวกิน ดังนั้น จึงเหมือนการเตือนให้เรามีความซื่อทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น และไม่ลืมคนที่มีบุญคุณต่อเรา ส่วนบุษราคัม เป็นพลอยสีเหลืองที่ฝรั่งเรียกว่า โทพาซ ( Topaz ) เป็นหินเครื่องประดับที่เชื่อกันว่าจะช่วยให้มองโลกในแง่ดี มีคุณสมบัติในการปกป้องคุ้มครองสูง สร้างความรื่นรมย์ให้แก่จิตใจ กล่าวโดยสรุป ถ้าเราดำรงชีวิตด้วยการมองโลกในแง่ดี เหมือนที่นางสงกรานต์ที่มีบุษราคัมเป็นอาภารณ์ ตั้งมั่นทำกิจการงานต่างๆด้วยความซื่อ ดังที่นางกิมิทายืนอยู่บนมหิงสา และมีจิตใจที่จะใช้ชีวิตอยู่บนทางสายกลางไม่มาก ไม่น้อย พอเหมาะกับสภาพของเราดังพิณที่จะไพเราะเพราะสายที่พอดีๆ อีกทั้งมีความเด็ดขาดเสมือนดาบที่นางถือมา รวมทั้งใช้สติปัญญาเป็นบัว(จงกลนี)พ้นน้ำ ไม่ว่าปีใดๆ เราก็จะมีชีวิตที่ประสบความสุข และความสำเร็จรับปีใหม่ (สงกรานต์) อย่างแน่นอน ขอขอบคุณ คุณอมรรัตน์ เทพกำปนาท กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม เอื้อเฟื้อข้อมูลคำทำนายสงกรานต์ ปี ๒๕๔๙
14 เมษายน 2549 01:37 น. - comment id 571537
สงสัยจะไม่ทันได้สงสาร .. งั้นขอแถมฉันท์เล็กๆให้ด้วยเลยอีกหนึ่งบท สงกรานต์สงน้ำพระพรดล......มุละสละอกุศล ย่อมจะมงคล.........................ลุผลดี :]
14 เมษายน 2549 01:41 น. - comment id 571538
สงกรานต์สรงน้ำพระพรดล.......มุละสละอกุศล ย่อมจะมงคล............................ลุผลดี สวัสดีวันมหาสงกรานต์ :]
14 เมษายน 2549 09:06 น. - comment id 571551
...มาแวะเยี่ยมคุณอิมค่ะ...ไปเที่ยวสงกรานต์ที่ไหนคะ...เที่ยวเผื่อด้วยนะ...ขอให้มีความสุขนะคะ....(มีภาระหน้าที่ต้องอยู่เฝ้าคนไข้ในโรงพยาบาลจ๊ะ)...
14 เมษายน 2549 10:56 น. - comment id 571560
มาสาดน้ำครับ วันนี้อากาศกลับมาร้อนอีก เมื่อวานดีหน่อยตอนเย็นมีฝนลูกเห็บตก
14 เมษายน 2549 11:19 น. - comment id 571573
โห!!!!!! อารายจาปานนั้นงับ ไงก้อขอขอบคุณของับสำหรับโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และความรู้ต่างๆที่นำมาโพสต์ให้พวกเราๆได้อ่านของับ สุขสันต์วันสงกรานต์น้างับ
14 เมษายน 2549 11:47 น. - comment id 571579
สวัสดีปีใหม่ค่ะ มาค่อยๆ อ่าน จนจบ เพราะคนเขียนตั้งใจเขียนขนาดนี้ คุณอัลมิตรา ไปเล่นน้ำที่ไหนหรือเปล่าคะ
14 เมษายน 2549 12:07 น. - comment id 571585
....อย่าลืมไปทำบุญนะที่บอกไว้นะลิง....
14 เมษายน 2549 13:32 น. - comment id 571598
สวัสดีค่ะพี่อัล บัวนำน้ำโรยมะลิหอมมารดน้ำพี่อัลค่ะ ให้พี่อัลมีความสุขสดชื่นนะคะ พี่อัลเขียนยาวมาก แต่บัวก็ตั้งใจอ่านจนจบ แล้วปริ้นเก็บไว้ด้วยค่ะ
14 เมษายน 2549 17:45 น. - comment id 571622
นับถือเลยครับ ยิดหญิงบ้านกลอน แรงดีจริงๆ ไม่ไปเที่ยวไหนบ้างหรือ สงสัยจะว่าง ดีครับดี ได้ความรู้ดี
14 เมษายน 2549 20:33 น. - comment id 571629
คุณลักษมณ์ .. โห อยู่ดึกกว่าอัลมิตราเสียอีก อย่าบอกนะ ว่าอ่านที่ลงไว้จนดึกปานนั้น.. ความจริง ก็อยากจะเขียน สงกรานต์คนลุ่มเจ้าพระยาอีกนะ แต่ก็เกรงใจคนอ่านเหลือเกิน .. ฮา ว่าแต่ว่า เอาฉันท์ .. จริงอ่ะ ขอแล้วขอเลยน๊า คุณราชิกา .. อัลมิตราไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหนค่ะ หยุด ๔ วัน ก็อยู่แต่ในบ้าน แวะไปบ้านแม่บ้างก็เพิ่งจะเช้านี้ ไปทานมื้อเช้าแล้วก็กลับ เวลาส่วนใหญ่ ก็จะอยู่กับหนังสือ และ นอน กลางคืน ก็โผล่มาทางเวปบ้างเล็กน้อยค่ะ ดูแลสุขภาพด้วยนะคะ คุณก่อพงษ์ .. แป้งล่ะ คุณก่อพงษ์ ต้องให้ครบเชียวนา จับอาบน้ำแล้วต้องปะแป้งด้วยสิ .. ฮา .. ที่กรุงเทพฯ วันนี้ตอนเช้าฝนตกปรอย ๆ นะ อากาศร้อนหรือเปล่าก็ไม่รู้ อัลมิตราน้ำลายบูดอยู่แต่ในบ้านค่ะ คุณMomMamSan .. โคลงน่ะ เขียนไว้ก่อนนานแล้ว ตอนนั้นแบ่งเป็น ๗ ภาค คราวนี้จับมายำเป็นชุดเดียวค่ะ แถมกาพย์และเพลงพวงมาลัยสนุก ๆ ขอบคุณนะคะ ที่อ่านจนจบ คุณเพรง.พเยีย .. เฮ้อ !! หยุด ๔ วันนี้ อัลมิตรากลายเป็นดักแด้เสียแล้ว นอนขนานกับพื้นโลกเสียเป็นส่วนใหญ่ จะได้นั่งก็ตอนกินข้าว เล่นเน็ตเท่านั้นเอง ไม่ได้ออกไปเล่นน้ำที่ไหนเลย ปีก่อน ไปตรอกข้าวสาร .. แล้วไม่เปียก ปีนี้ก็เลยเจียมเนื้อเจียมตัว อาบน้ำเอง เปียกเองก็ได้ .. แหะ แหะ คุณบินเดี่ยวหมื่นลี้ .. โอเชมิวสิค จำได้แล้วค่ะ คุณดอกบัว .. ขอบคุณมาก ค่ะ :) ดีจังที่มีคนอ่านจนจบ นี่ก็หวั่น ๆ ว่าจะมีคนเป็นลมเป็นแล้งไป เพราะยาวขนาด เที่ยวให้สนุกนะคะ คุณเรไร .. อืม .. ไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหน อยู่บ้าน ทำโน่นทำนี่ แล้วก็นอนเยอะ ๆ เวลาว่างเยอะ ก็เลยเขียนงานแยะ ปล. ก็เหมือนกันล่ะว๊า .... สุขสันต์วันปีใหม่ไทยนะคะ ทุก ๆ คน และสำหรับผู้ที่เดินทาง ก็ขอให้ปลอดภัยค่ะ มิตรภาพตราบสิ้นฟ้า
14 เมษายน 2549 21:22 น. - comment id 571631
ขอบคุณสำหรับความรู้ที่นำมาให้อ่านค่ะ สวัสดีวันปีใหม่ไทยค่ะ
15 เมษายน 2549 14:30 น. - comment id 571684
"สงสารคนอ่าน .. ปวดกะบานคนเขียน\" ม่ายหรอก...คนอ่านได้ทัศนา..ล้าแต่คุ้มเน้ออิ... อ่านจบมีรางวัลให้ไหมค่ะ..คุณอัลมิตรา.. ..
15 เมษายน 2549 16:49 น. - comment id 571702
แวะมาอ่าน....ผ่านมาทักทายจ๊ะอิม.... เขียนยาว..กว่าจะอ่านจบ...เหนื่อยเลยจ๊ะอิม.. ขอให้อิมมีความสุขมากๆๆในวันปีใหม่ไทยเรานะจ๊ะ
15 เมษายน 2549 17:14 น. - comment id 571719
..อ่านแล้วยิ้ม อิ่มแปล้เลยค่ะ ...
15 เมษายน 2549 20:48 น. - comment id 571744
... เฮ้อ...ตาลาย คล้ายจะเป็นลม พี่อิมไม่สงสารกันเลยนะครับ เอาโคลงเพราะๆมาลงซะตั้ง เยอะ อ่าน มา 3 วันแล้ว ยังไม่จบเลย อิอิ
15 เมษายน 2549 21:19 น. - comment id 571762
เย็นใจ เย็นกาย สบายจิต ชีวิต ก้าวหน้า สดใส สุขภาพ แข็งแรง ปลอดภัย คิดใด สมหวัง ดังจินต์ ------------------------- สวัสดีปีใหม่ครับ...
16 เมษายน 2549 08:19 น. - comment id 571789
เหอๆ อยู่แต่ห้องอะไม่ไหนเลย ไม่มีใครชวน
16 เมษายน 2549 13:37 น. - comment id 571866
เรนมาขอรับพรปีใหม่เมือง..บ้านเรนจากพี่อัลมินะคะ.... .. เรนขออนุญาต.. เก็บในไดของเรนนะคะ..
16 เมษายน 2549 15:51 น. - comment id 571893
สงสารคนอ่าน .. ปวดกะบานคนเขียน 5-5-5 อ่านมาทั้งหมด... ชอบตรงนี้น่ะอิม
16 เมษายน 2549 22:51 น. - comment id 571940
คุณผู้หญิงไร้เงา .. สวัสดีปีใหม่ไทยค่ะ คุณกุ้งหนามแดง .. เอาอะไรดีเป็นรางวัลคะ คุณแก้วนิดา .. นี่อัลมิตราก็กำลังนับว่า จะมีคนบ่นสักกี่ราย ยาวซะขนาดนั้น อ่ะ พี่ดอกแก้ว .. คงฮาเพลงพวงมาลัยแน่เลย อัลมิตราหนีจากหลังคาแดงมาเขียนกลอน คุณปักษาวายุ .. เป็นลมก็ดีนะ อากาศจะได้เย็น ๆ คุณขุนเขาในเงาน้ำ .. ขอบคุณเจ้า คุณธรรมาภิวัฏ .. แล้วกันสิ ..มีแต่คนชราน๊า ที่อยู่บ้าน (รวมถึงอัลมิตราด้วย) คุณเรน .. โตเร็ว ๆ นะคะ อุ๊ยเสี่ยวภู .. ยังดีนะ ที่มีดีตั้งบรรทัดนึง มิตรภาพตราบสิ้นฟ้า .. .. ปล.ย่องไปนอนก่อนล่ะ .. ดึกโข แอบมาตอมคอมเม้นท์เพื่อน พรุ่งนี้คงโดนบ่นเป็นแน่แท้.. เอางี้นะ หากมีบ่น .. ทีนี้จะเขียนให้ครบร้อยบทเลย .. ยี้
17 เมษายน 2549 10:11 น. - comment id 572011
แล้วจะบ่นดีไหมเนี๊ยะ...ลืมไปว่าบ่นไปแล้ว...เมื่อคืนฝนตกเกือบทั้งคืนเลยหละ...อย่าย่องบ่อยนะไม้กระดานไม่ค่อยดียังไม่ได้เอาตะปูไปตอก.....
17 เมษายน 2549 12:32 น. - comment id 572046
คุณบินเดี่ยวหมื่นลี้ .. ที่บ้านของอัลมิตราจะหาไม้สักแผ่น ก็ยากเหลือเกิน มีแต่ปูน มีแต่หิน .. ย่องเท่าไหร่ พื้นก็ไม่สึกค่ะ
18 เมษายน 2549 13:22 น. - comment id 572278
เหตุไฉนจึงไร้ลูก สืบสกุล ตัวสเปิร์มนึกฉุน หน่ายกลุ้ม รวมหัวเรียกชุลมุน หวังช่วย ออกวิ่งดังคลั่งคลุ้ม เร่งร้อนผสมพันธุ์ หัวหน้านำวิ่งลุ้น จงใจ เจาะไข่ฝังตัวได้ แน่แท้ ลูกน้องตามเร็วไว เป็นกลุ่ม ปะทะเข้าเต็มแล้ ขี้โว้ยตายเบือ อิอิก็เพิ่งรู้สาเหตุที่ไม่มีลูกสืบสกลุเพราะผิดทางรักนี่เอง อิอิ
18 เมษายน 2549 20:58 น. - comment id 572402
คุณฤกษ์ .. อย่ามัวเดินหลงอยู่ในป่าเลยนะคะ วนเวียนอยู่อย่างนั้น หลงป่า(ไม้)เดียวกัน แน่ เลย
11 ธันวาคม 2549 15:24 น. - comment id 635095
I love วันสงกรานต์
24 ธันวาคม 2549 15:20 น. - comment id 639339
I love songranday.
29 มีนาคม 2550 11:43 น. - comment id 677921
ดีมากเลยค่ะแต่น่าจะเป็นบทความนะคะ