หัวขวานเขียวป่าไผ่
นกตะวัน
ผมกับปริญญ์เดินลงมาเรื่อยๆ ตามทางเดินที่ลาดลงสู่ลำธารเล็กๆเบื้องล่าง เบื้องบนเป็นเรือนยอดของต้นไม้สูงใหญ่แห่งป่าเบญจพรรณที่เบียดเสียดกันหนาแน่นจนแทบบดบังแสงอาทิตย์มิให้ส่องผ่านลงมาได้ง่าย พอเดินลงมาถึงสะพานข้ามลำธาร เรานั่งพักดูนกในบริเวณนี้อยู่นาน เพราะมีนกบินมาให้ดูไม่ขาดระยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนกกะรางหัวหงอก (White-crested Laughingthrush) และนกหัวขวานเขียวป่าไผ่ (Laced Woodpecker)
พอเดินลงตรงมาหาที่พัก
โชคดีนักเห็นนกวิหคอร่าม
หัวขวานเขียวป่าไผ่ไม่ครั่นคร้าม
เกาะตรงข้ามต้นใหญ่ให้ดูเพลิน
ท้องเขียวใบใส่ลูกไม้สดใสสี
คอสวยดีเหลืองเลอะไม่เคอะเขิน
หัวแต้มแต่งแดงเด่นเน้นเหลือเกิน
ดูผิวเผินดั่งมงกุฏเป็นจุดแดง
ค่อยเคลื่อนไต่ไปเรื่อยมิเหนื่อยหนี
เจาะเต็มที่กระทุ้งไปไม่หน่ายแหนง
คอยเก็บสิ้นลิ้นชอนหนอนแมลง
ปากแหลมแยงยื้อเหยื่อเถือเรื่อยมา
พอตกใจใครเพลินเดินมาหน่อย
เจ้านกน้อยหนีห่างพลางถลา
พุ่งเขาพงดงไม้จนไกลตา
ยากค้นหานกเขียวแม้เหลียวมอง
เรานั่งดูอยู่ได้สักพัก นักดูนกหนุ่มสาวคู่หนึ่งเดินผ่านเข้ามาทักทาย แม้ว่าไม่ทราบชื่อเสียงเรียงนาม แต่เราทักทายพูดคุยราวกับรู้จักกันดี ตามประสานักดูนกด้วยกัน ทั้งยังดูนกร่วมกันอีกนาน เมื่อนกหัวขวานเขียวป่าไผ่ตัวนั้นบินกลับมาให้เราดูอีก แม้แต่นกกะรางหัวหงอกยังคงป้วนเปี้ยนอยู่ในบริเวณเดิมไม่หนีไปไหน ทั้งยังมีนกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ (Greater Racket-tailed Drongo) เกาะอยู่ในบริเวณนั้นด้วย แล้วนักดูนกหนุ่มสาวคู่นั้นจึงลาจากไป
ปลายฝน บนเขาใหญ่ 5
11 กันยายน 2547