เอี้ยงถ้ำ
นกตะวัน
เสียงสายน้ำกระแทกหินดังให้ได้ยินอยู่ไม่ขาดระยะ ยิ่งเดินลึกเข้าไปยิ่งดังขึ้นเรื่อยๆ บรรยากาศในยามนี้จึงอบอวลไปด้วยหยดน้ำที่หยาดชุ่มฉ่ำอยู่ตามพื้นดิน ก้อนหิน และแมกไม้รอบข้าง ทั้งละอองน้ำยังแทรกอยู่ในทุกอณูของอากาศในบริเวณนั้นอีกด้วย เสียงน้ำตกดังกลบเสียงอื่นจนผมไม่ได้ยินเสียงจักจั่นหรือนกใดใด จนกระทั่งมาถึงน้ำตกชั้นสุดท้าย เสียงร้องแหลมของ นกเอี้ยงถ้ำ (Blue Whistling Thrush) จึงดังขึ้น พร้อมกับการปรากฏตัวของมัน
นกเอี้ยงถ้ำถลำบินลัดถิ่นน้ำ
ลำตัวดำดูเหลือบเคลือบฟ้าใส
เฉียดสายชลล้นกระแทกผ่านแทรกไป
ละอองใสกระเซ็นต้องขนผ่องพรรณ
ปากเข้มเหลืองเรืองเรื่อเมื่อมองเห็น
ช่างสวยเด่นดั่งใครใช้สีสัน
ทาแต้มไว้ให้เน้นเป็นสำคัญ
เสริมนกนั้นมีเสน่ห์เท่มากมาย
เจ้าสิงสู่อยู่สูงจูงใจคน
ให้ดั้นด้นเดินมาตั้งหน้าบ่าย
สู่น้ำตกซกไหลไม่โยกย้าย
แล้วอวดกายก่อนลี้หลบหนีไกล
เข้าซุกซ่อนซอนสู่อยู่ซอกน้อย
หลบตามรอยร่องหินถิ่นน้ำไหล
แฝงอยู่เรื่อยเมื่อยล้าบินฝ่าไป
ส่งเสียงใสแสนดังกล่อมวังเวง
ตามความเป็นจริงนกเอี้ยงถ้ำเป็นนกเดินดง (Thrush) ชนิดหนึ่ง แต่เนื่องจากมีขนสีดำทั่วทั้งตัวและปากสีเหลืองเช่นเดียวกับนกเอี้ยงหงอน (White-vented Myna) จึงทำให้ใครทึกทักว่าเป็น นกเอี้ยง ไปด้วย ทั้งยังชอบหลบซ่อนตัวอยู่ตามซอกหินบริเวณผาน้ำตกอีกด้วย จึงได้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า นกเอี้ยงถ้ำ จนทำให้บางคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นนกเอี้ยงชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่มักเห็นบินฝ่าละอองน้ำตกเหนือแผ่นหินไปยังฝั่งตรงกันข้าม แค่ชั่วอึดใจ แล้วลับหายไป
ตามหาลมปีกที่คิดถึง ปลายทางหิมาลัย 10
31 กรกฎาคม 2547