ชายผ้าสีดา
นกตะวัน
หลังอาหารมื้อกลางวัน พวกเราออกไปเดินเล่นเพื่อย่อยอาหาร ต่างคนต่างไป แต่บางคนยังคงนั่งพักผ่อนอยู่ในห้องอาหาร ผมออกไปเดินดูผีเสื้อที่บินอยู่รอบๆอาคาร เพราะในครั้งนี้เรามาสำรวจผีเสื้อในสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชให้แก่หัวหน้า แต่แล้วความสนใจของผมกับมาสะดุดอยู่ที่ พืชอิงอาศัย (Ephiphyte) นานาชนิดที่เกาะอยู่ตามลำต้นของไม้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชายผ้าสีดา ซึ่งเป็นเฟินอิงอาศัยในสกุล Platycerium วงศ์ Polypodiaceae
บนคาคบสบไม้มองไปเห็น
เฟินงามเด่นด้วยใบเขียวใหญ่หนา
ใบหนึ่งกว้างอย่างกาบนาบตรึงตรา
โอบต้นหนาติดแน่นดั่งแอ่นรอ
อีกใบหนึ่งกึ่งห้อยย้อยฉีกแยก
หลายกิ่งแฉกเฉกเขาเหล่ากวางหนอ
ดั่งผืนผ้าราคาดีที่ทักทอ
วางพาดล้อลมพัดสบัดไกว
หรือสีดาชายารามผู้งามพริ้ง
ปล่อยผ้าทิ้งทอดมาคาไม้ใหญ่
หลังผูกศอก่อติดสนิทไว้
ทิ้งร่างให้ห้อยลงหวังปลงตาย
ด้วยทศกัณฐ์มันห่ามรวนรามหนัก
แต่รามลักษมณ์ลับลี้ดั่งหนีหาย
ไม่อยากทู้อยู่ไปให้แสนอาย
จึงเห็นชายผ้าสีดามาให้ชม
ชายผ้าสีดาชอบเกาะอยู่ตามลำต้นไม้ใหญ่ ชาวบ้านบางคนเรียกว่า เฟินเขากวาง เพราะใบที่ห้อยลงซึ่งทำหน้าที่สร้างสปอร์มีลักษณะเป็นแฉกหลายแฉกคล้ายเขากวาง และด้วยเหตุนี้อีกเหมือนกัน ชาวอังกฤษจึงเรียกเฟินชนิดนี้ว่า Staghorn Fern ส่วนใบที่มีลักษณะเป็นก้ามทำหน้าที่ห่อหุ้มรากและรองรับน้ำ ในประเทศไทยมี 4 ชนิด แต่ชนิดที่ผมเห็นในป่าสะแกราชคือ Platycerium holttumii ซึ่งพบมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช 3
17 กรกฎาคม 2547