อ่างกา
นกตะวัน
เราเดินย้อนกลับมา ยกกล้องส่องสำรวจนกไปเรื่อย จนมาถึงบันไดปูนซีเมนต์ที่พาเราเวียนลงมาถึงขอบของ อ่างกา ซึ่งเป็น แอ่งซับน้ำ หรือ พรุ (bog) ชาวบ้านเรียก อ่างกา เพราะเป็นแหล่งน้ำที่นกกาพากันลงมาอาบกิน แต่บางคนกล่าวว่า อ่างกา เพี้ยนมาจาก อั่งกา ซึ่งแปลว่า ภูเขาใหญ่ เพราะเมื่อก่อนชาวเชียงใหม่เรียกดอยอินทนนท์ว่า ดอยหลวง หรือ ดอยอั่งกา แล้วเราเดินต่อ ไปตามสะพานไม้ที่ทอดข้ามซึ่งเบื้องล่างมีหญ้าและพืชอื่นปกคลุมแน่นไปหมด
เดินลงไปใกล้แอ่งแสงสลัว
พฤกษามั่วมืดครึ้มครึมเสมอ
เขียวชอุ่มชุ่มชื่นยืนเบียดเจอ
เย็นจนเซ่อซุ่มซ่ามครั่นคร้ามใจ
มองเห็นอ่างกลางป่าหญ้าเต็มนั้น
แดดส่องพลันผุดผ่องต้องสุกใส
ใต้ผืนหญ้าถ้าเห็นเป็นแปลกใจ
ดินนุ่มในนิ่มเนื้อเมื่อคุ้ยมอง
คล้ายฟองน้ำฉ่ำชุ่มอุ้มความชื้น
รับฝนกลืนเก็บไว้ดินไม่หมอง
แหล่งต้นน้ำลำธารไหลซ่านนอง
เราเจ้าของควรรักษ์ปกปักกัน
แม้มองไปไร้กามาลงอ่าง
แต่ไม่ร้างเหล่านกบินผกผัน
ส่งเสียงร้องก้องป่ามาทั้งวัน
กล่อมเรานั้นแนบชิดจนติดใจ
เราเดินมาได้หน่อยเดียวจึงแลเห็นต้นไม้ขนาดกลางที่มีดอกสีแดงดั่งกำมะหยี่บานสะพรั่งเต็มต้น เรียกกันว่า กุหลาบพันปี หรือ คำแดง (Rhododendron arborea var. delavayi) พรรณไม้ในวงศ์ Ericaceae เช่นเดียวกับกายอมหรือกุหลาบขาว ในประเทศไทยพบพรรณไม้ชนิดนี้ได้เฉพาะบนดอยอินทนนท์ในอ่างกาและที่สันกิ่วแม่ปาน และบนดอยม่อนจอง อำเภออมก๋อย เท่านั้น ในต่างประเทศ พบในมณฑลหยุนหนาน (Yunnan) ของจีน และเวียดนามเหนือ