พระนารท 0 มิถิลานครแต่ก่อนเก่า มีพระเจ้าอังคติราชเสวยสวรรค์ ทั้งนางในสนมน้อยนับร้อยพัน พระทรงธรรม์มีธิดาพระองค์เดียว (๑) ราชธิดานามรุจาสง่าศรี ดูราศีงามแท้ต้องแลเหลียว ตั้งมั่นในศีลธรรมนำกลมเกลียว กึ่งเดือนเทียวแจกทานหวังหว่านบุญ (๒) มีอำมาตย์น้อมใจจอมไท้สาม หนึ่งนั้นนามวิชัยได้เกื้อหนุน สองนั้นชื่อสุมานะพระการุณย์ อลาตะกองหนุนชอบรบรา (๓) 0 คราววันเพ็ญสิบสองจันทร์ส่องฟ้า น้ำเปี่ยมท่าโกสุมปทุมหนา ชูสะพรั่งสองฟากฝั่งช่างงามตา มีบัญชาเฉลิมฉลองต้องธรรมเนียม (๔) พระราชาทรงประพาสพิลาสสถาน ทรงเบิกบานหทัยแจ่มใสเปี่ยม เป็นวันดีในวัสหาทัดเทียม ข้าราชเตรียมรับใช้ถวายงาน (๕) ทรงประทานดำรัสตรัสถามว่า ในเวลารื่นรมย์เหมาะสมสถาน ควรทำกิจอันใดให้สมกาล อำมาตย์วานตอบทีเรานี้รอ (๖) อลาตะว่าฤกษ์งามต้องตามศึก ใจคักคึกขยายแดนแคว้นเราหนอ ทั้งเสบียงทหารดีก็มีพอ ควรเริ่มก่อสงครามลุกลามไป (๗) พระราชาว่าศึกไม่นึกอยาก กรรมมันมากเป็นเงาเข้าใจไหม คนต่อไปสุมานะว่ากระไร จงขานไขเรียบเรียงอย่าเกี่ยงงอน (๘) สุมานะชี้ทางวางสมาน ให้จัดงานราตรีสโมสร มโหรีขับกล่อมรายล้อมพร เพื่อดับร้อนเรื่องวุ่นวายคลายอารมณ์ (๙) พระราชาว่าดีแต่มิโปรด เห็นประโยชน์น้อยไปยังไม่สม เจ้าวิชัยว่าอย่างไรใจปรารมภ์ ควรนิยมสิ่งใดว่าไปที (๑๐) ฝ่ายวิชัยแนะนำทำสงบ จึงปรารภเข้าหาปราชญ์เป็นศาสตร์ศรี สนทนาในธรรมล้ำพาที บารมีเพิ่มพูนพร้อมคุณงาม (๑๑) พระราชาพอพระทัยเป็นยิ่งนัก แล้วสำนักอยู่ไหนท่านใคร่ถาม วิชัยว่าชีวกะผู้ละนาม ปฏิบัติตัวงามตามลัทธิ (๑๒) ไม่สวมใส่เสื้อผ้าลาละทิ้ง เป็นของจริงแน่ใจไร้ที่ติ ตัดกิเลสหลีกหนีมีวุฒิ อังคติราชันย์ดั้นด้นไป (๑๓) 0 ครั้นพอถึงศาลาคุณาชีวก เชิญสาทกข้อธรรมตามสงสัย อันกษัตริย์ปฏิบัติตนเช่นไร ต่อคนใกล้และไกลในปกครอง (๑๔) เมื่อตายลงจึงไปสู่สุคติ และดำริเรื่องโทษภัยนัยยะสอง ตกนรกเพราะอะไรในทำนอง ตามครรลองโปรดแจ้งแถลงการณ์ (๑๕) ชีวกนั้นเห็นชัดนอกลิทธิ ไม่กล่าวติเว้นละตอบฉะฉาน ทุกสิ่งจัดอนัตตานฤบาล ไม่มีใครบันดาลผ่านคารม (๑๖) ธรรมชาติเจ็ดอย่างที่วางสุม ดินน้ำไฟประชุมลมประสม อีกทุกข์สุขและชีวิตเข้าชิดชม เมื่อแตกปมจึงพลัดกระจัดกระจาย (๑๗) ลอยอยู่ในอากาศเป็นธาตุคว้าง เกินกล่าวอ้างเป็นพ่อแม่แปรความหมาย เจ็ดสิบสี่กัลป์กลวนเวียนตาย อย่าระคายนรกสวรรค์นั้นไม่มี (๑๘) 0 อลาตะสมอ้างทางผิดพลาด ระลึกชาติได้บ้างสร้างวิถี ชาติก่อนโน้นฆ่าโคมากตัวมี ทั้งชาติก่อนและชาตินี้เป็นเสนา (๑๙) จึงเห็นว่าบาปบุญไม่หนุนเนื่อง จะสิ้นเปลืองคิดไปทำไมหนา ข้าพเจ้าเสวยสุขอยู่ทุกครา บาปไม่มาติดตามเกรงขามไย (๒๐) อันความจริงหนหลังอดีตภาพ อลาตะเคยกราบเจดีย์ใหญ่ อานิสงค์ในครั้งนั้นนั่นประไร ส่งผลให้ได้ดีวันนี้เอย (๒๑) ส่วนบาปกรรมที่สร้างยังไม่ถึง วาระหนึ่งไม่ช้านั่นพลันเฉลย เพียงระลึกได้บางชาติบ้างขาดเลย เข้าใจผิดกลับเอ่ยเผยบุญกรรม (๒๒) 0 ขณะนั้นมีคนยากนามวิชกะ นั่งปนปะฟังอยู่หดหู่สำ น้ำตาไหลนองหน้าครายินคำ พระทรงธรรมถามไถ่ในอาการ (๒๓) วิชกะจึงย้อนชาติก่อนนี้ เป็นเศรษฐียิ่งใหญ่ในสถาน ทั้งทำบุญเกื้อกูลอุดหนุนทาน เมื่อตายผ่านเกิดใหม่ใยจึงจน (๒๔) ทั้งลำบากยากไร้ในชาตินี้ บุญไม่มีบาปกรรมไม่นำผล สนับสนุนอลาตะท่านอีกคน เกิดสิบหนสิบอย่างไม่อ้างอิง (๒๕) ในความจริงชาติต้นเหตุก่อนเศรษฐี มีหน้าที่เลี้ยงโคพาลพะโลสิง พระรูปหนึ่งไร้หลักจะพักพิง ท่านเดินดิ่งตรงหามาถามทาง (๒๖) ด้วยอารมณ์โทสะผละโคหาย ดูคลับคล้ายไม่ยินหมิ่นตาขวาง พระถามซ้ำกลับตวาดกราดเกรี้ยววาง ว่าพระช่างเซ้าซี้เป็นหนี้กรรม (๒๗) บาปกรรมนั้นส่งผลเป็นคนยาก ต้องลำบากตกตระกูลจัณฑาลต่ำ ระลึกชาติไปไม่ถึงหนึ่งเคราะห์กรรม ยืนยันคำทำดีไม่มีคุณ (๒๘) 0 พระราชาได้ฟังทั้งสองเล่า ตรัสว่าเจ้าอย่าเสียใจใฝ่เกื้อหนุน ทศพิธราชธรรมนำค้ำจุน ไม่เคยเห็นผลบุญจะทดแทน (๒๙) ต่อไปนี้จะหาสุขสนุกสนาน งดทำทานเก็บทรัพย์นับหวงแหน จะเสพสุขต่อเนื่องในเมืองแมน แม้แต่แดนสำนักนี้จักมิกราย (๓๐) นับแต่นั้นพระองค์ทรงเกษม ทรงปรีด์เปรมสุรานารีหลาย มโหรีขับกล่อมล้อมมากมาย หลงอบายไม่สนใจในราชการ (๓๑) ราชกิจน้อยใหญ่ให้อำมาตย์ คุมเด็ดขาดทั้งอำนาจศาสตร์ทหาร ลดละเลิกศาลาและโรงทาน ทรงสำราญในสุขทุกคืนวัน (๓๒) 0 สิบห้าค่ำราชธิดามาเข้าเฝ้า เพื่อทูลเจ้าจอมกษัตริย์เพื่อจัดสรร พระราชทานทรัพย์ให้ไปแบ่งปัน ผู้ยากนั้นแต่จิตใจไม่ยินดี (๓๓) ความประพฤติที่แย่แพร่สะพัด องค์กษัตริย์มีมิจฉาหมดราศี ราษฎรชาวเมืองต่างรู้ดี ชีวกนี้สอนสั่งจึงพลั้งตน (๓๔) พระธิดานั้นหนาหาใกล้ชิด มิทราบจิตบิตุรงค์หลงสับสน นางกำนัลเล่าขานทุกการกล ในบัดดลอัดอั้นตันพระทัย (๓๕) ทำไมหนอบิดาของข้านี้ สนทนาทั้งทีไม่ตรองไตร่ ไม่เลือกคนแนะนำกระทำไป สั่งสอนให้ตรงข้ามกับความจริง (๓๖) ควรจะถามสมณะสาระเรื่อง กลับฟุ้งเฟื่องคำชีวกวิตกสิง ทำอย่างไรจึงแก้ไขหนักใจจริง คิดแล้วยิ่งแค้นใจในสิทธา (๓๗) พระธิดาระลึกชาติได้นานนัก สิบสี่ชาติรู้หลักศาสนา อยากจะแก้ทิฐิผิดของบิดา จึงเข้าเฝ้าพร้อมข้าบริวาร (๓๘) กราบทูลขอราชทรัพย์ก่อนกลับออก ราชันย์บอกไม่เห็นคุณขุ่นเคืองขาน สิ้นเปลืองกันทำไมงดให้ทาน ทรมานกายารักษาธรรม (๓๙) เปล่าประโยชน์ทั้งนั้นเลิกปันเถิด จะประเสริฐหาสุขสนุกขำ คราครั้งก่อนพ่อเขลาให้เจ้าทำ บาปและกรรมไม่มีหนารุจาเอย (๔๐) ทรัพย์ทั้งหลายเอาไปเลยเสวยสุข ยังมีชุกใช้ทางถูกนะลูกเอ๋ย นำใช้จ่ายเป็นทานจงผ่านเลย มิชมเชยวิธีการงานเมตตา (๔๑) ไปส่งเสริมช่วยชีวีพวกขี้เกียจ สักกระเบียดสักหุนไม่หนุนหนา บาปกรรมใดไม่ส่งผลทนทำมา ท่านคุณาสอนสั่งครั้งเยี่ยมเยือน (๔๒) อลาตะเสนาเด่นก็เช่นนั้น วิชกะยืนยันเสมอเสมือน พระธิดาค้านคัดดำรัสเตือน ไยจึงเชื่อคนเถื่อนเลื่อนลอยกัน (๔๓) ถ้าบุญบาปไม่มีไยชีวก มิปิดปกด้วยเสื้อผ้าช่างน่าขัน บำเพ็ญพรตพากเพียรไปทำไมกัน รับจังหันครบครันอันหวานคาว (๔๔) ยังต้องการยอมรับและนับถือ เยี่ยงนี้หรือควรเชื่อฟังยังว่ากล่าว อลาตะวิชกะเล่าเรื่องราว ระลึกชาติในคราวเพียงชาติเดียว (๔๕) มากล่าวอ้างให้หลงลมชื่นชมหรือ ควรเชื่อถือหรือแก้ไขให้แลเหลียว กระหม่อมฉันระลึกนั่นเหมือนกันเชียว รู้แท้เทียวเพราะกรรมนำจิตตี (๔๖) ในชาติก่อนหน้านี้ที่ลูกเห็น ก็เคยเป็นอัครมเหสี ชวนะเทพบุตรคือสามี ชั่วนาทีจุติเป็นเทพธิดา (๔๗) เพียงสามีเดินออกนำดอกไม้ ประดับให้หม่อมฉันนั่นแหละหนา แค่เวลาน้อยนิดกระพริบตา จุติมาเป็นธิดาของพระองค์ (๔๘) และชาติหน้าจะเปลี่ยนเพศครองเดชฤทธิ์ เทพบุตรนิมิตตามบุญส่ง ขอบิดาละวางทางเสื่อมลง เลิกลุ่มหลงอบายมุขนำทุกข์เอย (๔๙) พระราชาผู้หลงคงสดับ ชื่นชมกับธิดาปรีดาเผย แต่ก็ยังปฏิบัติชัดเช่นเคย ไม่เปลี่ยนเลยพฤติกรรมนำอบาย (๕๐) พระธิดาเห็นพูดไปไร้น้ำหนัก อธิษฐานด้วยภักดิ์ก่อนจักสาย แม้บุญญาของบิดาหามลาย ขอเทพไท้ทั้งหลายมาช่วยที (๕๑) 0 ร้อนถึงท้าวพรหมนารถบนสวรรค์ เหตุใดกันกันร้อนอาสน์ปราศสุขี ทิพย์เนตรเห็นราชามิจฉามี รีบเร็วรี่เหาะมาในทันใด (๕๒) จำแรงกายเป็นชายชาญกาญจน์กาสา ทองลูกฟักหาบมาลอยอยู่ใกล้ เหนือวิมานเศวตฉัตรพระฉัตรชัย ทอดพระเนตรทันใดกลัวภัยพาล (๕๓) พระธิดาเห็นเหมือนมิเลือนหลง อธิษฐานนี้คงส่งสมร คงแก้ไขบิดาได้ดังใจวอน มาถอดถอนมิจฉาบิดาเรา (๕๔) พระราชาเกรงเดชาคณานับ มิประทับบนบัลลังก์เหมือนดังเก่า เสด็จลงพื้นราบเพื่อบรรเทา ความกลัวเข้าครอบงำดำรัสตาม (๕๕) ท่านผู้มีฤทธิ์เดชแจ้งเจตน์เถิด ผู้ประเสริฐมาจากไหนเราใคร่ถาม ท่านประสงค์สิ่งใดให้บอกความ จงเอ่ยนามออกมาอย่าปิดกัน (๕๖) 0 เรานั้นชื่อพระนารทประกาศชัด และยังจัดเป็นพรหมสมสวรรค์ พระราชาเอะใจสงสัยพลัน อะไรกันฟังมาว่าไม่มี (๕๗) แต่จิตตรงสนใจในพระเวทย์ อยากทราบเหตุเหาะได้ในวิถี ท่านอาศัยสิ่งใดให้บอกที พระนารทบอกทำดีมีศีลธรรม (๕๘) ประกอบด้วยศีลห้าเป็นอาทิ อย่าได้ริเมามัวทำตัวถลำ กิจวัตรบุญทานงานประจำ สมบัติล้ำมากมายได้เดชา (๕๙) พระราชาฟังแสดงแคลงใจนัก ได้ยินนักนรกสวรรค์นั่นแหละหนา ทั้งพระพรหมเทวบุตรเทพธิดา และโลกนี้โลกหน้าว่ามีจริง (๖๐) ท่านคิดเห็นอย่างไรให้ตอบด้วย พระนารทช่วยยืนยันมั่นทุกสิ่ง จงทำดีเถิดหนาอย่าประวิง เป็นเรื่องจริงทั้งนั้นราชันย์เอย (๖๑) พระราชาว่าอย่างนั้นขอปันทรัพย์ ยืมหนึ่งกัปคืนให้ชาติใหม่เหวย พระนาทว่าไม่ได้จอมไท้เอย ราชาเอ่ยเพระเหตุใดไม่ให้เรา (๖๒) เพราะพระองค์ประพฤติชั่วมัวเมานัก นรกจักเป็นที่หมายเสียดายเปล่า ไม่ประสงค์ลงไปตามถามทวงเอา ไฟร้อนเร่าผลาญเผาเหลือประมาณ (๖๓) ทั้งตัวท่านหมดทางออกข้างนอก นำทรัพย์ออกคืนเราสูญเปล่าขาน แต่ถ้าท่านประพฤติดีมีศีลทาน จะประทานตามใจไม่ท้วงติง (๖๔) หากพระองค์หลงทางปฏิบัติ เห็นแน่ชัดนรกนี้เป็นที่สิง รับโทษทัณฑ์ตามเวรเถรตรงจริง ผลจากสิ่งที่ทำกรรมคู่กาย (๖๕) ปีนต้นงิ้วหนามงอกถลอกถลก ถ้ากลิ้งตกหมาขย้ำระส่ำระสาย ยมบาลแทงหอกไล่ให้ขึ้นปลาย อีการ้ายโฉบหัวตัวไม่ตาม (๖๖) ตายแล้วเกิดวนเวียนเพียรปีนงิ้ว เป็นรอยริ้วผิดศีลหมิ่นข้อสาม เพราะมักมากผิดลูกเมียเสียในกาม ตะกละตะกรามไปหนอเกินพอดี (๖๗) บ้างถูกโยนลงไปในกระทะ ไปปะทะน้ำทองแดงร้อนแรงนี่ ร่างละลายแหลกเหลวเปลวอัคคี เกิดอีกทีโยนลงใหม่ไหม้อย่างเดิม (๖๘) บ้างพูดปดยุแยงให้ยุ่งยาก จับอ้าปากกรอกน้ำทองแดงเสริม ไหม้ตับไตไส้พุงขาดไม่พลาดเติม ชอบเฉลิมฉลองถองสุรา (๖๙) บ้างวิ่งหนีคีรีกลิ้งมาทับ บดให้ยับทั้งร่างอย่างไร้ท่า ทรมานทุเรศน่าเวทนา หวาดผวาโศกสลดจนหมดกรรม (๗๐) บ้างมือโตปากจู๋เท่ารูเข็ม ต้องแทะเล็มเลือดหนองตนทนเช้าค่ำ เพราะทำร้ายบุบพการีนี้ประจำ บาปลึกล้ำทำพ่อแม่แกทุกข์ใจ (๗๑) ถ้าพระองค์ไม่เลิกหลงคงมิจฉา ทิฐิพาลงอบายไม่พลาดได้ นรกนั้นเป็นที่หมายตายลงไป เรานี้ไม่หลอกลวงถ่วงให้เปลือง (๗๒) พระราชาเกิดกลัวภัยในขุมนรก ทรงวิตกกังวลทนฟังเรื่อง ทำอย่างไรจึงพ้นผ่านวานประเทือง จิตกระเตื้องเชื่อครบนารทอบรม (๗๓) พระนารทจึงสอนสั่งตั้งมั่นศีล ครองแดนดินโดยธรรมนำผสม ทศพิธราชธรรมนำนิยม จึงเหมาะสมปกครองทั้งผองชน (๗๔) 0 นับแต่นั้นบ้านเมืองหมดเรื่องทุกข์ สงบสุขจริงแท้แน่ทุกหน พระเมตตากรุณาประชาชน ทั่วทุกคนอยู่เย็นเป็นสุขเอย (๗๕) ดีได้ดี ชั่วได้ชั่ว เป็นตัวอย่าง โปรดนำวางเป็นแม่แบบแนบเฉลย กรรมเป็นเครื่องชักนำ..นำเกิดเอย อย่าละเลยศีลธรรมค้ำจุนตน (๗๖) ..จบเรื่องพระนารท..
25 ธันวาคม 2547 10:22 น. - comment id 395648
นารทชาดก พระราชาองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า อังคติราช ครองเมืองมิถิลา เป็นผู้ที่ตั้งมั่นในทศพิธราชธรรม พระธิดาของพระเจ้าอังคติราชมีพระนามว่า รุจาราชกุมารี มีรูปโฉมงดงาม พระราชาทรง รักใคร่พระธิดา อย่างยิ่ง คืนวันหนึ่งเป็นเทศกาลมหรสพ ประชาชนพากัน ตกแต่งเคหสถานอย่างงดงาม พระเจ้าอังคติราช ประทับอยู่ท่ามกลางเหล่าอำมาตย์ในปราสาทใหญ่ ประดับประดาอย่างวิจิตรตระการ พระจันทร์กำลัง ทรงกลด เด่นอยู่กลางท้องฟ้า พระราชาทรงปรารภ กับหมู่อำมาตย์ว่า ราตรีเช่นนี้น่ารื่นรมย์นัก เราจะทำอะไรให้ เพลิดเพลินดีหนอ อลาตอำมาตย์ทูลว่า ขอเดชะ ควรจะเตรียม กองทัพใหญ่ยกออกไปกวาดต้อนดินแดนน้อยใหญ่ ให้เข้า มาอยู่ในพระราชอำนาจพระเจ้าข้า สุนามอำมาตย์ทูลว่า ทุกประเทศใหญ่น้อยก็มา สวามิภักดิ์อยู่ในพระราชอำนาจหมดแล้ว ควรที่จะ จัดการ เลี้ยงดู ดื่มอวยชัยให้สำราญ และหาความ เพลิดเพลินจากระบำรำฟ้อนเถิดพระเจ้าข้า วิชัยอำมาตย์ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ เรื่องการระบำ ดนตรีฟ้อนร้องนั้น เป็นสิ่งที่พระองค์ได้ทรงทอด พระเนตรอยู่แล้วเป็นนิตย์ ในราตรีอันผุดผ่องเช่นนี้ ควรไปหาสมณพราหมณ์ผู้รู้ธรรม แล้วนิมนต์ ท่านแสดง ธรรมะจะเป็นการควรกว่าพระเจ้าค่ะ พระราชาพอพระทัยคำทูลของวิชัยอำมาตย์ จึงตรัสถามว่า เออ แล้วเราจะไปหาใครเล่าที่เป็น ผู้รู้ธรรม อลาตอำมาตย์แนะขึ้นว่า มีชีเปลือย รูปหนึ่ง อยู่ในมิคทายวัน เป็นพหูสูตร พูดจาน่าฟัง ท่านคงจะช่วยขจัดข้อสงสัยของเราทั้งหลายได้ ท่านมีชื่อว่า คุณาชีวก พระเจ้าอังคติราชได้ทรงฟังก็ยินดี สั่งให้เตรียม กระบวน เสด็จไปหาชีเปลือยชื่อคุณาชีวกนั้น เมื่อไปถึงที่ ก็ทรงเข้าไปหาคุณาชีวก ตรัสถาม ปัญหาธรรมที่พระองค์สงสัยอยู่ว่า บุคคลพึง ประพฤติธรรมกับบิดา มารดา อาจารย์ บุตร ภรรยา อย่างไร เหตุใดชนบางพวกจึงไม่ตั้งอยู่ ในธรรม ฯลฯ คำถามเหล่านี้ เป็น ปัญหาธรรม ขั้นสูงอันยากจะตอบได้ ยิ่งคุณาชีวกเป็นมิจฉา ทิฏฐิผู้โง่เขลาเบาปัญญาด้วยแล้ว ไม่มีทางจะ เข้าใจได้ คุณาชีวกจึงแกล้งทูลไปเสียทางอื่นว่า พระองค์จะสนพระทัยเรื่องเหล่านี้ไปทำไม ไม่มี ประโยชน์อันใดเลยพระเจ้าข้า โปรดฟังข้าพเจ้าเถิด ในโลกนี้ บุญไม่มี บาปไม่มี ปรโลกไม่มี ไม่มีบิดา มารดาปู่ย่า ตายาย สัตว์ทั้งหลายเกิดมาเสมอกัน หมด จะได้ดีได้ชั่วก็ได้เอง ทานไม่มี ผลแห่งทาน ก็ไม่มี ร่างกายที่ประกอบกันขึ้นมานี้ เมื่อตายไป แล้วก็สูญสลายแยกออกจากกันไป สุขทุกข์ก็สิ้นไป ใครจะฆ่า จะทำร้าย ทำอันตราย ก็ไม่เป็นบาป เพราะบาปไม่มี สัตว์ทุกจำพวก เมื่อเกิดมาครบ 84 กัปป์ก็จะบริสุทธิ์พ้นทุกข์ ไปเอง ถ้ายังไม่ครบ ถึงจะทำบุญทำกุศลเท่าไร ก็ไม่อาจบริสุทธิ์ไปได้ แต่ถ้าถึงกำหนด 84 กัปป์ แม้จะทำบาปมากมาย ก็จะบริสุทธิ์ไปเอง พระราชาได้ฟังดังนั้นจึงตรัสว่า ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้านี้โง่เขลาจริงๆ ข้าพเจ้ามัวหลงเชื่อว่า ทำความดี แล้วจะไปสู่สุคติ อุตส่าห์พากเพียร บำเพ็ญกุศลกรรม บัดนี้ข้าพเจ้าทราบแล้วว่า บุญไม่มี บาปไม่มี ผลกรรมใดๆ ไม่มีทั้งสิ้น บุคคลจะบริสุทธิ์เองเมื่อถึงกำหนดเวลา แม้แต่ การฟังธรรมจากท่านอาจารย์ก็ หามีประโยชน์ อันใดไม่ ข้าพเจ้าขอลาไปก่อนละ เมื่อเสด็จกลับมาถึงพระราชวัง พระเจ้า อังคติราชก็มีพระราชโองการว่า ต่อไปนี้พระองค์ จะไม่ปฏิบัติราชกิจใดๆทั้งสิ้น เพราะการทั้งปวง ไม่มีประโยชน์ ไม่มีผลอันใด พระองค์จะแสวงหา ความเพลิดเพลินใน ชีวิตแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ อาทรร้อนใจกับผลบุญผลกรรมใดๆทั้งสิ้น จากนั้นก็เกิดเสียงเล่าลือไปทั้งพระนครว่า พระราชากลายเป็นมิจฉาทิฐิ คือ หลงผิด เชื่อคำ ของชีเปลือยคุณาชีวก บ้านเมืองย่อมจะถึง ความเสื่อม หากพระราชาทรงมีพระดำริดังนั้น ความนี้ทราบไปถึงเจ้าหญิง รุจาราชกุมารี ทรงร้อนพระทัยเมื่อทราบว่า พระบิดาให้รื้อโรงทาน ทั้งสี่มุมเมือง จะไม่บริจาคทานอีกต่อ ไป ทั้งยังได้ กระทำการข่มเหงน้ำใจชาวเมืองมากมายหลาย ประการ ด้วยความที่ทรงเชื่อว่า บุญไม่มี บาปไม่มี บุคคลไปสู่สุคติเองเมื่อถึงเวลา เจ้าหญิงรุจาราชกุมารีจึงเข้าเฝ้าพระบิดา ทูลขอ พระราชทานทรัพย์หนึ่งพัน เพื่อจะเอาไปทรงทำทาน พระบิดาเตือนว่า ลูกรัก ทานไม่มีประโยชน์ดอก ปรโลกไม่มี เจ้าจะไม่ได้ผลอะไรตอบแทน หากเจ้า ยังถือศีลอดอาหารวันอุโบสถอยู่ ก็จงเลิกเสียเถิด ไม่มีผลดอกลูกรัก รุจาราชกุมารีพยายามกราบทูลเตือนสติพระบิดา ว่าข้าแต่พระชนก บุคคลกระทำบาปสั่งสมไว้ ถึงวัน หนึ่งเมื่อผลบาปเพียบเข้า บุคคลนั้นก็จะต้องรับผล แห่งบาปที่ก่อ เหมือนเรือที่บรรทุกแม้ทีละน้อย เมื่อเต็มเพียบเข้า ก็จะจมในที่สุดเหมือนกัน ธรรมดาใบไม้ นั้นหากเอาไปหุ้มห่อของเน่าเหม็น ใบไม้นั้นก็จะ เหม็นไปด้วย หากห่อของหอมใบไม้ นั้นก็จะหอม ปราชญ์จึงเลือกคบแต่คนดี หากคบ คนชั่วก็จะพลอย แปดเปื้อน เหมือนลูกศรอาบยาพิษ ย่อมทำให้แล่งศรแปดเปื้อนไปด้วย ราชกุมารีกราบทูลต่อว่า หม่อมฉันรำลึกได้ว่า ในชาติก่อนได้เคยเกิดเป็นบุตรช่างทาง ได้คบหา มิตรกับ คนชั่ว ก็พลอยกระทำแต่สิ่งที่ชั่วร้าย ครั้น ชาติต่อมาเกิดในตระกูลเศรษฐี มีมิตรดีจึงได้พลอย บำเพ็ญบุญบ้าง เมื่อตายไป ผลกรรมก็ตามมาทัน หม่อมฉันต้องไปทนทุกข์ทรมาณในนรกอยู่เป็นเวลา หลายชาติ หลายภพ ครั้นได้เกิดเป็นมนุษย์ก็ต้องทน ทุกข์รำเค็ญมากมาย กว่าจะใช้หนี้กรรมนั้นหมด และผลบุญ เริ่มส่งผล จึงได้มาเกิดในที่ดีขึ้นเป็นลำดับ อันผลบุญผลบาปย่อมติดตามเราไปทุกๆ ชาติ ไม่มีหยุด ย่อมได้รับผลตามกรรมที่ก่อไว้ทุกประการ ขอพระบิดาจงฟังคำหม่อมฉันเถิด พระราชามิได้เชื่อคำรุจาราชกุมารี ยังคงยึดมั่น ตามที่ได้ฟังมาจากคุณาชีวก เจ้าหญิงทรงเป็น ทุกข์ถึงผลที่ พระบิดาจะได้รับเมื่อสิ้นพระชนม์ จึง ทรงตั้งจิตอธิษฐานว่า หากเทพยดาฟ้าดินมีอยู่ ขอได้โปรดมาช่วยเปลื้องความเห็นผิดของ พระบิดาด้วยเถิด จะได้บังเกิดสุขแก่ปวงชน ขณะนั้น มีพรหมเทพองค์หนึ่งชื่อ นารท เป็นผู้มี ความกรุณาในสรรพสัตว์ มักอุปการะเกื้อกูลผู้อื่น อยู่เสมอ นารทพรหมเล็งเห็นความทุกข์ของ รุจาราชกุมารี และเล็งเห็นความเดือดร้อนอันจะเกิด แก่ประชาชน หากพระราชาทรงเป็นมิจฉาทิฏฐิ จึงเสด็จจากเทวโลกแปลงเป็นบรรพชิต เอาภาชนะ ทองใส่สาแหรกข้างหนึ่ง คนโทแก้วใส่สาแหรก อีกข้างหนึ่ง ใส่คานทาน วางบนบ่าเหาะมาสู่ปราสาท พระเจ้า อิงคติราช มาลอยอยู่ตรงหน้าพระพักตร์ พระราชาทรงตกตะลึงตรัสถามว่า ข้าแต่ท่าน ผู้มีวรรณะงามราวจันทร์เพ็ญ ท่านมาจากไหน นารทพรหมตอบว่า อาตมาภาพมากจากเทวโลก มีนามว่า นารท พระราชาตรัสถามว่า เหตุใดท่าน จึงมีฤทธิ์ลอยอยู่ในอากาศได้เช่นนั้น น่าอัศจรรย์ อาตมาภาพบำเพ็ญคุณธรรม 4 ประการ ในชาติ ก่อนคือ สัจจะ ธรรมะ ทมะ และจาคะ จึงมีฤทธิ์เดช ไป ไหนได้ตามใจปรารถนา ผลบุญมีด้วยหรือ ถ้าผลบุญมีจริงอย่างที่ท่านว่า ได้โปรดอธิบายให้ข้าพเจ้าทราบด้วยเถิด พระนารท พรหมจึงอธิบายว่า ผลบุญมีจริง ผลบาปก็มีจริง มี เทวดา มีบิดามารดา มีปรโลก มีทุกสิ่งทุกอย่างทั้งนั้น แต่เหล่าผู้งมงายหาได้รู้ไม่ พระราชาตรัสว่า ถ้าปรโลกมีจริง ขอยืมเงิน ข้าพเจ้าสักห้าร้อยเถิด ข้าพเจ้าจะใช้ให้ท่าน ในโลกหน้า พระนารทตอบว่า ถ้าท่านเป็นผู้ ประพฤติธรรม มากกว่าห้าร้อยเราก็ให้ท่านยืมได้ เพราะเรารู้ว่าผู้อยู่ใน ศีลธรรม ผู้ประพฤติกรรมดี เมื่อเสร็จจากธุระแล้ว ก็ย่อมนำเงินมาใช้คืนให้เอง แต่อย่างท่านนี้ตายไป แล้วก็จะต้องไปเกิดในนรก ใครเล่าจะตามไปทวงทรัพย์คืนจากท่านได้ พระราชาไม่อาจตอบได้ จึงนิ่งอั้นอยู่ นารทพรหม ทูลว่า หากพระองค์ยังทรงมีมิจฉาทิฏฐิอยู่ เมื่อสิ้น พระชนม์ ก็ต้องไปสู่นรก ทนทุกขเวทนาสาหัส ในโลกหน้าพระองค์ก็จะต้องชดใช้ผลบาปที่ได้ก่อไว้ ในชาตินี้ พระนารทได้โอกาสพรรณนาความทุกข์ ทรมานต่างๆ ในนรกให้พระราชาเกิดความสะพรึงกลัว เกิดความสยดสยองต่อบาป พระราชาได้ฟังคำพรรณนา ก็สลดพระทัยยิ่งนัก รู้พระองค์ว่าได้ดำเนินทางผิด จึงตรัสว่า ได้โปรดเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้าด้วยเถิด บัดนี้ ข้าพเจ้าเกิดความกลัวภัยในนรก ขอท่านจง เป็นแสงสว่างส่องทางให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด โปรด สอนธรรมะให้แก่ข้าพเจ้าผู้ได้หลงไปในทางผิด ขอจง บอกหนทางที่ถูกต้องแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด พระนารทพรหมฤษีจึงได้โอกาสตรัสสอนธรรมะ แก่พระราชาอังคติราช ทรงสอนให้พระราชตั้งมั่น ในทาน ในศีล อันเป็นหนทางไปสู่สวรรค์เทวโลก แล้วจึงแสดงธรรมเปรียบร่างกายกับรถ เพื่อให้ พระราชาทรงเห็นว่า รถที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนอันดี อันถูกต้องแล่นไปในทางที่เรียบรื่น มีสติเป็นประดุจปฏัก มีความ เพียรเป็นบังเหียน และมีปัญญาเป็นห้ามล้อ รถอันประกอบด้วยชิ้นส่วนอันดีนั้นก็จะแล่นไปใน ทางที่ถูกต้อง โดยปราศจากภัยอันตราย พระราชาอังคติราชทรงละมิจฉาทิฏฐิคือความเห็นผิด ละหนทางบาป นารถพรหมฤษีจึงถวายโอวาทว่า ขอพระองค์จะละบาปมิต คบแต่กัลยาณมิตร อย่าได้ ทรงประมาทเลย ในระหว่างนั้น พระนารทพรหม ฤษีได้อันตรธานหายไป พระราชาก็ทรงตั้งมั่นในศีล ในธรรม ทรงเริ่มทำบุญทำทาน ทรงเลือกคบแต่ผู้ที่จะ นำไปในทางที่ถูกที่ควร เมื่อพระราชาทรงตั้งอยู่ใน ทศพิธราชธรรม ประชาชนก็มีความสุข บ้านเมืองสงบ ร่มเย็น สมดังที่พระนารทพรหมฤษีทรงกล่าวว่า จงละบาปมิตร จงคบกัลยาณมิตร จงทำบุญละจากบาป ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทเถิด คติธรรม : บำเพ็ญอุเบกขาบารมี สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ทำดีย่อมได้ดี ทำผิดบาปย่อมได้ชั่วช้าสามานย์เป็นผลตอบ และการคบมิตรสหายนั้นก็จะส่งผลดีเลวแก่ตัวบุคคลนั้นด้วย +-*-+ +-*-+-*- ปู๊ชายอารมดี๊ดี -*-+-*-+ +-*-+
25 ธันวาคม 2547 12:11 น. - comment id 395719
สุดยอดเลยเพื่อนรัก เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์สอนใจได้อย่างดียิ่ง รวมทั้งเมกกะด้วย ขอสรรเสริญทั้งสองเลยล่ะครับ ขอบคุณที่หาชาดกแบบนี้มาให้อ่านประเทืองปัญญาครับ แก้วประเสริฐ.
25 ธันวาคม 2547 12:25 น. - comment id 395732
มาชื่นชมคุณกุ้งค่ะ
25 ธันวาคม 2547 13:30 น. - comment id 395791
^_^ คุณกุ้งขาแบ่งความขยันหมั่นเพียรมาให้อุ๊บ้างเถิดค่ะ เก่งจริงๆแต่งตั้ง๗๖บทนับถือค่ะ แค่อ่านยังเหนื่อยเลยค่ะนี่คุณกุ้งต้องมาเรียบเรียงแต่งกลอนและมาพิมพ์ให้พวกเราได้ความรู้อีก รู้สึกทึ่งคุณกุ้งจริงๆเมื่อไรจะได้เจอตัวจริงน๊า อิอิ ก็คุณกุ้งเห็นหน้าอุ๊แล้วแต่อุ๊ยังไม่เคยเห็นหน้าคุณเลยอ้ะ อิอิ
25 ธันวาคม 2547 14:14 น. - comment id 395818
พี่เก่งจังครับ.. จบที่ 76 ผมว่าน่าจะจบที่ 79 เป็นเลขที่สวยขึ้นมานิดหนึ่ง..
25 ธันวาคม 2547 16:53 น. - comment id 395911
มาชื่นชมผลงานและกันนะ
26 ธันวาคม 2547 07:49 น. - comment id 396135
ขอบคุณคุณเมกกะมากค่ะ..สำหรับข้อมูล...ดีมากๆ ค่ะ.. เพื่อนแก้ว ..สัญญาต้องเป็นสัญญาค่ะ ว่าเขียนให้จบก็ต้องจบค่ะ..(มีคุย ขนาดขาดไปอีกตั้งสองชาตินิ) คุณกานต์...ขอบคุณมากค่ะ ชื่นชมคุณกานต์เช่นกันค่ะ.. คุณอุ๊...เอาไปเลย รับน่ะ หนึ่งส่องซ่าม..รับไหวม่ะ.แล้วเราคงได้พบกันน่ะ บิ๊กa to z ไงค่ะ.(ขอไปบำรุงตัวให้เป็นหมีพูก่อน) ที่ลพบุรีหนาวไหมค่ะ... คุณดอกข้าว...ขอบคุณค่ะ..เกือบถึงค่ะ (พอดียางแบนก่อนค่ะ..) คุณแม่จิตร.. ขอบคุณมากค่ะ..