กงฺขาวิตรณวิสุทธิ ๔

แก้วประเสริฐ


                กงฺขาวิตรณวิสุทฺธิ  ๔
          ดูกรเหล่าโยคาวจรผ่อนรู้จิต
ควรนั่งคิดนอนยืนคืนสติเสมอ
กำหนดไว้ในกายให้เลิศเลอ
อย่าได้เผลอเพ้อพกเป็นอาจินต์
          พิจารณากายให้ข้ามความสงสัย
กองทุกข์หลายรายรอบเป็นนิจสิน
ทำความเพียรเรียนรู้อย่าโบยบิน
โดยหมดสิ้นในจิตคิดรู้เห็น
          ปัจจยปริคคหญาณปัญญามาล้ำเลิศ
รู้ก่อเกิดปัจจัยในหลายกระเซ็น
ไม่ว่างเว้นรูปนามตามประเด็น
ที่ซ่อนเร้นเน้นในกายแห่งตน
          ชื่อว่ากังฺขาวิตรณวิสุทฺธิปริเฉท
ล้วนแห่งเหตุก้าวข้ามความสงสัยพ้น
จากกังฺขาวิตรณแปดแผดเผาคน
เพื่อหลีกพ้นหนทางสร้างมรรคญาณ
          อภิธรรมปิฏกแปดประการอันได้แก่
พุทฺเธ-กงฺขติแท้พุทธคุณเก้าเฝ้าประสาน
มีพระอรหํเป็นต้นพ้นบ่วงมาร
สงสัยขานเป็นจริงสิ่งกล่าวหรือ
          ธมฺเม-กงฺขติมีพระธรรมคุณทั้งหก
ยังวิตกสงสัยนัยเพียงแค่หนังสือ
สวากฺขาโตกล่าวไว้ให้ร่ำลือ
ไม่ยึดถือยังสงสัยไม่เป็นจริง
          สํเฆ-กงฺขติที่ประพฤติตรึกทำชอบ
ล้วนประกอบสงฆคุณเก้าเนาทุกสิ่ง
เป็นพระสุปฏิปนฺโนโสภายิ่ง
ยังถูกอิงสงสัยจริงไม่จริงนา
          สิกฺขาย-กงฺขติมิเชื่อถือคือสิกขา
ศีลสมาธิปัญญาว่าไว้ยังกังขา
พระพุทธเจ้ากล่าวผิดถูกสงสัยมา
ปฏิบัติหนามีประโยชน์จริงหรือไม่
          ปุพฺพนฺเต-กงฺขติดำริขันธ์ห้าอดีต
ที่ได้ผลิตเกิดสัตว์จัดเวียนไว้
สงสัยในภาพพจน์อันจรดไป
ไม่เชื่อในขันธ์ห้ามาเกิดสัตว์
          อปรนฺเต-กงฺขติสงสัยขันธ์ห้าอนาคต
จะกำหนดเป็นจริงไม่ในส่วนสัด
ตายแล้วดับลับสิ้นไม่ล่วงลัด
ว่าต้องพลัดมาเกิดเกิดต่อไป
          ปุพฺพนฺตาปรนฺเต-กงฺขติมีอดีตอนาคต
ที่วางกฎขันธ์ห้ามาจัดไว้
สัตว์เคยเกิดมาแล้วเกิดอย่างไร
จริงหรือไม่สงสัยในขันธ์ห้า
          อิทปฺปจฺจยตา ปฏิจฺจสมุปฺปนฺเนสุ ธมฺเมสุ-กงฺขติ
สงสัยดำริการเวียนว่ายวัฏฏะสังขาร์
ว่ายเวียนธรรมตามด้วยอวิชชา
ซึ่งสานมาสืบต่อภพใหม่นั้น
           เหตุปัจจัยในเรื่องบุญหนุนด้วยบาป
เข้ากำซาบอายตนะนอกบอกกระสัน
ลุ่มหลงปรุงแต่งกายวาจาใจเป็นสำคัญ
เข้าสร้างสรรค์สืบต่อแห่งภพสิ้น
          ด้วยเหตุนี้มีเป็นจริงหรือไม่หนอ
เกิดข้อต่อสงสัยให้ใจถวิล
ไม่เชื่อสงสัยในคำสอนเป็นอาจินต์
เป็นเหตุสิ้นสลายคลายปัญญา
          ความรอบรู้ในปัจจัยหลายสาเหตุ
กำหนดเจตน์รู้เห็นรูปนามหนา
ก็ข้ามพ้นความสงสัยนัยผ่านมา
ดังอุปมาที่ได้แถลงแห่งความจริง.
                 ๙๙๙   แก้วประเสริฐ.   ๙๙๙				
comments powered by Disqus
  • เมกกะ

    10 ธันวาคม 2547 20:05 น. - comment id 386175

    ถึงการข้ามพ้นความสงสัยแล้วนะครับพี่ 
    ติดตามอ่านมาตลอดครับ  แต่ก็ไม่รู้จะเขียนอะไรเม้นท์ดี
    แต่มีคำที่เมกสงสัยครับ ฮิๆๆ  ก็เพราะเมกยังไม่ข้ามพ้นอ่ะจิครับ
    คำว่า  สํเฆ  ครับพี่  เมกไม่คุ้นกับศัพท์นี้เลย  อิอิ
    เมกก็ไม่รู้หรอกครับว่าผิดหรือถูก  แค่สงสัยครับ
    
    ขอให้มีความสุขในธรรมขององค์พระศาสดาครับป๋ม 
    
      
    
    +-*-+  +-*-+-*- ปู๊ชายอารมดี๊ดี -*-+-*-+  +-*-+
    
  • พุด

    10 ธันวาคม 2547 22:22 น. - comment id 386276

    มาซาบซึ้งในรสพระธรรม
    ที่แสนฉ่ำเย็นในดวงจิตเลยค่ะ
    ด้วยคารวะงานงามค่ะ
    พุดขอให้กุศลจิตจงเกิดดวงดอกแก้วนิรมิตใสพร่างกระจ่างในดวงจิตคุณแก้วนะคะ
  • ผู้หญิงไร้เงา

    10 ธันวาคม 2547 22:37 น. - comment id 386292

    แต่งได้ดีค่ะ  ชื่นชมในผลงานนะค่ะ
  • คนเมืองลิง อุรังอุตัง

    10 ธันวาคม 2547 23:43 น. - comment id 386365

    ^_^ มารับธรรมะยามดึกค่ะ และขอแถมด้วยผลบุญได้หรือไม่คะ...สาธุ 
    
    .....สุโข ปุญญสฺส อุจฺจโย...การสะสมบุญทำให้มีความสุข
    
  • ลี่...ชวนมาเยือน

    11 ธันวาคม 2547 10:48 น. - comment id 386420

    ไม่ค่อยถนัดงานเขียนแนวนี้  จึงได้อ่านเพื่อซึมรับคำสอนได้อย่างดีค่ะ...
    
    จะทางโลกทางธรรม  หากสามารถกำหนดจิตรู้ตัวเสมอ
    ลี่ว่า...เราก็สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขนะคะ
    ไม่รู้ว่าเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า...
    .....................................................................................
    
  • namsai

    11 ธันวาคม 2547 12:07 น. - comment id 386495

     
    
    ^___^
    
    
  • แก้วประเสริฐ

    11 ธันวาคม 2547 12:34 น. - comment id 386515

    คุณเมกกะ
    
              ในการกล่าวถึง พระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์นั้น ในภาษาบาลี  ที่พี่จำแนกไว้ได้ถึงการใช้คำได้ 7 ประการด้วยกันและคิดว่าคงจะเกี่ยวกับทำนองไว้ด้วย  ดังนี้
    
    พุทธะ   ธัมมะ สังฆะ
    พุทธา   ธัมมา  สังฆา
    พุทเธ   ธัมเม   สังเฆ
    พุทโธ   ธัมโม   สังโฆ
    พุทธัง   ธัมมัง   สังฆัง
    พุทธัสสะ  ธัมมัสสะ  สังฆัสสะ
    พุทธัญจะ  ธัมมัญจะ  สังฆัญจะ  ฯลฯ
    
       เท่าที่พี่ค้นพบที่ใช้กันมาก  ส่วนคำว่า พุทเธ  หรือสัมพุทเธ  นั้นเป็นบทสำคัญมาก ส่วนใหญ่จะใช้ในการสวดปัดรังควาญ  หรือทำน้ำมนต์เสียส่วนมาก  ฉนั้นคำว่า สํเฆ   หรือสังเฆ  นั้น หมายถึงพระสงฆ์จ้า    ขอบคุณนะครับ
    
                            แก้วประเสริฐ.
  • แก้วประเสริฐ

    11 ธันวาคม 2547 12:39 น. - comment id 386521

    คุณ พุด
    
              ขอบคุณนะครับยอดกวีนักเขียน  ศาสนาพุทธเราเน้นในเรื่องจิต การพ้นทุกข์เป็นสำคัญ  ใครที่ปฏิบัติได้มากน้อยก็ตามย่อมนำความสุขมาให้เสมอ ไม่ต้องดิ้นรน กระวนกระวายใจ  ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อยไม่ต้องไปซื้อไปหาหรือหยิบยืมหรอกครับ ตัวเราย่อมศึกษาค้นคว้ากันเอง เพื่อหยั่งความไม่ประมาทครับ  ปัจฉิมวาจาสุดท้ายของพระพุทธเจ้าเรา จะเน้นถึงความไม่ประมาท ให้พิจารณาขันธ์ห้า โดยเป็น อนิจจัง  ทุกขัง อนัตตา ย่อมไม่คงที่ต้องสลายไปในที่สุดครับ  ขอบคุณนะครับ
    
                         แก้วประเสริฐ.
  • แก้วประเสริฐ

    11 ธันวาคม 2547 12:41 น. - comment id 386525

    คุณ  ผู้หญิงไร้เงา
    
               ขอบคุณครับผมพยายามเน้นคำบาลีและขยายเท่าที่ทำได้ครับ บางครั้งอาจจะผิดพลาดในฉันทลักษณ์ไปบ้างแต่ก็โดยอนุโลมปฏิโลมแต่คงไว้ซึ่งหลักใหญ่ครับ ผิดพลาดอย่างไรต้องขออภัยด้วยครับ  ขอบคุณท่านผู้หญิงด้วยครับ
    
                        แก้วประเสริฐ.
  • แก้วประเสริฐ

    11 ธันวาคม 2547 12:49 น. - comment id 386537

    คุณ คนเมืองลิง
    
               เชิญเลยครับตามสบายบ้านนี้เปิดกว้างให้เพื่อนๆเสมอครับ  ผมกลับดีใจเสียอีกที่เรามาช่วยกันจรรโลงงานด้านนี้หรือด้านอื่นๆฝากไว้ในแผ่นดินของเรา ถึงแม้ว่าจะดีไม่เท่านักกวีรุ่นเก่าๆก็ตามแต่ด้วยความมีน้ำใจของพวกเราอาจจะเป็นบ่อเกิดแก่นักกวีหัดใหม่เพื่อนใหม่และดำรงไว้ในบทกลอนต่างๆครับ  ขอบคุณนะครับ
    
                           แก้วประเสริฐ.
  • แก้วประเสริฐ

    11 ธันวาคม 2547 12:55 น. - comment id 386547

    คุณ  ลี่...ชวนมาเยือน
    
           ผมเองก็ไม่ได้เก่งอะไรแต่มีความตั้งใจไว้ครับถึงได้มาเขียนงานด้านนี้ซึ่งจะมีก็เพียงพระเถระผู้ใหญ่เท่านั้นคงงานกลอนด้านธรรมะไว้แต่ไม่ได้แพร่หลายออกไปเป็นเพียงส่วนน้อย ก็ยังดีนะครับที่งานด้านกลอนได้ผ่านเข้าไปสู่ระบบธรรม  หากเรามาช่วยกันสร้างงานด้านธรรมะให้เป็นบทกลอนเพื่ออนุชนรุ่นหลังจะได้อ่านเข้าใจและจดจำได้ง่ายขึ้นครับ หากจะให้อ่านหนังสือธรรมล้วนๆผมคิดว่าคงจะไม่มีใครอ่านได้หมดหรอกครับ แต่ทว่าหากเป็นบทกลอนซึ่งมีความดึงดูดใจทำนองไพเราะประกอบย่อมผิดแผกกันระหว่างร้อยแก้วกับร้อยกรองอย่างเห็นได้ชัดครับ
    
                    ครับการมีจิตที่ได้รับการฝึกฝนดีแล้วย่อมนำความสุขมาให้ เพราะจิตที่ดีแล้วย่อมมีสติคอยควบคุมอยู่ตลอดเวลากระทำการสิ่งไดก็ระลึกได้ว่าสิ่งไหนดี สิ่งไหนชั่ว ละเว้นได้ครับ  ขอบคุณนะครับ
    
                         แก้วประเสริฐ.
  • แก้วประเสริฐ

    11 ธันวาคม 2547 12:56 น. - comment id 386549

    คุณ  namsai
    
                ขอบคุณเพื่อนมากนะครับ หายไปนานจังเลยผมยังระลึกและคิดถึงเสมอไม่เคยลืมครับ ขอบคุณนะครับ
    
                                แก้วประเสริฐ.
  • ดอกข้าว

    11 ธันวาคม 2547 13:06 น. - comment id 386561

    ประจักษ์ แจ้ง แจ้มรู้
  • ดอกข้าว

    11 ธันวาคม 2547 13:06 น. - comment id 386562

    แจ่มครับ
  • แก้วประเสริฐ

    11 ธันวาคม 2547 20:58 น. - comment id 386795

    คุณ  ดอกข้าว
    
                ครับดีจริงๆครับที่คุณเข้าใจซาบซึ้งในรสพระธรรมผู้หนึ่งครับ ขอผลบุญกุศลจงบังเกิดแก่คุณชั่วกาลนานนะครับ ขอบคุณนะครับ
    
                            แก้วประเสริฐ.
  • น้องกิ๊ฟ

    17 ธันวาคม 2547 23:01 น. - comment id 390879

    ความสืบต่อรูปนามตามวัฏฏะ 
    ที่เคล้าคละบัญญัติมัดสงสาร 
    สันนติปิดบังฝังรอยญาณ 
    ไม่พบพานเหตุปัจจัยในเชื่อมโยง 
    
    หารู้ในเล่ห์กลเรื่องคนสัตว์ 
    ไม่แจ้งชัดดุจม่านควันโขมง 
    คลุมเครือสิ่งภายในเหมือนคลุมโปง 
    เป็นกลุ่มก้อนซ่อนโยงเป็นเนื้อเดียว 
    
    เหลียวพินิจพิจารณาปัญญาทราบ 
    รูปและนามมีเหตุฉาบทุกส่วนเสี้ยว 
    มีปัจจัยอุปการะคละกงเกลียว 
    พ้นกังขาโดดเดี่ยวความหลงคลาย 
    
    นำงานที่พี่ดอกแก้วตอบคุณแก้วประเสริฐไว้ที่บ้านโน้นมาฝากค่ะ
    
    ส่วนน้องกิ๊ฟก็มาอ่านอย่างเดียว...แหะ..แหะ
    
  • แก้วประเสริฐ

    30 ธันวาคม 2547 10:24 น. - comment id 397713

    คุณ  น้องกิ๊ฟ
    
               ครับขอบคุณมากครับ ผมเองได้แวะไปประจำครับ  เพียงมาเยี่ยมก็แสนจะดีใจแล้วล่ะครับ 
    
                             แก้วประเสริฐ.

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน