กาฝาก (กลอนผิดพลาด ที่อยากให้ทุกคนอ่าน)

ม้าก้านกล้วย

เจ้ากาฝากหยั่งรากบนต้นโศก(1)
เจ้าลวงโลกลวงว่าผกาสวย
มีลูกรสหวานหอมยอมอำนวย
ให้กาช่วยกินลูกกล้ามาปลูกฝัง(2)
มาแพร่พันธุ์ชันช่อบนกอก้าน
หาอาหารจากน้ำเลี้ยงลำเลียงหลั่ง(3)
แซกไซร้ซอนชอนไชในต้นดั่ง(3)
แฝงฝากฝังเร้นเช่นเป็นพุ่มพวย(4)
ต้นตั้งตาแสวงหาเผื่ออาหาร
เพราะต้องการอยู่รอดไว้ใร้ใดช่วย(5)
เพิ่มภาระให้แล้วยังใร้ไม่อำนวย(6)
อ่อนระทวยทอดร่างลงกลางดิน
จนไม้โศกสิ้นร่างลงกลางป่า(7)
ด้วยหนักเหลือภาระจึงสูญสิ้น(8)
ไม่อาจหาอาหารพอต่อชีวิน(9)
เพราะกาฝากฝากกากินจนสิ้นใจ
กาฝากยังชูช่อต่อสายพันธุ์
ให้กานั้นกินลูกไปปลูกใหม่(10)
ไม่มีแม้คำอำลาคำอาลัย(11)
ต้นไม้ใหญ่ที่ตายไป เพราะใครเอย(12)
ถือเป็นวัฏจักรของพงพะ- (13)
นาที่จะสรรหามาเฉลย  (14)
เอาเปรียบกันเกินกว่าช่างละเลย(15)
เมื่อเกินเลยเกินไปนักไม่รักดี(16)

(ม้าก้านกล้วย)
กลอนนี้อาจอ่านแล้วขัด อรรถรส
เพราะลงบทบังคับจับให้คิด
สิบหกแห่งสิบหกห้ามตามแต่ผิด
จึงลิขิตบอกไว้ใช้ย้ำเตือน
ใช่จะอวดสู่รู้เป็นครูบา
แต่ตั้งตาจารึกนึกถึงเพื่อน
ไว้อิงอ้างระหว่างเขียนเพียรไว้เตือน
ดังเสมือนแทนไมตรีมีต่อกัน
(ม้าก้านกล้วย)
กลอนที่เขียนไว้นี้ พยายามทำให้ผิด สิบหกจุด ซึ่งต้องตรงตามกติกาต่าง ๆ จากหลากครู หลายอาจารย์ ทั้งนี้ เพื่อตราไว้ให้เป็นหลักฐานในการค้นคว้า สืบหา ดังนี้ 
1.กฎ ติดขัด คือ ในกลอน บังคับไม่ให้ ใช้คำตาย ส่งสัมผัสใน  (คำว่าฝาก และ ราก) ก่อนจะใช้คำตาย ในคำที่ แปด (คำว่า โศก) เพราะเวลาขับเอื้อน จะสะดุดเป็นสองขยักในท่อนเดียว ฟังดูไม่ไพเราะ
2. กฎ สะอึก คือ ในคำกลางท่อนที่สอง(คำว่า ลูก) มาสัมผัสกับ คำกลางท่อนที่สาม(คำว่าปลูก) ทั้งทั้งที่ มีสัมผัสในอยู่แล้ว (คำว่า กล้า และ มา) 
3. กฏ สัมผัสเทียม ในการส่งสัมผัสมารับ และ รอง จะห้ามให้เสียงเดียวกัน (หลั่ง และ ดั่ง) เพราะจะทำให้เสียงสองเสียง เท่าเทียมกัน ไม่ไพเราะด้วยประการทั้งปวง อีกทั้ง ในสัมผัสรอง (คำว่า ดั่ง) ห้ามใช้เสียงเอก เวลาขับ จะ ต่อเสียงไม่ได้
4. กฎ สัมผัสยอกย้อน ในการส่งสัมผัสคำท้ายของวรรคส่ง  (คำว่า พวย) ห้ามซ้ำสัมผัสกับบทก่อนหน้า(คำว่า สวย และ อำนวย) ถึงแม้ว่า บทก่อนหน้า จะเป็นบทแรก ที่ไม่ได้รับและรองจากบทใดมาก่อน ก็ตาม 
5. กฎ สัมผัสซ้ำ คำว่า ไว้ และ ไร้ ใด ไม่สามารถส่งสัมผัสใน ทั้งหลัก ทั้งรอง พร้อมกันได้ (หากท่อนส่งมีสองคำ แล้วส่งมาโดยมีคำรับ 1 คำ ใช้ได้ เช่น คำว่า เร้นเช่น มาสัมผัสกับคำว่า เป็น พุ่มพวย)
6. คำเกิน กลอนท่อนนี้ มีสิบคำ ทั้ง ๆ ที่ไม่จำเป็น แล้วก็ จับคู่ทบ หรือ คู่เทียบ มาจัดกลุ่มให้ คำว่า ให้ ไม่ได้เลย ตามจริง กลอนแปด สามารถมีคำได้ถึง สิบเสียง แต่ เสียงที่เพิ่มมักจะเป็นแค่พยางค์ในคำ (คำเดียวมีสองเสียง) ไม่ใช่คำโดด 
7. กฎ สัมผัสดัก ท่อนสดับ ห้ามเอาคำที่เป็นสัมผัสส่ง ที่ส่งข้ามวรรค (คำว่า ดิน) มาใช้โดยเด็ดขาด (คำว่าสิ้น เป็นสัมผัสดัก)
8. ไร้สัมผัส แม้คำว่า ภา แม้จะเสียงคล้ายกัน(กับคำว่า ป่า) แต่ไม่ใช่ตำแหน่งสัมผัสนอก และไม่ส่งสัมผัสในให้ ระ ฉะนั้น วรรคนี้ ไม่มีสัมผัสเลย
9. กฎ สัมผัสซ้อน ในวรรครอง จะไม่ให้ใช้สัมผัสนอกวรรค เหมือนวรรครับ ( คำว่าป่า ที่จะมาสัมผัสกับคำว่า ภา แต่ไม่สัมผัส กลับลงมาสัมผัสกับคำว่า หา)
10. กฎ สัมผัสสะท้อน คำว่า ใจ ของวรรคส่ง ในท่อนที่แล้ว จะต้องส่งมาสัมผัสกับ ตำแหน่งท้าย ของวรรครับ (คำว่า ใหม่) แต่ วรรคนี้ มีคำว่า ให้ มาสะท้อนสัมผัสเสียก่อน
11. สัมผัสเลือน คำว่าใจ เป็นสระไอ (ไม้มาลัย) ที่ส่งมาสัมผัสกับ ใหม่ เป็นสระเปิด ไม่สามารถเอาสระ อะ (ไม้หันอากาศ) ที่มีตัวสะกด (คำว่า ลัย) ไปเป็นสัมผัสได้ (และ วรรคนี้ ก็ มี คำว่า ไม่ มาสะท้อนซ้ำหนักเข้าไปอีก )
 12. เอย ในท่อนไม่จบ เรื่องนี้ สำคัญมาก เพราะคำว่า เอย แปลว่า จบแล้ว ไม่สามารถ แต่งต่อโดยใช้สำผัสส่งได้อีก ถ้าจะแต่ง ต้องแต่งบทใหม่ ไม่ใช่แต่งต่อแล้วหาคำมาสัมผัสกับคำว่า เอย (เรื่องนี้ นักกลอน ถือที่สุด ใครแต่งแบบนี้ เขาว่า กลอนนอกครู)
13. กฎ ยัติภังค์ การส่งคำแต่ละวรรค จะไม่ให้ คำ ที่มีหลายพยางค์ ขาดจากกัน เช่นนี้ (คำว่า พนา เป็นคำสองพยางค์ ซึ่ง พะ และ นา ไม่มีความหมายไปในทางเดียวกับคำเดิม เพราะฉะนั้น แยกกันมิได้แต่ถ้าแยกคำแล้ว ยังพอจะได้ความหมายเดิม ถือว่า อนุโลม เช่น โดดเดี่ยว เดียวดาย เช่นนี้ แยกได้ )
14. กฎ ละล่ำละลัก ในการรับสัมผัส รับและรอง จะไม่ใช้ คำเดียวกันหรือคล้ายกันมาเปลี่ยนเสียง (เฉลย และ เลย ถือเป็นคำเขียนคล้ายคลึงกัน) 
15. กฎ สัมผัสหลอน เสียงยาว (คำว่า กว่า เป็นสระ อา ) ไม่สามารถเอามาสัมผัสกับเสียงสั้นได้ (คำว่า ละ เป็นสระ อะ ) 
16. กฎ จนแต้ม เอาคำ คำเดียวกัน มาใช้สัมผัส ต่อวรรคเลย ไม่ได้โดยเด็ดขาด คำว่า ละเลย กับคำว่า เกินเลย ล้วนแต่มีคำว่า เลย ซึ่งเป็นคำเดียวกัน ถ้า ข้ามสักวรรค ยังพออนุโลม				
comments powered by Disqus
  • อัลมิตรา

    13 มกราคม 2546 11:03 น. - comment id 104564

    ขอบคุณค่ะ คุณม้าก้านกล้วย ที่ได้มอบสิ่งที่มีประโยชน์ให้กับเพื่อนๆ .. เสียงกลอนนับว่ามีความสำคัญมาก....
    
    ิัby request ได้ป่าวคะ งั้นขอเสียงกลอนแค่หนึ่งบทพอนะคะ
    
    วรรคสดับ วรรครับ วรรครอง วรรคส่ง....เสียงกลอนของกลอนสุภาพค่ะ ขอตัวอย่างด้วยค่ะ
    
    ขอบคุณค่ะ
  • idaho

    13 มกราคม 2546 12:25 น. - comment id 104571

    สงสัยต้องอีกนานกว่าจะรู้ว่าเขียนผิดถูกต่างกันอย่างไร  ได้ความรู้ดี
  • J&J

    13 มกราคม 2546 13:06 น. - comment id 104581

    พี่ม้าฯเป้นนักกลอนที่ดีจริงๆเลยค่ะ เอาสาระมาฝากเราแบบนี้ขอชื่นชมค่ะ
  • แนทตี้

    13 มกราคม 2546 13:32 น. - comment id 104588

    ^*^
      ^*^
            ^*^.....มาแอบลงประชาพิจารณ์จ้า...^*^
                1 เสียง เปงคนที่ 4 เหลืออีก 12 เสียง
                       ญัตตินี้ก้อจะผ่านแล้ว อิอิ
            เก่งจังเลย..เฮ้อ สงสารตัวเองจังนั่งปลง
           ^*^..................^____^....................^*^
    
  • แม่มดน้อยค่ะ

    13 มกราคม 2546 14:39 น. - comment id 104606

    เก่งจังเลยค่ะ. . 
    
    =^__^=
  • ผีเสื้อปีกบางฯ

    13 มกราคม 2546 14:55 น. - comment id 104611

    ขอบคุณค่ะพี่ม้าฯ
    ขอบคุณสำหรับวิทยาทานที่มีให้มาตลอด
    วันนี้จาวตาลสอบวันแรกค่ะ เพิ่งสอบเสร็จ
    โล่งไปวันนึง.....อิอิอิ.....ได้หยุด 3 วัน
    สอบอีกทีก็วันศุกร์
  • เชษฐภัทร วิสัยจร

    13 มกราคม 2546 20:17 น. - comment id 104652

    น่าสนใจดีครับ
    
    ขออนุญาตเก็บไว้ศึกษา
  • ต่อง (ต้อง) ksg

    13 มกราคม 2546 20:24 น. - comment id 104653

    
      ขอขอบคุณมากครับ  ..  
    
      รู้อะไรมากขึ้นเยอะ
    
    
  • ร้อยกรอง

    13 มกราคม 2546 20:33 น. - comment id 104656

    ..ขอบคุณมากค่ะ ที่นำสาระการแต่งกลอนมาฝากมีประโยชน์มากค่ะ..^-^
  • ทะเลใจ

    13 มกราคม 2546 22:10 น. - comment id 104686

    เก่งเนอะ เข้าใจหากลอนเปรียบเทียบ อ่านแล้วเข้าใจง่าย ได้ความรู้ใหม่ด้วย
  • โคลอน

    13 มกราคม 2546 22:16 น. - comment id 104689

    ขอบคุณมากเลยค่ะ...สำหรับข้อคิดและคำแนะนำดีๆที่มีคุณค่าแบบนี้
    
    (o*^___^*o)
    
  • ใบบอนแก้ว

    13 มกราคม 2546 23:32 น. - comment id 104699

    ....หากจะผิดผิดได้ในบางครั้ง..
    จะเอยเอ่ยเอ้ยมั่งจะฟังไหม..
    อรรถรสอดถามเลยเคยตั้งใจ
    ทำทำไมเหมือนที่ท้า..ม้าก้านกล้วย...ฯ
    
    ....นี่แหละครับอรรถรสบทกลอนไทย...สิ่งที่ว่ามาบ้างอย่าง..บางวรรค...ไม่ผิดเสมอไป...หากใครเขียนได้ดีจะเป็นกลอนกลบทไป..ซึ่งผมคนหนึ่งล่ะที่จะขอทักท้วงบ้าง..หากเขียนกลอนธรรมดา...ผมยอมรับครับ...ผิดกฏของหลักการเขียนคำประพันธ์.. ดั่งอย่างตัวที่ผมเขียนมาข้างบน..แต่ละวรรคจะเป็นตัวอย่างของกลอนในรูปแบบหนึ่ง..ซึ่งเรียกว่ากลบท..และไม่ใช่มีเฉพาะกลอนเท่านั้น...ผมว่ากฏบางกฏก็ไม่ใช่ผิดเสมอไป...หากเราใช้ให้เป็นประโยชน์...จริงมั้ยครับ..คุณม้าก้านกล้วย...
                          ....สวัสดีครับ....
  • windsaint

    14 มกราคม 2546 07:48 น. - comment id 104730

    งั้นเราก็ต้องศึกษามันต่อปาย อิอิ
    
    เฮ้อ ผิดบ่อยแฮะ
  • ติตรากร

    14 มกราคม 2546 10:23 น. - comment id 104748

    คุณม้าก้านกล้วยให้ความรู้ในแนวทางที่สุขุม และเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ขอรับความรู้นี้ด้วยความคารวะและนับถือจากใจจริงครับ
  • ตุ๊กตาไล่เหงา

    14 มกราคม 2546 13:23 น. - comment id 104786

    เพิ่งรู้นะเนี่ย.....
    ที่ทำมาก็ผิดหมดสิครับงานนี้...เศร้าจัง
    ขอบคุณครับ....ที่ให้ความรู้
    
    ..ผู้ชี้โทษคือผู้บอกขุมทรัพย์...พระท่านว่า..
  • แมวบิน

    17 มกราคม 2546 17:42 น. - comment id 105164

    ได้ความรู้อีกเยอะเลยครับ
    ขอบคุณพี่ม้าด้วยคนครับ
  • ..คนกันเอง..

    17 กุมภาพันธ์ 2546 20:06 น. - comment id 109441

    ขอเปนเสียงที่ 17 ได้ไม๊คับ..อิๆ..
  • ใจปลายทาง

    20 เมษายน 2546 08:01 น. - comment id 128618

    ขอบคุณค่ะ  ขออนุญาติเก็บไว้เป็นครูค่ะ

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน