** อำลาอาลัย ** สลักฤทัยฝากไว้ในห้วงจิต เสมือนลิขิตหฤทัยให้ผ่องใส ก่อนจากมาฟ้าผ่องลำยองใย แสนอำไพเจิดฟ้าคราก่อนกาล เสียงคีร์เคาะสัญญาณสั่นระริก สำเนียงพลิกผันผวนล้วนประสาน ต้องเรียงร้อยสูงต่ำย้ำดวงมาน สู่ตำนานแปลถ้อยร้อยอักษรา คือซิกแนลเก่าก่อนอันย้อนยุค เข้าประยุกต์เป็นเสียงเยี่ยงภาษา ถอดเป็นคำสัญญาณที่ผ่านมา เพื่อนำพาข่าวสารผ่านผองชน เขาเรียกว่าโทรเลขเอนกประสงค์ ผ่านดำรงตรึกตรองกรองสับสน รวดเร็วกว่าจดหมายไม่ประปน ใฝ่ปองระคนก้าวหน้าฟ้าอำไพ ครั้นต่อมาโลกาวิวัฒน์เปลี่ยน โทรพิมพ์เวียนสื่อสารผ่านสดใส ทั้งเทเล็กซ์แพร่หลายสิ่งไฉไล สู่เปลี่ยนไปโทรภาพฉาบเรืองรอง รุดก้าวหน้าดาวเทียมที่เยี่ยมยุทธ์ มือถือผุดสัญญาณสรรค์สนอง ผ่านโลกไปโทรเลขไร้คนมอง สิ่งเคยปองเวียนวนระคนกลาย หวนคำนึงตรึกไปย้อนในอดีต ล้วนผันสถิตย์ผลิตเก่งเหลือหลาย เป็นใหญ่โตมโหฬารพลันละลาย จวบสิ้นสลายสถานเก่าเฝ้าโรยลา สามสิบเมษานี้เป็นที่กำหนด โทรเลขกลางหมดเวลามารักษา เคยสื่อสารรุ่งเรืองประเทืองมา สิ้นวาสนาสนองผองชาวไทย น้ำตารินหยาดล่วงล้นทรวงอก เคยวิตกสิ่งสล้างกลางสดใส สถานที่เก่าฝากชีวิตจิตอำไพ ผ่านวิไลสู่เกษียณจิตเวียนวน ต่อนี้ไปโทรเลขกลางไร้ชื่อแล้ว เสียงเจื่อนแจ้วสัญญาณผ่านสับสน ประวัติศาสตร์สื่อสารผ่านผองชน สิ้นสุดจนหมดสภาพตราบนิรันดร์. *** แก้วประเสริฐ. ***
18 เมษายน 2551 20:08 น. - comment id 840356
แด่ คุณแก้วประเสริฐ เป็นไปตามกฎ ไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลงค่ะ ในปัจฉิมวัยของคุณแก้วประเสริฐขอให้ มีสุขภาพแข็งแรง และแต่งกลอนเพราะเพราะ ให้น้องๆอ่านค่ะ
18 เมษายน 2551 20:14 น. - comment id 840359
สวัสดีค่ะครูแก้ว รันเคยได้รับโทรเลข จากพี่ชายสองครั้ง ในชวิต ยังจำได้ ข้อความสั้นๆ ซองสีเขียวอ่อน ยังจำได้ดีค่ะ เก็บไว้ในความทรงจำนะค่ะ นับถือเสมอค่ะ
18 เมษายน 2551 20:40 น. - comment id 840368
สวัสดีค่ะ คุณครูแก้ว โล่งไปค่ะ อ่านชื่อกลอนใจหาย ที่แท้เรื่องโทรเลขเองค่ะ คุณครูแก้วคงสบายดีนะคะ
18 เมษายน 2551 21:44 น. - comment id 840414
คุณลุงแก้วคะ..น่าทึ่งจัง
18 เมษายน 2551 22:15 น. - comment id 840437
ลุงแก้วครับ รับหลานคนนี้สักคน น่ะครับ อ้อ ขอยืนไว้อาลัย ด้วยคนครับ
18 เมษายน 2551 22:50 น. - comment id 840449
ผ่านมาแล้ว ผ่านไป แต่หัวใจเรายัง..คิดถึง สวัสดีค่ะ คุณแก้วประเสริฐ
18 เมษายน 2551 23:07 น. - comment id 840459
สวัสดีค่ะ คุณครูแก้ว มาอ่านกลอนไพเราะๆตามเคยค่ะ คุณครูสบายดีนะคะ
19 เมษายน 2551 09:59 น. - comment id 840548
สวัสดีค่ะ ลุงแก้ว... โลกเปลี่ยนไปแล้วค่ะลุง... สบายดีนะคะ..
19 เมษายน 2551 11:44 น. - comment id 840583
หมดยุคเก็บไว้เป็นตำนาน เพื่อนกล่าวขานกาลก่อนเคยมีใช้ แต่ตอนนี้กาลเปลี่ยนหมุนเวียนไป ของชิ้นใหม่ในยุคต้องทันการณ์ เก็บไว้เป็นอดีต แต่ไม่แน่ว่าอาจมีการนำมาใช้อีก
19 เมษายน 2551 12:12 น. - comment id 840607
สวัสดีค่ะคุณครูแก้วประเสริฐ ทุกสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ... คำนี้ยังคงเป็นสิ่งที่ยืนยง อากาศร้อนๆ แบบนี้ ครูดูแลตัวเองด้วยนะคะ ดื่มน้ำเยอะๆ จะได้คลายความร้อนในตัวให้น้อยลงด้วยค่ะจิตรำพัน
19 เมษายน 2551 12:24 น. - comment id 840617
คุณ ไหมแก้วสีฟ้าคราม ครับมันเป็นกฏไตรลักษณ์ในทุกๆสิ่งทุกๆอย่าง ที่ผมเขียนไว้นี้เพื่อจะได้รำลึกไว้เป็นกลอนแปด เพราะตั้งแต่ผมเรียนหนังสือจากโรงเรียนกรมไปรษณีย์ โทรเลขจนจบ เพราะต้องการทำงานเป็นหลักแหล่ง ด้วยการเรียนสมัยก่อนเรียน 2 ปีก็ฝึกงานและบรรจุ เป็นข้าราชการในกรมไปรษณีย์โทรเลข ชั้นจัตวา ระดับ 2 เงินเดือน 550 บาท สมัยนั้นสามารถซื้อ ทองได้ บาทกว่าๆ จำได้เดือนแรกผมให้เงินพ่อ แม่ก่อนแล้วไปซื้อทอง ซึ่งรวมค่ากำเหน็จแล้ว ราคา 450 บาท สมัยนั้นค่าของเงินสูงมากครับ การเปลี่ยนแปลงไปตามยุคก้าวหน้าเรื่อยๆจน ถึงปัจจุบัน การทำงานนั้นสมัยก่อนทำงานด้วย สัญญาณ "มอร์ส" เกือบหมดและอาจารย์สมาน บุญญรัตน์พันธุ์ ได้ดัดแปลงเครื่องพิมพ์ดีดให้ มาเป็นเครื่องในการใช้รับส่งโทรเลข ในสมัย นั้นเรียกว่า "ไอ้โม่ง" ขายความคิดอ่านนี้ให้ รัฐบาลไทยแต่ไม่ยอมรับจึงนำไปขายยังต่าง ประเทศได้ ใช้มาเกือบทุกๆประเทศ ความคิด อ่านนี้ทำให้คนไทยภาคภูมิใจมากครับ เมื่อ นั้นก็เริ่มต้นเปลี่ยนยุคใหม่ หันมาใช้ไอ้โม่งหรือ ที่เรียกกันว่า "โทรพิมพ์" การทำงานจะปรุเป็น แถบก่อน คิดว่าคุณทันแน่นอน ที่พวกรถไฟ ใช้อยู่ โดยเก็บข้อมูลเป็นแถบแล้วป้อนเข้าเครื่อง ส่ง ไปยังปลายทางทางเครื่องรับ สมัยนั้นการ เรียนจะเน้นทางสัญญาณมอร์สเป็นหลักสำคัญ แม้แต่การสอบเลื่อนขั้นก็นำเอาวิชานี้เป็นข้อสอบ ด้วยครับ เราเรียกว่า "ซิกแนล" คือมี คันเคาะ ที่เรียกว่า "คีร์" เป็นตั้วเคาะส่งไปยังปลายทาง เครื่องรับเรียกว่า "เซาร์เดอร์" อยู่ภายในโกร่ง ไม้เพื่อมิให้เสียงกระจายไปให้เฉพาะคนรับฟัง เท่านั้น คนจะนั่งทำงานเครื่องสัญญาณมอร์สได้ นั้นจะต้องเป็นผู้ชำนาญและสามารถแยกจิตออก เป็นสองได้หมายความว่า หูฟังเสียง ใจแปล มือ เขียนข้อความพร้อมกัน ผมจำได้ว่าสมัยทำงาน นั้นสามารถอมคำสัญญาณได้แยะ ทำงานไปสามารถ คุยกันได้ครับ เรียกว่าเสียงนั้นจะรัวสั่นระริก ก้องห้องทำงานกันไปหมดครับ ซึ่งทางกองทัพเรือ ยังให้เรียนรู้สัญญาณมอร์สประกอบด้วยยังอยู่ ครับแม้นจะมีวิทยุทันสมัยก็ตามยังต้องเรียนอยู่ หากจำไม่ผิดนะครับ เรียกว่าต้องอาศัยความ ชำนาญประกอบอย่างมาก เพราะคนเคาะสัญญาณ ต่างคนต่างเคาะบางครั้งสัญญาณเกิน เราเรียกว่า ขีดและจุดตามตำราที่กำหนดไว้ นี่แหละครับ คือการทำงานสมัยก่อนของโทรเลข เพราะเครื่อง โทรพิมพ์ราคาแพงประกอบที่ญี่ปุ่นนำมาใช้ ในเมืองไทยไม่กี่เครื่องหรอกครับ นอกนั้นใช้ สัญญาณมอร์สเป็นหลักใหญ่ คนที่จะเข้ามาทำ งานที่ทำการโทรเลขกลางได้นั้นคือบุคคลที่สำเร็จ การศึกษาจากโรงเรียนกรมไปรษณีย์โทรเลข นับเป็นร้อยคนแต่จะเข้ามาทำงานที่นี่ได้ต้องมี คะแนนลำดับจากที่ 1-10แต่ไม่เกิน 30คนเท่านั้น ถึงจะถูกคัดมาทำงานที่ทำการโทรเลขกลางได้ พูดถึงโทรเลขกลาง เป็นศูนย์การรับส่งโทรเลข ทั่งประเทศมีคนนับเป็นร้อยๆคนครับ นี่ผมย้อน อดีตเขียนไว้ที่นี่เพื่อให้คนสมัยใหม่รับรู้ว่าการ ทำงานด้านโทรเลขยากแค่ไหน การรับส่งสัญญาณ มอร์สนั้นต้องรวมถึงภาษาไทยและต่างประเทศด้วย ผมภาคภูมิใจมากในการรู้สัญญาณมอร์สมาก เพราะน้อยคนจะได้เรียนรู้ แม้ปัจจุบันนี้ผมเอง ก็ยังสามารถรับส่งได้อยู่ครับ กาลเวลาเปลี่ยน แปลงไปเรื่อยๆดังกลอนที่ผมเขียนมา อ้อลืมไป หากจำไม่ผิด สัญญาณมอร์สนี้มาจากสัญญาณควัน ที่คนสมัยก่อนคิดค้น คือนาย มอร์ส ชาวอเมริกัน ครับ เพื่อกันลืมและให้คนสมัยใหม่ได้รับรู้ จึงได้อธิบายคร่าวๆครับ ขอบคุณที่ห่วงใยครับ แก้วประเสริฐ.
19 เมษายน 2551 12:31 น. - comment id 840622
คุณ กชมนวรรณ ที่บอกมาผมเข้าใจว่าเป็นโทรเลขจากเครื่องโทรพิมพ์ ครับ หากเป็นโทรเลขที่รับจากสัญาณมอร์สแบบพิมพ์ มีสองชนิด หากเป็นแบบพิมพ์เขียวก็จะส่งถึงผู้รับ โทรเลข หากเป็นแบบพิมพ์สีแดงจะเป็นโทรเลขผ่าน ใช้เป็นที่สังเกตุของเจ้าหน้าที่ครับ หากเป็นกระดาษ สีขาวหมึกสีดำคือทางเครื่องโทรพิมพ์ครับ หากเป็นลายมือเขียน เป็นโทรเลขจาก เครื่องสัญญาณมอร์สครับ ตอนนี้ไม่มี แล้วกระมังนับแต่วันที่ 30 เมษายนพศ.2551นี้ ควรเก็บไว้เป็นที่ระลึกต่อไปหายากจะไม่มีอีก แล้วครับ รักเสมอ แก้วประเสริฐ.
19 เมษายน 2551 12:37 น. - comment id 840625
คุณ ข่ออักษราลี สวัสดีจ้า ที่เขียนไว้เพื่ออำลาอาลัยต่องานวิชาชีพ ของครู ได้ถูกยุบไปเสียแล้ว ผมทำงานตั้งแต่สัญญาณ มอร์สเป็นหลักครับ อ้อลืม ขอเสริมอีกนิดสัญาณมอร์ส แบ่งเป็นสองชนิด คือ สัญญาณซิกแนลและสัญญาณ วิทยุ ทั้งหมดคือการรับส่งโทรเลขทั้งสิ้นแยกเป็น ในประเทศและต่างประเทศครับ ในประเทศใช้ สัญญาณซิกแนล ต่างประเทศใช้สัญญาณวิทยุ การรับส่งเหมือนกัน เพียงแต่ความถี่นั้นสัญญาณ ซิกแนลรวดเร็วกว่า ส่วนสัญญาณวิทยุจะช้ากว่า คือเรียกว่า สัญญาณยึดยาวครับ รักเสมอ แก้วประเสริฐ.
19 เมษายน 2551 12:37 น. - comment id 840626
เหลือเป็นความทรงจำอันล้ำค่า.. ให้ลูกหลานเราได้ทึ่งในความสามารถของบรรพชน
19 เมษายน 2551 12:39 น. - comment id 840629
คุณ พิมญดา ครับน่าทึ่งจริงๆครับ นำเสียงมาเป็นอักษรไป ยังปวงชนครับ ขอบคุณครับ แก้วประเสริฐ.
19 เมษายน 2551 12:41 น. - comment id 840632
19 เมษายน 2551 12:44 น. - comment id 840638
คุณ ไร้อันดับ ยินดีมากครับที่ให้ความรักใคร่แก่ผม ผม ไม่ขัดข้องหรอกครับกับดีใจและภูมิใจมากครับ หากมีอะไรให้ผมช่วยเกี่ยวกับกลอนถามมาได้ เลยครับ ขอบคุณที่ร่วมอาลัยในเหตุการณ์ประวัติ ศาสตร์นี้ไว้ครับ ขอบคุณ แก้วประเสริฐ.
19 เมษายน 2551 12:57 น. - comment id 840642
คุณ โอเลี้ยง สวัสดีครับ ใช่แล้วครับถึงเป็นอดีตไปแต่ สำหรับผมเป็นอดีตแห่งความภาคภูมิใจครับ ขอบคุณ แก้วประเสริฐ.
19 เมษายน 2551 13:01 น. - comment id 840645
คุณ การัณยภาส สวัสดีจ้า มันคืออดีตของผมครับได้ข่าวมาก็ จึงเขียนไว้เพื่อนึกถึงจะได้อ่านครับ ขอบคุณใน ความห่วงใยครับ แก้วประเสริฐ.
19 เมษายน 2551 13:20 น. - comment id 840646
คุณ ครูพิม ใช่แล้วครับย่อมเปลี่ยนแปลงตามโลกาภิวัฒน์ รุดหน้าไปเรื่อยๆ แต่นี่เป็นสิ่งหนึ่งต้องจารึกไว้ใน ประวัติศาสตร์ชาติไทย เพราะโทรเลขนี่ก่อกำเนิด ในสมัย รัชกาลที่ 5 จวบจนถึงวันที่ 30 เมษายนศกนี้ จะถึงกาลอวสาน อันที่จริงผมค้นหาเครื่องมือสัญญาณ มอร์สพร้อมอุปกรณ์ไม่พบนั้นจะลงไว้ให้ชม ได้เพียง แค่เครื่องโทรพิมพ์ยุคใหม่ครับ แต่ก็จบสิ้นแล้ว ขอบคุณในความห่วงใยครับ แก้วประเสริฐ.
19 เมษายน 2551 13:23 น. - comment id 840647
คุณ ไหมไทย ครับคงจะจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทยเกี่ยว กับโทรเลขครับ การนำมาใช้ทางทหารยังรักษาไว้ ครับในเรื่องสัญญาณ "มอร์ส"ครับ ซึ่งจำเป็นอย่าง ยิ่งครับ ขอบคุณ แก้วประเสริฐ.
19 เมษายน 2551 13:25 น. - comment id 840648
คุณ จิตรำพัน สวัสดีจ้าศิษย์รัก ทุกอย่างย่อมเปลี่ยนไปตาม พจนะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสมอ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และ ก็ดับไป ครับ ขอบใจมากจ้า แก้วประเสริฐ.
19 เมษายน 2551 13:32 น. - comment id 840651
คุณ ผู้หญิงมือสอง ครับคงเหลือไว้แค่ความทรงจำเท่านั้นเอง ต่อไปคนจะลืมและทราบได้จากการบันทึกเกี่ยวกับ โทรเลขที่เริ่มก่อตั้งในสมัย ร.5 และมาสิ้นสุดลง ยัง ดีนะครับที่คุณยังสามารถนำไปเล่าขานให้ลูกหลาน ได้รับฟังไว้ และภูมิใจที่ยังทันเหตุการณ์ที่สิ้นสุดลง และในวันที่ 30 เมษายน พศ.2551 นี้จะมีการจัดงาน อำลาการโทรเลขไทย ที่ห้องโถง ตึกไปรษณีย์ไทยเก่า ที่บางรัก ครับ หากพนักงานโทรเลชกลางท่าน ได้เผื่อผ่านมาอ่านขอเชิญไปร่วมงานได้ครับ รวมถึงนักกลอนทุกๆท่านด้วยนะครับขอเชิญครับ ซึ่งผมไม่ได้เป็นเจ้าภาพหรอก หากต้องการจะ พบปะสังสรรค์กับ "แก้วประเสริฐ" ซึ่งไม่ค่อยจะ ไปงานใดๆบ่อยนัก ก็จะได้พบกันนะครับ ที่ ห้องโถงใหญ่ตึกทำการครับ ขอเชิญครับ ขอโฆษณา มานะที่นี้ด้วยครับ และสำหรับคนที่ยังไม่เคยไป สถานที่แห่งนี้ก็จะเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ซึ่ง ก่อตั้งมานานนับร้อยปีได้ครับ ของรัชกาลที่ 5 ด้วยครับเป็นรูปแสตมป์หล่อด้วยปูนงดงามมาก ครับ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ไว้ให้อนุชนรุ่นหลัง ได้ศึกษาครับ ขอเชิญครับ ขอบคุณ แก้วประเสริฐ.
19 เมษายน 2551 13:39 น. - comment id 840653
dear silver snitch This is past time telegraph of thailand and close in 30 april miss & take care you kaewprasert
19 เมษายน 2551 17:27 น. - comment id 840697
ได้ความรู้เพียบเลยครับคุณลุงแก้ว ที่อธิบายมาบางอย่างเห็นเพิ่งเคยได้ยินนี่แระ.. ขอบคุณที่มาย้ำความทรงจำเก่าๆ..ครับ
19 เมษายน 2551 21:47 น. - comment id 840814
คุณ อรุณสุข ครับผมเองก็เขียนโดยการทำงานเป็นปัจจัย แหละครับ เพราะต่อไปจะไม่มีใครทราบนอกจาก จะไปอ่านประวัติโทรเลขเท่านั้น การเรียนสัญญาณ มอร์สนั้น เขาอาศัยขีดและจุดเป็นการฟังเสียงสัญญาณ ครับหากเคาะนานหน่อยก็เป็นขีดหากเคาะเบาๆสั้นๆ ก็เป็นจุด เช่น ก. นั้นคือ ขีด ขีด จุด ครับคืออักษร ตัวก.เป็นต้นครับ หรือภาษาอังกฤษก็เหมือนกัน เช่นตัว A นั้น คือ จุดและขีดครับคืออักษร จน ครบพยัญชนะทั้งหมด รวมทั้งสระทั้งหมด ด้วยนะครับเป็นสัญญาณทั้งสิ้น แต่ของไทยเรานั้นเขาจะ ใช้ตัวแทน เช่น ตัว ด. หรือตัว ฎ แทนกันได้ครับ ทำนองเดียวกัน นี่คือลักษณะของสัญญาณมอร์ส คนรับสัญญาณต้องแปลให้ถูกต้องส่วนใหญ่จะใช้ วิธีการอมคำนั้นก่อนแล้วค่อยเขียนตัวอักษร ต่อไปในวันข้างหน้าการทำงานนั้นจะไม่ค่อย มีใครรู้อีกแล้ว หากเขาเขียนประวัติก็คงไม่ อธิบายให้ทราบ ขอบคุณมากครับ แก้วประเสริฐ.
28 เมษายน 2551 14:42 น. - comment id 844077
ไปส่งเป็นที่ระลึกได้นะที่ ที่ไปรษณีย์สาขาซีคอนสแควร์คะ / ไปส่งมาแล้วคะ เก็บไว้เป็นความทรงจำที่ดีๆ คะ ส่งตอนนี้ ผู้รับจะได้วันที่ 2 พ.ค. นะคะ