.......ขออนุญาติและขออภัยที่ไม่ได้เขียนบทกลอร เหตุเพราะสืบเนื่องจากบทกลอนของ ***ครู..ผู้ร้าย..ของการศึกษา..? ฝากฝัน**** ลุงแทนเองก็เศร้าใจ .....การศึกษาไทยต้องแก้ที่รากเหง้าของปัญหา จึงจะปฏิรูปได้ วิทยากร เชียงกูล คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต การจัดการศึกษาระบบแพ้คัดออก ทำให้คนจนมีโอกาสได้เรียนน้อยกว่า/คุณภาพต่ำกว่า ในรอบ 6 ปี หลังจากการประกาศใช้ พรบ. การศึกษาแห่งชาติ ประชากรในวัยเรียน (รวมทั้งผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ) มีโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี ประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นสัดส่วนสูงขึ้น แต่สัดส่วนผู้ได้เข้าเรียนระดับปฐมวัยลดลงจากร้อยละ 96.8 ในปี พ.ศ. 2542 เหลือร้อยละ 87.7 ในปี พ.ศ. 2546 และสัดส่วนผู้เลือกเรียนอาชีวศึกษาก็ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับมัธยมศึกษาสายสามัญศึกษา สำหรับเด็กระดับปฐมวัยที่มีโอกาสได้รับการศึกษาลดลง เพราะทางรัฐและประชาชนส่วนใหญ่ที่ยากจนเห็นความสำคัญการศึกษาระดับนี้น้อย และฐานะเศรษฐกิจของประชาชนยังไม่กระเตื้องขึ้นมากพอที่จะส่งลูกเข้าเรียนในระดับปฐมวัยซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง และไม่ได้ถือว่าเป็นการศึกษาภาคบังคับหรือการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี ที่รัฐมีหน้าที่จะต้องให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย (ถึงรัฐบาลบอกว่า จะจ่ายเพิ่มให้อนุบาล 2 ปี ด้วย แต่ก็จ่ายน้อยและไม่ทั่วถึง) ระดับอาชีวศึกษาที่มีสัดส่วนผู้เรียนต่อประชากรวัยเดียวกันลดลง เพราะค่านิยมของประชาชนที่เห็นว่า การเข้าเรียนสายสามัญศึกษา เพื่อเรียนต่อมหาวิทยาลัยให้ได้ปริญญานั้นมีโอกาสได้งานดีกว่า และเพราะการจัดการการศึกษาด้านอาชีวศึกษาเองยังไม่มีคุณภาพสูง และไม่มีแรงจูงใจที่จะดึงดูดให้คนนิยมมาเรียนได้มากพอ แม้ว่าระบบเศรษฐกิจจะมีความต้องการแรงงานมีฝีมือขั้นกลางเพิ่มขึ้น แต่การจ่ายค่าตอบแทนและโอกาสความก้าวหน้าอาจจะไม่จูงใจพอ หรือประชาชนอาจยังไม่รู้ข้อมูลข่าวสารด้านนี้พอ ในปีการศึกษา พ.ศ. 2546 ยังมีประชากรวัย 12 – 17 ปี ที่ไม่มีโอกาสได้เรียนชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา ถึง 1,620,969 คน หรือร้อยละ 28.25 ของประชากรวัยเดียวกัน โดยที่ยังไม่ได้นับรวมผู้ออกกลางคันเรียนไม่สำเร็จอีกจำนวนหนึ่ง จำนวนผู้มีโอกาสได้เรียนสูงกว่าจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาในทุกระดับชั้น เพราะยังมีปัญหาการออกกลางคัน หรือเรียนไม่สำเร็จในทุกระดับ โดยเฉพาะมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาซึ่งผู้เรียนกำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่นที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ เนื่องมาจากปัญหาสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจสังคม และการที่การจัดการศึกษาเป็นสูตรตายตัว ไม่ยืดหยุ่น ไม่ช่วยให้ผู้เรียนบางส่วนปรับตัวเรียนได้ตลอดลอดฝั่ง ระดับอุดมศึกษา ขยายตัวเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ และขยายตัวในสาขาวิชาด้านสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ มากกว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีคนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยปีละราว 2 แสนคนและมีสัดส่วนการว่างงานเพิ่มขึ้น ขณะที่สถานประกอบการก็บ่นว่าหาคนที่มีความรู้ความสามารถได้ยากขึ้น ผลสัมฤทธิ์การศึกษา ของนักเรียนระดับการศึกษาขั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา วัดจากคะแนนเฉลี่ยผลการสอบของนักเรียนทั่วประเทศอยู่ในเกณฑ์ต่ำ การปฏิรูปการศึกษาช่วยให้นักเรียนมีความสุข และได้ทำกิจกรรมภาคปฏิบัติเพิ่มขึ้นบ้าง แต่นักเรียนส่วนใหญ่ยังคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ได้น้อย ความรู้ด้านวิชาการก็ไม่สูงขึ้น การปฏิรูปการศึกษายังเกิดขึ้นเป็นหย่อม ๆ เป็นสัดส่วนที่น้อย เมื่อเทียบกับภาพรวมทั้งประเทศความแตกต่างระหว่างผู้เรียนที่เรียนได้เก่งกับผู้เรียนที่ไม่เก่งเพิ่มขึ้น การศึกษานอกระบบโรงเรียนและตามอัธยาศัย ได้รับงบประมาณสนับสนุนต่ำกว่าร้อยละ 2 ของงบประมาณการศึกษาทั้งหมด และไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปไปจากเดิมมากนัก แม้ว่า พรบ. การศึกษาแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2542 จะให้ความสำคัญเท่ากับการศึกษาในระบบ แต่ทัศนคติของทั้งชนชั้นนำและประชาชนส่วนใหญ่ยังนิยมแต่การศึกษาในระบบมากกว่า ผู้บริหารและครูอาจารย์ในสถาบันการศึกษาในระบบเองก็ไม่สนใจที่จะให้บริการการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย ขณะที่การศึกษานอกระบบเองก็ยังทำงานภายใต้ระบบราชการที่เลียนแบบการศึกษาในระบบคือ ช่วยให้ผู้ใหญ่มีโอกาสได้เรียนเพื่อสอบเทียบความรู้กับการศึกษาในระบบเป็นสำคัญ ยังไม่ได้ช่วยกระตุ้นให้ประชาชนรักการอ่าน ใฝ่การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต และยังไม่สามารถทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้เพิ่มขึ้นมากนัก การจัดสรรงบประมาณการศึกษา เพิ่มขึ้นในแง่ตัวเงิน แต่สัดส่วนต่องบประมาณประจำปี และต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศกลับมีแนวโน้มลดลง (จาก 4.52% ของ GDP ปี พ.ศ. 2540 เหลือ 3.7% ของ GDP ปี พ.ศ. 2548) ซึ่งสะท้อนว่า รัฐบาลไม่ได้สนใจทุ่มเทเรื่องการปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลสนใจโครงการประเภทกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน เพื่อทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต มากกว่าเรื่องการพัฒนาด้านการศึกษาและด้านสังคมอื่น ๆ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะกระทรวงศึกษาธิการเองก็มีขีดความสามารถในการปฏิรูปหรือพัฒนาโครงการได้จำกัด ด้านการจัดสรรและการใช้งบประมาณ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสลักสำคัญ สถาบันอุดมศึกษา และโรงเรียนใหญ่ ๆ ในเมืองยังได้รับงบประมาณเป็นสัดส่วนสูงกว่าโรงเรียนขนาดกลาง ขนาดเล็กในชนบท และชุมชนแออัด การใช้งบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ ยังใช้แบบตามคำของบประมาณประจำปีแบบเก่า ซึ่งมีหลักเกณฑ์ตายตัว ขึ้นอยู่กับส่วนกลางมากกว่าที่สถาบันการศึกษาจะสามารถบริหารได้อย่างยืดหยุ่นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามความต้องการที่แท้จริง เช่น ถึงงบการศึกษาจะใช้ไปกับเงินเดือนครู อาจารย์เป็นสัดส่วนสูง (โดยเฉพาะระดับประถมศึกษา) แต่ก็ยังมีปัญหาครูขาดแคลน คนไม่อยากเป็นครูเพราะเงินเดือนต่ำ มีงบเพื่อฝึกอบรมและพัฒนาครูน้อย งบบางส่วนก็ใช้ไปเพื่อก่อสร้างอาคาร สถานที่ และซื้ออุปกรณ์ที่ใช้ประโยชน์ได้ไม่สูงสุด การจัดสรรงบประมาณให้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ค่อนข้างจำกัด และไม่ถึงมือผู้ยากจนที่ต้องการกู้มากที่สุดเสมอไป ที่ผ่านมาให้กู้ได้ราวร้อยละ 30 ของผู้ยื่นขอกู้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จะเปลี่ยนนโยบายเป็นให้กู้ได้เฉพาะนักศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งจะกระทบต่อผู้เรียนมัธยมปลายและอาชีวศึกษาที่ยากจน โครงการให้นักศึกษาอุดมศึกษากู้ในปี พ.ศ. 2549 ก็มีงบให้นักศึกษากู้ได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของนักศึกษาอุดมศึกษาทั้งหมดซึ่งปัจจุบันมีถึงราว 1.9 ล้านคน ปัญหาการขาดครู มีมากในระดับโรงเรียนขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะบางสาขาวิชา เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษเป็นปัญหาเรื้อรังและ เป็นปัญหามากขึ้น เมื่อรัฐบาลตั้งแต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำปี พ.ศ. 2540 มีนโยบายลดจำนวนข้าราชการโดยเสนอให้เงินพิเศษแก่ข้าราชการที่ลาออกก่อนเกษียณอายุ ทำให้ครูอาจารย์ลาออกไปหลายหมื่นคน และมี อัตราทดแทนผู้เกษียณเพียงร้อยละ 10 ปัญหาขาดแคลนครูในบางโรงเรียน แต่มีครูเกินในบางโรงเรียน มีครูไปช่วยราชการอื่นนับหมื่นคน ส่วนหนึ่งเกิดจากการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีการวิเคราะห์วิจัยเรื่องนี้อย่างละเอียด และไม่มีการปฏิรูปเรื่องนี้อย่างเป็นระบบองค์รวม มีแต่การร้องเรียนต่อรัฐบาลว่า ขาดครูกี่หมื่นคนและรัฐบาลก็ค่อย ๆ ทยอยเพิ่มอัตราให้ มีโครงการแก้ปัญหาโครงการย่อย ๆ ที่ขาดการประสานงาน ขาดความต่อเนื่อง ทำให้แก้ได้เป็นจุด ๆ แต่ปัญหาส่วนใหญ่ยังดำรงอยู่ และเป็นผลเสียหายต่อคุณภาพการเรียนการสอนและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าประเทศแถบเอเชียตะวันออกส่วนใหญ่ในแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนผู้เรียนมหาวิทยาลัยสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สัดส่วนของนักวิจัย งบประมาณวิจัย จำนวนสิทธิบัตร จำนวนการตีพิมพ์บทความทางวิชาการ โครงสร้างระดับการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความตื่นตัวที่จะเพิ่มการพัฒนาด้านนี้อยู่ แต่มักเป็นโครงการย่อย ๆ ที่ยังไม่ได้พยายามแก้ปัญหาทั้งระบบอย่างเป็นองค์รวม คุณภาพและผลิตภาพของแรงงาน กระเตื้องขึ้นจากเดิมเล็กน้อย เช่น มีสัดส่วนแรงงานได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาสูงขึ้นจากเดิม แต่เปรียบเทียบแล้วสัดส่วนแรงงานที่จบชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษายังต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ผลิตภาพของแรงงานไทยก็ต่ำกว่าหลายประเทศ เนื่องจากการจัดการศึกษาของไทยเป็นแบบบรรยายและวัดผลจากการท่องจำทางทฤษฎีตำรามากกว่าการฝึกคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ปฏิบัติ การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งควรถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุด มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก มีแต่การประชุม การฝึกอบรม การสั่งการจากส่วนกลาง แต่ไม่ได้มีการพัฒนาครูให้รักการอ่าน คิดและสอนแบบใหม่เป็นอย่างจริงจัง แนวคิดของการปฏิรูปการศึกษาตอนแรก ๆ มองว่าควรจะมีการประเมินครูใหม่ว่า ใครเหมาะสมที่จะได้ใบประกอบวิชาชีพครูหรือไม่ แต่ต่อมาก็ถูกแรงผลักดันทางการเมืองพลิกผันไปเป็นว่า คนที่เป็นครูอยู่แล้วมีสิทธิได้ใบประกอบวิชาชีพโดยอัตโนมัติ ซึ่งเท่ากับว่า ครูไม่ต้องพัฒนา ไม่ต้องปฏิรูปตัวเอง ก็ยังเป็นครูสอนแบบเดิมต่อไปได้ การเปลี่ยนแปลงแบบถอยหลังเข้าคลองเช่นนี้ ทำให้ครูที่เคยตื่นตัวกระตือรือร้นเรื่องการปฏิรูปการศึกษาในตอนแรก ๆ ลดการตื่นตัวลง การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างการบริหารจัดการด้านการศึกษา เพียงแต่เปลี่ยนจาก 1 กระทรวง (14 กรม) 1 ทบวงมหาวิทยาลัย 1 สำนักงาน (สกศ.) มาเป็น 1 กระทรวง 5 สำนักงาน และเปลี่ยนจากสำนักงานจังหวัดและอำเภอ มาเป็นเขตการศึกษา 175 เขต แต่คนทำงานคือ คนกลุ่มเดิม ๆ ที่มีทัศนคติและท่วงทำนองการทำงานไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก แถมการโยกคนจากต่างกรมมารวมกัน และการมีตำแหน่งผู้บริหารลดลง การที่นักการเมืองเข้ามาแทรกแซงเรื่องการแต่งตั้งผู้บริหาร ยิ่งสร้างความขัดแย้ง ความสับสนยุ่งยากในการประสานงานเพิ่มขึ้น การกระจายอำนาจการบริหารไปให้เขตการศึกษาและโรงเรียนก็ยังมีความล่าช้าและความยุ่งยาก เนื่องจากคนเคยชินกับการบริหารแบบสั่งงานตามสายงานและตามตัวอักษรมากกว่า มุ่งคำนึงถึงผลของงาน ส่วนการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีปัญหาในแง่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความพร้อมและคุณภาพการบริหารแตกต่างกันมาก ฝ่ายครูก็กังวลไม่อย่ากโอนย้าย เพราะเกรงว่าต้องไปอยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้มีระดับการศึกษาต่ำกว่า ที่อาจจะมีปัญหามากกว่าการอยู่ที่เดิม การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมมีผลกระทบต่อการศึกษาอย่างสำคัญ ในด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลใช้นโยบายการคลังและการเงินแบบขยายตัวกระตุ้นการผลิตและการบริโภค ทำให้คนทั้งประเทศรวมทั้งนักเรียนนักศึกษากู้หนี้ยืมสิน และจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นสูง ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเติบโตขึ้น จากร้อยละ 2.1 ในปี พ.ศ. 2544 เป็นร้อยละ 6.1 ในปี พ.ศ. 2547 แต่การกระจายรายได้ระหว่างกลุ่มชนต่าง ๆ ยังคงไม่เป็นธรรมสูง (แม้จะดีขึ้นนิดหน่อยเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2539) กลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุด 20% แรก มีสัดส่วนในรายได้ถึง 55.7% ของรายได้ของคนทั้งประเทศ ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุด 20% สุดท้ายมีสัดส่วนในรายได้เพียง 4.3% ของรายได้รวมทั้งของคนทั้งประเทศ การกระจายรายได้ประเภทที่คนส่วนน้อยรวยมาก คนส่วนใหญ่จนถึงจนมาก มีผลกระทบทำให้การกระจายโอกาสทางการศึกษาไม่เป็นธรรมด้วย เพราะการศึกษามีค่าใช้จ่ายสูง แม้รัฐธรรมนูญและ พรบ.การศึกษาแห่งชาติจะกำหนดให้รัฐให้บริการการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่คิดค่าเล่าเรียน แต่ผู้เรียนก็ต้องมีค่าใช้จ่ายด้านค่าแต่งตัว อุปกรณ์การเรียน การเดินทาง อาหารกลางวัน โรงเรียนที่มีชื่อเสียงในเมืองส่วนใหญ่ก็คงเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษ เนื่องจากได้งบจากรัฐบาลต่ำจนเกินกว่าที่จะจัดการศึกษาแบบมีคุณภาพได้ เศรษฐกิจปี พ.ศ. 2548 ที่เริ่มชะลอตัวจะมีผลให้ประชาชนมีโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพลดลง นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งมีผลต่อการสร้างค่านิยมที่เน้นการแข่งขันหาเงิน และการบริโภคแบบตัวใครตัวมันมาก ทำให้เกิดปัญหาด้านสังคมตามมามากมาย เด็กยากจนยังมีปัญหาทุพโภชนาการ การมีไอคิวโดยเฉลี่ยต่ำ ปัญหาลัทธิบริโภคนิยม การเสพติดบุหรี่ เหล้า สารเสพติดและอบายมุขต่าง ๆ พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง การหมกหมุ่นเรื่องเพศ และการอยู่ในสภาวะแวดล้อมทั้งทางกายภาพและสังคมวัฒนธรรมเป็นพิษมากขึ้น ปัญหาด้านสุขภาพ สภาพแวดล้อม สังคมวัฒนธรรมที่เพิ่มขึ้นล้วนเป็นผลกระทบในทางลบต่อเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ รวมทั้งลูกหลานคนรวย คนชั้นกลางก็มีปัญหาด้วยเช่นกัน การประเมินผล 6 ปี ของการปฏิรูปการศึกษา นักวิชาการและหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประเมินเห็นคล้าย ๆ กันว่า มีความก้าวหน้าเฉพาะการออกกฎหมาย การเปลี่ยนโครงสร้างการบริหาร แต่มีความก้าวหน้าด้านการปฏิรูปการเรียนรู้แบบใหม่ ที่เน้นให้ผู้เรียนใฝ่รู้ รักการอ่าน คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์เป็น เก่ง ดี มีความสุข ค่อนข้างน้อย เนื่องจากครูอาจารย์ส่วนใหญ่ยังเคยชินกับการสอนแบบบรรยายจากตำรา และสอบวัดผลแบบท่องจำ และไม่ได้เรียนรู้ใหม่มากพอที่จะปฏิรูปการสอนแบบใหม่ได้ ระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย มีการเปลี่ยนแปลงเฉพาะรูปแบบว่า จะใช้คะแนนคัดเลือกแบบไหนเท่าไหร่ แต่ไม่ได้เปลี่ยนเนื้อหาสาระสำคัญ คือ มหาวิทยาลัยปิด ยังรับคนได้น้อยกว่าจำนวนคนที่ต้องการเข้าไปเรียนมาก และการคัดเลือกส่วนใหญ่ยังคงใช้ข้อสอบปรนัยที่วัดความจำ ดังนั้นทั้งครู ผู้ปกครอง นักเรียนจึงยังคงกังวลเรื่องการเรียนแบบมุ่งสอบให้ได้คะแนนดี และมุ่งสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย (แบบแพ้คัดออก) ให้ได้ มากกว่าที่จะสนใจการเรียนเพื่อให้เกิดความรู้ และความฉลาดในทุกด้าน ตามที่ปรัชญาการปฏิรูปการศึกษาเสนอไว้ สรุปภาพรวมก็คือ การปฏิรูปการศึกษาก้าวหน้าไปค่อนข้างช้า หรือมีความก้าวหน้าเฉพาะบางสถาบัน บางคณะ บางแผนกวิชา ชั้นเรียน หรือบางชุมชน เฉพาะที่ผู้บริหารครู อาจารย์ ผู้ปกครองและชุมชนเข้าใจและสนใจเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ขณะที่สถาบันการศึกษาและครูอาจารย์ส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลงและพัฒนาตัวเองน้อย บางระดับ เช่น สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งรับนักศึกษาเพิ่มขึ้นมาก ทั้ง ๆ ที่มีอาจารย์เพิ่มน้อย อาจารย์ทำงานด้านวิจัยและเขียนบทความวิชาการน้อยทำให้คุณภาพลดลง ภาคเอกชน ชุมชนและประชาชนยังมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาน้อย ยกเว้นกลุ่มผู้มีการศึกษาและมีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมสูง หรือกลุ่มประชาชน ชุมชนบางแห่งที่ตื่นตัว การปฏิรูปการศึกษาให้มีคุณภาพขึ้นยังทำได้จำกัดเฉพาะกลุ่มเล็ก ๆ แนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคระดับรากเหง้า การปฏิรูปการศึกษาเท่าที่ผ่านมาส่วนใหญ่ยังคงมุ่งแก้ไขสาเหตุระดับเบื้องต้นที่เป็นปัญหาทางเทคนิค เช่น การเพิ่มงบประมาณสร้างซ่อมอาคาร ซื้อคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่าง ๆ การปรับหลักสูตร การผลิตและจ้างครูเพิ่ม การให้ทุนและเงินกู้ต่าง ๆ แต่ยังไม่ได้มีการวิเคราะห์ เนื้อหา แนวทางแก้ไขสาเหตุในระดับรากเหง้าของปัญหาที่ลึกไปกว่านั้น ทำให้การปฏิรูปการศึกษายังล่าช้า การจะปฏิรูปการศึกษาต้องการการผ่าตัดเพื่อแก้ไขสาเหตุระดับรากเหง้าอย่างน้อย 6 ข้อ คือ 1. กรอบคิดและแรงจูงใจที่ล้าสมัยของคนส่วนใหญ่ว่าการศึกษาคือ การฟังคำบรรยายและอ่านตำราเพื่อท่องจำไปสอบได้วุฒิไปหางานทำ แทนที่จะสร้างแรงจูงใจภายในผู้เรียนแต่ละคนให้ใฝ่การเรียนรู้ รักการอ่าน รู้วิธีเรียนรู้ต่อด้วยตนเอง คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประยุกต์ใช้เป็น ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ถูกทางและมีพลังมากกว่าเรียนเพื่อแรงจูงใจให้ได้วุฒิบัตร ซึ่งเป็นแรงจูงใจภายนอก 2. การเน้นเรื่องการแก้ไขกฎหมายและปรับโครงสร้างองค์กรบริหาร ที่กลายเป็นเรื่องการประนีประนอมรักษาสถานะภาพเดิมของผู้บริหารและครู อาจารย์มากกว่า การมุ่งปฏิรูปครูอาจารย์และกระบวนการสอนการเรียนรู้แบบใหม่ 3. การที่ประชาชนปล่อยให้การจัดการศึกษาเป็นหน้าที่ของรัฐ โดยไม่เข้าใจความสำคัญและไม่ได้มีบทบาทในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการศึกษา 4. การขาดผู้นำ ผู้มีวิสัยทัศน์ความสามารถและคุณธรรมมากพอที่จะนำ ในการปฏิรูปการศึกษา 5. กรอบคิดของชนชั้นนำและประชาชนทั่วไปที่มองการศึกษาเป็นแค่เครื่องมือผลิตทรัพยากรคนให้มีทักษะสูงขึ้น เพื่อไปทำงานสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ได้มองว่าคือการพัฒนาคุณภาพคน ในด้านรู้ทักษะทางสังคมและทางอารมณ์ ความคิด จิตสำนึกเพื่อส่วนรวมด้วย 6. โครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง และนโยบายการบริหารที่เป็นแบบอำนาจนิยม อภิสิทธิ์นิยม ทุนนิยมผูกขาดแบบบริวาร ที่ทำให้การจัดการศึกษาไม่ได้มุ่งสร้างประชาชนให้เป็นผู้นำสังคม แต่เป็นผู้ตามสังคม และเป็นเครื่องมือคัดคนในระบบการแบบแพ้คัดออก ให้ไปทำงานระดับต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ระยะสั้นให้กับกลุ่มชนชั้นสูงและชนชั้นกลางผู้มีอำนาจ มากกว่าเพื่อพัฒนาคนและทุกคนในทุกด้าน ปฏิรูปอะไร อย่างไร เพื่อใคร “การปฏิรูปการศึกษา” จะทำได้สำเร็จ ต้องตอบคำถามนี้ให้ได้ว่า จะปฏิรูปอะไร อย่างไร เพื่อใคร ปฏิรูปอะไร คือการปฏิรูปการเรียนรู้แบบใหม่ ที่สอดคล้องกับการทำงานของสมอง และมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ช่วยให้ผู้เรียนฉลาด รอบด้านเพิ่มขึ้น ไปแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศทั้งทางเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรมได้มากขึ้น ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การปรับแต่งรูปโฉมภายนอกของการบริหารจัดการ ให้ดูทันสมัยหรือดูคล้ายกับของต่างประเทศ หรือมุ่งเพียงแค่พัฒนาคนไปรับใช้ระบบเศรษฐกิจ/ธุรกิจ แต่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงด้านเนื้อหาสาระ ปฏิรูปอย่างไร คือ ต้องปฏิรูปครูอาจารย์ให้เปลี่ยนกรอบคิด ทัศนคติ พฤติกรรมใหม่ สามารถที่จะจัดการกระบวนการเรียนรู้ให้ ผู้เรียนมีความสุข รักการอ่านรู้วิธีการเรียนรู้ต่อ คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์เป็น และมั่นใจในตัวเอง ฉลาดทั้งด้านปัญหา อารมณ์ และจิตสำนึก ปฏิรูปเพื่อใครคือ เพื่อผู้เรียนและประชาชนทั้งประเทศ มากกว่าเพื่อประโยชน์ระยะสั้นของนักการเมือง, ผู้บริหารและครูอาจารย์ อนาคตที่ต้องเตรียมตัวตั้งแต่วันนี้ แนวโน้มทางเศรษฐกิจการเมืองของโลกที่ประเทศต่าง ๆ จะแข่งขันกันอย่างซับซ้อนมากขึ้น เราต้องวิเคราะห์ให้เห็นถึงสาเหตุระดับรากเหง้าของปัญหาความด้อยพัฒนาของการศึกษาในประเทศไทย และรณรงค์เผยแพร่ให้นักเรียน ผู้ปกครอง ประชาชนส่วนใหญ่ตระหนักถึงปัญหาและความสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาได้อย่างถือเป็นวาระสำคัญเร่งด่วนของประเทศเท่านั้น ประชาชนจึงจะพัฒนาขึ้นมาเป็นแรงผลักดันที่มีศักยภาพมากพอที่จะทำให้ชนชั้นนำของไทยต้องปฏิรูปการศึกษา หรือปฏิรูปการเรียนรู้ของคนไทยทั้งสังคม เพื่อผลิตพลเมืองที่มีคุณภาพในทุกด้านมากพอ ที่จะแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศเพื่อความสุข เป็นธรรม และยั่งยืน ของประชาชนส่วนใหญ่ได้อย่างแท้จริง. Entry Filed under: บทความ, วิทยากร เชียงกูล. .
15 ธันวาคม 2550 03:04 น. - comment id 800115
....ขออนุญาติและขออภัยที่ไม่ได้เขียนบทกลอร เหตุเพราะสืบเนื่องจากบทกลอนของ ***ครู..ผู้ร้าย..ของการศึกษา..? ฝากฝัน**** ลุงแทนเองก็เศร้าใจ ...แก้ไขคำผิด.... ....ขออนุญาตละขออภัยที่ไม่ได้เขียนบทกลอน เหตุเพราะสืบเนื่องจากบทกลอนของ ***ครู..ผู้ร้าย..ของการศึกษา..? ฝากฝัน**** ลุงแทนเองก็เศร้าใจ
15 ธันวาคม 2550 03:07 น. - comment id 800116
แผนงานฝ่ายวิชาการ 1. สภาพปัจจุบันและปัญหา 1. 1 สภาพทั่วไป โรงเรียนรุ่งเรืองอุปถัมภ์เป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนต้น นอกจากนี้ยังจัดการศึกษาพิเศษในลักษณะการเรียนร่วมให้กับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาด้วย ตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน การบริหารงานวิชาการของโรงเรียนนอกจากอาศัยแนวทางตามหลักสูตรและ แผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติแล้วยังต้องยึด แผนพัฒนาการศึกษากรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 5 ( พ.ศ. 2540 – 2544 ) และยึดนโยบายวิสัยทัศน์การศึกษากรุงเทพมหานครทั้งนี้เพราะกรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางความเจริญของประเทศ ที่มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านสื่อสารเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา การวางแผนพัฒนาการศึกษาด้านวิชาการ จึงต้องจัดให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม เพื่อให้การศึกษาของ โรงเรียน “ ก้าวหน้า มีมาตรฐาน ทันสมัย ดำรงความเป็นไทย ในความเป็นสากล ” ตามนโยบายของกรุงเทพมหานคร 1. 2 ปัญหา ในปีการศึกษาที่ผ่านมาการจัดการศึกษาของโรงเรียนยังไม่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสอนของครูให้เน้นนักเรียนเป็นสำคัญโดยใช้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษาให้มากขึ้นนั้น ทำได้เพียงร้อยละ 50 ฝ่ายบริหารได้ใช้กระบวนการการนิเทศ การศึกษามาใช้แก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องคาดว่าหากดำเนินการต่อไปจะสามารถพัฒนาการสอนของครูได้ปัญหาที่สำคัญ อีกประการหนึ่งคือการขาดงบประมาณในการจัดกิจกรรมทางวิชาการที่จะช่วยส่งเสริมศักยภาพของนักเรียนงบประมาณ ที่ได้รับจากกรุงเทพมหานครเป็นวัสดุการสอนนั้น ไม่เพียงพอต่อความต้องการของครูผู้สอนทำให้ครูใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีทางการศึกษาและสื่อการสอนไม่สมบูรณ์ตามที่วางแผนไว้ อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ทุกคน ในสังคมต้องร่วมมือกันประหยัดและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าการพัฒนางานของโรงเรียนจึงอาศัยภูมิปัญญาของ บุคลากรในโรงเรียนเป็นสำคัญ 2. แนวทางการพัฒนา งานวิชาการเป็นงานที่มีความสำคัญที่จะต้องพัฒนาให้ทันสมัย การบริหารงานวิชาการต้องมีการ เปลี่ยนแปลงปรับปรุงและเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ลักษณะนี้ก่อให้เกิดปัญหาหลายประการซึ่งมีปัญหาภายใน ระบบการศึกษาและปัญหาภายนอกระบบการศึกษา ได้แก่ปัญหาเจตคติของครู ที่มีต่อวิชาชีพปัญหาครูไม่เข้าใจ จุดมุ่งหมายของหลักสูตรวิธีสอนการไม่กล้าแสดงออกหรือเสนอความคิดเห็นในทางสร้างสรรค์ ปัญหาพฤติกรรมของ นักเรียน ปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในชุมชน ปัญหาต่างๆเหล่านี้จำเป็นต้องหาทางแก้ไขโดยจัดการศึกษาให้สนอง ต่อจุดมุ่งหมายของการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540 – 2544) 3. วัตถุประสงค์ 3.1 เพื่อส่งเสริมศักยภาพของนักเรียนเป็นรายบุคคล 3.2 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของครูในการจัดกระบวนการเรียนการสอนโดยเน้นนักเรียนเป็นสำคัญ 3.3 เพื่อจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้สนองนโยบายวิสัยทัศน์การศึกษากรุงเทพมหานคร 3.4 เพื่อส่งเสริมการทำงานเป็นกลุ่มอย่างมีทักษะกระบวนการของครูและนักเรียน 4. เป้าหมาย เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้จึงกำหนดเป้าหมายในการดำเนินงานทางวิชาการดังนี้ 4.1 จัดโครงการพัฒนางานวิชาการเพื่อให้เกิดผลสำเร็จด้านคุณภาพการส่งเสริมศักยภาพนักเรียนและครู 4.2 เพื่อสนองวิสัยทัศน์การศึกษากรุงเทพมหานคร 4.3 เพื่อส่งเสริมให้ครูเปลี่ยนพฤติกรรมการสอน 4.4 พัฒนาการเรียนการสอนเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนให้สูงขึ้น 5. แนวทางการดำเนินงาน 5.1 จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความสามารถทางวิชาการเช่นกิจกรรมประเทืองปัญญา 5.2 พัฒนาห้องสมุดและห้องสนับสนุนการสอน พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการใช้อย่างคุ้มค่า 5.3 จัดให้นักเรียนเข้าค่ายวิชาการทุกกลุ่มประสบการณ์ 5.4 จัดโครงการและกิจกรรมทางวิชาการเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ให้กับนักเรียน 5.5 ใช้กระบวนการนิเทศการสอนอย่างต่อเนื่องตลอดปีการศึกษา 6. งบประมาณ 6.1 จากเงินบำรุงการศึกษา 6.2 จากผู้มีจิตศรัทธาบริจาค 7. ปัญหาและอุปสรรค 7.1 งานวิชาการเป็นงานละเอียดอ่อนและต้องทำอย่างต่อเนื่องจึงจะเห็นเป็นรูปธรรม 7.2 ครูมีงานหลายอย่างจึงไม่มีเวลาทำได้เต็มที่ ทำให้เกิดความท้อแท้เพราะมองเห็นผลช้า 7.3 งบประมาณในการดำเนินงานมีไม่เพียงพอ
15 ธันวาคม 2550 06:20 น. - comment id 800123
สวัสดีค่ะคุณลุงแทน หากปัญหา มามาก หลากเรื่องต่าง ช่วยกันสร้าง ช่วยกันแก้ แน่แน่ว...ไหว ไม่มัวหา พาโทษ ให้ใครใคร เกี่ยงงานไซร้ ไป่มี ศรีจำเริญ รู้หน้าที่ แห่งตน ยลตำแหน่ง ศึกษาแจ้ง ผิด ชอบ กรอบเขตเหิน ร่วมมุ่งมั่น ฝันสู้ สู่ทางเดิน ไม่มัวเขิน ร่วมปลด ลดขวาก...บาง จิตรำพันเข้าประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดทำแผนปฎิบัติการฯ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยมีวิทยากรจาก สพฐ. มาบรรยายและอธิบายการจัดทำแผนฯ การทำแผนฯ เขาบอกว่าก่อนจะลงมือทำ ต้องทราบว่าต้นทุนของคุณมีอยู่เท่าไร คุณถึงจะรู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง และใช้เงินเท่าไร (เงินงบประมาณ และเงินระดมทุน) ซึ่งน่าเศร้าเหลือเกินว่า บางโรงเรียนมีแต่ผู้บริหารเท่านั้นที่ทราบว่ามีเงินอยู่จริงเท่าไร ส่วนครูนั้นหากต้องการทราบคงต้องสืบเสาะแสวงหาจากทางโรงเรียนอื่นเพราะที่โรงเรียนของตนเองไม่สามารถทราบได้เลย ส่วนบางโรงเรียน การบริหารดีเยี่ยมทำงานอย่างมีระบบ แบบแผน ซึ่งน่ายินดีกับครูในโรงเรียน มีอีกเรื่องที่จิตรำพันอยากจะฝากค่ะคุณลุงแทน ซึ่งจิตรำพันคิดว่ามันเป็นปัญหาที่ไม่เคยแก้ตกเลยค่ะ ทุกโรงเรียนจะมีงานนอกเหนือจากงานสอนจำนวนเยอะมาก โดยเฉพาะงานระบบict ซึ่งจะต้องมีทั้งการทำให้เป็นเอกสารแล้วจึงนำลงกรอกข้อมูลที่เครื่องในโปรแกรมต่างๆ แต่สำหรับครูในโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งถ้าคำนวณเวลาสอน 25 ชั่วโมงต่อสัปดาห์แล้ว บางคนคงจะเป็น 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ได้ เนื่องจาก ครูไม่ครบชั้น นั่นแสดงว่าครูสอนทั้งวัน เหลือเวลาไว้พักผ่อนเพียง 1 ชั่วโมงคือ เวลาพักกลางวัน ครูก็ต้องมานั่งตรวจงาน การบ้าน ซึ่งเวลาพักแทบจะไม่เหลือ แล้วครูยังมีงานธุรการในห้องเรียน และงานประจำฝ่ายต่าง ๆ งานเสริมอื่นที่ได้รับคำสั่งมาจากระดับบนขึ้นไปอีก ถ้างานมากขึ้นเรื่อย ๆ ครูต้องเอาเวลาที่ใช้ในการสอน มาทำงานเสริมแทน เนื่องจากถูกเร่งจากระดับบน แล้วเด็ก ๆ ในโรงเรียนเล็ก ถ้าครูออกจากห้องเมื่อไร ก็จะไม่ทำงานเมื่อนั้นค่ะ จะไม่เหมือนกับเด็กที่โตแล้ว เขาต้องการคนเอาใจใส่และคอยอธิบายมากกว่าเด็กโต หากครูสอนตลอด งานไม่เสร็จ เบื้องบนก็หาว่าไม่รายงาน หากครูแบ่งเวลาทำงาน งานเสร็จ แต่เด็กไม่ได้เรียนอย่างเต็มที่ และเหตุการณ์แบบนี้มีอยู่หลายโรงเรียนมากในโรงเรียนรอบนอก เนื่องจากบุคลากรไม่เพียงพอค่ะ นี่ก็แค่ส่วนหนึ่งที่จิตรำพันอยากแสดงความคิดเห็นเอาไว้ มันอาจจะเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ แก้ปัญหาได้ง่าย แต่เพราะว่าแก้ได้ง่ายจึงพากันมองข้ามและไม่แก้ให้มันหมดเสียที และเรื่องง่ายๆ นี้ ก็จะรวมกันเหมือนดินพอหางหมูค่ะ ขอโทษที่เข้ามาบ่นนะคะ ไว้คราวหน้าจะมาแบบน่ารัก ๆ อิอิ
15 ธันวาคม 2550 10:33 น. - comment id 800182
เรื่องใหญ่ครับ พึ่งใคร ดีละ รัฐบาล??????
15 ธันวาคม 2550 16:05 น. - comment id 800386
สวัสดีค่ะ..ลุงแทน..วันนี้..ไม่มีบทกลอนไม่เป็นไรค่ะ..จะแวะมาชื่นชมผลงานต่อไป..เป็นกำลังใจให้เช่นเคยนะคะ...สู้ ๆ ค่ะ..
15 ธันวาคม 2550 16:09 น. - comment id 800390
สวัสดีค่ะแวะมาทักทายค่ะ