ตะวันคล้อยลอยเลื่อนจะเลือนโลกย้ำวิโยคโศกสลดรันทดท้อสร้างทำนบเหนี่ยวนำน้ำตาคลอ จึงสีซอสอดเพลงบรรเลงลา ประเดิมความสามชั้นตะวันพลบ สีกระทบรูปนามตามประสา สอดประสานทิวทัศน์ปัจฉิมา ขอบสุธาสุดท้ายคล้ายจำแลง ผืนเมฆพรายปลายฟ้าถูกทาสี ธรณีเบื้องล่างถูกพรางแสง สำเนียงโศกสองชั้นพลันสำแดง เข้าเสียดแทงแสร้งท้าน้ำตาริน เร่งจังหวะกระทั้นสู่ชั้นเดียว คล้ายน้ำเชี่ยวกระโชกสู่โตรกหิน ตะวันคล้อยลอยเลื่อนเยือนพื้นดิน ก็จบสิ้นสุดเถาเข้าอัสดง แล้วเอวังฝังหมุดสุดลูกหมด ปัจฉิมบทบอกลาอานิสงส์ เหน็บคันชักแนบร่างอย่างบรรจง ลดสายลงปลงสู่ผู้ชรา จะขึ้นสายครั้งใหม่ให้ใครเล่น ฉันกลายเป็นมือวางแขวนข้างฝา ระลึกสู่ปูชนีย์ที่ลับลา จบคาถากรวดน้ำจะตามไป..
9 พฤศจิกายน 2555 10:24 น. - comment id 1250600
ทำบุญแด่มือวางแขวนข้างฝา ท่องยถาตั้งจิตอุทิศให้ หยิบบรรเลงเพลงซึ้งเมื่อพึงใจ ทำนองใหม่เริงร่าอย่าหมองมัว
9 พฤศจิกายน 2555 10:45 น. - comment id 1250604
อยากบรรเลงเพลงใหม่ให้ฟังดอก แต่ขอบอกใจฉันมันสลัว ขอเพียงพ้นราตรีที่มืดมัว จะระรัวเพลงพรุ่งรุ่งอรุณ
9 พฤศจิกายน 2555 12:24 น. - comment id 1250606
คำบรรยายประกอบเพื่อความเข้าใจ เพลงไทย (เดิม) ประเภทหนึ่งเรียกชื่อว่า "เพลงเถา" ประกอบด้วยทำนอง 3 ท่อนเรียงกัน ท่อนแรกช้า สังเกตจังหวะของฉิ่ง ระหว่างเสียง "ฉิ่ง" และ "ฉับ" นับในใจได้ 4 นับ ท่อนที่สองความเร็วปานกลาง นับได้ 2 นับ ท่อนที่สามเร็ว นับเพียง 1 นับ ระหว่างท่อนทั้งสาม มีการขับร้องประกอบ เนื้อร้องส่วนใหญ่เป็นกลอนสุภาพ (กลอนแปด) อาจแต่งเองหรือนำมาจากวรรณคดีไทยที่มีชื่อ ความเร็วในการขับร้องทุกท่อนเท่ากันหมด ครูเพลงที่มีความสามารถในการแต่งเพลงเองบางท่าน พยายามอนุรักษ์ทำนองเพลงโบราณมิให้ถูกลืมหายไป โดยการนำทำนองสองชั้นสั้นๆ ของเพลงโบราณ มาแต่งเพิ่มให้ยาวขึ้น ยืดจังหวะให้ช้าลงเป็นสามชั้น และตัดทอนให้กระชับเร่งเร้า ลดจังหวะให้เร็วขึ้นเป็นชั้นเดียว เรียงสามท่อนนี้เข้าด้วยกัน กลายเป็นเพลงเถา เรียกชื่อเพลงตามเพลงเดิม แต่เติมคำว่า "(เถา)" ต่อท้าย บางเพลง เมื่อบรรเลงครบสามท่อน ก่อนจบจะออก "ลูกหมด" คือท่อนย่อยซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับทำนองหลักของเพลง อีก 1 ท่อนสั้นๆ เป็นทำนองเร็วมากแบบสนุกสนานและจบอย่างกระชากๆ สร้างสีสัน เช่น ลูกหมดมอญ เป็นต้น เมื่อจะเลิกเล่นซอ นิยมลดสายให้หย่อนลงมากๆ ทำให้สายคลายจากความตึง เพื่อลดความเครียดของสาย หนัง (งู) หน้าซอ รักษาความฝืดของลูกบิดไว้ ต่อเมื่อจะเล่นครั้งต่อไปจึงจะนำมาบิดลูกบิดขึ้น และทำการเทียบเสียงใหม่ เมื่อลดสายแล้วจึงเหน็บคันชักไว้แนบกับคันซอเพื่อให้ดูเรียบร้อยและไม่เกะกะ ถ้าไม่ใส่ถุงผ้าเก็บในตู้หรือที่เก็บ ก็อาจแขวนไว้กับฝาผนังหรือที่อันควรโดยไม่ต้องใส่ถุง ไม่นิยมวางกับพื้นหรือในที่ต่ำ ไม่มีในวิกิพีเดี่ย เขียนจากความทรงจำดีๆ นับหลายปี ครั้งเมื่อขลุกอยู่ห้องดนตรีไทยสมัยยังเรียน (บ้างเล่นบ้าง) กับ "แย้ม ไกลวันเกิน" เมื่อ 30 ปีก่อน =================== ซอของ 'เต่าฯ' เงาเด่นเห็นอยู่ด้วย ไม่รู้ช่วยหรือทำลายความหมายหนอ แต่เพียงจุด"บันดาลใจ"ให้ก็พอ เพื่อ 'แย้ม' ก่องานกวีก็ดีใจ เต่าค็ม
9 พฤศจิกายน 2555 14:35 น. - comment id 1250619
อยากฟังเสียงสีซอของลุงแย้ม คงแต่งแต้มฟ้าสวยช่วยคลายเหงา ในวันที่ฟ้าหม่นปนสีเทา ลดความเศร้าได้บ้างบางเวลา
9 พฤศจิกายน 2555 15:17 น. - comment id 1250627
คงไม่เป็นเช่นนั้นหรอกขวัญอ่อน เสียงฃอฃ้อนภาพเศร้ายิ่่งเหงากว่า ฃอลุงแย้มมีเสน่ห์บางเวลา รอให้ฟ้าสางก่อนจะอ้อนเธอ
11 พฤศจิกายน 2555 07:49 น. - comment id 1250725
.. กล่าวถ้อยร้อยคำหวาน เปรียบน้ำตาลรสโอชา หวานคำพร่ำวาจา รินรดหลั่งพรั่งพรมใจ อาลัยบางใครเหลือ อยู่ชิดเชื้อกลับห่างไกล โรยโศกวิปโยคไหล ลงทาทาบอาบสุธา .. คำหวาน-HD (คุณพระช่วย ออร์เครสตร้า) http://www.youtube.com/watch?feature=player_detailpage&v=COWfmlSIu6c
11 พฤศจิกายน 2555 13:58 น. - comment id 1250729
น้ำหลากจากวสันต์ ช่วยเติมฝันจากฟากฟ้า น้ำใจเธอให้มา จบยถาต่อสัพพี..
12 กุมภาพันธ์ 2556 15:51 น. - comment id 1255243
ชอบบท ๒ และ ๒ บทท้าย เป็นพิเศษครับ แต่นึกสงสัยความหมายของคำว่า สุธา ว่าจะเข้าใจตรงกับผมหรือไม่ ถ้าชื่อ สุธาฤาหวน จะโดนใจผมมากกว่า สุธากรรแสง
14 กุมภาพันธ์ 2556 20:42 น. - comment id 1255361
เท่าที่ตามฟังเพลงคงเป็นไปตามที่ผมคาดเดา