6 พฤษภาคม 2547 13:25 น.
sun strom
การปฏิบัติธรรมที่เราคิดตั้งแต่แรกว่า คงไม่เปลี่ยนแปลงตัวเรามากมายนั้น เป็นการเข้าใจของเราเพียงผู้เดียว มีบางคนที่ไปไม่ถึงไหนเลย ผ่านมาถึง 4 วัน ยังไม่ผ่านการรู้สึกตัว ยังหนาว ยังเจ็บ ยังปวด ยังง่วง หลวงพ่อท่านอธิบายตรงนี้ว่า มันขึ้นอยู่กับการปล่อยวาง หากไม่สามารถปล่อยวางได้ สมาธิ ปัญญาก็จะไม่เกิด การปล่อยวางในที่นี้หมายถึงปล่อยวางทางด้านจิตใจ คนเราส่วนใหญ่จะยึดติดความคิดตัวเอง การหยุดไม่ให้คิดไปต่าง ๆ นา ๆ ย่อมทำได้ยาก หรือทำไม่ได้เลย แต่หากเรารู้จักการควบคุมความคิด ให้รู้จักตามอารมณ์ความรู้สึกให้ทัน เราเองเข้าใจว่า เราสามารถควบคุมตรงนี้ได้ แต่เมื่อมาคิดให้ลึก ๆ แล้ว เรายังห่างไกลมากนัก แค่เรานึกถึงเรื่องนี้ เรายังไม่ทราบเลยว่า อารมณ์ที่เราเกิดการยินดีนั้นมันเกิดขึ้นในใจแล้ว ซึ่งจริง ๆ ไม่ถูกต้องเพราะ การยินดีเป็นอารมณ์ที่เราควรตามมันทัน แต่นี่เพียงเราคิดมันยินดีแล้ว ตามมันไม่ทันซักที หากเป็นบุคคลอื่น ที่เขาสามารถปฏิบัติได้ถึงจุดหนึ่งแล้ว จะตามอารมณ์เหล่านี้ทันเสมอ ก็ให้อยู่ในระดับกลาง ๆ อย่างที่หลวงพ่อท่านสอนไว้ว่า เย็นไม่คิด ร้อนไม่คิด สุข ทุกข์ ล้วนไม่คิด เพราะถ้าคิดแล้วอารมณ์ต่าง ๆ ย่อมตามมาเสมอ
ผ่านเข้าวันที่ 5 ของการปฏิบัติธรมแล้วนะคะ เรามาถึงจุดหนึ่งที่เราเรียกเองว่า ความสุข ในที่นี้เราใคร่เรียนให้ทราบว่า เป็นความสุขทางใจ ที่ไม่สามารถเกิดกับคนได้ทุกคน แม้คนคนนั้นจะมีแก้วแหวนเงินทองมากมาย ใช้อย่างไรก็ไม่หมด แม้แต่คนที่คิดว่าตัวเองมีพร้อมแล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่สามารถจะมีสุขชนิดนี้ได้
ด้วยความสุขที่เกิดขึ้นกับใจเราแบบนี้ เราถามหลวงพ่อท่านตอบว่าเป็นปิติ คนส่วนใหญ่มาติดอยู่ตรงนี้ ติดปิติ จนไม่สามารถก้าวข้ามไปถึงไหน ปิติที่เกิดจากการปฏิบัตินั้น ตามความรู้สึกของเราแล้ว ใคร่ขออธิบายไว้ดังนี้นะคะ เวลาที่เราก้าวเดิน มันเบามาก เหมือนลอย ซึ่งจริง ๆ แล้วเราก็เดินตามปกติ เพียงแต่เรารู้สึกตัวทุกครั้งที่ก้าวเดิน ทราบว่าจะวางเท้าอย่างไร แกว่งมือแบบไหน เป็นการทำด้วยความรู้สึกตัวจริง ๆ การพูด เสียงพูดที่เปล่งออกมา จะมาจากส่วนลึกภายในร่างกาย จะเบา นุ่ม กริยาท่าทางต่าง ๆ จะเป็นไปแบบรู้สึกตัว ใคร่ขอยกตัวอย่างไว้ดังนี้นะคะ เช่นการขึ้นลงบรรไดบ้าน เราเคยวิ่งขึ้นลงบรรไดบ้านวันหนึ่งหลายรอบ หากเรารู้สึกตัวถึงการขึ้นบรรไดบ้านจริง ๆ เราจะทราบทุกอย่างเกี่ยวกับบรรไดบ้านของเรา ลองถามตัวเองดูซิว่า บรรไดบ้านที่ท่านขึ้นลงประจำ มีกี่ขั้น ตรงไหนที่มีตำหนิบ้าง ก็ท่านวิ่งขึ้นวิ่งลงทุกวันไม่ใช่หรอ น้อยคนนักที่ตอบได้ว่าบรรไดบ้านมีกี่ขั้น เพราะที่ท่านวิ่งขึ้นวิ่งลงทุกวันน่ะ เป็นการทำเพราะความเคยชิน ไม่ใช่การรู้สึกตัว ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ จะแตกต่างกันมาก(ไว้มีโอกาสจะอธิบายตรงนี้ให้ทราบนะคะ)
เราลืมคนที่ทำให้เราเจ็บปวดแทบไม่เป็นผู้เป็นคนเพราะเรายึดติด ว่า เค้าต้องเป้นคนดี เป็นคนแบบที่เราต้องการ เรายึดติดตรงนี้มาก จนเราไม่สามารถจะเติมสิ่งบกพร่องต่าง ๆ ของเค้าลงไปได้ พอจะเติมลงไป เราปิดกั้นตัวเองตลอด ไม่ยอมรับความคิดใหม่ ๆ เข้ามาสู่ตัวเอง หากเมื่อเราทำใจให้ว่างได้ สิ่งต่าง ๆ ที่หลั่งไหลเข้ามาในความคิด ล้วนถูกกลั่นกรอง จากความรู้ที่เราได้จากการปฏิบัติธรรม สามารถแยกแยะได้ว่า อะไรที่เราสมควรเก็บ หรือถ่ายโอนออกไปจากหน่วยความจำของเรา เหมือนกับหลุดไปสู่อีกโลกหนึ่งที่เราไม่เคยสัมผัส
นั่นเป็นเพียงการเริ่มต้นของการได้มาซึ่งปัญญา ที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม ซึ่งหากเราสามารถฝึกถึงขั้นสูง ๆ แล้ว หน่วยความจำที่ดีจริง ๆ จะต้องว่างเปล่า ปราศจากความรู้สึกทุกอย่าง รับอารมณ์อะไรเข้ามาก็สามารถผองถ่ายออกจากตัวเองได้ในเวลารวดเร็ว ทุกข์หรือ ก็ทราบว่าทุกข์เป็นแบบนี้ก็อย่าไปทุกข์ปล่อยมันไป สุขหรือ ก็ทราบว่าสุขเป็นแบบนี้ก็ไม่ต้องสุขปล่อยมันไป ไม่ว่า ความรู้สึกจะมาในลักษณะไหน เราสามารถจัดการ(ในทางธรรมเรียกว่า ตามอารมณ์ต่าง ๆ ได้ทัน)ได้ทุกอย่าง เรายังไม่ถึงจุดนั้นหรอกนะคะ เพราะเรามาถึงปิติ เราก็ไม่ผ่านไปสู่สิ่งที่ดีกว่าปิตินั้นได้ การปฏิบัติธรรมจริง ๆ แล้วตามตำราที่หลวงพ่อต่าง ๆ ท่านสอนไว้ นั้น เป็นการหาสิ่งที่เป็นเหตุของการเกิดทุกข์ทั้งหมด หาเพื่อดับที่สาเหตุนั้น ๆ จริง ๆแล้วตามความรู้สึกของเรา ที่เข้ารับการปฏิบัติธรรม เราคิดว่า การปฏิบัติธรรมจริง ๆ เป็นการทำความสะอาดจิตใจ ของคนคนนั้น เพื่อรองรับสาเหตุของการเกิดทุกข์ หรือเกิดสุขต่าง ๆ หากจิตใจเราสะอาดแล้ว ไม่ว่าทุกข์ หรือสุข เราล้วนรับได้เสมอ จริงป่าวคะ
คราวหน้าเราจะพูดถึงรายละเอียดของ ปิติ การติดปิติ อาการของปิติ การหลุดพ้นจากปิติ(ตรงนี้เราอธิบายตามที่หลวงพ่อท่านสอนเรา เพราะเราเองจนป่านนี้เรายังไม่สามารถหลุดพ้นจากปิติได้ซักที)
29 เมษายน 2547 09:46 น.
sun strom
เย็นวันที่ 3
ใคร่ขอเล่าเรื่องเราวที่เกิดขึ้นตอนเย็นวันที่ 3 หลังจากที่ทำวัตรเสร็จแล้วให้ฟังดังนี้นะคะ
ในช่วงที่เรานั่งวิปัสนาอยู่นั้น มีสิ่งเกิดขึ้น และเป็นที่น่าสงสัยกับเรามาก คือ ในขณะที่นั่ง เหมือนมีเสียงกริ่งดังรัว อยู่ในสมอง ดังอยู่แบบนั้น ไม่หายซักที แม้เราจะตั้งใจฟัง หมายถึงหยุดเคลื่อนไหว แล้วนั่งนิ่ง ๆ เพื่อสังเกตุดูว่า เป็นเสียงที่เกิดมาจากไหน เราก็ยังได้ยิน เราเป็นกังวลมาก ทนไม่ได้ เดินดุ่มๆ ไปหาหลวงพ่อ แต่ในช่วงเวลานั้น เป็นเวลาที่ท่านเก็บอารมณ์ ไม่สามารถรบกวนได้ จึงต้องเดินกลับมา แล้วลงมือปฏิบัติต่อไปเรื่อย ๆ จริง ๆ แล้วตอนกลางคืน หลวงพ่อท่านกำชับว่า ให้ทุกคนนอนให้ตรงเวลา แต่คืนนั้นกว่าเราจะเข้านอนได้ ก็ปาเข้าไปตั้งสี่ทุ่มกว่า ๆ แม้เราจะเปลี่ยนท่านั่งมาเป็นเดินจงกลม อาการดังกล่าวก็ไม่หายไป
เช้าวันที่ 4 หลังจากที่เราทำวัตรเช้าเสร็จ เราเล่าอาการที่เกิดขึ้นกับเราให้หลวงพ่อท่านฟัง ท่านบอกเราแต่เพียงว่า ไม่ให้เราสนใจ ไม่ให้เรากำหนดจิตใจไว้ตรงเสียงนั้น ให้ทำจิตใจให้ว่าง เพื่อรอรับสิ่งใหม่ ๆ ที่จะเวียนมาเกิดกับจิตใจเรา โยมไม่ต้องเอาจิตไปจดจ่อกับอาการนั้นน่ะ ให้ทำเหมือนกับทราบแต่ไม่ทราบ เราไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ แต่ในเมื่อท่านบอกแบบนั้นเราจะลองปฏิบัติตามดู
เราเริ่มต้นการปฏิบัติของเช้าวันที่ 4 ด้วยการเดิน ในขณะที่เดิน ความคิดเราจะคิดไปด้วยเรื่องต่าง ๆ นา ๆ หากเราไม่สามารถทำสมาธิขึ้นมาได้ เราจะตามความคิดไม่ทัน แม้เราจะคิดไปถึงไหน เราต้องดึงความคิดมาอยู่กับตัวเราให้ได้ ให้รู้สึกตัวว่าขณะนี้เราทำอะไรอยู่ ตลอดสามชั่วโมงที่เราใช้ในการเดิน เสียงที่เราเคยได้ยินกลับไม่ได้ยิน หากแต่ในบางครั้งจะเกิดอาการอย่างอื่นขึ้นมาแทน แต่อาการต่าง ๆ เหล่านั้นก็จะหายไปในเวลาไม่นานนัก เรารู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่เกิดขึ้นกับเรา
เรารู้สึกตัวในการเปลี่ยนแปลง การเดินเราเดินเบาขึ้น การพูดเราพูดเสียงเบาลง การรับประทานอาหารก็นิ่ง เสียงกระทบของช้อนกับชามไม่มีให้ได้ยิน ไม่รู้สึกหิว แม้จะทานข้าวเพียงวันละ 1 มื้อ มันเหมือนเรามีพลังงานอะไรอยู่ในตัวเรา แต่เราไม่ทราบ มันสุข เย็น อยู่ในใจลึก ๆ
เพียงสี่วันที่เราเข้าปฏิบัติ เราก้าวมาถึงตรงนี้ นับว่าไม่เลว
28 เมษายน 2547 12:01 น.
sun strom
ตกกลางคืน หลังจากทำวัตรเย็นเสร็จ เราก็เข้ากรด นั่งกัมฐาน กลางคืนค่อยดีขึ้นบ้าง ไม่เหนื่อย ไม่ง่วง นั่งได้ยาว 1 ชั่วโมง ไม่ต้องเปลี่ยนท่านั่ง หลังจากนั้นก็ลุกขึ้นมาเดินจงกลม ก็ดีขึ้นอีกแหละ เดินได้ไม่ติดขัดอะไร
เช้าวันใหม่ เป็นวันที่ 3 ที่เราเข้าปฏิบัติธรรม วันนี้ทำวัตรเช้า มันเย็นจับจิต สงบบอกไม่ถูก ทราบแต่ว่า การท่องบทสวดมนต์ มันลื่นไหล ไม่ติดขัด ซึ่งเริ่มตั้งแต่ คำบูชาพระรัตนตรัย ต่อด้วย ปุพพภาคนมการ ตามด้วยนโม ตัสสะ 3ครั้ง แล้วเริ่มสวดบท พุทธาภิถุติ บทธรรมาภิถุติ บทสังฆาภิถุติ บทรตนัตตยัปณามคาถา บทสังเวคปริกิตตนปาฐะ ไม่เคยทราบว่าตัวเองชอบแบบนี้ การสวดมนต์คนส่วนใหญ่บอกว่าน่าเบื่อ แต่สำหรับเรา มันเหมือนขึ้นสวรรค์ เสียงสวดมนต์มันก้องกังวาน นุ่ม แผ่ว ไปตามจังหวะที่ท่อง เราไม่ทราบว่าเวลานี้เรามาถึงจุดไหน จนกว่าหลวงพ่อท่านจะอธิบายให้ฟัง
วันนี้ ใคร่ขอลงรายละเอียดในความรุ้สึกที่เกิดขึ้นระหว่างที่นั่ง เดิน
หลังจากสวดมนต์เสร็จ เราเดินกลับที่พัก ลงมือนั่งวิปัสสนากัมมฐาน ที่ผ่านมาสองวัน เรามีอุปสรรคมากมาย ทั้งปวดศีรษะ ง่วงนอน หลวงพ่อท่านย้ำเสมอว่า ให้ทำตัวให้ว่าง เราไม่ทราบว่าการทำตัวให้ว่าง ทำอย่างไร ก็เราว่างแล้วนี่นา ไม่ได้ทำอะไร แล้วยังตั้งใจปฏิบัติอีกต่างหาก มาทราบทีหลังโดยบังเอิญว่า ว่างในความหมายของหลวงพ่อ คือทำจิตให้ว่าง ร้อนไม่คิด หนาวไม่คิด ไม่ยึดติดสิ่งใด สิ่งหนึ่ง วันนี้เรานั่งกัมฐานด้วยความโล่งโปร่ง ตัวเบาหวิว ๆ ไม่เหนื่อย เราไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น รู้สึกแต่ว่า เรานั่ง 2 ชั่วโมงติดต่อกันได้โดยไม่เหนื่อย ไม่ง่วง จิตใจเบา กายเบา เวลาเดิน จะทราบว่าเวลานี้เรากำลังเดิน ไม่เดินเหมือนความเคยชินเหมือนแต่ก่อน ไม่ปวดขาอีกแล้วนะคะ นี่หรือเปล่าที่เค้าเรียกว่า สุขกาย สบายใจ เป็นแบบนี้หรือ ก้อถามตัวเองในความคิดตลอดค่ะ
วันนี้หลังจากที่ทานข้าวเสร็จ เรารีบกลับที่พัก เราใคร่ทราบว่า ต่อไป เราจะเปลี่ยนอะไรอีก นี่ก็อีกแล้วซิที่เราติด ติดอยากรู้ ก็หลวงพ่อท่านสอนทุกวันนะคะว่า จงทำตัวให้ว่าง เราก็มาติดอีกแล้ว จะไปถึงไหนป่าวน้าาาาาาาา
ต่อวันที่ 4 นะคะ
27 เมษายน 2547 08:09 น.
sun strom
เช้าวันใหม่ ตื่นตีสี่ อาบน้ำด้วยเวลาเพียง 5 นาที เคยเป็นอยู่สะดวกสบาย เคยเลือกที่อาบน้ำอุ่น น้ำเย็น แบบสบาย ๆ ที่บ้าน เคยอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายแบบหมดจดทุกครั้ง วันนี้ต้องตัดใจ อาบน้ำในตุ่ม โดยนุ่งผ้าถุงที่ตัวเองไม่ชำนาญ มันจะหลุดป่าวว้า ตัดใจยากจริง ๆ นะคะ สำหรับคนที่ไม่เคย เก็บกรดเรียบร้อย แต่งตัวเสร็จเข้าไปรวมกลุ่มในศาลา
รับบททำวัตรเช้ามาถือไว้ในมือ พระท่านก็เริ่มสวด มันยาวจังนะคะ จำไม่ได้ซักบท ก็ท่องไปเรื่อย ๆ ตามพระท่านมีความรู้สึกแปลกใหม่แทรกขึ้นมาในขณะที่ทำวัตรเช้า รู้สึกตัวว่า เราชอบแบบนี้ เสียงนี้ ฟังแล้วเหมือนเราเข้าไปอยู่ในอีกโลกหนึ่ง ที่เต็มไปด้วยความสงบ จังหวะของเสียงทำวัตรเช้า นุ่ม กังวาน เย็นใจ 1 ชั่วโมงที่นั่งทำวัตรเช้า ไม่เบื่อเลย ไม่เหนื่อย ไม่ง่วง
พระท่านสอนว่า การทำอะไร หากเราไม่ทำตัวให้ว่าง เราไม่สามารถจะเติมอะไรลงไปได้ เหมือนน้ำในตุ่มที่เต็มแล้วค่ะ
เสร็จจากทำวัตรเช้าเสร็จก็แยกย้ายกันไปปฏิบัติธรรม เช้าวันนี้หลวงพ่อท่านมาให้ความรู้ สอนวิธีนั่งวิปัสนา สอนวิธีเดินจงกลม ต่อจากเมื่อวานนี้ หกโมงเช้า เรากลับไปที่กรด เราเลือกวิธีที่จะนั่งก่อน ในใจกะว่าจะนั่งติดต่อกันซักสองชั่วโมง หลังจากนั้นจะลุกเดิน มองที่เสื่อ ที่ทางวัดจัดหาให้ มองแล้วก็ปลงว่า เราอยู่กับคนหมู่มากจะให้สะดวกสบายเหมือนบ้านเราไม่ได้ (เมื่อก่อนนี้เราเป็นคนติดความสะดวกสบายมาก) ในเมื่อคนอื่นเขาอยู่ได้เราก็ต้องอยู่ได้ซิ เกิดทิฐิมานะที่จะเอาชนะสิ่งเหล่านี้ (เกิดกิเลสขึ้นในใจแล้วค่ะ)
นั่งพับเพียบวางมือบนหัวเข่า เรียบร้อยก็เริ่มพลิกมือขวาขึ้นให้ตั้งฉากกับหัวเข่า เสร็จแล้วยกมือขึ้นให้เสมอศีรษะ วาดมือมาวางไว้ที่หน้าอก เอามือลงไปตั้งฉากกับหัวเข่า แล้วคว่ำมือลงบนหัวเข่า หลังจากนั้น ก็เป็นมือด้านซ้ายบ้าง ทำแบบนี้สลับกันไปเรื่อย ๆ แรก ๆ เราไม่ชำนาญก้อจะเกิดการเสียจังหวะ ทำไม่ถูก ความคิดจะวนเวียน จับจ้องอยู่กับท่าทางการทำสมาธิจนไม่ไปไหน เพราะหากคิดไปที่อื่น ท่าทางก็จะผิด วันแรกของเราเป็นวันที่ทรมานมาก ความคิดจะวนเวียนอยู่แบบนี้ เกิดการง่วงนอน เบื่อ ไม่อยากทำ ปวดศีรษะ ใจเริ่มท้อทอยแล้ว จะทำไปทำไมแบบนี้ ไหนบอกว่ามาปฏิบัติธรรมแล้วจะสบายใจ ทำไมมันเบื่อแบบนี้ ความคิดที่กะไว้ในใจว่าจะนั่ง 2 ชั่วโมงติดต่อกัน นั้น ผ่านมายังไม่ถึงชั่วโมง มันเบื่อแล้ว ใจเจ้ากรรมคิดถึงเตียงนุ่ม ๆ น้ำอุ่นสบาย ๆ ขึ้นมาทันทีทันใด โอ้ย ปะป๋าไปไหน ทำไมไม่มารับเรากลับบ้านเสียทีน๊ะ
1 ชั่วโมงผ่านไป เราคิดว่าเราจะไม่ไหวแล้ว ง่วงนอนเหลือเกิน เราจะหยุดนั่งสมาธิแล้วหละ จะนอนพักดีกว่า ให้ดีขึ้นซักหน่อยค่อยทำต่อ แต่ ...แว็บที่เราคิดจะนอน พระพี่เลี้ยง ท่านเดินมาหา แล้วบอกว่า โยมลองเดินดูน๊ะ เดินไปเรื่อย ๆ อยากจะคิดอะไรก็คิดไป ไม่ต้องกังวลว่าจะเดินผิดหรือเดินถูกก็ขอให้เราเดิน เราก็อายพระท่าน เดี๋ยวจะหาว่าเราไม่เอาไหน ก็เปลี่ยนเป็นเดินจงกลม ก้าวแรกที่เดินเรานับหนึ่ง สอง สาม ไปเรื่อย 12 ก้าวเราก็วกกลับ เอ้า...ความคิดเราก็มาจับจ้องที่การเดินอีกแล้ว โอ้ย ทำไมต้องนับการเดินด้วยหละ พระท่านไม่ได้สอนให้นับนะคะ แต่ความที่เรากลัวจะขาดจะเกิน เวลาที่เราเดินก็เลยต้องนับ เดินไปซักหน่อย เบื่ออีกแหละ อาการปวดขามารุมล้อมอีกแล้ว นั่งทำให้ปวดศีรษะ แต่การเดินทำให้ปวดขา ทำไมมันทรมานแบบนี้
กว่าจะผ่านช่วงเช้า ไปได้ เราต้องเปลี่ยนทั้งนั่ง และเดิน ไม่รู้กี่รอบ แล้วอย่างนี้ เราจะไปถึงไหนหรือ
11.30 น. รับประทานอาหาร มีอาหารแต่ละอย่างวางให้เป็นถาด ๆ มีผลไม้ เวลารับประทานจะต้องตักใส่ชามเดียวกัน ให้ตักแต่น้อย ให้ทานให้หมด แล้วหากไม่อิ่มค่อยตักเพิ่ม ให้ทุกคนทานให้อิ่ม เพราะวันหนึ่งทานแค่มื้อเดียวเท่านั้น ทานเสร็จต้องล้างจานเก็บให้เรียบร้อย
ตกบ่าย ความที่เราทานอาหารมากเกินไป ทำให้เราง่วงมาก เดินไม่ถึง15 นาทีก็ง่วงแล้ว นั่งไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็ง่วงแล้ว อาการต่าง ๆ ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง เป็นบ่ายที่ทรมาน เบื่อเสียนี่กระไร
เราภาวนาให้ถึงตอนเย็นเร็ว ๆ เพราะจะได้เข้าทำวัตรเย็น จะได้สวดมนต์ จะได้รู้สึกดีดี นี่เราติดทำวัตรเช้าเย็นแล้วหรือ
ก็ผ่านไปวันหนึ่งแล้วนะคะ ยังไม่ได้อะไรขึ้นมาซักนิด.......
26 เมษายน 2547 04:30 น.
sun strom
วันแรกของการปฏิบัติธรรม ............
การที่เราสนใจอยากเข้าปฏิบัติธรรม ทำให้ปะป๋า แม่ ดีใจมาก ดูแล้วมันมากเกินกว่าได้ของที่ถูกใจ ท่านทั้งสามคน รับเป็นเจ้าภาพสำหรับคนที่สนใจเข้าร่วมปฏิบัติธรรมด้วย จัดหาอาหารไว้ให้เสร็จสรรพ ในช่วง 7 วัน ที่เราเข้าปฏิบัติ ดูเหมือนเป็นเรื่องใหญ่สำหรับครอบครัว ทั้ง ๆที่ตัวเราเองไม่มีความมั่นใจเลยว่า จะไปได้ถึงตรงไหน แค่นุ่งผ้าถุงเรายังต้องหัด (ก็ไม่เคยทราบวิธีนุ่งผ้าถุงนะคะก่อนนั้นก็ใส่กางเกง) กว่าจะนุ่งเป็นก็หัดกันนานพอสมควร การเข้าปฏิบัติธรรม ต้องนุ่งห่มผ้าสีขาว ในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมปฏิบัติทั้งสิ้น 15 คน
ถึงวัดป่าช้าตั้งแต่หกโมงเช้า ปะป๋า แม่ แม่เล็ก มาพร้อมหน้า รวมไปถึงญาติ พี่น้อง อีกหลาย ๆ คน ที่ไปส่งเรา เข้าไปกราบหลวงพ่อ กราบเสร็จท่านก็หันคุยกับปะป๋า ยินดีมากที่ถึงวันนี้เสียได้ โยมไม่ต้องเป็นห่วงน๊ะ ถึงเวลาปล่อยก็ควรปล่อย เราควรออกมาดูอยู่ห่าง ๆ คอยเป็นกำลังใจ ท่านก็คุยกันหลายเรื่อง เราไม่ค่อยสนใจฟังเท่าไหร่ เพราะหลวงพ่อรูปนี้ไม่ใช่หลวงพ่อรูปที่ไปบ้านเรา เป็นอีกรูปหนึ่งที่ท่านแนะนำมา เพียงแต่เป็นพระปฏิบัติสายเดียวกัน ข้าวของที่นำไปด้วย ต้องนำกลับบ้านหมด คงเหลือเฉพาะผ้านุ่งสำหรับเปลี่ยน 1 ชุด พร้อมกรด สำหรับปักเพื่อการปฏิบัติธรรมดังกล่าว
8.00 น. ทั้ง 15 คนพร้อมกันที่วัด ก็มีการแนะนำการปฏิบัติตัวว่าการปฏิบัติธรรมต้องทำอะไรบ้าง การรับประทานอาหารนั้น พร้อมกัน 11.30น. วันละ 1 มื้อเท่านั้น กิจที่ต้องทำในแต่ละวันนั้น ต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่ ให้เวลาครึ่งชั่วโมง สำหรับทำกิจส่วนตัวให้เสร็จ ตีสี่ครึ่ง รวมตัวกันที่ศาลาเพื่อทำวัตรเช้า เสร็จจากทำวัตรเช้าก็จะมีการสนทนาธรรม ใครมีปัญหาตรงไหนถามได้ตอนนี้ และในแต่ละวันก็มีการชี้แนะแนวทางการปฏิบัติตัวหากมีการก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม ว่าต้องทำอะไรในขั้นตอนต่อไป และชี้แนะสำหรับคนที่ไปไม่ถึงไหน หลังจากนั้น ก็จะเป็นการปฏิบัติธรรม ใครจะนั่ง เดิน ก็แล้วแต่อัธยาศรัย เย็นหนึ่งทุ่มตรงพร้อมกันที่ศาลา ทำวัตรเย็นเสร็จก็เข้าสู่การปฏิบัติธรรม (นั่งและเดิน)เข้านอนสามทุ่มครึ่งทุกวัน
สถานที่สำหรับปักกรดของแต่ละคน จะอยู่ห่างกันประมาณ 15 เมตร สำหรับเราท่านให้เราปักกรดเป็นคนที่หนึ่ง ที่ข้าง ๆ เป็นเบ้าสำหรับเก็บศพคนที่ตายแล้วเรียงรายกัน 5 ศพ ความที่เราไม่ทราบว่าปูนที่ก่อเป็นสี่เหลี่ยมนั้นเป็นที่สำหรับใส่คนที่ตายแล้วรอไว้เผา เราก็เลยไม่กลัว ก็ปักกรดเฉย จริง ๆ เราเป็นคนขี้กลัว ความที่เราไม่ทราบก็ช่วยเราได้มากพอสมควร
การนั่งภาวนา นั้น ท่านสอนให้นั่งพับเพียบ คว่ำมือทั้งสองวางไว้บนหัวเข่า จากนั้นให้พลิกมือ(ทำที่ละข้าง)ขึ้นให้ตั้งฉากกับหัวเข่า ค่อย ๆ ยกมือขึ้นให้อยู่เสมอศีรษะ หลังจากนั้นให้วาดมือมาวางไว้ที่หน้าอก แล้วเอามือไปวางไว้ที่หัวเข่า คว่ำมือลง ทำสลับกันไปเรื่อย ๆ พยายามอย่าให้เสียจังหวะ และควรรูสึกตัวทุกครั้งที่เรายกมือ วาดมือ หรือคว่ำมือ ไม่ต้องภาวนาว่า พุทโธ
การเดินจงกลม ให้เดินประสานมือไว้ข้างหน้า หรือจะประสานมือไว้ข้างหลังก็ได้ ระยะทางที่เราใช้เดินจะอยู่ระหว่าง 12-15 ก้าว แล้วหมุนกลับมาที่เก่า สำหรับการเดินนั้น ท่านบอกว่าให้รู้สึกตัวไว้ ความคิดเราจะคิดไปถึงไหน เรื่องอะไรก็ปล่อยให้คิด เพียงแต่ให้เรารู้จักดึงความคิดมาไว้กับตัวเอง ให้ทราบว่า ตอนนี้เราทำอะไรอยู่
นี่แค่วันแรกที่เข้าสู่ร่มของการปฏิบัติธรรม อะไร ๆ มันช่างยุ่งยากจริงหนอ เราคิดอยากกลับบ้าน แต่ด้วยความที่เป็นคนดื้อ ในเมื่อมาแล้วก็จะพยายามดูซักครั้ง