. ๏พระดำรัสธรรมในพระนิพนธ์ พระปิยมหาราช ฯ ๚. ๏ บัณฑิตวินิจแล้ว..............แถลงสาร...สอนเอย ทศนฤทุมนาการ.......................ชื่อชี้ เหตุผู้ประพฤติปาน....................ดังกล่าว..........นั้นนอ โทมนัสเพราะกิจนี้.....................ห่อนได้เคยมี๚ เพราะทำความดีทั่วไป ๑ ๏ ทำดีไป่เลือกเว้น...............ผู้ใด....ใดเฮย แต่ผูกไมตรีไป............................รอบข้าง ทำคุณอุดหนุนใน.........................การชอบ.....ธรรมนา ไร้ศัตรูปองมล้าง..........................กลับซ้องสรรเสริญ๚ เพราะไม่ได้พูดร้ายต่อใครเลย ๒ ๏ เหินห่างโมหะร้อน..................ริษยา สละส่อเสียดมารษา.......................ใส่ร้าย คำหยาบจาบจ้วงอา-........................ฆาตขู่...เข็ญเฮย ไปหมิ่นนินทาป้าย...........................โทษให้ผู้ใด ๚ เพราะถามฟังความก่อนตัดสิน ๓ ๏ ยินคดีมีเรื่องน้อย...................ใหญ่ไฉน.....ก็ดี ยังบ่ลงเห็นไป................................เด็ดด้วน ฟังตอบสอบคำไข..........................คิดใคร่...ครวญนา ห่อนตัดสินห้วนห้วน........................เหตุด้วยเบาความ ๚ เพราะคิดเสียก่อนจึงพูด ๔ ๏ พาทีมีสติรั้ง................รอคิด รอบคอบชอบแลผิด.......................ก่อนพร้อง คำพูดพ่างลิขิต...............................เขียนร่าง...เรียงแฮ ฟังเพราะเสนาะต้อง........................โสตทั้งห่างภัย ๚ เพราะงดพูดในเวลาโกรธ ๕ ๏ สามารถอาจห้ามงด..................วาจา...ตนเฮย ปางเมื่อยังโกรธา...........................ขุ่นแค้น หยุดคิดพิจารณา............................แพ้ชนะ....ก่อนนา ชอบผิดคิดเห็นแม้น.........................ไม่ยั้งเสียความ ๚ เพราะได้กรุณาต่อคนที่ถึงอับจน ๖ ๏ กรุณานรชาติผู้.....................พ้องภัย..พิบัติเฮย ช่วยรอดปลอดความไขษย...............สว่างร้อน ผลจักเพิ่มพูนใน..............................อนาคต...กาลแฮ ชนจักชูชื่อช้อน...............................ป่างเบื้องประจุบัน ๚ เพราะขอโทษบรรดาที่ได้ผิด ๗ ๏ ใดกิจผิดพลาดแล้ว...............ไป่ละ..ลืมเลย หย่อนทิฐิมานะ...............................อ่อนน้อม ขอโทษเพื่อคารวะ..........................วายบาด...หมางแฮ ดีกว่าปดอ้อมค้อม..........................คิดแก้โดยโกง ๚ เพราะความอดกลั้นต่อผู้อื่น ๘ ๏ ขันตีมีมากหมั้น.....................สันดาน ใครเกะกะระราน............................อดกลั้น ไป่ฉุนเฉียวเฉกพาล.....................พาเดือด....ร้อนพ่อ ผู้ประพฤติดั่งนั้น.........................จักได้ใจเย็น . .๚ เพราะไม่ฟังคำคนพูดเพศนิทาน ๙ ๏ ไป่ฟังคนพูดฟุ้ง....................ฟั่นเฝือ เท็จและจริงจานเจือ.....................คละเคล้า คือมึดที่กรีดเถือ..........................ท่านทั่วไปนา ฟังจะพาพลอยเข้า......................... พวกเพ้อรังควาญ ๚ เพราะไม่หลงเชื่อข่าวร้าย ๑๐ ๑0 อีกหนึ่งไป่เชื่อถ้อย...................คำคน....ลือแฮ บอกเล่าข่าวเหตุผล..........................เรื่องร้าย สืบสอบประกอบจน..........................แจ่มเท็จ...จริงนา งบ่ด่วนยักย้าย...................................ตื่นเต้นก่อนกาล ๚ะ ๑ ข้อความตามกล่าวแก้...............สิบประการ...นี้นอ ควรแก่ความพิจารณ์...........................ทั่วผู้ แม้ละไป่ขาดปาน..............................โคลงกล่าว...ก็ดี ควรระงับดับสู้....................................สงบบ้างยังดี ๚ะ๛ ขออัญเชิญพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันว่าด้วย การละเว้นวจีทุจริต เห็นเป็นสิ่งดีในการนำเสนอ ทั้ง บทโคลงสี่สุภาพ ซึ่งทรงใข้ถ้อยคำเรียบง่าย เข้าใจง่าย วันนี้ขอพระราชทานนำลง เพื่อเป็นประโยชน์แก่ชนทั้งหลาย ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า ทิกิ_tiki 00:30 นาฬิกา พระอาทิตย์ ๒๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๘ พระราชนิพนธ์ในล้นเกล้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระปิยมหาราชโคลงสุภาษิต**นฤทุมนาการ** กิจสิบประการที่ผู้ประพฤติยังไม่เคยเสียใจ ที่มา วรรณสารวิจักษณ์ เล่ม ๔ กรมวิชาการ กระทรวง ศึกษาธิการ ฉบับพิมพ์พุทธศักราช ๒๕๔๐ ๏พระราชนิพนธ์โคลงสุภาษิต **นฤทุมนาการ**๑ ๚ ที่มา จากหนังสือ เล่มเดียวกัน ได้บรรยาย ความ โคลงสุภาษิตนี้ไว้ว่า คำว่า นฤทุมนาการ เป็นศัพท์สมาส ที่มีการสนธิ แยกได้เป็นขั้นๆดังนี้ นฤทุมน + อาการ (อาการ แปลว่า สภาพ กิริยา ) นฤทุมน เป็นศัพท์สมาสอีกเช่นกัน แยกได้เป็น นฤ + ทุมน (นฤ เป็น อุปสรรค แปลว่า ปราศจาก ไม่) ทุมน แยกเป็น ทุ + มน (ทุ เป็น อุปสรรค แปลว่า ไม่ดี เสีย มน แปลว่า ใจ ) เมื่อแยกศัพท์ เช่นนี้แล้ว จะเห็นว่า ความหมายรวม นฤทุมนาการ ก็คือ สภาพที่ปราศจากความเสียใจ หรือ สภาพที่ไม่ทำให้เสียใจ ซึ่ง ตามนัยแห่งโคลงสุภาตนี้มี ๑๐ ประการ ดังที่ปรากฏในบทพระราชนิพนธว่า .กิจ ๑๐ ประการที่ผุ้ประพฤติ ยังไม่เคยเสียใจ ที่มา หน้า ๑๔๒ เล่มเดียวกัน : 4895 - tiki : 264974 - ๒๓ ต.ค. ๔๘ - 00 :30 กิจสิบประการที่ผู้ประพฤติยังไม่เคยเสียใจ 1. เพราะทำความดีทั่วไป 2. เพราะไม่ได้พูดร้ายต่อใครเลย 3. เพราะถามฟังความก่อนตัดสิน 4. เพราะคิดเสียก่อนจึงพูด 5. เพราะงดพูดในเวลาโกรธ 6. เพราะได้กรุณาต่อคนที่ถึงอับจน 7.เพราะขอโทษบรรดาที่ได้ผิด 8.พราะความอดกลั้นต่อผู้อื่น 9.เพราะไม่ฟังคำคนพูดเพศนิทาน 10.เพราะไม่หลงเชื่อข่าวร้าย
24 ตุลาคม 2548 09:47 น. - comment id 529895
มาร่วมถวายบังคมด้วยค่ะ พี่ทิกิ..
25 ตุลาคม 2548 10:28 น. - comment id 530818
ขอขอบพระคุณทุกท่านที่มีใจกรุณา มาร่วมถวายพระพร ในปีนี้เป็นที่น่ายินดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมหาราช ท่านได้เสด็จจากพระราชวังไกลกังวล มาวางพวงมาลา พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช
23 ตุลาคม 2548 10:01 น. - comment id 531067
ขอร่วมถวายพระพรและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย
24 ตุลาคม 2548 00:07 น. - comment id 531265
ร่วมถวายบังคมด้วยค่ะ ถวายบังคมแทบเท้า.............สดุดี ระลึกพระคุณมี.....................มากแท้ ไทยเทศต่างบุรี.................เทียมเท่า ราษฏร์ทุกข์ปลุกปลอบแก้.....กลับให้คืนขวัญ
24 ตุลาคม 2548 08:29 น. - comment id 531286
แวะอ่านครับ.....
23 ตุลาคม 2548 01:26 น. - comment id 533166
น้อมพระราชดำรัสขึ้นเหนือเกล้า ข้าผองเราจดจำทุกคำสอน เทอดพระเกียรติองค์ท่านด้วยการวอน ให้พี่น้องผองเราปรองดองกัน
23 ตุลาคม 2548 01:34 น. - comment id 533167
...ขอร่วมถวายพระพร... ขอบคุณเจ้าบ้าน k. tiki ชื่นชมกลอนงาม สาบนรสิงห์
23 ตุลาคม 2548 09:27 น. - comment id 533185
ยอดเยี่ยมค่ะ
23 ตุลาคม 2548 09:28 น. - comment id 533186
ขอร่วมถวายความเคารพด้วยขอรับ
23 ตุลาคม 2548 22:00 น. - comment id 535821
ร่วมถวายพระพรสมเด็จพ่อร.๕ด้วยค่ะ
23 ตุลาคม 2548 18:06 น. - comment id 535835
เรนขอร่วมถวายพระพรพระองค์ท่านด้วยนะคะ.. ..