แผ่นดินพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ยุคทองแห่งการดนตรี กวี แลศิลปะ (กลบทบัวบานขยายกลีบ) (๑) สิ้น..บัลลังก์บ่ายฟ้า.........จุฬาราง แล้วฤา สิ้น..ศึกสรรพรายทาง................ทัพเก้า สิ้น..ทุกข์สุขสละวาง....................วัฏใหญ่ ยิ่งนา สิ้น..แผ่นดินผลัดเจ้า.................จรัสค้างชีพไฉนฯ (๒) พระสืบแท่นกษัตริย์ท้าว...แทนบิดา ทรงเครื่องพระภูษา.....................สง่าพื้น เปลวทองปลั่งพารา......................ไพรจิตร จรดเอย จารีตสังคีตครื้น.........................ครั่นฟ้าเฟือนสวรรค์ฯ (๓) โหมแตรสังข์ปี่โพ้น...........พลับพลา สงฆ์สวดพาหุงมหากา..................โศลกซ้อง ราชพิธีบรมราชา-........................ภิเษก พ่อนา เสนาะพาทย์ประโคมก้อง...........เกริกหล้าโพยมหนฯ (กลบทบัวบานขยายกลีบ) (๔) ผลัด..เปลี่ยนกษัตริย์เจ้า....จรบัน สยามนอ ผลัด..เครื่องกกุธภัณฑ์..................ปลาบปลื้ม ผลัด..ภักดิ์บ่อาสัญ.........................ณรงค์ทาส นะแม่ ผลัด..แผ่นดินพม่าครึ้ม.................กริ่งใต้ทัพถลางฯ (๕) ศึกอดีตรุมกรีดเร้า..........รอยลาญ นะแม่ ปราบม่านเจ้าชมชาญ..................ชักช้าง ชายชาติมิอาจทาน.......................ทัพแตก เทวษนอ ป่าเถื่อนห่อนเลือนร้าง.................ระลึกแค้นไพร่สถุลฯ (กลบทวัวพันหลัก) (๖) อยุธยายามยากโพ้น.....เพรงกาล แลแม่ กาลแตกสาแหรกลาญ.............ร่างช้ำ ช้ำชอกหอกเสียบพาล.............แปลบพร่า สกนธ์เอย พร่าไพร่เอ็นหวายซ้ำ..............เสียบร้อยเลือดสลายฯ (๗) เสียงร้องร้าวร่ำไห้........ปฐพี แม่เอย หมกป่าคาหลายผี....................เหยื่อแร้ง กวาดต้อนสู่หงสาวดี.................ดงดิบ จากค่ายสามโพธิ์แจ้ง...............ประลาตแล้วเป็นไฉนฯ (๘) พระปูนพระอิฐสร้าง.....สอนใจ ใดฤา ระลึกภาพอเวจีภัย...................พี่ห้าม เหตุประหวัดพลัดเวียงชัย.........ชาติแจร่ม นะแม่ สลักติดนิมิตข้าม.....................คั่งแค้นอรินทร์เหวยฯ (๙) หวังพระพุทธเลิศหล้า....หลอมชน นะพ่อ ฟื้นถิ่นฐานมณฑล.....................หว่านข้าว เบิกบุญหล่อเทียนลน.................ร้ายพ่าย ขับกลิ่นมิ่งไม้เคล้า....................คู่หล้าวนาสยามฯ (๑๐) ปางพระพุทธเลิศหล้า.....นภาลัย ราชบุตรเกรียงไกร.....................ก่อนน้อย ตามเสด็จภูวไนย........................นองศึก นานนา พระบิดาหอบห้อย........................ห่อนห้ามณรงค์หาญฯ (๑๑) ราชพิธีโปรดให้................หวนครา อยุธยายศล่มลา.............................เลิกร้าง วิสาขบูชา......................................ชุบชื่น ชีพนา แสงพระพุทธเคล้าข้าง....................ขับฟ้าสบสมัยฯ (๑๒) สังคายนาบทสร้อย......เสน่ห์มนตร์ เสริญสวดร่ำมณฑล...................สงบแท้ สงฆ์สาวกอำพน........................ปราชญ์เปรื่อง เพรงพระธรรมล้ำแล้.................หล่อเลี้ยงเหล่าสยามฯ (๑๓) พระประสงค์โปรดแก้ว....กิจกลาง บูรณะพระปรางค์..........................เก็จเก้า อุษาโยคอโศกลาง.........................ฤกษ์รุ่ง รุจีเอย ประพุทธ์ประภาสเจ้า.....................วัดแจ้งอรุณฉายฯ (๑๔) ภูมิภุชโปรดสิ้น.................สนองเทศ รณรงค์ประเวศน์...........................วัตรหน้า ผูกอังฤกษโปรตุเกส.......................การทูต เจริญนา จีนส่งเสริมการค้า...........................ครึกครื้นคั่งขายฯ (๑๕) พระปรีชาชุบชื้น...............เชลงกานท์ ตาดทิพย์ศิลปาการ........................คร่ำแก้ว ศิลปะสร้อยสังวาล..........................วังค่ำ แสดงนา พิณพาทย์ไพรำแผ้ว......................ผ่องผ้าศิลป์สยายฯ (๑๖) บานมณเฑียรสลักไม้.....มาลย์เนียน วัดระฆังระเมียร........................ม่านฟ้า หอไตรร่ำรำไพเทียน..................ประดับค่ำ แสงระยับขับบานอ้า...................อ่องพื้นสว่างสรวงฯ (๑๕) บานประตูจำหลักไม้..........มนตร์วนา สุทัศน์วิหารปรา-............................สาทสร้าง สลักรูปสิงสา-.................................ราสัตว์ กระต่ายใต้จันทร์สล้าง....................แทรกไว้คล้ายฝันฯ (๑๘) หุ่นหลวงพระนึกหน้า......นาบรอย ไม้ปักสลักสอย............................เสาะคว้าน พระยารักใหญ่น้อย......................นาทคู่ เนานา ทิพย์หัตถ์ขัดปรางป้าน.................ปาดไม้สฤษฏ์สรรค์ฯ (๑๙) กวีทองครองเก็จแก้ว........ไกวัล ปราชญ์เปรื่องกรองประพันธ์...........ประพจน์ฟ้า ดั่งทวยเทพประพนธ์ธรรพ์..............ธีรราช พ่อนา โปรยพร่างนภางค์หล้า...................หฤษฎ์สร้อยอักษรฯ (๒๐) อิเหนาพรอดรักน้อง....บุษบา ราชนิพนธ์มณฑา-....................รพคล้าย สุวรรณศิลป์รัมภา.....................รังเรข สยามเอย กลอนละครละม้าย...................มกุฎร้อยกรองสวรรค์ฯ (๒๑) บทละครรัตน์ล้ำ............ลำยอง ไชยเชษฐ์ไกรทอง.....................แต่งไว้ สังข์ทองพระคาวีกรอง.................คำร่าย งามละครดอกไม้.......................มิ่งแก้วมณีพิไชยฯ (กลบทบัวบานขยายกลีบ) (๒๒) เห่..บทเห่กาพย์ถ้อย......ลอยพิมาน ลงฤา เห่..ขนาบทาบทองธาร.................ท่านเกื้อ เห่..ชมเครื่องคาวหวาน................หวิวซ่าน โสตแฮ เห่..นักขัตฤกษ์เชื้อ......................ชดช้อยกาพย์ขวัญฯ (๒๓) เสียงซอซอซาบซึ้ง...........ศศิมนตร์ โสมส่องทองมณฑล......................ทิพย์หล้า บุหลันเลื่อนลงยล..........................ยศยิ่ง กษัตริย์แฮ ซอเซ่นสรวงสายฟ้า-......................ฟาดฝ้าโศกสลายฯ (๒๔) พระองค์ทรงโปรดด้าน.....ดนตรี อุปถัมถ์คีตกวี................................เวี่ยไว้ ปี่พาทย์มโหรี.................................รังรักษ์ สฤษฏ์แฮ ราชภัฏค่ำเช้าไซร้..........................ซ่านซึ้งซอสรวลฯ (๒๕) กวียุคพระเลิศหล้าฯ.............พรรณราย ดั่งเพชรเก็จประกาย.........................นพเก้า พระปรมานุชิตชาย............................ชิโนรส พ่อนา กรมพระยาเดชาฯเร้า........................เร่งร้องสืบศิลป์ฯ (๒๖) กวีเอกกำเนิดนั้น.........พระสุนทรฯ วรรณคดีคลี่ขจร.........................ขจ่างเช้า โคลงแจ้วแว่วขับกลอน...............กรุงกล่อม เสนาะแฮ นิราศหยาดหยดเคล้า.................ภู่ผึ้งมธุสรฯ (๒๗) เสร็จสงค์ราชภิเษกแล้ว...เรียมอนงค์ พี่เอย เสร็จศึกเสี้ยนเผ่าพงศ์....................ประสบเจ้า แพรบำเหน็จธำมรงค์.....................รจิตรับ ขวัญแม่ สไบห่มตระกองเคล้า......................แนบเนื้อหอมสงวนฯ (กลบทช้างประสานงา) (๒๘) พิศพระจันทร์แจร่มหล้า....หลิ่วเงา หลั่นเงื่อนงามระบายเบา..................บ่มฟ้า บุญฟากบ่มสองเรา.........................ร่วมสุข นะแม่ รักสร่างจันทร์เจ้าข้า........................ขจ่างขึ้นแรมหลังฯ (๒๙) เพรงกาลปางศึกร้อน.....รณรงค์ นะแม่ บากบุกป่าฝ่าดง..........................ดิบชื้น หนาวเนื้อบ่ปลิดปลง....................ปรางอุ่น ระลึกแล หวาดหวั่นจันทร์ข้างขึ้น............แจร่มเจ้าเดือนหงายฯ (กลบทกินนรเก็บบัว, บัวบานขยายกลีบ) (๓๐) หอม..มะลิรวยมะลิซ้อน.....แซมวนา แม่เอย หอม..อ่อนอกอ่อนบุษบา...................แบบเจ้า หอม..อวลอบอวลเกศา......................ศรัยสวาท หอม..ชื่นจิตชื่นเช้า.........................ชาตินี้บุญหอมฯ (กลบทนาคบริพัตธ์) (๓๑) แรมรบเรียบล่องน้ำ....ธารปลา ธารปล่อยไพร่ผยองมา..............มาดม้วย มาดเมืองแม่อยุธยา..................ยศหยิ่ง สยามนอ ยศหยาดยอดยิ่งด้วย..............ดาบแก้วกษัตริย์หาญฯ (กลบทครอบจักรวาล) (๓๒) นภางค์กว้างทางช้างเผือก.....พาดนภางค์ สร้อยอ่อนคล้องคอนาง......................เปรียบสร้อย หมู่ลูกไก่ไถทาง................................ทวิหมู่ ระยิบนอ สมานแข่งแสงหิ่งห้อย................หนึ่งหน้าเรียมสมานฯ (กลบทก้านต่อดอก) (๓๓) หนึ่งนวลหนึ่งแม่นั้น......นรีพลี จงรักภักดีมี...............................ใคร่ให้ จากลาล่าไพรี.............................ร้างร่าง แลแม่ หน้าที่ราชการไซร้......................สาปเพี้ยงณรงค์หลงฯ (กลบทบัวบานขยายกลีบ) (๓๔) กลับ..สู่เรียมเหนี่ยวน้าว......นอนเรือน กลับ..สู่หับนับเดือน..........................เคลื่อนคล้อย กลับ..สดับไก่ขันสะเทือน..................ทุ่งรุ่ง แล้วแม่ กลับ..ดื่มเสียงสำเนียงอ้อย................อิ่มลิ้นวจีสมรฯ (กลบทบุษบารักร้อย, บัวบานขยายกลีบ) (๓๕) หอม..จันทร์อุบะอุบะเจ้า.....จำปี เรียมเอย หอม..พุดซ้อนซ้อนวจี......................วจะห้อม หอม..สายหยุดหยุดรวี.....................สวาทพี่ บ่หยุดนอ หอม..รื่นมะลิมะลิล้อม...............ร่ำแก้มตรลบหมอนฯ (๓๖) คะนึงนวลมวลไม้ป่า.........ลดาวัลย์ แม่เอย กลางทัพศึกติดพัน........................ไพล่น้อง ราตรีดอกกระสัน...........................กระส่าย สวาทแม่ จันทน์กะพ้อพะนอข้อง...................ขาดเนื้อนวลระหงฯ (๓๗) ขึ้นสิบห้าค่ำแล้ว.............ลอยบุหลัน โพยมฤา เดือนเจ็ดเดือนแปดผัน................ผ่านข้าม ท้องทุ่งเจิ่งวสันต์...........................ไพสพสุข แล้วแม่ ไถหว่านสะคราญน้ำ.....................อู่ข้าวโกสินทร์ฯ (กลบทบัวบานขยายกลีบ) (๓๘) รอ..พรากหากพม่าแม้น..คืนผยอง รอ...ร่วมบาปบุญครอง..................คู่สร้าง รอ...ชายชาติณรงค์ทอง.................ทเมินศึก อีกเฮย รอ...ชีพดับทัพร้าง........................ร่อยเชื้อทหารหาญฯ ------------------------------------- ในบรรดาวรรคทองของนิราศนั้น กวีขาดไม่ได้ที่จักพรรณาถึงความรักและอาลัย ในหญิงงามแห่งตน และการพลัดพราก หมู่มวลดอกไม้ก็พร้อมใจกันส่งกลิ่นหอมตลบป่า ในยามที่ชายชาญสกาแรมไพรเพื่อการศึก จากการรุกรานของพม่าอยู่เนืองๆ ปลายแผ่นดินรัชกาลที่ ๒ นั้นการศึกสลายแล้ว อู่ข้าวอู่น้ำและดินแดนแห่งดอกไม้ไทยหอม ยังคงงามสะพรั่งประดับยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยที่บ้านเมืองยังดี เสียงขลุ่ยแผ่วแว่วมาสะอื้น บ่งบอกถึงความมั่งคั่งและร่มเย็นเป็นสุข ภายใต้ร่มโพธิ์พระมหากษัตริย์และพุทธศาสนา เมื่อต้นข้าวออกรวงเขียวไสว วสันต์มาเยือนหล้า ชีวิตชาวสยามต้นรัตนโกสินทร์จึงมีมนตร์เสน่ห์ อย่างไม่มีวันจรจางไปจากห้วงลึกแห่งดวงใจ แม้นข้าพเจ้าเกิดไม่ทันสมัยบ้านเมืองยังดีก็ตาม การสงครามมีแต่นำความวิบัติมาสู่เผ่าพันธุ์มนุษย์ แม้กระทั่งพม่าเองก็ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ จึงได้รามือพักรบชาวสยามตั้งแต่นั้นมา กงกรรมกงเกวียนตามสนองอย่างมิต้องสงสัย ในขณะที่สยามประเทศได้ภาคภูมิ และดื่มด่ำกับเสรีภาพจากประเทศยุโรป แล้วเหตุใดเล่าคนไทยสมัยนี้จึงมิรู้จักรักแผ่นดิน ตอบแทนน้ำใจบรรพบุรุษแต่ปางบรรพ์ ที่พึงรักษาบ้านเมืองมา..... แม้เพียงน้อยนิด ถือว่ากตัญญูต่อแผ่นดินแล้ว นึกตอนที่พม่าต้อนชาวกรุงศรีไปหงสาวดีหลังพ่าย เจาะเอ็นข้อเท้าร้อยด้วยเชือกหวายในป่า ต้อนไปเยี่ยงสัตว์ ตายกลางทางก็ให้แร้งกาทึ้งกิน ปวดแปลบเหลือเกิน เกินกว่ามหาพรหมยมพญาองค์ใหนจะรับรู้ ลำน้ำน่าน บุรุษแห่งสายน้ำนิรันดร์ ๕ กันยายน ๒๕๔๘
5 กันยายน 2548 14:53 น. - comment id 511771
รักประเทศไทย ชื่นชมในผลงานคุณเสมอค่ะ
5 กันยายน 2548 15:20 น. - comment id 511787
น่าชื่นชมจริง ๆ งานงดงามขอเก็บไว้ศึกษานะครับ
5 กันยายน 2548 17:37 น. - comment id 511824
แค่ชื่อกลบท...ก็สุดล้ำลึกแล้ว... ชื่นชม..จากใจจริง... สวัสดีค่ะ
5 กันยายน 2548 19:58 น. - comment id 511863
งานงามมากค่ะ...ประทับใจมาก..สมแล้วที่เป็น..เพชรเม็ดงาม...กวีแก้ว...บุรุษแห่งสายน้ำ..นิรันดร์.... ...แวะมาทักทายกันนะคะ...หายไปนาน..สบายดีมั้ยคะ....
5 กันยายน 2548 20:36 น. - comment id 511871
มาทักทายครับ
5 กันยายน 2548 21:14 น. - comment id 511890
๑ เพียรพากย์ยศยิ่งฟ้า เลิศหล้า ยอสรรพปรีชา เกียรติก้อง ยุคศิลปะวรรณา คติ รุ่งเฮย งามบ่ติฤดีซ้อง น่านน้ำลำเพ็ญ
5 กันยายน 2548 21:19 น. - comment id 511894
.....แวะมาอ่านค่ะ ดอกไม้สวยจังค่ะ อ่านแล้ว อึ้งๆๆๆ เก่งๆๆจังๆๆๆ
5 กันยายน 2548 21:32 น. - comment id 511903
เพิ่งอ่านนิราศสุนทรภู่จบไปเมื่อวานซืนนี้เอง วันนี้อ่านนิราศสี่แผ่นดินชุดใหญ่อีกชุด :)
5 กันยายน 2548 22:21 น. - comment id 511942
สุดยอดแห่งความงามครับ โคลงที่ควรศึกษายิ่งจากยอดกวีชายคนนี้ หวังว่า เพื่อนราสบายดีนะครับ แก้วประเสริฐ.
6 กันยายน 2548 05:02 น. - comment id 511989
ได้สัมผัสทุกอารมณ์หลากหลายรสชาติ มาคราวนี้มีลูกเล่น มาเยอะแยะแพรวพราว เห็นทีจะได้นำไปศึกษาด้วยซะแล้ว เขียนไปเขียนมาชักจะชอบโคลงมากกว่ากลอน ช่วงนี้ไอเดียฝืด ๆ คงอีกนาน ถึงจะได้ขยับท่าครับ
6 กันยายน 2548 09:54 น. - comment id 512047
งดงามมากครับ...
6 กันยายน 2548 12:30 น. - comment id 512108
ภาษางดงามดั่งลำน้ำน่านไม่เคยเปลี่ยนเลยนะจ๊ะ แต่กลอนเพราะยังไง ก็เพราะมากขึ้นทุกที พี่นิวคะ แบ่งความเก่งมาทางนี้บ้างก็ได้นะคะ
6 กันยายน 2548 18:18 น. - comment id 512207
ให้ความรู้สึกที่หลากหลายในใจ.. ไพเราะและงดงามมากค่ะบุรุษแห่งสายน้ำ
6 กันยายน 2548 22:00 น. - comment id 512313
ไพเราะและงดงาม..มากมายด้วยคุณค่า..ของบทกวีที่เป็นของพี่นิวนะคะ .. เรนอยากเก่งแบบพี่นิวจัง....
7 กันยายน 2548 22:37 น. - comment id 512717
ชื่นชมครับ
17 กันยายน 2548 02:57 น. - comment id 516220
.....ช่างเสาะหาคำประพันธ์ มาสรรค์สร้าง ดุจเดิน ดินแดนไกล สิ่งใดเห็น ก็เฝ้าจำ พร่ำจด ทุกเช้าเย็น เพื่อเรียงเป็น ถ้อยกลอน คนจรชม ................