เราเดินตามกันมาเรื่อยๆแต่ไม่ค่อยมีนกออกมาให้เห็นบ่อยนัก ผิดกับเมื่อตอนปีใหม่ที่ผมมากับคณะอื่นได้เห็นนกมากกว่านี้ ป่ามันก็เป็นเช่นนี้แหละ ในบางโอกาสอาจพบนกมากมาย แต่ในบางโอกาสอาจเจอแต่ความเงียบเหงา ไม่มีอะไรแน่นอน แต่ไม่ว่าป่าจะเป็นเช่นใด ผมมีความสุขเสมอ ดูทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้าอยู่แล้ว ไม่ว่าช่วงเวลาใดของวัน เดือน หรือปีย่อมมีสิ่งที่น่าสนใจเสมอ ผมจึงมองดูต้นไม้แทน อย่างเช่น เตยหิน ที่พบมากมายในป่าผืนนี้ ต้นสูงใหญ่ใกล้น้ำใบฉ่ำหนา ดั่งค้ำฟ้าเสียดยอดปลอดพฤกษ์ไหน เรียกเตยหินชินปากยากผิดไป ทรงต้นได้รากดันยันพสุธา ลำต้นตั้งดั่งพร้าวสูงยาวจัด ใบเรียวชัดล้นหลามสามเมตรกว่า ตรงขึ้นไปได้เรื่อยแม้เฉื่อยช้า คล้ายกับท้าทุกต้นสูงล้นเคียง มองดูไปใบหยักจักตามขอบ คงคมรอบแผ่นใบหนามใส่เฉียง เหมือนใส่ฟันหลั่นลดมิคดเอียง ควรหลีกเลี่ยงลูบคลำหนามตำมือ ใบเตยนี้มิหอมดมดอมได้ หากคั้นใส่เพิ่มสีจะดีหรือ ต้องเลือกกันพันธุ์ไหนใช่ดั่งลือ อย่ายึดชื่อแล้วใช้ไม่ได้การ เตย (Pandanus or Walking Palm) เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวในวงศ์ Pandanaceae ซึ่งพบในประเทศไทยหลายชนิด แต่ส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก เช่น เตยหอม (Padanus amaryllifolius) ซึ่งสามารถนำใบมาคั้นเพื่อใช้ปรุงแต่งกลิ่นและสีเขียวในการทำขนม เช่น ลอดช่อง และขนมชั้น แต่เตยที่พบในป่าแห่งนี้เรียกว่า เตยหิน (Pandanus sp.) เป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงถึง 5 เมตร ขึ้นอยู่ใกล้ๆลำห้วยเป็นกลุ่มหลายต้น เยือนทุ่งใหญ่อีกครั้ง 9 22 มกราคม 2548
6 พฤษภาคม 2548 22:07 น. - comment id 462993
ชอบดื่มน้ำใบเตยค่ะ หอมดี แวะมาชื่นชมในผลงานนะค่ะ
7 พฤษภาคม 2548 13:29 น. - comment id 463176
สวัสดีค่ะ คุณสุธี ไม่ได้มาทักทายคุณสุธีพักใหญ่ ยังคงชื่นชมในผลงานเสมอค่ะ ......................................................... ลี่...ผู้มาเยือน .
21 พฤษภาคม 2548 22:00 น. - comment id 469925
อืม ความรู้ใหม่นะ ว่ามีต้นใบเตย ที่กินไม่ได้ และเป็นไม้ป่า แต่สายพันธุ์เดียวกัน ชื่อเตยหิน แปลกดีนะ ขอบคุณสำหรับความรู้ ใหม่ๆ ค่ะ