ในสมัยวิปัสสีพุทธเจ้า มีเมืองเก่าพันธุมดีธานีใหญ่ พันธุราชเสวยราช ธ.เกรียงไกร เมืองน้อยใหญ่ขึ้นตรงองค์บริวาร (๑) บุรีหนึ่งถวายส่วยด้วยสิ่งของ ดอกไม้ทองล้ำค่ามา.สมาน แก่นจันทน์แดงคู่กันบรรณาการ ทรงประทานต่อไปให้ธิดา (๒) ดอกไม้ทองสู่น้องแก่นจันทน์พี่ ทั้งสองศรีเลื่อมใสในศาสนา ฝ่ายผู้น้องให้ช่างทองของพารา แปลงลักขณาดอกไม้ทองคล้องคอที (๓) แล้วจึงนำเครื่องประดับระยับนั้น เดินทางพลันสู่กุฏิวิปัสสี ถวายองค์พระปัจเจกตั้งจิตตี ขอให้มีดอกไม้ทองครองทุกภพ (๔) ฝ่ายผู้พี่บดจันทน์แดงแปลงเป็นผง ถวายตรงองค์เดียวกันแก่นจันทน์อบ พร้อมโปรยปรายรอบกุฏิด้วยเคารพ พร้อมน้อมนบอธิษฐานต่างว่านเครือ (๕) ปรารถนาชาติใดให้มีผล ขอกุศลผลบุญอุดหนุนเหลือ เป็นมารดาศาสดาข้าจุนเจือ ให้เลือดเนื้อก่อสังขารสร้างงานธรรม (๖) 0 สองธิดาได้จุติจากชาตินั้น บุญเดียวกันถวายคุณอุปถัมภ์ กำเนิดตามกำหนดกฎแห่งกรรม สัมฤทธิ์คำอธิษฐานผ่านภพนี้ (๗) เป็นธิดาแห่งพระเจ้ากิลกิสราช เรื่องประหลาดผู้พบเห็นเป็นสักขี หนึ่งคลอดมาพร้อมสร้อยร้อยศอมี เจริญศรีได้ฟังธรรมพระพุทธา (๘) โดยพระพุทธเจ้ากัสสปะ หนึ่งวาระเข้าใจธรรมเทศนา จึงสำเร็จอรหันต์ด้วยปัญญา นิพพานพาหลุดพ้นกลไกกรรม (๙) หนึ่งกำเนิดร่วมบิดาสง่าศรี ร่วมธานีต่างมารดาหน้าคมขำ เมื่อจุติจากชาตินี้บุญที่ทำ กุศลนำไปเกิดใหม่ในดาวดึงส์ (๑๐) 0 ปรากฏนามพระนางผุสดี มเหสี.อมรินทร์พระองค์หนึ่ง เสวยสุขในสรวงซาบทรวงซึ้ง กระทั่งถึงวาระสละภพ (๑๑) อมรินทร์ราชาหาโอกาส พานางนาดเดินชมสวนชวนสงบ ให้จิตใจเบิกบานห่างด้านลบ จึงปรารภให้ฟังว่าดังนี้ (๑๒) ถึงเวลาเจ้าจะลงตรงโลกมนุษย์ เพราะสิ้นสุดผลบุญหนุนราศี เพื่อส่งเสริมบุญญาบารมี สิบประการพรนี้จงคุ้มครอง (๑๓) หนึ่งกำเนิดในมัททราชปราสาททรัพย์ ตาดำขลับดังเนื้อทรายหมายข้อสอง ขนคิ้วดำดังคอยูงมุ่งสามปอง สี่นามของนงนุชผุสดี (๑๔) ห้าให้มีโอรสเกรียงไกรนั้น หกทรงครรภ์ท้องราบแบนไม่แน่นปรี่ ถันไม่หย่อนคลอดเสร็จข้อเจ็ดมี แปดเกศีดำวาวขาวไม่ปน (๑๕) เก้าผิวกายอ่อนนุ่มไกลกลุ่มฝุ่น สิบมีคุณช่วยราษฏร์อาชญาพ้น ทั้งสิบข้อมีผลในบัดดล ปฏิสนธิ์ในครรภ์พระมารดา (๑๖) ในดินแดนมัททราชไม่คลาดเคลื่อน จนผ่านเดือนปีตกสิบหกชันษา พรสิบข้อยังไม่ครบบรรจบมา รอเวลาอภิเษกสยุมภู (๑๗) 0 ณ.สีพีนครครั้งก่อนนั้น พระทรงธรรม์สีพีราชครองราชอยู่ มีโอรสนามสญชัยไท้เชิดชู เห็นสมควรมีคู่เร่งจัดการ (๑๘) จัดพิธีอภิเษกสมรส ให้โอรสได้คู่ครองสองประสาน เมืองสีพีกับมัททราชมิขาดงาน มิช้านานขึ้นครองราชแทนบิดร (๑๙) 0 องค์อมรินทร์เห็นสมควรล้วนการเหมาะ จะสงเคราะห์ให้ครบข้อต่อสมร สิบประการตามสัญญารักษาพร จึงรีบร้อนไปดุสิตคิดเชิญองค์ (๒๐) อาราธนาจิตติโพธิสัตว์ จุติชัดสู่ครรภ์มั่นประสงค์ ครบสิบเดือนผุสดีนี้เห็นตรง ประพาสลงพระนครเพื่อผ่อนคลาย (๒๑) ครั้นพอถึงตรอกพ่อค้าบอกช้าก่อน เจ็บอุทรเหลือเกิน..เกินผันผาย พนักงานจัดที่ทางประสูติกาย คลอดบุตรชายนามนั้น..เวสสันดร (๒๒) 0 ซึ่งแปลว่าระหว่างทางพ่อค้า มิทันช้าลืมตาถามแม่ก่อน มีทรัพย์ไหมจะทำทานคนผ่านจร ตรัสเมื่อตอนถือกำเนิดเลิศด้วยทาน (๒๓) ระหว่างนั้นช้างต้นพังฉันทันต์ ตกลูกพลันในโรงช้างข้างราชฐาน ชื่อปัจจัยนาเคนทร์เห็นสมกาล ทรงเรียกขานให้รู้ช้างคู่บุญ (๒๔) ครั้นกุมารพระชนม์ห้าชันษา เปลื้องภูษาเครื่องประดับสนับสนุน ให้พี่เลี้ยงนางนมสมแก่คุณ ถึงเจ็ดครั้งนับหนุนต่อเนื่องมา (๒๕) ครั้นพระชนมายุลุสิบหก บิดายกอำนาจวาสนา เสวยราชสมบัติกษัตรา และสู่ขอธิดาคู่บารมี (๒๖) คือธิดาแห่งสกุลมาตุลราช งามพิลาสยิ่งนักสมศักดิ์ศรี นามของท่านนั้นหรือคือมัทรี จัดพิธีอภิเษกสมรสพลัน (๒๗) 0 ทรงยินดีในจาคะจัดสถาน ตั้งโรงทานหกแห่งแจ้งเขตขัณฑ์ ประตูเมืองทั้งสี่มีเหมือนกัน อีกสองนั้นคือหน้าวังและกลางนคร (๒๘) เสด็จออกทอดพระเนตรเขตไกลใกล้ โปรดการให้โดยตลอดมิถอดถอน ช่วยแบ่งเบามิขาดทุกข์ราษฎร จนถึงตอนมัทรีมีประสูติกาล (๒๙) หนึ่งโอรสนามชาลีคนพี่คลอด รับกายสอดตาข่ายทองของถักสาน หนึ่งธิดานามกัณหาก็คลานตาม รับกายงามหนังหมีคลี่ปกคลุม (๓๐) 0 วาระนั้นกาลิงครัฐพิบัติมาก เกิดข้าวยากหมากแพงน้ำแล้งหลุม ฝนฟ้าผิดฤดูกาลชาวบ้านประชุม ร้องเรื่องกลุ้มหน้าพระลานผ่านราชา (๓๑) กาลิงคราชดูพระองค์ทรงพินิจ ทศพิธราชธรรมทำรักษา จึงถือศีลเบ็ดเสร็จเจ็ดเพลา ฝนไม่มาเหมือนเดิมเพิ่มพูนทุกข์ (๓๒) เสียงร่ำร้องตะเบ็งก็เซ็งแซ่ พิธีแห่นางแมวตั้งแถวปลุก ระดมสาดสายชลจนขนลุก วอนให้รุกขเทวดาอารักษ์เมือง (๓๓) ฝนยังแล้งติดต่อต่างท้อแท้ ต้นไม้แย่เกรียมกรอบมอบใบเหลือง พระราชาปรึกษาตามเรื่องความเมือง อำมาตย์ผู้ปราดเปรื่องทูลบดินท์ (๓๔) 0 ข้าพเจ้าได้ยินถิ่นสีพี เป็นบุรีอุดมสมบูรณ์สิน เพราะพระเวสสันดรเจ้าธรณิน ทรงคชสารในถิ่นสิ้นกันดาร (๓๕) ช้างปัจจัยนาเคนทร์เห็นวิเศษ เข้าแคว้นเขตใดเล่าคนกล่าวขาน นำฝนตกชุ่มฉ่ำน้ำเต็มธาร พระราชาให้ประสานวานยืมมา (๓๖) อำมาตย์ตอบว่ายากลำบากอยู่ ด้วยว่ารู้ช้างคู่บุญค้ำจุนหนา อีกทั้งเป็นพาหนะพระราชา อีกเสียงว่ามีหวังเมื่อฟังความ (๓๗) พวกหม่อมฉันได้ยินในถิ่นนั้น องค์ราชันทรงธรรมนำเขตขาม ชอบให้ทานเป็นนิจจิตใจงาม ลองจัดพราหมณ์ไปทูลขอดูสักที (๓๘) 0 จึงดำรัสจัดแปดพราหมณ์ตามที่ขอ ไม่รีรอเดินทางกันขมันขมี เมื่อไปถึงดินแดนแคว้นสีพี ตามถึงที่พระองค์ทรงช้างไป (๓๙) จึงทูลขอคเชนท์ประเด็นหลัก ตรัสถามซัก, ตอบตามตรง, พ้นสงสัย ทุกข์ประชาฝืดเคือง ณ.เมืองไกล เมตตาไปทั่วหล้าต่างธานี (๔๐) จึงสละช้างทรงองค์บริจาค พราหมณ์ลาจากขี่ช้างไปในวิถี พวกชาวบ้านเห็นทั่วกันด่าทันที ตราหน้าชี้เป็นโจรปล้นช้างมา (๔๑) ไม่รู้จักที่สูงต่ำดูทำเข้า ขี่ช้างเจ้าไม่สำนึกรู้สึกรู้สา พราหมณ์แถลงความจริงสิ่งเจรจา ว่าได้มาโดยธรรมนำชี้แจง (๔๒) 0 แล้วขับช้างเข้าเมืองกาลิงครัฐ ได้ขจัดทุกรอบตัวทุกหัวระแหง ฝนก็ตกข้าวงอกแตกชุ่มแทรกแซง หยุดแห้งแล้งกันหนอพอกันที (๔๓) ชาวประชายิ้มหัวทั่วสถาน อภินิหารช้างทรงส่งสุขี อำนาจคุณบุญญาบารมี ร่มโพธิ์ศรีโพธิ์สัตว์ป้องปัดภัย (๔๔) 0 ฝ่ายชาวเมืองสีพีนั้นตรงกันข้าม เกิดลุกลามแค้นเคืองเป็นเรื่องใหญ่ ประชาชนรวมกลุ่มก่อไม่พอใจ ยกช้างได้ต่อไปคงยกเมือง (๔๕) พวกเราคงไม่พ้นความพินาศ ไม่สามารถดำรงชีพถีบกระเดื่อง คงหมดสิ้นความสมบูรณ์และรุ่งเรือง ขอเจ้าเมืองสญชัยได้จัดการ (๔๖) ประชาชนโห่ร้องพ้องความโกรธ ให้ลงโทษเวสสันดรก้องสถาน องค์สญชัยเสด็จออกนอกพระลาน บอกพวกท่านจะดูให้ไม่ช้าพลัน (๔๗) ประชาชนเรียกร้องต้องเดี๋ยวนี้ พระภูมีบอกอย่างไรให้ห้ำหั่น ต้องประหารเวสสันดรหรือไรกัน เสียงเงียบพลันชั่วขณะก่อนตะโกน (๔๘) เราต้องการให้พระองค์ทรงเนรเทศ ขับพระเวสสันดรผ่อนหลานโหลน ยกแผ่นดินปล้นทุกอย่างไม่ต่างโจร แจก-จ่าย-โอน เปลี่ยนระบบกบเลือกนาย (๔๙) โปรดไตร่ตรองจะเดือดร้อนทุกท้องที่ เรื่องภาษีก็หนักหนาว่าเสียหาย เปลี่ยนแผ่นดินเปลี่ยนโผนโยบาย รอวันตายอย่างเดียวเชียวราษฎร (๕๐) องค์สญชัยได้ฟังประชามติ มีดำริดังว่า, ประชาถอน ดำรัสความตามหาเวสสันดร เล่าความย้อนให้ฟังยังบุตรา (๕๑) องค์พระเวสสันดรขอผ่อนผัน ขอสองวันให้ทานใหญ่ใจปรารถนา ตรัสให้ฟังของนอกกายให้ช้างงา แม้กายาจะยกให้ใครต้องการ (๕๒) ฝ่ายสนมนางในได้ยินข่าว ทั้งแก่สาวฟูมฟายในราชฐาน ระงมร้องด้วยเสียดายหลายอาการ จนข่าวผ่านสะพัดถึงมัทรี (๕๓) นางจึงขอติดตามยื่นคำขาด ขอรองบาททรงธรรม์มิหันหนี จะบุกป่าฝ่าดงเข้าพงพี ก็ยินดีตามเสด็จมิเท็จเลย (๕๔) มิขออยู่ลำพังดังเป็นม่าย ให้อับอายผู้คนหมองหม่นเอ๋ย แม้มิได้สมจินต์ถิ่นสังเวย ที่กองไฟนั้นเลยเป็นที่ตาย (๕๕) เมื่อได้ยินดังนั้นท่านอนุญาต อนงค์นาฏพรรณนาป่าหลากหลาย เขาวงกตหิมพานต์งามมากมาย สัตว์ทั้งหลายในพนาพึ่งพากัน (๕๖) อัศจรรย์บรรยายคล้ายตาเห็น ทั้งร่มเย็นเหมือนท่องแดนแสนหฤหรรษ์ ทั้งเพลิดเพลินอารมณ์ชมอรัญ นางสร้างขวัญกำลังใจให้สามี (๕๗) 0 ฝ่ายพระนางผุสดีชนนีเจ้า กำสรวลเศร้าเร่งรุดมาหาสองศรี ปลอบประโลมเวสสันดรและมัทรี จรลีไปเฝ้าท้าวสญชัย (๕๘) ทูลขอร้องให้ยกเลิกเนรเทศ ทุกข์เทวษกำสรดไม่สดใส ทรงวิงวอนให้หยุดยั้งยังขัดใจ แม้พระทัยจะเศร้าหมองก็ต้องทน (๕๙) ผละเข้าเฝ้าโศกาไปหาลูก รู้ผิดถูกแต่จำยอมพร้อมเหตุผล ต้องให้เจ้าจำพรากลำบากลำบน ประชาชนชี้ชัดเกินทัดทาน (๖๐) 0 สัตต.สดก.มหาทาน, งานสละ ให้อย่างละเจ็ดร้อยเคลื่อนคล้อยผ่าน สี่กษัตริย์ละทิ้งทรัพย์ศฤงคาร มีแผนการสู่วงกตอันลดเลี้ยว (๖๑) อัยกีอัยกามาเหนี่ยวรั้ง ให้หลานอยู่ในวังยังแลเหลียว นางมัทรีตัดพ้อต่อว่าเชียว แม้ลูกชายคนเดียวยังไล่ไป (๖๒) ทรงปกป้องมิได้ใครจะเชื่อ จะกูลเกื้อหลานได้หรือไฉน ยอมลำบากพ่อแม่ลูกพันผูกไป สัญญาไว้ไม่ทอดทิ้งลูกหญิงชาย (๖๓) 0 สี่พระองค์เดินทางด้วยรถม้า เพื่อมุ่งหน้าสู่คีรีเป็นที่หมาย ม้าเทียมรถวิ่งเหยาะลัดเลาะสบาย ชมทิวทัศน์หลากหลายชี้ชวนกัน (๖๔) พราหมณ์พวกหนึ่งติดตามไปขอม้า กรุณามอบให้มิไหวหวั่น ราชรถขาดอาชาเรื่องสามัญ ชะงักงันการสัญจรร้อนองค์อินทร์ (๖๕) จึงแปลงกายเป็นละมั่งสีดังทอง เป็นไม้สองลากรถไปไม่จบสิ้น พราหมณ์อีกพวกทราบข่าวเขาได้ยิน ธรณินทร์ให้ทานลนลานมา (๖๖) ครั้นพอทันจึงทูลขอพาหนะ ทรงสละราชรถตามปรารถนา ละมั่งแปลงก็หายวับไปกับตา สี่พระองค์ยาตราไม่ว่าไร (๖๗) เมื่อพบคนเดินทางหว่างวิถี ถามทันทีเขาวงกตอยู่ทางไหน พวกชาวบ้านชี้ทางบอกยังไกล มุ่งหน้าไปทางโทอีกโขนัก (๖๘) ทั้งโอรสธิดาเมื่อยล้ายิ่ง พ่อไม่ทิ้งอุ้มชาลีที่ตัวหนัก แม่ยังอุ้มกันหาช่างน่ารัก เหนื่อยก็พักคลายร้อนผ่อนก็กราย (๖๙) 0 ถึงนครเจตราชมิพลาดผิด สี่ชีวิตพักร้อนผ่อนเส้นสาย ความทราบถึงเจ้าเมืองเรื่องกลับกลาย อยากถวายเมืองให้เวสสันดร (๗๐) เพราะทราบเหตุยกช้างสร้างประโยชน์ กลับต้องถูกลงโทษถูกถอดถอน พระเมตตาป้องปกผสกนิกร มิควรต้องเร่ร่อนลำบากเลย (๗๑) องค์พระเวสสันดรย้อนคำกลับ มิอาจรับได้หรอกบอกเฉลย ชาวสีพีเกลียดชังดังที่เปรย คงไม่เฉยอยู่แน่รู้แก่ใจ (๗๒) อาจเกิดศึกสงครามลามประเทียด ความโกรธเกลียดสุงสิงยิ่งไปใหญ่ ขอผ่านทางสู่บรรพตรักษ์พรตไป มิให้ใครเดือดร้อนวอนจงฟัง (๗๓) เจ้าเมืองนั้นจึงยอมให้เสด็จ พร้อมสั่งเสร็จเจตบุตรฉุดกองหลัง ตามคุ้มกันพระองค์จงระวัง เมื่อถึงยังสิงขรค่อยย้อนมา (๗๔) ทำตัวเป็นนายด่านป้องกันไว้ มิยอมให้ใครเข้าเขตอารักขา จะรบกวนองค์กษัตริย์ขัตติยา รับคำมาก็เดินทางถึงคีรี (๗๕) ทั้งสี่องค์ทรงบรรลุสู่จุดหมาย ทั้งหญิงชายถือบวชเป็นฤษี บำเพ็ญเพียรสร้างสมบารมี หมดหน้าที่นำส่งคงคุ้มครอง (๗๖) 0 เวลานั้นในแคว้นกาลิงคราช ยังมีพราหมณ์ไร้มาดผิดเพื่อนผอง ชื่อชูชกเป็นขอทานใครผ่านมอง อาจต้องร้องทันทีนี่หรือคน (๗๗) ประกอบด้วยโทษสมบัติทั้งสิบแปด นั่งกรำแดดขออัฐยังขัดสน รวบรวมเงินร้อยกษาปณ์อับอายทน คิดชอบกลกลัวโจรจะปล้นชิง (๗๘) จึงมีแผนนำเงินมากไปฝากเพื่อน ขโมยเกลื่อนเดี๋ยวหายใจเกรงกริ่ง สหายนี้เชื่อถือได้เลื่อมใสจริง ไม่อยู่นิ่งทะยานไปบ้านเกลอ (๗๙) จึงโอ้อวดความมั่งมีเป็นที่หนึ่ง ชูเงินซึ่งรับทานมาหน้าเสมอ จะเดินทางไปขออีกอำเภอ ขอฝากไว้กับเธอแล้วเจอกัน (๘๐) เพื่อนก็บอกขอบใจที่ไว้เนื้อ ทั้งใจเสือเถือถือคือสมัน หมั่นหยิบใช้จนลดเนื้อหมดมัน ใกล้ถึงวันชูชกจะกลับมา (๘๑) ฝ่ายตาแก่ขอทานเดินทางกลับ จะมารับเงินฝากช่วยรักษา เห็นสหายสองสามีภรรยา ทำหน้าตาบุญไม่รับจับตัวทวง (๘๒) เงินของข้าอยู่ไหนไยหน้าซีด เราล้ำขีดเกินไปใช้ของหวง ไม่มีเหลือให้นับทรัพย์ทั้งปวง เจ้าชูชกแทบร่วงเข่าอ่อนแรง (๘๓) เจ้าเพื่อนเรียกอมิตตดามาเลี้ยงน้ำ พอขาดคำเห็นบังอรดังศรแผลง เฒ่าขอทานตกตะลึงถึงแสดง มิแอบแฝงความต้องการผ่านท่าทาง (๘๔) สองผัวเมียตกลงยกลูกสาว เพื่อขัดดอกเรื่องราวหมดคราวหมาง อมิตตดาหอบเสื้อผ้าของนวลนาง ต้องเหินห่างแยกเรือนเตือนใจตน (๘๕) เพราะอยู่ในโอวาทของพ่อแม่ หน้าที่แท้กตัญญูอยู่ทุกหน ไม่อยากเห็นบุปพการีนี้ทุกข์ทน จึงต้องทนมาอยู่คู่ผัวเมีย (๘๖) เรื่องชูชก-อมิตตดาหาจบไม่ สายตาใครชาวประชาพาละเหี่ย ต่างอิจฉาขอทานมันคลอเคลีย สวยน่ะเมียทั้งวาจาก็น่ารัก (๘๗) พวกพ่อบ้านต่อว่าภริยาเขา ดูสิเจ้าตัวอย่างช่างหาญหัก พูดจ๊ะจ๋าหยิบยื่นชื่นใจนัก ให้สมัครเป็นศิษย์อมิตตดา (๘๘) พวกแม่บ้านไม่เห็นดีคำชี้แนะ มากระแนะกระแหนแผ่ริษยา ขอทานเฒ่าดีอย่างไรให้บอกมา ต่างรุมด่าสวดยับให้อับอาย (๘๙) นางถูกว่าเช้าค่ำล้วนคำเหยียด ดังเสนียดใครเห็นเป็นด่าหลาย จึงไม่กล้าพบปะแสนระคาย นั่งฟูมฟายอยู่บ้านผ่านระทม (๙๐) ตาชูชกกลับมาหลังภารกิจ ถามอมิตตดาไยขื่นขม นางจึงเล่าหยิบยกที่อกตรม พวกแม่บ้านระดมแขวะขมทรวง (๙๑) ต่อไปนี้เห็นจะยากออกจากบ้าน ฉันสาบานเลิกทุกกิจตะขิดตะขวง เลิกโพงน้ำหาบหนักทั้งตักตวง ชูชกบอกทั้งปวงจักทำแทน (๙๒) อมิตตดาบอกตระกูลไม่ใช้ผัว จะหมองมัวเสียเปล่าช่างเศร้าแสน ตาผัวเฒ่าจะซื้อทาสไม่ขาดแคลน เมียตีแขนบอกน้องนี้มีวิธี (๙๓) อยากให้พี่เดินทางสู่วงกต หาทรงยศเวสสันดรวอนฤษี ขอลูกทั้งสองคนมาให้ที เป็นทาสีของเมียไม่เสียเงิน (๙๔) ตาเฒ่าอ้อนตั้งเดือนกว่าจะถึง เมียแกล้งบึ้งจะทิ้งขว้างยอมห่างเหิน ไม่มีทาสไม่มีฉันแยกกันเดิน แสร้งทำเมินหน้างอเฒ่าง้องอน (๙๕) จึงรับปากไปขอรอจนเช้า เสบียงเข้าสู่ย่ามหมาตามหอน สู่วงกตเดินทางไกลเมียให้พร กลัวแกย้อนยักเยื้องเสียเรื่องกัน (๙๖) เฒ่าถามทางไปตลอดพูดพลอดพล่าม มาดงุ่มง่ามน่าเกลียดคนเดียดฉันท์ ชาวประชาด่าเพราะเอ็งมาขอปัน พระทรงธรรม์เวสสันดรจึงร้อนองค์ (๙๗) ต้องระหกระเหินไปต่างบ้าน เพราะให้ทานพูนเพิ่มดังเสริมส่ง ไม่รู้จักทำกินสิ้นคำลง ปาหินตรงดังตุ๊บบ้างทุบตี (๙๘) ฝ่ายเฒ่านั้นโดนรุกตุปัดตุเป๋ ไม่หันเหมุ่งสู่คีรีศรี สะบักสะบอมไม่น้อยถูกต่อยตี จ้ำเป็นที่เขียวเป็นทางช่างอดทน (๙๙) จนเข้าเขตเจตบุตรคอยอารักษ์ อุปสรรคหมารุมกลุ้มสับสน เฒ่าจึงปีนต้นไม้หมายหนีพ้น หมาเดินวนเห่าขรมเขี้ยวคมวาว (๑๐๐) แกรำพึงถึงองค์พระทรงเดช ชื่อพระเวสสันดรมีเรื่องกล่าว เจตบุตรลดหน้าไม้ฟังเรื่องราว แกเล่าขาวเป็นดำนำชี้แจง (๑๐๑) ว่าตัวข้าเป็นทูตจากสีพี ราชสาส์นก็มีนำแถลง ล้วงกระบอกน้ำพริกในย่ามแดง มากวัดแกว่งเล่าเรื่องเฟื่องไม่เบา (๑๐๒) ว่าบัดนี้พระราชาอภัยโทษ และไพร่ฟ้าเลิกโกรธเรื่องเก่าเก่า จึงส่งตามาก่อนเพื่อเข้าเฝ้า ทูลเชิญเจ้าของเราสู่พารา (๑๐๓) เจตบุตรหลงกลเฒ่าเจนโลก คงสิ้นโศกแล้วหนอรอจับหมา ผูกในที่แล้วบอกว่าตาลงมา ชี้ทางว่าไปทางไหนให้เสบียง (๑๐๔) จึงมุ่งหน้าหาอจุตฤษี ปดอีกทีท่านเชื่อใจไม่บ่ายเบี่ยง มุ่งคีรีคันมาศอันลาดเอียง เดินอีกเพียงนิดหนึ่งก็ถึงแล้ว (๑๐๕) ตาแกมุ่งจนถึงเขตเขาวงกต แดดบ่ายหมดเข้าค่ำจำต้องแกร่ว ถ้าไปขอตอนนี้ไม่มีแวว คงไม่แคล้วติดมัทรีจะตีกัน (๑๐๖) ธรรมดาของแม่มีแต่รัก มิอาจหักห้ามใจให้ลูกนั่น รอเวลาพรุ่งนี้อีกสักวัน นางเข้าสู่ไพรวัลย์สมควรไป (๑๐๗) 0 ค่ำคืนนั้นมัทรีมีนิมิต ชายอำมหิตทัดไม้แดงแกล้งผลักไส จิกเกศาตบตีมีดาบไว ผ่าเอาใจเหลือตัวไว้ไม่ต้องการ (๑๐๘) แม้ร้องขอไม่คืนยืนร่ำไห้ จนตกใจตื่นตะหนกวิตกประสาน เหงื่อโทรมกายชุ่มเสื้อเหลือประมาณ เกิดฟุ้งซ่านคิดถามความสวามี (๑๐๙) นางมัทรีเดินมาเคาะอาศรม วโรดมถามกลับใครกันนี่ นางจึงกล่าวข้าพเจ้าคือมัทรี พระฤษีทวงสัญญาว่าอย่างไร (๑๑๐) เราต่างคนแยกกันเมื่อจันทร์ฉาย ไม่ก้าวก่ายหมายปลงเรื่องหลงไหล มีธุระกล่าวมาอย่าร่ำไร เรื่องอันใดจงเล่าห้ามเข้ามา (๑๑๑) นางจึงเล่าความฝันปันเรื่องให้ พระจอมไท้ฟังพาทีตีปริศนา ก็ทราบความพันผูกถึงลูกยา ชายชราจะมาขอก็พรุ่งนี้ (๑๑๒) แต่ไม่บอกความจริงทุกสิ่งสรรพ บอกให้นางระงับวิตกนี่ ด้วยว่าธาตุของอนงค์คงไม่ดี บอกมัทรีอย่างนี้ดีกว่าเอย (๑๑๓) แม้บอกความที่ถูกจะปลูกทุกข์ คงจะขลุกอยู่กับลูกผูกพันเผย บารมีในทานจะผ่านเลย มิเฉลยความนัยให้ได้รู้ (๑๑๔) ฟังถ้อยคำทำนายไม่หายห่วง มิอาจล่วงความวิตกในอกอยู่ จำต้องเชื่อตามรับสั่งหยั่งใจดู ขอตัวสู่อาศรมข่มความกลัว (๑๑๕) ครั้นรุ่งสางอีกวันไม่ทันหาย กระวนกระวายชอบกลพ้นสลัว ต้องออกไปหาเสบียงเลี้ยงครอบครัว เตรียมเสียมพลั่วกระเช้าเข้าไม้คาน (๑๑๖) แล้วจูงบุตรธิดาบิดาเลี้ยง ก่อนจะเลี่ยงเข้าป่าหาอาหาร เดินกลับไปกลับมานานสองนาน สังหรณ์ผ่านกริยาว่าห่วงใย (๑๑๗) กำชับลูกอย่าไกลจากอาศรม ของมีคมสัตว์ร้ายอย่ากรายใกล้ จำใจข่มนิวรณ์ตอนจากไป จำตัดใจจากจรไม่ย้อนมา (๑๑๘) เวสสันดรบำเพ็ญเป็นนักพรต รู้ในกฎพรหมวิหารท่านรักษา ทั้งเมตตากรุณามุฑิตา อุเบกขาสมทบจึงครบองค์ (๑๑๙) รู้ด้วยฌาณจะมีคนมาสำนัก ให้ลูกดักดูต้นทางอย่างประสงค์ ขอทานเฒ่ากะเวลาละจากดง ป่านฉะนี้แม่คงเข้าพงพี (๑๒๐) จึงมุ่งหน้าเดินดุ่มหลังคุ้มค่อม กลิ่นสาบพร้อมวาจาน่าบัดสี เห็นธิดากันหาและชาลี ขู่ทันทีตวาดด่ามาขวางทาง (๑๒๑) เมื่อเข้าถึงศาลาจึงปราศรัย อารัมภบทไปไกลไม่ขนาง ชักแม่น้ำทั้งห้าเอามาวาง พระผู้สร้างบารมีศรีแผ่นดิน (๑๒๒) น้ำพระทัยพระองค์ทรงเต็มเปี่ยม ยากทัดเทียมสายใดในกระสินธุ์ มิเหือดแห้งตามกาลแม้ผ่านดิน อุดมถิ่นสมบูรณ์หนุนข้าวปลา (๑๒๓) เพราะลำบากยากไร้ไม้ใกล้ฝั่ง ลูกเต้ายังไม่มีที่หนักหนา อยากมีเด็กดูแลหาหยูกยา นวดแข้งขาคลายเส้นโปรดเห็นใจ (๑๒๔) น้ำพระทัยทำนุทางกุศล เหนือกว่าชนในหล้าฟ้าสั่นไหว ทั้งสามโลกหาเทียบคู่ภูวไนย จึงเอ่ยปากยกให้ใจโสมนัส (๑๒๕) ฝ่ายกันหาชาลีได้ยินเข้า พ่อยกเราให้พราหมณ์สุดห้ามขัด บังเกิดความกลัวเกรงรีบเร่งชัด ที่รกชัฏสระบัวเร้นแช่เลนตม (๑๒๖) เด็กทั้งสองอาศัยใบบัวหลบ เฒ่าขอจบไม่เห็นข้าจึงด่าขรม ทำใจดีหยิบยื่นหลงชื่นชม น่านิยมวิธีการให้ทานนี้ (๑๒๗) กล่าวเสียดสีถ้อยคำสุดต่ำช้า แสดงท่าเย้ยตามหยามศักดิ์ศรี พ่อกับลูกรู้กันขันสิ้นดี ยกทันทีหายวับประทับใจ (๑๒๘) องค์พระเวสสันดรยินคำกล่าว มิร้อนร่าวโกรธเคืองน่าเลื่อมใส ลูกทั้งสองคงกลัวตัวมีภัย จึงหลบไปซ่อนกายภายนอกนั้น (๑๒๙) จึงพูดปลอดวนิพกด้วยตกปาก- รับคำแล้วมิพรากจากคำมั่น จะติดตามลูกยามาให้พลัน เที่ยวด้นดั้นค้นหาถึงสระปทุม (๑๓๐) ทอดพระเนตรรอยเท้าก้าวขึ้นสระ รอยลงละหลบไร้นอกในกลุ่ม รู้อุบายเดินถอยหลังบัวบังคลุม ดำรัสนุ่มเรียกชาลีจงพิจารณ์ (๑๓๑) เจ้าเป็นลูกกษัตริย์ตรัสสอนสั่ง องอาจดั่งสีหราชจงอาจหาญ จะช่วยพ่อสำเร็จโพธิญาณ บำเพ็ญทานบารมีที่พากเพียร (๑๓๒) เสมือนเรือพาบิดาได้อาศัย ข้ามมหาชลาลัยสู่เสถียร ให้สำเร็จประโยชน์นิโรธเวียน พึงปรับเปลี่ยนจิตใจมิได้ชัง (๑๓๓) พระชาลีได้คิดรู้ผิดชอบ เปิดใบบัวคลุมครอบตอบรับสั่ง กราบพระบาทบิดากันหายัง จึงถามหยั่งขนิษฐาอยู่ที่ใด (๑๓๔) จึงทูลตอบโดยนัยจนได้รู้ ว่ายังอยู่ในสระใหญ่มิไปไหน จึงตรัสเรียกกันหาเจ้ายาใจ มีผู้ใดช่วยพ่อได้ในครั้งนี้ (๑๓๕) นอกจากเจ้าและพี่ชายที่หมายมั่น พร้อมใจกันช่วยพ่อต่อวิถี พร้อมกล่าวย้ำโดยนัยให้บุตรี ตรึกตรองดีจึงละจากสระรก (๑๓๖) แล้วกราบบาทบิตุรงค์ผู้ทรงศักดิ์ ทรงห้ามหักหวั่นไหวเลือดในอก จำละวางสมมติยุติชนก ธรรมปิฏกของแท้แค่รูปนาม (๑๓๗) แม้น้ำตาของลูกผูกเทวษ เพราะสาเหตุพลัดพรากยากจะห้าม จำยกเจ้าตามขอของพ่อพราหมณ์ จงติดตามเขาหนอพ่ออบรม (๑๓๘) ตาชูกชกรีบลาพาทั้งสอง แสร้งประคองออกไปไกลอาศรม ใช้เถาวัลย์จองจำช้ำเหลือทน ซ้ำด่าก่นกลัวหนีเข้าตีซ้ำ (๑๓๙) สะดุดตอไถลตัวหัวเข่าแตก เฒ่ามาแทรกอย่าสำออยไม่ปล่อยค่ำ กลัวมัทรีกลับมาจะคืนคำ คนใจดำยื้อยุดฉุดลากไป (๑๔๐) ฝ่ายมัทรีเข้าป่าหาไม้ผล เห็นชอบกลในสถานที่ผ่านใกล้ เมื่อวานเห็นมากมีผลไม้ เหตุไฉนหายหมดอดปลิดลง (๑๔๑) จึงต้องเข้าป่าลึกขุดมันเผือก แล้วจึงเลือกใส่กระเช้าตามประสงค์ รีบร้อนลุกเกินไปไม่มั่นคง มิทันทรงกายาของกระจาย (๑๔๒) เก็บเข้าที่เข้าทางอย่างเดิมแล้ว มุ่งหน้าแน่วหมายกลับเสียมกลับหาย วางไว้ตรงไหนหนาหาวุ่นวาย กว่าคลี่คลายนานเนิ่นดำเนินมา (๑๔๓) ถึงกลางทางซึ่งแคบยิ่งแปลบจิต ทางตีชิดพอเดินเป็นเนินผา ราชสีห์เสือเหลืองเสือโคร่งคา ขวางข้างหน้ากั้นกลางทางประจำ (๑๔๔) จึงยกมือวอนไหว้ขอไปนิด สามชีวิตเทพแปลงแกล้งงามขำ มิให้นางขวางตรงปิดองค์ธรรม จนพลบค่ำจึงหายวับกลับวิมาน (๑๔๕) นางมัทรีรีบเร่งกระเตงของ ไม่เห็นสองลูกยา ณ.สถาน เคยเห็นเจ้ามารับหน้าพาชื่นบาน แม่ตาหวานถามไถ่ได้ใดมา (๑๔๖) ส่วนชาลีจะช่วยรับจับเสียมไม้ คอยเก็บให้เข้าที่ปรี่ตะกร้า ช่วยแบ่งเบาภาระของมารดา หรือวันนี้กลับช้ามัวเล่นเพลิน (๑๔๗) จำต้องตามที่ศาลาบิดานั้น ไม่เห็นกันใจหายใช่ผิวเผิน จึงสอบถามเวสสันดรผู้เจริญ พระก็เมินนิ่งเฉยละเลยนัก (๑๔๘) นางจึงเดินเรียกหาตะโกนรอบ ไร้เสียงตอบกลับมาห่วงหาหนัก หมดหนทางจึงเข้ามาศาลาพัก สวามีที่ภักดิ์พูดดักคอ (๑๔๙) ทุกเพลาเคยกลับเร็วมิเหลวไหล วันนี้ไยกลับเย็นเช่นนี้หนอ นกขมิ้นหลงไพรใครเคลียคลอ สมใจพอจึงกลับประทับรัง (๑๕๐) นางได้ยินวาจาแรงท่านแสร้งว่า เจ็บปวดปร่าฝืนใจเก็บไว้หลัง ทุกข์เรื่องลูกท่วมท้นล้นประดัง จึงยับยั้งต่อปากเดินจากองค์ (๑๕๑) วนเวียนหาสองบุตรสุดสงสาร น้ำตาพานรินไหลใจแหลกผง ยิ่งดึกยิ่งร่ำไห้เสียงไม่คง แหบแห้งลงเพรียกขานขับลูกกลับคืน (๑๕๒) จวนสว่างหมดกำลังยังอาศรม นางเป็นลมหมดสติมิอาจขืน สลบไปเกินรั้งล้มทั้งยืน เวสสันดรหยิบยื่นให้ฟื้นกาย (๑๕๓) ลองจับต้องตัวนางร่างยังอุ่น นวดเฟ้นวุ่นคลึงขมับจับเส้นสาย ยกเศียรนางพาดตักพักสบาย เลือดลมขยายเพียงครู่รู้สึกองค์ (๑๕๔) องค์พระเวสสันดรจึงย้อนเล่า ลูกของเราสละไปมิได้หลง เห็นนางเหนื่อยจึงเก็บไว้ไม่บอกตรง ของนางส่งอนุโมทนาจาคะนี้ (๑๕๕) นางมัทรีจึงอนุโมทนาบุตร ยินดีเป็นที่สุดบุตรทานนี่ เป็นคู่สร้างสมทานบารมี ทั้งสองศรีสมานฉันท์ทางบรรลุ (๑๕๖) จะกล่าวถึงองค์อินทร์ถิ่นสวรรค์ รู้เห็นทันปัจเจกท่านเอกอุ เหลือเพียงองค์มัทรีที่ทำนุ บำเพ็ญคุณากรจึงร้อนใจ (๑๕๗) ถ้าใครขอนางไปไท้ลำบาก เป็นเรื่องยากรักษ์พรตกำหนดได้ ทั้งทานศีลภาวนาจะช้าไป จำแปลงร่างสู่ไพรในภาพชรา (๑๕๘) เดินกระย่องกระแย่งน่าสังเวช เข้าในเขตอาศรมระบมขา ขอมัทรีเถิดหนอขอให้ตา พระเมตตายกให้เต็มใจนัก (๑๕๙) ตาเฒ่าแปลงเห็นสององค์ทรงแย้มสรวล จึงเห็นควรแสดงตนให้ประจักษ์ ว่าเรานี้มิใช่พราหมณ์ตามรูปลักษณ์ แต่ลงมาพิทักษ์รักษาองค์ (๑๖๐) เป็นเทพแปลงจากดาวดึงส์หนึ่งแดนสรวง ลงมาเพื่อให้ลุล่วงตามประสงค์ ภริยาจาคะสละลง บารมีพระองค์จึงสมบูรณ์ (๑๖๑) กรรมสิทธิ์มัทรีเป็นของข้า ฝากเป็นข้าของท่านจนวันสูญ ไว้รับใช้พระองค์ทรงอนุกูล ขอกราบทูลห้ามยกต่อนับแต่นี้ (๑๖๒) องค์อินทร์ยังให้พรตามประสงค์ พระขอตรงแปดประการเป็นงานศรี ทั้งคิดถึงบ้านเมืองเรื่องเคยมี ประชาชีได้ประโยชน์โปรดประทาน (๑๖๓) หนึ่งนั้นให้บิดาหายเคืองโกรธ กลับไปทำประโยชน์ในสถาน สองอาชญาฆ่ากันจงบันดาล ปัญญาญาณให้ปรากฏปลดปล่อยไป (๑๖๔) สามให้จิตเมตตาอย่าได้ขาด ประชาราษฎร์สุขสำราญทั้งไกลใกล้ สี่ขอมั่นรักเดียวมิเกี่ยวใคร มิสนใจหญิงอื่นทั้งหมื่นพัน (๑๖๕) ห้าขอให้มีโอรสปรากฏชื่อ เกียรติเลื่องลือสืบวงศ์ส่งไอศวรรค์ หกเสวยราชคราวใดในวันนั้น สามารถปันอาหารเมื่อผ่านเช้า (๑๖๖) เจ็ดเมื่อใดสละไปให้พูนเพิ่ม ทุกอย่างเติมเต็มรอยมิปล่อยเปล่า แปดเมื่อสิ้นชีวิตดวงจิตเรา รู้ทางเข้าสู่สวรรค์ชั้นอมร (๑๖๗) ท้าวมัฆวานจึงประสิทธิ์ประสาทให้ แล้วลาไกลสู่วิมานบรรจถรณ์ สองกษัตริย์นิยมประนมกร ตั้งจิตก่อนให้พบสองกุมาร (๑๖๘) ฝ่ายชูชกจากป่ามุ่งหน้าตั้ง ทั้งฉุดรั้งทาสีโบยตีผลาญ เสียงร่ำไห้ระงมตรอมตรมนาน ดังสายธารไม่แห้งเหือดเลือดไหลซิบ (๑๖๙) ครั้นเถาวัลย์หลุดมือถือไม่มั่น วิ่งหนีหันหมายพ้นชนเถื่อนดิบ ครั้นจับได้ไล่ทันมันตียิบ แนวปรากฏเป็นสิบตามเนื้อตัว (๑๗๐) ครั้นตกค่ำตะแกกลัวสัตว์ร้าย ตนปีนป่ายต้นไม้ใจแสนชั่ว สองกุมารอยู่โคนต้นทนหวาดกลัว ก็ช่างหัวปะไรหาไยดี (๑๗๑) พอรุ่งเช้าเดินทางถึงทางแยก เป็นเรื่องแปลกจำไม่ได้ทางไหนนี่ จึงหลงสู่พิชัยเชตุอุดรนี้ คือบุรีอัยกาหาระแคะระคาย (๑๗๒) ในคืนนั้นท้าวสญชัยทรงนิมิต จำไม่ผิดมีคนนำบัวถวาย จึงตรัสเรียกโหรหลวงมาทำนาย โหรทูลทายจะพบญาติราชนิกุล (๑๗๓) ครั้นพอถึงเวลาเสด็จออก สู่ภายนอกหน้าพระลานว่าการหนุน แลพราหมณ์ชราจูงเด็กผ่านท่านการุณย์ รู้สึกคุ้นให้อำมาตย์ไปติดตาม (๑๗๔) สอบถามดูตาเฒ่าไปขอหลาน จะกลับบ้านกลับเมืองหมดเรื่องถาม ขอไถ่ตัวหลานทั้งสองมิต้องตาม ให้สมบัติล้นหลามเครื่องตอบแทน (๑๗๕) เลี้ยงรับรองวนิพกให้อิ่มหนำ กินกระหน่ำทั้งปวงไม่หวงแหน สำรับเจ้าไม่เคยลองของต่างแดน กินจนแน่นไม่มีเหลือเผื่อผู้ใด (๑๗๖) ยอมท้องแตกดีกว่าเหลืออาหาร เกินประมาณที่ท้องจะรับไหว ท้องแตกตายอยู่ตรงนั้นในทันใด ทรัพย์ที่ได้คืนคลังยังอยู่ดี (๑๗๗) หลังไถ่สองกุมารผ่านวันนั้น จัดพิธีรับขวัญทำบายศรี คิดถึงองค์เวสสันดรจรลี จัดชาลีเป็นทัพหน้ายกไพร่พล (๑๗๘) ฝ่ายพระเวสสันดรได้ยินเสียงม้า ไพร่พลมาอื้ออึงถึงสถล องค์มัทรีเตือนสติในบัดดล พรพระอินทร์ส่งผลดลบันดาล (๑๗๙) เมื่อพินิจรู้รับทัพบิตุเรศ ต่างเทวษพบพร้อมหน้าเคหาสถาน ต่างเล่าสู่ความลำบากอันยากนาน เกิดอาการสลบไสลไปทั้งมวล (๑๘๐) เทพบันดาลให้เกิดฝนโบกขรพรรษ องค์กษัตริย์ทั้งหกจึงคืนหวน รับไอเย็นฟื้นขึ้นมาตั้งกระบวน ทรงกำสรวลทั่วกันวันมงคล (๑๘๑) เวสสันดรและมัทรีละจากพรต ทั้งคืนยศบัลลังก์ครั้งเคยผ่าน สวรรยาสิ่งใดไท้ประทาน มีเติมเต็มตระการดังพรอินทร์ (๑๘๒) กลิงครัฐยืมช้างไปก็ไม่นาน ฝนตกต้องฤดูกาลทุกท้องถิ่น จึงนำกลับถวายคืนสู่บดินทร์ ครองแผ่นดินสงบสุขจนชั่วกาล (๑๘๓) บารมีในทานเมื่อผ่านพ้น บังเกิดผลชาติใหม่คุณไพศาล บรรลุธรรมตัดต้นเหตุกิเลสมาร สู่นิพพานเป็นมหาศาสดา (๑๘๔) ..อวสาน..
29 มีนาคม 2548 10:46 น. - comment id 446042
เรียน ผู้อ่านทราบ.. สำหรับกลอนชุดทศชาตินี้ ได้เขียนจนจบริบูรณ์แล้ว.. ผิดพลาดประการใด ขออภัยไว้ ณ.ที่นี้ อนึ่งอาจมีคำซ้ำซ้อนน่าเบื่อหน่ายบ้าง ..ก็เชิญติ-ชมได้ตามสะดวกค่ะ.. ขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่เป็นกำลังใจ ให้เสมอมาจนบังเกิดความเพียร และมีความสำเร็จติดตามมาในวันนี้..ที่จะลืมไม่ได้คือทีมงานที่จัดทำเวปไทยโพเอมทุกท่านด้วยค่ะ ที่ให้โอกาสนำผลงานมาเผยแพร่สู่สาธารณะชน..ขอขอบคุณไว้ ณ.ที่นี้.. ขอแสดงความนับถือ กุ้งหนามแดง.. ..
29 มีนาคม 2548 11:53 น. - comment id 446063
โห้...........ตบมือให้คนเก่งจ๊ะกุ้งหนามแดง...... อ่านจนตาลายเลย...........แต่ดีมากๆๆจ๊ะชื่นชมจากใจแก้วนีดาจ๊ะ.....
29 มีนาคม 2548 14:19 น. - comment id 446138
อื้อหือ.....ยอมรับในความอดทนพยายาม แต่งได้งดงามครับ...สามารถนำไปร้องเป็นเพลงได้เลย..(เพลงแหล่ทศชาติ) ฝากคุณบุญโทน คนหนุ่ม เขาร้องอ่ะ..... คนแต่ง(กุ้งหนามแดง)...คงจะได้กุศลผลบุญในการนี้ไม่น้อยเลย.....ฯ จริงจริงนะ....
29 มีนาคม 2548 14:31 น. - comment id 446144
เก่งจัง..ขอเอางานนี้ไปเก็บได้ม่ะคะ..
29 มีนาคม 2548 16:39 น. - comment id 446225
สุดยอดครับคุณกุ้งฯ....งดงามครับ(กลอน)..อิอิ
29 มีนาคม 2548 21:31 น. - comment id 446366
อ่านวันนี้ .. แล้ววันนั้น คุณกุ้งขับทำนองเสนาะให้ฟังด้วยนะคะ อัลมิตราจะหนุนตักฟัง ..ฮา ..
29 มีนาคม 2548 22:45 น. - comment id 446428
สวัสดีค่ะคุณกุ้งฯ วันนี้มาชื่นชมผลงานก่อนนะคะ อ่านยังไม่จบ แล้ววันหลังจะอ่านต่อ เพราะเมื่อคืนต้องดื่นตั้งแต่เที่ยงคืนเพื่อมานั่งลุ้นเหตุการณ์สึนามิรอบสอง เลยไม่ไหวแล้ว จะกลับไปนอนสักงีบ หลับฝันดี ราตรีสวัสดิ์ด้วยนะค่ะ คิดถึงคุณเสมอค่ะ
29 มีนาคม 2548 23:34 น. - comment id 446476
คนเมืองลิงกับเพียงพลิ้วมาชื่นชมผลงานคุณกุ้งค่ะ ขอหนุนตักฟังเสภาบ้างน้าคุณกุ้ง
30 มีนาคม 2548 09:13 น. - comment id 446543
โหหหหหหหหหห อ่านยังไม่ทันจบค่ะคุณกุ้ง เดี๋ยวมาอ่านต่อนะคะ
30 มีนาคม 2548 11:07 น. - comment id 446603
ติดตามมาถึงตอนนี้แล้วก็ยังคงงดงามเหมือนเดิมนะครับ เมื่อไหร่จะรวมเล่มหล่ะ
30 มีนาคม 2548 11:21 น. - comment id 446617
คุณแก้วนิดา เขียนจนงงเหมือนกันค่ะ.. ..................................................................... คุณมนต์กวี ก็คิดว่าเช่นนั้นค่ะ ขอมอบบุญนั้นให้ผู้อ่านทุกๆ ท่านน่ะค่ะ.. ..................................................................... คุณน้ำใส ด้วยความยินดีค่ะ.. ..................................................................... นกเดี่ยว แล้วไป นึกว่าชมเรา แอบเขินไปสามตลบค่ะ ..................................................................... คุณอัลมิตรา ขับรถพอไหว ขับเสภาเป็นไง ช่วยแนะนำ..อิอิ.. ...................................................................... คุณตูน รักษาสุขภาพด้วยค่ะ ค่อยๆ อ่านไปน่ะค่ะ ผิดพลาดขออภัยไว้ ณ.ที่นี้ค่ะ ขอบคุณที่ติดตามให้กำลังใจตลอดมา..ตั้งแต่ก้าวเข้ามาในบ้านกลอนไทยแห่งนี้... ....................................................................... คุณกานต์+คุณอุ๊ เอาสิค่ะ ขอป้าหัดก่อนน่ะค่ะ..ขับยังไม่เป็นค่ะ ทำนองเสนาะเนี่ย.. ..................................................................... คุณมัดหมี่ ทำตัวตามสบายค่ะ ขอบคุณสำหรับกำลังใจค่ะ .................................................................... คุณลำน้ำน่าน ก็คิดว่าเร็วๆ นี้ค่ะ...ขอตรวจงานอีกสักหลายๆ รอบค่ะ .. ความจริงการใช้ภาษาของกุ้งยังเรียบง่ายอยู่มากมาย ต้องศึกษาอีกมากค่ะ..ถ้าจะเทียบกับเพื่อนๆ อีกหลายคนกุ้งเองยังนับว่าห่างไกล..เพียงตนเองมีความเพียรและตั้งใจ จึงส่งผลให้สำเร็จเท่านั้นเองค่ะ .. ขอบคุณผู้อ่านทุกท่านอีกครั้ง ด้วยความนับถือ.. ....................................................................
30 มีนาคม 2548 21:17 น. - comment id 446901
แหม เอามาลงให้อ่านจนตาเปียกตาแฉะไปเลยนะครับ เห็นความพยายามแต่งเรื่องยาว หลาย ๆ เรื่อง ของคุณกุ้ง ขอนับถือด้วยใจจริงครับ แต่ละเรื่องที่นำมาด้วยมีสาระประโยชน์ให้ขัอคิดทั้งนั้นครับ ไว้ว่าง ๆ จะมาอ่านต่อให้จบครับ
30 มีนาคม 2548 23:02 น. - comment id 446949
เพื่อนรักผมเองได้เก็บไว้ในแผ่นดีสท์เรียบร้อยแล้ว เพื่อนแต่งได้ยอดเยี่ยมมาก ขออนุโมทนาในผลกุศลครั้งนี้ด้วย แบ่งส่วนบุญให้ผมด้วยนะครับ แก้วประเสริฐ.
31 มีนาคม 2548 10:00 น. - comment id 447041
++ ++ เก็บงานชิ้นนี้ของคุณกุ้ง.. ไว้ที่นี้นะจ่ะ..แวะไปดูได้.. http://www.whenifallinlove.net/diary/diary.php?nAmSai:30:3:2005:10481 ++++++++ ขอบคุณที่อนุญาติ..คร๊าบบพ๋ม..
31 มีนาคม 2548 11:08 น. - comment id 447072
พี่ชัย.. อืม! เป็นความตั้งใจของกุ้งแต่แรกค่ะ ว่าจะทำให้ได้ ยิ่งเขียนไปหลายๆ เรื่องตั้งแต่ชาติแรกๆ เห็นความเพียร ในธรรมของพระองค์ก็เลยซึมซาบ ทุกอย่างได้มาล้วนด้วยความเพียร พยายาม ทั้งสิ้น ประโยชน์ในบทกลอนจึงตกสู่ผู้เขียนเป็นอันดับแรก ..และสู่ผู้อ่านลำดับต่อมา.. ขอความสุข ความเจริญ มีแด่พี่ชัยชนะ ด้วยค่ะ.. ...................................................................... เพื่อนแก้ว รับทราบแล้วค่ะ...เรื่องบุญก็แน่นอนอยู่แล้วค่ะ..เมื่ออ่านแล้วก็จะได้ประโยชน์ ข้อคิด ไม่มากก็น้อยค่ะ.. ..................................................................... คุณน้ำใส แวะไปชมมาแล้วค่ะ.. :) .......................................................................
25 เมษายน 2548 14:50 น. - comment id 460327
ชื่นชมครับ มีความตั้งใจในการแต่งสูง ความอดทนนี่แหละคือความสามารถคุณ กุ้งหนามแดง แต่งกลอนสวยคนจะสวยด้วยมั้ย -*-