เปล้าหางพลั่ว
นกตะวัน
พวกเรายังคงปักหลักดูนกกันอยู่แถวหน้าด่าน ใครคนหนึ่งเรียกและชี้ให้ดูบนต้นไม้ต้นหนึ่งห่างจากต้นสะเดาช้างออกไปทางด้านหลังไม่มากนัก เพราะบนต้นไม้ต้นนี้มีนกเปล้าหลายตัวเกาะอยู่บนกิ่งโน้นบ้างกิ่งนี้บ้าง ทุกคนจึงเบนความสนใจไปยังต้นไม้ต้นนั้นซึ่งไม่ทราบว่าเป็นต้นอะไร ทันทีที่ผมส่องกล้องไปยังต้นไม้ต้นนั้นจึงได้เห็น นกเปล้าหางพลั่ว (Wedge-tailed Pigeon) หลายตัว แต่ในไม่ช้ามันพากันบินมาเกาะบนต้นไม้โกร๋นใกล้ๆซึ่งมีผลสีดำเต็มต้น
บนต้นไม้ใหญ่โล้นใบโกร๋นหล่น
ยังเหลือผลหลงไว้ให้ปักษา
เปล้าหางพลั่วพัวพันในทันตา
ต่างบินมามากมายเห็นหลายตัว
เที่ยวเก็บสิ้นกินผลออกล้นกิ่ง
ยื้อแย่งชิงเชื่องช้าหันหน้าหัว
ยื่นปากงับรับผลจนสั่นรัว
ดั่งเกรงกลัวกิ่งเปราะกะเทาะพลัน
พออิ่มหน่อยค่อยเลาะเกาะพักผ่อน
มิเดือดร้อนรับแดดแผดเผาผัน
ลำตัวเขียวเหลียวไปให้เห็นทัน
หน้าอกนั้นนวลเหลืองเรืองส้มทา
แต่ไหล่แดงแต่งเด่นเป็นตัวผู้
ยกหางชูเชิดตัวคล้ายพลั่วหนา
ส่วนตัวเมียเคลียคลอลออตา
เขียวถ้วนหน้าทั้งตัวหม่นมัวจาง
นกเปล้าหางพลั่วเป็นนกประจำถิ่นในป่าดิบแล้ง ตั้งแต่ระดับความสูง 600 เมตร ขึ้นไป จนถึงป่าดิบเขา ระดับความสูง 1,000 จนถึง 2,565 เมตรของยอดดอยอินทนนท์ (ยอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย) พบได้ทั้งในภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในต่างประเทศ นกเปล้าชนิดนี้พบได้ตั้งแต่แถบเชิงเขาหิมาลัยในอินเดีย เนปาล ภูฐาน เรื่อยมายังจีนตอนใต้ และพม่า และยังพบได้ในมลายู และอินโดนีเซียอีกด้วย
ต้อนรับปีใหม่ ทุ่งใหญ่นเรศวร 5
31 ธันวาคม 2547