ผมยังคงยืนอยู่ในป่าเต็งรังผสมป่าสนเขาชายทุ่งกระมัง มองดูต้นเต็ง ต้นรัง ต้นเหียงและต้นสนสามใบที่ขึ้นปะปนกลมกลืนกัน แม้ว่าในฤดูแล้งเช่นนี้ ต้นเต็ง ต้นรังและต้นเหียงกำลังทิ้งใบตามฤดูกาล แต่ต้นสนสามใบยังคงมีใบเขียวชอุ่ม และต้นเหียงกำลังออกดอกสีชมพูแกมม่วงบานสะพรั่งไปทั่วทุกต้น ทำให้ป่าแห่งนี้แลดูงดงามแปลกตาไปอีกแบบ ทุกครั้งที่ลมหนาวโชยพัดมา ดอกเหียงเหล่านี้มักร่วงหล่น จนพื้นดินทั่วบริเวณเกลื่อนไปด้วยสีม่วงชมพูของดอกเหียง ลมหนาวพัดสัมผัสไกวใบเหียงแกว่ง สายลมแรงดอกร่วงควงหมุนหล่น กลีบชมพูลู่พลิ้วปลิวมากล้น ทิ้งเกลื่อนกล่นกับพื้นดื่นดาษดา มองทางไหนให้เห็นเป็นดอกเหียง ผิวเรียบเกลี้ยงห้ากลีบลีบเนียนหนา บิดเป็นเกลียวเอี้ยววนงามล้นตา แต้มชายป่าปนชมพูดูร้อนแรง โอ้ต้นเหียงเคียงรังตั้งสูงใหญ่ ถึงน้อยใบบอกเราเจ้าแข็งแกร่ง แม้เปลี่ยนสีที่ใบในหน้าแล้ง เป็นส้มแดงยังเด่นเห็นแต่ไกล ยืนต้นแห้งแล้งไปใจยังสู้ ผลิดอกชูเชิดหน้าสง่าสดใส ชมพูม่วงร่วงหล่นสวยล้นไป พื้นป่าใสสีหวานเหียงบานเคียง เหียง (Dipterocarpus obtusifolius) เป็นไม้เด่นในป่าเต็งรังและป่าเต็งรังผสมป่าสนเขาทั่วทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน อยู่ในวงศ์ Dipterocarpaceae เช่นเดียวกับเต็งและรัง สูงถึง 28 เมตร เปลือกลำต้นหนา สีเทาเข้ม และมีรอยแตกลึก ทนต่อไฟป่าได้ดี มีใบกว้างรูปไข่ ฐานใบเว้า ปลายใบมน ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีบรอนซ์ออกสีเขียว มีขนสีน้ำตาลอมเหลือง ผลมี 2 ปีก และมีเส้นตามยาวปีก 1 เส้น ชมหมู่ปักษา กลางป่าภูเขียว 14 พฤศจิกายน 2547
7 กุมภาพันธ์ 2548 20:14 น. - comment id 421701
สวยดีนะครับ แต่งแต้มสีสันต์พันธุ์หมู่ดอกไม้ ฟุ้งกระจายร่ายสีช่างสร้างสรรค์ พฤกษางามตามชมดอมดมกัน วันทั้งวันร่มรื่นสดชื่นใจ
7 กุมภาพันธ์ 2548 22:49 น. - comment id 421896
มีชื่ออื่นนอกจากชื่อนี้ไหมค่ะ เพราะรู้สึกว่าดอกเหียงเนี่ยคุ้น ๆ เหมือนเคยเห็นเลยค่ะ
9 กุมภาพันธ์ 2548 18:04 น. - comment id 422715
ชื่อแปลกจัง เพิ่งเคยได้ยินค่ะ
10 กุมภาพันธ์ 2548 18:43 น. - comment id 423293
เหียง บางทีเรียกว่า ยางเหียง เป็นพรรณไม้ในวงศ์เต็งรัง