เหยี่ยวหน้าเทา

นกตะวัน


ในขณะที่นักท่องเที่ยวและนักดูนกหลายคนกำลังเดินชมงานและเลือกซื้อสินค้าที่ระลึกนั้น นักดูนกอีกหลายคนกำลังยกกล้องส่องดูเหยี่ยวชนิดต่างๆที่บินอพยพเป็นทิวแถวผ่านเหนือบริเวณจัดงาน ทีละกลุ่ม ทีละกลุ่ม ตัดกับท้องฟ้าสีครามและปุยเมฆสีขาวจนแลเห็นอยู่ลิบๆ ส่วนใหญ่เป็น เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ (Black Baza) ที่เกาะกลุ่มกันมาเรื่อยๆ แต่ในไม่ช้าเหยี่ยวขนาดใหญ่อย่าง เหยี่ยวหน้าเทา จึงบินอพยพผ่านมาบ้างทีละตัว สองตัว
เหยี่ยวหน้าเทาเข้าท่ามาโดดเดี่ยว			
กางปีกเหลียวร่อนถลาน่าสุขสม
ผ่านเมฆาล้าแรงแข่งสายลม				
พายุข่มเคลื่อนช้าบินฝ่าไป
แผ่ปีกกางข้างตัวมัวแต่ร่อน				
อากาศร้อนค่อยแรงแสงสดใส
ยกตัวเอี้ยวเลี้ยววนขึ้นบนไว			
ค่อยจากไกลกลางนภาท้าให้มอง
หางแผ่กว้างอย่างพัดโบกปัดพลิ้ว			
ลำตัวลิ่วสูงลับฉับพลันสนอง
ดุจหางเสือเรือใหญ่ในลำคลอง			
พาลอยล่องเรื่อยไปได้ตรงทาง
เจ้าร่อนไปในพนาป่าผืนไหน			
มุ่งลงใต้บินต่อเหนื่อยท้อหาง
หยุดพักหน่อยค่อยเลื่อนเคลื่อนปีกบาง			
อย่าลาร้างเร็วไวใคร่พบเจอ
เหยี่ยวหน้าเทา (Grey-faced Buzzard) เป็นเหยี่ยวขนาดกลาง ยาวจากปลายปากถึงปลายหาง 41-49 ซม. ในฤดูร้อนอาศัยและผสมพันธุ์ทำรังวางไข่ในจีนด้านตะวันออกเฉียงเหนือสุด เรื่อยเข้าไปในไซบีเรีย ลงมายังเกาหลี และญี่ปุ่น พอถึงฤดูหนาว บินอพยพย้ายถิ่นลงมาอาศัยหากินในจีนตอนใต้ ไทย อินโดจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยบินอพยพผ่านจังหวัดชุมพรลงไปทางใต้ในเดือนตุลาคม และกลับขึ้นเหนือในเดือนมีนาคมของทุกปี
เที่ยวชุมพร ย้อนมาประจวบฯ 7
23 ตุลาคม 2547				
comments powered by Disqus

thaipoem ที่สุดกลอนดีๆ

thaipoem บ้านกลอนไทยที่ที่สร้างแรงบันดาลใจของทุกๆคน เป็นเพื่อนเมื่อยามเหงา คอยปลอบใจเมื่อยามร้องไห้ ที่ที่อยากให้ทุกๆคนรู้ว่าสิ่งดีๆเกิดขึ้นได้ทุกวัน