โมฬีสยาม
นกตะวัน
เนื่องจากในช่วงเวลานี้ทัศนวิสัยดีมาก เราจึงมองเห็นทิวทัศน์เบื้องหน้าได้กว้างไกลไปจนสุดสายตา แลเห็นผืนป่าดิบแล้งสีเขียวเข้มตัดกับท้องฟ้าสีครามได้ถนัดชัดเจน แม้กระทั่งสีเขียวอ่อนของทุ่งหญ้าที่แทรกอยู่ระหว่างป่าดิบแล้งอันอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งบึงน้ำสีฟ้า และอาคารหลังคาสีน้ำตาลที่ตั้งอยู่เป็นหย่อมๆ สักครู่หนึ่งผมหันไปทางซ้าย เห็นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งแผ่กิ่งก้านสาขาสูงตระหง่านอยู่เบื้องหน้าจนต้องเงยขึ้นดู มีป้ายติดอยู่ที่ลำต้นเขียนไว้ว่า โมฬีสยาม
เห็นไม้ใหญ่ใกล้ผาเบื้องหน้านั้น
ต้นสูงชันช่อใบเขียวใสสวย
ติดป้ายไว้ให้เด่นเห็นอำนวย
อ่านไปด้วยดลจิตคิดดีใจ
พันธุ์พืชนี้มีอยู่คู่แผ่นดิน
เฉพาะถิ่นแหลมทองแดดต้องใส
ป่าดิบเขาเท่านั้นขึ้นมั่นใจ
ดอกไสวสีชมพูดูงดงาม
โมฬีสยามนามไม้ใครหนอตั้ง
เห็นชื่อยังยืนงงประสงค์ถาม
เหตุไฉนใช้ชื่อยึดถือตาม
เป็นคำนามของเขตประเทศไทย
คงมีผลล้นพูอยู่รอบด้าน
มองผาดผ่านเหมือนจุกซุกซ่อนใส่
จึงเรียกนามตามเห็นตั้งเน้นไว้
เพื่อคนไทยทั้งผองมองยินดี
โมฬีสยาม (Reevesia pubescense var. siamensis) ไม้ต้นในวงศ์ Sterculiaceae สูง 8-15 เมตร มีใบเดี่ยวรูปไข่ปลายแหลม ขอบใบเรียบ ออกเรียงเวียนสลับ ดอกรูประฆังสีชมพู ด้านนอกมีขนประปราย ออกเป็นช่อยาวอยู่ตามปลายกิ่ง เกสรตัวผู้เชื่อมกับก้านเกสรตัวเมียเป็นหลอดยาวออกมานอกกลีบดอก เป็นพืชถิ่นเดียวของไทยที่หายาก พบขึ้นในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก ในป่าดิบเขาที่ระดับความสูง 800-1,500 เมตร
ปลายฝน บนเขาใหญ่ 24
12 กันยายน 2547