ปทุมมาลย์ดกดื่นแต้มผืนธาร ต่างเพียรบานรอเวลาหาสงบ ดวงตะวันแย้มฉายหมายรอพลบ มีจุดจบแนบเนาบังเงาบัว ภาพผิวน้ำสะท้อนบัวอ่อนนิ่ง ภาพความจริงผุดคว้างกลางสลัว ภาพปวงใดไหนอื่นจะตื่นกลัว มาแต้มทั่วภาพสลายดอกไม้ธาร โตแต่โคลนแตกเหง้าก้าวชีวิต พรหมลิขิตแย้มยลชลสถาน หยั่งรากเหง้าลึกหล่มบ่มวิญญาณ กลางปวงซากตำนานแต่ปางใด แล้วหน่อบรรพ์พันธุ์เจ้าก็เร้ารัด โบกสะบัดก้านอ่อนย้อนน้ำไหล จากอาจมตมซากจากเหงื่อไคล จากเศษสร้อยไม้ใบใต้บาดาล มาบานพรายแต่งน้ำเมื่อยามเช้า ใบบังเงาร่มรื่นชื่นพุทธศานติ์ ปทุมชาติสืบบุตรพุทธาจารย์ ผลิเกสรอาทรทานภุมรา หลายดอกบานเหนือน้ำทุกยามชัด ดอกสงัดรอรับแสงแห่งอุษา อีกกี่ดอกเผชิญโศกโชคชะตา กลางปูปลาเต่าน้อยในรอยกรรม ฉันจะเป็นเฉกเช่นดั่งบัวหลวง ผลิดอกดวงโปรยทานไปให้อิ่มหนำ บานส่องโลกโตรกวารีคลี่ลำนำ โปรยดอกธรรมเรณูสู่ปวงพฤกษ์ เพื่อปทุมแสนร้อยในรอยตม จะแหวกหล่มตื่นฟื้นขึ้นกลางดึก ใฝ่พระธรรมรับแสงแห่งสำนึก จากห้วงลึกมาบานคู่อยู่เบื้องบน แปรความหมายสู่ห้วงมหรรณพ ก่อนจุดจบโรยแรงทุกแห่งหน เป็นดอกบัวประทับจับใจคน สู่มรรคผลหิ้งพระรัตนไตร เพื่อความงามแห่งสายนทีทอง ประดับกลีบเหลืองผ่องดั่งทองไส ภู่ผึ้งจ้อยร้อยรัดทัดธรรมใย เกลือกบุหงารำไปแห่งดาวดึงส์ ดอกบัวพุทธแย้มสงบภพบึงหน้า ภุมราเหล่าใดบินไปถึง ทิพย์สุคันธ์ฉ่ำหล้าเต็มตราตรึง รสลึกซึ้งธรรมพร่างสว่างรับ ปทุมบานดกดื่นแต้มผืนชล ทุกแดนดลเรืองรองทองธรรมจับ ปณิธานปทุมชาติหยาดระยับ พร้อมสงบรำงับกับนิพพาน ---------------------------- ในหมู่ปวงดอกไม้ทั้งมวลนั้น ข้าพเจ้าชอบดอกบัว ด้วยเป็นดอกไม้ที่เกิดแต่ตม หากแต่งดงามด้วยดอกที่สงบงาม ยามใดที่ได้มอง รู้สึกสงบและรำงับ ด้วยกลิ่นอายแห่งพุทธศาสนา องค์พระศาสดาให้ดอกบัวเป็นดอกไม้ตัวแทนแห่งสรรพสัตว์สี่เหล่า เปรียบเปรยไว้อย่างน่ามหัศจรรย์.. ในกาลก่อนสมัยพุทธกาล แม้นในสมัยนี้ก็ พุทธพจน์นี้ก็ยังใช้ได้ดีอยู่.. ในยามค่ำคืนนี้ที่ดอกบัวหลวงบูชาอยู่หน้าพระบนหิ้ง ปณิธานกวีก็แย้มพราย บอกเล่าเรื่องราวแห่งความสามัญ สงบ และรำงับ อยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ กฎนิรันดร์ที่อยู่เหนือกฎทั้งปวง พรุ่งนี้ดวงดอกบัวหน้าพระคงจะโรยรา... หากแต่โรยราไปอย่างสง่างาม เรียบง่าย แต่ทว่าเป็นสุข
9 กันยายน 2547 04:23 น. - comment id 327396
มาอ่านงานงามค่ะ
9 กันยายน 2547 08:00 น. - comment id 327433
เปรีบเทียบธรรมชาติได้ลงตัว ดอกบัวสี่เหล่า ดอกบัวใต้โคลนตมเป็นภักษาหารของปลา เต่า จะมีดอกบัวซักกี่ดอกที่รอดพ้นมาได้ แต่ก็ไม่มีสิ่งไหนเหนือความพยายามของมนุษย์ ขอให้ปณิธานตั้งไว้สมใจนะครับ
9 กันยายน 2547 11:43 น. - comment id 327548
งดงามมากครับในการเรียงร้อย ๚ะ๛ size>
9 กันยายน 2547 12:23 น. - comment id 327609
ไพเราะ งดงามแฝงความหมายชอบค่ะ
9 กันยายน 2547 12:57 น. - comment id 327670
ทุกครั้งที่เข้ามาอ่านงานคุณลำน้ำน่าน จะอิ่มใจทุกครั้ง เป็นเช่นนั้นค่ะ .......................................................... ลี่...ผู้มาเยือน
9 กันยายน 2547 13:13 น. - comment id 327694
ปาริชาติ เป็นไม้ต้นผลัดใบขนาดกลางสูงประมาณ ๑๕ เมตร ลำต้นสีเทา เปลือกเป็นลายคล้ายเปลือกแตกตืน ๆ สีเทาอ่อน เรือนยอดกลม ใบเป็นประเภทใบประกอบชนิดที่มี ๓ ใบย่อย ใบย่อยเป็นรูปไข่หรือรูปไข่กึ่งขนมเปียกปูน สีเขียว ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน ออกดอกเป็นช่อใหญ่ตามปลายกิ่ง ดอกสีแดงและแดงแสด ยาวประมาณ ๖ เซนติเมตร ฝักยาวประมาณ ๒๕ เซนติเมตร เป็นข้อ ๆ สีน้ำตาลเข้ม เมล็ดสีแสด ออกดอกระหว่าง เดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ เป็นไม้ปลูก ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด เรื่องที่เกี่ยวกับปาริชาติ ในเรื่องกามนิตวาสิฏฐี กลางหุบเขามีต้นไม้ประหลาดต้นหนึ่ง ลำต้นเรียบรื่นเป็นสีแดงประพาฬ ใบแกมเหลืองมีดอกประหลาดสีแดงเข้ม ราวกับจะลุกไหม้ ในขณะประหลาดส่งกลิ่นหอมก็เริ่มสำแดงอาการ กล่าวคือ ขณะที่กามนิตสูดกลิ่นซึ่งหอมตลบฟุ้งทั่วหุบเขานั้น ก็เกิดรู้สึกระลึกเรื่องหนหลัง ได้ดูแล่นพรูเข้ามาสู่ใจโดยเร็ว ทำให้เข้าใจว่าเมื่อสูดกลิ่นของดอกปาริชาติ แล้วจะทำให้ระลึกชาติได้ ต้นปาริชาติในหนังสือไตรภูมิพระร่วงได้กล่าวไว้ว่า ในสวนบุณฑริกวันซึ่งเป็นสวนของ พระอินทร์ มีไม้ทองหลาง ชื่อปาริชาติสูง ๘๐๐,๐๐๐ วา กว้าง ๒๑๐,๐๐๐ วา และจะออกดอกทุก ๆ ๑๐๐ ปี มีกลิ่นหอมไกลถึง ๑๐๐ โยชน์ (๑ โยชน์เท่ากับ ๘,๐๐๐ วา)
9 กันยายน 2547 13:17 น. - comment id 327698
http://f405.tripod.com/html/parichat.htm ดูดอกตามเวบนี้นะคะ ด้วยปรารถนาดี
9 กันยายน 2547 13:35 น. - comment id 327716
http://www.thaipoem.com/web/songshow.php?id=902 หนองบัว บุษยา รังสี : : Key F ลมเย็นพริ้วพัดปลิวลิ่วมา แนวไม้โพ้นไกลสุดตา ดูเหมือนว่า เป็นไพรสนฑ์ เห็นบึงน้ำนองฉันมองน้ำวน ไม้ใบที่หล่น พริ้ววนร่วงดิ่ง ลงไป จวนสลัวหนองบัวช่างงาม มองเห็นวิมานเมฆยาม ลอยฟ้าเด่น ดูสดใส น้ำวนพริ้วรัวพัดบัวพัดใบ คละลอยลิ่วไป เคลิ้มในภาพงามเย็นตา ราตรีเพิ่งเยือนเห็นเด่นเดือน เหมือนจิตเรา น้ำงามด้วยเงาจากฟ้า ดวงบนนั่นไกลนัก เกินจักเอื้อมคว้า เดือนแก่นนี้มา ให้ชม ธารนามผองหนองบัวแห่งใด ไม่เหมือนหนองบัวที่ใจ เรานี้ได้ เคยสุขสม ถึงตัวร้างไปหัวใจขอจม หนองบัวรื่นรมย์ หนองบัวที่ชมจันทร์แมน ราตรีเพิ่งเยือนเห็นเด่นเดือน เหมือนจิตเรา น้ำงามด้วยเงาจากฟ้า ดวงบนนั่นไกลนัก เกินจักเอื้อมคว้า เดือนแก่นนี้มา ให้ชม ธารนามผองหนองบัวแห่งใด ไม่เหมือนหนองบัวที่ใจ เรานี้ได้ เคยสุขสม ถึงตัวร้างไปหัวใจขอจม หนองบัวรื่นรมย์ หนองบัวที่ชมจันทร์แมน...
9 กันยายน 2547 13:41 น. - comment id 327721
http://www.thaipoem.com/web/songshow.php?id=745 ศกุนตลา เพ็ญศรี พุ่มชูศรี : : Key D ศ-กุน ตลา นางฟ้าแมกฟ้า ฤา ไฉน เดิน ดิน นางเดียว เปลี่ยวใจ นางไม้ แมกไม้ มิได้ ปาน น้ำค้าง ค้าง กลีบกุหลาบอ่อน คือเนตรบังอรหยาดหวาน โอษฐ์อิ่มพริ้มรัตน์ ชัช วาล เพลิงบุญอรุณกาลผ่านทรวง ศกุนตลา นางฟ้าแมกฟ้าจากสรวง คลื่นสมุทรสุดฤทัยไหวปวง คือทรวงนางสะท้อนถอนใจ ยอดมณีศรีศิลป์ปิ่นสวรรค์ หล่อหลอมจอมขวัญผ่องใส คือแก้วแพร้วพร่างกระจ่างใจ อาบไออมฤตนิจนิรันดร์...
9 กันยายน 2547 13:56 น. - comment id 327732
พฤกษ์สะพรั่งครั้งเช้าคราวอรุณ สัมผัสอุ่นไอทิวาพาใจชื่น แมกไม้ใบพักผ่อนตอนค่ำคืน ได้กลับฟื้นปลุกหล้าพาสราญ ขอหยุดห้วงเวลาไล่หาฝัน มาชมความเฉิดฉันท์รอบถิ่นฐาน ด้วยเพียงครู่ที่ดอกใบจะเบ่งบาน เมื่อถึงกาลโรยไปไม่เสียดาย อยู่กับตัวของตนค้นความจริง สงบนิ่งพิจารณ์ก่อนกาลสาย ที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าอย่าทิ้งดาย ใส่ใจอย่างแยบคายในทัศนา เพียงชั่วครู่รู้ซึ้งถึงความงาม และถึงความเสื่อมไปในบุปผา ได้ประจักษ์แม้เพียงเสี้ยวเวลา นั้นมีค่ากว่าฝันอันแสนไกล บุรุษแห่งสายน้ำ...มาอ่านงานสรรค์สร้างใจค่ะ
9 กันยายน 2547 15:17 น. - comment id 327776
http://f405.tripod.com/html/boul.htm ฝากให้ทุกดวงใจค่ะศึกษาจากเวบนี้ที่งามมากค่ะ บัว ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Nelumbo วงศ์ Nelumbonaceae ลักษณะ เป็นพันธุ์ไม้น้ำชนิดหนึ่ง มีเหง้าหรือหัวอยู่ในเลนในตม แตกใบและดอกเป็นสายออกมาจากเหง้า ใบและดอกลางชนิดก็ลอยน้ำ บางชนิดก็อยู่เหนือน้ำ ใบและดอกมีลักษณะคล้ายกัน ใหญ่เล็กตามชนิดของพันธุ์ ใบใหญ่เกระด้งก็มี เรียกว่า บัวกระด้งหรือบัววิตอเรีย ดอกบัวมีหลายสี บางชนิดก็มีกลิ่นหอม บางชนิดก็ไม่มีกลิ่น สายบัวบางชนิดใช้รับประทานได้ บัวแบ่งออกเป็นพวกใหญ่ ๆ ได้ ๒ พวก คือ ปทุมชาติและอุบลชาติ ๑.ปทุมชาติ ได้แก่ พวกบัวหลวง ลักษณะของใบกลมหนา สีเขียว ก้านมีหนาม ส่งก้านใบและก้านดอกชูสูงอยู่เหนือน้ำ ดอกเป็นรูปหัวใจ ปลายดอกแหลม กลีบดอกซ้อนกัน เวลาดอกบานจะแบะออกมีกลิ่นหอมเล็กน้อย เมื่อกลีบและเกสรร่วงแล้วจะติดฝักใชัรับประทานได้ หัวบัวก็ใช้รับประทานได้ บัวหลวงมีด้วยกันหลายสี เช่น ดอกสีแดง เรียกบัวหลวงแดงหรือชมพูแก่ เรียกว่า สัตตบงกช ดอกสีขาวบริสุทธิ์ กลีบซ้อนแน่น เรียกว่า สัตตบุษย์ ดอกสีขาวอมเขียวจาง ๆ เรียกว่า บัวหลวงขาว หรือ บุณฑริก ชาวพุทธใช้ดอกบัวบูชาพระรัตนตรัยมาแต่โบราณกาล เราจะเห็นว่ารูปปั้นหรือรูปเขียน ซึ่งเป็นพระอิริยาบถของพระพุทธเจ้า มักจะมีดอกบัวรองรับ ดอกบัวหมายถึงความสะอาดบริสุทธิ์ ๒. อุบลชาติ เรียกว่า บัวสาย บัวพวกนี้ใบจะลอยอยู่เหนือน้ำ ส่วนดอกบางชนิดจะลอยอยู่เหนือน้ำ บางชนิดก็ชูอยู่เหนือน้ำเล็กน้อย บัวอุบลชาตินี้มีมากมายหลายชนิด ดอกมีสีต่าง ๆ สวยงามมาก อุบลชาติแบ่งออกเป็น ๒ พวก คือ (๑) พวกยืนต้น ได้แก่ บัวที่มีถิ่นกำเนิดในเขตหนาว บัวพวกนี้พอถึงฤดูหนาวจะสลัดใบที่อยู่เหนือน้ำ เหลือแต่ใบเล็ก ๆ ที่อยู่ใต้น้ำเรียกว่า ระยะพักตัว พอหมดฤดูหนาวก็แตกใบออกดอก ลักษณะของบัวพวกนี้ใบกลมบอบใบกลมขอบใบเรียบ ก้านดอกลอยบนน้ำ เหนือเหนือน้ำเล็กน้อย ดอกบานเฉพาะเวลากลางวัน ดอกไม่ค่อยมีกลิ่นหอม ชอบน้ำลึก (๒) พวกล้มลุม เป็นพวกที่กำเนิดในเขตร้อน ปลูกในเขตหนาวมักจะตาย ต้องขุดหน่อเก็บไว้ เมื่อหมดฤดูหนาวแล้วจึงนำเหง้าไปปลูก ลักษณะของใบใหญ่ ขอบใบเป็นจักร ก้านดอกชูดอกสูงพ้นน้ำ พวกบานกลางวันมักมีกลิ่นหอม ชอบน้ำตื้น
9 กันยายน 2547 18:47 น. - comment id 327875
งามด้วยภาษา..ที่เรียงร้อยมาด้วยความไพเราะ...ภาพดอกบัวหลวง..สวยงามมาก..มองแล้วสงบนิ่ง...ราบเรียบ..แต่ลึกล้ำด้วยความหมาย..มากเกินกว่าจะบรรยาย....ชอบมากค่ะ.. แวะมาทักทาย...ลำน้ำน่าน..นะคะ.คิดถึงค่ะ...