ปอบิด
นกตะวัน
นั่งรถกระบะเข้ามาได้สักพัก เราต้องลงจากรถแล้ว เพราะหนทางข้างหน้าค่อนข้างแคบ ขรุขระ และเต็มไปด้วยก้อนหินที่โผล่พ้นผิวดิน เหมาะที่จะเดินมากกว่านั่งรถ สองข้างทางยังคงเนืองแน่นไปด้วยหญ้าเพ็ก แลเห็นไกลไปจนสุดสายตา สุดแต่ว่าป่าเต็งรังจะกว้างไกลไปในทิศทางใด แต่ผมแลเห็นไม้พุ่มหลายชนิดเหมือนกันที่ขึ้นแทรกอยู่เป็นหย่อมๆในดงหญ้าเพ็ก ช่วยทำให้ไม่ลายตามากเกินไป บางชนิดมีมากเหลือเกินและขึ้นอยู่เป็นกลุ่ม เช่น ปอบิด
กอไม้พุ่มกลุ่มใหญ่ในดงหญ้า
เด่นหน้าตาด้วยต้นขนมากหลาย
ใบกว้างเขียวเดี่ยวรีที่สากคาย
มองดูคล้ายรูปไข่ปลายใบมน
ผลิดอกส้มอมแดงแฝงทั่วกิ่ง
ออกแน่นจริงเป็นกระจุกซุกทุกหน
ห้ากลีบเห็นเด่นชัดในบัดดล
เกสรล้นสีเหลืองเรืองรำไร
หลังดอกร่วงควงหล่นเกลื่อนกล่นพื้น
ฝักยาวยื่นแหย่นอกออกไสว
บิดเป็นเกลียวเกี่ยวก่ายป่ายกันไป
ชาวบ้านใช้ปอบิดติดปากมา
ยามขาดเชือกเลือกกิ่งหักทิ้งก่อน
ดึงเปลือกล่อนไปเรื่อยยาวเฟื้อยหนา
ใช้ผูกมัดรัดของคล่องเรื่อยมา
ขึ้นคุ้มค่าทุกคนควรสนใจ
ปอบิด (Helicteres isora) ซึ่งบางคนเรียกว่า ปอทับ มะปิด หรือ ขี้อ้นใหญ่ เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กในวงศ์ Sterculiaceae สูง 1 หรือ 2 เมตร พบขึ้นอยู่ในป่าเต็งรังและป่าผสมผลัดใบในระดับความสูง 100-400 เมตร ออกดอกและติดฝักในเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน เนื่องจากเปลือกของลำต้นและกิ่งซึ่งมีขนสีน้ำตาลปกคลุมอยู่ทั่วไปมีลักษณะเป็นเส้นใย ชาวบ้านจึงนิยมตัดลำต้นและกิ่งของปอบิดเพื่อนำมาใช้ทำเชือกสำหรับผูกมัดสิ่งของ
สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช 5
17 กรกฎาคม 2547