เรายังคงเดินดูนกอยู่ในบริเวณนั้นอีกนาน แต่พบนกเพิ่มแค่สองชนิด นกเด้าดินทุ่งเล็ก (Paddyfield Pipit) ซึ่งวิ่งหากินอยู่ตามพื้นทราย และ นกกินเปี้ยว (Collared Kingfisher) ซึ่งบินแวบหายเข้าไปในดงไม้ริมฝั่ง ในไม่ช้าเราทยอยกันเดินย้อนกลับ ผมดูเปลือกหอยด้วยซึ่งแลเห็นอยู่เกลื่อนหาดไปตลอดทาง คงถูกคลื่นซัดเข้ามากองในเวลาน้ำขึ้น แล้วสายตาผมสะดุดเข้ากับเปลือกหอยกาบเดี่ยวสีม่วงจึงหยิบขึ้นมาดู หอยม่วง (Purple Snail) นั่นเอง เปลือกเบาบางวางไว้เคียงใกล้กรวด แลม่วงรวดราวใครย้อมใส่สี ผิวเรียบมันสรรค์สร้างพรางอย่างดี หอยม่วงนี้น่ามองยืนจ้องชม ถือกำเนิดเกิดกลางหว่างทะเล ลอยร่อนเร่เรื่อยไปให้สุขสม สุดแต่คลื่นลื่นไถลในสายลม ยากใครข่มเคลื่อนไกลไปลำพัง ครั้นพายุดุร้ายกล้ำกรายหา น้ำไหลบ่าเบี่ยงเบนเอนเข้าฝั่ง คลื่นซัดหอยค่อยเขยื้อนเคลื่อนไม่ยั้ง จนกระทั่งกระทบหาดกวาดขึ้นมา เหลือแต่เปลือกเสือกไสทิ้งให้เห็น มิว่างเว้นทุกวันตายกันหนา บนสุสานสถานนี้ที่ผ่านมา เศร้าจริงหนาหนอหอยน่าน้อยใจ หอยม่วงเป็นหอยกาบเดี่ยวในวงศ์ Janthinidae รูปร่างคล้ายหอยโข่งแต่ตัวเล็กกว่า เปลือกบางเบาเปราะแตกง่าย ไม่มีฝาปิด ล่องลอยไปตามผิวน้ำทะเลและมหาสมุทรโดยเกาะอยู่ใต้ฟองที่มันสร้างขึ้นมา เลี้ยงชีวิตด้วยสัตว์น้ำต่างๆที่คลื่นพัดพาไปพบ ด้วยเหตุนี้จึงยากนักที่ใครจะได้พบเห็นมันในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ หอยม่วงที่พบเห็นกันในอ่าวไทยเป็นชนิด Janthina prolongata ใครที่มีโอกาสไปเดินตามชายหาด อย่าลืมมองหาเปลือกหอยชนิดนี้ เยี่ยมสามร้อยยอด 11 7 กรกฎาคม 2547
19 กรกฎาคม 2547 06:08 น. - comment id 300780
ยอดเยี่ยมมาก..สำหรับผลงานกึ่งวิชาการ ซึ่งถูก นำมาร้อยเรียงทำให้น่าติดตาม และลอกเปลือก ของความน่าเบื่อหน่ายทิ้งไปได้โดยสิ้นเชิง๚ะ๛ size>
19 กรกฎาคม 2547 14:59 น. - comment id 301064
กลอนไพเราะมากๆๆๆๆๆๆๆๆเลยค่ะ ชื่นชมในผลงานเสมอนะค่ะ