แจ้วจำเรียงเพียงพ้องทำนองเสนาะ ความไพเราะบทกลอนตอนขับขาน หากใคร่ครวญจัดคำอย่างชำนาญ ย่อมบันดาลผู้ฟังนั่งเคลิ้มตาม ความจริงกลอนก็เหมือนโคลง หรือร้อยกรองไทยอื่นๆ ตรงที่แต่เดิมใช้ขับ หรืออ่านทำนองเสนาะ เสียงจึงต้องเหมาะกับท่วงทำนองในการขับ พูดง่ายๆคือกลอนก็เหมือนเนื้อเพลง จึงมีการไล่ระดับเสียงสูงต่ำตามธรรมชาติของคำไทยที่มีเสียงวรรณยุกต์ เปลี่ยนเสียงก็กลายเป็นคนละคำ คนละความหมายไป และการไล่ระดับเสียงก็ไม่ใช่กระชากโหนสูง หรือดิ่งต่ำแบบหัวทิ่มดิน ไม่ผิดหรอกแต่ไม่ไพเราะน่ะ ก่อนอื่นขอพูดคร่าวๆถึงเสียงของคำท้ายวรรคก่อนว่าท่าน(ใครก็ไม่รู้)กำหนดไว้อย่างไร กลอนบทหนึ่งมี ๔ วรรค ก็มีการกำหนดว่าเสียงท้ายแต่ละวรรคควรเป็นดังนี้ ๑. กลอนสลับ ได้แก่ กลอนวรรคต้น คำสุดท้าย ใช้คำเต้น คือนอกจากเสียงสามัญ แต่ถ้าจะใช้ ก็ไม่ห้าม ๒. กลอนรับ ได้แก่ กลอนวรรคที่สอง คำสุดท้าย นิยมใช้ เสียงจัตวา ห้ามใช้เสียงโท, สามัญ, ตรี, และวรรณยุกต์เอกมีรูป วรรณยุกต์เอกไม่มีรูป ไม่ห้าม แต่ต้องให้คำสุดท้าย ของกลอนรอง เป็นเสียงตรี ๓. กลอนรอง ได้แก่ กลอนวรรคที่สาม คำสุดท้าย นิยมใช้ เสียงสามัญ ห้ามใช้เสียงจัตวา หรือคำที่มีรูปวรรณยุกต์ จะใช้คำตายเสียงตรี ก็ได้ ถ้าวรรครับใช้คำตายเสียงเอกส่งมา ๔. กลอนส่ง ได้แก่ กลอนวรรคที่สี่ คำสุดท้าย นิยมใช้ เสียงสามัญ ห้ามใช้คำตาย และคำที่มีรูปวรรณยุกต์ จะใช้คำตายเสียงตรี บ้างก็ได้ ที่ว่ามานี้ลอกมาจากตำรา แต่ขอบอกว่าผมเองก็ไม่ได้เคร่งครัดนักในหลายๆจุด เห็นผมโหมโรงด้วยเสียงคำท้ายวรรค อย่าเพิ่งด่วนเข้าใจว่าเสียงกลอนมีเฉพาะเสียงคำท้ายวรรคเชียวนา แต่ต้องเริ่มตรงนี้ก่อน เพราะเห็นว่าถ้าเสียงคำท้ายวรรคไม่เสียก็ถือว่าพอกล้อมแกล้มไปได้น่ะ ขอบอกไว้นิดว่า ที่จริงแล้วฉันทลักษณ์นั้นเริ่มจากการไม่มีกฏอะไรหรอก ก่อนจะมีคนมาบอกว่าอย่างนั้นดี อย่างนี้ไม่ดี ก็เชื่อตามๆกันมา แต่ทางที่ดีก็ฟังเอาไว้ อย่าไปวิวาท เพราะลางเนื้อชอบลางยา ตานี้ก็ขอขยายความหน่อยว่ากลอนนั้นแบ่งเป็น ๒ บาท (รวม ๔ วรรค) ปกติแล้วบาทแรกนิยมให้ไต่ขึ้นสูง ขณะที่บาทหลังเป็นการ landing หรืออย่างน้อยก็ลดระดับลงจากบาทแรก ตรงนี้แหละที่เป็นกรอบในการกำหนดเสียงท้ายวรรครวมทั้งเสียงในวรรคแต่ละวรรค การที่ท้ายวรรคแรกไม่นิยมให้ใช้เสียงสามัญ แต่ให้ใช้คำเต้น เพราะถ้าเป็นเสียงสามัญก็ขัดกับหลักการที่จะให้ไล่ระดับเสียงในบาทแรกไต่ขึ้น แถมจะทำให้เสียงจืดชืดเวลาอ่านทำนองเสนาะด้วย จากวรรคแรกก็คือวรรคสอง ในความคิดของผม วรรคสองเป็นวรรคที่สำคัญที่สุด และมีชื่อเรียกเฉพาะว่า วรรครับ ก็สมชื่อ เพราะรับสัมผัสมาจากบทก่อนหน้า บางตำราท่านว่าเสียงท้ายวรรครับนี้ให้ใช้แต่เสียงจัตวา กับคำตายเสียงเอก ซึ่งกรณีหลังนี้โดยปริยายคือรับกับคำตายเสียงตรีที่ส่งมาจากบทก่อน ดังนั้นถ้าเป็นบทแรกจึงไม่นิยมใช้เสียงเอกตรงนี้ บางตำราไม่เคร่งขนาดนั้น คือยอมให้ใช้ทั้งเสียง เอก โท และจัตวา (จัตวาน่ะแหงอยู่แล้วน่ะ) ในส่วนของเสียงโท ผมว่าน่าจะไม่มีปัญหา เพราะอ่านดูก็ไม่เห็นสะดุดตรงไหน แต่เสียงเอกถ้าเป็นกรณีมีรูปวรรณยุกต์ก็จะนิยมใช้เพื่อรับกับเสียงตรีที่ส่งมา ทีนี้ก็มาถึงวรรคที่สาม หรือวรรครอง ท้ายวรรคนี้เสียงต้องลดลงมาจากวรรครับละ ถ้าให้ดีก็เสียงสามัญไปเลย แต่ถ้าวรรครับเล่นคำตายเสียงเอกไว้ก็ต้องคำตายเสียงตรีโดยธรรมชาติ ความจริงวรรคนี้ทั้งวรรคควรให้เสียงต่ำกว่าวรรครับด้วย มิฉะนั้นตอนลงในวรรคสุดท้ายจะลงแรงเกินไป สำหรับวรรคสุดท้าย หรือวรรคส่ง ก็ทำนองเดียวกับวรรคที่สามนั่นแล ยังนะครับ เรื่องยังไม่จบ ......ฮี่ ฮี่ ฮี่ คีตกวีประพันธ์เพลงโดยใช้ระดับเสียงและจังหวะที่แตกต่างกัน ก็สามารถสะกดคนฟังให้มีอารมณ์กลมกลืนไปกับทำนองเพลงได้ ถ้าเราเข้าใจตรงจุดนี้ และนำหลักการเดียวกันมาใช้ในกลอน ก็ย่อมจะให้ผลในทำนองเดียวกัน แบบนี้เขาเรียกว่าเอามุมมองของสหวิทยาการมาใช้ ภาษาไทยมีคุณสมบัติพิเศษกว่าภาษาอื่นตรงที่ภาษาไทยเป็นภาษาดนตรี คำแต่ละคำมีระดับเสียงสูง-ต่ำ สั้น-ยาว และหนัก-เบา แตกต่างกัน ที่น่าทึ่งก็คือ ระดับเสียงกับความหมายจะสอดคล้องกันด้วย คำว่า สูง ก็เสียงสูง คำว่าต่ำ ก็เสียงต่ำ คำว่า รัก เสียงหวาน ส่วนคำว่า เกลียด เสียงดุ สั้น-ยาว หนัก-เบา ก็เหมือนกัน ฯลฯ ขอขยายไว้หน่อยว่า เสียง ตรี และ จัตวา ให้สำเนียงหวาน ขณะที่ เสียง เอก และ โท จะดุ เอาอย่างนี้ดีกว่า ช่วยอ่านกลอนต่อไปนี้หน่อย เธอโกรธเกลียดเคียดขึ้งพึงเข่นฆ่า..............พี่โหยหานุชน้องปองถนอม จะเยาะเหยียดเหยียบย่ำก็จำยอม...............รักแล้วพร้อมยอมพลีแม้ชีวา แล้วบอกตัวเองว่าเป็นอย่างไร ฮี่ ฮี่ แต่ภาษาไทยมีการยืมคำจากภาษาอื่นมาใช้เยอะแยะมาก และคำที่ยืมมาจากภาษาอื่นก็จะไม่ค่อยมีคุณสมบัติที่ว่านี้ ทำให้การใช้คำที่ไม่ใช่คำไทยแท้ๆ ก็ต้องระวังมากขึ้นในเรื่องเสียง ที่อาจไปคนละอารมณ์กับเนื้อความ เช่น ประหวัดจิตพิสวาทนาฏแน่นหนัก คงคนละอารมณ์กับ หลงรักน้องปองถนอมในอ้อมแขน คำไทยแท้ๆก็เถอะ ถ้าไม่จัดใจความให้ดี ก็พาสะดุดหูได้เหมือนกัน นอกจากนี้เสียงและจังหวะของกลอนควรจะสอดรับกับเนื้อความด้วย จะอ้อยอิ่ง หวานหวาม โหยหวน หรือกระชากกระชั้น ก็ขึ้นอยู่กับเนื้อความ อย่าง.เดินทอดน่องแป๊บนึงถึงจุดหมาย.อย่างนี้ก็ไม่ไหว ต้อง.ค่อยค่อยเดินเพลินชมธรรมชาติ........ดารดาษมาลีหลากสีสัน สรุปคือ เสียงของกลอนไม่ได้มีแค่ระดับสูงต่ำ แต่ความซาบซึ้งในเสียงจะสมบูรณ์ก็ด้วยเนื้อความที่สอดรับกัน พอความคิดเคลิ้มตามรสความก็ทำให้สัมผัสเสียงได้ลึกซึ้งขึ้นด้วย เสียงจึงมิใช่ปัจจัยเพียงอย่างเดียวสำหรับความไพเราะของกลอน ถ้ามีแต่เสียง ก็เหมือนฟังเพลงบรรเลง ก็คงไม่ง่ายที่จะเข้าถึงความรู้สึกของเพลง ข้อสำคัญคือ ต้องให้สอดคล้องกับเนื้อความ ตรงนี้ห้ามลืมเด็ดขาด แปลว่า ยังไงๆก็อย่าทิ้งรสความเน้อ
17 กันยายน 2546 14:41 น. - comment id 168627
..แหะ ๆ... สวัสดีครับ
17 กันยายน 2546 14:42 น. - comment id 168628
อื้อ .. ไม่มีการนับถอยหลัง ค่ะ
17 กันยายน 2546 14:49 น. - comment id 168637
:)
17 กันยายน 2546 19:08 น. - comment id 168674
ขอบพระคุณค่ะ จะพยายามค่ะคุณลุง ชักจะแต่งไม่ออกแล้วค่ะ ไกล้สอบแล้วด้วยคงต้องหายหน้า ไปสักพักแล้วค่ะ สวัสดีค่ะ
17 กันยายน 2546 21:14 น. - comment id 168695
ผีขี้เมา.....จองหัวแถวไว้เลยหรือครับ อิอิ ลิงเร่ร่อน.....อืมมม เป็น ลุงเร่ร่อน บ้างก็ดีนะ นายก๊อง.....ยิ้มอารายยยยยย ฮึ่ม! อ้อม.....เอาใจช่วยนะ
17 กันยายน 2546 22:08 น. - comment id 168706
มาคัดลอกไว้แล้ว หวังว่าคงไม่สงวนลิขสิทธิ์นะครับ
17 กันยายน 2546 23:49 น. - comment id 168727
ลุงเร่ร่อนไม่ได้หรอก ลุงแก่แย้ว .. เดี๋ยวเจ้าหน้าที่สงเคราะคนชรามาพาตัวไปไว้บางแค..ทีนี้ล่ะ ป่วนไปทั้งบางแค เชียวน๊า
18 กันยายน 2546 05:02 น. - comment id 168736
ว่าจะอ่านนานหลายครั้งพลั้งไปเรื่อย เหมือนเอื่อยเฉื่อยไม่อยากรู้ดุทีท่า หากยุ่งหนอนโซบิ๊กว่อนทั่วโลกา เฉียดฉิวมาลงกลอนได้คลายกังวล ในคืนนี้มาอ่านงานท่านจารย์เวทย์ แสนวิเศษดูไม่มีที่จะบ่น กลับไปเทียบเปรียบของเราเข้ากมล เอ๊อ..ขอบกล..ดูเข้าทาง..บ้างเหมือนกัน ชมตัวเองแล้วดีใจเหมือนได้แก้ว ยกหัตถ์แล้ว มาเข้าแถว ....แจ้วแจ้วลั่น "คุณลุงขา ...หนูมาแล้ว.."..เข้าแถวพลัน ฝากอิฉัน ไว้ด้วยคน นะท่านจารย์ อิอิ ทิกิเอง มาแซว จารย์ หน่อย
18 กันยายน 2546 09:23 น. - comment id 168748
ชัยชนะ.....ผมไม่เคยหวงงานของผมน่ะ ลูกลิง.....เอาโซ่ล่ามซะดีม้างงงงง tiki.....แหะๆ
18 กันยายน 2546 21:08 น. - comment id 168874
แวะเข้ามารับความรู้ รับคำสอนค่ะ คุณลุง ขออนุญาตเก็บไว้ด้วยแล้วกันนะคะ :)
19 กันยายน 2546 00:34 น. - comment id 168927
Print ข้อมูลไว้เรียบร้อยแล้วค่ะ ขอศึกษาให้ละเอียดก่อนนะค่ะ ขอบคุณค่ะสำหรับข้อแนะนำเกี่ยวกับการแต่งกลอนที่น่าสนใจเอามากๆๆๆๆๆๆๆๆๆเลยค่ะ
19 กันยายน 2546 09:23 น. - comment id 169016
ทางกลอน มามากมายครับ ทางที่คุณ แนะนำมานี้ ถือเป็นทางกลอนของท่านสุนทรภู่ ที่จะเล่น กลอนในทาง เต้น เต้น จัตวา สามัญ สามัญ แต่ ทางกลอน ของแต่ละครู ย่อมแตกต่างกัน เคยเขียนกลอนบังคับเสีนยงไว้หลายบทเช่นกัน อาทิ กลอนเสียงหมอลำ ที่จะใช้ทางกลอน เอก จัตวา สามัญ สูง หรือ กลอนเสภา ที่จะมี ทางเสียงเป็น เอก สา อา โอ้ หรือ บทกลอนกราว จริง ๆ แล้ว ทางเสียงเนี่ย มี ประมาณ 8 - 9 ทางโน่นแหละ ฉะนั้น แต่งกลอน ขอให้เอาเนื้อถ้อยกระทงความให้รัดร้อยคล้อยคลอกันไปทั้งบท ก่อน จึงค่อยมาบังคับระดับเสียง บางคราว คำที่จำเป็นต้องลง ณ ตำแหน่งนั้น แต่เสียงผิดจากกฏ ก็ ล้วนอนุโลม
19 กันยายน 2546 10:13 น. - comment id 169032
ตามฝัน.....แค่ เก็บ เท่านั้นเองเหรอ แง้ๆๆๆ ผู้หญืงไร้เงา.....:) ม้าก้านกล้วย.....ในกระบวนคนที่ชูธงให้เอาความไว้ก่อน น่าจะมีผมอยู่ด้วยนะ ขนาดเล่นกลบทผมยังไม่ยอมให้ความเสีย หรือม้าก้านกล้วยเห็นว่ากลอนผมบกพร่องในเรื่องความ และกรุณาอ่านตรงนี้.... ขอบอกไว้นิดว่า ที่จริงแล้วฉันทลักษณ์นั้นเริ่มจากการไม่มีกฏอะไรหรอก ก่อนจะมีคนมาบอกว่าอย่างนั้นดี อย่างนี้ไม่ดี ก็เชื่อตามๆกันมา แต่ทางที่ดีก็ฟังเอาไว้ อย่าไปวิวาท เพราะลางเนื้อชอบลางยา และ..ทำไมไปยอมให้คำบังคับเราล่ะ เราเองต่างหากที่บังคับคำ ฉันทลักษณ์ก็เถอะ ก็แค่เครื่องมือเท่านั้น ใช้ให้เป็นก็พอ
19 กันยายน 2546 19:42 น. - comment id 169135
:)
22 กันยายน 2546 09:33 น. - comment id 169671
:]
22 กันยายน 2546 09:40 น. - comment id 169675
ราชิกา, โกโรโกโส.....:):):)