ถึงดวงดาว…☆
ดังดวงดาวเริงระบำกลางฟากฟ้า เคียงมณีแห่งนภายามคืนค่ำ ชม้ายชายแสงนวลทอดลงต่ำ ชวนเพ้อพร่ำหลงมนต์จันทร์ถึงชลธี
จากท้องสมุทร… เอื้อมไขว่คว้าหาดวงดาว เฝ้าใฝ่ฝันว่าสักคราวคงต้องมี พรหมบันดาลให้โอบกอดดาวสักที วอนขอเจ้าจันทร์เทวีโปรดเห็นใจ
จันทร์เจ้าจ๋าโปรดเถิดเปลี่ยนเป็นเพ็ญ ขอแสงทออันฉ่ำเย็นของแขไข ฉุดข้าขึ้นให้ดวงดาวอยู่ไม่ไกล ข้าจะยื่นมือออกไปคว้าเจ้าเอง…
Wednesday 7.17 p.m., February 20, 2013 ศิวสิโรมณิ 。………………………………………………………… 。
20 กุมภาพันธ์ 2556 19:46 น. - comment id 1255621
สุดยอดมากๆ ครับ เป็นการประยุกต์ที่เห็นผล
20 กุมภาพันธ์ 2556 23:27 น. - comment id 1255647
เก่งจัง...ชอบค่ะ
21 กุมภาพันธ์ 2556 07:48 น. - comment id 1255652
ขอบคุณค่ะ คุณกวีน้อยเจ้าสำราญ คุณปักษาสวรรค์
23 กุมภาพันธ์ 2556 09:32 น. - comment id 1255732
ดีจ้า นู๋ณิ มาให้คะแนน ความพยายาม- เต็ม ถ้อยคำสำนวน- เกือบเต็ม ฉันทลักษณ์ - ฝาหรั่ง บ่ฮู้ บ่หัน - ไทย (กลอนแปด) เกือบตก (จะให้ตกก็กระไรอยู่ อิอิ) ภาษาไทยไม่เหมือนชาวบ้านเขาตรงที่มีวรรณยุกต์กำกับควบเหมือนเป็นโน้ตเพลง แม้ภาษาพูดจะผิดเพี้ยน(เหน่อ)ไปตามแต่ละภูมิภาค แต่ภาษาทางการ จะมีเสียงมาตรฐาน ยิ่งเป็นบทกวีก็ยิ่งแล้วใหญ่ มีฉันทลักษณ์กำกับให้เป็นรูปแบบ และ มีวรรณยุกต์ มาร่วมในกฏเกณฑ์ซะด้วย เช่นรูปแบบของโคลงต่างๆ ส่วนกลอนก็มีอยู่แต่ใช้เสียง ไม่ใช่รูปเอกโทแบบโคลง ดังต่อไปนี้ (ลอกเขามา) (quote) กลอนแปด เป็นคำประพันธ์อีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมกันทั่วไป เพราะเป็นร้อยกรองชนิดที่มีความเรียบเรียงง่ายต่อการสื่อความหมาย และสามารถสื่อได้อย่างไพเราะ ซึ่งกลอนแปดมีการกำหนดพยางค์และสัมผัส มีหลายชนิดแต่ที่นิยมคือ กลอนสุภาพ ลักษณะคำประพันธ์ ๑. บท บทหนึ่งมี ๔ วรรค วรรคที่หนึ่งเรียกวรรคสดับ วรรคที่สองเรียกวรรครับ วรรคที่สามเรียกวรรครอง วรรคที่สี่เรียกวรรคส่ง แต่ละวรรคมีแปดคำ จึงเรียกว่า กลอนแปด ๒. เสียงคำ กลอนทุกประเภทจะกำหนดเสียงคำท้ายวรรคเป็นสำคัญ กำหนดได้ ดังนี้ คำท้ายวรรคสดับ กำหนดให้ใช้ได้ทุกเสียง คำท้ายวรรครับ กำหนดห้ามใช้เสียงสามัญกับตรี คำท้ายวรรครอง กำหนดให้ใช้เฉพาะเสียงสามัญกับตรี คำท้ายวรรคส่ง กำหนดให้ใช้เฉพาะเสียงสามัญกับตรี ๓. สัมผัส ก. สัมผัสนอก หรือสัมผัสระหว่างวรรค อันเป็นสัมผัสบังคับ มีดังนี้ คำสุดท้ายของวรรคที่หนึ่ง (วรรคสดับ) สัมผัสกับคำที่สามหรือที่ห้า ของวรรคที่สอง (วรรครับ) คำสุดท้ายของวรรคที่สอง (วรรครับ) สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่สาม (วรรครอง) และคำที่สามหรือที่ห้าของวรรคที่สี่ (วรรคส่ง) สัมผัสระหว่างบท ของกลอนแปด คือ คำสุดท้ายของวรรคที่สี่ (วรรคส่ง) เป็นคำส่งสัมผัสบังคับให้บทต่อไปต้องรับสัมผัส ที่คำสุดท้ายของวรรคที่สอง (วรรครับ) ข. สัมผัสใน แต่ละวรรคของกลอนแปด แบ่งช่วงจังหวะออกเป็นสามช่วง ดังนี้ หนึ่งสองสาม – หนึ่งสอง – หนึ่งสองสาม ฉะนั้นสัมผัสในจึงกำหนดได้ตามช่วงจังหวะในแต่ละวรรคนั่นเอง ดังตัวอย่าง อันกลอนแปด – แปด คำ – ประจำวรรค วางเป็นหลัก – อัก ษร – สุนทรศรี ตัวอย่างกลอนแปด เรื่องกานท์กลอนอ่อนด้อยค่อยค่อยหัด แม้นอึดอัดขัดใจอย่าไปเลี่ยง ทีละวรรคถักถ้อยนำร้อยเรียง แม้ไม่เคียงเยี่ยงเขาจะเศร้าไย วางเค้าโครงโยงคำค่อยนำเขียน เฝ้าพากเพียรเจียรจารนำขานไข จะถูกนิดผิดบ้างช่างปะไร เขียนด้วยใจใฝ่รักอักษรา แม้ไม่เก่งเพลงกลอนยังอ่อนด้อย แต่ใจรักถักถ้อยร้อยภาษา แม้ถ้อยคำนำเขียนไม่เนียนตา อย่าโมโหโกรธาต่อว่ากัน ทุกทุกวรรคถัก-ร่ายหมายสืบสาน ทุกอักษรกลอนกานท์บนลานฝัน อาบคุณค่าช้านานแห่งวารวัน เป็นของขวัญค่าล้นเพื่อชนไทย…. (unquote) ดังนั้น ถ้าจะเขียนกลอนให้เพราะ ก็ควรใช้ตามรูปแบบโบราณนี้ แต่สมัยนี้ อยากทำอะไรแปลกๆนอกกรอบบ้าง ก็ไม่มีใครว่าอยู่แล้ว
23 กุมภาพันธ์ 2556 10:05 น. - comment id 1255748
มาต่อคำวิจารณ์ ให้เป็น จ้าวยุทธจักรในอนาคต อิอิ ดังนั้น เสียงคำที่ใช้จึงไม่ถูก ทำให้ไม่เพราะเท่าที่ควร "ดังดวงดาวเริงระบำกลางฟากฟ้า เคียงมณีแห่งนภายามคืนค่ำ ชม้ายชายแสงนวลทอดลงต่ำ ชวนเพ้อพร่ำหลงมนต์จันทร์ถึงชลธี จากท้องสมุทร... เอื้อมไขว่คว้าหาดวงดาว เฝ้าใฝ่ฝันว่าสักคราวคงต้องมี พรหมบันดาลให้โอบกอดดาวสักที วอนขอเจ้าจันทร์เทวีโปรดเห็นใจ จันทร์เจ้าจ๋าโปรดเถิดเปลี่ยนเป็นเพ็ญ ขอแสงทออันฉ่ำเย็นของแขไข ฉุดข้าขึ้นให้ดวงดาวอยู่ไม่ไกล ข้าจะยื่นมือออกไปคว้าเจ้าเอง..." บทแรก วรรคสาม ท้ายวรรคเป็นเสียงเอก (ไม่ใช่สามัญหรือตรี) บทสองวรรคสอง ท้ายวรรคเป็นเสียงสามัญ ซึ่งห้ามใช้ หลักที่บังคับคำสัมผัส ทำให้อาจอึดอัดที่ไม่สามารถแต่งให้ตรงตามใจประสงค์ ต้องไปหาคำสัมผัส จนเพี้ยนไป เหมือนกับ เป็น กลอนพาไป ไม่ตรงตามใจต้องการจริงๆ สัมผัสเลือน ที่ใช้ สั้น-ยาว เช่น งำ-งาม อนุโลมใช้กับสัมผัสใน แต่สัมผัสนอก ไม่นิยมไม่เพราะ แค่นี้ก่อนนะ
23 กุมภาพันธ์ 2556 10:39 น. - comment id 1255749
ตอนแรกก็คิดว่าจะแย่แล้วหละค่ะ ตอนที่จะแปลเป็นภาษาไทย เพราะอยากทำให้ความหมายมันไม่เปลี่ยนมากที่สุด ไอคำท้ายวรรค สดับ รับ รอง ส่งนี่ปรกติก็ดูนะคะ แต่ปรกติเน้นแค่วรรค รับ กับ วรรคส่ง เพราะมันฟังแล้วมันจะขัดหูชัดเจนมากถ้ามันไม่ตรง (ของวรรคที่สองนี่ ปรกติจะหลีกเลี่ยงนะ แต่หาไม่ได้แล้วจริงๆ T T คราวนี้ ถ้าจะแปลให้ใจความมันเหมือนเดิมกับภาษาอังกฤษเป๊ะๆ เลยเอาวะ หยวนๆหน่า ปล. ชุ่ยมั้ยหละเรา -___-") หนูถูกบังคับส่วนหนึ่งด้วยเนื้อหาที่จะแปล เพราะมันเป็นเรื่องเล่า ที่เขียนออกมาแล้วมันต้องฟังว่าเป็นเรื่อง เป็นเหตการณ์ที่ต่อเนื่อง) ส่วนสัมผัสใน กลอนบทนี้ แค่แปลก็หงอกแล้วค่ะ เหอๆ เอาไว้กลอนอันหน้าจะแต่งให้ใหม่นะคะ ;) ขอบคุณน้าค้าาาาา~ ที่มาช่วยลับฝีมือค่ะ ท่านอาจารย์ ศิษย์ขอคารวะ และฝากตัวค่ะ
23 กุมภาพันธ์ 2556 10:57 น. - comment id 1255750
ด้วยความสัตย์จริงค่ะ ลืมบอก ตอนแปลนีี่ ซี้ปึ๊กกับตารางไตรยางค์เลยค่ะ (ลิสต์ขึ้นมาเป็นตารางจะได้ไล่ง่ายๆ เวลาดูว่ากลางต่ำสูงมันจะออกมาเป็นเสียงอะไร เมื่อคล้องจองกับคำก่อนหน้า) เพื่อหาไอคำสุดท้ายของวรรคเนี่ยแหละ ว่ามันจะใช้คำศัพท์คำไหนได้บ้าง แต่เท่าที่หามา มันไม่เข้ากับความหมายที่ต้องการสื่อซักอย่าง จนต้องใช้อย่างที่เห็นเนี่ยแหละค่ะ เฮ้ออออ.... ทางเลือกสุดท้าย มีอะไรก็ต้องใช้หละค่ะท่านงานนี้
23 กุมภาพันธ์ 2556 11:12 น. - comment id 1255751
เอ้อออ ลองไปสังเกตกลอนที่ผ่านมาแล้ว ถึงแม้จะ concern คำสุดท้ายของวรรครับกับส่ง แต่พอไปดูแล้ววรรคสดับกับรองก็ตรงนะคะ ปรกติมันเป็นสัญชาตญาณอยู่แล้ว เวลาคิดกลอน คำลงท้ายมันมักจะตรงเสมอ (เวลาไม่ตรงแล้วมันขัดหู สุดท้ายกก็เปลี่ยนอยู่ดี..) ยกเว้นบางครั้งจริงๆที่ความหมายมันบังคับ จนใช้คำอื่นแทนไม่ได้
23 กุมภาพันธ์ 2556 14:45 น. - comment id 1255757
โกวเนี้ยน้อย ..ณิ กระบวนท่าของแม่นาง อ่อนช้อยไม่ขัดเขิน แต่เมื่อมีช่องโหว่ที่อาจถูกจู่โจมได้ เล่าฮู จึงคันไม้เท้าจนมิอาจไม่ร่ายรำกระบวนต่ำต้อยเคอะเขิน ปะทะจุดช่องนั้น แม่นางออมมือไว้ไมตรีด้วย อิอิ กระบวนท่าแรกแทรกลงในไม้ที่สาม- ดังดวงดาวเริงระบำกลางฟากฟ้า เคียงมณีแห่งนภายามคืนค่ำ ทอดชม้ายชายแสงนวลแรงนำ ชวนเพ้อพร่ำหลงมนต์จันทร์ถึงชลธี กระบวนท่าสอง ซัดใส่ในไม้สองและสาม--- จากท้องสมุทร... เอื้อมไขว่คว้าหาดวงดาว หวังสักคราวคงใกล้ไม่หน่ายหนี พรหมบันดาลให้โอบกอดดาวดวงดี วอนขอเจ้าจันทร์เทวีโปรดเห็นใจ ส่วนกระบวนท่าสามคงถูกดาบแม่นางฟันใส่ในแผลเดิม มาช้าหน่อยเพราะวันนี้ที่โรงเตี๊ยมชุลมุนยิ่งนัก
23 กุมภาพันธ์ 2556 17:56 น. - comment id 1255782
ฮิๆ ดีใจจังทุกครั้งที่คุณดาวมาตอบ ดีมากๆเลยค่ะ ชี้แนะเยอะๆ จะได้พัฒนาเยอะๆ ขอบคุณนะค่ะ งั้นครั้งหน้าค่ะ จะพยายามเขียนให้แจ่มกว่านี้นะคะ จะเขียนต่อไปจนกว่าจะ flawless 555555+ (ปล. ไม่รู้จะมีปัญญารึเปล่านะคะ เหอๆ ตอนนี้ฝันเฝื่องไปก่อน )
24 กุมภาพันธ์ 2556 14:21 น. - comment id 1255801
ดีมากๆ เลยครับ มีคนแนะนำ ผมก็แอบบมาอ่านด้วย แต่ก่อน ผมเอง ก็ยิ่งแย่กว่าคุณ ศิวสิโรมณี หลายสิบเท่า มีจอมยุทธ หลายๆ ท่าน แนะนำ พร่ำสอน ผมก็ดีขึ้นมาบ้าง แต่ก็ไม่ค่อยแตกต่างกว่าเดิมเท่าไร ผมนึกอาจารย์ ท่านหนึ่ง ที่คอยสอนผมจนผมสามารถแต่งกลอนได้บ้าง เช่นทุกวันนี้ ท่านจาก...ไป ผมยังอาลัยอยู่