พุทธรูปพุทธเลิศล้ำ...........เลอลักษณ์ คู่รัตนโกสินทร์ศักดิ์..........สืบหล้า งามเพ็ญผ่องเพียงพักตร์...พระพุทธ-รูปฤๅ ประทับแท่นศิลากล้า.........กล่อมเกล้าชาวสยาม พระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปอันศักดิสิทธิ์ คู่บ้าน คู่เมือง มาช้านาน มีความวิจิตรงดงาม ดุจวิศวกรจากเมืองสวรรค์เสกสร้าง ประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถอันวิจิตรยิ่ง ยากที่จะหาสถานที่ใดในโลกเสมอเสมือน เราชาวไทยควรจะภาคภูมิใจในศิลปะแห่งแผ่นดิน ที่ฝากไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้บอกเล่าเรื่องราวของแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง แม้ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของบ้านเรา จะค่อยๆ เลือนหายไป แต่ความวิจิตรขององค์พระแก้วยังเปล่งแสงมรกต สีเขียวงามแห่งธรรมชาติ บอกเล่าถึงธรรมะอย่างงดงามอยู่เป็นนิรันดร์ ข้าพเจ้าขออาราธนาองค์พระแก้วอันศักดิ์สิทธิ์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดอภิบาลและคุ้มครองทุกท่านให้แคล้วคลาดปลอดภัย มีชีวิตที่สงบร่มเย็น สาธุ ด้วยความสงบ ความบริสุทธิ์ และความเมตตา ૐ ธันวันตรี ૐ
26 เมษายน 2555 12:28 น. - comment id 1231093
งดงามยิ่งค่ะ
26 เมษายน 2555 13:21 น. - comment id 1231113
ตามที่คุณ Dao เล่าว่าประชาชนประเทศลาวเจ็บช้ำที่พระแก้วมรกตถูกประเทศไทยเอามา ได้เขียนพรรณาไว้ทั่วโบสถ์เก่าของพระแก้ว ก็อยากเล่าถึงสาเหตุที่ประเทศไทยต้องไปตีนครเวียงจันทน์ เพราะประเทศลาวได้บุกรุกโจมตีเมืองดอนมดแดง(เมืองอุบลราชธานี)ซึ่งได้อยู่ในขอบขันทสีมาของประเทศไทยพระเจ้าตากสินได้รับเครื่องบรรณาการจาก พระวอ รับเป็นเมืองประเทศราชแล้วจึงต้องมาช่วยเรื่องราวเป็นดังนี้ พระเจ้าสิริบุญสาร ผู้ครองนครศรีสัตนาคนหุต(ลาว)เกิดขัดใจกับพระวอ พระตา เรื่องแต่งตั้งอุปราช พระวอ พระตา จึงพาไพร่พลอพยพข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งเมืองใหม่ที่หนองบัวลำพู พระเจ้าสิริบุญสารยกทัพมาปราบ พระวอ พระตา สู้ไม่ได้มีกำลังน้อยกว่าแถมพม่ายังมาช่วยพระเจ้าสิริบุญสารรบอีกด้วย พระตาเสียชีวิตในที่รบ พระวอพาพลไพร่หนีตายมาพึ่งพระองค์เจ้าหลวงไชยกุมารที่นครจำปาศักดิ์โดยขอตั้งเมืองที่เวียงดอนกอง พระเจ้าศิริบุญสารยังตามมาโจมตีแต่ได้รับการช่วยเหลือจากพระองค์เจ้าหลวงไชยกุมารพระวอจึงรอดตายพระเจ้าสิริบุญสารเกรงจะเสียไมตรีกับพระองค์เจ้าหลวงไชยกุมารจึงยกทัพกลับไป พระวอเกิดขัดใจกับพระองค์เจ้าหลสวงไชยกุมารจึงยกไพร่พลย้ายมาสร้างเมืองใหม่ที่ริมฝั่งซ้ายแม่น้ำมูลบริเวณดอนมดแดง(อุบลราชธานี)เมื่อ พศ.2314แล้วส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้าตากสิน ขอขึ้นในขอบขัณทสีมาของสยามประเทศซึ่งขณะนั้นพระเจ้าตากสินกำลังติดพันศึกพม่าในการ กู้กรุงศรีอยุธยาและสร้างกรุงธนบุรี ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2319 (จ.ศ. 1138 ปีวอก อัฐศก) พระเจ้าสิริบุญสารทราบข่าวการทะเลาะวิวาทระหว่างพระวอกับพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร พระวออพยพครอบครัวไพร่พล มาอยู่ที่ดอนมดแดง พระองค์จึงแต่งตั้งให้พระยาสุโพคุมกำลังกองทัพไปรุกรานพระวออีกครั้งหนึ่ง พระวอเห็นว่ากำลังของตนมีน้อยคงไม่สามารถจะต้านทานไว้ได้ จึงอพยพครอบครัวไพร่พลกลับไปอยู่ที่เวียงดอน-กองตามเดิม พร้อมกับขอกำลังกองทัพจากพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร เมืองจำปาศักดิ์มาช่วยเหลือ แต่เจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ไม่ยอมให้เพราะความบาดหมางใจกันเมื่อหลายปีก่อนผลที่สุดกองกำลังของ พระวอจึงพ่ายแพ้ พระวอถูกจับได้และถูกประหารชีวิตที่เวียงดอนกองนั้นเอง ส่วนท้าวคำผง ท้าวฝ่าย-หน้า ท้าวทิดพรหม บุตรพระตา และท้าวก่ำ บุตรพระวอจึงได้พาครอบครัวไพร่พลหนีออกจากวงล้อมของกองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุต และได้นำใบบอกแจ้งความไปยังเมืองนครราชสีมา เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชขอกำลังกองทัพมาช่วย แต่ทางกรุงธนบุรีก็มิได้ดำเนินการเป็นประการใด ต่อมา พ.ศ. 2321 (จ.ศ. 1140 สัมฤทธิศก) สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงโปรด-เกล้าฯ ให้สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยา-มหากษัตริย์ศึก) และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์) นำทัพขึ้นไปปราบพระยาสุโพที่เวียงดอนกองแขวงเมืองนครจำปาศักดิ์ เมื่อพระยาสุโพทราบข่าวจึงรีบยกทัพกลับกรุงศรีสัตนาคนหุต ขณะเดียวกันพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมาร เกรงว่าจะไม่สามารถที่จะต้านทานกองทัพไทยไว้ได้ จึงอพยพครอบครัวไพร่พลหนีไปอยู่ที่เกาะไชยในที่สุดกองทัพไทยตีได้นคร-จำปาศักดิ์ และตามจับพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารไว้ได้ หลังจากนั้นกองทัพไทยก็ตีได้เมืองนครพนม หนองคาย และเข้าล้อมเมืองเวียงจันทน์ไว้ พระเจ้าสิริบุญสารหนีไปอาศัยอยู่ที่เมืองคำเกิด กองทัพไทยก็ยึดเมืองเวียงจันทน์ไว้ได้และให้พระยา-สุโพเป็นผู้รั้งเมือง แล้วนำตัวพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารพร้อมทั้งอัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางที่อยู่เมืองเวียงจันทน์มายังกรุงธนบุรี ต่อมาอีกไม่นานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารกลับไปครองเมืองนครจำปาศักดิ์ตามเดิม ดังนั้นเมืองนคร-จำปาศักดิ์จึงกลายเป็นเมืองประเทศราชของไทยตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เห็นไหมล่ะท่าน ไทยมิได้รุกรานก่อน ต้องให้ความเป็นธรรมกับพระเจ้าตากสินแห่งกรุงธนบุรีบ้าง
26 เมษายน 2555 13:57 น. - comment id 1231128
น้องดอยที่รัก พี่พุดมาแปะงานไว้ในงานน้อง ขออนุญาตินะคะ เพราะ คิดถึงงานเก่า เกี่ยวกับบ้านเมืองของเรา แต่หนหลังที่แสนงดงาม ลำน้ำน่านเคยทุ่มเทรจนาไว้ ไม่ทราบเก็บไว้ปลวกแทะหมดยังอิอิ ของพี่พุดก็ ไม่น่าเชื่อจะฝันเฟื่องได้ปานนั้น รักศรัทธาชื่นชมน้องอย่างที่สุด
26 เมษายน 2555 21:24 น. - comment id 1231165
งดงามมากครับพี่พุด ทั้งภาพและคำกวีครับ คิดถึงลำน้ำน่านนะครับ หายไปนานเลยครับ ขอบคุณพี่พุดมากครับ ^ ^ ขอบคุณลุงฤกษ์ที่แวะมาบอกเล่าตำนานของพระแก้วมรกตครับ ขอให้มีแต่ความสุขนะครับ ^ ^ สวัสดีครับคุณคอนพูทน ขอบคุณที่แวะมาอ่านครับ ขอให้มีแต่ความสุขนะครับ ^ ^ สวัสดีครับคุณแกงเขียวหวาน ขอบคุณที่แวะมาอ่านครับ ขอให้มีแต่ความสุขนะครับ ^ ^ ขอบคุณคุณดินที่แวะมาอ่านครับ ขอให้มีแต่ความสุขนะครับ ^ ^ ขอบคุณคุณน้ำตาลหวานที่แวะมาอ่านนะครับ ขอให้มีแต่ความสุขนะครับ ^ ^ สวัสดีครับคุณดาว ขอบคุณที่แวะมาบอกเล่าตำนานของพระแก้วมรกตนะครับ ขอให้มีแต่ความสุขครับ ^ ^ สวัสดีครับผู้หญิงไร้เงา ขอบคุณที่แวะมาครับ ขอให้มีแต่ความสุขนะครับ ^ ^
27 เมษายน 2555 11:14 น. - comment id 1231236
สวัสดีค่ะคุณหมอ ยอดเยี่ยมค่ะ
27 เมษายน 2555 17:30 น. - comment id 1231272
เข้ามาอ่านแล้วอิ่มเอมใจมากเลยครับคุณธันวันตรี ... ทำให้ใจน้อมเข้าไปในทางกุศลจิตครับ งวดงามทั้งหมดรวมทั้งภาพและเรื่องราวที่พี่ๆ ทั้งหลาย นำมาเสนอกันด้วยครับ
25 เมษายน 2555 21:17 น. - comment id 1231388
สวัสดีค่ะคุณหมอ สงบใด ไหนเลยจะเท่าสงบด้วยพระธรรม ไม่มีแล้วค่ะ
25 เมษายน 2555 21:54 น. - comment id 1231399
สวัสดีครับคุณแบม จริงๆเลยนะครับ สุขใด เท่าความสงบนั้นไม่มี ขอบคุณที่แวะมา ขอให้คุณแบมมีแต่ความสุข พระรัตนตรัยคุ้มครองนะครับ ^ ^
25 เมษายน 2555 22:31 น. - comment id 1231405
ฟ้าอยุธยาสู่รัตนโกสินทร์ (The Spell of Ayuthaya) ลำน้ำน่าน สิ้นสุดอโยธยาศรีรามเทพนคร สู่ยุคทองแห่งรัตนโกสินทร์ โคลงในชุดนิราศแผ่นดินทอง ๑) รัตนโกสินทร์ล่วงแล้ว.......นิราศหลัง โทนทับกรับระฆัง.......................แว่วคล้อย โพ้นปี่เป่าเพลงสังข์.....................สมโภช กรุงแฮ ผกผ่านสุขทุกข์สร้อย....................ลิ่วร้อยสองสมัยฯ (๒) รัตนโกสินทร์ศกซ้อง........สกาวปี กรุงเทพจวบธนบุรี......................รุ่งหล้า หอมราชวงศ์จักรี.........................กรุ่นแผ่น ดินนา บุญบ่าวนายไพร่ฟ้า.....................ฟ่องท้นสุขเกษมฯ (๓) รัชกาลลับล่วงแล้ว...........หลายสมัย จิตประหวัดพรรคพลไกร.............โห่ก้อง ภาพโบถส์คร่ำรำไร.....................แหลกพ่าย สะอึกสะอื้นร้าวร้อง......................รักษ์ร้างรอยสลายฯ (๔) ภาพอดีตปราสาทแก้ว.......กรุงไกร ปรางค์รัตน์หอพระไตร................ช่อฟ้า เวียงประวัติซัดนางใน..................นาฏร่าย นวลแม่ ไหวประหวัดรัดจิตข้า...................ขับน้ำตาไหลฯ (๕) การณรงค์ลาญพระไหม้.....ไฟครอง เพลิงผ่าวลาญรังรอง.....................ร่างร้าว ร้าวรอยพระธาตุทอง.....................ทุกข์เทวษ นะแม่ จักสฤษฏ์ปิดทองเก้า.....................เกศฟื้นกาลไหนฯ (๖) หาญโห่เหิมแห่ห้าว............หอกราญ ศึกม่านเผาประจาน......................เจ็บช้ำ เวียงวังหากสำราญ.......................ร้องร่าย รำแม่ วิบัติยับอัปรีย์ซ้ำ............................บัดนี้กรุงสลายฯ (๗) หอบใจร้าวออกพ้น...........เพรงนคร มองบ่าวไพร่อาวรณ์.....................วิเวกคว้าง น้ำตาพรากจากจำจร...................จากมิ่ง เมืองแม่ ลาซากกรุงศรีร้าง........................รวดร้าวรอยถวิลฯ (๘) พรรคพลแตกแหลกแล้ว.....ร้างนคร พหุพลแสนยากร...........................กิจรู้ กอบเกียรติทิฆัมพร......................พังพ่าย คืนแม่ เสาะหน่อวีรชนชาติกู้....................กอบฟื้นปรางค์สรวงฯ (๙) พระเจ้าตากกอบกู้.............กรุงศรีฯ กรุงบ่ให้ไพรี................................รกเรื้อ ร้างหน่อมนัสวี..............................ว้าเหว่ นะแม่ คืนยศอยุธยาเคื้อ..........................ค่าแคว้นขรมขานฯ (๑๐) ธนบุรีบูชิตสร้าง...............เสสรวง พ่อนา สรวงเสกสวรรค์ดาวดวง................ดาษฟ้า เถลิงศกวังหลวง...........................ริมฝั่ง พระยาแฮ พระเบิกบุหลันหล้า........................หล่อเลี้ยงเกษมสันต์ฯ (๑๑) ปางพระพุทธยอดฟ้าฯ.......กาลปฐม พงศ์พิพัฒน์พระบรม.....................มิ่งแก้ว ไหวปราสาทช่อชม........................ชัยพฤกษ์ นิวาสกษัตริย์แพร้ว........................เพรียบพร้อมนามสรรค์ฯ (๑๒) ปราบดาภิเษกแล้ว..........รณรงค์ ปรางค์ปรากอปรพงศ์....................พุทธเจ้า ศรีสมโภชจักรีวงศ์........................เวียงใหม่ นะแม่ เอิกเกริกค่ำจดเช้า.......................ช่อฟ้าเฉลิมฉลองฯ (๑๓) เสร็จสรรพการศึกสิ้น......จักคืน บุญร่วมคลองเสื่อผืน.....................ผูกผ้า แรมนิราศคลาดเรียมครืน............คู่ยาก แลแม่ การทัพเร่งรุดหน้า........................เหนี่ยวรั้งพลณรงค์ฯ (๑๔) ธนบุรีทรงก่อตั้ง.............แทนเมือง เจ้าพระยามลังเมลือง...................ล่องกั้น บูรพทิศประเทือง........................ทองเทพฯ กรุงนา สองฝั่งสองกรุงหั้น........................หับฟ้าหงส์ศรีฯ (๑๕) สืบสมัยพระผู้...............แผ้วสยาม พลรบ*ถนอม* นาม.....................เหนี่ยวพ้อง พระพ่อผูกศรีคาม.......................ควบหนึ่ง เดียวนา กรุงเทพฯ ธนบุรีข้อง-..................เกี่ยวแก้วศักดิ์เสมอฯ (๑๖) ปางพระจอมเกล้าพระ.....จอมขวัญ ไผทเอย นิพนธ์ชื่อเมืองพรรณ....................ผ่องแผ้ว *บวร*รัตนโกสินทร์บรร -..............ทัดหนึ่ง นามนา ลิขิตแก้ *อมร*แพร้ว....................เพราะพริ้งยิ่งขานฯ (๑๗) กรุงเทพฯจึ่งซ่านซ้อง.......สรวงนคร นิเวศน์อินทร์อำมร........................มิ่งฟ้า กริ่งแก้วเหล่าอริจร.......................จ่อมพ่าย เกียรตินา ห่อนแตกสาแหรกอ้า.....................เอกอ้างพรหมสวรรค์ฯ (กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทราอยุธยา มหาดิลกภพ) (๑๘) สิริระดะด้าว.....................ดิฐรัตน์ ไอศุริยสมบัติ................................วับแพร้ว นริศจิตวิวรรธน์.............................วาวเทียบ เทียมแฮ ประกอบโกฏิเพชรแก้ว..................เก็จเก้าไอศวรรย์ฯ (นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน) (๑๙) ศรีนามกรุงเทพฯแท้.........ทิพย์พิมาน ลอยฤา อินทรเทพอวตาร...........................ตั่งไต้ วิษณุกรรมบันดาล..........................ดลบุตร ลงนา สักกะท้าวเทพไซร้.........................เสร็จสิ้นวิเศษสรรค์ฯ (อมรพิมานอวตารสถิต สักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธ์) (๒๐) รัตนโกสินทร์ศกนี้.............ปิ่นพิบาล สุขล่องคลองตระการ.......................เกล็ดน้ำ สองฟากฝั่งทวาร............................ตกออก เมืองแม่ ฤาสร่างอาคันตุกะข้าม....................โขดฟ้าชมขวัญฯ (๒๑) ตะวันรอนลับเหลี่ยมฟ้า......รอจันทร์ เทียนอาบปรางค์ผุดพรรณ.............ผ่องเนื้อ แสงโศกพ่างภาพผัน......................ผินผ่าน วิหคนอ บรรพบุรุษจุดเทียนเอื้อ.................ทิพย์ไต้ส่องสยามฯ (๒๒) อยุธยานับจากนี้..............อนันตกาล โอบซากวังโบราณ..........................รักษ์ไว้ ครวญเพลงขลุ่ยขับขาน..................ขนบขจ่าง สยามนอ บอกเล่าเรื่องราวไซร้......................ซ่านซ้องโกสินทร์ฯ (๒๓) แผ่นดินใดใคร่ค้น..........ครวญหา ไปเกี่ยวเก็บแก้วโลกา...................ลิขิตขึ้น ปาริชาตทิพย์วนา.........................การเวก สวรรค์ฤา ไป่แจร่มแจ่มใจชื้น......................จรัสแพ้สยามเฉลยฯ ------------------------------------------ วันหยุดวันงามกลางสายวสันต์ลีลา เพลงบรรเลง เพลงขลุ่ยเหนือทุ่งข้าว กำลังกล่อมกรุงเงียบงาม ข้าพเจ้าหยิบจักรยานคันงาม พุ่งทะยานสู่ถนนสู่ชนบท ทะยานใจไปกับคูคลอง ทุ่งข้าว ตาลเดี่ยวและบึงบัว บนหนทางสายงาม รัตนโกสินทร์ อยุธยา บนหนทางร่วม ๑๐๐ กิโลเมตร กลิ่นหอมยอดข้าวแตกใหม่หอมหวานมาเป็นระยะๆ จวบถึงจุดหมายปลายทาง อยุธยาซากโบราณ ภาพเจดีย์ระดะที่ปรากฎเหนือซุ้มยอดลีลาวดีขาวงาม ของวัดไชยวัฒนาราม คือความยิ่งใหญ่ในใจดวงนี้ และความเหน็ดเหนื่อยก็อันตรธานหายไปในบัดดล ตะวันรอนลับเหลี่ยมยอดเจดีย์ศิลปะประยุกต์แบบเขมร และวิหคนาพากันบินผกไปทางตะวันตกร่อนสู่ทุ่งข้าว ข้าพเจ้าก้มลงกราบหลุมฝังพระศพของเจ้าฟ้านักกวี ชวนให้ประหวัดถึง บทกวีในดวงใจ เรื่อยเรื่อยมารอนรอน ทิพากรจะตกต่ำ สนธยาจะใกล้ค่ำ คำนึงหน้าเจ้าตราตรู เรื่อยเรื่อยมาเรียงเรียง นกบินเฉียงไปทั้งหมู่ ตัวเดียวมาพลัดคู่ เหมือนพี่อยู่ผู้เดียวดาย (เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ) และบทกวีงามล้ำในต้นแผ่นดินรัตนโกสินทร์ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยว่า ดาวเดือนก็เลื่อนลับ แสงทองระยับโพยมหน จวบจวนพระสุริยน จะเยี่ยมยอดยุคันธร ข้าพเจ้าปั่นจักรยานคู่ชีพชมซากความยิ่งใหญ่เกรียงไกร ในบรรพกาล จวบจนฟ้าเบื้องตะวันตกเริ่มยอแสง.... วัวควายเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานคุมฝูงเดินกลับบ้าน วัดวาอารามยามนี้งามล้ำสงบสงัด เมื่อแสงสุดท้ายแห่งวัน ส่องกระทบอิฐแดงโบราณ..... ราวกับภาพฝันเมื่อจิตประหวัดไปในสมัยกรุงเก่า เสียงเสภาโทนทับกรับระฆังยังดังแว่วมาไม่ขาดสาย ภาพความแตกสลายพินาศแห่งกรุงศรีสมัย รศ. ๒๓๑๐ แปลกราวกับภาพนิมิตนี้ปรากฎอยู่ตรงหน้านี้แล้ว กลิ่นหอมลั่นทมปรุงฟ้ามาประโปรย ข้าพเจ้าหลั่งน้ำตาเงียบๆ อีกคราว ฟ้ารัตนโกสินทร์และอยุธยาคือความยิ่งใหญ่ ในฐานะที่จิตวิญญาณของข้าพเจ้าเป็นชาวสยาม มีเลือดแห่งบรรพบุรุษผู้เสียสละทั้งปวง จักรยานคันนั้นถูกนำขึ้นรถไฟชั้น ๓ ที่สถานีบางปะอิน ใกล้ๆ จักรยาน คือเด็กหนุ่มผู้มีไฟฝันอันรุ่งโรจน์ เกาะจักรยานไว้อย่างเด็ดเดี่ยวและมั่นคง แปลกแต่ฉายแววเศร้าสร้อยในแววตาอยู่นิรันดร์ ราวกับอาลัยในซากอยุธยา.... เสียดายนักเวียงวังแต่ครั้งก่อน มลายรอนด้วยเพลิงเสน่หา เมื่อศึกม่านยกทัพขยับมา ทหารหาญอาสาหาไม่มี หากจักทิ้งเมืองแก้วไปแผ้วทาง ก็ห่วงนางห่วงแม่แลกรุงศรี ห่วงมณฑปปรางค์ทองผองบุรี คงวิบัติอัปรีย์สิ้นศรีชัย จักเป็นตายร้ายดีถึงที่แล้ว เสียงเจื้อยแจ้วเด็กแดงแข่งร้องใหญ่ ประตูแตกแหกออกเป็นดอกไฟ โจงกระเบนตาดสไบล้มไล่แทง ทวนฟันดาบอาบเลือดเชือดข้าศึก ดาบดื่มลึกเนื้อนามสยามแสยง หาไม่แล้วชาตินี้บุรีแรง จักแห้งแล้งผู้กล้าพากันตาย ทะยานดาบฟาดไปใส่ข้าศึก คมดื่มลึกตะพายแล่งสิ้นจุดหมาย ตะแบงมานชุ่มเลือดเดือดจากกาย ตะแลงแกงหรือแตกพ่ายไม่รู้แล้ว พอไฟลุกกระพือโหมโดมพระธาตุ แน่แล้วชาติแตกทัพอับหัวแถว เจดีย์ปรางค์ปรารัตน์หักยับแนว สูญสิ้นแก้วเลือดนายไพร่ใหลอาบกรุงฯ (ลำน้ำน่าน) ---------------------------- เสียดายพระนิเวศน์บุรีวัง พระที่นั่งทั้งสามงามไสว ตั้งเรียบระเบียบชั้นเป็นหลั่นไป อำไพวิจิตรรจนา มุขโถงมุขเด็ดมุขกระสัน เป็นเชิงชั้นลวดลายล้วนเลขา เพดานในไว้ดวงดารา ผนังฝาดาดแก้วดังวิมาน (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท) ลำน้ำน่าน บุรุษแห่งสายน้ำนิรันดร์ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๘
25 เมษายน 2555 22:42 น. - comment id 1231406
นิราศแผ่นดินทอง (The Whispering of Ancient Rattanakosin) ลำน้ำน่าน แผ่นดินปฐมรัตนโกสินทร์ ปฐมวงศ์แห่งราชวงศ์จักรีบัลลังก์ (๑) อยุธยาคืนยศแล้ว..........วิมานสอง บุรีฤา กระจ่างทิพย์โพยมทอง............ทวิพร้อย ลายกุดั่นพรรณลำยอง...............ระยับเมฆ เมลืองแล กระหนกเปลวระย้าย้อย.............หยาดฟ้าอุษาไสวฯ (กลบทบัวบานขยายกลีบ) (๒) คืน..บดินทร์ถิ่นกมุทแก้ว..กชกร สยามนอ คืน..หวดอุ่นหุงขจร..................กลิ่นข้าว คืน..สะพรั่งหลั่งอัมพร..............พิรุณพยับ คืน..สู่ฟ้าจักรีเจ้า.....................จรัสเพี้ยงพิมานสมานฯ (กลบทบัวบานขยายกลีบ) (๓) หอม..รำเพยพ่างพื้น......พะยอมสยาม หอม..กรุ่นบุญอาราม................รจิตเนื้อ หอม..ปรุงอบกำยานยาม...........ย่ำรุ่ง หอมแม่ หอม..ร่ำตาดจันทน์อะเคื้อ.........คลี่หล้ามาหอมฯ (๔) รอนแรมล่าอริคุ้ง............แควใด สยามฤา นกป่าร้องระงมไพร....................เพรียกเช้า หากห่วงแม่แลไฉน....................นะพ่อ บาปลูกแท้ห่อนเฝ้า....................ฝากไข้คุณสนองฯ (กลบทบัวบานขยายกลีบ) (๕) ฝาก..ธรณีมิ่งไม้...........คุ้มครอง นะแม่ ฝาก..พระพายครรลอง.............ลูบอ้อน ฝาก..แม่โพสพสนอง................หลับตื่น หิวฤา ฝาก..แต่ราชการร้อน...............ลิ่วล้างอรินทร์ผลาญฯ (๖) ปราบม่านพกพ่ายแพ้.......ภายลาญ แตกทัพเก้ากองการย์.................กลาดข้า บุญเมืองศึกบ่นาน......................นัยว่า นะแม่ คลอค่ำขลุ่ยกล่อมฟ้า...................วิหคเฝ้าคืนขอนฯ (กลบทบัวบานขยายกลีบ) (๗) ประสบ..โสมส่องฟ้า........เฟือนทาง แลแม่ ประสบ..ศึกณรงค์คราง...............คลาดเจ้า ประสบ..ทัพพม่าหมาง................หมองหมิ่น เมืองแล ประสบ..สุขบ่คลายเศร้า..............สร่างเนื้อคะนึงหอมฯ (กลบทบัวบานขยายกลีบ) (๘) ระลึก..ระรื่นหน้า............นางทอง ระลึก..คืนบุหลันครอง................ดื่มผึ้ง ระลึก..รักสมัครปอง...................เพียงแม่ อรเอย ระลึก..จิตนิมิตซึ้ง......................แต่น้องนรีสยามฯ (กลบทบัวบานขยายกลีบ) (๙) ไตร..บุญหนุนเกิดใต้.....ไผทกรุง ไตร...รัตน์เรืองเรืองจรุง.............แจร่มแล้ว ไตร...ปิฎกดั่งสายซุง..................ส่งสู่ สวรรค์นอ ไตร...ชาติไป่คลาดแคล้ว............ทาสเบี้ยเรือนสยามฯ (๑๐) ปฐมพระพุทธยอดฟ้า......จุฬาโลกฯ การณรงค์พิชัยโชค......................ชิดชั้น พุทธะอุษาโยค.............................ยกย่อง ยิ่งแฮ กษัตริย์ศึกพลปั้น........................ปกป้องมไหศวรรย์ฯ (๑๑) มโหรีร่ายฟ้อน.............เฟื่องละคร โขนพาทย์นาฏอาภรณ์...............ปลั่งพื้น นางในสไบกำจร.......................จีบร่าย รำแม่ ศึกละพระพุทธฟื้น.....................ฟ่องฟ้อนอัปสรศิลป์ฯ (๑๒) พระนราธิปไท้..........ทอดทาง ยอดเอกพิหารปรางค์.............พุ่มแก้ว รัตนวังนภางค์.......................พยับเมฆ โพยมแล สดับพาทย์ประโคมแจ้ว........จิบเจื้อยการเวกสวรรค์ฯ (๑๓) ทรงอัญเชิญพระแก้ว....มรกต ประดิษฐานประณต....................นอบไหว้ ปราบศึกอนุวงศ์คด....................เกียรติล่ม ลงแล รัตนศาสดารามไซร้...................พ่างพื้นแพนสรวงฯ (๑๔) ชำระชำรุดต้น..............ไตรปิฎก ศาสนูปถัมภก............................ไพร่พร้อง มณเฑียรหากทรงยก..................ยศใหญ่ หอนา อรรถกถาข้อง............................ขัดแก้วประชุมสงฆ์ฯ (๑๕) สังคายนาแบบต้น..........ไตร่ตรอง จารึกใบลานรอง..........................รักษ์ไว้ พระไตรปิฎกฉบับทอง.................ทาบทึบ ทองแล ปกแผ่นหน้าหลังไล้......................ลูบล้วนกนกสรรค์ฯ (๑๖) พระทรงออกกฎเข้ม.......ข่ายสงฆ์ กฎกวดพุทธพงศ์.........................พัสตร์ผ้า พัสตร์พันพาสน์ธุดงค์...................ฤดูหลั่ง วสันต์นอ โดมร่มกาสาว์ฟ้า..........................ฝึกฟื้นธรรมขลังฯ (๑๗) สมเด็จทรงโปรดให้........อัญเชิญ พระพุทธรูปเจริญ........................ร่มแคว้น จากฝั่งสุโขทัยเทิน.......................เทียวท่อง ลงนา ศรีศากยะมุณีแม้น.......................มิ่งแก้วสุทธาวิหารฯ (๑๘) เก็บกฏหมายเก่าคล้ำ......กรุงปลาย อยุธยายศคลอนคลาย....................คลาดคล้อง อาลักษณ์พระคลังหมาย.................หมวดหมู่ สามนา ผนึกกฎสามดวงพร้อง...................พ่วงถ้วนตราสถานฯ (๑๙) พระองค์ทรงพลิกฟื้น........อักษร สยามนอ วรรณคดีลาญรอน.........................ร่อยร้าง พระยาพระคลังกลอน....................กาพย์เก่ง อีกพระนิพนธ์สล้าง........................สืบสร้อยลายสือฯ (๒๐) พืชมงคลทรงปลุกฟื้น-......ฟูพิธี ไถหว่านสะคราญเทพี....................หาบข้าว พระราชภิเษกศรี...........................ศักดิ์สิทธิ์ หนึ่งนอ อาพาธพินาศด้าว..........................ดักดิ้นโรคสยองฯ (๒๑) พิพัฒน์สัตยารับน้ำ.........บุราณเนา แรกก่อนบังคมเคา-.....................รพเกล้า ไหว้พระพุทธก่อนเกลา.................แก้เปลี่ยน แปรแฮ ออกดื่มน้ำพยานเฝ้า.....................ฝ่ายเบื้องภูมิสูงฯ (๒๒) สมเด็จทรงโปรดสร้าง......สุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งทรง...........................ท่องน้ำ ผ้าพระกฐินดำรง...........................ราชเก่า พิธีแฮ พยุหยาตราข้าม............................ท่องพื้นธารไหลฯ (๒๓) เสียงร่ำเสียงโศกห้วง....เทวินทร์ สิ้นพระชนกบดินทร์....................ดับแล้ว มหาพิชัยราชรถริน.....................เห่อัฐิ พระศพนา พระโปรดสรรค์รถแก้ว................กษัตริย์เชื้อส่งสวรรค์ฯ (กลบทบัวบานขยายกลีบ) (๒๔) เห่..อเนกนานัปกิจเจ้า.......เจรียงชน พ่อนา เห่..กล่อมทศมณฑล.......................ทั่วแคว้น เห่..ทัพสะกดมนตร์.........................มลายม่าน เห่..พาทย์นาฏผุดแป้น....................ผ่องผ้าพุทธถวิลฯ (๒๕) ทาสกวีกรีดเลือดไล้........เชลงโคลง ร้อยแผ่นดินศิลป์ระโยง.................ระยับหล้า ก่องบุญก่อนนอนโลง....................ลับร่าง ราพ่อ แม้นนิราศสี่ภพข้า........................ขนาบเนื้อกนกสมัยฯ --------------------------- ข้าพเจ้าเปิดเพลง "นางครวญ" เดี่ยวขิมเงียบงาม บรรเลงประโลมใจในวันพระจันทร์ข้างแรม จิตประหวัดไปในสมัยอยุธยาตอนแตกดับ ไทยเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่สองเมื่อปี ๒๓๑๐ เป็นการเสียกรุงอย่างย่อยยับที่สุดในประวัติศาสตร์ หากพม่าได้เผาผลาญทำลายทุกสิ่งทุกอย่างโดยสิ้นเชิง บ้านเมืองวัดวาอาราม ปราสาทราชวัง ถูกทำลายลงสิ้น ผู้คนที่อพยพหนีพม่ามาอยู่ในเมืองประมาณหนึ่งแสน ถูกพม่าฆ่าตายมากกว่าครึ่ง ที่เหลือก็ถูกกวาดต้อน นำไปเมืองพม่าอย่างทารุณ.. ได้รับยากแค้นแสนสาหัส ทรัพย์สินของมีค่าต่างๆ ถูกขนกองนำกลับไปพม่านับประมาณค่ามิได้ กรุงศรีอยุธยาอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด หมดสภาพที่จะปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ได้ ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกรุงศรีที่ว่างศึกสงคราม มานานนับศตวรรษ ผู้คนมีความเป็นอยู่รื่นเริง ดังปรากฎในเพลงยาวรบพม่า พระราชนิพนธ์ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทว่า ทั้งพิธีปีเดือนคืนวัน สารพันจะมีอยู่อัตรา ฤดูใดได้เล่นเกษมสุข แสนสนุกทั่วเมืองหรรษา และบัดนี้ก็ถึงการแตกดับอย่างไม่คาดฝัน ไม่เห็นเช่นว่าจะเป็นถึงเพียงนี้ มายับเยินอับปรีย์ศรีศักดิ์หลาย สารพัดย่อยยับกลับกลาย อันตรายไปทั่วพื้นปฐพี และสุนทรภู่ได้บรรยายสภาพกรุงร้าง ไว้อย่างน่าสังเวชว่า ดูปราสาทราชวังเป็นรังกา ดังป่าช้าพงชัฏสงัดคน อนิจจาธานินสิ้นกษัตริย์ เหงาสงัดเงียบไปดั่งไพรสณฑ์ แม้กรุงยังพรั่งพร้อมประชาชน จะสับสนแซ่เสียงทั้งเวียงวัง การล่มสลายแห่งกรุงศรีอยุธยาคงเป็นอุทาหรณ์ ได้ดีกระมังว่า คนสิ้นชาติสิ้นแผ่นดินนั้น มันเจ็บปวดเกินกว่าเทวดาองค์ใดจะรับรู้ หากด้วยบุญเพรงแห่งกษัตริย์สยาม พระเจ้าตากจึงกอบกู้อิสรภาพคืนมา นับเป็นการเริ่มต้นปฐมบรมจักรี อาณาจักรรัตนโกสินทร์แต่นั้นสืบมา --------------------------------------- ลำน้ำน่าน บุรุษแห่งสายน้ำนิรันดร์ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
25 เมษายน 2555 22:59 น. - comment id 1231407
พงศาวดารกล่าวไว้ว่า ในปีกุน เอกศก จุลศักราช 1141(พ.ศ.2322) สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก(ร.1)ตีได้เมืองเวียงจันทน์ แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญสององค์ คือพระแก้วมรกต กับ พระบาง ลงมาด้วย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ ขึ้นไปรับล่วงหน้าในวันพฤหัสบดี เดือน 3แรม4ค่ำ เวลา 11ทุ่ม ครั้นถึงวันอังคาร เดือน 4ขึ้น 2ค่ำ เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปรับ ณ พระตำหนักบางธรณี เวลาบ่าย 3โมงโปรดให้แห่ลงมา ณ กรุงธนบุรี มีมหรสพสมโภชมาในขบวนเรือตลอดระยะทาง เมื่อถึงวัดแจ้งได้โปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นที่สะพานป้อมต้นโพธิ์ปากคลองนครบาลหรือคลองวัดแจ้งซึ่งอยู่เยื้องกับหน้าพระอุโบสถปัจจุบัน(ขณะนั้นยังไม่ได้สร้าง)และพักไว้ ณ โรงชั่วคราว โปรดให้มีมหรสพสมโภชโดยสังเขป จากนั้นโปรดให้ปี่พาทย์ไทย ปี่พาทย์รามัญ และมโหรีไทย แขก ฝรั่ง จีน ญวน เขมร ผลัดเปลี่ยนกันสมโภชต่อไปเป็นเวลาอีก 2เดือน 12 วัน ครั้นถึงวันวิสาขปุรมีเพ็ญกลางเดือน 6ปีชวด โทศก จุลศักราช 1142(พ.ศ. 2323) โปรดให้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางขึ้นประดิษฐานไว้ในมณฑป ซึ่งตั้งอยู่หลังพระอุโบสถเก่าและพระวิหารเก่าหน้าพระปรางค์ อยู่ในระยะกึ่งกลางพอดี มีการสมโภชใหญ่ 7คืน 7วัน นี่คือที่มาของพระแก้วมรกตล่ะครับท่าน
26 เมษายน 2555 10:03 น. - comment id 1231447
มารับพร และสิ่งดีๆประดับสมองครับ สุขอย่าได้สร่าง
26 เมษายน 2555 10:38 น. - comment id 1231455
สวัสดีค่ะ...คุณธันวันตรี.... กระทู้นี้อ่านแล้วคุ้มค่าเลยค่ะ ได้ความรู้หลายๆๆอย่าง....
26 เมษายน 2555 10:54 น. - comment id 1231459
.......... ขอบคุณ คุณธันวันตรี เจ้าของกระทู้ คุณพุด และคุณฤกษ์ ที่นำเรื่องราวดีๆ มาเล่าสู่กันฟัง โดยเฉพาะข้อความที่3 กับข้อความที่ 4 อ่านเพลินเลยจ้ะ ...............
26 เมษายน 2555 11:03 น. - comment id 1231461
ขอบคุณคุณธันวันตรี พี่พุดและคุณฤกษ์ที่นำเรื่องราวดีๆมาให้อ่านค่ะ
26 เมษายน 2555 11:08 น. - comment id 1231464
พระแก้วมรกต ล้ำค่า ควรเมือง เราชาวพุทธฯเคารพบูชา เสมือนรูปแทนองค์พระศาสดา เคยไปชมวัดพระแก้ว ที่เวียงจันท์ จะเห็นภาพของความเจ็บช้ำ ที่องค์พระประธาน ขาดหายไป เพราะผู้มีอำนาจเหนือยึดไปครอง เป็นความรู้สึกเจ็บปวดชอกช้ำ มีคนเขียนพรรณาไว้ทั่วโบสถ์ เรา คนไทย ทำกับชาวพุทธด้วยกัน (คล้ายกับ ที่พม่า ทำกับเรา ที่อยุธยา) ใจเรา ตัวเรา ในยุคสมัยนี้ ได้แต่ ปลง กรรมใครกรรมมัน สบายดีนะครับคุณหมอ
26 เมษายน 2555 12:16 น. - comment id 1231479
http://www.youtube.com/watch?v=dxy8uIY5QHY (คำมั่นสัญญา) สไบนวลสไบนาง! แสนรักสไบนวลสไบนาง! ตะวันดวงรอนรอน ทอแสงทองทอดสวย...ส้มอมชมพูประปราย คล้ายสาดสีด้วยฝีมือจิตรกรเอกของโลกชื่อธรรมชาติ กระจายฉายฉานรัศมีสีรุ้ง เหนือเจดีย์วัดไชยวัฒนาราม ในยามตะวันชิงพลบ ที่งามสงบเก่าคร่ำงามล้ำค่ามลังเมลือง งามราวเมืองสวรรค์ลอยมาเยือนหล้า ราวปวงเทพยดาเนรมิตรเป็นทิพยวิมานสถานสถิต ผ่านเงางามแห่งอดีตอันวิจิตรศิลป์ หากทว่าฝากเรื่องราวแสนเศร้ารานร้าวใจ ถึงมาตรแม้นจะเป็นวัดไร้ร้าง สิ่งก่อสร้างที่เหลืออยู่มีก็เพียง พระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ และเจดีย์รายตามพระระเบียงคดรอบ พระปรางค์ ให้ดวงใจ..*สไบนวล* เหว่ว้าดายเดียว ราวไร้เสียงสังคีตดีดสีตีเป่าเหงาเงียบ ช่างสะเทือนสะท้านสะท้อนใจ วะแว่วแผ่วเพียงเสียงขับเสภางาม สุดกำสรวลเศร้ามาจากเวียงวังในครั้งบุราณกาล ************ รอนรอนสุริยคล้อย สายัณห์ เรื่อยเรื่อยเรื่อแสงจันทร์ ส่องฟ้า รอนรอนจิตกระสัน เสียวสวาท แม่เอย เรื่อยเรี่อยเรียมคอยถ้า ที่นั้นห่อนเห็น ฯ เรื่อยเรื่อยมารอนรอน สุริยาจรเข้าสายัณห์ เรื่อรองส่องสีจันทร์ ส่งแสงกล้าน่าพิศวง ลิ่วลิ่วจันทร์แจ่มฟ้า เหมือนพักตราหน้านวลผจง สูงสวยรวยรูปทรง ส่งสีเจ้าเท่าสีจันทร์ เอวอ่อนชอ้อนองค์ โฉมอนงค์ทรงสาวสวรรค์ หาไหนไม่เทียมทัน ขวัญเนตรพี่นี้น่ารัก ขาวสุดพุดจีบจีน เจ้ามีสีนพี่มีศักดิ์ ทั้งวังเขาชังนัก แต่พี่รักเจ้าคนเดียว นอนนั่งตั้งอาลัย สายสุดใจไม่แลเหลียว หวังชมสมกลมเกลียว ควรฤาน้องข้องใจเคือง ขาวสุดพุดซ้อนแซม เนื้อแอร่มอร่ามเหลือง โฉมอ่ากว่าทั้งเมือง หนแห่งใดไม่เหมือนเลย ได้น้องทองนพมาศ มาสังวาสพาดชมเชย ร่วมเรือนเพื่อนพิงเขนย เคยวิงวอนอ่อนหวานคำ ฝนตกยกปีกป้อง ฟ้าร้องต้องเอาตนงำ ชิดเชื้อเนื้อนวลขำ อ่อนลมุนอุ่นอกเรียม รักนุชสุดสายใจ ต้องฤทัยไม่เท่าเทียม ขอต้องน้องอายเหนียม เกรียมจิตเจ้าเฝ้าทุกข์ทน ฝนตกฝนหากตก แก้วกับอกอย่าโกรธฝน ลมพัดรับขวัญบน แก้วโกมลมานอนเนา ฝนตกไม่ทั่วฟ้า เยนแหล่งหล้าในภูเขา ไม่เยนในอกเรา เพราะเพื่อนเคล้าเจ้าอยู่ไกล เรียมร่ำน้ำตาตก อกร้อนรุ่มดังสุมไฟ แสนคนึงถึงสายใจ เจ้าไกลสวาทนิราศเรียม ฯ เสียงสรวลระรี่นี้ เสียงใด เสียงนุชพี่ฤาใคร ใคร่รู้ เสียงสรวลเสียงทรามวัย นุชพี่ มาแม่ เสียงบังอรสมรผู้ อื่นนั้นฤามี ฯ เสียงสรวลระรี่นี้ เสียงแก้วพี่ฤาเสียงใคร เสียงสรวลเสียงทรามวัย สุดสายใจพี่ตามมา ลมชวยรวยกลิ่นน้อง หอมเรื่อยต้องคลองนาสา เคลือบเคล้นเหนคล้ายมา เหลียวหาเจ้าเปล่าวังเวง ยามสองฆ้องยามย่ำ ทุกคืนค่ำย่ำอกเอง เสียงปี่มีครวญเครง เหมือนเรียมคร่ำร่ำครวญนาน ล่วงสามยามปลายแล้ว จนไก่แก้วแว่วขับขาน ม่อยหลับกลับบันดาล ฝันเห็นน้องต้องติดตา เพรางายวายเสพย์รส แสนกำสรดอดโอชา อิ่มทุกข์อิ่มชลนา อิ่มโศกาหน้านองชล เวรามาทันแล้ว จึ่งจำแคล้วแก้วโกมล ให้แค้นแสนสุดทน ทุกข์ถึงเจ้าเศร้าเสียดาย งามทรงวงดังวาด งามมารยาทนาดกรกราย งามพริ้มยิ้มแย้มพราย งามคำหวานลานใจถวิล แต่เช้าเท่าถึงเยน กล้ำกลืนเขญเปนอาจิณ ชายใดในแผ่นดิน ไม่เหมือนพี่ที่ตรอมใจ ฯ เรียมทนทุกข์แต่เช้า ถึงเยน มาสู่สมคืนเขญ หม่นไหม้ ชายใดจากสมรเปน ทุกข์เท่า เรียมเลย จากคู่วันเดียวได้ ทุกข์ปิ้มปานปี ฯ ******************* และพลันพาทำให้สไบนวล หวนรำลึกนึกคะนึงถึง บทกวีเอกของเจ้าฟ้ากุ้ง**นิราศธารทองแดง* ที่ชมไม้ดอกและธรรมชาติอันแสนงดงาม ********** ชาตบุษ์ปพุทธชาตซาบ กุหลาบกนาบทั้งสองทาง เบงระมาดยี่สุ่นกาง กลีบบานเพราเหล่าดาวเรือง ฯ ชาตบุษ์ปพุทธชาตขึ้น เคียงกลาง กุหลาบกนาบสองทาง กลิ่นฟุ้ง เบงระมาดยี่สุ่นกาง ตรงกลีบ สาวสาวฉวยชิงหยุ้ง เก็บร้อยรอยกรอง ฯ ๖๒ เพกาสาเกกุ่ม ไม้ตาตุ่มทุมราชา สุกรมมะยมพวา ไม้หมากข้าขานางเปล้า ฯ เพกาฟักย้อมกุ่ม ผลหนา ตาตุ่มทุมราชา เนื่องหน้า สุกรมมะยมพวา ชมพู่ สาเกไม้หมากข้า อิกเปล้าขานาง ฯ ๖๓ กะจายสยายซร้องนาง ผ้าสไบบางนางสีดา ห่อห้อยย้อยลงมา แต่ค่าไม้ใหญ่สูงงาม ฯ กะจายสยายคลี่ซร้อง นงพะงา สไบบางนางสีดา ห่อห้อย ยื่นเลื้อยเฟื้อยลงมา โบยโบก แต่ค่าไม้ใหญ่น้อย แกว่งเยื้องไปมา ฯ ๖๔ กระเช้าเจ้าบรรจง ปากแฉกตรงทรงหาบหาม แล่งปืนของพระราม รูปงามดีมีสืบมา ฯ กะเช้านางแต่งเจ้า ผจงงาม ปากแฉกทรงหาบหาม ห่วงห้อย แล่งปืนของพระราม ยังอยู่ รูปร่างงามน้อยน้อย งอนขึ้นสืบมา ฯ ๖๕ เล็บนางงามแสล้ม ต้นนางแย้มแกมดองดึง สุพรรณิกากากระทึง ดอกราชพฤกษ์ซึกไทรไตร ฯ เล็บนางนวยแน่งน้อย พอพึง นางแย้มแกมดองดึง อีกอ้อย สุพรรณิกากากระทึง บานแบ่ง ราชพฤกษ์ซึกดวงย้อย พู่เพี้ยงไทรไตร ฯ ๖๖ ชงโคตะโกตะขบหว้า ต้นตุมกากาฝากลง ชอบกลต้นมหาหงส์ มะเดื่อดูกลูกนมแมว ฯ ชงโคตะโกขบหว้า ดาดดง ตุมกากาฝากลง ติดไม้ นมแมวมหาหงส์ เห็นอยู่ มะเดื่อดูกลูกงอกได้ แส่ทึ้งสอยกิน ฯ ********* สไบนวล..สนใจเมืองเก่านี้ และหลายครา ที่เธอจะเห็นในภาพฝัน คืนที่พระจันทร์ผ่องเพ็ญเต็มดวง ในฝัน.... เธอจะห่มสไบแพรสไบขวัญสีโศกสีเศร้า และทัดดวงดอกลั่นทมสีขาวพราวริมแก้มแซมผมหอม..ให้หอม ในฝัน.. จะมีบุรุษหนึ่งร่างล่ำสันผิวสีทองแดง ราวบุรุษอาชาไนยจะคอยเคียงใกล้ และน่าแปลกนัก ที่เธอและเขากำลังค่อยๆ ช่วยกันประคอง*โคมลอย* แล้วค่อยๆปล่อยขึ้นไปเหนือฟ้าทิศบูรพา ราวจะช่วยกันพลีบูชาพระอิศวร พระนารายณ์ พระอินทร์ พระบรมสาริริกธาตุเกศแก้วจุฬามณีในดาวดึงส์พิภพ ที่บรรจุมวยผม.*.เจ้าชายสิทธัตถะ*ที่เชือดด้วยพระขรรค์ ก่อนการดำรงเพศนักบวช จนได้บรรลุเป็นพระบรมศาสดาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และ บูชาพระพุทธบาทซึ่งปรากฏอยู่ ณ หาดทรายที่เรียกว่านะมะทานที เป็นที่ฝูงนาคทั้งปวงสักการบูชาอยู่.. และ ในทุกราตรีมิเว้นว่าง ตั้งแต่เธอย่างเข้าเป็นกุลสตรีสาวสะพรั่ง เธอจะฝันบ่อยขึ้นบ่อยเข้า เกี่ยวกับเมืองเก่าของเราแต่ก่อน จิตใจอาวรณ์อย่างยากที่จะเล่าให้ใครฟัง อย่างที่อยากจะรู้จักสัมผัสให้ล้ำลึก เธอ..จึงรู้สึกยิ่งรักผูกพัน ราวกับว่าชาติปางก่อนมาบันดาลบุญหนุนนำ และ ด้วยดวงจิตวิญญาณอันแสนละเอียดอ่อน ยิ่งทำให้เธอหวนไห้อาวรณ์ อยู่กับสิ่งที่เธอยังมองไม่เห็น ที่มิอาจจะบอกใครได้ สไบนวล จึงทำได้เพียงราวรอเวลา ให้ดวงตาสวรรค์ฟ้าดินเมตตา เปิดม่านบังตาให้เธอได้รับรู้ สิ่งที่แสนลึ้ลับพิสูจน์ไม่ได้ ราวปาฏิหารย์รักมหัศจรรย์รอ สไบนวล..คนดี จึงต้องวนเวียนกลับมา สัมผัสเหว่ว้าดายเดียวแทบทุกอณูนะที่นี่.. ที่อยุธยา *ราชธานีเก่า อู่ข้าวอู่น้ำ เลิศล้ำคนดีศรีอยุธยา* เมืองที่มี แม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำป่าสักแม่น้ำลพบุรี แม่น้ำน้อย ไหลผ่านให้จิตวิญญาณผู้คนพันผูกกับสายน้ำอย่างมิรู้สิ้นรู้จบ พบสงบงามเจดีย์เก่าระดะยอด.. พระปรางค์โบราณที่วัดมหาธาตุ ที่มีผอบศิลา ภายในมีสถูป 7 ชั้น มี ชิน เงิน นาก ไม้ดำ ไม้จันทร์แดง แก้วโกเมนและทองคำ และชั้นในบรรจุ พระบรมสารีริกธาตุและเครื่องประดับอันมีค่า ไหน..จะยังมีโบราณสถานสถิตใจวังหลัง เป็นอุทยาน สวนหลวง ปรากฏสิ่งสำคัญหลงเหลือคือเจดีย์พระศรีสุริโยทัย อนุสรณ์สถานของวีรสตรีไทยพระองค์แรก เกียรติแห่งวีรสตรีไทย ที่คนไทยมิมีวันลืมยังจำตราตรึง ถึงความเสียสละอันแสนงดงามยิ่งใหญ่ อย่างยากหาผู้ใดมาเสมอเหมือน และ ณ..ที่แห่งนี้ทำให้สไบนวล ได้รู้จักราชธานีเก่า มากขึ้นว่า นามว่า กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ ที่มีคำขวัญว่า ราชธานีเก่าอู่ข้าวอู่น้ำ เลิศล้ำกานท์กวีคนดีศรีอยุธยา* ที่มีเมืองอยู่ในที่ราบเป็นดั่งอู่ข้าวอู่น้ำ เลิศล้ำกานท์กวีคนดีศรีอยุธยา ก็เพราะ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มียุคทองของ วรรณคดี คือ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมัยพระเจ้าอยู่หัว บรมโกศ กอรปด้วยกวีเอกที่มีความสามารถล้ำเลิศ เช่นสมเด็จพระนารายณ์ พระมหาราชครูศรีปราชญ์ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) พระโหราธิบดี เป็นต้น วรรณคดีที่สำคัญ เช่น สมุทรโฆษคำฉันท์ โครงกำศรวลศรีปราชญ์ กาพย์ห่อโคลง ประพาสธารทองแดง จินดามณี มหาชาติคำหลวง เป็นต้น คนดีศรีอยุธยา หมายถึง จังหวัดพระนครศรีอยุธยากอรปด้วยคนดี มีความสามารถทุกยุคทุกสมัยตลอดมา แม้เมื่อกรุงศรีอยุธยาต้อง เสียกรุง ให้แก่พม่าถึง 2 ครั้ง แต่ก็ยังสามารถกอบกู้เอกราชกลับคืนมาได้ ก็ด้วย เหตุเพราะมีคนดีที่มีความสามารถนั่นเอง ... แล้ว ไหนจะยังมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย วัดวาอารามอันงามคร่ำ วัดพุทไธศวรรย์ วัดไชยวัฒนาราม วัดกษัตราธิราช และเจดีย์พระศรีสุริโยทัยอันสง่างามอีกด้วย และที่วัดพนัญเชิงวรวิหาร พระประธานในพระวิหาร ชื่อพระเจ้าพนัญเชิง (หลวงพ่อโต) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1867 นับเป็น พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ฝีมือปั้นงดงาม เป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัด และตามตำนานกล่าวว่า เมื่อคราวพระนครศรี อยุธยาจะเสียแก่ข้าศึกนั้น พระพุทธรูปองค์นี้ มีน้ำพระเนตรไหลออกมาทั้งสองข้าง ราวกับว่าจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่นะภายใน นอกจากนั้น ยังมากมีมากมายโบราณสถานที่น่าสนใจ และ ด้วยเหตุ เพราะมีใครบางคน..ในฝัน ที่แสนย์รักเอยแสนรักในกมล ราวหมุนวน อดีตลาลอย เลือนเลยลับให้รอเวลาหวนคืนกลับมา.. ให้ผู้หญิงเรียวหน้าละมุนงามเศร้า รอคอยราวกับมีบางสิ่งคอยร่ำร้องเพรียกหา มายาวนาน ในทุกทิวาหวามราตรีขวัญ ทุกคืนจันทร์เพ็ญเด่นดวง ด้วยแรงจิตอธิษฐานบนบานกล่าว และ ดั่งคำมั่นสัญญา http://www.youtube.com/watch?v=dxy8uIY5QHY คำมั่นสัญญา ถึง ม้วยดิน สิ้นฟ้า มหาสมุทร ไม่ สิ้นสุด ความรัก สมัครสมาน แม้ อยู่ใน ใต้หล้า สุธาธาร ขอ พบพาน พิศวาส ไม่คลาดครา แม้น เนื้อเย็น เป็นห้วง มหรรณพ พี่ ขอพบ ศรีสวัสดิ์ เป็นมัจฉา แม้ เป็นบัว ตัวพี่ เป็นภุมรา เชย ผกา โกสุม ปทุมทอง แม้ เป็นถ้ำ อำไพ ใคร่เป็นหงษ์ จะ ร่อนลง สิงสู่ เป็นคู่สอง ขอ ติดตาม ทรามสงวน นวลละออง เป็น คู่ครอง พิศวาส ทุกชาติไป แม้ เป็นถ้ำ อำไพ ใคร่เป็นหงษ์ จะ ร่อนลง สิงสู่ เป็นคู่สอง ขอ ติดตาม ทรามสงวน นวลละออง เป็น คู่ครอง พิศวาส ทุกชาติไป... ************** สไบนวล..ค่อยๆพาตัวเอง มาทรุดตัวลงนั่งใต้กิ่งลั่นทมหวานสะพรั่ง ดวงดอกดก...สถานที่ดั่งคำมั่นสัญญา ไห้โหยหาอดีตรักอันงามงด ราวปรากฎในกระแสจิตวิญญาณผ่านภพ เธอหลับตาช้าๆ... วงหน้านวลละออ ริมเรียวแก้มขวัญนั้น มีดวงดอกลั่นทมแซมริมไรผมหอมเศร้า แล้วไยเล่า..ในความว่างนั้น พลันราวมีภาพพร้อมพลังเสียง.. จากฟากฟ้าแสนไกลค่อยๆลอยล่องเข้ามา ราวกับว่าทุกเรื่องราว กำลังเกิดตรงหน้าเธอนะบัดนี้.. ที่ราวภาพในนิมิตฝัน ผู้ชายคนเดิมคนดีผิวสีทองแดง..กำลังเอนอิงในอ้อมตัก ในห้องหับเรือนไทย ที่ได้กลิ่นเกสรดอกไม้หอมเศร้า เคล้าอวลมากับสายลมบางเบา.. เขาช้อนสายตาแห่งรัก ราวพิมพ์พักตร์ผุดผ่องนวลเนื้อทอง ที่ค่อยๆประคองหน้าลูบไล้อย่างแผ่วเบาอ่อนหวาน น้ำตานัยน์เรียวตาเศร้าราน ค่อยๆระรินหยดบนอกอุ่นแข็งแรง เขาใช้มือสากไล้โลมเรียวแก้มหอมน้อมโน้มหน้านวล ประคองจูบประทับรับขวัญซับหยาดน้ำตา เสียงเขาราวลอยมาจากฟ้าแสนไกล ปลอบประโลมใจหนักแน่น นุ่มนวลอ่อนหวานอ่อนโยน.. *คนดีอย่าร้องไห้.. ข้าจำพรากไปพลีหยาดเลือดรัก ทำหน้าที่ยิ่งใหญ่เพื่อผืนดิน ให้เลือดละหลั่งรินจนหยาดสุดท้ายฝากไว้ทาแผ่นดิน* ให้ลูกหลานไทยและโลกรู้ว่า *กรุงศรีอยุธยาจะมิมีวันสิ้นคนดี* ข้าขอพลีคำมั่นสัญญา เอาหยาดเลือดชะโลมหล้าชะโลมดิน*ไม่รักตัวกลัวตาย* *ให้รู้ว่า ลูกผู้ชายชาติไทยหัวใจไท หัวใจนั้นดั่งเหล็กกล้า ให้ไอ้พวกข้าศึก..ได้สำนึกว่า..มันอย่าได้มาหยาม.. และ ให้มันหลั่งน้ำตารดเท้าสังเวยข้า..ที่มันบังอาจ..นัก!* *นวล..เจ้าเอย.. เจ้าผู้พิสุทธิ์ผ่องแผ้ว จงถนอมแก้วถนอมขวัญถนอมใจ รอวันที่ข้ากลับมา กลักทองที่เจ้ามอบให้ข้านั้น..* *ให้เจ้าจงรู้ว่า คือที่รวมขวัญพลี ที่รวมจิตวิญญาณข้ามิให้พรากไกล ถึงร่างเราจำไกล แต่หัวใจเราสองดวงนั้น.. ได้พลีคำมั่นสัญญา ยอมร่วงลงสู่ปวงพื้นพสุธาพร้อมกันแล้วมิใช่ดอกละหรือ.* *และจะยึดถือคำสัตย์มั่นมิปันแยก จะกี่ภพกี่ชาติ ให้พิสวาสดั่งคู่บุญญา จะตามติดเป็นพุทธมามกะ ขออธิษฐานจิต สถิตทอดคู่กันตลอดไปชั่วกัลปาวสานต์นะนวล* *เจ้า..ชวนข้าไปจุดเทียนมงคลบนบานในโบสถ์คร่ำ* เจ้ารู้ไหมยามนั้น ข้าเห็นเจ้างามตามแสงเทียนทองทอ งามใดไหนเล่าเจ้าเอย จะงามเท่าจิตไสว ที่พร่างสว่างสงบอยู่ภายในกายเจ้านะแม่สไบนวล* และ *ข้าแสนรัญจวนใจ เมื่อยามคิดว่าร่างเจ้านั้นงามเสียยิ่งกว่านางใดในปฐพีนี้* ที่ข้าจะขอพลีเสน่หามิเสื่อมคลาย *ใกล้สว่างแล้ว..ดุเหว่าแว่วเรไรร้อง ไหนเจ้าบอก จะเก็บดอกไม้หอมหอมมาให้ข้าห่อไว้ชายสไบ ให้ข้านำติดตัวไปอย่างไรเล่า* แต่ *ถึงไม่มีไม้หอม กลิ่นนวลก็ราวพยอมหอมอวลในอกในใจข้าเสมอมา* *จำเอาไว้นะนวล.. กลักทอง คือกล่องเก็บนิรันดร์รักแห่งเรานะเจ้ายอดดวงใจ* และ *ยามสุดท้ายแห่งลมหายใจข้า สไบนางของเจ้าผืนนี้ จะคู่ร่างคู่ชีวีคู่จิตวิญญาณข้าไปในทุกหน* *ข้าจะใช้มันซับหยาดเลือดและน้ำตา. ที่ข้าจะพลีจนหยาดสุดท้ายเพื่อปกบ้านป้องเมือง .ที่ข้าจะไม่มีวันเสียดายเสียใจ* หากทุกหยดเลือดนั้นจะหยาดรินแม้สิ้นสาย เพื่อเกียรติภูมิแห่งผืนดิน พื้นพสุธานี้ที่ข้าแสนรักเสียยิ่งนักแล้ว* *ข้าขอสัญญานะนวล เจ้าจงอย่าได้กำสรวลหวนไห้หาข้า อย่าเหว่ว้าดายเดียว หากดวงชีวิตข้าถูกปลิดปลงลงสังเวยมาตุภูมิแม่* *ข้าผู้ไม่แพ้ จะรอเจ้า.บนฟากฟ้า รอเวลาเราสองได้ครองคู่กัน จะนานสักกี่กัป์ปกัลป์ข้าก็จะรอเจ้านะนวล* ให้เจ้า..นวลละออจงไปวัดเพียรภาวนา และอธิษฐานจิตทุกเวลา *และเจ้ารู้.. ข้าจะสถิตทอดทุกที่ ในผืนดินนี้เพื่อปกป้องคุ้มครองเจ้า และยามเหงา..เจ้าจงไปนั่งใต้ลั่นทมงาม..* ที่*เจ้ารู้ดีว่า ข้านี้ชอบเด็ดดอกหอมๆมาทัดแก้มแซมผมให้เจ้า* และนะที่แห่งนั้น.. สวรรค์จะเปิดดวงวิญญาญ์เจ้า ให้รับรู้เรื่องราวแห่งรักอมตะของสองเรา ดั่งคำอธิษฐานดั่งคำมั่นสัญญา* *จงจำไว้นะที่แห่งนั้นคือ สวรรค์ลอยคอยรอรักแห่งภักดีของสองเรา ที่จะไม่มีวันพรากจากกัน จะตามมาเตือนเจ้านั้นให้หันมอง..ลูกผู้ชายคนดี ที่มาหมายปองเจ้าราวแสนรักเอยแสนรักในกมล มิผิดคนผิดคำ.*. ******** หญิงสาว..สะดุ้งจากภวังค์ราวฝันไป ที่ทุกเรื่องราวราวได้สัมผัสมิติยิ่งใหญ่ที่ยากอธิบาย ราวฉากในเรื่องทวิภพ.. เธอค่อยๆหันไป แล้ว... หัวใจเธอก็แทบหยุดเต้น..! นั่นไง.. ผู้ชายคนนั้นคนในฝัน ที่เธอเห็นในนิมิตประจำ และกับนาทีที่เพิ่งผ่านไป ที่เธอเผลอตกในภวังค์ฝัน ราวกับไปพบเห็นภาพจริง ที่นะบัดนี้ เขาคนดี... ผิวสีทองแดงดูงามสุกปลั่งรับดวงตะวันสีทอง กำลังค่อยๆหันหลังไปชื่นชมภาพตะวันลา หากทว่า... เมื่อนวลเห็นหน้า ยิ่งพาให้ใจเต้นสั่นระริกราวจะเป็นลม.. พอกับดวงดอกลั่นทม ที่นะบัดนี้กำลังปลิดปลิว...ปลิดปลิว..... ลิ่วลอยควะคว้าง..... ลงพร่างพรมห่มพื้นพสุธา และหอมห้วงหัวใจ..สไบนวล ราวดวงตาสวรรค์พลันรับรู้....!! *********************** http://www.thaipoem.com/web/poemdata/poemdata_60930.php สไบนาง แสนย์ เจียนหมากพลูสู่พี่ชายรออ้ายกลับ ตั้งตำรับเตรียมข้าวปลากระยาหาร มะลิน้อยลอยบนขันไว้ประทาน หลังเสร็จงานออกศึกอ้ายจักคืน ............................................. ..ท้องฟ้าเหนือกรุงศรีอยุธยา..ยามนี้ดูมืดมิด ราวกับพายุลูกใหญ่กำลังจะพัดผ่านมาเยือน เสียงกลองศึก ดังกระหึ่ม...สัญญาณ...เตรียมออกศึกเริ่มขึ้นแล้ว อีกไม่นาน..เลือดจักหลั่งไหลนองอาบพื้นธราดล..สองเผ่าชนจักห้ำหั่น ฝ่ายหนึ่ง...เพื่อครอบครองผืนแผ่นดิน ฝ่ายหนึ่ง....ปกป้องแผ่นดินเกิดแลแผ่นดินตาย สดับเสียงพละพลแล..กลองศึก คะนองคึกตีฝ่าข้ามไพรศรี หมายห้ำหั่นดัสกรหมู่ไพรี ป้องกรุงศรี..แผ่นดิน..ถิ่นเรือนตาย กำดาบสู้ใจหวนอยู่คู่นุชนาฏ อ้ายนิราศใครจักป้องจากเหตุร้าย แต่ดนัยมีศักดิ์แห่งชาติชาย มิอาจหมายหนีทัพกลับมาแล พลันยินเสียงอัสนีฟาดกึกก้อง สะเทือนร้อง ดวงหทัย ใฝ่หาแม่ สังหรณ์เหตุอาเพศร้ายในดวงแด เกรงนวลแขถูกลอบกล้ำช้ำเรือนกาย ยามพะวงดาบหนึ่งถึงอุระ ใจเจ็บแปลบคล้ายจะแหลกสลาย สิ้นเรี่ยวแรงแห่งกำลังประคองกาย เฮือกสุดท้ายน้ำเนตรหลั่งพลั่งสู่ดิน ผะแผ่วปราณ..มานชิดเจ้าจอมใจ เพียงสไบแนบทรวงก่อนลมสิ้น ยกขึ้นดอมยังหอมหวนอวลระริน ซับน้ำตาจิตโบยบินไปซบนวล ร่ายโศลกโศกแจ้งแถลงเอื้อน ชะตาเฟือนเลือนลบภพกำสรวล สิ้นแล้วหรือวาสนากับเนื้อนวล ไม่ทันหวน..ก็เลยลับ...ไป่กลับเรือน ฤา...จุดจบของนักรบ..มิแผกกัน... กลักทอง แสนย์ ยามรุ่ง..ก่อนเสียกรุงศรีอโยธยา เปิดกลักทองรอง ผ้าตาด นาฏมอบให้ กรุ่นละไมกรรณิการ์ มณฑาหอม อ้าย..ยังจำวันรับกลักจากหัตถ์พะยอม สร้อยถนอมบรรจงวางตรงกลางกร ให้โหยหวนครวญหา..คราอดีต แว่วจำเรียงเสียงไพเราะเสนาะกรรณ ถ้อยจำนวรรจ์ฝากความจากสมร สื่อลำนำเสน่หาก่อนอ้ายจร ให้ภาดรเก็บไว้แทนใจนาง สอดกลักน้อยกลอยใจไว้ใต้เกศ ข่มเทวษโทมนัสก่อนสะสาง ทวงหนี้เลือดเชือดพม่าแด่นวลนาง อ้ายจักใช้เลือดมันล้างปฐพี ก้มกำดาบอาบมนต์ไพรีพินาศ ยามแกว่งวาดอริราชจุ่งถอยหนี คม แกร่ง แข็งดั่ง วิเชียรมณี ใช้สับร่างไพรีให้แหลกราญ ท่ามพสุธ..อยุธยาธราภพ เลือดนักรบจักหลั่งลงอย่างกล้าหาญ จวบร่างแหลกกายดับลับวิญญาณ อยู่บำราบอริมารผลาญแผ่นดิน ..สิ้นแสงอรุโณทัย...เพลิงเผ่าไหม้ศรีเทพนคร..บัดนั้นอโยธเยศก็สิ้นลง... กลักทองต้องพื้นพสุธา พร้อมวิญญาชาตินักรบก็จบสิ้น ชลนาหยาดสุดท้ายต้องแผ่นดิน ไฟชีวินมอดมลาย..สลายลง...... ..............
29 เมษายน 2555 09:47 น. - comment id 1231579
แวะมาอ่าน มาทักทาย และรับคำอวยพรดีๆ ขอบคุณค่ะ ได้อะไรมากมายจริงๆค่ะ ไม่ต้องค้นแต่ได้คว้า ขอบคุณทุกท่านเลยนะคะ
21 พฤษภาคม 2555 17:25 น. - comment id 1234295
เคลียดเลยอ่า