*** เวรกรรม *** เวรคือเหตุผลคือกรรมนำผลิต ความวิปริตปั่นป่วนล้วนสนอง จากตัณหาครอบคิดเข้าจิตครอง ป่วนครรลองฝันใคร่หมายใฝ่ทำ เห็นรูปรสกลิ่นเสียงเพียงผัสสะ ธรรมารมณ์จะบรรจงหลงถลำ เหมือนพะวงคงไว้คล้ายเงื่อนงำ หวังสร้างนำรสหวนยวนใจจินต์ สานเสนาะหวานซึ้งคำนึงแผ่ว เป็นเหตุแล้วถวิลหวังจนพังสิ้น เกิดผันผวนครอบไว้ไร้ประวีณ ปัญญาวิ่นล้วนคลายให้อาวรณ์ หลงรูปลักษณ์ฝากไว้ในห้วงจิต เงาความคิดเพียงได้ในสิ่งหลอน กำเนิดโลภสิ่งหวังสร้างขั้นตอน สิ่งอ้อนวอนจิตสลายมลายพลัน หากผิดพลาดอาฆาตวาดสรรค์คิด หมุนชีวิตกลับกลายขยายแปรผัน เกิดโทสาเข้าครองครรลองอนันต์ พยาบาทสรรค์ส่งจิตหวังคิดครอง อนัตตาสร้างมวลแต่งมักแฝงไว้ ซุกภายในซ่อนไว้ครั้นใส่สนอง ผลการทำสิ่งสร้างกลางเรืองรอง คิดใฝ่ปองสลายสิ้นจินต์กฎกรรม มิอาจเลี่ยงหลีกเร้นเวรทำสร้าง ดุจเงาพรางรอบวนมิพ้นหนาม แหลมคมแทงหฤทัยในทุกยาม ผลาญคุกคามความดีหนีจากจร พึงสำเหนียกเหล่านี้แล้วตีจาก มุ่งมั่นฝากธรรมจรัสประภัสสร พิจารณาอายตนะไว้ในขั้นตอน จงตัดรอนหมั่นสร้างทางปัญญา. *** แก้วประเสริฐ. ***
11 พฤศจิกายน 2551 14:07 น. - comment id 912682
อ่านบทกลอน ซ้ำซ้ำ แล้วย้ำคิด เกือบหลงผิด มองรูป ชั่ววูบนั้น มองเข้าถึง แก่นลึก บทประพันธ์ ทำให้ฉัน ใจสว่าง ขึ้นทันใด สวัสดีค่ะคุณลุงแก้วประเสริฐ แบมขอให้คุณลุงมีสุขภาพแข็งแรงค่ะ
11 พฤศจิกายน 2551 14:26 น. - comment id 912692
11 พฤศจิกายน 2551 16:54 น. - comment id 912776
วันลอยกระทงคูณลุงไปลอยที่ทะเลป่าวคะ..ฝนตกไหมรักษาสุขภาพด้วยคะ ที่บ้านพิมหนาวมาก อ่านบทกลอนที่ดีของคูณคะ
11 พฤศจิกายน 2551 18:33 น. - comment id 912794
ทุกลีลาท่าทางต่างสร้างกรรม เพื่อน้อมนำผลสนองต้องเป้าหมาย แต่บางคราวร้าวรวดปวดใจกาย เพราะสร้างเหตุมากมายที่ผิดทาง การกระทำคือกรรม..เจตนา ตัวหัวหน้าอำนาจที่กว้างขวาง ส่งข้ามภพข้ามชาติไม่เจือจาง ทั้งดีชั่วไม่ร้างเจตนา เจตนานำพาไปสู่ผล สร้างวังวนชีวีมีปัญหา สร้างนิสัยชำนาญอวิชชา ให้ลุ่มหลงต่อมาไม่เสื่อมคลาย เจตนาไร้ปัญญา..มืดกุศล ชีวิตคนที่ทำจึงเสียหาย ขยันเดินในความมืดอย่างวุ่นวาย ไม่เปลี่ยนสายเจตนาหาแสงธรรม เจตนาจากอวิชชาพาวิปลาส ทำผิดพลาดเสียเวลาดูน่าขำ ตกอยู่ในบ่วงมารสานกงกรรม ชีพจึงช้ำด้วยวิบากจากเจตนา สวัสดีค่ะคุณแก้วประเสริฐ
11 พฤศจิกายน 2551 19:09 น. - comment id 912831
เข้ามาอ่านเรื่องของกรรมเวรที่เป็นไปครับ สุขสบายดีนะครับ
11 พฤศจิกายน 2551 19:19 น. - comment id 912839
เวรและกรรมทำเช่นไรได้เช่นนั้น มิอาจสรรปั้นแต่งได้หรอกหนอ ทำเช่นไรผลส่งคงมารอ ขออย่าก่อ..เวรกรรม..ซ้ำเติมตน.. อากาศหนาวมาก.. คุณลุงดูแลสุขภาพนะคะ..
11 พฤศจิกายน 2551 20:39 น. - comment id 912877
เป็นกลอน ที่คอยย้ำเตือน ความเป็นมนุษย์ ได้ดีมากเลยครับครูแก้ว.. ..ดังนั้น ขณะที่เรากำลังเดิน ไปหา ที่หมายของการเกิดมา...เกิด แก่ เจ็บ ตาย คือ เป้าหมายนะครับ.. สำคัญว่าเราจะเลือกเดินมันอย่างไร ระหว่างเดิน เราก้อเลือกกระทำเอา ว่า กระสิ่ง ดี หรือ ไม่ดี นั่นก็คือ กรรม.. ...รักษา ดูแลตัวเองด้วยนะครับครู..
12 พฤศจิกายน 2551 14:31 น. - comment id 913127
กรรมคือสิ่งที่ตนกระทำ เวรคือสิ่งที่ตัวเองก่อมั้งคะ คริ คริ อากาศเริ่มเย็นแล้วนะคะ ถ้าคืนนี้ไปลอยกระทง อย่าลืมเอาแจ๊คเก็ตไปด้วยนะคะลุงแก้ว
12 พฤศจิกายน 2551 15:16 น. - comment id 913145
อ่านแล้วนึกถึง พระสังขจายเลยค่ะ เดี๋ยว โคลอนไปค้นข้อมูลแป๊บนะคะ v v v พระมหากัจจายนเถระ เอตทัคคะในทางผู้อธิบายความย่อให้พิสดาร พระมหากัจจายนะ เป็นบุตรของพราหมณ์ตระกูลกัจจายนะ ผู้เป็นปุโรหิต (ที่ปรึกษา) ของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ในกรุงอุชเชนี เดิมท่านชื่อว่า กัญจนะ เพราะมีรูปร่างลักษณะงาม สง่า มีเสน่ห์แก่ผู้พบเห็น เมื่อเจริญวัยขึ้น ได้เรียนจบไตรเพท คือ คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพราหมณ์ เมื่อบิดาถึงแก่กรรมแล้วได้ดำรงตำแหน่งปุโรหิตแทนบิดา เมื่อพระบรมศาสดาตรัสรู้แล้ว เสด็จเที่ยวจาริกประกาศหลักธรรมคำสอนตามคามนิคมชนบทอยู่นั้น พระเจ้าจัณฑปัชโชต มีพระราชประสงค์จะกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จสู่กรุงอุชเชนีของพระองค์บ้าง จึงรับสั่งให้ปุโรหิจกัจจายนะไปกราบทูลอาราธนา กัจจายนะถือโอกาสกราบทูลลาเพื่ออุปสมบทด้วย เมื่อทรงอนุญาตแล้วจึงพร้อมด้วยบริวารติดตามอีก ๗ คน เดินทางไปเฝ้าพระบรมศาสดา เมื่อเดินทางไปถึงก็รับเข้าเฝ้า พระพุทธองค์ตรัสพระธรรมเทศนาให้ฟังและเท่านทั้ง ๘ คนนั้น ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วกราบทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปนา เมื่อได้อุปสมบทแล้ว ได้กราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาเสด็จสู่กรุงอุชเชนี ตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้เดินทางมา แต่พระบรมศาสดารับสั่งให้ท่านไปเองพระเจ้าจัณฑปัชโชต และชาวเมืองก็จะเกิดศรัทธาเหมือนกัน พระมหากัจจายนะ จึงกราบทูลลาพระบรมศาสดาพาภิกษุบริวารอีก ๗ องค์นั้น เดินทางกลับสู่กรุงอุชเชนี ประกาศหลักธรรมคำสอนในพุทธศาสนาให้พระเจ้าจัณฑปัชโชต และชาวเมืองได้สดับรับฟัง เกิดศรัทธาเลื่อมใส ทำให้พระพุทธศาสนาแพร่กระจายทั่วกรุงอุชเชนีแล้ว ท่านก็ได้เดินทางกลับมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคอีก
12 พฤศจิกายน 2551 15:23 น. - comment id 913147
ต่อนะคะ เสมือนหนึ่ง ท่านพระมหากัจจายนะ พักอาศัยอยู่ที่ภูเขาปวัตตะ แขวงเมืองกุรุรฆระ ในอวันตีทักขิณาปถชนบท ขณะนั้น มีอุบาสกคนหนึ่งชื่อว่า โสณกุฎิกัณณะ มีศรัทธาจะอุปสมบท แต่เนื่องจากในอวันตีชนบทนั้นมีพระภิกษุจำนวนน้อย ไม่ครบเป็นคณปูรกะจำนวน ๑๐ รูป (ทสวรรค) ตามพระบรมพุทธานุญาต ท่านจึงให้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่นานถึง ๓ ปี กว่าจะได้อุปสมบท และเมื่อท่านโสณกุฏิกัณณะได้อุปสมบทแล้ว ปรารถนาจะเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา ได้กราบลาพระมหากัจจายนะ ก็อนุญาตพร้อมทั้งสั่งให้ไปราบทูลขอพระบรมพุทธานุญาต ให้พระพุทธองค์ทรงแก้ไขพุทธบัญญัติ ๕ ข้อ ซึ่งไม่สะดวกแก่พระภิกษุผู้ อยู่ในอวันตีชนบท คือ:- ๑) ในอวันตีชนบท มีพระภิกษุจำนวนน้อย ขอให้พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการอุปสมบทด้วยคณะพระภิกษุน้อยกว่า ๑๐ รูปได้ ข้อนี้ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตว่า ดูก่อนภิกษุ เราอนุญาตการอุปสมบทในปัจจันตชนบท ด้วยคณะพระภิกษุ ๕ รูปได้ ๒) ในอวันตีชนบท มีพื้นดินขรุขระไม่เรียบไม่สม่ำเสมอ ขอให้พระผู้มีอาภาคทรงอนุญาตให้พระภิกษุในอวันตีชนบทสวมรองเท้ามีพื้นหลายชั้นได้ ข้อนี้ ทรงอนุญาตว่า ดูก่อนภิกษุ เราอนุญาตให้ภิกษุสวมรองเท้ามีพื้นหลายชั้น ใน ปัจจันตชนบทได้ ๓) ในอวันตีชนบท อากาศร้อน บุคคลต้องอาบน้ำทุกวัน ขอพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ภิกษุอาบน้ำเป็นนิตย์ได้ ข้อนี้ ทรงอนุญาตว่า ดูก่อนภิกษุ เราอนุญาตการอาบน้ำได้เป็นนิตย์แก่ภิกษุผู้อยู่ใน ปัจจันตชนบท ๔) ในอวันตีชนบท มีเครื่องลาดที่ทำด้วยหนังมีหนังแพะ และหนังแกะ เป็นต้น สมบูรณ์ดีเหมือนในมัชฌิมชนบท ขอพระพุทธองค์ทรงอนุญาตเครื่องลาดทำด้วยหนังสัตว์ มีหนังแพะ และหนังแกะ เป็นต้นเหล่านั้นเถิด ข้อนี้ ทรงอนุญาตว่า ดูก่อนภิกษุ เราอนุญาตเครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์เหล่านั้น ๕) ทายกทั้งหลาย มักจะถวายจีวรแก่ภิกษุผู้ที่ออกจากวัดไปแล้ว ด้วยสั่งไว้ว่า ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้ เมื่อเธอกลับมาแล้ว ทายกได้นำจีวรเข้าไปถวาย แต่เธอไม่ยอมรับด้วยเข้าใจว่า ผ้าผืนนี้เป็นนิสสัคคีย์ ข้อนี้ ทรงอนุญาตว่า ดูก่อนภิกษุ เราอนุญาตให้ภิกษุรับจีวรที่ทายกถวายลับหลังได้ ด้วยว่า ผ้ายังไม่ถึงมือเธอตราบใด จะถือว่าเธอมีสิทธิ์ในผ้าผืนนั้นเต็มที่ไม่ได้ตราบนั้น ความสามารถพิเศษของพระมหากัจจายนเถระ พระมหากัจจายนเถระ เป็นพระพุทธสาวก ที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดสามารถอธิบายธรรมที่ย่อให้พิสดาร ให้ผู้ฟังเกิดศรัทธาเลื่อมใสได้โดยไม่ยาก ทั้งนี้เพราะส่วนหนึ่งท่านเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในปฏิสัมภิทา ๔ คือ:- ๑) อัตถปฏิสัมภิทา ผู้มีปัญญาแตกฉานในอรรถสามารถอธิบายความย่อให้พิสดารได้ ๒) ธัมาปฏิสัมภิทา ผู้มีปัญญาแตกฉานในธรรมสามารถถือเอาความโดยย่อจากธรรมที่พิสดารได้ ๓) นิรุตติปฏสัมภิทา ผู้มีปัญญาแตกฉานในนิรุตติมีความเชี่ยวชาญในภาษา สามารถพูดให้คนอื่นเลื่อมใสได้ ๔) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ผู้มีปัญญาแตกฉานในปฏิภาณมีไหวพริบและปฏิภาณ สามารถแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ นอกจากนี้ยังมีพระธรรมเทศนาของท่านอีกหลายกัณฑ์ ที่พระธรรมสังคาหกาจารย์ ได้ยกขึ้นสู่สังคีติ คือการทำสังคายนา ได้แก่:- ๑. ภัทเทกรัตตสูตร เป็นสูตรที่แสดงถึงเรื่องบุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญ คือ คนที่เวลาวันคืนหนึ่ง ๆ มีแต่ความดีงาม ความเจริญก้าวหน้า ได้แก่ ผู้ที่ไม่มัวครุ่นคิดถึงอดีต ไม่เพ้อฝัน หวังอนาคต ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นแจ้งประจักษ์สิ่งที่เป็นปัจจุบัน ทำความดีเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยไป มีความเพียรพยายามทำกิจที่ควรทำตั้งแต่ในวันนี้ ๒. มธุรสูตร เป็นสูตรที่ท่านแสดงแก่พระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตร ในขณะที่ท่านพักอยู่ที่คุณธาวัน มธุรราชธานี สูตรนี้มีใจความแสดงถึงความไม่แตกต่างกันของวรรณะ ๔ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร วรรณะทั้ง ๔ นี้ แม้จะถือตัวอย่าง เหยียดหยามกันอย่างไร แต่ถ้าทำดีก็ไปสู่ที่ดีเหมือนกันทั้งหมด ถ้าทำชั่วก็ต้องรับโทษไปอบายเหมือนกันทั้งหมดทุกวรรณะเสมอกัน ในพระธรรมวินัย ออกบวชบำเพ็ญสมณธรรมแล้ว ไม่เรียกว่าวรรณะอะไร แต่เป็นสมณะเหมือนกันทั้งหมด ที่พระเถระกล่าวสูตรนี้ ก็เพราะพระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตร ถามปัญหากับท่านเกี่ยวกับเรื่องพราหมณ์ถือตัวว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และเกิดจากพรหม ท่านจึงแก้ว่าไม่เป็นความจริงแล้วยกตัวอย่างเป็นข้อ ๆ ดังนี้:- ๑) ในวรรณะ ๔ เหล่านี้ วรรณะใดเป็นผู้ร่ำรวย มั่งมีเงินทอง วรรณะเดียวกันและ วรรณะอื่นย่อมเข้าไปหา ยอมเป็นบริวารของวรรณะนั้น ๒) วรรณะใดประพฤติอกุศลกรรมบถ เมื่อตายไป วรรณะนั้นย่อมเข้าสู่อบาเสมอเหมือนกันทั้งหมด ๓) วรรณะใดประพฤติกุศลกรรมบถ เมื่อตายไป วรรณะนั้นย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เหมือนกันทั้งหมด ๔) วรรณะใดทำโจรกรรม ทำปรทาริกกรรม วรรณะนั้นต้องรับราชอาญาเหมือนกันทั้งหมด ไม่มียกเว้น ๕) วรรณะใดออกบวช ตั้งอยู่ในศีลในธรรม วรรณะนั้นย่อมได้รับความนับถือการบำรุง และการคุ้มครองรักษา เสมอเหมือนกันทั้งหมด เมื่อพระเถระแสดงเทศนามธุรสูตรจบลงแล้ว พระเจ้ามธุรราช ก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส ประกาศประองค์เป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา พระเถระแปลงร่าง ดังที่กล่าวมาในตอนต้นแล้วว่าพระมหากัจจายนเถระ เป็นผู้มีรูปร่างสง่างามผิวเหลือง ดุจทองคำสะอาดผ่องใจ เป็นที่ต้องตาถูกใจแก่ผู้พบเห็นทั่วไป จนกระทั่งมีเหตุการณ์วิปริตเกิดขึ้นแก่บุตรเศรษฐีคนหนึ่งในเมืองโสเรยยะ ชื่อว่า โสเรยยะ เหมือนชื่อเมือง ขณะที่เขานั่งบนยานพาหนะกับสหายเพื่อไปอาบน้ำพร้อมกับบริวารทั้งหลาย ได้เห็นพระเถระกำลังยืนห่มจีวร เพื่อเข้าไปบิณฑบาตในเมืองแล้วเกิดความพอใจ ในดวงจิตคิดอกุศลขึ้นว่า งามจริงหนอ พระเถระรูปนี้ น่าจะเป็นภริยาของเรา หรือไม่ก็ขอให้ภริยาของเรามีสีผิวกายเหมือนพระเถระนี้ ด้วยอกุศลจิตคิดเพียงเท่านี้ ทำให้เพศชายของเขาหายไป กลายเป็นเพศหญิงไปทั้งร่าง ทำให้เขาอับอายเป็นอย่างมาก และโดยที่ไม่มีใครรู้เขารีบลงจากยานนั้นแล้วเดินตามกองเกวียนพ่อค้าไปยังเมืองตักสิลา และได้เป็นภริยาของลูกชายเศรษฐีในเมืองนั้น อยู่ร่วมกันจนมีบุตร ๒ คน แต่เดิมทีที่เขาอยู่ในเมือง โสเรยยะนั้น เขาก็มีภริยาอยู่แล้วและมีบุตรด้วยกัน ๒ คน เช่นเดียวกัน จึงปรากฏว่าเขาเป็นทั้งพ่อและแม่ หรือเป็นทั้งผัวและเมียในชาติเดียวกันนี้ ต่อมา พระมหากัจจายนเถระ จาริกมายังเมืองตักสิลา โสเรยยะทราบแล้วจึงเล่าเรื่องราวของตนที่ผ่านมาให้สามีฟัง แล้วพากันไปกราบขอขมาโทษต่อพระเถระ เมื่อท่านทราบเรื่องโดยตลอดแล้วก็ยกโทษให้ และเพศหญิงก็หายไปเพศชายปรากฏขึ้นมาเหมือนเดิม เขาเกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระเถระเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งเห็นว่าตนเองเป็นคนแปลกคือเป็นทั้งชายและหญิงในอัตภาพเดียวเท่านั้น และยังคิดว่าไม่ควรที่จะอยู่ครองเพศฆราวาสต่อไป จึงมอบบุตรทั้ง ๔ คนให้บิดามารดาเลี้ยงดูต่อไป ส่วนตนเองได้ขอบวชในสำนักพระเถระ และได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในกาลต่อมา พระมหากัจจายนะ นอกจากจะมีเรื่องของโสเรยยะแล้ว ยังมีเรื่องพระภิกษุเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เห็นพระเถระเดินมาแต่ไกลแล้วก็พากันกล่าวว่า พระบรมศาสดาของพวกเราเสด็จมาแล้ว แล้วพากันทำความเคารพกราบไหว้ ทั้งนี้ก็เพราะท่านมีรูปลักษณ์ละม้ายกับพระผู้มีพระภาคนั้นเอง พระเถระพิจารณาเห็นโทษเช่นนี้แล้ว จึงอธิษฐานจิตเนรมิตรร่างกายของท่านให้เปลี่ยนแปลงผิดแปลกไปจากเดิม ร่างกายที่เคยสง่างามก็ย่นย่อ ต่ำเตี้ย ท้องป่อง หมดความสวยงามดังที่พุทธศาสนิกชนนิยมสร้างรูปท่านไว้เป็นที่สักการบูชาในทุกวันนี้ ขอบคุณเว็บhttp://www.watthummuangna.com/board/archive/index.php/t-2163.html กูเกิ้ลนี่ดีจริงๆเลยค่ะเนาะ....
12 พฤศจิกายน 2551 15:27 น. - comment id 913148
อ่า....ขอโทษนะคะที่ก๊อปปี้ข้อมูลมาเยอะเลย....พออ่านกลอนเสร็จก็ให้นึกถึงท่านอ่ะค่ะ
12 พฤศจิกายน 2551 16:11 น. - comment id 913159
คุณ แก้วประภัสสร ผมเขียนมาแยะ เลยลองเขียนกลอน ธรรมฝากไว้จ๊ะพิจารณาสังขารตัวเองแล้วก็สมจริง ขอบใจมากจ้า รักเสมอ แก้วประเสริฐ.
12 พฤศจิกายน 2551 16:19 น. - comment id 913165
คุณ เพียงพลิ้ว หลานรักลุงฟังเพลงฝรั่งสมัยยี่สิบสามสิบปีไป ก็นั่งมองตัวเองจริงซินะมันเปลี่ยนแปลงไปมากๆ เสียด้วยผิวหนังพละกำลังตลอดทุกๆอย่างมันแย่ โรคภัยก็มากๆเสียด้วย ก็เลยเขียนกลอนนี้ขึ้นจ้า รักเสมอๆจ้า แก้วประเสริฐ.
12 พฤศจิกายน 2551 16:25 น. - comment id 913169
คุณ พิมญดา ไม่ได้ไปหรอกจ้า เพราะที่หน้าหมู่บ้านนั้น มีคลองน้ำไหลเขาจัดงานขึ้นจ้า ทางกรุงเทพนั้น อากาศวันหนึ่งๆมีสามฤดู คือ เช้าเย็นๆ สายร้อน พอตำค่ำฝนตกจ้า แต่วันนี้ดีรู้สึกแค่สองฤดูตอนค่ำ ก็ไม่รู้เหมือนกัน ทางเหนือเริ่มหนาวได้ข่าวว่าใน เมืองกลางวันร้อนมากจะจริงหรือเปล่าไม่รู้จ้า คิดถึงรักเสมอๆ แก้วประเสริฐ.
12 พฤศจิกายน 2551 16:31 น. - comment id 913173
คุณ พี่ดอกแก้ว ขอบคุณมากที่ฝากกลอนธรรมมาให้จากยอดหญิง แห่งธรรม เหตุเกิดได้ก็ด้วยเหตุสามประการที่ พร้อมกันคือ กาย วาจาและใจล้วนแล้วจากเจตนา จากใจทั้งสิ้น บาปเกิดขึ้นเริ่มแรกคือใจมีเจตนา ต่อสิ่งทั้งผองครับ ขอบคุณครับ แก้วประเสริฐ.
12 พฤศจิกายน 2551 16:36 น. - comment id 913175
คุณ อรุโณทัย ครับไม่รู้จะเขียนอะไร ก็เลยเขียนเกี่ยวกับ กรรมเวร เพื่ออาจจะเป็นประโยชน์ได้บ้างครับ ขอบคุณในความห่วงใยครับ รักเสมอ แก้วประเสริฐ.
12 พฤศจิกายน 2551 16:41 น. - comment id 913180
คุณ ครูพิม ใช่ครับ ทำสิ่งใดไว้ย่อมได้สิ่งนั้นไม่มีวัน ลบล้างได้เช่นปลูกมะม่วงผลออกมาจะเป็นผล มะพร้าวย่อมไม่ได้ และไม่มีวันที่จะล้างได้ไม่วัน ใดวันหนึ่งหรือภพใดภพหนึ่งครับ นอกจากจะตัด รากถอนโคนกิเลสให้สิ้นนั่นแหละถึงจะหลุดพ้นครับ ขอบคุณครับ แก้วประเสริฐ.
12 พฤศจิกายน 2551 16:48 น. - comment id 913186
คุณ กิ่งโศก ทุกๆสิ่งอย่างเกิดจากใจโดยมีเจตนาเป็นตัวนำ บาปนั้นเกิดได้จากสิ่งเหล่านี้ถึงแม้ว่าจะไม่กระทำ ก็ตาม ผลที่เกิดขึ้นอย่างน้อยคิดความหงุดหงิดไม่ สบายใจก่อนหากกระทำด้วยกาย วาจา ครบองค์ 3 แล้วนั้นแหละสิ่งเหล่านี้ถึงจะสมบูรณ์พร้อมสรรพ ฉนั้นพุทธพจนะจึงไม่ให้เราประมาทมีสติตลอดเวลา รู้จักความผิดชอบชั่วดี ควรหรือไม่ควรครับ ขอบคุณครับ แก้วประเสริฐ.
12 พฤศจิกายน 2551 16:57 น. - comment id 913196
คุณ เฌอมาลย์ แม้ใจเป็นใหญ่เป็นประธานของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็ตาม แต่ผลที่เกิดขึ้นจะ ได้เร็วก็ด้วยแรงอธิษฐาน แม้แต่องค์พระสัมมาสัม พุทธองค์ยังกล่าวสรรเสริญของคำว่า "อธิษฐาน" ไว้มากมายในพระไตรปิฏก ด้วยช่วงนั้นจะพร้อม มูลด้วย ศีล สมาธิ ปัญญาชั่วขณะจิตหนึ่งถือเป็น บุญกุศลย่อมน้อมนำไปสู่สุคติได้ เปรียบเสมือนตัว ช่วยของจิตวิญญาณครับ ครับคุณกับผมต้องเคย ทำบุญร่วมกันมาหรืออธิษฐานกันไว้ถึงได้พบ กันสมัครสมานซึ่งกันและกันแม้จะไม่เคยพบ กันก็ตามด้วยผลบุญที่เคยร่วมกันมาครับ ขอบคุณครับเจ้าหญิง แก้วประเสริฐ.
12 พฤศจิกายน 2551 17:03 น. - comment id 913204
คุณ ยาแก้ปวด กรรมคือผลแห่งการกระทำคือเวรครับ เช่น การฆ่าสัตว์ตัดชีวิตสิ่งต่างๆถือเป็นเวร ผลนั้นย่อม สนองคือกรรมนั่นแหละจะเร็วช้าย่อมอยู่ที่การเจตนา การกระทำครับ ดุจตาชั่งที่เที่ยงตรงนั่นแหละครับ ทางกรุงเทพฯอากาศแปรปรวนมากไม่หนาวหรอก ครับ ผมว่าจะไปเดี๋ยวเดียวก็จะกลับสุขภาพไม่ดีพอ ขอบคุณที่เป็นห่วงครับ รักเสมอ แก้วประเสริฐ.
12 พฤศจิกายน 2551 17:25 น. - comment id 913209
คุณ โคลอน สาธุอนุโมทนาด้วยครับ ขอบคุณมากครับ แก้วประเสริฐ.
12 พฤศจิกายน 2551 17:40 น. - comment id 913211
คุณ โคลอน พระมหากัจจายนะเถระเจ้านั้น เป็นเอกัคตะองค์หนึ่งที่เพียบพร้อมด้วยสติปัญญามากมาย ซ้ำรูปกายยังสง่างามผุดผ่องดังทองทา แต่ประการ หนึ่งที่สำคัญมากคือ ท่านมีสรีระภาพคล้ายพระพุทธ เจ้ามาก จนเป็นเหตุร่ำลือกันไปทั่วแคว้นต่างๆพา กันมาสู่เพื่อยลโฉมท่าน ด้วยมีคนเข้าใจผิดคิดว่า เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและมาขอฟังธรรมมากมาย ท่านเล็งเห็นว่าหากเป็นเช่นนี้แล้วก็จะทำให้ เกิดการหลงผิด ยิ่งอิสตรีต่างๆมารุมล้อมจนเกิดวิวาท มากมาย ท่านจึงเนรมิตร่างดังที่กล่าวไว้นั้นเอง บุคคลใดบูชาท่านจะสง่างามเป็นที่รักใคร่ของคน ทั่วไปตลอดโภคทรัพย์หาเป็นรองพระสีวลีก็หาไม่ ในเรื่องโภชนาการ ผมขอเสริมไว้เท่านี้นะครับ ด้วยพระสูตรนั้นมีหลายพระสูตร บางพระสูตร ก็ละเอียด บางพระสูตรก็กล่าวไว้เนิ่นๆครับ ขอบคุณมากที่นำมาเสนอต่อพี่น้องชาวเวปฯกลอน ไทยให้ทราบชีวประวัติของพระมหากัจจายนเถระ เจ้าครับ ขอบคุณยิ่ง รักเสมอ แก้วประเสริฐ.
12 พฤศจิกายน 2551 17:49 น. - comment id 913212
คุณ โคลอน พระสูตรนั้นเป็นชีวประวัติพระพุทธเจ้าทั้งใน อดีตชาติต่างๆและปัจจุบันรวมทั้งอรรถธรรมต่างๆ แสดงถึงคุณเป็นพุทธมามกะที่มั่นคงยิ่ง ผมอยากจะ ให้คุณค้นหาและศึกษาพระธรรมเจ็ดคัมภีร์มาอ่าน ด้วย เพราะในนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสังขารทั้ง หลายของมนุษย์สัตว์ในการหลุดพ้นทุกข์ แต่คนเรา มักจะไม่ค่อยสนใจกัน และมักจะใช้ในงานสวด ศพจึงเกิดความกลัว หากค้นพร้อมคำแปลด้วย แล้วจะเห็นสิ่งที่เป็นอนิจจังทั้งสิ้นครับ ซ้ำยัง เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาอีกด้วยครับ อนุโมทนา ด้วยครับ ขอบคุณ รักเสมอ แก้วประเสริฐ.