9 กันยายน 2551 07:55 น.

ที่มั่นสุดท้าย...อุดรธานี

nidhi

ที่มั่นสุดท้าย: อุดรธานี
อุดรธานี เป็นจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการท่องเที่ยว
ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย  
 เป็นถิ่นกำเนิดกล้วยไม้หอมอุดรซันไฌน์ ที่ลือเลื่องไปทั่วโลก 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นดินแดนแห่งวัดป่า และเป็นประตูสู่ประเทศลาว  
กับทั้งยังเป็นดินแดนแห่งอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
จังหวัดอุดรธานี  มีเนื้อที่ประมาณ ๑๑,๗๓๐ ตารางกิโลเมตร  
แบ่งการปกครองออกเป็น ๑๘ อำเภอ ๒ กิ่งอำเภอ  คือ อำเภอเมือง  หนองวัวซอ
หนองหาน  บ้านผือ  บ้านดุง  กุมภวาปี  โนนสะอาด  เพ็ญ  น้ำโสม  กุดจับ  ศรีธาตุ
วังสามหมอ  ทุ่งฝน  สร้างคอม  ไชยวาน  หนองแสง  นายูง  พิบูลย์รักษ์  กิ่งอำเภอกู่แก้ว
และกิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม
คำขวัญประจำจังหวัดอุดรธานี มีว่า
“น้ำตกจากสันภูพาน อุทยานแห่งธรรมะ อารยธรรมห้าพันปี ธานีผ้าหมี่-ขิต แดนเนรมิตร
หนองประจักษ์ เลิศลักษณ์กล้วยไม้หอมอุดรซันไฌน์”
อาณาเขต  
ทิศเหนือ  ติดต่อกับจังหวัดหนองคาย
ทิศใต้       ติดต่อกับจังหวัดขอนแก่น และกาฬสินธุ์
ทิศตะวันออก   ติดต่อกับจังหวัดสกลนคร
ทิศตะวันตก  ติดต่อกับจังหวัดเลย และหนองบัวลำภู
การเดินทาง
มีทั้งรถยนต์ รถโดยสารประจำทาง  รถไฟ และเครื่องบิน
ระยะทางห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ ๕๖๔ กิโลเมตร
พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม  เป็นพระราชโอรส
ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ ๔) และเจ้าจอมมารดา
สังวาลย์  ประสูติเมื่อพ.ศ.๒๓๙๙  ทรงดำรงตำแหน่ง
ข้าหลวงต่างพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(สมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ ๕)  และทรงเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งเมืองอุดรขึ้น
เมื่อ ร.ศ.๑๑๒(พ.ศ.๒๔๓๖)  
อนุสาวรีย์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม 
ตั้งอยู่กลางเมืองอุดรโดยจะมีพิธีบวงสรวงในวันที่ ๑๘ มกราคม	
 ของทุกปี
สวนกล้วยไม้หอมอุดรซันไฌน์  เป็นสวนกล้วยไม้ที่เพาะพันธุ์กล้วยไม้
กลิ่นหอมพันธุ์ใหม่ของไทยระหว่างแวนด้าและโจเซฟฟินแวนเบอร์โร
  ได้รับการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ที่สมาคมกล้วยไม้โลก ประเทศสหราชอาณาจักร
(อังกฤษ)  เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๑
ชื่อพันธุ์ Udon Sunshine Orchid หรือพันธุ์นางสาวอุดรซันไฌน์ 
และมีการนำกลิ่นกล้วยไม้ดังกล่าวมาสกัดทำน้ำหอมในชื่อเดียวกันวางจำหน่าย
ไปทั่วโลก
สำหรับวัดป่าที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีก็คือ วัดป่าบ้านตาด  ซึ่งเป็นที่พำนักของ
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน  ซึ่งเรารู้จักจากยุคเศรษฐกิจตกสะเก็ดที่ผ่านมา
ในนามผู้ก่อตั้ง ผ้าป่าช่วยชาติ  รณรงค์หาเงินบริจาคช่วยประเทศไทยให้ฟื้นฟู
จากภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
จากการกำหนดเริ่มประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรในวันอังคารที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๑
ที่จังหวัดอุดรธานี  
ก็เป็นที่คาดเดาและวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆนานา  ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
แต่ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลอันใดก็แล้วแต่
ความสุ่มเสี่ยงในการที่จะเกิดความวุ่นวายระหว่างกลุ่มคนรักอุดร และกลุ่มพันธมิตรฯ
ก็มีมากมายยิ่ง
ทั้งนี้ ด้วยสาเหตุที่เคยเกิดเรื่องปะทะกันในครั้งก่อนหน้านี้มาแล้ว  
และยังอยู่ระหว่างการสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องร้องลงโทษ 
เลือดยังไม่สิ้นกลิ่นคาว  ก็มีการหาเหตุที่จะให้เกิดความวุ่นวายอีก
ด้วยการกำหนดประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดอุดรธานี
ทำเสมือนคุณสมัคร กำลังจะยึดอุดรธานีเป็นที่มั่นสุดท้าย
ก่อนที่จะกล้วยไม้(คำผวน ของคำว่า ใกล้ม้วย)
อย่างนั้นหรือ.				
8 กันยายน 2551 10:15 น.

ประชามติ

nidhi

ประชามติ
หมายถึง มติของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศที่แสดงออกในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
หรือที่ใดที่หนึ่ง  ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า [Plebiscite] หรือ
มติของประชาชนที่รัฐให้สิทธิออกเสียงลงคะแนนรับรองร่างกฎหมายสำคัญที่ได้ผ่าน
สภานิติบัญญัติแล้ว หรือให้ตัดสินในปัญหาสำคัญในการบริหารประเทศ [Referendum]
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐   ได้กำหนดเกี่ยวกับเรื่อง
การทำประชามติไว้ในมาตรา  ๑๖๕  หมวด ๗ เรื่อง การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง
ของประชาชน ดังนี้
มาตรา ๑๖๕  ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งย่อมมีสิทธิออกเสียงประชามติ
การจัดให้มีการออกเสียงประชามติให้กระทำได้ในเหตุ  ดังต่อไปนี้
(๑)	ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ากิจการในเรื่องใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสีย
ของประเทศชาติหรือประชาชน  นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
อาจปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาเพื่อประกาศใน
ราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติได้
(๒)	ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติ
       การออกเสียงประชามติตาม(๑) หรือ (๒) อาจจัดให้เป็นการออกเสียงเพื่อมีข้อยุติ
โดยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติในปัญหาที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ
หรือเป็นการออกเสียงเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีก็ได้  เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้
เป็นการเฉพาะ
       การออกเสียงประชามติต้องเป็นการให้ออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในกิจการ
ตามที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ  และการจัดการออกเสียงประชามติในเรื่องที่ขัด
หรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลจะกระทำมิได้
       ก่อนการออกเสียงประชามติ รัฐต้องดำเนินการให้ข้อมูลอย่างเพียงพอและให้
บุคคลฝ่ายที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบกับกิจการนั้น  มีโอกาสแสดงความคิดเห็นของตน
ได้อย่างเท่าเทียมกัน
       หลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบ
รัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ  ซึ่งอย่างน้อยต้องกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับ
วิธีการออกเสียงประชามติ  ระยะเวลาในการดำเนินการ และจำนวนเสียงประชามติ  
เพื่อมีข้อยุติ
 
คำว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นไปตามมาตรา ๙๙ ซึ่งบัญญัติว่า
มาตรา ๙๙  บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้  เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
(๑)	มีสัญชาติไทย  แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ  
ต้องได้สัญชาติมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
(๒)	มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ในวันที่ ๑ มกราคมของปีที่มีการเลือกตั้ง 
และ
(๓)	มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน
นับถึงวันเลือกตั้ง
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งอยู่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งเป็นเวลาน้อยกว่าเก้าสิบวัน
นับถึงวันเลือกตั้งหรือมีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักร
ย่อมมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ 
และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
มาตรา ๑๐๐  บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้ง  เป็นบุคคลต้องห้าม
มิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
(๑)	เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
(๒)	อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
(๓)	ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
(๔)	วิกลจริต  หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ  เป็นกฎหมาย
ประกอบรัฐธรรมนูญ  ตามมาตรา ๑๓๘(๔)  ซึ่งกำหนดวิธีการตราพระราชบัญญัติ
ดังกล่าวไว้ในส่วนที่ ๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ 
มาตรา ๑๓๘-๑๔๑    ซึ่งกำหนดไว้ว่าต้องมีการตราพระราชบัญญัตินี้เพื่อให้มีผล
บังคับใช้ในเรื่องประชามติ โดยต้องผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและ
วุฒิสภาก่อนนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย
การเสนอให้ทำประชามติในวันนี้ของฝ่ายรัฐบาล  จึงมีข้อชวนให้คิดว่า  
เป็นเพียงการยื้อเวลาหรือซื้อเวลาเพื่อหาวิธีแก้ไขอื่นของรัฐบาล
ในระยะนี้เท่านั้น  เนื่องจากการทำประชามติต้องเป็นไปตาม
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 
ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการทั้งในด้านการตราพระราชบัญญัติ 
การดำเนินการให้ข้อมูลอย่างเพียงพอของรัฐบาล และการเปิดโอกาสให้
บุคคลฝ่ายที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบกับเรื่องที่จะทำประชามติดังกล่าว
ได้แสดงความคิดเห็นของแต่ละฝ่ายได้อย่างเท่าเทียมกัน ฯลฯ
การทำประชามติ  จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาในระยะเวลาอันสั้น
ซึ่งคงมิใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
จึงน่าจะถูกต้องแล้ว  ที่คนทั่วไปมองการกระทำครั้งนี้ว่า
เป็นเพียงการยื้อเวลาหรือซื้อเวลาออกไปอีกระยะหนึ่งเท่านั้น				
8 กันยายน 2551 10:07 น.

ความเป็นกลางอย่างแท้จริงตลอดไปมีได้หรือไม่

nidhi

ความเป็นกลางอย่างแท้จริงมีได้หรือไม่	
คำว่า กลาง ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  หมายถึง
ส่วนที่ไม่ค่อนไปข้างใดข้างหนึ่ง,  โดยปริยายหมายความว่า  ในที่หรือเวลาระหว่าง เช่น กลางฝน; ที่รวม, ที่รวมกิจการงานที่มีสาขาย่อยออกไป, เช่นสำนักงานกลาง ไปรษณีย์กลาง.
เป็นกลาง  หมายความว่าไม่เข้าข้างโน้นข้างนี้
ความเป็นกลาง  จึงหมายถึงการไม่เข้าด้วยกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
การไม่เข้าด้วยกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนี้  ขึ้นอยู่กับสถานที่และเวลาเป็นสำคัญ  เพราะการดำรงตนเองเป็นกลาง  ไม่เข้าด้วยกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้น  เป็นเรื่องที่กระทำได้ยากแสนยาก  และทำได้เพียงชั่วระยะเวลาอันจำกัด  ไม่สามารถเป็นกลางได้ตลอดไป
เช่นเดียวกับการเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  ก็ไม่สามารถเป็นเช่นนั้นได้ตลอดไป ยกตัวอย่างเช่น การยืนตัวตรงอยู่ตลอดเวลานั้น  ย่อมกระทำไม่ได้  ต้องเอียงไปทางขวาบ้าง ทางซ้ายบ้าง
สถาบันต่างๆเช่นสื่อสารมวลชน ที่ประกาศว่าต้องวางตนเป็นกลาง  ก็ไม่สามารถวางตัวเป็นกลางได้ตลอดไป  ย่อมต้องเอนเอียงเข้าด้วยกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในบางครั้งบางเวลา
ตุลาการต่างๆก็เช่นเดียวกัน  เวลาขึ้นบัลลังก์ทำหน้าที่พิพากษาตัดสินคดีความก็ต้องวางตนเป็นกลาง  แต่เวลาที่มิได้ปฏิบัติหน้าที่เช่นนั้นแล้ว  ก็ไม่อาจดำรงตนอยู่ตรงกลางได้ตลอด  ย่อมต้องมีการเลือกช้างเลือกฝ่าย
สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติธรรมดา  ไม่มีใครเดือดร้อนด้วย
แต่จะเป็นเรื่องผิดปกติ  และไม่ใช่เรื่องธรรมดาขึ้นมาทันที  ถ้าหากผู้สื่อข่าวก็ดี ผู้พิพากษาก็ดี  วางตนไม่เป็นกลางระหว่างการปฏิบัติหน้าที่  ซึ่งอาจมาจากอคติบางประการ
กรณีเช่นนี้  วิธีแก้ไขก็คือให้เปลี่ยนตัวผู้พิพากษาดังกล่าวและคัดเลือกผู้พิพากษาอื่นเข้าปฏิบัติหน้าที่แทนเฉพาะคดีนั้น
หรือหากเป็นผู้สื่อข่าว  เมื่อมีข่าวเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์หรืออคติในเรื่องใดหรือบุคคลใด  ก็ต้องเปลี่ยนตัวผู้สื่อข่าวนั้นออกจากการปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องนั้น
กรณีการเสนอข่าวและทำข่าวต่างๆของสถานีโทรทัศน์ NBT ซึ่งถูกบุกยึดสถานที่
เมื่อมีข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง  ก็ไม่สมควรกระทำหน้าที่ในฐานะผู้สื่อข่าว  เพราะย่อมมีอคติอันเกิดจากการกระทำที่กระทบขัดแย้งประโยชน์ส่วนตัว  และอาจทำให้การทำหน้าที่ดังกล่าวเป็นไปโดยปราศจากความเป็นกลางและไม่เป็นธรรมต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง
แต่เรื่องดังกล่าวนี้เป็นเพียงแนวความคิดที่อาจไม่ได้รับการแยแสสนใจเลยก็เป็นได้
ความเป็นกลางนั้นมีได้และมีอยู่ตลอดเวลา  
แต่การจะดำรงตนเป็นกลางไม่เข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้น
เป็นเรื่องยากที่จะปฏิบัติ
หรือหากปฏิบัติได้ก็เพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น
มิได้มีอยู่หรือเป็นอยู่ตลอดเวลาตลอดไป				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟnidhi
Lovings  nidhi เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟnidhi
Lovings  nidhi เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟnidhi
Lovings  nidhi เลิฟ 0 คน
  nidhi
ไม่มีข้อความส่งถึงnidhi