19 กันยายน 2550 14:45 น.
nidhi
บทที่ ๑๒ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า และอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว
หลังจากเข้าพักที่บ้านพักในอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าแล้ว เราก็เดินทางไปเที่ยวชมปผหล่งท่องเที่ยวต่างๆในอุทยานฯ ซึ่งมีทั้งด้านประวัติศาสตร์และธรรมชาติ เนื่องจากภูหินร่องกล้าเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์เป็นยุทธภูมิสำคัญในอดีตครั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยขยายอำนาจ และยังมีลักษณะภูมิอากาศคล้ายกับภูเขาสูงของจังหวัดเลยเช่นภูกระดึงและภูเรือ อากาศหนาวเย็นเกือบตลอดปี โดยเฉพาะในฤดูหนาว อุณหภูมิจะต่ำประมาณ ๔ องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีประมาณ ๑๘-๒๕องศาเซลเซียส
แหล่งท่องเที่ยวด้านประวัติศาสตร์ประกอบด้วย พิพิธภัณฑ์การสู้รบ,โรงเรียนการเมืองการทหาร,กังหันน้ำ,สำนักอำนาจรัฐ,โรงพยาบาลรัฐ,ลานอเนกประสงค์,สุสาน ทปท.,ที่หลบภัยทางอากาศ และหมู่บ้านมวลชน
แหล่งท่องเที่ยวด้านธรรมชาติ ได้แก่ ลานหินแตก,ลานหินปุ่ม,ผาชูธง,น้ำตกร่มเกล้า-น้ำตกภราดร,น้ำตกศรีพัชรินทร์,น้ำตกหมันแดง,น้ำตกผาลาด,น้ำตกตาดฟ้า,และธารพายุ
กล่าวโดยสรุป ภูหินร่องกล้าเป็นเขตอุทยานแห่งชาติซึ่งรวมความสำคัญของแหล่งประวัติศาสตร์สมัยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกำลังขยายอำนาจทำสงครามแย่งชิงประชาชน ในขณะเดียวกับสถานที่ส่วนหนึ่งก็เป็นแหล่งสะสมกำลังและฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยด้วย เมื่อทางราชการสามารถควบคุมสถานการณ์แยกสลายทำลายฐานที่มั่นดังกล่าวได้แล้ว สำรวจดูสภาพภูมิประเทศเป็นแหล่งเหมาะสมสำหรับการอนุรักษ์ผืนดินและธรรมชาติ จึงประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ ๒๖กรกฎาคม๒๕๒๗ เป็นต้นมา
เมื่อเราลงจากภูหินร่องกล้าเข้าบ้านพักก็เป็นเวลาแดดร่มลมตกแล้ว ปลัดบัญชากับคณะได้เข้าพบพูดคุยปรึกษากับหัวหน้าอุทยานฯเกี่ยวกับเรื่องทั่วๆไปเพื่อนำเอาความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปปรับปรุงในส่วนราชการจังหวัดขอนแก่นในโอกาสต่อไป
รุ่งขึ้นเช้าเราจึงออกเดินทางจากอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าไปยังอุทยานแห่งชาตินน้ำหนาว ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบูรณ์ อุทยานฯน้ำหนาวได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ ๔พฤษภาคม ๒๕๑๕ โดยมีพื้นที่ครอบคลุมป่ารอยต่อสองจังหวัด คือ อำเภอเมืองและอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอคอนสาน จังหวัดชัยภูมิ มีเนื้อที่รวม ๖๐๓,๗๕๐ ไร่ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน อากาศจะหนาวเย็นที่สุดในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม อุณหภูมิประมาณ ๒-๕องศาเซลเซียส เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของแม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำป่าสัก,แม่น้ำพอง และแม่น้ำเลย มีสัตว์ป่าชุกชุมรวมทั้งนกชนิดต่างๆ ตามเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติบนเขาสูงผ่านจุดชมวิวริมหน้าผาสวยงาม อาทิ ผากลางโหล่น ผาล้อม ผากอง และน้ำตกอีกหลายแห่ง
สถานที่น่าสนใจในเขตอุทยานฯน้ำหนาว ได้แก่ น้ำตกตาดพรานบา,ถ้ำผาหงษ์,จุดชมวิวภูค้อ,สวนสนภูกุ่มข้าว,น้ำตกซำผักคาว,ถ้ำใหญ่น้ำหนาว(ภูน้ำริน),น้ำตกเหวทราย,น้ำผุด,ป่าเปลี่ยนสีและภูผาจิต(ภูด่านอีป้อง)
เราแวะเข้าที่พักฯแล้วเดินชมป่าจนถึงเวลาเย็น จึงกลับที่พัก รับประทานอาหารเย็นพร้อมหัวหน้าอุทยานฯ ปรึกษาเรื่องทั่วๆไปเพื่อนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในงานราชการที่รออยู่
รุ่งเช้าคณะของเราที่ประกอบด้วยปลัดบัญชา คุณหมอหล่มสักและอัยการวิรัช จึงเดินทางกลับจังหวัดเพชรบูรณ์ พบผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์และคณะเพื่อปรึกษาหารือข้อราชการต่างตามที่ได้รับมอบหมายแล้วจึงเดินทางกลับจังหวัดขอนแก่น
17 กันยายน 2550 12:31 น.
nidhi
การเดินทางของคุณธนบัตร บทที่ ๑๐
คุณธนบัตรเดินทางจากกรุงเทพมหานครมาถึงจังหวัดขอนแก่นซึ่งเป็นศูนย์กลางของภาคอีสานแล้วโดยสวัสดิภาพ จนกระทั่งมาอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่นในบัดนี้แล้ว เช้านี้เป็นเช้าวันเสาร์ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ แต่บนศาลากลางจังหวัดขอนแก่นก็ไม่ได้เงียบเหงาแต่ประการใด เพราะข้าราชการและเจ้าหน้าที่ต่างๆยังคงขะมักเขม้นทำการงานตามหน้าที่ของตนตามปกติ ยกเว้นเสียแต่ว่าไม่ได้แต่งกายชุดเครื่องแบบข้าราชการเหมือนวันทำงานปกติเท่านั้น เพราะช่วงเวลานี้ของทุกปีจะเป็นช่วงปลายปีงบประมาณซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ ๓๐ กันยายนของแต่ละปี ฉะนั้นหน่วยงานต่างๆจึงเร่งรีบปิดงบประมาณเพื่อเตรียมการสำหรับงบประมาณในปีต่อๆไปซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาก่อน
ฉันได้ไปอยู่ในส่วนของสำนักงานจังหวัด โดยอยู่ในความดูแลของปลัดจังหวัดซึ่งทำหน้าที่ไม่ต่างจากอักษรเลข(เลขานุการ)ของผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัดเป็นชายวัยกลางคนอายุประมาณ ๓๕ ปี ชื่อปลัดบัญชา ยังเป็นคนโสด ฉะนั้นการประสานราชการกับหน่วยราชการจังหวัดอื่น ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงมักจะมอบหมายให้ปลัดบัญชาเป็นผู้ไปติดต่อประสานงาน ซึ่งก็ได้รับคำชมเชยมาตลอด
ในตอนสายของวันเสาร์ดังกล่าว ผู้ว่าราชการจังหวัดได้มอบหมายให้ปลัดบัญชาไปประสานราชการที่จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยได้ลงนามคำสั่งอนุญาตให้ปลัดบัญชาไปราชการที่จังหวัดเพชรบูรณ์มีกำหนด ๕ วัน นับตั้งแต่วันเสาร์ เวลา ๐๙.๐๐ น.เป็นต้นไป
ปลัดบัญชาเดินทางไปที่ศาลากลางจังหวัดเพื่อพบผู้ว่าฯก่อนออกเดินทาง หลังจากนั้นปลัดบัญชาจึงออกเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวไปตามเส้นทางไปอำเภอชุมแพ โดยแวะรับประทานอาหารกลางวันที่อุทยานแห่งชาติน้ำพอง ที่อำเภอหนองเรือ แล้วเดินทางต่อไปที่อำเภอชุมแพ ผ่านอำเภอภูผาม่าน และเดินทางถึงจังหวัดเพชรบูรณ์เวลาประมาณ ๑๗.๐๐น. (ระยะทางห่างจากจังหวัดขอนแก่นประมาณ ๒๔๐ กิโลเมตร) เข้าพักที่เพชรโฮเต็ล ถนนพระพุทธบาท ตำบลในเมือง ซึ่งมีห้องพักประมาณ ๑๙ ห้อง ราคาค่าที่พักคืนละ ๑๒๓-๑๙๔ บาท เมื่อเข้าพักแล้ว ปลัดบัญชาก็อาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า แล้วนัดพบคุณหมอหล่มสัก เพื่อนนักเรียนรุ่นเดียวกันซึ่งขณะนี้เป็นแพทย์ทางอายุรกรรมประจำอยู่ที่โรงพยาบาลเพชรรัคน์ โดยคุณหมอหล่มสักนัดเลี้ยงอาหารและพูดคุยกันที่ทัมมารินทร์ คอฟฟี่ช็อฟ ในโรงแรมบูรพาซึ่งอยู่ใกล้โรงพยาบาล
เมื่อถึงเวลา ๑๙.๐๐น. ปลัดบัญชาไปถึงห้องอาหารทัมมารินทร์ ก็พบคุณหมอหล่มสัก กับเพื่อนอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นอัยการจังหวัดเพชรบูรณ์รออยู่ก่อนแล้ว จึงได้พูดคุยและรับประทานอาหารด้วยกันจนถึงเวลาประมาณ ๒๑.๐๐น. จึงได้แยกย้ายกันกลับที่พัก รุ่งขึ้นวันอาทิตย์ก็นัดพบกันเวลา ๐๖.๐๐ น.ที่โรงแรมเพชรโฮเต็ล โดยคุณหมอหล่มสักกับอัยการวิรัช จะมารับไปตระเวณชมเมืองเพชรบูรณ์ ตลอดทั้งวัน เพื่อวันจันทร์ ปลัดบัญชาจะได้ไปติดต่อราชการที่ศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ต่อไป
ระหว่างที่พักอยู่ที่เพชรโฮเต็ล ปลัดบัญชาก็ได้รับหนังสือแนะนำท่องเที่ยวเพชรบูรณ์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จึงได้สรุปความรู้เกี่ยวกับจังหวัดเพชรบูรณ์ว่า
จังหวัดเพชรบูรณ์ตั้งอยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย เป็นจังหวัดที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นสวิสเซอร์แลนด์เมืองไทย แวดล้อมด้วยป่าเขาเขียวขจี ดินแดนมะขามหวานและลูกเสาวรสลือฃื่อ รวมทั้งเป็นต้นกำเนิดไก่ย่างวิเชียรบุรีที่ขายกันเกร่อในกรุงเทพฯด้วย
คำขวัญประจำจังหวัด คือ “เมืองมะขามหวาน อุทยานน้ำหนาว ศรีเทพเมืองเก่า เขาค้ออนุสรณ์ นครพ่อขุนผาเมือง”
แม่น้ำสำคัญที่ไหลผ่านคือแม่น้ำป่าสัก ชื่อเดิมของเพชรบูรณ์ คือ พีชปุระ หรือเพชรบุร ซึ่งแปลว่าเมืองแห่งพืชพันธุ์ธัญญาหารอันอุดมสมบูรณ์
อาณาเขต ทิศเหนือติดต่อกับจังหวัดเลย ทิศใต้ติดต่อกับจังหวัดลพบุรี ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดชัยภูมิและขอนแก่น ทิศตะวันตกติดต่อกับจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์
การเดินทางของคุณธนบัตร บทที่ ๑๑
คุณธนบัตรเดินทางถึงจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเปรียบเหมือนสวิสเซอร์แลนด์เมืองไทยพร้อมปลัดบัญชา โดยเข้าพักที่โรงแรมเพชรโฮเต็ล
รุ่งขึ้นปลัดบัญชาตื่นแต่เช้าเวลาประมาณ ๐๕.๐๐น. แวะรับประทานอาหารเช้าที่ตลาดเสร็จแล้วเดินกลับโรงแรมที่พัก เวลาประมาณ ๐๖.๐๐ นฬ คุณหมอหล่มสักกับอัยการวิรัชก็เอารถมารับไปเที่ยวชมเมือง โดยแวะศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์ซึ่งอยู่ที่ถนนหลักเมือง ใจกลางเมืองเพชรบูรณ์ เสาหลักเมืองที่นี่เป็นเสาหินที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนำมาจากเมืองศรีเทพ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๗ เมืองศรีเทพเป็นเมืองโบราณแบบทวารวดีและขอม คาดว่ามีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ ลงมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ จึงจัดเป็นเสาหลักเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย เยื้องตรงข้ามเสาหลักเมืองจะมองเห็นมะขามยักษ์สีทองผลไม้สัญลักษณ์ของจังหวัดเพชรบูรณ์ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองมะขามหวาน ตั้งอยู่ดูสวยงาม ระหว่างเส้นทางดังกล่าวก็แวะนมัสการพระพุทธรูปหลวงพ่อเพชรที่วัดมหาธาตุ วัดพระแก้วในเมืองเดิม และวัดไตรภูมิที่ถนนเพชรรัตน์ ซึ่งในส่วนของวัดไตรภูมิยังเป็นที่มาของประเพณีอุ้มพระพุทธรูปดำน้ำเพื่อความเป็นศิริมงคลของเมืองเพชรบูรณ์ด้วย จากนั้นเราก็เดินทางไปอุทยานแห่งชาติตาดหมอกซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบูรณ์ไปทางตะวันออกเพียง ๓๗กิโลเมตร มีอาณาเขตทั้งสิ้นประมาณ ๒๙๐ตารางกิโลเมตร ผืนป่าอุดมสมบูรณ์ประกอบด้วยเทิอกเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของลำน้ำป่าสักและลำน้ำชีและเป็นพิ้นที่ป่ากันชนให้กับผืนป่าสามแห่งคือ อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว และเขครักษาพันธุ์สัตว์ป่าตะเบาะ-ห้วยใหญ่ อุทยานแห่งชาติตาดหมอกเป็นอุทยานฯลำดับที่ ๘๗ของประเทศไทย โดยได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติตั้งแต่ปีพุทธศักราช๒๕๔๑ ภายในอุทยานมีทัศนียภาพที่สวยงามมาก มีน้ำตกขนาดใหญ่ถึงสองแห่งคือ น้ำตกตาดหมอกและน้ำตกสองนางและยังมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติไปน้ำตกตาดหมอกและน้ำตกสองนางเป็นระยะทาง ๒ กิโลเมตร ให้นักท่องเที่ยวได้เดินชมธรรมชาติและศึกษาพันธุ์ไม้ต่างๆได้ด้วย
ณ อุทยานแห่งชาติตาดหมอกคุณหมอหล่มสักได้ไปจองสถานที่พักไว้ก่อนแล้ว ฉะนั้นการเดินทางในวันนี้จึงได้รับความสะดวกสบายอย่างมาก เพราะเมื่อเดินทางถึงอุทยานแห่งชาติตาดหมอก เราก็เดินทางเข้าที่พักเพื่อเก็บสัมภาระแล้วจึงไปเดินเส้นทางชมธรรมชาติเพื่อไปชมน้ำตกตาดหมอกและน้ำตกสองนางต่อไป
ระหว่างเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ เราได้พบพรรณไม้ต่างๆทั้งไม้ใหญ่ ไม้จำพวกมอส เฟิร์น ไลเคน และยังพบรอยเท้าสัตว์ชนิดต่างๆเข่น เก้ง หมาป่า และยังมีนก ผีเสื้อและนกเงือกให้ได้พบเห็นตลอดเส้นทางด้วย ในส่วนของน้ำตกตาดหมอก อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯตามเส้นทางเดินเท้า ๑.๘กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ชั้นเดียวไหลลงมาจากหน้าผาสูงประมาณ ๗๕๐ เมตร สำหรับน้ำตกสองนางมีความสูงทั้งหมด ๑๒ ชั้น แต่ละชั้นมีความสูงระหว่าง ๕-๑๐๐ เมตร เราเดินชมเส้นทางและน้ำตกในแบบ ผอ. หรือผู้สูงอายุเสร็จเรียบร้อยก็เป็นเวลาบ่ายแก่ๆ จึงกลับเข้าที่พักเพื่อทำกิจส่วนตัว เสร็จแล้วเตรียมรับประทานอาหารค่ำ แล้วจึงเสวนากันต่อด้วยเรื่องสัพเพเหระและเข้านอนเพื่อเตรียมตัวเดินทางไปอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงในวันรุ่งขึ้นต่อไป
เช้าวันรุ่งขึ้น เมื่อรับประทานอาหารเช้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราเดินทางไปอำเภอหล่มสัก แวะสักการะอนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง ตั้งอยู่ยริเวณสี่แยกหล่มสัก เป็นพระรูปโลหะในอิริยาบถยืน พระหัตถ์ขวาทรงดาบปักลงดิน พระหัต์ซ้ายชี้ลงพื้น พ่อขุนผาเมืองนี้เองที่เป็นพระสหายขุนบางกลางหาวหรือพ่อขุนศรีอินทราทิตย์กษัตริย์ครองกรุงสุโขทัยผู้ทรงร่วมสถาปนาราชอาณาจักรสุโขทัย
ในอำเภอหล่มสักมีสถานที่ซึ่งน่าไปเที่ยวชม เช่น ถ้ำฤาษีสมบัติ,หลักเมืองหล่มเก่า,อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง(หนองแม่นา)วนอุทยานน้ำตกธารทิพย์, อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า และอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว แต่เนื่องจากความกว้างใหญ่ไพศาลของอุทยานแต่ละแห่งประจวบกับเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด เราจึงละเว้นไม่แวะไปที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง โดยจะไปพักที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า และอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวในวันนี้และวันถัดไป
ที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง(หนองแม่นา) มีชื่อเสียงมากด้านกิจกรรมดูนก เพราะมีทุ่งหญ้าที่เป็นพื้นที่โล่งกว้างใหญ่ มีสนและไม้ดอกขึ้นสลับอยู่สวยงาม สถานที่น่าสนใจในอุทยานฯได้แก่ สะพานแขวน,แก่งวังน้ำเย็น,ทุ่งแสลงหลวง,ทุ่งนางพญา,ทุ่งโนนสน,และเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติทุ่งนา ผกค.
วนอุทยานน้ำตกธารทิพย์ มีพื้นที่อยู่ในท้องที่ตำบลบุ่งน้ำเต้า และตำบลบุ่งคล้า ครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเขาโปลกหล่นและป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาป่าก่อวังชมภู เป็นต้นน้ำลำธารของแม่น้ำป่าสัก สถานที่น่าสนใจประกอบด้วย ศูนย์นิทรรศการ,แก่งน้ำวิ่ง,แก่งมะเดื่อ,ตาดชมพู่,แก่งผาเอียง,น้ำตกธารทิพย์ และวังน้ำริน
จุดที่เราจะไปพักวันนี้คืออุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ซึ่งตั้งอยู่บนรอยต่อของสามจังหวัด คืออำเภอหล่มศักดิ์ จังหวัดเพชรบูรณ์, อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก มีเนื้อที่ประมาณ ๑๙๑,๘๗๕ ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมี่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม๒๕๒๗ เป็นพื้นที่ที่มีธรรมชาติแปลกตาและสวยงาม ทั้งยังเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ เป็นยุทธภูมิสำคัญในอดีตที่เกิดจากความขัดแย้งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.)
ในบทหน้าเราจะกล่าวถึงรายละเอียดการไปเที่ยวชมอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าและอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวโดยละเอียดต่อไป