22 กันยายน 2550 21:34 น.
nidhi
บทที่ ๑๗ ไปหนองบัวลำภูและจังหวัดเลย
เช้าวันนี้เวลา ๐๗.๐๐ นฬ ปลัดบัญชาเดินทางออกจากเจริญโฮเต็ลมุ่งหน้ามาที่จังหวัดหนองบัวลำภูตามทางหลวงหมายเลข ๒๑๐ หนองบัวลำภูเป็นเมืองโบราณที่มีประวัติยาวนานไม่น้อยกว่า ๙๐๐ ปี เดิมเป็นดินแดนที่ขึ้นต่อกรุงศรีสัตตนาคนหุต(เวียงจันทน์) มีชื่อว่า “เมืองหนองบัวลุ่มภู นครเขื่อนขันธ์ กาบแก้วบัวบาน” หนองบัวลำภูเป็นจังหวัดลำดับที่ ๗๖ ได้รับแต่งตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๖ โดยแยกมาจากจังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่ ๓,๘๕๙.๐๘๖ ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น ๖ อำเภอ คือ อำเภอเมืองหนองบัวลำภู โนนสัง ศรีบุญเรือง นากลาง สุวรรณคูหา และนาวัง อาณาเขตทิศเหนือและทิศตะวันออกอยู่ติดกับจังหวัดอุดรธานี ทิศตะวันตกติดกับจังหวัดเลย ทิศใต้ติดกับจังหวัดขอนแก่น คำขวัญประจำจังหวัด คือ “ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อุทยานแห่งชาติภูเก้าภูพานคำ แผ่นดินธรรมหลวงปู่ขาว เด่นสกาวถ้ำเอราวัณ นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน”
สถานที่น่าสนใจ อำเภอเมือง ได้แก่ วัดถ้ำกลองเพล พระอนุสาวรีย์และศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วนอุทยานน้ำตกเฒ่าโต้ ศาลหลักเมืองพระวอ พระตา ศูนย์หัตถกรรมปั้นหม้อบ้านโค้งสวรรค์ ศูนย์พัฒนาอาชีพวัดสว่างศิลา หนองบัว และสุสานหอย ๑๕๐ ล้านปี อำเภอโนนสัง ได้แก่อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ และแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์บ้านกุดคอเมยและบ้านกุดกวางสร้อย อำเภอนากลาง ได้แก่ ถ้ำเอราวัณ บนหลักกิโลเมตรที่ ๑๓ ห่างจากตัวเมืองหนองบัวลำภูประมาณ ๔๕ กิโลเมตร มีทางแยกขวามือเข้าไปอีก ๒ กิโลเมตร อำเภอสุวรรณคูหา ได้แก่ถ้ำสุวรรณคูหา และแหล่งโบราณคดีภูผายา
เทศกาลและงานประเพณีที่สำคัญได้แก่
-งานนเรศวรมหาราช กาชาดหนองบัวลำภู จัดขึ้นในวันที่ ๒๕ มกราคม-๓ กุมภาพันธ์ บริเวณสนามนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง
-งานประเพณีบุญข้าวจี่ จัดในวันขึ้น ๑๓-๑๕ ค่ำ เดือน ๓ บริเวณวัดถ้ำสุวรรณคูหา
-ประเพณีขึ้นเขาไหว้พระถ้ำเอราวัณ จัดในวันที่ ๑๒-๑๕ เมษายน บริเวณหาดโนนยาว อำเภอโนนสัง
-งานบวงสรวงศาลเจ้าปู่หลุบและพระวอพระตา จัดในวันพุธและพฤหัสบดีแรกของเดือน ๖ (ประมาณเดือนพฤษภาคม)
-งานประเพณีบุญบั้งไฟอำเภอศรีบุญเรือง จัดในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖
-งานมหกรรมกล้วยหอมแฟร์ จัดในวันที่ ๒๕-๒๗ กรกฎาคม ที่อำเภอนาวัง
-งานเทศกาลเที่ยวหอยหิน กินลำไย จัดในวันที่ ๘-๑๕ สิงหาคคม บริเวณร้านค้าชุมชนบ้านห้วยเดื่อ อำเภอเมือง
-งานเทศกาลน้ำตกเฒ่าโต้ จัดในวันที่ ๑๔-๑๕ กันยายน บริเวณอุทยานน้ำตกเฒ่าโต้
ปลัดบัญชาแวะชมพิพิธภัณฑ์อัฐบริขารของหลวงปู่ขาว อนาลโย ที่วัดถ้ำกลองเพล และสักการะพระอนุสาวรีย์และศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสร็จเรียบร้อย ก็ออกเดินทางไปจังหวัดเลยในบ่ายวันนั้น
เมืองเลยเดิมเป็นหมู่บ้านเล็กๆ เพิ่งตั้งเป็นเมืองในรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพงศาวดารเล่าว่า พระชัยเชษฐาแห่งกรุงศรีสัตตนาคนหุต กับพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ได้ให้สัตยาบันกันตรงที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอด่านซ้ายในปัจจุบันเกี่ยวกับการปักปันเขตแดนระหว่างกันในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และได้ร่วมกันสร้างพระเจดีย์ใหญ่ขึ้นองค์หนึ่ง คือ พระธาตุศรีสองรัก เพื่อเป็นสักขีพยานในการนั้นในบริเวณที่ลำน้ำอู้ไหลมาบรรจบกับลำน้ำหมัน ฉะนั้นในเวลาต่อมาเมื่อสร้างเมืองเลยและยกฐานะเป็นจังหวัดแล้ว จึงปรากฏตราประจำจังหวัดเลยเป็นรูปพระธาตุศรีสองรัก
จังหวัดเลยเป็นเมืองท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่โอบล้อมด้วยภูเขาสลับซับซ้อนท่ามกลางสายหมอกปกคลุมเหนือยอดภู อุดมไปด้วยพืชพรรณป่าไม้นานาชนิดที่รู้จักกันดีคือ ภูกระดึง ภูหลวงและภูเรือ เลยจึงเป็นเมืองแห่งขุนเขา ที่มีอากาศเย็นสบายมีทัศนียภาพที่งดงามและมีประเพณีวัฒนธรรมที่แตกต่างจากถิ่นอื่น เช่น การละเล่นผีตาโขน
เลยอยู่ห่างจากกรุงเทพฯประมาณ ๕๒๐ กิโลเมตร ไม่ใช่มาถึงเสียที เพราะจะเลยไปอยู่เรื่อย มีอาณาเขตทิศเหนือติดกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทิศใต้ติดกับจังหวัดขอนแก่น ทิศตะวันออกติดกับจังหวัดหนองคายและหนองบัวลำภู ทิศตะวันตกติดกับจังหวัดพิษณุโลก
จังหวัดเลยแบ่งการปกครองเป็น ๑๒ อำเภอ ๒ กิ่งอำเภอ คืออำเภอเมืองเลย วังสะพุง ปากชม เชียงคาน ท่าลี่ ภูเรือ ด่านซ้าย ภูกระดึง นาแห้ว นาด้วง ภูหลวง ผาขาว กิ่งอำเภอเอราวัณ และหนองหิน
คำขวัญประจำจังหวัดเลยมีว่า “เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม ดอกไม้งามสามฤดู”
สถานที่น่าสนใจในอำเภอเมือง ได้แก่ ศาลเจ้าพ่อกุดป่องและศาลหลักเมือง สวนสาธารณะกุดป่อง สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติฯป่าเลิงใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเลย วัดถ้ำผาปู่ วนอุทยานภูผาล้อม และอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำหมานตอนบนและห้วยกระทิง
อำเภอเชียงคาน ได้แก่ วัดศรีคุณเมือง วัดท่าแขกแก่งคุดคู้ พระพุทธบาทภูควายเงิน พระใหญ่ภูคกงิ้ว(พระพุทธนวมินทรมงคลลีลาทวินคราภิรักษ์) และหมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ
อำเภอนาด้วง ได้แก่ถ้ำผายาและอ่างเก็บน้ำห้วยลิ้นควาย
อำเภอวังสะพุง ได้แก่ศูนย์ศิลป์สิรินธร พระเจดีย์วัดป่าสัมมานุสรณ์ และเสมาหินทรายที่บ้านปากแบ่งและบ้านนาหลัก
อำเภอภูหลวง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง
กิ่งอำเภอเอราวัณ ได้แก่โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ผานาง-ผาเกิ้ง
กิ่งอำเภอหนองหิน ได้แก่ ถ้ำโพธิสัตว์หรือกุ้ยหลินเมืองเลย สวนหินผางามหรือคุนหมิงเมืองไทย น้ำตกสวนห้อมหรือน้ำตกสันติธารา และน้ำตกเพียงดินหรือน้ำตกวิสุทธารา
อำเภอภูกระดึง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง
อำเภอภูเรือ ได้แก่อุทยานแห่งชาติภูเรือและน้ำตกปลาบ่าหรือน้ำตกตาดสาน
อำเภอด่านซ้าย ได้แก่ พระธาตุศรีสองรักวัดเนรมิตรวิปัสสนา และน้ำตกแก่งสองคอน
อำเภอนาแห้ว ได้แก่วัดโพธิ์ชัย และอุทยานแห่งชาตินาแห้ว
อำเภอท่าลี่ ได้แก่พระธาตุสัจจะ
เทศกาลและงานประเพณีของจังหวัดเลย ได้แก่
-งานดอกฝ้ายบาน มะขามหวานเมืองเลย จัดที่บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดเลยในช่วงเทศกาลตรุษจีน ประมาณวันที่ ๑-๙กุมภาพันธ์ของทุกปี
-งานประเพณีสงกรานต์ไทย-ลาว ระหว่างวันที่ ๑๒-๑๕เมษายน
-งานประเพณีบุญบั้งไฟล้าน ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ประมาณเดือนพฤษภาคม
-งานนม้สการพระธาตุศรีสองรัก ในวันเพ็ญเดือน ๖
-งานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน ในวันเสาร์-อาทิตย์ หลังวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖
-งานประเพณีออกพรรษาอำเภอเชียงคาน ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑
-งานแสดงไม้ดอกเมืองหนาว อำเภอภูเรือ ประมาณวันที่ ๒๘ธันวาคม-๑มกราคม
นอกจากนี้จังหวัดเลยยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เช่น ฟาร์มไก่งวงเมืองเลยสถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ สวนองุ่นภูเรือวโนทยาน หรือชาโต้ เดอ เลย ตลาดไม้ดอกเมืองหนาวบ้านหนองบง คำนวนเนิร์สเซอร์รี่ ไร่สัณยา สวนส้มสยามภูเรือ และบริษัท ที เอส เอ จำกัด ที่บ้านกกโพธิ์ ซึ่งผลิตไม้ดอกไม้ประดับ พืชผักต่างๆเพื่อเพาะเมล็ดสำหรับจำหน่าย
ปลัดบัญชาเดินทางจากจังหวัดหนองบัวลำภูและแวะชมสถานที่ต่างๆตามรายทางมาตลอดแล้วเข้าพักแรมคืนที่ ภูตำ ในสถาบันราชภัฏเลย โดยกำหนดการเดินทางท่องเที่ยเมืองเลยจำนวน ๒ วัน ๑ คืน ในวันพรุ่งนี้และวันมะรืนนี้ โดยใช้เส้นทางกิ่งอำเภอหนองหิน-อำเภอด่านซ้าย-ภูเรือ คือ
วันแรก ออกเดินทางไปกิ่งอำเภอหนองหิน ชมสวนหินผางามหรือคุนหมิงเมืองไทย ออกเดินทางไปอ่างเก็บน้ำห้วยกระทิง ล่องแพรับประทานอาหารกลางวัน เดินทางไปอำเภอด่านซ้าย ชมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านผีตาโขน ที่วัดโพนชัย ไปนมัสการพระพุทธชินราชจำลองที่วัดเนรมิตรวิปัสสนา เสร็จแล้วไปนมัสการพระธาตุศรีสองรัก แล้วจึงเดินทางเข้าที่พักที่อุทยานแห่งชาติภูเรือ
วันที่สอง ไปสัมผัสทะเลหมอกและธรรมชาติยามเช้าบนภูเรือ รับประทานอาหารเช้าแล้วไปเดินป่าศึกษาธรรมชาติของป่าเขา ลานหินและน้ำตก รับประทานอาหารกลางวันแล้วเดินทางไปศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตเลย๒ จังหวัดเลย(สถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเริอ) ไปชมแปลงทดลองการปลูกไม้ดอกไม้ประดับและพืชผักผลไม้เมืองหนาว เช่นกุหลาบ ลิลลี่ ออกเดินทางไปไร่องุ่นและโรงงานไวน์ชาโต เดอ เลย ชมไร่องุ่นและกรรมวิธีผลิตไวน์ชาโต เดอ เลย บรั่นดี น้ำองุ่นสด
เสร็จแล้วเดินทางกลับที่พักในสถาบันราชภัฎเลย เพื่อพักผ่อนเตรียมเดินทางกลับจังหวัดขอนแก่น
22 กันยายน 2550 07:22 น.
nidhi
บทที่ ๑๖ แดนกำเนิดอุดรซันไฌน์
เมื่อปลัดบัญชากลับถึงจังหวัดขอนแก่นและทำรายงานการเดินทางเสร็จแล้ว ปลัดบัญชาก็เดินทางไปราชการที่จังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภูและจังหวัดเลยในวันต่อมา โดยขับรถขึ้นทางเหนือไปที่จังหวัดอุดรธานีระยะทางประมาณ ๑๑๕ กิโลเมตร
คำขวัญประจำจังหวัดอุดรธานี มีว่า” น้ำตกจากสันภูพาน อุทยานแห่งธรรมะ อารยธรรมห้าพันปี ธานีผ้าหมี่-ขิต แดนเนรมิตรหนองประจักษ์ เลิศลักษณ์กล้วยไม้หอมอุดรซันไฌน์”
ตราประจำจังหวัดอุดรธานีเป็นรูปท้าวเวสสุวัณซึ่งเป็นพญายักษ์ยืนถือกระบองเฝ้าปกปักรักษาเมือง ตามความเชื่อแต่โบราณว่าทิศต่างๆมีเทพเจ้าคุ้มครองรักษา ทิศอุดร(ทิศเหนือ)มีท้าวเวสสุวัณ,ทิศบูรพา(ตะวันออก)มีพระอินทร์,ทิศทักษิณ(ทิศใต้)มีพระยม และทิศประจิมหรือปัจฉิม(ทิศตะวันตก)มีพระวรุณหรือพระพิรุณเป็นเทพยเจ้าปกป้องดูแล
อุดรธานีเดิมชื่อบ้านหมากแข้ง เพราะมีต้นมะเขือพวงใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ประมาณ ๔๐ เซนติเมตร ต่อมาจึงได้ตั้งเป็นเมืองอุดรธานี ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ อุดรธานีเป็นจังหวัดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคม และการท่องเที่ยวทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะภาพของการเป็นดินแดนแห่งวัดป่า ประตูสู่ประเทศลาว ดินแดนอินโดจีน และยังเป็นดินแดนที่มีอารยธรรมเก่าแก่แห่งหนึ่งของโลก นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและมีหัตถกรรมผ้าขิตที่มีชื่อเสียงอีกด้วย
จังหวัดอุดรธานีมีเนื้อที่ประมาณ ๑๑,๗๓๐ กิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น ๑๘อำเภอ ๒ กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมืองอุดรธานี หนองวัวซอ หนองหาน บ้านผือ บ้านดุง กุมภวาปี โนนสะอาด เพ๊ญ น้ำโสม กุดจับ ศรีธาตุ วังสามหมอ ทุ่งฝน สร้างคอม ไชยวาน หนองแสง นายูง พิบูลย์รักษ์ กิ่งอำเภอกู่แก้ว และกิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม
อาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับจังหวัดหนองคาย ทิศใต้ติดต่อกับจังหวัดขอนแก่นและกาฬสินธุ์ ทิศตะวันออกติดต่อกับจังหวัดสกลนคร ทิศตะวันตกติดต่อกับจังหวัดเลยและหนองบัวลำภู
สถานที่น่าสนใจ อำเภอเมือง ได้แก่ อนุสาวรีย์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม พระราชโอรสในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาสังวาลย์ ปกครองมณฑลฝ่ายเหนือเรียกว่ามณฑลอุดร และก่อตั้งเมืองอุดรขึ้นเมื่อร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖) สวนสาธารณะหนองประจักษ์ศิลปาคม (เดิมเรียกหนองนาเกลือ) วัดโพธิสมภรณ์ พิพธภัณฑ์เมืองอุดรธานี วัดมัชฌิมาวาส ศาลเจ้าปู่-ย่า สวนกล้วยไม้หอมอุดรซันไฌน์ วัดป่าบ้านตาด วัดทิพยรัฐนิมิตร หมู่บ้านนาข่า และอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง
อำเภอบ้านผือ ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท พระพุทธบาทบัวบาน และวัดป่าบ้านค้อ
อำเภอน้ำโสม ได้แก่อุทยานแห่งชาตินายูง-น้ำโสม
อำเภอหนองหาน ได้แก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง
อำเภอบ้านดุง ได้แก่ คำชะโนด ตั้งอยู่ที่วัดศิริสุทโธ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนับถือและเชื่อกันว่าเป็นปากเมืองบาดาลที่พระยานาคอาศัย
อำเภอกุมภวาปี ได้แก่พระธาตุดอนแก้วหรือพระมหาธาตุเจดีย์ อยู่ที่หมู่ ๕ บ้านดอนแก้วประดิษฐานอยู่กลางวัดมหาธาตุเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงเหลี่ยมคล้ายพระธาตุพนม
อำเภอหนองแสง ได้แก่วนอุทยานน้ำตกธารงาม และภูฝอยลม
อำเภอวังสามหมอ ได้แก่วนอุทยานวังสามหมอ
อำเภอกุดจับ ได้แก่ ถ้ำสิงห์ บนเทือกเขาภูพาน
เทศกาลงานประเพณีของจังหวัดอุดรธานี ที่สำคัญ ได้แก่งานนมัสการพระพุทธบาทบัวบก จัดในวันขึ้น ๑๓-๑๕ ค่ำ เดือน ๓ และงานทุ่งศรีเมืองอุดรธานีผ้าหมี่-ขิตจัดประมาณเดือนธันวาคมของทุกปี
ปลัดบัญชาเดินทางไปถึงจังหวัดอุดรธานีตั้งแต่เช้า จึงแวะไปรับประทานอาหารเช้าขึ้นชื่อของเมืองอุดร คือ ไข่กระทะเสร็จแล้วเข้าพักที่เจริญโฮเต็ล จากนั้นก็ไปพบปลัดสุนทรซึ่งพาพบผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี แล้วไปนมัสการหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ที่วัดป่าบ้านตาด เสร็จแล้วไปกราบไหว้ศาลเจ้าปู่-ย่า ไปสักการะศาลหลักเมือง เสร็จแล้วไปชมสวนกล้วยไม้หอมอุดรซันไฌน์ และสาวน้อยอุดรเริงระบำ แล้วจึงรับประทานอาหารพื้นบ้านอีสานในตัวเมือง ต่อด้วยการไปชมหมู่บ้านนาข่า ดูการทอผ้าขิต ชมหนองประจักษ์ยามเย็ม แล้วกลับที่พักที่เจริญโฮเด็ลพักผ่อนเพื่อเตรียมเดินทางไปจังหวัดหนองบัวลำภูและเลยต่อไป
21 กันยายน 2550 17:25 น.
nidhi
บทที่ ๑๕ คามรอยไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว
รุ่งเช้าเวลาประมาณ ๐๕.๐๐ น. ปลัดบัญชาก็ลงไปเดินเล่นที่ตลาดเช้าเสร็จแล้วกลับมารอปลัดขุนที่ห้องโถงโรงแรมริมปาว ระหว่างที่นั่งรอก็อ่านหนังสือแนะนำจังหวัดกาฬสินธุ์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้รับความรู้เกี่ยวกับจังหวัดกาฬสินธุ์ ว่า กาฬสินธุ์เป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์จังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน จากหลักฐานทางโบราณคดีบ่งบอกว่าเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าละว้าซึ่งมีความเจริญทางด้านอารยธรรมประมาณ ๑,๖๐๐ ปี จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เริ่มตั้งเป็นเมืองในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๓๖ โดยท้าวโสมพะมิตรได้อพยพหลบภัยมาจากดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงพร้อมไพร่พล และมาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำปาว เรียกว่า “บ้านแก่งสำโรง” แล้วได้นำเครื่องบรรณาการเข้าถวายสวามิภักดิ์ต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต่อมาได้รับพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯยกฐานะบ้านแก่งสำโรง ขึ้นเป็นเมือง และพระราชทานนามว่า เมืองกาฬสินธุ์ หรือ เมืองน้ำดำ ทั้งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ท้าวโสมพะมิตร เป็น พระยาชัยสุนทร ครองเมืองกาฬสินธุ์เป็นคนแรก
กาฬสินธุ์อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ๕๑๙ กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมด ๗,๐๕๕.๐๗ ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศตอนบนเป็นภูเขาตามแนวเทือกเขาภูพาน ตอนกลางเป็นเนินเขาสลับป่าโปร่ง แบ่งการปกครองออกเป็น ๑๔ อำเภอ ๔ กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ยางตลาด กมลาไสย สหัสขันธ์ สมเด็จ กุฉินารายณ์ ท่าคันโท เขาวง ห้วยเม็ก คำม่วง หนองกุงศรี นามน ห้วยผึ้ง และร่องคำ กับกิ่งอำเภอสามชัย นาคู ดอนจาน และฆ้องชัย
อาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับจังหวัดอุดรธานีและสกลนคร ทิศใต้ติดต่อกับจังหวัดร้อยเอ็ดและมหาสารคาม ทิศตะวันออกติดต่อกับจังหวัดสกลนครและมุกดาหาร ทิศตะวันตกติดต่อกับจังหวัดมหาสารคาม,ขอนแก่นและอุดรธานี
เดิมจังหวัดกาฬสินธุ์มีคำขวัญประจำจังหวัดว่า “เที่ยวเมืองกาฬสินธุ์ ถิ่นโบราณมากมี แซ่บอีหลีเนื้อเค็ม น้ำเต็มเขื่อนดินยาว สาวสวยภูไท ผ้าไหมแพรวา ฮือฮาโปงลาง” แต่ปัจจุบันเปลี่ยนคำขวัญใหม่เป็น “เมืองฟ้าแดดสงยาง โปงลางเลิศล้ำ วัฒนธรรมผู้ไทย ผ้าไหมแพรวา ผาเสวยภูพาน มหาธารลำปาว ไดโนเสาร์สัตว์โลกล้านปี”
สัญลักษณ์ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ ปรากฏในตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดเป็นรูปบึงใหญ่ ติณชาติและพยับเมฆฝนบ่งบอกสัญลักษณ์ของความชุ่มชื่นและอุดมสมบูรณ์ของภูมิภาคนี้ ทิวเขาตรงสุดขอบฟ้าคือแนวกั้นเขตแดนกับจังหวัดใกล้เคียง น้ำในบึงเป็นสีดำเพื่อให้ตรงกับชื่อของจังหวัด กาฬสินธุ์ตั้งเป็นเมืองเมื่อ พ.ศ.๒๓๓๗ เพราะชาวเมืองเวียงจันทน์อพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่มากที่ ดงสงเปลือย ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ ซึ่งสีน้ำในขณะนั้นขุ่นข้น จังหวัดกาฬสินธุ์แยกออกมาจากจังหวัดมหาสารคาม เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๐
สถานที่น่าสนใจในอำเภอเมืองได้แก่ อนุสาวรีย์พระยาชัยสุนทร(ท้าวโสมพะมิตร) วัดกลางวัดศรีบุญเรือง(วัดเหนือ) พิพิธภัณฑ์ของดีจังหวัดกาฬสินธุ์ พุทธสถานภูปอ และบ้านพ่อครูเปลื้อง ฉายรัศมี ศิลปืนแห่งชาติ ปีพุทธศักราช ๒๕๒๙ สาขา
ศิลปะการแสดงด้านดนตรีพื้นเมือง
อำเภอกมลาไสย ได้แก่ เมืองฟ้าแดดสงยาง พระธาตุยาคูหรือพระธาตุใหญ่ และวัดโพธิ์ชัยเสมารามหรือวัดบ้านก้อม
อำเภอยางตลาด ได้แก่ เขื่อนลำปาว และสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าลำปาว(สวนสะออน)
อำเภอท่าคันโท ได้แก่ วนอุทยานภูพระซึ่งเดิมเป็นป่าภูพระอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงมูล มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจได้แก่ ผาเสวย ถ้ำเสียมสับ ถ้ำพระรอด ผาหินแยก และถ้ำพระ
อำเภอสหัสขันธ์ ได้แก่พิพิธภัณฑ์แหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว พุทธสถานภูสิงห์ วัดพุทธนิมิต(ภูค่ว) และแหลมโนนวิเศษ
อำเภอคำม่วง ได้แก่ กลุ่มทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพน
อำเภอสมเด็จ ได้แก่ผาเสวย
อำเภอเขาวง ได้แก่ น้ำตกผานางคอย และน้ำตกตาดทอง
อำเภอกุฉินารายณ์ ได้แก่ ศูนย์หัตถกรรมผู้ไทยหนองห้าง และหมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทยโคกโก่ง
กิ่งอำเภอนาคู ได้แก่ วนอุทยานภูแฝก (แหล่งรอยเท้าไดโนเสาร์)
ตามที่เกริ่นนำไว้ว่าตามรอยไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว มีความเกี่ยวข้องอยู่ ๒ แห่ง คือ แห่งแรกพิพิธภัณฑ์แหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว ที่อำเภอสหัสขันธ์ อยู่บริเวณเชิงเขาภูกุ้มข้าว วัดป่าสักกะวัน โดยเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๓ พระครูวิจิตรสหัสคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าสักกะวันได้พบกระดูกชิ้นใหญ่ในบริเวณวัด แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์ และได้นำกระดูกที่พบเก็บรักษาไว้ที่วัด ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๒๑ นักธรณีวิทยาและคณะจากกรมทรัพยากรธรณีได้เดินทางมาสำรวจธรณีวิทยาบริเวณนั้นพบกระดูกดังกล่าว จึงแจ้งให้ทราบว่าเป็นซากฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์ หลังจากนั้นอีกสองปี คณะสำรวจธรณีวิทยาไทย-ฝรั่งเศส จึงศึกษาพบว่าเป็นส่วนกระดูกขาหน้าของไดโนเสาร์ซอโรพอด จนกระทั่งปีพุทธศักราช ๒๕๓๗ จึงมีการสำรวจขุดค้นและอนุรักษ์อย่างเป็นระบบ พบซากไดโนเสาร์จำนวนมากในชั้นหินเสาร์ขัวยุคครีเตเซียสตอนต้น อายุประมาณ ๑๓๐ ล้านปี พบกระดูกไดโนเสาร์ชนิดกินพืชจำนวนมากกว่า ๗๐๐ ชิ้น สันนิษฐานว่าเป็นชิ้นส่วนกระดูกไดโนเสาร์ประมาณ ๗ ตัว และในพิพิธภัณฑ์ยังมีซากปลาโบราณพันธุ์ใหม่ของโลกในสภาพสมบูรณ์ เป็นปลาน้ำจืดมีชื่อว่า “เลปิโดเทส” ยาวประมาณ ๓๐-๖๐เซนติเมตร อยู่ในยุคมีโซโซอิคหรือ ๖๕ ล้านปีที่แล้วด้วย
แห่งที่สองเป็นเพียงรอยเท้าไดโนเสาร์ประเภทเทอร์โรพอด ๗ รอย จัดอยู่ในกลุ่มคาร์โนซอร์ชนิดกินเนื้อ อายุประมาณ ๑๔๐ ล้านปี ปัจจุบันเห็นชัดเจนเพียง ๔ รอย พบที่หมู่ ๖ บ้านน้ำคำ ตำบลภูแล่นช้าง ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๙
สรุปกิจกรรมที่ปลัดบัญชาไปร่วมทัศนากับปลัดขุนในเมืองกาฬสินธุ์ คือ ตระเวณ แหล่งท่องเที่ยวต่างๆและไปสนทนากับพ่อครูเปลื้อง ศิลปินแห่งชาติ เกี่ยวกับโปงลางซึ่งเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมือง และได้รับรู้ว่าพ่อครูกำลังสร้างสรรค์ดนตรีพื้นเมืองใหม่ๆขึ้นมาอีก เช่น หมากกะโหล่ง ซึ่งใช้กระดิ่งแขวนคอวัวร้อยเข้าด้วยกัน
20 กันยายน 2550 22:05 น.
nidhi
ปลัดบัญชาเดินทางกลับไปรายงานตัวต่อผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นพร้อมทั้งส่งรายงานการเดินทางเพื่อทำเรื่องเบิกจ่ายจากคลังจังหวัดเสร็จแล้ว ตอนบ่ายก็มีประชุมหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด มีการเสนอโครงการ “ส่งเสริมเที่ยวเมืองไทยสืบสานวัฒนธรรมไทย” ซึ่งปลัดบัญชาเป็นกรรมการและเลขานุการ โดยที่ประชุมมอบหมายให้ปลัดบัญชาไปศึกษาและผลักดันโครงการให้มีประสิทธิผลสูงสุด
สองวันถัดมา ปลัดบัญชาจึงนำร่องโครงการด้วยการเดินทางไปสัมนาที่จังหวัดมหาสารคามและจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นจุดแรกของโครงการ
จังหวัดมหาสารคาม อยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดขอนแก่น เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ใจกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีบรรยากาศเต็มไปด้วยความสงบ และเป็นศูนย์กลางทางด้านการศึกษาของภูมิภาคนี้ที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งด้วย จึงได้ชื่อว่าเป็น”ตักศิลาแห่งภาคอีสาน” ตามที่ปรากฏคำขวัญประจำจังหวัดว่า “พุทธมณฑลอีสาน ถิ่นฐานอารยธรรม ผ้าไหมล้ำเลอค่า ตักศิลานคร”
จังหวัดมหาสารคามอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ ๔๗๕ กิโลเมตร มีเนื่อที่ประมาณ ๕,๒๙๑ ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น ๑๑ อำเภอ และ ๒ กิ่งอำเภอ คืออำเภอเมืองมหาสารคาม กันทรวิชัย โกสุมพิสัย วาปีปทุม บรบือ พยัคฆภูมิพิสัย นาเชือก เชียงยืน นาดูน แกดำ และยางสีสุราช กับกิ่งอำเภอกุดรัง และชื่นชม
อาณาเขตทิศเหนือติดกับจังหวัดกาฬสินธุ์ ทิศใต้ติดกับจังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ ทิศตะวันออกติดกับจังหวัดร้อยเอ็ด ทิศตะวันตกติดกับจังหวัดขอนแก่น
สถานที่น่าสนใจในอำเภอเมือง ประกอบด้วยศูนย์ศิลปวัฒนธรรมอีสาน พิพธภัณฑ์วัดมหาชัย แก่งเลิงจาน หมู่บ้านปั้นหม้อ กู่มหาธาตุ ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง และอุทยานมัจฉาโขงกุดหวาย
อำเภอนาดูน ประกอบด้วย กู่สันตรัตน์ พระธาตุนาดูน และสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช
อำเภอนาเชือก ประกอบด้วย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพันซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหายากและปูทูลกระหม่อมหรือปูแป้ง ซึ่งเป็นปูน้ำจืดที่สวยที่สุดในโลก ตัวขนาดใหญ่กว่าปูนา ลำตัวมีหลายสี เช่น ม่วง ส้ม เหลือง และขาว พบเฉพาะที่ป่าดูนลำพันแห่งนี้เท่านั้น
อำเภอกันทรวิชัย ประกอบด้วย พระพุทธรูปยืนมงคลที่ตำบลคันธารราษฎร์ และพระพุทธมิ่งเมือง ที่วัดสุวรรณาวาส ตำบลโคกพระ
อำเภอโกสุมพิสัย ประกอบด้วยหมู่บ้านหัตถกรรมบ้านหนองเขื่อนช้าง บ้านแพง วนอุทยานโกสัมพี และบึงบอน
เทศกาลงานประเพณี ได้แก่ งานแห่เทียนเข้าพรรษา งานบุญบั้งไฟ งานบุญเบิกฟ้าและกาชาด งานนมัสการพระธาตุนาดูน งานออนซอนกลองยาวชาววาปีของดีพื้นเมือง งานบุญพาข้าวลิง และงานประเพณีแข่งเรือยาว ลอยกระทงและล่องเรือไฟ
ปลัดบัญชาเดินทางมาสัมนาที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อสัมนาเกี่ยวกับวัฒนธรรมอีสาน ณ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน และแวะชมศูนย์ศิลปวัฒนธรรมอีสานในบริเวณสถาบันราชภัฏมหาสารคาม ด้วย จากนั้นก็เดินทางไปจังหวัดกาฬสินธุ์เพื่อพบกับปลัดขุนแห่งเมืองสหัสขันธ์ตามที่นัดหมายไว้
ปลัดบัญชาเดินทางถึงอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ พักแรมที่โรงแรมริมปาว ถนนกุดยางสามัคคี ซึ่งปลัดขุนได้ไปรออำนวยความสะดวกให้แล้ว และนัดหมายพร้อมกันที่โรงแรมริมปาว เวลา ๐๖.๐๐ น. เพื่อนำชมเมืองกาฬสินธุ์ต่อไป
19 กันยายน 2550 16:36 น.
nidhi
เดินทางของคุณธนบัตร บทที่ ๑๓
ระหว่างเดินทางกลับจังหวัดขอนแก่น ปลัดบัญชากับคณะเดินทางไปยังจังหวัดชัยภูมิซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกันเพื่อแวะเยี่ยมอัยการสิทธิผล เพื่อนรุ่นเดียวกันซึ่งขณะนี้เป็นอัยการจังหวัดชัยภูมิ
ชัยภูมิ เมืองผู้กล้า พญาแล เป็นคำขวัญปัจจุบัน เดิมชัยภูมิมีคำขวัญประจำจังหวัดว่า “เมืองโบราณ บ้านนักสู้ ภูเสียดฟ้า ป่าช้างหลาย ทุ่งไพร่รก น้ำตกใส ผ้าไหมดี สตรีงาม แดนธรรมแดนทอง”
ตราสัญลักษณ์เมืองชัยภูมิ เป็นรูปธงสามชาย หมายถึง ธงแห่งชัยชนะสงคราม เดิมเมืองชัยภูมิขึ้นกับเมืองนครราชสีมา ในรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏว่ากลายเป็นเมืองร้าง และมีชาวเวียงจันทน์อพยพเข้าไปอยู่ จึงตั้งเป็นเมืองใหม่ในเวลาต่อมา เรียกว่าจังหวัดชัยภูมิ ตั้งอยู่บนสันขอบที่ราบสูงอีสาน มีพื้นที่ติดต่อกับภาคกลางและภาคเหนือ เป็นดินแดนแห่งทุ่งดอกกระเจียวอันงดงามและสายน้ำตกชุ่มฉ่ำในฤดูฝน เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ป่ามากที่สุดจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน มีเทือกเขาสำคัญได้แก่ ภูพังเหย,ภูแลนคา และภูพญาฝ่อ อันเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำชี
ด้านประวัติศาสตร์ ชัยภูมิมีอารยธรรมซ้อนทับกันหลายสมัยตั้งแต่สมัยทวารวดี สมัยขอม จนถึงอิทธิพลลาวล้านช้าง มีการค้นพบโบราณสถาน โบราณวัตถุมากมายในหลายพื้นที่ของจังหวัด ต่อมาปรากฏชื่อเป็นเมืองหน้าด่านสมัยกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภายหลังจึงร้างไป และมาปรากฏชื่ออีกครั้งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีชาวเวียงจันทน์เข้ามาสร้างบ้านแปงเมือง มีผู้นำชื่อ แล ซึ่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองคนแรกของชัยภูมิ
สถานที่น่าสนใจในอำเภอเมืองชัยภูมิ ได้แก่ อนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล(แล) ,ศาลเจ้าพ่อพญาแล,อุทยานแห่งชาติตาดโดน,วัดพระพุทธบาทภูแฝด,วัดสระหงษ์,วัดศิลาอาสน์ ภูพระ, ปรางค์กู่,ใบเสมาบ้านกุดโง้ง,อุทยานแห่งชาติภูแลนคา
สำหรับอำเภอคอนสาร ยังเป็นที่ตั้งเขื่อนน้ำพรมหรือที่เรารู้จักกันทั่วไปว่าเขื่อนจุฬาภรณ์ลักษณะเขื่อนเป็นเขื่อนหินถม แกนกลางเป็นดินเหนียวบดอัดทับแน่นด้วยหินและกรวดเป็นลักษณะเขื่อนเอนกประสงค์ในความดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)โดยใช้ประโยชน์ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าและอำนวยประโยชน์ด้านชลประทาน ช่วยระบายน้ำเพื่อการเพาะปลูกในฤดูแล้งในพื้นที่การเกษตร นอกจากนี้ในอ่งเก็บน้ำของเขื่อนจุฬาภรณ์ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดที่สำคัญของประเทศไทยด้วย
ภายในเขื่อนจุฬาภรณ์มีสถานที่ท่องเที่ยวได้แก่ พระพุทธสิริสัคคราชจำลอง(หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์),สวนเขื่อนจุฬาภรณ์,พืชโบราณ ๓๒๕ล้านปี,ศาลาชมวิวหลุบควน,และสนามริมน้ำข้างพระตำหนัก
นอกจากนี้ในเขตอำเภอคอนสาร ยังเป็นที่ตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวและสถานีวิจัยเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าภูเขียวให้ผู้สนใจเข้าชมทุกวันด้วย
เทศกาลงานประเพณีของชาวจังหวัดชัยภูมิ ได้แก่ งานฉลองอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพระยาแลระหว่างวันที่ ๑๒-๒๐ มกราคมของทุกปี,งานประเพณีบวงสรวงเจ้าพ่อพระยาแล ในวันจันทร์แรกของเดือนพฤษภาคมทุกปี, งานแห่เทียนเข้าพรรษาในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘, ประเพณีรำผีฟ้า ปีละ ๒ ครั้งของทุกปีในวันขึ้น ๑๓-๑๕ ค่ำเดือน ๕ และวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๓ ณ บริเวณเขาภูพระ, งานบุญเดือนสี่ ในวันขึ้น๑-๓ ค่ำ เดือน ๕ และงานวันดอกกระเจียวบานที่จัดขึ้นปลายเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ณ อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อำเภอเทพสถิต
เนื่องจากเป็นช่วงเวลานอกฤดูกาลท่องเที่ยว และปลัดบัญชาต้องเดินทางกลับจังหวัดขอนแก่นเพื่อปฏิบัติราชการ ฉะนั้นเมื่อแวะหาอัยการสิทธิผลเสร็จเรียบร้อยแล้ว ปลัดบัญชาก็เดินทางกลับจังหวัดขอนแก่นเพื่อปฏิบัติภารกิจที่รับผิดชอบต่อไป