29 พฤษภาคม 2550 11:02 น.

การเดินทางของคุณธนบัตร บทที่ ๒

nidhi

ดังที่บอกแล้วว่าฉันเป็นธนบัตร ๕๐๐ บาท  รูปลักษณะของฉันเป็นอย่างไรนั้น  เชื่อว่าคนบางคนยังไม่เคยเห็น  หรืออาจจะเคยเห็นมาบ้างแล้ว แต่ไม่เคยมีโอกาสได้ครอบครองเป็นเจ้าของฉันมาก่อนเลย  นี่จะเป็นเพราะความยากจนด้อยโอกาสหรือเป็นเพราะเหตุใดนั้น  
ฉันไม่บังอาจขอวิจารณ์แต่อย่างใด กระนั้นก็ดีฉันใคร่ขอถือโอกาสนี้บรรยายภาพลักษณ์ของฉันเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักฉันได้ดีขึ้นดังต่อไปนี้
ด้านหน้าของฉันจะมีพระบรมฉายาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในชุดฉลองพระองค์เต็มยศ คอปกตั้งกลัดสัญลักษณ์พระคทาไขว้  สวมฉลองพระเนตร(แว่นตา) พื้นธนบัตรเป็นสีออกม่วง ที่ชาวบ้านทั่วไปเขาเรียกธนบัตรชนิดราคานี้มาแต่ดั้งเดิมว่าแบงก์ม่วง  และเนื่องจากธนบัตรสมัยก่อนจะมีรูปช้างเผือกสัญลักษณ์คู่เมืองไทยอยู่ด้วย  เขาจึงมักจะเรียกกันอย่างรู้กันทั่วว่า  ธนบัตรแต่ละฉบับ ก็คือ ๑ เชือก  และกำหนดชนิดของธนบัตรตามสี  เช่นธนบัตร ๕๐๐ บาท  เรียก ช้างม่วง  ธนบัตร ๑๐๐ บาท เรียกช้างแดง  ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ ฉันจะเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไป
มาว่าเรื่องรูปลักษณ์ของฉันที่ปรากฏในปัจจุบันต่อดีกว่า  มุมซ้ายบนของฉันด้านหน้าธนบัตรจะเป็นตราครุฑขนาด ๑ ซม. มีแถบสีเงินแวววาวพิมพ์ตราสัญลักษณ์พระราชลัญจกร ภปร พิมพ์คาดทับปีกครุฑลงมาสุดด้านล่าง  และมีตัวเลขไทย ๕๐๐   มุมบนด้านขวามือเป็นอักษรอาระบิก 500   พิมพ์หมึกเขียวด้วยวิธีการพิเศษ ซึ่งต้องใช้วิธีเอียงธนบัตรส่องดูจะเห็นเป็นสีเขียวและเมื่อเอียงออกไปอีกมุมหนึ่งจะเห็นเป็นสีม่วงเข้มเกือบดำสลับสีกัน
นอกจากนี้ยังมีเทคนิคการพิมพ์เลขอาระบิก 500 ตัวจิ๋วจำนวนมากติดต่อกัน ลงบนตัวเลขไทย ๕๐๐ บนพื้นที่ช่องว่างของพื้นที่ตัวเลขแต่ละหลักไว้ด้วย ซึ่งต้องใช้วิธีส่องกล้องหรือใช้เลนส์ขยายดูจึงจะเห็นได้ชัด  กับมีเลขหมวดอักษรไทยและตัวเลขไทยพิมพ์ไว้ที่มุมบนด้านซ้ายถัดจากเลขบอกชนิดราคาธนบัตร      
ส่วนมุมขวาด้านล่างเป็นเลขอาระบิกและอักษรอังกฤษระบุเลขและหมวดหมู่ธนบัตร  กับสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือคำว่า  รัฐบาลไทย  พร้อมลายเซ็นประจำตำแหน่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย  และคำว่า  "ธนบัตรเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย"  กับอักษรระบุราคา ห้าร้อยบาท  แล้วยังรวมถึงตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาล  (ตราภปร ) ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงลวดลายรูปแบบอบ่างอื่นของธนบัตรด้วย  คิดแล้วก็น่าฉงนมากว่าเขาสามารถบรรจุรายละเอียดตั้งเยอะแยะเหล่านี้ลงไปบนกระดาษแผ่นเล็กๆอย่างธนบัตรได้อย่างไรถึงขนาดนี้
สำหรับด้านหลังธนบัตร นอกจากมีตัวเลขไทยและอาระบิกบ่งบอกชนิดราคาธนบัตรแล้ว  ที่มองเห็นเด่นเป็นสง่าก็คือ ภาพพระบรมฉายาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่๓)  ประทับนั่งบนพระเก้าอี้ พระหัตถ์ซ้ายกุมพระแสงดาบ  ด้านซ้ายของพระบรมฉายาทิสลักษณ์เป็นรูปโลหะปราสาท ที่วัดราชนัดดาวรวิหารที่อยู่ตรงข้ามป้อมมหากาฬ   ถนนราชดำเนิน 
(เดิมสถานที่บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของโรงภาพยนตร์เฉลิมไทย  แต่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  
สร้างให้เห็นมองเด่นเป็นสง่าเวลาที่เรารับแขกบ้านต่างเมืองกัน  ก็จะมีพิธีมอบกุญแจเมือง  ก็บริเวณนี้แหละ  เดี๋ยวนี้จุดตรงข้ามป้อมมหากาฬดังกล่าวซึ่งมองไปแล้วเห็นโลหะปราสาท วัดราชนัดดาฯที่ด้านหลังนี้เขาเรียกว่า  ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์)
ส่วนด้านขวาตอนมุมบน เป็นตราครุฑ ถัดตรงลงมาเป็นรูปเรือสำเภาแล่นใบกลางคลื่นทะเลสวย กับถัดลงมาเป็นพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า พ.ศ๒๓๓๐-๒๓๙๔  ว่า 
    การงานสิ่งใดของเขาที่ดี
    ควรจะเรียนร่ำเอาไว้ก็เอาอย่างเขา
   แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว
เมื่อกล่าวถึงภาพรวมที่ปรากฏบนด้านหลังธนบัตร ๕๐๐ บาท  จะเห็นได้ว่าเป็นการรำลึกถึงพระบารมีของรัชกาลที่ ๓ ซึ่งทรงโปรดเกล้าฯสนับสนุนการค้าต่างประเทศ ซึ่งสมัยนั้นใช้เรือสำเภาแต่งสินค้าออกไปค้าขาย ขากลับก็จะเอาเครื่องลายคราม อับเฉา ปูนปั้นต่างๆ และสินค้าเครื่องเทศ กับสินค้าเครื่องประดับจำพวกหินหยก ต่างๆเข้ามาเมืองไทยด้วย   จึงนับเป็นพระราชกฤษฎานุภาพประการหนึ่งของในหลวงพระองค์นี้
สำหรับท่านที่ไม่เคยเห็นเรือสำเภาว่าหน้าตาเป็นอย่างไร  ก็สามารถไปชมดูได้ที่วัดยานนาวา  ที่เขตยานนาวา  เพราะมีการจำลองเรือสำเภาสร้างเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดู
บรรดาที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนี้  นับว่าน่าจะเป็นการบรรยายภาพลักษณ์ของฉันที่ปรากฏบนธนบัตร๕๐๐ บาทได้
อย่างเพียงพอตามสมควรแล้ว  หากจะพิศดูรายละเอียดเพิ่มเติมมากกว่านี้ก็คงจะต้องเอาธนบัตร๕๐๐ มาดูก็จะเห็นรายละเอียดพิสดารที่ยังมิได้กล่าวอีกมาก  เมื่อทราบความเป็นมาของภาพสัญลักษณ์ต่างๆที่ปรากฏบนแผ่นธนบัตรแล้ว  น่าภูมิใจที่เราเกิดมาเป็นคนไทยอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ภูมิพลมหาราช				
28 พฤษภาคม 2550 16:26 น.

การเดินทางของคุณธนบัตร บทที่๔

nidhi

สายวันนี้พนักงานธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่ ได้มาขอเบิกธนบัตรชนิดราคา ๑๐๐ บาท ๕๐๐ บาท และ ๑,๐๐๐ บาท เพื่อไปเติมเงินตามตู้เอททีเอ็มที่ส่งสัญญาณแจ้งให้ทราบว่าเงินที่บรรจุไว้ในกล่องเหล็กภายในตู้มีไม่เพียงพอให้เบิกหรือร่อยหรองลงไปมากแล้ว
พนักงานผู้ที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบจึงต้องรีบดำเนินการขอเบิกกล่องที่บรรจุเงินธนบัตรทั้ง ๓ ชนิดราคานี้ไปบรรจุไว้ตามตู้เอทีเอ็มดังกล่าวต่อไป
ตู้เอทีเอ็มที่ว่านี้บางคนอาจสงสัยว่ามันคืออะไร  เพราะบางคนเดินผ่านมันทุกวันแต่ไม่รู้ไม่สนใจว่ามันคืออะไร มีเอาไว้ทำไม  บางคนอาจจะทราบว่ามันคืออะไร  แต่ใช้ไม่เป็น ไม่เคยใช้ ไม่รู้จักวิธีใช้ รวมถึงคนบางคนยังกลัวไม่กล้าใช้ก็ยังมี
ตู้เอทีเอ็มก็คือตู้บรรจุเงินสำหรับให้ลูกค้าธนาคารที่มีบัญชีเงินฝากหรือมีสัญญากู้ยืมเงินผ่านบัตรเครดิตสามารถถอนเงินตามวงเงินที่ได้รับอนุญาตผ่านระบบคอมพิวเตอร์และเครื่องมือสื่อสารได้ด้วยตนเองตลอดระยะเวลาที่กำหนดกันไว้จากตู้เบิกถอนเงินอัตโนมัติได้โดยไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่ธนาคารไปดูแลควบคุมและให้บริการดังกล่าว
เอทีเอ็ม  เป็นคำย่อมาจากภาษาอังกฤษว่า  Automatic Teller Machine หมายถึงเครื่องเบิกถอนหรือฝากเงินอัตโนมัติ หรือหากจะแปลตรงๆก็หมายถึงเครื่องมือที่เอาไว้ใช้บอกสั่งให้ทำการตามที่ต้องการ เหมือนกับการที่เราไปดำเนินการด้วยตนเองในธนาคาร  เช่นการเบิกถอนหรือฝากเงิน โอนเงิน ชำระค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น
สำหรับธนบัตรที่บรรจุไว้ในตู้เอทีเอ็ม จะมีเพียง ๓ ชนิดราคาเท่านั้น  คือชนิดราคา ๑๐๐ บาท ๕๐๐ บาท และ ๑,๐๐๐ บาท    ไม่มีธนบัตรชนิดราคาอื่น และไม่มีเหรียญกษาปณ์ทุกชนิดราคา เพราะปัญหาเกี่ยวกับการทำกล่องภาฃนะบรรจุ และปัญหาทางด้านเทคนิคบางประการ 
โดยปกติ การถอนเงินหรือฝากเงินผ่านตู้เอทีเอ็มจึงระบุขั้นต่ำไว้ว่าต้องไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ บาท  และต้องไม่มีเศษต่ำกว่า ๑๐๐ บาท  ส่วนการโอนเงินระหว่างบัญชีหรือการชำระค่าสาธารูปโภคด้วยวิธีตัดเงินจากบัญชีนั้นสามารถระบุได้แม้เป็นเศษสตางค์
ตู้เอทีเอ็มที่เจ้าหน้าที่ธนาคารพาฉันไปบรรจุอยู่ที่ด้านหน้าศูนย์การค้าห้างพันธุ์ทิพย์ สาขางามวงศ์วาน  ซึ่งมีธนาคารไทยพาณิชย์สาขาย่อยตั้งอยู่บนชั้น ๒ ของอาคารดังกล่าวด้วย 
หากท่านผู้อ่านสังเกตดู จะพบว่าปัจจุบันธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆมักจะไปเปิดดำเนินการให้บริการอยู่ภายในห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้าใหญ่ๆกันทั้งนั้น  
โดยที่สามารถเปิดทำการตามวันเวลาที่ห้างเปิดทำการ  ต่างจากธนาคารรูปแบบเดิมๆซึ่งเปิดทำการเฉพาะในระหว่างวันจันทร์ถึงวันศุกร์เหมือนสถานที่ราชการและปิดทำการในวันเสาร์อาทิตย์กับวันหยุดนักขัตฤกษ์
แต่ธนาคารแบบใหม่นี้มิได้เป็นเช่นแต่ก่อนอีกแล้ว เพราะภาวะการแข่งขันด้านธุรกิจการค้าบีบรัดให้ต้องปรับปรุงบริการเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจแต่ละอย่าง
สำหรับที่อยู่ใหม่ของฉันที่ห้างพันธุ์ทิพย์ สาขางามวงศ์วาน นั้น  เดิมเป็นที่ตั้งของห้างบางลำภูสรรพสินค้า สาขางามวงศ์วาน  แต่ได้ขายกิจการให้ห้างพันธุ์ทิพย์  ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ย่านถนนเพชรบุรี ประตูน้ำ ที่รู้จักกันในฐานะแหล่งรวมเครื่องใช้ไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย
เมื่อห้างพันธุ์ทิพย์ซื้อกิจการมาได้แล้ว  ก็ปรับปรุงก่อสร้างเพิ่มเติมใหม่เพื่อแข่งขันกับห้างสรรพสินค้าที่มีอยู่เดิม เช่น ห้างเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน  ห้างเทสโก้โลตัส เป็นต้น
นอกจากนี้ยังปรากฏด้วยว่าบริเวณที่ฉันไปอยู่นั้น  ตั้งอยู่ใกล้ทางด่วนพิเศษ ช่องทางลงงามวงศ์วาน  อยู่ใกล้ซอยวัดบัวขวัญ  อยู่ในละแวกใกล้เคียงกระทรวงสาธารณสุขและศาลากลางจังหวัดนนทบุรี  
ส่วนอีกด้านหนึ่งก็อยู่ใกล้เคียงสถานศึกษาของเอกชนและของรัฐหลายแห่ง
ใกล้เคียงห้างพันธุ์ทิพย์ สาขางามวงศ์วาน เป็นที่ตั้งของสถานศึกษาเอกชนในอดีตคือ โรงเรียนกรุงเทพเทคนิคนนท์  ซึ่งบัดนี้ได้ขายกิจการให้กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์  ภายใต้ชื่อบริษัทศึกษาภิวัฒน์ซึ่งดำเนินธุรกิจระบบทวิภาคี  ตั้งโรงเรียนขึ้นใหม่ชื่อว่า  โรงเรียนปัญญาภิวัฒน์ เทคโนธุรกิจ  โดยมีสถานปฏิบัติงานรองรับคือ ร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น 
นี่จึงนับเป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างมาก  สมกับคำที่ว่า  "สรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง"
สำหรับคืนวันนี้  ฉันคงนอนไม่หลับ หรืออาจจะหลับๆตื่นๆ  เพราะตู้เอทีเอ็มที่ฉันมาอยู่ตั้งอยู่ด้านหน้าของห้างสรรพสินค้าและอยู่ติดกับที่หยุดรถโดยสารประจำทางด้วย
จึงเป็นสถานที่ซึ่งผู้คนพลุกพล่านตลอดทั้งวันทั้งคืน				
28 พฤษภาคม 2550 01:27 น.

การเดินทางของคุณธนบัตร

nidhi

วันนี้เป็นวันแรกที่ฉันถูกปลุกให้ตื่นจากการหลับใหลอันยาวนานภายในห้องมั่นคงของธนาคารแห่งประเทศไทย 
โดยเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยไปเบิกตัวฉันเพื่อส่งมอบให้พนักงานธนาคารไทยพาณิชย์            
ธนาคารแห่งนี้เป็นธนาคารเก่าแก่อันดับหนึ่งของเมืองไทย  เดิมมีชื่อว่า  แบงก์สยามกัมมาจลน์  ความจริงแล้วธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ก็คือ ธุรกิจในอันที่จะมุ่งแสวงหาผลกำไรให้องค์กรของตน เหมือนกับบริษัทที่ประกอบกิจการค้าโดยทั่วไปนั่นเอง  เพียงแต่มีกฎหมายรับรองให้สามารถใช้ชื่อประกอบการค้าได้โดยไม่จำเป็นต้องระบุคำว่า บริษัท ไว้หน้าชื่อกิจการของตน  ฉะนั้น ไม่ใช่สิ่งน่าแปลกใจอย่างใดเลย  เมื่ออยู่มาวันหนึ่งในอดีตที่เพิ่งผ่านพ้น ธนาคารหลายแห่งของเมืองไทยต้องประสบกับภาวะขาดทุนจนต้องปิดกิจการไปในที่สุด  และในทุกวันนี้ก็ปรากฏว่ามีธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆทั้งของไทยเองและต่างชาติ ผุดขึ้นมาใหม่ราวกับดอกเห็ด  ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอุปนิสัยของคนเมืองกรุงที่นิยมของแปลกใหม่  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยของการต่อสู้แย่งชิงผลประโยชน์ในรูปเงินพลาสติกหรือเงินตราอิเล็กทรอนิกส์ ที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากในสังคมไทยยุคที่เรียกกันว่า โลกาภิวัตน์  เพราะถ้าจะมองกันให้ละเอียดแล้ว  ก็คงจะสามารถจำแนกบุคคลเหล่านี้ได้เป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ได้ประโยชน์ และกลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์  รวมถึงกลุ่มผลประโยชน์อื่นที่มีอยู่ดาดดื่นในเมืองไทยด้วย  แต่นี่ก็ไม่ใช่กิจธุระของฉันที่จะบังอาจเข้าไปยุ่งเกี่ยววิพากษ์วิจารณ์ด้วย  ภารกิจเฉพาะหน้าที่สำคัญอย่างแรกและเป็นอย่างเดียวกับเหตุผลที่คนเขาสร้างฉันขึ้นมา ก็คือ เพื่อให้เป็นเงินตราซึ่งสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย  หน้าที่ของฉันตอนนี้ก็คือ  ติดตามไปกับพนักงานธนาคารไทยพาณิชย์เพื่อปฏิบัติภารกิจของฉันให้ได้รับประโยชน์สูงสุด  ฉันจึงติดตามไปในรถขนเงินของธนาคารดังกล่าว  ซึ่งได้นำฉันไปยังสำนักงานใหญ่ของธนาคารที่ตั้งอยู่ที่เอส.ซี.บี.ปาร์ค สี่แยกรัชวิภา ถนนวิภาวดีรังสิต  
คราวนี้ฉันจะได้ออกไปปฏิบัติงานภาคสนามจริงๆกับเขาเสียที
คืนแรกฉันนอนค้างในห้องมหาสมบัติของธนาคาร  เพื่อรอให้พนักงานของธนาคารเบิกไปปฏิบัติภารกิจด้านการเงินอันเป็นความสามารถเฉพาะทางที่วิเศษสุดเพียงอย่างเดียวของฉัน
คืนนั้นฉันรู้สึกกระสับกระส่ายกระวนกระวายอยากรู้จนแทบจะนอนไม่หลับว่า พรุ่งนี้หรือเปล่าหนอที่เขาจะให้ฉันออกไปทำงาน  ฉันจะได้ไปกับใคร เมื่อไหร่ ที่ไหน  ภารกิจของฉันจะสำเร็จไหม จะพบอุปสรรคอย่างใดหรือไม่  การปฏิบัติภารกิจการงานของฉันจะทำให้ใครเดือดร้อนหรือเปล่า    จะนำมาซึ่งความยินดีปลาบปลื้มในความสำเร็จสมหวัง หรือนำมาซึ่งความเศร้าโศกเสียใจจากการพลัดพรากสูญเสียหรือไม่  ฉันจะเป็นเครื่องมือของคนดีหรือคนชั่วหรือเปล่า  เหล่านี้ทั้งหลายฉันก็ได้แต่คิดและเป็นห่วงวิตกกังวลไปต่างๆนานา  แต่เมื่อถึงเวลานั้นเข้าจริงๆแล้ว  ฉันคงไม่อาจปฏิเสธภารกิจเหล่านั้นได้   ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีงามหรือเรื่องเลวร้ายชั่วช้าก็ตาม  เพราะฉันถูกสร้างขึ้นมาให้ทำหน้าที่นี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น  ไม่มีสิทธิปฏิเสธ ยินดีหรือไม่ยินดีที่จะกระทำภารกิจ  ฉันไม่มีทางเลือกจริงๆ				
27 พฤษภาคม 2550 15:36 น.

การเดินทางของคุณธนบัตร

nidhi

ฉันรู้ตัวก็พบว่าตัวเองกำลังนอนอยู่ในห้องมั่นคงของธนาคารชาติ(ธนาคารแห่งประเทศไทย) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว  รอบตัวฉันล้วนแล้วแต่เป็นธนบัตรฉบับราคา ๕๐๐ บาทเป็นกองพะเนิน  นอกนั้นก็เป็นฉบับละ ๒๐ บาท,๕๐ บาท,๑๐๐ บาทและ ๑,๐๐๐ บาท เรียงรายเป็นกองสูงลดหลั่นกันไป  แต่ไม่เห็นธนบัตร ๑๐ บาท  เพราะเดี๋ยวนี้เขาเอาหรียญกษาปณ์ชนิดราคา ๑๐ บาทออกมาใช้แทนในตลาดได้ระยะหนึ่งแล้ว  ฉะนั้นจึงไม่มีการพิมพ์ธนบัตรราคาฉบับละ ๑๐ บาทเพิ่มเติมสำหรับใช้หมุนเวียนในตลาดอีกต่อไป  จุดหมายปลายทางของธนบัตรฉบับราคา ๑๐ บาท จึงขึ้นอยู่กับชะตากรรมของตัวเองว่าไปตกอยู่กับใคร ในลักษณะไหน  กล่าวคือ
๑.อาจชำรุดฉีกขาดหรือถูกทำลายให้ได้รับความเสียหายจนไม่สามารถใช้การได้อีกต่อไป  
เช่น ถูกไฟไหม้เป็นเถ้าถ่าน  ถูกน้ำหรือความเปียกชิ้นหรือเชื้อราทำลายจนเปื่อยยุ่ยใช้การไม่ได้
๒.ชำรุดฉีกขาดในสภาพที่สามารถซ่อมแซมได้ จะได้รับการซ่อมแซมไว้ใช้งานต่อ
๓.ชำรุดฉีกขาดไม่สามารถซ่อมแซมให้ใช้การไดเช่นธนบัตรทั่วไป  แต่ยังมีมูลค่าราคาธนบัตรคงเหลือเต็มราคาหรือครึ่งราคา  ก็สามารถนำไปแลกธนบัตรฉบับใหม่ตามมูลค่าราคาที่คงเหลือได้จากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือคลังจังหวัด  ซึ่งได้แก่การที่เขาเรียกกันว่าเก็บเข้าคลังนั่นแหละครับ
๔.นักสะสมหรือพิพิธภัณฑ์ต่างๆนำไปเก็บสะสมไว้
๕.คนที่ได้รับธนบัตรดังกล่าวไปไว้ในครอบครอง เก็บรักษาเอาไว้
๖.ธนบัตรสภาพเก่าจากการใช้งานจนชำรุดเปื่อยยุ่ยจะถูกเก็บเข้าคลังเพื่อรอการทำลายฯลฯ
ฉันเองก็เช่นเดียวกัน  อาจตกไปอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ได้เสมอไม่วันใดก็วันหนึ่ง  ซึ่งก็เป็นไปตามวิถีแห่งธรรมชาติของสรรพสิ่งทั้งหลายคือ  มีเกิดก็มีดับ  ฉันเองจึงต้องเตรียมตัวเตรียมใจไว้เสียแต่เนิ่นๆ  ว่าอาจต้องเจอะต้องเจอทั้งคำพูดและการกระทำต่างๆนานา  อาทิ อาจจะถูกเรียกว่า ไอ้ห้าร้อย..ละลาย  อาจถูกหยิบไปลงเลขยันต์แล้วเอาไปตั้งไว้บนหิ้งบูชา  อาจถูกเก็บใส่ถังฝังดินเก็บเอาไว้เป็นขุมทรัพย์  หรืออาจถูกฝังในถังส้วมพร้อมเจ้าของที่ถูกฆาตกรรม   รวมทั้งอาจเป็นอีหลายสิ่งหลายอย่าง  เพราะอนิจจัง สังขารนั้นไม่เที่ยง  แต่ที่ฉันฝันอยากจะเป็นในวาระสุดท้ายก็คือ  อยากเป็นของชำร่วยที่ผลิตโดยธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเล็งเห็นว่าการทำลายธนบัตรชำรุดต่างๆด้วยวิธีเผาไฟตามวิธีการอย่างดั้งเดิมนั้น  ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร  จึงใช้วิธีย่อยสลายเป็นชิ้นเล็กๆแล้วบีบอัดเป็นก้อนวัสดุสำหรับนำไใช้ประโยชน์ได้อีกหลายอย่างในรูปแบบต่างๆกัน เช่น ทำเป็นที่ทับกระดาษ  ทำเฟอร์นิเจอร์ตุ๊กตา เป็นต้น  
นี่ก็เป็นความใฝ่ฝันอย่างหนึ่ง  ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นความฝันอันสูงสุดของฉันก็ว่าได้				
27 พฤษภาคม 2550 01:29 น.

การเดินทางของคุณธนบัตร (บทนำ)

nidhi

คุณธนบัตรถือกำเนิดมาในโลกได้นานนับหลายศตวรรษแล้ว  โดยเกิดมาไล่เลี่ยกับการที่คนโบราณคิดค้นวิธีทำกระดาษจากต้นปาปิรุสได้  ก่อนหน้าที่จะใช้กระดาษมาทำธนบัตร  เงินตราที่ใช้แพร่หลายก็มักจะทำจากวัสดุธรรมชาติทั่วๆไป เช่น เปลือกหอยและโลหะต่างๆ  การทำธนบัตรก็มีวิวัฒนาการมากมายแตกต่างกันไป
คุณธนบัตรของเรามีกำเนิดในประเทศไทยเมื่อครั้งยังเป็นประเทศสยาม  ต้นกำเนิดก็เกิดในดินแดนฝรั่งซึ่งเป็นผู้นำอารยธรรมในสมัยนั้น  จนกระทั่งถึงยุคของธนบัตรไทยปัจจุบันก็ยังเพิ่งตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรเองได้เมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง  เพราะก่อนหน้านี้ ประเทศไทยยังต้องจ้างบริษัทฝรั่งในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นผู้พิมพ์ธนบัตรให้  ซึ่งผู้เขียนจักไม่กล่าวรายละเอียดในที่นี้แต่ประการใด  หากผู้อ่านท่านใดสนใจ  ก็สามารถดูรายละเอียดจากธนาคารแห่งประเทศไทย ได้  ซึ่งก็มีพิพิธภัณฑ์ธนบัตรไทยโดยเฉพาะสำหรับผู้สนใจอยู่แล้ว
คุณธนบัตรเป็นรุ่นหลานรุ่นเหลนของธนบัตรไทยในยุคแรกๆ  ซึ่งปัจจุบันได้ล้มหายตายจากไปเกือบหมดแล้ว  ยังคงหลงเหลืออยู่บ้างน้อยนิดที่อยู่ในมือนักสะสมทั้งชาวไทยและต่างชาติ  กับหลงเหลืออยู่ตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆทั่วโลก
คุณธนบัตรยุคล่าสุดในปัจจุบัน  ไม่มีราคาต่ำกว่าฉบับละ ๑๐ บาท (สิบบาท)
ต่างจากสมัยแรกๆซึ่งมีราคา ๑ บาทและ ต่ำกว่า ๑ บาทด้วย  ปัจจุบันมีธนบัตรใช้แพร่หลายในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าเครื่องอุปโภคและบริโภค ในราคาฉบับละ ๑๐ บาท,๒๐ บาท,๕๐ บาท,๑๐๐ บาทฒ๕๐๐ บาท และ ๑,๐๐๐ บาท   นอกเหนือจากราคาดังกล่าว ส่วนใหญ่จะเป็นธนบัตรที่จัดพิมพ์ขึ้นในโอกาสพิเศษต่างๆ โดยจะมีข้อความและรูปภาพแตกต่างกันไป  แต่ที่ปรากฏเสมอก็คือข้อความว่า  "ธนบัตรเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย"  และที่เห็นเด่นชัดในธนบัตรรุ่นปัจจุบันก็คือ  แถบสีเงินสะท้อนแสง ซึ่งพิมพ์พาดคาดอยู่ด้านซ้ายของธนบัตรด้านหน้าซึ่งมีไว้เพื่อป้องกันการปลอมแปลงธนบัตร  แถบเงินดังกล่าวและภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อนำไปส่องในแสงไฟจากหลอดไฟพิเศษก็จะปรากฏเห็นเด่นชัดเรืองรองแวววาวสวยงามจับตา
คุณธนบัตรตามเนื้อเรื่องของเราที่ผู้เขียนจะนำเสนอในตอนต่อไป  เป็นธนบัตรราคาฉบับละ ๕๐๐ บาท(ห้าร้อยบาท)  เพราะผู้เขียนต้องการจำกัดวงแพร่หลายการเดินทางของคุณธนบัตรให้แคบลงมาพอที่จะเกาะติดไปตามแต่ละสถานการณ์ได้ง่ายขึ้น				
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟnidhi
Lovings  nidhi เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟnidhi
Lovings  nidhi เลิฟ 0 คน
Calendar
Lovers  0 คน เลิฟnidhi
Lovings  nidhi เลิฟ 0 คน
  nidhi
ไม่มีข้อความส่งถึงnidhi