19 กันยายน 2550 16:36 น.
nidhi
เดินทางของคุณธนบัตร บทที่ ๑๓
ระหว่างเดินทางกลับจังหวัดขอนแก่น ปลัดบัญชากับคณะเดินทางไปยังจังหวัดชัยภูมิซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกันเพื่อแวะเยี่ยมอัยการสิทธิผล เพื่อนรุ่นเดียวกันซึ่งขณะนี้เป็นอัยการจังหวัดชัยภูมิ
ชัยภูมิ เมืองผู้กล้า พญาแล เป็นคำขวัญปัจจุบัน เดิมชัยภูมิมีคำขวัญประจำจังหวัดว่า “เมืองโบราณ บ้านนักสู้ ภูเสียดฟ้า ป่าช้างหลาย ทุ่งไพร่รก น้ำตกใส ผ้าไหมดี สตรีงาม แดนธรรมแดนทอง”
ตราสัญลักษณ์เมืองชัยภูมิ เป็นรูปธงสามชาย หมายถึง ธงแห่งชัยชนะสงคราม เดิมเมืองชัยภูมิขึ้นกับเมืองนครราชสีมา ในรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏว่ากลายเป็นเมืองร้าง และมีชาวเวียงจันทน์อพยพเข้าไปอยู่ จึงตั้งเป็นเมืองใหม่ในเวลาต่อมา เรียกว่าจังหวัดชัยภูมิ ตั้งอยู่บนสันขอบที่ราบสูงอีสาน มีพื้นที่ติดต่อกับภาคกลางและภาคเหนือ เป็นดินแดนแห่งทุ่งดอกกระเจียวอันงดงามและสายน้ำตกชุ่มฉ่ำในฤดูฝน เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ป่ามากที่สุดจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน มีเทือกเขาสำคัญได้แก่ ภูพังเหย,ภูแลนคา และภูพญาฝ่อ อันเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำชี
ด้านประวัติศาสตร์ ชัยภูมิมีอารยธรรมซ้อนทับกันหลายสมัยตั้งแต่สมัยทวารวดี สมัยขอม จนถึงอิทธิพลลาวล้านช้าง มีการค้นพบโบราณสถาน โบราณวัตถุมากมายในหลายพื้นที่ของจังหวัด ต่อมาปรากฏชื่อเป็นเมืองหน้าด่านสมัยกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภายหลังจึงร้างไป และมาปรากฏชื่ออีกครั้งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีชาวเวียงจันทน์เข้ามาสร้างบ้านแปงเมือง มีผู้นำชื่อ แล ซึ่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองคนแรกของชัยภูมิ
สถานที่น่าสนใจในอำเภอเมืองชัยภูมิ ได้แก่ อนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล(แล) ,ศาลเจ้าพ่อพญาแล,อุทยานแห่งชาติตาดโดน,วัดพระพุทธบาทภูแฝด,วัดสระหงษ์,วัดศิลาอาสน์ ภูพระ, ปรางค์กู่,ใบเสมาบ้านกุดโง้ง,อุทยานแห่งชาติภูแลนคา
สำหรับอำเภอคอนสาร ยังเป็นที่ตั้งเขื่อนน้ำพรมหรือที่เรารู้จักกันทั่วไปว่าเขื่อนจุฬาภรณ์ลักษณะเขื่อนเป็นเขื่อนหินถม แกนกลางเป็นดินเหนียวบดอัดทับแน่นด้วยหินและกรวดเป็นลักษณะเขื่อนเอนกประสงค์ในความดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)โดยใช้ประโยชน์ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าและอำนวยประโยชน์ด้านชลประทาน ช่วยระบายน้ำเพื่อการเพาะปลูกในฤดูแล้งในพื้นที่การเกษตร นอกจากนี้ในอ่งเก็บน้ำของเขื่อนจุฬาภรณ์ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดที่สำคัญของประเทศไทยด้วย
ภายในเขื่อนจุฬาภรณ์มีสถานที่ท่องเที่ยวได้แก่ พระพุทธสิริสัคคราชจำลอง(หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์),สวนเขื่อนจุฬาภรณ์,พืชโบราณ ๓๒๕ล้านปี,ศาลาชมวิวหลุบควน,และสนามริมน้ำข้างพระตำหนัก
นอกจากนี้ในเขตอำเภอคอนสาร ยังเป็นที่ตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวและสถานีวิจัยเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าภูเขียวให้ผู้สนใจเข้าชมทุกวันด้วย
เทศกาลงานประเพณีของชาวจังหวัดชัยภูมิ ได้แก่ งานฉลองอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพระยาแลระหว่างวันที่ ๑๒-๒๐ มกราคมของทุกปี,งานประเพณีบวงสรวงเจ้าพ่อพระยาแล ในวันจันทร์แรกของเดือนพฤษภาคมทุกปี, งานแห่เทียนเข้าพรรษาในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘, ประเพณีรำผีฟ้า ปีละ ๒ ครั้งของทุกปีในวันขึ้น ๑๓-๑๕ ค่ำเดือน ๕ และวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๓ ณ บริเวณเขาภูพระ, งานบุญเดือนสี่ ในวันขึ้น๑-๓ ค่ำ เดือน ๕ และงานวันดอกกระเจียวบานที่จัดขึ้นปลายเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ณ อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อำเภอเทพสถิต
เนื่องจากเป็นช่วงเวลานอกฤดูกาลท่องเที่ยว และปลัดบัญชาต้องเดินทางกลับจังหวัดขอนแก่นเพื่อปฏิบัติราชการ ฉะนั้นเมื่อแวะหาอัยการสิทธิผลเสร็จเรียบร้อยแล้ว ปลัดบัญชาก็เดินทางกลับจังหวัดขอนแก่นเพื่อปฏิบัติภารกิจที่รับผิดชอบต่อไป
19 กันยายน 2550 14:45 น.
nidhi
บทที่ ๑๒ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า และอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว
หลังจากเข้าพักที่บ้านพักในอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าแล้ว เราก็เดินทางไปเที่ยวชมปผหล่งท่องเที่ยวต่างๆในอุทยานฯ ซึ่งมีทั้งด้านประวัติศาสตร์และธรรมชาติ เนื่องจากภูหินร่องกล้าเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์เป็นยุทธภูมิสำคัญในอดีตครั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยขยายอำนาจ และยังมีลักษณะภูมิอากาศคล้ายกับภูเขาสูงของจังหวัดเลยเช่นภูกระดึงและภูเรือ อากาศหนาวเย็นเกือบตลอดปี โดยเฉพาะในฤดูหนาว อุณหภูมิจะต่ำประมาณ ๔ องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีประมาณ ๑๘-๒๕องศาเซลเซียส
แหล่งท่องเที่ยวด้านประวัติศาสตร์ประกอบด้วย พิพิธภัณฑ์การสู้รบ,โรงเรียนการเมืองการทหาร,กังหันน้ำ,สำนักอำนาจรัฐ,โรงพยาบาลรัฐ,ลานอเนกประสงค์,สุสาน ทปท.,ที่หลบภัยทางอากาศ และหมู่บ้านมวลชน
แหล่งท่องเที่ยวด้านธรรมชาติ ได้แก่ ลานหินแตก,ลานหินปุ่ม,ผาชูธง,น้ำตกร่มเกล้า-น้ำตกภราดร,น้ำตกศรีพัชรินทร์,น้ำตกหมันแดง,น้ำตกผาลาด,น้ำตกตาดฟ้า,และธารพายุ
กล่าวโดยสรุป ภูหินร่องกล้าเป็นเขตอุทยานแห่งชาติซึ่งรวมความสำคัญของแหล่งประวัติศาสตร์สมัยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกำลังขยายอำนาจทำสงครามแย่งชิงประชาชน ในขณะเดียวกับสถานที่ส่วนหนึ่งก็เป็นแหล่งสะสมกำลังและฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยด้วย เมื่อทางราชการสามารถควบคุมสถานการณ์แยกสลายทำลายฐานที่มั่นดังกล่าวได้แล้ว สำรวจดูสภาพภูมิประเทศเป็นแหล่งเหมาะสมสำหรับการอนุรักษ์ผืนดินและธรรมชาติ จึงประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ ๒๖กรกฎาคม๒๕๒๗ เป็นต้นมา
เมื่อเราลงจากภูหินร่องกล้าเข้าบ้านพักก็เป็นเวลาแดดร่มลมตกแล้ว ปลัดบัญชากับคณะได้เข้าพบพูดคุยปรึกษากับหัวหน้าอุทยานฯเกี่ยวกับเรื่องทั่วๆไปเพื่อนำเอาความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปปรับปรุงในส่วนราชการจังหวัดขอนแก่นในโอกาสต่อไป
รุ่งขึ้นเช้าเราจึงออกเดินทางจากอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าไปยังอุทยานแห่งชาตินน้ำหนาว ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบูรณ์ อุทยานฯน้ำหนาวได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ ๔พฤษภาคม ๒๕๑๕ โดยมีพื้นที่ครอบคลุมป่ารอยต่อสองจังหวัด คือ อำเภอเมืองและอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอคอนสาน จังหวัดชัยภูมิ มีเนื้อที่รวม ๖๐๓,๗๕๐ ไร่ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน อากาศจะหนาวเย็นที่สุดในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม อุณหภูมิประมาณ ๒-๕องศาเซลเซียส เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของแม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำป่าสัก,แม่น้ำพอง และแม่น้ำเลย มีสัตว์ป่าชุกชุมรวมทั้งนกชนิดต่างๆ ตามเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติบนเขาสูงผ่านจุดชมวิวริมหน้าผาสวยงาม อาทิ ผากลางโหล่น ผาล้อม ผากอง และน้ำตกอีกหลายแห่ง
สถานที่น่าสนใจในเขตอุทยานฯน้ำหนาว ได้แก่ น้ำตกตาดพรานบา,ถ้ำผาหงษ์,จุดชมวิวภูค้อ,สวนสนภูกุ่มข้าว,น้ำตกซำผักคาว,ถ้ำใหญ่น้ำหนาว(ภูน้ำริน),น้ำตกเหวทราย,น้ำผุด,ป่าเปลี่ยนสีและภูผาจิต(ภูด่านอีป้อง)
เราแวะเข้าที่พักฯแล้วเดินชมป่าจนถึงเวลาเย็น จึงกลับที่พัก รับประทานอาหารเย็นพร้อมหัวหน้าอุทยานฯ ปรึกษาเรื่องทั่วๆไปเพื่อนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในงานราชการที่รออยู่
รุ่งเช้าคณะของเราที่ประกอบด้วยปลัดบัญชา คุณหมอหล่มสักและอัยการวิรัช จึงเดินทางกลับจังหวัดเพชรบูรณ์ พบผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์และคณะเพื่อปรึกษาหารือข้อราชการต่างตามที่ได้รับมอบหมายแล้วจึงเดินทางกลับจังหวัดขอนแก่น
17 กันยายน 2550 12:31 น.
nidhi
การเดินทางของคุณธนบัตร บทที่ ๑๐
คุณธนบัตรเดินทางจากกรุงเทพมหานครมาถึงจังหวัดขอนแก่นซึ่งเป็นศูนย์กลางของภาคอีสานแล้วโดยสวัสดิภาพ จนกระทั่งมาอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่นในบัดนี้แล้ว เช้านี้เป็นเช้าวันเสาร์ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ แต่บนศาลากลางจังหวัดขอนแก่นก็ไม่ได้เงียบเหงาแต่ประการใด เพราะข้าราชการและเจ้าหน้าที่ต่างๆยังคงขะมักเขม้นทำการงานตามหน้าที่ของตนตามปกติ ยกเว้นเสียแต่ว่าไม่ได้แต่งกายชุดเครื่องแบบข้าราชการเหมือนวันทำงานปกติเท่านั้น เพราะช่วงเวลานี้ของทุกปีจะเป็นช่วงปลายปีงบประมาณซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ ๓๐ กันยายนของแต่ละปี ฉะนั้นหน่วยงานต่างๆจึงเร่งรีบปิดงบประมาณเพื่อเตรียมการสำหรับงบประมาณในปีต่อๆไปซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาก่อน
ฉันได้ไปอยู่ในส่วนของสำนักงานจังหวัด โดยอยู่ในความดูแลของปลัดจังหวัดซึ่งทำหน้าที่ไม่ต่างจากอักษรเลข(เลขานุการ)ของผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัดเป็นชายวัยกลางคนอายุประมาณ ๓๕ ปี ชื่อปลัดบัญชา ยังเป็นคนโสด ฉะนั้นการประสานราชการกับหน่วยราชการจังหวัดอื่น ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงมักจะมอบหมายให้ปลัดบัญชาเป็นผู้ไปติดต่อประสานงาน ซึ่งก็ได้รับคำชมเชยมาตลอด
ในตอนสายของวันเสาร์ดังกล่าว ผู้ว่าราชการจังหวัดได้มอบหมายให้ปลัดบัญชาไปประสานราชการที่จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยได้ลงนามคำสั่งอนุญาตให้ปลัดบัญชาไปราชการที่จังหวัดเพชรบูรณ์มีกำหนด ๕ วัน นับตั้งแต่วันเสาร์ เวลา ๐๙.๐๐ น.เป็นต้นไป
ปลัดบัญชาเดินทางไปที่ศาลากลางจังหวัดเพื่อพบผู้ว่าฯก่อนออกเดินทาง หลังจากนั้นปลัดบัญชาจึงออกเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวไปตามเส้นทางไปอำเภอชุมแพ โดยแวะรับประทานอาหารกลางวันที่อุทยานแห่งชาติน้ำพอง ที่อำเภอหนองเรือ แล้วเดินทางต่อไปที่อำเภอชุมแพ ผ่านอำเภอภูผาม่าน และเดินทางถึงจังหวัดเพชรบูรณ์เวลาประมาณ ๑๗.๐๐น. (ระยะทางห่างจากจังหวัดขอนแก่นประมาณ ๒๔๐ กิโลเมตร) เข้าพักที่เพชรโฮเต็ล ถนนพระพุทธบาท ตำบลในเมือง ซึ่งมีห้องพักประมาณ ๑๙ ห้อง ราคาค่าที่พักคืนละ ๑๒๓-๑๙๔ บาท เมื่อเข้าพักแล้ว ปลัดบัญชาก็อาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า แล้วนัดพบคุณหมอหล่มสัก เพื่อนนักเรียนรุ่นเดียวกันซึ่งขณะนี้เป็นแพทย์ทางอายุรกรรมประจำอยู่ที่โรงพยาบาลเพชรรัคน์ โดยคุณหมอหล่มสักนัดเลี้ยงอาหารและพูดคุยกันที่ทัมมารินทร์ คอฟฟี่ช็อฟ ในโรงแรมบูรพาซึ่งอยู่ใกล้โรงพยาบาล
เมื่อถึงเวลา ๑๙.๐๐น. ปลัดบัญชาไปถึงห้องอาหารทัมมารินทร์ ก็พบคุณหมอหล่มสัก กับเพื่อนอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นอัยการจังหวัดเพชรบูรณ์รออยู่ก่อนแล้ว จึงได้พูดคุยและรับประทานอาหารด้วยกันจนถึงเวลาประมาณ ๒๑.๐๐น. จึงได้แยกย้ายกันกลับที่พัก รุ่งขึ้นวันอาทิตย์ก็นัดพบกันเวลา ๐๖.๐๐ น.ที่โรงแรมเพชรโฮเต็ล โดยคุณหมอหล่มสักกับอัยการวิรัช จะมารับไปตระเวณชมเมืองเพชรบูรณ์ ตลอดทั้งวัน เพื่อวันจันทร์ ปลัดบัญชาจะได้ไปติดต่อราชการที่ศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ต่อไป
ระหว่างที่พักอยู่ที่เพชรโฮเต็ล ปลัดบัญชาก็ได้รับหนังสือแนะนำท่องเที่ยวเพชรบูรณ์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จึงได้สรุปความรู้เกี่ยวกับจังหวัดเพชรบูรณ์ว่า
จังหวัดเพชรบูรณ์ตั้งอยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย เป็นจังหวัดที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นสวิสเซอร์แลนด์เมืองไทย แวดล้อมด้วยป่าเขาเขียวขจี ดินแดนมะขามหวานและลูกเสาวรสลือฃื่อ รวมทั้งเป็นต้นกำเนิดไก่ย่างวิเชียรบุรีที่ขายกันเกร่อในกรุงเทพฯด้วย
คำขวัญประจำจังหวัด คือ “เมืองมะขามหวาน อุทยานน้ำหนาว ศรีเทพเมืองเก่า เขาค้ออนุสรณ์ นครพ่อขุนผาเมือง”
แม่น้ำสำคัญที่ไหลผ่านคือแม่น้ำป่าสัก ชื่อเดิมของเพชรบูรณ์ คือ พีชปุระ หรือเพชรบุร ซึ่งแปลว่าเมืองแห่งพืชพันธุ์ธัญญาหารอันอุดมสมบูรณ์
อาณาเขต ทิศเหนือติดต่อกับจังหวัดเลย ทิศใต้ติดต่อกับจังหวัดลพบุรี ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดชัยภูมิและขอนแก่น ทิศตะวันตกติดต่อกับจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์
การเดินทางของคุณธนบัตร บทที่ ๑๑
คุณธนบัตรเดินทางถึงจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเปรียบเหมือนสวิสเซอร์แลนด์เมืองไทยพร้อมปลัดบัญชา โดยเข้าพักที่โรงแรมเพชรโฮเต็ล
รุ่งขึ้นปลัดบัญชาตื่นแต่เช้าเวลาประมาณ ๐๕.๐๐น. แวะรับประทานอาหารเช้าที่ตลาดเสร็จแล้วเดินกลับโรงแรมที่พัก เวลาประมาณ ๐๖.๐๐ นฬ คุณหมอหล่มสักกับอัยการวิรัชก็เอารถมารับไปเที่ยวชมเมือง โดยแวะศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์ซึ่งอยู่ที่ถนนหลักเมือง ใจกลางเมืองเพชรบูรณ์ เสาหลักเมืองที่นี่เป็นเสาหินที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนำมาจากเมืองศรีเทพ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๗ เมืองศรีเทพเป็นเมืองโบราณแบบทวารวดีและขอม คาดว่ามีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ ลงมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ จึงจัดเป็นเสาหลักเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย เยื้องตรงข้ามเสาหลักเมืองจะมองเห็นมะขามยักษ์สีทองผลไม้สัญลักษณ์ของจังหวัดเพชรบูรณ์ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองมะขามหวาน ตั้งอยู่ดูสวยงาม ระหว่างเส้นทางดังกล่าวก็แวะนมัสการพระพุทธรูปหลวงพ่อเพชรที่วัดมหาธาตุ วัดพระแก้วในเมืองเดิม และวัดไตรภูมิที่ถนนเพชรรัตน์ ซึ่งในส่วนของวัดไตรภูมิยังเป็นที่มาของประเพณีอุ้มพระพุทธรูปดำน้ำเพื่อความเป็นศิริมงคลของเมืองเพชรบูรณ์ด้วย จากนั้นเราก็เดินทางไปอุทยานแห่งชาติตาดหมอกซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบูรณ์ไปทางตะวันออกเพียง ๓๗กิโลเมตร มีอาณาเขตทั้งสิ้นประมาณ ๒๙๐ตารางกิโลเมตร ผืนป่าอุดมสมบูรณ์ประกอบด้วยเทิอกเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของลำน้ำป่าสักและลำน้ำชีและเป็นพิ้นที่ป่ากันชนให้กับผืนป่าสามแห่งคือ อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว และเขครักษาพันธุ์สัตว์ป่าตะเบาะ-ห้วยใหญ่ อุทยานแห่งชาติตาดหมอกเป็นอุทยานฯลำดับที่ ๘๗ของประเทศไทย โดยได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติตั้งแต่ปีพุทธศักราช๒๕๔๑ ภายในอุทยานมีทัศนียภาพที่สวยงามมาก มีน้ำตกขนาดใหญ่ถึงสองแห่งคือ น้ำตกตาดหมอกและน้ำตกสองนางและยังมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติไปน้ำตกตาดหมอกและน้ำตกสองนางเป็นระยะทาง ๒ กิโลเมตร ให้นักท่องเที่ยวได้เดินชมธรรมชาติและศึกษาพันธุ์ไม้ต่างๆได้ด้วย
ณ อุทยานแห่งชาติตาดหมอกคุณหมอหล่มสักได้ไปจองสถานที่พักไว้ก่อนแล้ว ฉะนั้นการเดินทางในวันนี้จึงได้รับความสะดวกสบายอย่างมาก เพราะเมื่อเดินทางถึงอุทยานแห่งชาติตาดหมอก เราก็เดินทางเข้าที่พักเพื่อเก็บสัมภาระแล้วจึงไปเดินเส้นทางชมธรรมชาติเพื่อไปชมน้ำตกตาดหมอกและน้ำตกสองนางต่อไป
ระหว่างเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ เราได้พบพรรณไม้ต่างๆทั้งไม้ใหญ่ ไม้จำพวกมอส เฟิร์น ไลเคน และยังพบรอยเท้าสัตว์ชนิดต่างๆเข่น เก้ง หมาป่า และยังมีนก ผีเสื้อและนกเงือกให้ได้พบเห็นตลอดเส้นทางด้วย ในส่วนของน้ำตกตาดหมอก อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯตามเส้นทางเดินเท้า ๑.๘กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ชั้นเดียวไหลลงมาจากหน้าผาสูงประมาณ ๗๕๐ เมตร สำหรับน้ำตกสองนางมีความสูงทั้งหมด ๑๒ ชั้น แต่ละชั้นมีความสูงระหว่าง ๕-๑๐๐ เมตร เราเดินชมเส้นทางและน้ำตกในแบบ ผอ. หรือผู้สูงอายุเสร็จเรียบร้อยก็เป็นเวลาบ่ายแก่ๆ จึงกลับเข้าที่พักเพื่อทำกิจส่วนตัว เสร็จแล้วเตรียมรับประทานอาหารค่ำ แล้วจึงเสวนากันต่อด้วยเรื่องสัพเพเหระและเข้านอนเพื่อเตรียมตัวเดินทางไปอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงในวันรุ่งขึ้นต่อไป
เช้าวันรุ่งขึ้น เมื่อรับประทานอาหารเช้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราเดินทางไปอำเภอหล่มสัก แวะสักการะอนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง ตั้งอยู่ยริเวณสี่แยกหล่มสัก เป็นพระรูปโลหะในอิริยาบถยืน พระหัตถ์ขวาทรงดาบปักลงดิน พระหัต์ซ้ายชี้ลงพื้น พ่อขุนผาเมืองนี้เองที่เป็นพระสหายขุนบางกลางหาวหรือพ่อขุนศรีอินทราทิตย์กษัตริย์ครองกรุงสุโขทัยผู้ทรงร่วมสถาปนาราชอาณาจักรสุโขทัย
ในอำเภอหล่มสักมีสถานที่ซึ่งน่าไปเที่ยวชม เช่น ถ้ำฤาษีสมบัติ,หลักเมืองหล่มเก่า,อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง(หนองแม่นา)วนอุทยานน้ำตกธารทิพย์, อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า และอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว แต่เนื่องจากความกว้างใหญ่ไพศาลของอุทยานแต่ละแห่งประจวบกับเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด เราจึงละเว้นไม่แวะไปที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง โดยจะไปพักที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า และอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวในวันนี้และวันถัดไป
ที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง(หนองแม่นา) มีชื่อเสียงมากด้านกิจกรรมดูนก เพราะมีทุ่งหญ้าที่เป็นพื้นที่โล่งกว้างใหญ่ มีสนและไม้ดอกขึ้นสลับอยู่สวยงาม สถานที่น่าสนใจในอุทยานฯได้แก่ สะพานแขวน,แก่งวังน้ำเย็น,ทุ่งแสลงหลวง,ทุ่งนางพญา,ทุ่งโนนสน,และเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติทุ่งนา ผกค.
วนอุทยานน้ำตกธารทิพย์ มีพื้นที่อยู่ในท้องที่ตำบลบุ่งน้ำเต้า และตำบลบุ่งคล้า ครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเขาโปลกหล่นและป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาป่าก่อวังชมภู เป็นต้นน้ำลำธารของแม่น้ำป่าสัก สถานที่น่าสนใจประกอบด้วย ศูนย์นิทรรศการ,แก่งน้ำวิ่ง,แก่งมะเดื่อ,ตาดชมพู่,แก่งผาเอียง,น้ำตกธารทิพย์ และวังน้ำริน
จุดที่เราจะไปพักวันนี้คืออุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ซึ่งตั้งอยู่บนรอยต่อของสามจังหวัด คืออำเภอหล่มศักดิ์ จังหวัดเพชรบูรณ์, อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก มีเนื้อที่ประมาณ ๑๙๑,๘๗๕ ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมี่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม๒๕๒๗ เป็นพื้นที่ที่มีธรรมชาติแปลกตาและสวยงาม ทั้งยังเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ เป็นยุทธภูมิสำคัญในอดีตที่เกิดจากความขัดแย้งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.)
ในบทหน้าเราจะกล่าวถึงรายละเอียดการไปเที่ยวชมอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าและอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวโดยละเอียดต่อไป
22 สิงหาคม 2550 18:23 น.
nidhi
การเดินทางของคุณธนบัตร บทที่ ๙
ฉันไปอยู่ที่จังหวัดขอนแก่นได้ ๓ วันแล้ว แต่ยังไม่ได้เห็นศาลหลักเมืองของจังหวัดนี้เลย คราวนี้สบโอกาสเพราะต้องไปประจำการเป็นเงินกองทุนหมุนเวียนอยู่ที่สำนักงานจังหวัดซึ่งอยู่ในบริเวณอาคารศาลากลางจังหวัดขอนแก่นที่ถนนกลางเมือง มีถนนศูนย์ราชการขนานปิดด้านทิศเหนือทางไปจังหวัดอุดรธานี และมีถนนหน้าศูนย์ราชการขนานปิดด้านทิศใต้ซึ่งอยู่คู่ขนานกับถนนประชาสโมสรที่เป็นที่ตั้งสถานีขนส่งจังหวัดกับเป็นเส้นทางไปสนามบินด้านถนนมะลิวัลย์ ทางไปอำเภอชุมแพนั่นเอง
ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์หลักเมือง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพสักการะของชาวขอนแก่นเป็นอย่างยิ่ง และมีความเกี่ยวพันกับอำเภอชุมแพอย่างลึกซึ้ง เพราะท่านเจ้าคุณปู่พระราชสารธรรมมุนีกับหลวงธุรนัยพินิจ อดีตพ่อเมืองขอนแก่นได้นำหลักศิลาจารึกที่ขุดพบในโบราณสถานท้องที่อำเภอชุมแพมาประกอบพิธีทางศาสนาและตั้งเป็นศาลหลักเมืองตั้งแต่วันที่ ๒๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ เป็นต้นมา
จังหวัดขอนแก่นมีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับจังหวัดอุดรธานีและเลย ทิศใต้ติดต่อกับจังหวัดนครราชสีมาและบุรีรัมย์ ทิศตะวันออก คิดต่อกับจังหวัดกาฬสินธุ์และมหาสารคาม ทิศตะวันตกติดต่อกับจังหวัดเพชรบูรณ์และชัยภูมิ
เป้าหมายการพัฒนาจังหวัดขอนแก่นบ่งบอกว่าต้องการทำให้เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงสู่อินโดจืน แล้วเป้าหมายของเราแต่ละคนคืออะไร
ที่จังหวัดขอนแก่นมีอำเภอหนึ่งชื่อเหมือนคุณหมอของเรา นั่นคืออำเภอชนบท ที่อำเภอนี้มีการแสดงผ้าไหมมัดหมี่ที่แพงที่สุดในโลกด้วย โดยจัดแสดงที่ศาลาไหมไทย หรือ
อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา มหาราชินี ตั้งอยู่บริเวณวิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น ซึ่งเป็นศูนย์สืบสานพระราชปณิธานงานศิลปาชีพด้านผ้าไหมของภาคอีสาน รวมทั้งเป็นศูนย์อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวอีสาน
เทศกาลงานประเพณีที่สำคัญๆของคนขอนแก่น ได้แก่ เทศกาลดอกคูณเสียงแคนและถนนข้าวเหนียว เทศกาลไหว้พระธาตุขามแก่น งานเทศกาลไหม ประเพณีผูกเสี่ยวและงานกาชาด
สินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึก ได้แก่ผ้าไหมมัดหมี่ อำเภอชนบท ผ้าฝ้ายมัดหมี่บ้านเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ ผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ
ที่จัดว่าเป็นเอกลักษณ์ของเมืองไทยในชนบทต่างๆที่ยังหลงเหลืออยู่ก็คือ สามล้อถีบหรือสามล้อปั่น อย่างรถจักรยาน สมกับที่เรียกว่าเป็นอาชีพที่หากินด้วยลำแข้งของตัวเองอย่างหนึ่งนั่นเอง
ที่จังหวัดขอนแก่นยังมีหอเกียรติยศรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อยู่ที่ค่ายเปรมติณสูลานนท์อีกด้วย แต่ไม่ได้อยู่ที่อำเภอเมืองหรอกนะ เพราะค่ายทหารดังกล่าวตั้งอยู่ที่อำเภอน้ำพอง
สถานที่อีกแห่งหนึ่งซึ่งไม่อาจละเว้นที่จะกล่าวถึงได้เลย และน่าจะเป็นสถานที่แห่งแรกๆของนักท่องเที่ยวทั้งหลายที่จะต้องไปติดต่อขอรายละเอียดต่างๆ นั่นก็คือสำนักงานท่องเที่ยวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และจำเพาะอย่างยิ่งว่าที่จังหวัดขอนแก่นเป็นที่ตั้งสำนักงาน ททท.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต๓ อยู่ที่ ๑๕/๕ ถนนประชาสโมสร อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ๔๐๐๐๐. โทร. ๐๔๓-๒๔๔๔๙๘-๙ โทรสาร ๐๔๓-๒๔๔๔๙๗ E-mail : tatkhkn@tat.or.th พื้นที่รับผิดชอบ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ (อาจเปลี่ยนแปลงพื้นที่รับผิดชอบได้) ฉะนั้น สถานที่แห่งแรกที่เราควรจะไปติดต่อขอรายละเอียดเกี่ยวกับพื้นที่ซึ่งจะเข้าไปท่องเที่ยวหรือว่าทำธุระก็คือสถานที่ของการท่องเที่ยวหรือศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยวของแต่ละจังหวัด ซึ่งจะช่วยในการท่องเที่ยวหรือติดต่อธุระได้อย่างมากทีเดียว เพราะเด็ยวนี้มีข้อมูลหลากหลายรูปแบบทั้งในรูปแบบหนังสือ แผ่นพับและซีดีข้อมูล อย่างน้อยที่สุดก็มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายต้อนรับซึ่งสามารถให้คำแนะนำต่างๆได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลท่องเที่ยวหรือข้อมูลด้านอื่นของจังหวัดนั้นๆ และที่สะดวกสบายอย่างยิ่งตลอด ๒๔ ชั่วโมง สำหรับท่านที่ใช้อินเตอร์เนต คือ สามารถเข้าไปที่เวปต์ไซต์การท่องเที่ยวหรือเวบไซต์ของจังหวีดเพื่อค้นหารายละเอียดเบื้องต้นก่อนเข้าไปสัมผัสสภาพความเป็นจริงก่อนล่วงหน้าก็ได้ด้วย
ฉันคงมีเวลาอยู่ที่จังหวัดขอนแก่นต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง เพราะหน้าที่ใหม่ของฉันในขณะนี้ก็คือ เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายในเหตุฉุกเฉินของจังหวัด ซึ่งคาดว่าคงจะยังไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เพราะไม่มีวี่แววว่าจะเกิดอุทกภัยหรือภัยธรรมชาติร้ายแรงอย่างใด แต่ก็อย่างที่ว่าไม่มีอะไรแน่นอน อุบัติเหตุ อุบัติภัยย่อมเกิดได้ตลอดเวลา การเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ต่างๆด้วยความไม่ประมาท จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรกระทำ สำหรับค่ำวันนี้ฉันคงนอนในห้องนิรภัยของจังหวัดไปพลางก่อน
21 สิงหาคม 2550 20:38 น.
nidhi
คุณพยาบาลประจำโรงพยาบาลหนองแวงเป็นหญิงสาวที่ไม่ถึงกับสวยอะไรนัก แต่ก็เป็นคนที่มีมนุษย์สัมพันธ์และมีอัธยาศัยไมตรีที่ดีเยี่ยม สังเกตได้จากทั้งคนไข้ที่ไปโรงพยาบาลและไปที่คลินิกว่า ต่างก็มีหน้าตายิ้มแย้มโอภาปราศัยเวลาที่พบหน้ากัน คุณพยาบาลคนนี้เรียนจบวิชาการพยาบาลจากศิริราชพยาบาล เมื่อไปทำงานที่หนองแวงแล้วจึงเรียนต่อจนจบการศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และกำลังเรียนต่อเป็นมหาบัณฑิตชั้นปริญญาโทที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ฉันยังได้ยินจากพวกพยาบาลและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลว่า คุณพยาบาลได้หมั้นหมายไว้กับคุณหมอชนบทเมื่อเดือนก่อน และมีโครงการจะแต่งงานกันในราวต้นปีหน้าที่จะถึงนี้ โดยคุณหมอชนบทได้รับการทาบทามให้ไปทำงานที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ย่านถนนประชาชื่น ในเขตกรุงเทพมหานคร ส่วนคุณพยาบาลก็เตรียมตัวไปรับตำแหน่งใหม่ที่กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขประมาณต้นปีหน้าเช่นเดียวกัน ฉันกลายเป็นเงินบริจาคทำบุญให้แก่มูลนิธิสมเด็จย่า ซึ่งเป็นเหตุให้ฉันถูกนำฝากเข้าบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด และต่อมาก็ถูกเบิกไปเก็บไว้เป็นเงินทุนสำรองหมุนเวียนของสำนักงานจังหวัด ซึ่งจักได้กล่าวในตอนต่อไป สำหรับตอนนี้เพื่อเป็นเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆ ฉันจึงใคร่ขอถือโอกาสแนะนำจังหวัดขอนแก่นโดยสรุป ดังนี้
ขอนแก่น เป็นศูนย์กลางของภาคอีสานทั้งในด้านภูมิศาสตร์หรือสภาพที่ตั้ง รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการศึกษาและเทคโนโลยีของภาคตะวันออกเฉียงเหนือนี้ด้วย โดยเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นดินแดนแห่งประวัติศาสตร์อารยธรรมและธรรมชาติที่สำคัญระดับโลกแห่งหนึ่งก็ว่าได้ ขอนแก่น เดิมเรียกว่าขามแก่น ดังจะเห็นได้จากการที่มีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ระบุไว้
คำขวัญประจำจังหวัดขอนแก่นมีว่า “ พระธาตุขามแก่น เสียงแคนดอกคูณ ศูนย์รวมผ้าไหม ร่วมใจผูกเสี่ยว เที่ยวขามแก่นนครใหญ่ ไดโนเสาร์ลือก้อง เหรียญทองโอลิมปิก”
สถานที่น่าสนใจในอำเภอเมือง ที่ค่อนข้างสะดุดตา เป็นธรรมชาติ ดูร่มรื่น น่าจะเป็นบึงแก่นนคร ซึ่งเป็นบึงขนาดใหญ่มีเนื้อที่ถึง ๖๐๓ ไร่ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลกลางเมืองขอนแก่น และเป็นที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์ “เจ้าเพี้ยเมืองแพน” ผู้ก่อตั้งเมืองขอนแก่น มีพระธาตุขามแก่นที่อำเภอน้ำพอง ที่อำเภออุบลรัตน์ ก็มีเขื่อนอุบลรัตน์ ที่เดิมเรียกกันว่าเขื่อนน้ำพอง แต่ในเอกสารของการท่องเที่ยวระบุว่าเดิมเรียก เขื่อนพองหนีบ ส่วนที่ดังกึกก้องไปทั่วโลกเห็นจะได้แก่ พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง และอุทยานแห่งชาติภูเวียง โดยที่ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ มีการสำรวจแหล่งแร่ยูเรเนียมที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง แล้วค้นพบซากกระดูกหัวเข่าข้างซ้ายของไดโนเสาร์ จึงขุดค้นต่อไปจนพบฟอสซิลไดโนเสาร์พันธุ์กินพืช ซึ่งไม่เคยพบที่ใดมาก่อน จึงอัญเชิญพระนามของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯมาตั้งชื่อไดโนเสาร์พันธุ์นี้เป็นการเฉลิมพระเกียรติว่า “ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่ ” (Phuwianggosaurus Sirindhornae) และในหลุมเดียวกันนี้ยังค้นพบฟันของไดโนเสาร์ประเภทกินเนื้ออีกมากกว่า ๑๐ ซี่ ซึ่งหนึ่งในกลุ่มฟันที่พบนี้มีลักษณะแตกต่างออกไปเป็นพิเศษ และพบว่าเป็นฟันของไดโนเสาร์กินเนื้อที่ไม่ทราบชื่อมาก่อนเลยเช่นเดียวกัน จึงตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบ คือ นายวราวุธ สุธีธร ว่า “ไซแอม โมซอรัส สุธีธรนี่” (Siamosaurus Suteethorne) นอกจากนี้ยังพบฟอสซิลของ “ไซแอมโมไทรันนัส อีสานเอ็นซิส” (Siamotyrannus Isanensis) ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าไดโนเสาร์จำพวกไทรันโนซอร์มีต้นกำเนิดในทวีปเอเชีย เพราะฟอสซิลที่ค้นพบมีอายุเก่าแก่ที่สุดถึง ๑๒๐-๑๓๐ ล้านปี นอกจากนี้ที่อำเภอภูเวียง ยังเป็นที่ตั้งหมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทยอีกด้วย ส่วนอำเภอที่ชื่อกระฉ่อนทางโทรทัศน์ทั่วประเทศในขณะนี้ก็คืออำเภอชุมแพ นั่นเอง
สำหรับที่อำเภอมัญจาคีครี ก็ยังเป็นแหล่งกล้วยไม้ป่าธรรมชาติที่มีชื่อสียง คือ ช้างกระ และเป็นที่ตั้ง หมู่บ้านเต่า ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า เต่าเพ็ก เป็นเต่าบก อาศัยอยูตามใต้ถุนบ้านและตามถนนหนทางในหมู่บ้าน เป็นเต่าทีมีกระดองสีเหลืองแก่ปนน้ำตาล มีอยู่เป็นจำนวนมากในหมู่บ้านดังกล่าว
สถานที่สำคัญอีกแห่ง คือ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจังหวัดขอนแก่น ที่อำเภอบ้านไผ่
ท้ายบทการเดินทางฉบับนี้ จึงขอย้อนกลับไปนอนรอการเดินทางต่อไปที่สำนักงานจังหวัดขอนแก่น